เทรนด์การดื่มแอลกอฮอล์กำลังลดลง(?) และนักกีฬา สุรา และสุขภาพ

February 26, 2020


:: Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านรวมบทความสั้น ว่าด้วยเรื่อง ‘เทรนด์’ การดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลกในปัจจุบันและ ‘เทรนด์’ การดื่มในวงการนักกีฬาเพื่อผ่อนคลายก่อนแข่ง (?) ::

 

 

-1-

เทรนด์การดื่มแอลกอฮอล์กำลังลดลง (?)

 

มีสถิติมากมายบ่งชี้ว่า โลกของเรากำลังก้าวผ่านยุครุ่งโรจน์ของการดื่มแอลกอฮอล์มาแล้ว โดยนิตยสารเศรษฐศาสตร์ชั้นนำอย่าง The economist เรื่อง ‘Peak Booze? Alcohol consumption is falling around the world’ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2016 ปริมาณแอลกอฮอล์ที่คนทั่วโลกบริโภคลดลงถึง 1.4% หรือคิดเป็น 2 พันล้านลิตร ซึ่งสถิติดังกล่าวถูกเก็บโดย IWSR สถาบันวิเคราะห์ตลาดเครื่องดื่ม

 

เทรนด์ #1 – คนรุ่นใหม่เริ่มต้นดื่มช้าลง

 

มีรายงานว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุ 20-30 ปี) ในโลกตะวันตกเริ่มต้น ‘ดื่ม’ ช้าลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาถูกดึงความสนใจไปที่โลกออนไลน์มากกว่าจะมาพบปะสังสรรค์กันเหมือนในอดีต นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และการรักษาระดับการดื่มให้เหมาะสม ถูกจัดเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ด้านสุขภาพที่กลายเป็นกระแสหลักของคนคูลๆ ยุคใหม่อีกด้วย

 

เทรนด์ #2 – คนทั่วโลกกำลังดื่มเบียร์น้อยลง

 

เบียร์ (Beer) เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรกๆ ที่ผู้คนรู้จัก ในเบียร์หนึ่งกระป๋องมีแอลกอฮอล์อยู่ราว 5% ซึ่งเป็นปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำที่สุดในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด

 

นอกจากนี้ เบียร์ยังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยการดื่มเบียร์ทั่วโลกคิดเป็น 3 ใน 4 ส่วนจากสถิติการดื่มแอลกอฮอล์

แต่ในปี 2016 สถิติกลับบอกว่า ปริมาณการดื่มเบียร์ของคนทั่วโลกลดลงเหลือเพียง 185 พันล้านลิตร … ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?

สาเหตุแรกคือ ประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพียง 1% ทำให้จำนวนคนที่ดื่มเบียร์ในแต่ละช่วงอายุลดลงตามไปด้วย ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง คือ เศรษฐกิจและรสนิยมการดื่มที่เปลี่ยนแปลงไป

ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดเบียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2001 และมีสถิติการดื่มแอลกอฮอล์รายบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2003

แต่ในปี 2016 สถิติการดื่มเบียร์ในจีนกลับลดลง เพราะการดื่มเบียร์ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ ‘นักดื่มมากประสบการณ์’ (older drinker) อีกต่อไป คนที่อายุมากกว่า 30 ปีมักหันไปหาแอลกอฮอล์ชนิดอื่น เช่น ไวน์ ส่วนคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป นิยมดื่มเหล้าจีน (Baijiu) มากกว่า

ขณะที่บราซิลและรัสเซีย ก็มีสถิติการดื่มเบียร์ลดลงถึง 17% สอดคล้องกับรายงานจากนิตยสารการเงินชื่อดังอย่างฟอบส์ (Forbes) ที่ระบุว่า ประเทศรัสเซีย สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย มีแนวโน้มดื่มแอลกอฮอล์ลดน้อยลงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รูปแบบการดื่มเบียร์ได้รับผลกระทบ เพราะถ้าย้อนกลับไปในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การดื่มเบียร์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของตลาดมาโดยตลอด โดยเฉพาะการมาถึงของยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่ทลายเขตแดนการการค้า ก่อให้เกิดการย้ายถิ่นฐาน และเกิดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งยังทำให้รสนิยมและทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปลี่ยนไป ตามการรับข่าวสารในโลกไร้พรมแดน

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ การดื่มเบียร์จะเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีการค้าเปิดเสรี (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์) เพราะบรรษัทผลิตเบียร์ข้ามชาติสามารถเข้ามาเปิดกิจการ และเปลี่ยนแปลงตลาดการบริโภคภายในประเทศได้

แม้การดื่มแอลกอฮอล์ในภาพรวมจะลดน้อยลง แต่ยังมีบางประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (low income) และรายได้ปานกลาง (middle income) ที่ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์พุ่งสูงขึ้นสวนทางกับโลก เช่น เวียดนาม และอินเดีย

ส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราก็มีสถิติระบุอย่างชัดเจนว่า ช่วงปี 2010-2017 คนในภูมิภาคนี้บริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 34% หรือเฉลี่ย 15 ลิตร

โดยสรุปแล้ว ภาพรวมการดื่มแอลกอฮอล์ของโลกอาจจะลดลง เพราะผู้คนดื่มเบียร์ลดลง และคนรุ่นใหม่ดื่มช้ามากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ ยังมีผู้คนอีกมากที่ดื่มอย่างไม่ทันนึกถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม หากแต่ต้องช่วยกันตักเตือนและใส่ใจพวกเขา ไม่ให้ ‘ดื่ม’ จนกลายเป็น ‘ติด’ และทำลายสุขภาพในตอนท้าย

 

 

-2-

นักกีฬา สุรา และสุขภาพ

 

หลายคนคงเคยได้ยินการวิ่งประเภท Trail Runner กันมาบ้าง การวิ่งประเภทนี้คือ การวิ่งแบบผจญภัยตามป่าเขา ลำเนา ห้วย ที่มักจัดขึ้นเพื่อท้าทายความสามารถและทดสอบพละกำลังกล้ามเนื้อแต่ละมัดของเหล่านักวิ่งในการวิ่งข้ามอุปสรรคที่ธรรมชาติสรรค์สร้างไปถึงจุดหมาย

แต่ในวงการนักวิ่ง Trail Runner มีธรรมเนียมน่าประหลาดใจอยู่เรื่องหนึ่ง คือ หนึ่งคืนก่อนการแข่งขัน นักวิ่งมักดื่มแอลกอฮอล์สังสรรค์กัน เพื่อสร้าง ‘มู้ด’ ปลุกปั้นอารมณ์ให้คึกครื้น หรือกระทั่งคลายเครียดก่อนการแข่งวิ่งจะมาถึงในวันรุ่งขึ้น (บางคนถึงขั้นกลับไปดื่มอีกรอบหลังวิ่งเข้าเส้นชัยไปเรียบร้อยอีกต่างหาก)

คำถามคือการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อผ่อนคลายก่อนแข่ง ส่งผลดีต่อตัวนักวิ่ง หรือนักกีฬาที่มีธรรมเนียมปลุกใจในทำนองเดียวกันหรือไม่?

รายงานหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เมื่อไหลลงไปกองรวมกันในร่างของเรา จะกระตุ้นให้ไตทำงานหนักขึ้นเพื่อขับมันออกมาในรูปปัสสาวะ การที่ไตเร่งทำงานเช่นนี้ ทำให้ผู้ดื่มเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะขาดน้ำ หรือ ที่เรียกกันว่า Dehydration ทั้งยังทำให้ร่างกายฟื้นฟูจากภาวะขาดน้ำได้ช้าลง ดังนั้น ถ้าคุณดื่มและเล่นกีฬาที่สูญเสียเหงื่อปริมาณมาก นั่นอาจนำมาสู่ผลลัพธ์ร้ายแรงในท้ายที่สุด

การดื่มแอลกอฮอลล์ก่อนเล่นกีฬาหนึ่งวัน ยังทำให้สมรรถนะการออกกำลังกายแบบที่ต้องใช้ออกซิเจน (Aerobic Exercise) ลดต่ำลง ลดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ มีผลกระทบต่อการนอนพักผ่อนของนักกีฬา รวมถึงอาจสร้างผลกระทบต่อหัวใจ หรือเกิดอาการผิดปกติของหัวใจในกรณีที่ดื่มเกินขนาดอีกด้วย

ยังไม่นับว่าถ้าเล่นกีฬาขณะที่มีอาการ ‘แฮงค์’ ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บ เพราะผู้ดื่มจะรู้สึกปวดหัว วิงเวียนศีรษะ ปวดเนื้อตัว เหนื่อยง่าย มีผลต่อการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว ทำให้สมรรถนะในการเล่นกีฬาของพวกเขาต่ำลง จนอาจจะชวดรางวัลกันได้ง่ายๆ เลยทีเดียว

นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลต่อสุขภาพหรือการทำกิจกรรมของนักกีฬาในระยะยาว เพราะแอลกอฮอล์มีส่วนช่วยให้เรา ‘อ้วนขึ้น’ จากการที่ร่างกายเข้าใจว่า แอลกอฮอล์เป็นไขมันและเปลี่ยนน้ำตาลในแอลกอฮอลล์ให้กลายเป็นกรดไขมัน

ดังนั้น แทนที่นักกีฬาจะมีหุ่นฟิตปัง ก็คงหมดหวัง และโดนควบคุมน้ำหนักกันไปยาวๆ

 

 


ที่มา:

https://www.forbes.com/sites/niallmccarthy/2019/05/09/where-global-alcohol-consumption-is-rising-falling-infographic/?fbclid=IwAR1lOOYWOP8F-jR1Paaq1dR-Ua2vyJQ49jhiNVQ8DhcI0K8guGkvO2EVxWg#6b48c0f916e4

Alcohol and Athletic Performance

The Effects of Alcohol on Sports Performance and Recovery by Vincent Ragland

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles