:: จากสถานการณ์โรคระบาดแพร่กระจายเกือบทุกหย่อมหญ้า Alcohol rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอชวนคุณมาเติมความรู้เรื่องแอลกอฮอล์กับโรค Covid-19 ผ่านบทความสั้นชุด “เกร็ด Alcohol (Rhythm) น่ารู้สู้โรค COVID-19” ::
เราดื่มแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อไม่ได้ฉันใด
เราก็ไม่สามารถใช้เหล้าทำความสะอาดได้ฉันนั้น
ช่วงที่ผ่านมา ‘น้ำยาแอลกอฮอล์’ และ ‘เจลล้างมือแอลกอฮอล์’ กลายเป็นหนึ่งในของยอดฮิตที่คนส่วนใหญ่ต่างเสาะหามาพกติดตัว ติดบ้าน เพื่อใช้ทำความสะอาดสิ่งของและร่างกายให้ปลอดจากเชื้อไวรัส
แต่ทราบหรือไม่ว่า แอลกอฮอล์ที่คุณใช้ฆ่าเชื้อทุกวันนี้ เป็นชนิดเดียวกันกับแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มมึนเมาทั้งหลาย!
แอลกอฮอล์ชนิดนี้เรียกว่า ‘เอทิลแอลกอฮอล์’ (ethyl alcohol) หรือ ‘เอทานอล’ (Ethanol) เป็นแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักพืชผลทางการเกษตร มักถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายแขนง ทั้งผลิตเครื่องสำอาง น้ำมันเชื้อเพลิง ใช้ในทางการแพทย์ เช่น ผลิตยา ผลิตน้ำยาเช็ดทำความสะอาด ทำเจลล้างมือ และแน่นอนว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องดื่มอย่างเหล้า เบียร์ ไวน์
อย่างไรก็ตาม ถึงเป็นเอทานอลเหมือนกัน แต่ใช่ว่าเราจะสามารถกินแอลกอฮอล์สีฟ้าๆ (หรือเจลล้างมือ?) เหล่านี้ แทนเหล้าได้
เพราะเอทานอลนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความบริสุทธิ์และจุดประสงค์ที่ใช้ กลุ่มแรกเรียกว่า ‘ฟาร์มา เกรด’ หรือ ‘ฟู้ดเกรด’ เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ สามารถรับประทานได้ มีผลข้างเคียงต่ำ กลุ่มต่อมาคือ เอทิลแอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์ 95% ใช้ผลิตเบียร์ เครื่องสำอาง และสเปรย์ต่างๆ
สุดท้าย คือ เอทิลแอลกอฮอล์สำหรับล้างแผลและฆ่าเชื้อโรค มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์’ (Isopropyl alcohol หรือ IPA) เอทิลแอลกอฮอล์กลุ่มนี้มีการผสมสารและสีที่ไม่สามารถรับประทานได้ (แถมบางทียังมีกลิ่นฉุนไม่น่าพิสมัยอีกด้วย) ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ใช้ทำความสะอาดแค่ผิวหนังภายนอกจะดีที่สุด
ในทางกลับกัน เราเองก็ไม่สามารถนำเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ มาใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อแทนน้ำยาหรือเจลล้างมือได้เช่นกัน เพราะความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มไม่มากพอจะฆ่าเชื้อโรค แม้จะเป็นเหล้าที่ดีกรีแรงที่สุด ก็มีความเข้มข้นไม่เกิน 40-50% ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์เข้มข้นอย่างน้อย 70% เหล้าจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไรสำหรับการเช็ดทำความสะอาด
อนึ่ง แอลกอฮอล์อีกประเภทที่ควรรู้จักคือ ‘เมทิลแอลกอฮอล์’ (methyl alcohol) หรือ ‘เมทานอล’ (methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เช่น สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา สารกำจัดศัตรูพืช และเชื้อเพลิงดื
เมทิลแอลกอฮอล์นี้ “ไม่สามารถรับประทานได้” และ “ไม่สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อ Covid-19” แต่อย่างใด
ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวอิหร่านจำนวนมากต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และเสียชีวิตเพราะการดื่มเมทิลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นสูง โดยเชื่อว่าแอลกอฮอล์ชนิดนี้สามารถป้องกันโรค Covid-19 ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การบริโภคเมทิลแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อร่างกาย
การสูดดมจะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ เยื่อบุตา จนอาจเกิดการอักเสบ ปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ส่วนการดื่มทำให้คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน เห็นภาพไม่ชัดหรืออาจทำให้ตาบอด มีผลต่อไต กล้ามเนื้อตับ โลหิตเป็นพิษ และอาจหัวใจวาย เสียชีวิตในที่สุด
ฉะนั้น ไม่ควรนำ ‘เมทิลแอลกอฮอล์’ มาใช้ฆ่าเชื้อโรคหรือบริโภคแทน ‘เอทิลแอลกอฮอล์’ เพื่อความปลอดภัยของคุณในทุกกรณี
ดื่ม..ก็เหมือนเราจะยิ่งเสี่ยง
เหล้า..ไม่ช่วยอะไรเลย
ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการระบาดของโรค Covid-19 คือความเชื่อว่า ‘แอลกอฮอล์’ ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% เป็น ‘ของวิเศษ’ ป้องกันโรคร้าย
ความเชื่อนี้ไม่เพียงทำให้คนพากันซื้อแอลกอฮอล์ (โดยเฉพาะน้ำยาฆ่าเชื้อและเจลล้างมือ ซึ่งจัดอยู่ในหมวด ‘ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์’) มากขึ้นจนขาดตลาดช่วงหนึ่ง แต่ยังทำให้คนเข้าใจว่าการดื่มแอลกอฮอล์สามารถป้องกันโรค Covid-19 ได้
ก่อนหน้านี้ เราได้ทราบกันไปแล้วว่า ‘เมทิลแอลกอฮอล์’ ที่ชาวอิหร่านหลายสิบคนพากันดื่มเพื่อต้านไวรัสนั้น เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต คำถามคือ ถ้าเป็น ‘เอทิลแอลกอฮอล์’ ที่รับประทานได้ในเหล้า เบียร์ ไวน์ต่างๆ ล่ะ เราจะสามารถดื่มเพื่อฆ่าเชื้อ Covid-19 ในร่างกายได้หรือไม่?
คำตอบ คือ “ไม่” องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขออกมาให้เหตุผลว่า ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มมึนเมาชนิดต่างๆ ไม่มากพอจะฆ่าเชื้อโรคเหล่านี้
และถ้าคุณยังดึงดัน ดื่มเหล้าในปริมาณมากเพื่อหวังผลให้ระดับแอลกอฮอล์ในร่างเข้มข้นถึงขั้นสามารถฆ่าเชื้อ Covid-19 คุณอาจจะพบกับผลเสียร้ายแรงจากการดื่มเกินขนาดเสียก่อน
การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก จะทำให้ปวดท้อง กระเพาะอาหารเป็นแผล อาเจียนเป็นเลือด และถ้ายิ่งดื่มหนักจนระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มขึ้นสูงกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษฉับพลัน (Alcohol intoxication) ซึ่งมีอาการตาพร่า หมดสติ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์กดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ดื่ม จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือตกอยู่ในภาวะโคม่า
ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์จึงไม่ช่วยป้องกันเชื้ออะไร ซ้ำร้าย ยังทำให้ผู้ดื่มเสี่ยงต่อการติดโรค Covid-19 มากขึ้นอีกด้วย
พิษของแอลกอฮอล์ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้ไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมของร่างกายจึงย่ำแย่ลง ผู้ดื่มมีแนวโน้มเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนปกติ ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยด้านแอลกอฮอล์ชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในปี 2015 ยังระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อของร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น ทำให้เกิดโรคปอดบวม
สอดคล้องกับคำกล่าวของ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ผู้ที่ติดเหล้ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อในปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 2.9 เท่า
เชื้อไวรัส Covid-19 เป็นไวรัสที่ติดต่อได้ผ่านการหายใจ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์หลายท่านจึงออกมาแนะนำให้งดดื่มสุรา เพื่อดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคระบาด
ตัวอย่างที่ดีมีให้เห็นในประเทศอินเดีย ตามทัศนะศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ จากคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนผู้ติดเชื้อ Covid-19 ต่อประชากรในประเทศดังกล่าวต่ำกว่าไทยเกือบ 31 เท่า เป็นเพราะคนอินเดียดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ต่ำมาก เพียงคนละ 4.3 ลิตรต่อปี จัดอยู่ในอันดับที่ 119 โลก ขณะที่คนไทยดื่มกัน 7.1 ลิตรต่อปี และอยู่ในอันดับที่ 76
การดื่มแอลกอฮอล์น้อย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ถูกทำลาย ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ในประเทศที่ไม่นิยมดื่มอย่างอินเดีย ย่อมเสี่ยงต่อการติดโรคระบาดต่ำกว่าประเทศที่นิยมการดื่มหนัก
รู้อย่างนี้แล้ว การลด ละ เลิก ดื่มสุรา แล้วหันมากินของร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ก็ดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดื่มหนักเพื่อฆ่าเชื้อโรค (ที่ทำให้ร่างกายย่ำแย่กว่าเดิม) เสียอีก
ห่างกันสักพัก เพื่อให้คุณได้ดูแลสุขภาพและผู้ติดสุราใกล้ตัว
จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้คน ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ หรือ ‘Social distancing’ ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพสังคมโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปในพริบตาเดียว
นอกจากคนจะอยู่ติดบ้าน ลดการเดินทางสัญจร ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารต่างหันมาให้บริการรูปแบบใหม่ ฝ่ายสถานบันเทิง ร้านนั่งดื่มอย่างผับ บาร์ ซึ่งมีรายได้หลักจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้นักท่องราตรีก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เพราะสถานที่เหล่านี้ถือว่าเป็นที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ทำให้หลายแห่งร้างผู้คนจนยอดขายตกลง หรือต้องปิดตัวชั่วคราว
ในแง่หนึ่ง การปิดสถานบันเทิงอาจช่วยลดพฤติกรรมการดื่มสุราของคนได้ แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือ เทรนด์การนั่งดื่มสังสรรค์ที่บ้าน
ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีวัฒนธรรมรักการดื่มฝังรากลึกในสังคมคือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด หลังการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่หันมาดื่มกันที่บ้านแทนการนั่งดื่มที่บาร์ ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (รวมถึงยอดขายกับแกล้มเหล้า) จากแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ อย่าง GS25 จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะโซจูและเบียร์ ที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยม เติบโตมากถึง 29.2% และ 23.8% ตามลำดับ
แม้มองเผินๆ การดื่มที่บ้านจะเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย แต่ถ้าวงเหล้ามีขนาดใหญ่ ก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างเมาได้เช่นกัน
นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มองว่าคนส่วนใหญ่เวลาดื่มสังสรรค์ มักคุยกันสนุกสนานเฮฮา ลดความระวังตัวลง บางคนช่วยชงเหล้าให้แก่กัน จับแก้วคนอื่นๆ หรือดื่มจากแก้วเดียวกัน ทำให้เสี่ยงต่อการติดโรคได้ง่าย
ยิ่งไปกว่านั้น รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เพียงหายใจใกล้กันหรือนั่งใกล้กับผู้ติดเชื้อ Covid-19 เราก็สิทธิ์ได้รับเชื้อเช่นกัน เพราะผู้ติดเชื้อจะมีอาการไอ มีน้ำมูก ถ้าเกิดการไอกลางวงเหล้า ละอองน้ำลายอาจฟุ้งกระจายไปสู่ภาชนะของผู้อื่น ทำให้คนนั่งร่วมวงติดโรค Covid-19 ได้
ดังนั้น ถึงจะเป็นการดื่มที่บ้าน แต่ถ้าไม่ระมัดระวัง ปล่อยให้ความสนุกครอบงำ ก็อาจติดโรคมาได้โดยไม่ทันรู้ตัว
อนึ่ง ในช่วงที่ต่างคนต่างต้อง ‘ห่างกันสักพัก’ ผู้ติดสุราก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากการกักตัว ลดการพบปะผู้คน ทำให้การบำบัดที่ควรทำอย่างต่อเนื่องหยุดชะงักลง และสร้างความเครียด ความวิตกกังวล เหงาหรือโดดเดี่ยวจากสถานการณ์โรคระบาด
อารมณ์ทางลบทั้งหลายเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้คนอยากดื่มสุรา และผู้ป่วยติดเหล้าที่เคยดื่มมาก่อนย่อมมีแนวโน้มกลับไปดื่มได้ง่าย ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยรองรับว่า การดื่มเหล้าติดต่อกันเป็นเวลานาน มีผลต่อการเกิดความวิตกกังวล (anxiety) การดื่มเหล้าจึงไม่ช่วยทำให้หายเครียด หายวิตก ซ้ำยังเป็นการสะสมพิษ ก่อโรคในร่างกาย
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในช่วงนี้ คือการดูแลสุขภาพตนเอง ลดการดื่ม ลดความเสี่ยง และหันมาใส่ใจผู้ป่วยติดสุราข้างตัว ให้พร้อมฝ่าฟันโรคระบาดไปด้วยกัน
ยิ่งเหงาและเศร้า เรายิ่งต้องระวังการดื่ม
ความเดิมตอนที่แล้ว เราได้นำเสนอไปว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และการปิดสถานที่แออัดเสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออย่างห้างสรรพสินค้า ผับ บาร์ สามารถนำไปสู่เทรนด์การนั่งดื่มสังสรรค์ที่บ้าน และอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกรณีที่วงเหล้ามีขนาดใหญ่ และผู้ดื่มไม่ระมัดระวังตัวเอง
แต่อีกหนึ่งสิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคือ ต่อให้คุณไม่ได้นั่งดื่มกับใคร แต่การดื่มเพื่อมุ่งลดอาการ ‘เหงา เศร้า เซ็ง’ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกักตัวนี้ ก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบได้เช่นเดียวกัน
Kenneth Skale ประธานสมาคมจิตวิทยาของลอส แองเจลิส อธิบายว่า การดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดับความเครียดในช่วงนี้เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร เพราะปกติคนเราจะดื่มแอลกอฮอล์เพื่อรักษาความสัมพันธ์ หรือกดความรู้สึกต่างๆ ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ ตอนนี้เป็นช่วงที่คนรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามจากอะไรบางอย่าง คนส่วนมากจึงอยากจะเข้าไปใกล้ชิดคนอื่นมากขึ้นเพื่อบรรเทาเบาบางความรู้สึกนี้ แต่อย่างที่เรารู้กันว่า การใกล้ชิดคนอื่นในตอนนี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไหร่ คนจำนวนมากจึงเลือกหันไปหาแอลกอฮอล์ เพื่อทดแทนความรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และเศร้า รวมถึงทำให้ตัวเองรู้สึกหวาดกลัวน้อยลงแทน
อย่างไรก็ดี ความรู้สึกผ่อนคลายที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อาจจะเป็นเรื่องชั่วคราว และส่งผลลบในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อคุณสร่างเมาแล้ว โดย Ryan Howes นักจิตวิทยาคลินิก อธิบายว่า “ปัญหาของการดื่มแอลกอฮอล์คือ มันจะช่วยบรรเทาเบาบางความเครียดของคุณตอนที่คุณดื่ม แต่เมื่อคุณตื่นขึ้นในวันถัดมา คุณจะเจออาการเมาค้าง เจอความเครียดที่คุณพยายามลืม และความสามารถในการจัดการกับความเครียดก็จะลดลง”
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ แอลกอฮอล์มีโอกาสจะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของเรา ซึ่งคุณหมอ George F. Koob อธิบายว่า “การใช้แอลกอฮอล์อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการฆ่าเวลา โดยเฉพาะเมื่อคุณอ่อนแอต่อไวรัสหรือการติดเชื้อ” และอย่าลืมว่าในช่วงเวลานี้ เรา ‘ทุกคน’ ล้วนอ่อนแอและต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ
แล้วเราจะยังดื่มแอลกอฮอล์ได้ไหม หรือควรจะดื่มอย่างไร?
สำหรับเรื่องนี้ Skale มองว่า ดื่มได้ แต่ต้องดื่มในระดับพอเหมาะ คอยสังเกตตัวเองว่าดื่มไปเท่าไหร่แล้ว และอาจจะเริ่มบันทึกปริมาณการดื่มในแพลนเนอร์หรือปฏิทิน และถ้าคุณเป็นคนประเภทที่ดื่มหนักเพื่อหลีกเลี่ยงความกังวล หดหู่ หรือดื่มโดยที่ไม่รู้จะดื่มไปทำไม คุณควรจะสำรวจความรู้สึกของตัวเอง ตอบสนองต่อความรู้สึกนั้นอย่างตรงไปตรงมา โดยทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การดื่มแอลกอฮอล์แทน เช่น ถ้ารู้สึกเบื่อ ลองอ่านหนังสือ หรือทำอาหาร หรือถ้ารู้สึกเหงา ลองโทรหาเพื่อนสัก 2-3 คนดู
ขณะที่นักจิตวิทยาอย่าง Howes แนะนำว่า ให้ลองคิดถึงด้านบวกของการกักตัวแทน ซึ่งด้านบวกที่ว่า เช่น การมีโอกาสทำความสะอาดบ้าน หรือจัดการข้าวของที่หมักหมมมานาน “ลองจัดตู้เสื้อผ้า หรือรื้อกล่องของเล่นตอนเด็กๆ ดู นี่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ แต่เวลาคุณได้ขีดฆ่ารายการสิ่งที่ทำไปแล้วออกจาก to-do-list มันก็ช่วยได้ไม่น้อยเลยแหละ”
ขณะที่คุณหมอ Koob แนะนำว่า วิธีการปรับอารมณ์ที่ดีที่สุดแบบไม่ต้องพึ่งแอลกอฮอล์คือ การออกกำลังกาย ที่นอกจากจะช่วยเรื่องอารมณ์แล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วย
แน่นอนว่า ตอนนี้เราทุกคนกำลังเผชิญกับภาวะตึงเครียดและไม่แน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเครียดและผิดหวัง แต่ Skale แนะนำว่า เราจะต้องยอมรับให้ได้ว่า ตอนนี้ไม่มีอะไรที่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป
“การดื่มแอลกอฮอล์อาจจะช่วยลดความงี่เง่าและความเครียดได้ชั่วคราว แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความไม่แน่นอนลดลง และยังจะทำให้ความสามารถในการสู้กับเชื้อโรคของคุณน้อยลงอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น ถ้าจะดื่ม คิดถึงเรื่องสุขภาพของคุณด้วย” Skale ปิดท้าย
ที่มา:
เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ใช้มากส่งผลข้างเคียงหรือไม่
ชาวอิหร่านผวา! ไวรัสโควิด-19ระบาด แห่ดื่ม ‘เมทิลแอลกอฮอล์’
Covid-19 Fact: การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ช่วยป้องกันโควิด-19
เหตุใดอินเดียจึงมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 น้อย?
เหล้า-บุหรี่เสี่ยงโควิด19! แพทย์เตือนทำลายปอด ระบบทางเดินหายใจ
เตือน! ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในเวลาสั้น ฤทธิ์รุนแรงถึงตาย
Fact check: To minimize coronavirus risk, use alcohol for sanitizing not for drinking
งดร่วมดื่ม ร่วมเสพ “เหล้า-บุหรี่” ลดความเสี่ยงโรคโควิด-19
COVID-19 Poses Unique Challenges For Alcohol Drinkers
รายงานเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของชาวเกาหลีใต้
What to Do if You’re Drinking Way More During Self-Isolation
เรื่องและภาพ : ทีมงาน AlcoholRhythm