“ความทุกข์ยากในชีวิตและความไม่มั่นคงทางจิตกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพวาดของ แวน โกะห์ (Van Gogh) ลึงซึ้งและทรงพลัง” บทความวิเคราะห์หลายสำนักระบุไว้
ขณะที่บีโธเฟ่น (Beethoven) ถูกยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นคีตกวีที่ใช้ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของตนเองผนึกเข้าไปในดนตรี สร้างสรรค์จนออกมาเป็นผลงานชื่อดังก้องโลก
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า การแสดงออกเชิงศิลปะในรูปแบบต่างๆ ช่วยให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ บางครั้งก็ยังเป็นยาดีระบายการแตกสลาย และเยียวยาความปวดร้าวให้กลับมาดีขึ้น
แต่ไม่ใช่แค่เพียงใช้เพื่อเข้าใจและเยียวยาจิตใจเท่านั้น แต่การแสดงออกเชิงศิลปะยังมีบทบาทที่มากไปกว่าน้ัน คือ การถูกใช้เป็นอาวุธที่ (ไม่) ลับ เพื่อคอยเสริมพลังให้คนที่กำลังเผชิญกับอาการติดเหล้าได้ด้วยเช่นกัน
ศิลปะมีบทบาทอย่างไรกับการบำบัดคนติดเหล้า และเราจะนำไปศิลปะเข้ามาช่วยเยียวยาและรักษาอาการเจ็บป่วยของพวกเขาได้อย่างไร ชวนหาคำตอบได้จากบทความด้านล่างนี้
ศิลปะบำบัดกับความอยาก (เล่า) เหล้า
“ชาวอเมริกันจำนวนมากถึง 60% ได้เข้าร่วมในโปรแกรมการแพทย์เสริมหรือโปรแกรมการแพทย์ทางเลือก (CAM) ที่รวมไปถึงการบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะ” วารสาร Aging Health ระบุเช่นนี้ แสดงให้เราเห็นถึงบทบาทสำคัญของศิลปะในการบำบัดสุรา อีกทั้งโปรแกรมการแพทย์เสริมที่ว่านี้ ยังเป็นตัวช่วยจุดประกายแพสชัน (passion) เก่า ๆ ของคนติดเหล้า และเชื่อมโยงกิจกรรมบางอย่างที่ผู้คนหลงใหลและเคยกระทำก่อนจะติดเหล้า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีเลยทีเดียว
ตรงนี้ยังสอดคล้องกับวารสาร Psychology Today ที่เผยว่า การบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะแตกต่างจากเทคนิคการบำบัดโดยทั่วไป ซึ่งประกอบไปด้วยการแสดงออก จินตนาการ การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และการผสานกันระหว่างจิตใจกับร่างกาย
การบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะยังรวมถึงการจดบันทึก การเขียนเชิงสร้างสรรค์ การแสดง การร้องเพลง การเต้นรำ การวาดภาพ การปั้น การแต่งเพลง การเล่นเครื่องดนตรี การวาดภาพ การแสดงบทบาทสมมติ ฯลฯ
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น วิธีการบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะประกอบไปด้วย
ดนตรีบำบัด – การรักษาอาการติดเหล้าด้วยดนตรีไม่ใช่แค่ฟังเพลงเพื่อดึงดูดอารมณ์ แรงจูงใจ หรืออุปสรรค แต่จะว่าด้วยการวิเคราะห์เนื้อเพลง การแต่งเพลง การเล่นดนตรีตามอารมณ์ ทำให้สามารถฟื้นตัวผ่านเนื้อเพลงและทำนองเพลงได้ตรงๆ
เต้นรำบำบัด – การเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง สามารถช่วยให้บุคคลผสานรวมแง่มุมทางอารมณ์ร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจ ‘ตัวเอง’ โดยการเต้นรำบำบัด อาจจะฝึกจังหวะนับถอยเท้าตามทำนอง หรือพลิ้วไหวร่างกายแบบไร้ทิศทางและไม่ตามจังหวะ เป็นต้น
วาดภาพบำบัด – การวาด ละเลง ระบายสี เป็นตัวช่วยให้หลายๆ คนสามารถประนีประนอมความขัดแย้งภายในตนเอง และปลดปล่อยอารมณ์ที่อัดอั้นอย่างลึกซึ้งให้ออกมา
ถ้าพูดในภาพรวม การนำการแสดงออกเชิงศิลปะมาใช้บำบัดคนที่มีอาการติดเหล้า อาจจะบำบัดโดยผ่านกระบวนการที่ให้คนติดเหล้าสร้างงานแต่ละชิ้นด้วยตนเอง หรือทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นกลุ่มโดยใช้การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งแต่ละคนอาจค้นพบการบำบัดที่ดีและเหมาะสมกับเงื่อนไขทางสุขภาพของตนเอง โดยจะเลือกรูปแบบที่ไม่เป็นแบบแผน หรือไตร่ตรองไว้ก่อนสำหรับการเปล่งประกายความรู้สึกและอารมณ์ก็ย่อมทำได้ตามที่คนๆ นั้นต้องการ
อย่างไรก็ดี การบำบัดด้วยการแสดงเชิงศิลปะมักจะถูกใช้เป็นมาตรการเสริม ควบคู่ไปกับการบำบัดแบบพูดคุยถือยังเป็นส่วนหลักของโปรแกรมการรักษาอยู่
‘เพราะการแสดงออกเชิงศิลปะบ่งบอกความรู้สึกของเราได้ดีที่สุด’ สำรวจประโยชน์ของศิลปะบำบัดเหล้า
การใช้ศิลปะบำบัดอาการติดเหล้ามีมาตั้งแต่คริสต์ศักราช 1950 และเป็นที่ยอมรับต่อๆ กันว่า การบำบัดด้วยวิธีนี้สามารถจัดการกับการเสพติดแอลกอฮอล์ได้
ปัจจุบัน การบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นวิธีการที่ดีต่อสุขภาพ และไม่ได้ส่งผลกระทบมากขึ้นต่อความเครียดและความวิตกกังวล ตลอดจนช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจิตใจกับร่างกาย
วารสารการพยาบาลติดยาเสพติดสหราชอาณาจักร ระบุว่า ศิลปะบำบัดอาจมีประโยชน์ในระหว่างการรักษาการติดยาและแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการเปิดช่องทางการสื่อสารให้ผู้เข้ารับการรักษาลดความรู้สึกอับอาย ลดความเครียด และเป็นทางออกที่ดีสำหรับในยามอารมณ์อ่อนไหว
อีกทั้ง ระหว่างการบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะยังสามารถช่วยให้บุคคลเจอทางออกที่ดีและเหมาะสมกับสุขภาพของตนเอง มีเครื่องมือช่วยกำจัดอารมณ์ที่รุนแรงของตนออกไป และยังใช้ศิลปะเป็นตัวช่วยเปิดบทสนทนา สำรวจความคิดส่วนตัว และพฤติกรรมเชิงลบที่อาจทำลายตนเอง รวมถึงใช้ประสานบุคคลให้เข้าร่วมรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง และเพิ่มแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงชีวิตเชิงบวก
ขณะที่ทางฝั่งสมาคมสหพันธ์ศิลปะสร้างสรรค์แห่งชาติ (NCCATA) ยังเพิ่มเติมด้วยว่า การบำบัดด้วยการแสดงออกสามารถเสริมสร้างสุขภาพ ด้วยการพัฒนาความรู้ด้านอารมณ์ ร่างกาย และสังคม ถ้าพูดให้ชัดขึ้น “เวลาเราพูดถึงผู้คนที่กำลังก้าวไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างอิสระด้วยตนเอง มันอาจฟังดูไร้ทิศทาง และดูเหมือนว่าคนๆ นั้นไม่รู้เลยว่าตนเองกำลังจะสร้างบางสิ่ง แต่แท้จริงแล้ว พวกเขากำลังสร้างการเข้าใจตนเองให้ดียิ่งขึ้นอยู่” สอดคล้องกับ Psych Central ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข้อมูลและสุขภาพจิตอิสระ ที่เผยว่า การเข้าถึงความสนใจของบุคคลหนึ่งๆ จะช่วยให้ผู้คนเห็นภาพการต่อสู้ภายในของตนเองและลดความวิตกกังวล
ทั้งนี้ การบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะจะไม่ทำให้เกิดการตัดสินหรือการเผชิญหน้า ทำให้ผู้ป่วยแต่ละคนสามารถทำงานด้วยวิธีการสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะคิดหรือพูดอะไร และยังไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และโดยทั่วไปมักจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ดังนั้น การบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะอาจช่วยให้บุคคลกลับมาบำบัดเหล้าได้ในช่วงวิกฤต
แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีข้อควรระวังอะไรเลย เพราะการบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะอาจเปิดเผยบาดแผลและอารมณ์ที่ฝังลึก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาในการดื่มแม้จะไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ความสามารถในการรับรู้ถึงสิ่งกระตุ้นและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการบำบัดสามารถช่วยให้แต่ละคนเรียนรู้วิธีที่จะรับมือและจัดการกับสิ่งเหล่านี้ เมื่อพวกเขาออกไปใช้ชีวิตประจำวัน
เมื่อความเครียดเกี่ยวกับการกำเริบของโรคและการเสพติดล้วนเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน การแสดงออกเชิงศิลปะอย่างสร้างสรรค์อาจเป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมในการบรรเทาความเครียดดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้การบำบัดด้วยการแสดงออกมีประโยชน์ในการลดอาการกำเริบของโรค และยังช่วยลดความโกรธ ความอับอาย การปฏิเสธ ความเศร้า และความกลัว ที่เป็นอารมณ์ที่สามารถกระตุ้นและทำให้รุนแรงขึ้นได้จากการเสพติด
การแสดงความรู้สึกของแต่ละบุคคลผ่านศิลปะมักจะมีพลังมากกว่าคำพูดและการให้ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งการบำบัดด้วยการแสดงออกเชิงศิลปะยังสามารถฉายภาพการรักษาในเชิงบวก ซึ่งอาจช่วยเพิ่มแรงจูงใจของบุคคลให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้บรรลุการมีสุขภาพดีนั่นเอง
เมื่อการติดเหล้าเลิกยากกว่าที่คิด การรักษาจึงต้องหลากหลาย
อาจเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปมักจะมองว่า ‘การไม่ดื่ม’ เป็นยาครอบจักรวาลที่จะทำให้ชีวิตของคนติดเหล้าดีขึ้น แต่ทั้งนี้ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการติดเหล้ามีปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นก่อให้กำเริบหรืออยากเหล้ามากกว่าความคิดที่ว่า “ฉันต้องไม่ดื่ม” เช่น อาการถอน – ผู้ที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์อาจมีอาการวิตกกังวล ปวดศีรษะ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย และฝันร้าย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นต้องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อหยุดอาการดังกล่าว ความทุกข์ทางอารมณ์ – บ่อยครั้งผู้มีปัญหาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ มักไปจบด้วยการใช้แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เรียนรู้ทักษะการเผชิญปัญหาที่จำเป็น และการจัดการกับความต้องการของชีวิต หรือคำเชิญชวนที่แฝงไปด้วยความกดดันจากคนรอบข้าง – ผู้ติดเหล้าอาจพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์อันน่าอึดอัดที่เพื่อนสนิทหรือสมาชิกภายในครอบครัว พูดเชิญชวนให้ดื่มสักแก้ว
นี่เป็นเพียงปัจจัยบางส่วนที่คอยกระตุ้นให้คนติดเหล้าอยากกลับไปดื่ม ดังนั้นคนทั่วไป (รวมถึงคนติดเหล้าที่พยายามโทษตัวเองบ่อยๆ ) อาจจะต้องสร้างความเข้าใจ ตลอดจนตระหนักว่า ยิ่งมีการรักษาด้วยการบำบัดต่างๆ มากขึ้นเท่าไหร่ก็ส่งผลดีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งการบำบัดด้วยการแสดงเชิงศิลปะอาจเป็นตัวช่วยหนึ่งรักษาคนติดเหล้าให้ละ เลิก เหล้าได้อีกทางด้วยเช่นกัน
ที่มา:
Expressive Therapy for Alcoholism
Relapse Triggers for Alcoholics
The Use of Art and Music Therapy in Substance Abuse Treatment Programs
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm