เมื่อพูดการรักษาอาการติดเหล้า หลายคนเข้าใจว่าต้องเข้าบำบัดเพื่อให้เลิกขาด ชาตินี้อย่ามายุ่งเกี่ยว ทำให้คนที่แค่ต้องการหาวิธีลดปริมาณการดื่มลง หรืออยากเลิกดื่มในสถานการณ์เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเลิกยกแก้วชนในที่ทำงาน เลิกซดก่อนขับรถ หรือช่วงที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกหลานในบ้าน อาจเลือกไม่เข้ารับการบำบัดเพราะคิดว่าคงไม่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตน
แต่แท้จริงแล้ว เป้าหมายในการรักษาโรคติดสุราอาจไม่จำเป็นต้องทำให้เลิกดื่มอย่างเด็ดขาด ในแนวทางการรักษาด้วยการใช้ยากับความผิดปกติของพฤติกรรมดื่มสุราฉบับล่าสุด (PRACTICE GUIDELINE FOR THE Pharmacological Treatment of Patients With Alcohol Use Disorder) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (THE AMERICAN PSYCHIATRIC ASSOCIATION : APA) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมปี 2018 และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ระบุถึงเรื่อง ‘การกำหนดเป้าหมาย’ เช่นเดียวกันว่า ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาโรคติดสุรา ควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์ที่ทำการรักษา ตัวผู้ป่วยเอง รวมไปถึงความคิดเห็นของสมาชิกในครอบครัว เพื่อช่วยกันวางเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะเลิกขาด ลดการดื่ม หรือลดการดื่มในสถานการณ์เสี่ยงอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
การมีเป้าหมายที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยนี้เองที่อาจเป็นหัวใจสำคัญของการบำบัดยุคใหม่ และช่วยให้การรักษาประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น
สื่อสารคือหลักการสำคัญ
การเริ่มต้นกำหนดเป้าหมาย อาจเริ่มจากการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจ (Motivational Interviewing : MI) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธี ‘ละลายพฤติกรรม’ สร้างความใกล้ชิด และความไว้ใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย
บทสนทนาอาจเริ่มต้นด้วยการที่แพทย์ขออนุญาตผู้เข้ารับการรักษา พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการดื่มสุรา หลังจากยินยอมแล้ว ก็เริ่มตั้งคำถามให้พวกเขาระบายความรู้สึก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองการดื่มสุรา โดยถามถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้แอลกอฮอล์ พร้อมๆ กับประเมินความพร้อมในการลดปริมาณการดื่ม และความมั่นใจของผู้ป่วยที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการ
ระหว่างการสื่อสาร แพทย์ควรตระหนักว่าไม่ใช่การสื่อผ่านคำพูดเพียงเท่านั้น แต่อวัจนภาษา อย่างสีหน้า ท่าทางก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในแนวทางของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันยังบอกอีกว่า แพทย์ควรให้ความสนใจในสิ่งที่คนไข้พูด ไม่ตัดสินหรือตั้งแง่ และในขณะเดียวกัน ควรแสดงออกว่าคำนึงของคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้ป่วยด้วย
บันทึกการเปลี่ยนแปลงช่วยย้ำเตือนเป้าหมาย
เมื่อพูดคุย ทำความเข้าใจ จนได้เป้าหมายร่วมกันแล้ว แพทย์ควรบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับเป้าหมายลงในเวชระเบียนอย่างชัดเจน เช่น สรุปในเอกสารบันทึกความก้าวหน้าอาการทางการแพทย์ (progress note) นอกจากนี้ ยังอาจบันทึกข้อมูลในเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา อาทิ ผลกระทบทางสุขภาพที่ตามมาจากการใช้แอลกอฮอล์ หรือพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยอาจจะตกลงแค่ลดการดื่ม แต่ก็ยังดื่มในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย ขับขี่ขณะมึนเมา เป็นต้น
เอกสารที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงของคนไข้เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยสะท้อนภาพรวมให้ทั้งแพทย์และคนไข้เข้าใจเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน เห็นอุปสรรคที่จะนำไปสู่การถกปัญหา พูดคุยเพื่อหาทางก้าวข้าม และวางแผนการรักษา อีกทั้งผู้ป่วยยังสามารถกลับมาย้ำเตือนตัวเองถึงความตั้งใจแรกเริ่มได้อีกด้วย
เลิกหรือลดอยู่ที่เรา
ข้อดีของการตั้งเป้าหมายที่มาจากการตกลงกันระหว่างคนไข้กับแพทย์ คือการเพิ่มความรู้สึกมีส่วนร่วมของคนไข้ ทำให้เขามีแรงผลักดันสู่เป้าหมาย และช่วยสร้างบรรยากาศในการตัดสินใจร่วมกัน จนเกิดรูปแบบความสัมพันธ์ทางการรักษาระหว่างคนไข้และแพทย์ที่ดี ซึ่งเป้าหมายของคนไข้จะมีผลอย่างมากต่อการเลือกรักษาด้วยยา โดยเฉพาะในการใช้ยา disulfiram ที่มีข้อจำกัดห้ามใช้กับคนที่ยังดื่มระหว่างรักษา
อย่างไรก็ตาม เมื่อแพทย์และคนไข้ร่วมก่อร่างสร้างถนนเพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายในการลดหรือเลิกสุรา แต่ถ้าระหว่างทางพบหลุมบ่อหรือทางแยกที่ทำให้ไม่อาจก้าวไปในเส้นทางเดิม เช่น ผลตอบสนองจากการรักษาไม่ค่อยดี, มีทางเลือกอื่นเหมาะสมกว่า หรือเกิดผลกระทบต่อสุขภาพจากการรักษา เป็นต้นว่าความอยากอาหารลดลง คนไข้และแพทย์ควรหันกลับมาพูดคุย เพื่อปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการรักษาให้มีประสิทธิภาพ สร้างเส้นทางเส้นใหม่ที่ดีและเหมาะสมกว่าเดิมได้เสมอ
เรื่องและภาพ : ทีมงาน Alcohol Rhythm