แม่จ๋า อย่าดื่มเลยได้ไหม : อันตรายจากแอลกอฮอล์ต่อทารกในครรภ์

January 22, 2020


“จากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของหญิงตั้งครรภ์ ปี 2554 จำนวน 772 ราย พบว่า 30.9 % ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เป็นนักดื่มมาก่อน โดยดื่มในช่วง 12 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ ทั้งนี้ 40.6 % ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นนักดื่ม ยังดื่มแอลกอฮอล์ต่อเพราะไม่รู้ว่าตนตั้งครรภ์ในช่วงแรก และที่น่าห่วงคือ 15.1% ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นนักดื่ม ยังคงดื่มแอลกอฮอล์ต่อแม้รู้ว่าตั้งครรภ์”

ประโยคข้างต้นเป็นคำกล่าวของเภสัชกรหญิงอรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ซึ่งบ่งบอกว่าสังคมนักดื่มในประเทศไทยมีจำนวน ‘คุณแม่’ รวมอยู่ด้วยไม่น้อย ทำให้ในแต่ละปีมีเด็กไทยมากถึง 89,000 คนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยเพราะได้รับแอลกอฮอล์ตอนอยู่ในครรภ์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นหนึ่งในของต้องห้ามสำหรับสตรีมีครรภ์ เพราะนอกจากแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนเป็นแม่ สุขภาพของลูกน้อยยังถูกทำลายจนไม่อาจฟื้นฟูกลับมาได้ตลอดกาล

ด้วยเหตุนี้ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณแม่และคนใกล้ตัวของคุณแม่มาทบทวนพิษร้ายจากการดื่มที่มีต่อทารกในครรภ์ว่าถ้าคุณดื่มขณะตั้งครรภ์ ลูกน้อยจะประสบปัญหาสุขภาพแบบใด และถ้าคุณแม่เผลอตัวเริ่มดื่มไปเสียแล้ว เราจะดูแลแก้ปัญหาได้อย่างไร

 

ความผิดปกติจากการดื่มของแม่สู่ลูก

 

การดื่มสุราระหว่างการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร ภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth) หรือการที่ทารกเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์หลังมีอายุ 28 สัปดาห์ขึ้นไป และเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตาย หรือภาวะที่ทารกแรกเกิดเสียชีวิตกะทันหัน (Sudden Infant Death Syndrome : SIDs)

แม้ว่าทารกจะรอดชีวิตและเติบโต แต่ปริมาณแอลกอฮอล์ที่มารดาดื่มจะเข้าไปทำลายสมองของลูกน้อยอย่างถาวร ทำให้สมองของเด็กพัฒนาผิดปกติ นำมาสู่ความพิการหรือความบกพร่องของระบบประสาท จนเกิดปัญหาด้านการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ ความจำ รวมถึงปัญหาพฤติกรรมด้านต่างๆ เช่น การสื่อสาร อาการขาดสมาธิ ตามมา

หนึ่งในผลกระทบร้ายแรงที่สุดของการดื่มแอลกอฮอล์ต่อทารกในครรภ์ คือกลุ่มโรค Fetal Alcohol Spectrum Disorders (FASD) ซึ่งประกอบด้วยโรคหรือภาวะต่างๆ 4 ภาวะ ได้แก่

 

  • Fetal Alcohol Syndrome (FAS)

เป็นภาวะที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มโรค FASD ทารกที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะใบหน้าผิดปกติ สังเกตได้จาก ร่องจมูกเหนือริมฝีปากเรียบ (smooth philtrum) ริมฝีปากบนบาง คางเล็ก จมูกแบน ดั้งจมูกต่ำ หนังตาคลุมหัวตามาก และความยาวระหว่างหัวตากับหางตาสั้น (short palpebral fissures)

นอกจากนี้ทารกอาจพิการนิ้วหรือแขนขา อวัยวะภายในอย่างหัวใจหรือไตผิดปกติ มีปัญหาด้านการได้ยินหรือการมองเห็น และแม้ว่าจะคลอดออกมาแล้ว แต่เด็กจะยังคงมีการเจริญเติบโตบกพร่องในระยะยาว อย่างน้ำหนักตัว และส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

 

ภาพตัวอย่างความผิดปกติบนใบหน้าของทารกที่ได้รับแอลกอฮอล์ตอนอยู่ในครรภ์ (ที่มา : Teresa Kellerman – http://www.come-over.to/FAS/fasbabyface.jpg)

 

  • Partial FAS (pFAS)

Partial FAS คือเด็กที่มีอาการของโรค FAS แต่มีลักษณะไม่ครบตามเกณฑ์การวินิจฉัย จึงไม่นับว่ามีภาวะ FAS

 

  • Alcohol-Related Birth Defects (ARBD) และ Alcohol-Related Neurodevelopmental Disorder (ARND)

Alcohol-Related Birth Defects (ARBD) หมายถึง ‘ลักษณะผิดปกติทางกายภาพที่เป็นผลมาจากการสัมผัสแอลกอฮอล์ขณะอยู่ในครรภ์มารดา’ สามารถสังเกตได้จากรูปร่างหน้าตาชัดเจน แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความผิดปกติด้านพัฒนาการของระบบประสาท พฤติกรรม หรือสติปัญญา ซึ่งไม่สามารถสังเกตเห็นได้ จะถูกเรียกว่ามีอาการ Alcohol-Related Neurodevelopmental Disorder (ARND)

อย่างไรก็ตาม การตัดสินว่าใครเป็น ARND หรือไม่นั้นต้องผ่านการวินิจฉัยและซักประวัติอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าเคยได้รับแอลกอฮอล์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และความผิดปกตินั้นไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมอื่น

 

นอกจากกลุ่มโรคต่างๆ ข้างต้น หากหญิงตั้งครรภ์ดื่มหนักก่อนคลอด ทารกซึ่งถูกบังคับให้ดื่มแอลกอฮอล์ผ่านรกของมารดายังอาจเกิดภาวะติดสุรา เสมือนนักดื่มทั่วๆ ไปที่ดื่มหนักติดต่อกันเป็นเวลานานจนขาดไม่ได้ เมื่อคลอดออกมา ทารกอาจมีโอกาสป่วยด้วยภาวะขาดสุราเฉียบพลัน (Neonatal abstinence syndrome) สังเกตได้จากอาการตัวสั่น ร้องกวน ชัก ท้องอืด และอาเจียน โดยเริ่มในช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังคลอด ขึ้นอยู่กับเวลาที่มารดาดื่มเป็นครั้งสุดท้าย

ทั้งนี้ แม้คุณแม่จะหยุดดื่มช่วงตั้งครรภ์ และกลับมาดื่มอีกครั้งหลังคลอดก็ไม่แน่ว่าจะปลอดภัยต่อลูกน้อย เพราะทารกยังมีโอกาสได้รับแอลกอฮอล์ผ่านน้ำนมของมารดาในช่วงให้นมบุตร ส่งผลต่อวงจรการนอนหลับ การดูดนมและพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross motor) ทำให้เด็กแรกเกิดเคลื่อนไหวผิดแปลกไป

ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการด้านใดพิสูจน์ได้ว่าการดื่มสุราปริมาณเท่าไรไม่มีพิษภัยต่อทารก ดังนั้น คำแนะนำสำคัญสำหรับผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร คือหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดย่อมเป็นการดีที่สุด

 

ดูแลคุณแม่ติดเหล้า

 

หากคุณแม่เริ่มต้นดื่มเหล้าขณะกำลังตั้งครรภ์ไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษาและบำบัดเร็วที่สุด โดยสามารถแบ่งการดูแลกลุ่มคุณแม่นักดื่มประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

 

  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีพฤติกรรมดื่มหนักเป็นประจำ

ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีพฤติกรรมดื่มหนักหรืออาการติดสุรา เมื่อลดการดื่มหรือหยุดดื่มในทันทีมีโอกาสจะเกิดภาวะขาดสุราเฉียบพลันภายใน 6-12 ชั่วโมงหลังการดื่มครั้งสุดท้าย และอาจเป็นอันตรายต่อมารดากับทารก ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาถอนพิษสุราโดยทันที

ในการบำบัดรักษา แพทย์อาจให้รับประทานยากลุ่ม benzodiazepine เป็นระยะเวลาสั้นๆ วิตามิน บี 1 และกรดโฟลิกเพิ่มเติม เพื่อป้องกันภาวะขาดโฟเลตจนทารกเกิดความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects) นอกจากนี้ ควรจัดให้มีบุคลากรทางการแพทย์คอยประเมินอาการของภาวะขาดสุราอย่างสม่ำเสมอและดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วันหลังเริ่มออกอาการขาดสุรา รวมถึงควรวางแผนให้มารดามาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันอันตรายและเฝ้าดูอาการหลังคลอด

 

  • หญิงให้นมบุตร

คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหยุดดื่มสุราอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งเดือนแรกลังคลอด เพราะแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมน oxytocin prolactin และ cortisol ทำให้มีน้ำนมน้อยลง รวมถึงยังทำให้ทารกได้รับแอลกอฮอล์ผ่านทางนมแม่อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมารดาจำเป็นต้องดื่มสุรา ไม่ควรดื่มเกิน 2 หน่วยดื่มมาตรฐานต่อวัน และไม่ควรให้นมบุตรทันทีหลังดื่ม ควรรอให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงจนหมดจึงค่อยให้ โดยต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อเผาผลาญแอลกอฮอล์ที่ได้จากการดื่มสุรา 1 หน่วยดื่มมาตรฐาน

อีกทางเลือกหนึ่งคือมารดาควรป้อนนมทารกหรือบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกก่อนดื่มสุรา

 

  • คุณแม่ที่ดื่มสุราและมีลูกเล็ก

เมื่อพ้นช่วงตั้งครรภ์และให้นม ญาติเองก็ควรดูแลมารดาและทารกอย่างใกล้ชิด เพิ่มความระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่มาจากการเมาสุราของคนเป็นแม่ เช่น ทำทารกตกหล่นจากมือ หกล้ม นอนทับทารก ทำของตกใส่ทารก เป็นต้น ควรจัดให้มารดาที่เมาสุราและลูกนอนคนละเตียง รวมถึงให้สามีหรือญาติที่ไม่ดื่มช่วยดูแลเด็กจนกว่าคุณแม่จะสร่างเมา

 

ทารกที่อยู่ในครรภ์ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะกินหรือดื่มอะไร ดังนั้น หน้าที่ของมารดาคือการดูแลสุขภาพ อาหารการกินต่างๆ ของลูกน้อย โดยเริ่มต้นง่ายๆ เพียงแค่วางแก้วเหล้า หยุดดื่มสักนิดเพื่อชีวิตของลูกน้อยในระยะยาว

 

 


ที่มา :

-สาวิตรี อัษณางค์กรชัย.  ปัญหาและความผิดปกติจากการดื่มสุรา : ความสำคัญและการดูแลรักษาในประเทศไทย.  สงขลา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; 2557.

-ความหมาย กลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (FAS).  เข้าถึงได้จาก : https://www.pobpad.com/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C%E0%B9%84

-healthychildren.  Fetal Alcohol Spectrum Disorders.  2018.  Available at https://www.healthychildren.org/English/health-issues/conditions/chronic/Pages/Fetal-Alcohol-Spectrum-Disorders.aspx

-sirintip.  อันตราย! แม่ดื่มเหล้าขณะตั้งครรภ์.  2554.  เข้าถึงได้จาก : https://www.thaihealth.or.th/Content/15263-%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2!%20%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C%20.html

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles