คนอังกฤษและแอลกอฮอล์: วัฒนธรรมที่ว่าด้วยการดื่มจนฝังราก

May 11, 2020


“อ้าว แฮกริด อย่างเดิมใช่ไหม”

ฉากที่แฮกริด สุภาพบุรุษตัวเบิ้ม หนึ่งตัวละครสำคัญในภาพยนตร์ชุดชื่อดังจากเกาะอังกฤษอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถูกต้อนรับด้วยเสียงทักทายจากทอม เจ้าของร้านหม้อใหญ่รั่ว ท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่นที่คลาคล่ำไปด้วยนักดื่มเต็มร้าน คงเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่หลายคนทั่วโลกคุ้นตา 

หรือถ้าคุณเป็นแฟนตัวยงของภาพยนตร์สายลับอันดับหนึ่งอย่าง เจมส์ บอนด์ คุณคงคุ้นเคยกับวลีเด็ดติดหูอย่าง “เขย่า แต่ไม่คน” ที่เจมส์ บอนด์ จะพูดวลีนี้เกือบทุกครั้งที่มีการปรุงมาร์ตินีตามแบบฉบับของเขา

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นภาพยนตร์หรือซีรีส์ของแต่ละชาติสอดแทรกวัฒนธรรม หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยประจำชาติของตนลงไปด้วย และในกรณีของภาพยนตร์หรือซีรีส์จากเกาะอังกฤษ หนึ่งในวัฒนธรรมที่เรามักเห็นบ่อยๆ คือ วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สหราชอาณาจักร’ หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ ‘อังกฤษ’ ถือเป็น 1 ในประเทศนักดื่มตัวยงของโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ปี 2010 พบว่า ค่าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศของคนอังกฤษ 1 คนมีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ถึง 11 ลิตรต่อปี และการเก็บสถิติล่าสุดในปี 2016 พบว่า ค่าเฉลี่ยมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 12 ลิตรต่อปี 

การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับคนเมืองผู้ดีแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ดูจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของชีวิตที่ขาดไปไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ชาวบริติชทั้งหลายดื่มกันมาอย่างยาวนาน นานพอกับเวลาที่คนเฒ่าคนแก่เล่าอดีตตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหาเลยทีเดียว

ทำไมคนอังกฤษถึงชอบดื่มแอลกอฮอล์ ชวนหาคำตอบได้ในบทความด้านล่างนี้

 

เพราะเบียร์สะอาดกว่าน้ำเปล่า? อดีตว่าด้วยการดื่มของคนเมืองผู้ดี

 

เราไม่ทราบแน่ชัดว่า คนอังกฤษเริ่มดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่เมื่อใด แต่ข้อมูลจากบทความประวัติศาสตร์แอลกอฮอล์อังกฤษของแองโกโทเปีย (Anglotopia) เล่าว่า มีนักโบราณคดีค้นพบหลักฐานว่าทหารโรมันมักจะเพลิดเพลินกับการชงเบียร์และซื้อเบียร์ดื่มจากชาวเคลต์ (Celts) คนท้องถิ่นบนเกาะอังกฤษในขณะนั้น 

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่แสดงว่า ชนเผ่าเจอร์แมนิก (Germanic) ทั้งชาวแองเกิล (Angles) ที่อพยพมาจากด้านเหนือสุดของประเทศเยอรมนี ชาวจูท (Jutes) ชนเผ่าจากคาบสมุทรจูลแลนดิก (Jutlandic) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างประเทศเดนมาร์กกับเยอรมัน และชาวแซกซัน (Saxons) กลุ่มพันธมิตรที่อาศัยอยู่ทางที่ราบลุ่มเยอรมัน ได้เข้ามาบุกรุกเกาะอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 450 ถึง 1100 โดยขับไล่ ดูดกลืน รวมถึงทำลายชนเผ่าเคลต์ที่เคยอยู่เกาะนี้มาก่อน และหลังจากชนเผ่าทั้ง 3 นี้ทำศึกสำเร็จ พวกเขาก็มักจะดื่มเบียร์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองบนทุ่งหญ้าที่กว้างใหญ่ดุจห้องโถงหรูหรา

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป เบียร์ยิ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่โดดเด่นมากเนื่องจากสภาพอากาศของอังกฤษไม่เอื้อต่อการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ยกเว้นข้าวบาร์เลย์ โดยในยุคกลาง เบียร์เป็นที่ต้องการมากขึ้น และเป็นที่ต้องการมากกว่าน้ำดื่มทั่วไปเสียด้วย เนื่องจากการต้มที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตเบียร์ทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้เบียร์ที่สะอาดกว่าน้ำดื่ม ทำให้ผู้คนแห่มาดื่มเบียร์มากขึ้น โดยที่ไม่มีใครสนถึงผลกระทบที่ทำให้มึนเมา นอกจากนี้ ยังมีการพิสูจน์อีกว่า แคลอรี่และโภชนาการของเบียร์มีประโยชน์ต่อคนทำงานและคนชนชั้นนำด้วย

อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18-19 เป็นยุคที่นำไปสู่การขยายจำนวนโรงเบียร์และทำให้เบียร์มีชื่อเสียง เช่น เบียร์กินเนสส์ (Guinness) เบียร์บอร์ดดิงตัน (Boddington) และ เบียร์ฟูลเลอร์ (Fuller’s) ต่อมาต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงสงคราม ส่งผลกระทบให้ปริมาณเบียร์ลดลงทั้งการผลิตและบริโภค แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่หลังสงครามทำให้เบียร์กลับมาเป็นที่นิยมตามเดิม นอกจากนี้ ยังมีการบรรจุเบียร์ลงกระป๋องพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) และคาร์บอเนต (Carbonate) ซึ่งนำไปสู่การกระจายผลิตภัณฑ์ที่ดีมากนอกอังกฤษ

ปัจจุบันนี้ ความพร้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนผสม เทคโนโลยี การขนส่ง ยิ่งทำให้การดื่มและผลิตเบียร์เปิดกว้างมากขึ้น ผู้ผลิตมีความหลากหลายทั้งพยายามหาวัตถุดิบอื่นๆ เป็นส่วนผสม ใช้ส่วนประกอบบางอย่างน้อยลงเพื่อลดต้นทุน หรือแม้แต่กลุ่มผู้บริโภคเองก็ยังแสวงหาเบียร์ที่ดีที่สุดมาดื่ม

 

‘จะสุข จะเศร้า ขอเล่า (เหล้า) ไว้ก่อน’

 

ปัจจุบัน การดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังเป็นเรื่องปกติของคนอังกฤษ เอาเป็นว่าทุกๆ ที่ที่มีตู้เย็นย่อมมีเบียร์บรรจุอยู่ 

อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นจากบทความ ทำไมคนอังกฤษถึงดื่มหนัก’ (Why do the British drink so much?) ของ BBC Future ระบุว่า ความจริงแล้ว การดื่มไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่เป็นการยากที่จะปฏิเสธว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเช่นกัน เพราะคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทีวี ทั้งยังถูกรายล้อมไปด้วยเหล้าราคาถูกมากมายในซูเปอร์มาร์เก็ต แม้ในทุกวันนี้ โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น แต่การประกวดในรายการทีวียังคงสนับสนุนแอลกอฮอล์ และเสื้อฟุตบอลก็ยังมีตราเบียร์อยู่ เหมือนจะคอยเตือนพวกเขาอยู่เสมอว่า แอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

ทั้งนี้ เรายังคุ้นเคยกับการเห็นผู้คนในย่านดังๆ ของอังกฤษไปผับบาร์หลังเลิกงานในวันศุกร์ จนสถานที่เหล่านั้นแน่นขนัด ยิ่งตอนมีเทศกาลสำคัญด้วยแล้วเรียกได้ว่า คนดันล้นทะลักออกมาข้างนอกร้านเลยทีเดียว

งานวิจัย ‘ประโยชน์เชิงหน้าที่ของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี’ (Functional Benefits of (Modest) Alcohol Consumption) จาก Springe Link สำรวจกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มในอังกฤษจำนวน 2,254 คน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า การดื่มของพวกเขาส่งผลให้แอลกอฮอล์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน ดังนั้น พวกเขาจึงพร้อมที่จะสนทนากับเพื่อนพ้องและคนไม่รู้จักในผับบาร์ ซึ่งการพูดคุยของพวกเขาได้สร้างผลที่ดีต่อการกระชับความสัมพันธ์ ทำให้รู้สึกมีความสุขในชีวิตมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเชื่อใจคนอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ การวิจัยจากอังกฤษที่รวบรวมข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันแมปปี้เนส (Mappiness) ที่ถูกพัฒนาโดย The London School of Economics and Political Science (LSE) พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เกี่ยวข้องกับความสุขที่มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ ในอีกนัยหนึ่ง นักวิจัยพบว่าการดื่มสังสรรค์กับเพื่อนไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่มันสามารถไปได้ไกลถึงขั้นบรรเทาความเจ็บปวดจากกิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การดื่มเพื่อกลบความเศร้า เป็นต้น

นี่จึงอาจจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอังกฤษ (ไม่ทั้งหมด) ยังคงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะดื่มเพราะมีความสุขมากๆ หรือดื่มเพราะกำลังรู้สึกเศร้าแบบจะเป็นจะตายก็ตามแต่

อนึ่ง จากสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในสหราชอาณาจักร (National statistics) ช่วงปี 2017 พบว่า มีผู้ป่วย 338,000 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล (admit) ด้วยสาเหตุหลักคือ แอลกอฮอล์ โดยเป็นโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เช่น สุราเรื้อรัง มะเร็ง ฯลฯ ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับปี 2016 แต่ว่าสูงกว่าปี 2007 ถึง 15 % และจำนวนผู้ที่ถูกหามส่งเข้าโรงพยาบาลด้วยสาเหตุดังกล่าว เพิ่มจำนวนสูงขึ้นมาในช่วงอายุตั้งแต่ 55-64 ปี โดย 61% เป็นผู้ชาย ซึ่งกว่า 1 ส่วน 4 ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง และ 23% เกิดอุบัติเหตุจากความประมาท 

ทั้งนี้กรมสุขภาพและอนามัยของสหราชอาณาจักร  (Department of Health & Social Care) ได้ตั้งนโยบายในทางปฏิบัติปี 2010-2015 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

(1) ทางรัฐบาลกำหนดให้ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 3-4 ยูนิตต่อวัน และผู้หญิง 2-3 ยูนิตต่อวัน โดยออกโรงเตือนว่า ถ้าดื่มมากกว่านั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ 

(2) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม สร้างแคมเปญขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูล เทคนิค เครื่องมือต่างๆ และที่สำคัญคือ เพิ่มการทำแบบประเมินความเสี่ยงของคนที่คาดว่าจะติดแอลกอฮอล์ให้มากขึ้น ตลอดจนจ่ายเงิน 448 ล้านปอนด์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับครอบครัวที่มีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับแอลกอฮอล์ ซึ่งมีมากถึง 120,000 ครอบครัว

(3) ปี 2013 ตั้งศูนย์กลางเพื่อสุขภาพท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ โดยสำนักงานเขตจะทำงานร่วมกับระบบสุขภาพในสหราชอาณาจักร (National Health Service – NHS) และหน่วยกรมอนามัยในสหราชอาณาจักรและชุมชน (Public Health England and local communities) เพื่อสร้างความเข้าใจว่า ท้องถิ่นต้องการอะไรบ้าง จากนั้นจึงจัดลำดับความสำคัญของการให้บริการ เพื่อจะสามารถให้การป้องกันและช่วยเหลือคนที่มีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์ได้อย่างใกล้ชิด 

(4) ปรับปรุงการรักษาโรคติดสุรา ด้วยการปล่อยโปรแกรมนำร่องโดยการจ่ายให้การบริการรักษาเพื่อจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในสามด้าน คือ คนที่ใช้หายจากอาการติดเหล้าและยา ลดการที่จะกลับไปติดซ้ำ พัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่

(5) ขึ้นราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดอุปสงค์ของผู้ซื้อที่ชอบดื่มหนักๆ และเป็นการช่วยลดความรุนแรงด้วย

(6) ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการโฆษณาเครื่องดื่มกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งได้มีกฏออกมาว่า ให้หยุดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่า โฆษณาที่ส่งเสริมแอลกอฮอล์จะไม่ปรากฏในรายการที่มีเยาวชนจำนวนมาก และทำงานกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนารูปแบบการตรวจสอบอายุที่แท้จริงของผู้คน เพื่อใช้ในเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และโซเชียลมีเดียเกี่ยวข้อง

จะเห็นได้ว่าภาครัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขให้คนอังกฤษดื่มน้อยลงหรือเลิกดื่มเช่นกัน แต่ก็ต้องมาติดตามกันว่า ความพยายามเหล่านี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน?

 

โควิด-19 ระบาดหนัก! ทราบแล้วแต่ไม่เปลี่ยน 

 

ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ทุกคนทราบกันถ้วนหน้าว่า เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนี้ แม้ผับและบาร์จะถูกสั่งให้ปิดทำการในอังกฤษ แต่รายได้จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีใบอนุญาตมียอดขายสูงขึ้น 22% ในเดือนมีนาคม และจากรายงานของนักวิเคราะห์ผู้บริโภค คานทาร์ (Kantar) ยอดขายไวน์ เบียร์ และเหล้าสูงถึง 1.1 พันล้านปอนด์ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา (นับถึง 22 มีนาคม) ซึ่งถือว่า เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 และอีกหนึ่งข้อยืนยันคือ ถังขยะรีไซเคิลก็เต็มไปด้วยขวดไวน์และเบียร์

งานวิจัยใหม่จากองค์กรการกุศล Alcohol Change UK ระบุว่า คนอังกฤษ 1 ใน 5 คน (คิดเป็น 21%) ดื่มมากขึ้นเมื่อพบการระบาดใหญ่ แต่ 1 ใน 3 คิดเป็น 35% ดื่มน้อยลงหรืออ้างว่าหยุดดื่มโดยสิ้นเชิง และงานวิจัยยังสำรวจคนจำนวน 2,000 คน พบว่า 14% บอกว่าพวกเขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์ มี 6% ของผู้ที่ดื่มก่อนหน้านี้กล่าวว่าพวกเขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลย และ 47% ของผู้ที่ดื่มสัปดาห์ละครั้งหรือน้อยกว่านั้นได้ลดหรือหยุดดื่ม

ในขณะเดียวกัน 27% ของคนที่ดื่ม ดื่มระหว่างสองถึงหกครั้งต่อสัปดาห์และ 17% ของนักดื่มรายวันลดหรือหยุดการดื่มในขณะที่กักตัว ขณะที่ 18% ของนักดื่มรายวันดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

แคลร์ (Clare) ผู้เขียนโครงการความจริงแท้ (The Authenticity Project) และสมุดบันทึกความสร่างเมา (Sober Diaries) กล่าวว่า มีเหตุผลมากมายว่าทำไมในตอนนี้บางคนพบว่าตัวเองดื่มมากขึ้น ซึ่งเหตุผลที่ว่าก็คือ การดื่มแอลกอฮอล์และความวิตกกังวลเชื่อมโยงกันชัดเจนนั่นเอง อีกทั้งอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น มีบริการจัดส่ง และเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing)

ทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนอังกฤษยังคงดื่ม และอาจจะดื่มมากขึ้นในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้

อย่างไรก็ตาม แม้คนอังกฤษจะมีวัฒนธรรมการดื่มที่ฝังราก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ‘ทุกคน’ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนอังกฤษจะต้องดื่มแอลกอฮอล์เป็นชีวิตจิตใจ ทั้งนี้ หากใครจะไปเยี่ยมเยือนเมืองผู้ดีหลังสถานการณ์โควิด-19 สามารถทดลองดื่มตามวัฒนธรรมของเขาได้ แต่ควรอยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะพอ และไม่สร้างอันตรายให้ตัวเองหรือทำวีรกรรมแปลกๆ ที่พาลเดือดร้อนผู้อื่น ไม่เช่นนั้นทริปสุดสนุกอาจจะจบลงด้วยความพังพินาศแบบคิดไม่ถึงแทน

 


ที่มา:

List of countries by alcohol consumption per capita

DOWN AT THE PUB: A BRIEF HISTORY OF BRITISH ALE

Why do the British drink so much?

Functional Benefits of (Modest) Alcohol Consumption

Scientists have figured out exactly how much fun it is to get drunk

Coronavirus: Is my lockdown drinking normal?

Statistics on Alcohol, England 2019 [PAS]

Policy paper ‘2010 to 2015 government policy: harmful drinking’

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles