เมาแล้วขับ – สร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบร่วมของรัฐ ร้านเหล้าและคนดื่ม

April 11, 2021


ในประเด็น ‘เมาแล้วขับ’ นอกจากตัวผู้ดื่ม เราเห็นใครอีกบ้าง?

อาจจะเป็น รัฐ – ในฐานะผู้ออกนโยบายและมาตรการเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ร้านเหล้า – ในฐานะผู้ขายและผู้ให้บริการ

กฎหมาย – ในฐานะผู้รักษากฎเกณฑ์ทางสังคม

หรืออาจจะเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนของสังคมที่ต้องแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า พูดคุยกับ กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ ตัวแทน MAYDAY ทีมคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. สังกัดพรรคก้าวไกล เกี่ยวกับทางออกของประเด็นเมาแล้วขับในสังคมไทย

 

 

ปรับปรุงรถเมล์กลางคืน

 

“ในลอนดอน ประเทศอังกฤษจะมีรถเมล์จำเพาะคือรถเมล์กลางคืนซึ่งมีเส้นทางที่วิ่งเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น หมายถึงกลางวันวิ่งแบบหนึ่ง กลางคืนวิ่งอีกเส้นหนึ่งซึ่งมันถูกลากเส้นขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับคนที่เดินทางกลางคืนจริงๆ”

ในฐานะคนที่ทำประเด็นเรื่องขนส่งสาธารณะ วิช – กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของทีม MAYDAY มองว่าเรื่องเมาแล้วขับมีความเชื่อมโยงกันไม่มากก็น้อยกับการขนส่งสาธารณะ – เพราะขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อต่อการเดินทางของคนมากพออาจเป็นหนึ่งในส่วนเสริมที่ทำให้คนต้องเลือกขับรถไปในวันที่มีนัดปาร์ตี้หรือพบปะเพื่อนในช่วงเวลากลางคืน

“ในลอนดอนจะมีรถไฟสายหนึ่งที่วิ่งผ่านดาวน์ทาวน์ใจกลางเมือง ผ่านย่านผับบาร์ซึ่งจะขยายเวลาเปิดถึงตีสอง มันเป็นการเอื้อให้ขนส่งสาธารณะมันสอดคล้องกับบริบทการเดินทางของคนจริงๆ”

 

กรวิชญ์ ขวัญอารีย์
กรวิชญ์ ขวัญอารีย์

 

แล้วประเทศไทยล่ะ มีไหม? ,มี แต่มันไม่ได้ทำให้ถูกมองเห็น

จากเซ็นทรัลเวิลด์ ถึง ลาดพร้าว ใช้เวลาแค่ 30 นาที – นั่นคือศักยภาพที่รถเมล์ในช่วงเวลากลางคืนทำได้ ตามที่ Mayday เคยการันตีไว้!

ถ้าอ้างอิงจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ Mayday ราว 2-3 ปีก่อน จะพบว่าประเทศไทยมีรถเมล์หลายสายที่ให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ได้แก่

รถเมล์สาย 3 จาก หมอชิต 2 – คลองสาน

รถเมล์สาย 25 จาก ปากน้ำ – สนามหลวง

รถเมล์สาย 29 ที่วิ่งจาก ตลาดรังสิต – หัวลำโพง

“ในไทยไม่ได้เรียกว่ารถเมล์กลางคืน แต่เป็นรถเมล์ 24 ชั่วโมงเพราะวิ่งในเส้นทางเดิมแต่แค่มีในช่วงเวลากลางคืนด้วย ซึ่งบางสายผ่านย่านสถานบันเทิงก็สามารถตอบสนองคนที่กลับดึกได้ และไม่ใช่แค่คนที่ไปดื่มแต่พนักงานหรือคนทำงานกลางคืนเอง เขาก็จะได้มีระบบแบบนี้รองรับ ฉะนั้นมันเกิดขึ้นได้ในไทยแต่รัฐต้องมีข้อมูล”

ถ้าประเทศไทยต้องการสร้างเส้นทางพิเศษในเวลากลางคืนเพื่อรองรับการเดินทางของเหล่านักดื่มหรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงกลางคืนเอง สิ่งที่รัฐไทยต้องมีคือข้อมูลว่าในพื้นที่ไหนมีคนต้องการใช้บริการมากน้อยเท่าไหร่

เพราะต้องไม่ลืมว่าทุกการขีดเส้นทางใหม่ มันมีต้นทุนที่ตามมาเสมอ

วิชเสนอว่าการแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงเป็นการทำให้ทุกคนรู้ข้อมูลก่อนว่ามีสิ่งนี้อยู่ ให้เขามีทางเลือกแล้วค่อยตัดสินใจว่าเขาไปได้หรือไม่ได้ และถ้าสามารถเก็บข้อมูลได้ว่าเขาไปไม่ได้เพราะอะไร ขาดอะไรไปก็จะสามารถนำข้อมูลมาพัฒนาต่อไปในอนาคต

“อาจจะลองทำในช่วงวันศุกร์ก่อนก็ได้เพราะวันศุกร์คนชอบไปพักผ่อน ลองให้รถเมล์บางเส้นทางมันเลิกดึกขึ้นมาหน่อยจาก 4 ทุ่มเป็น 5 ทุ่ม หรือเที่ยงคืน เป็นการทดลองค่อยๆ ทำไป อันนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเกิดรถเมล์กลางคืนหรือขนส่งสาธารณะที่ตอบสนองบริบทการเดินทางกลางคืนได้ วิชพูดชัดว่ารัฐต้องเปลี่ยน mindset เสียก่อน

“สังคมต้องมองกลับมาก่อนว่าการดื่มสุราไม่ใช่เรื่องผิด การออกไปพบปะสังสรรค์กันในเวลากลางคืนไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเพราะว่าถ้ามองแบบนั้นเป็นบรรทัดฐานของสังคมแล้ว อะไรก็ตามที่ไปเอื้อสิ่งเหล่านี้มันก็จะถูกมองว่าไม่ดีตามไปด้วย”

วิชกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลพลอยได้จากกรอบของศาสนาและสังคมที่กำหนดไว้ แต่ถ้าต้องการช่วยเหลือคนเดินทาง ลดความเสี่ยงต่อการเมาแล้วขับ อาจต้องทำความเข้าใจ เปิดใจรับวิถีชีวิตหรือไลฟ์สไตล์คนที่แตกต่างกันยิ่งขึ้น

 

สร้างร้านเหล้าที่ไม่ฆ่าลูกค้าตัวเอง

 

“ผมเชื่อว่าไม่มีผู้ประกอบการหรือคนทำเบียร์คนไหนอยากฆ่าลูกค้าตัวเอง”

ไม่มีใครอยากให้ลูกค้าตัวเองไปชนคนอื่นตายหรือได้รับบาดเจ็บหรอกครับ, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ย้ำชัด หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเขาในฐานะส.ส. แต่สายนักดื่มมักจะรู้จักเขาในนามของคนทำคราฟต์เบียร์และผู้ประกอบการร้านเหล้า เท่าพิภพมองว่าร้านเหล้ามีพลังมากพอที่จะช่วยสร้างมาตรฐานสังคมเพื่อให้ความปลอดภัยบนท้องถนนของลูกค้ามีมากขึ้น

“ต้องรณรงค์ว่ามันเป็นเรี่องความรับผิดชอบของผู้ขายด้วยไม่ใช่แค่การตำหนิผู้ดื่มอย่างเดียว” – เขาบอกแบบนั้น

“ผู้ประกอบการควรมีมาตรการหลายทางเพื่อส่งเสริมให้อุบัติเหตุบนท้องถนนมันลดลง เพียงแต่แนวคิดนี้ยังไม่แพร่หลายและยังไม่มีใครทำให้ดูเท่าที่ควร”

ว่ากันตามจริงแล้วในฐานะผู้ขายและให้บริการด้านความบันเทิง ไม่ว่าจะร้านเหล้า ผับ บาร์ กลุ่มผู้ประกอบการควรเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ต้องพูดถึงในทุกๆ นโยบายของรัฐ แต่จนถึงตอนนี้เรากลับพบว่าบทบาทในแง่ของผู้ร่วมรับผิดชอบของร้านเหล้านั้นยังคงเป็นภาพที่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก

 

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร

 

แล้วร้านเหล้าทำอะไรได้บ้าง?

“ผมไม่เคยทำร้านเหล้าที่มีที่จอดรถเลยเพราะผมรู้สึกว่าผมไม่สนับสนุนการดื่มแล้วขับ ดังนั้นร้านเหล้าไม่ควรมีที่จอดรถด้วยซ้ำ หรือถ้ามีก็ควรจำกัดที่จอดเพื่อทำให้มันยากขึ้น แม้แต่ในการโปรโมตร้านก็ไม่ควรบอกว่ามีที่จอดรถ” เท่าพิภพตอบคำถามนี้ในฐานะอดีตเจ้าของร้านเหล้า

ไม่ดื่ม ฉันขับ – เป็นหนึ่งในมาตรการที่ร้านอาหารทั่วไปหรือร้านเหล้าสามารถทำได้ เช่น การติดสติกเกอร์ที่คนขับรถเพื่อบ่งบอกว่า ‘ฉันไม่ drink ฉัน drive’ – เพราะมันคือความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ดูแลผู้ดื่ม

“อย่างน้อยร้านคราฟต์เบียร์ควรมีเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์ว่าเท่าไหร่ หรือ อาจต้องมีเครื่องวัดแอลกอฮอล์ก็ได้ ถ้ามันเกินเกณฑ์ก็ไม่เสิร์ฟเพราะเขาอาจไม่มีข้อมูลเท่าเราว่ากินอันนี้เท่าไหร่ กินอันนี้แล้วไม่ควรต่อด้วยอันนี้ หรือกินอันนี้แล้วควรพักนะ มันควรเป็นความรับผิดชอบของผู้ขายที่ต้องให้ข้อมูลเขาเหมือนกัน”

“มันควรจะทำให้เป็น norm ด้วยซ้ำ” – เท่าพิภพเล่าต่อ

“เพื่อสักวันหนึ่งเขาจะรู้สึกว่าถ้าฉันขับรถมาฉันก็จะอดปาร์ตี้กับเพื่อนเพราะงั้นนั่งแท็กซี่มาดีกว่าง่ายกว่าและเมื่อถึงจุดนั้นขนส่งสาธารณะที่ดีก็จะเข้ามารองรับเขาได้มากขึ้น”

 

จ่ายแล้วจบ – กฎหมายไทยไม่เคยเด็ดขาด

 

แม้การพูดคุยกับผู้ประกอบการในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมถึงกับตัวหน่วยงานมูลนิธิเมาไม่ขับเอง ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าอยากทำให้มันปลอดภัยขึ้น แต่ประเด็นปัญหาอีกอย่างที่พบคือ ‘กฎหมาย’

“กฎหมายประเทศนี้คนรวยอยู่ง่าย จ่ายแล้วจบเหมือนซื้อตั๋วเข้าดิสนีย์แลนด์”เท่าพิภพกล่าว

การจ่ายค่าปรับในกฎหมายไทยสำหรับเท่าพิภพแล้ว นอกจากจะไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ดีในการแก้ปัญหาเมาแล้วขับ มันยังเป็นแค่เครื่องตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของการบังคับใช้กฎหมายในประเทศนี้

ค่าปรับ 2 หมื่นบาทอาจเป็นเงินที่คนรวยหาได้ในวันเดียว

แต่กับคนจนนั่นอาจหมายถึงเงินเก็บทั้งชีวิต

บทลงโทษจึงควรเป็นอะไรที่เด็ดขาดและเท่าเทียมกว่าการปรับด้วยเงิน

“สุดท้ายกฎหมายจะเป็นตัวบังคับ แต่บทลงโทษต้องหนักพอที่เขาจะไม่กล้าทำอีก เช่น การยึดใบขับขี่ตลอดชีวิต ยึดพาสปอร์ตหรือถ้าเป็นแพทย์ก็ยึดใบประกอบโรคศิลป์ ทนายความก็ยึดใบอนุญาตว่าความ หลายประเทศอย่างเกาหลีใต้ก็ใช้วิธีนี้มันจะทำให้คนไม่กล้าทำ”

 

แต่ถึงอย่างนั้น, แม้เราจะมีกฎหมายที่เด็ดขาดพอ มีผู้ประกอบการที่รับผิดชอบต่อลูกค้า สังคมก็ยังคงต้องการผู้ดื่มที่รับผิดชอบต่อคนอื่นเช่นกัน

“เราต้องสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบร่วมกัน” – เท่าพิภพสรุป

เพราะแม้ว่ารัฐจะมีขนส่งสาธารณะ แต่เราลืมไม่ได้ว่ายังมีผู้ใช้บริการที่หลากหลายและปัญหาการดื่มสุราไม่ได้มีเพียงเรื่องเมาแล้วขับเพียงอย่างเดียว ทว่าอาจมีปัญหาทะเลาะวิวาท โวยวายเสียงดังในที่สาธารณะ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็น Toxic สำหรับคนอื่นและสังคมเช่นเดียวกัน 

สำหรับวิชเอง นั่นก็เป็นอีกประเด็นที่เขาอยากให้ผู้ดื่มตระหนักถึง

“แม้ว่ารัฐจะมีขนส่งสาธารณะบริการในเวลากลางคืน แต่ก็อาจจะมีเงื่อนไขที่ตัวผู้ดื่มเองก็ต้องพร้อมด้วย อย่างเช่นหลายประเทศเองก็ไม่ให้คนเมาขึ้นรถไฟฟ้าหรือประเทศไทยเองก็ไม่อยากให้คนเมาขึ้นเหมือนกัน เพราะเขารับประกันไม่ได้ว่าคนเหล่านี้เมาแล้วจะก่อเรื่องหรือเปล่า? หรืออาเจียนหรือเปล่า? ซึ่งเขาไม่สามารถประเมินได้เลย

เราจึงต้องขอความร่วมมือทั้งฝั่งคนดื่มเอง ผู้ประกอบการและรัฐด้วย

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles