-0-
ความรู้สึกแรกตอนเดินเข้าสู่ ‘วัดสว่างอารมณ์’ ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ คือ ความรู้สึกว่าอารมณ์ของตนเอง ‘สว่าง’ ขึ้นสมชื่อวัด – อาจจะเป็นเพราะอากาศที่ไม่ได้ร้อนสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะบรรยากาศร่มรื่นของแมกไม้งาม หรืออาจจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมโดยรวมที่ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกสงบทุกครั้งที่เข้ามาในเขตศาสนสถานนี้
จากการพูดคุยคร่าวๆ กับเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ จังหวัดสุรินทร์เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้ดื่มสุราเยอะมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของวัฒนธรรมที่มีพิธี ‘แซนโฎนตา’ พิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามแบบเขมรที่ใช้สุราเป็นเครื่องเซ่นหลัก ซึ่งที่สุรินทร์จะใช้สุราในการไหว้แซนกันเป็นลัง เพราะไหว้ทั้งบรรพบุรุษ ไหว้ปราชญ์ และเลี้ยงทีมทำพิธีแซนด้วย – จุดเริ่มต้นในการดื่มของหลายๆ คนก็คือการดื่มจากการไหว้แซน และเริ่มดื่มเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็นติด
แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงอาการติดสุรา หนึ่งในปัญหาที่ทำให้หลายคนไม่เข้ารับบริการบำบัดรักษาคือความอาย ที่สุรินทร์เองก็เช่นกัน แต่โชคดีอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ทำงานกันอย่างแข็งขัน และยังมีการร่วมมือกับวัดและชุมชน ทำงานเชิงรุก ใช้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนเพื่อให้ความรู้ ใช้ธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและบรรเทาปัญหาผู้ติดสุรา สมกับชื่อ ‘ธรรมะยาใจ’
…นำธรรมะมาช่วยเยียวยาจิตใจผู้ที่ต้องเข้ารับการบำบัด
-1-
“ชุมชนปราสาททนงของเราเป็นชุมชนที่จัดโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 และประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่มีเสียงถามมาว่า คนรักษาศีล 5 แล้วทำไมยังดื่มเหล้ากันอยู่ ประกอบกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีโครงการเลิกเหล้าเข้าพรรษาและบุญประเพณีกับชุมชนอยู่แล้ว แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้แค่เป็นครั้งคราว เราเลยคิดจะทำโครงการช่วยเหลือคนดื่มสุรา และเริ่มทำจริงๆ ในปี 2559” พระอาจารย์รูปหนึ่งในวัดให้ข้อมูลกับเรา พร้อมทั้งอธิบายเสริมว่า โครงการที่วัดสว่างอารมณ์ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการธรรมะยาใจของภาคเหนือ เป็นสูตรบำบัดเชิงพุทธที่จะช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ดื่ม โดยพระอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่า “ถ้าเราใช้ยาสำหรับในการเลิก คนดื่มก็อาจจะกลับมากินอีกรอบได้ แต่ถ้าเราใช้วิธียาใจ ใช้ใจห้ามใจให้เขาเลิกเอง จะช่วยให้เขาหยุดได้ ยั้งใจตัวเองได้ เลิกได้อย่างยั่งยืนและคุมสติตัวเองได้”
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระอาจารย์จึงนำโครงการธรรมะยาใจมาประยุกต์ใช้กับชุมชนปราสาททนง เริ่มตั้งแต่การสแกนหาคน โดยทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปจนถึงผู้นำชุมชนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ดื่มสุรา และจะมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยสแกนคน โดยวัดระดับการกินเหล้าด้วย ถ้าเจอว่าใครเมาหนัก เมาจนหัวราน้ำ ก็จะได้รับคำแนะนำให้มาเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งหากผู้ติดสุรายินดีเข้าร่วมโครงการ ก็จะมีการบำบัดด้วยธรรมะควบคู่ไปกับการดูแลจากทีมแพทย์และพยาบาล เพื่อป้องกันการเกิดอาการลงแดงหรือขาดเหล้าในช่วงแรก
“ที่เขาพูดกันว่า ‘บวร’ – วัด บ้าน โรงเรียน เป็นองคาพยพสามอย่างที่สำคัญมาก ถ้าไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็แก้ปัญหาเรื่องเหล้าไม่ได้”
เมื่อได้คนเข้ามาแล้ว ทางวัดก็จะเชิญภาคสังคม เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน รวมถึงคนในครอบครัวเข้ามารับรู้และให้กำลังใจร่วมกันด้วย เมื่อคนที่กำลังเลิกเหล้าได้รับกำลังใจแบบนี้ก็จะมีแรงผลักดันให้สู้เต็มที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดี พระอาจารย์ชี้ว่า แม้เป้าหมายของโครงการจะเป็นการทำให้เลิกเหล้าได้ แต่หากผู้เข้าร่วมโครงการยังไม่สามารถเลิกเหล้าได้ แต่สามารถลดปริมาณการดื่ม หรือดื่มได้อย่างมีสติ ก็นับว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่งแล้ว
“เราจะเริ่มจากการทำให้วัดสวยงาม สะอาด คนที่เข้ามาก็จะเกรงใจ เวลาจัดงานบุญประเพณีก็จะไม่มีเหล้าหรือบุหรี่เลย พอเริ่มจากวัดก็จะไปสู่ชุมชน ทาง อบต. ก็มีโครงการหมู่บ้านสะอาดมาเสริมกันด้วย”
เมื่อผู้ดื่มมาเข้าร่วมโครงการและได้สวมชุดขาวปฏิบัติธรรมที่วัดแล้ว พระอาจารย์อธิบายว่า โครงการธรรมะยาใจของที่นี่จะไม่ได้บังคับว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องอยู่ในโครงการจนครบ 7 วัน แต่ใช้วิธีทำสัญญาใจกันมากกว่า จะกลับไปเลิกที่บ้านได้ และถ้าเลิกได้เมื่อไหร่ถึงมาแจ้งทางวัดอีกที ทั้งนี้ ทางวัดสว่างอารมณ์จะมีการสวดมนต์วันเสาร์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้เข้าร่วมโครงการมารายงานอาการของตนเองด้วย หรือหากทางผู้เข้าร่วมโครงการอยากจะเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทเลยก็ได้เช่นกัน
“เมื่อเขาเลิกได้แล้ว เราก็จะนำคนที่เลิกได้เป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ทำต่อ และคนที่เลิกเหล้าได้ก็จะนำความไปบอกคนอื่นต่อด้วย เราจะเรียกพวกเขาว่า ‘คนหัวใจเพชร’ มีเข็มเกียรติคุณและแปะป้ายเลิกเหล้าได้เด็ดขาด แต่จะได้เข็มนี้ต้องเลิกได้ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีก่อนนะ เพราะเลิกเหล้า 2-3 ปีมันยังไม่หมดฤทธิ์ดี”
นอกจากภาคสาธารณสุขและวัดจะร่วมกันเป็นอย่างดีแล้ว ภาคสังคมเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยในการเลิกเหล้าด้วย โดยร้านค้าทุกร้านจะงดขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนา บุคลากรทางการแพทย์เองก็มาร่วมงานภาคสังคมทุกงานเช่นเดียวกัน แต่พระอาจารย์ชี้ว่า จากระบบการทำงานที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรตามวาระ อาจทำให้การทำงานไม่ได้ต่อเนื่องกันเท่าที่ควร
“เราต้องให้ความสำคัญกับภาคสังคม อย่างที่พูดแต่ต้นเลยว่า พฤติกรรมเป็นปัจจัยเสี่ยง สิ่งที่จะช่วยปรับพฤติกรรมการกินก็คือสังคมรอบตัว บางทีถ้าเลิกดื่มได้แล้ว แต่เจอคนมายุอีกก็อาจจะหลุดไปดื่มได้ หรือถ้าทุกคนในครอบครัวกินหมด แต่ตัวเองเลิกคนเดียว กลับบ้านไปก็อาจจะเลิกไม่ได้ นี่แหละปัจจัยเสี่ยง ซึ่งภาคสังคมจะเข้ามาเป็นตัวฉุดและกระตุ้นให้เขายับยั้งได้”
ในตอนท้าย พระอาจารย์สรุปให้เราเห็นภาพว่า เมื่อพูดถึงผู้ติดสุรา เรากำลังพูดถึงโรคสองส่วน คือทางกาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้ามาพูดคุย คัดกรอง ในการบำบัดด้านร่างกายหรืออาการที่เกิดขึ้นจากการบำบัด และตั้งโต๊ะสนทนาให้ความรู้กัน อีกส่วนคือทางใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของวัดในการบำบัดโรคทางใจ
“จะบำบัดนานไหมต้องดูใจเขาใจเราด้วย” พระอาจารย์ว่า “เวลาเจอคนจริงๆ เราต้องมีจิตวิทยานะ เพราะต่างคนก็ต่างจริตกัน ผู้สอนเองก็ต้องมีความรู้ เป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน และอยู่ในสถานที่ที่น่าเคารพนับถือจริงๆ เขาจะถึงเชื่อและสัญญาใจกับเรา นี่คือบทบาทของวัด”
มาถึงตรงนี้ พระอาจารย์เน้นย้ำกับเราว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคนเลิกเหล้าคือ ‘กำลังใจ’ เพื่อให้ฮึดและสู้ต่อไป เพราะถ้าคนดื่มเข้ามาบำบัด แต่กลับบ้านแล้วก็ทะเลาะกับคนที่บ้านอีกก็อาจจะล้มเหลวได้ การให้กำลังใจและการเสริมแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
“อีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘การมองภาพเชิงบวก’ มีทัศนคติต่างๆ เป็นบวก เพื่อที่เวลาไปเข้าสู่การวิปัสสนาปฏิบัติธรรมจะทำให้เขาเข้าใจชีวิตมากขึ้น และหยุดให้ได้ขาดด้วย”
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนจากเรื่องเล่าของพระอาจารย์คือ การปรับกระบวนการธรรมะยาใจให้เข้ากับบริบทของคนสุรินทร์ ซึ่งพระอาจารย์บอกว่า เรามักมีคำกล่าวกันว่า “มาสุรินทร์ต้องกินสุรา” เพราะสุรินทร์มีประเพณีที่ต้องใช้เหล้า แต่แน่นอนว่า เราไม่ควรไปโทษประเพณี แต่ต้องหาวิธีลดปัจจัยเสี่ยงโดยรณรงค์ให้งานบุญประเพณีลดเหล้าแทน ซึ่งนี่คือหน้าที่ของวัด พระอาจารย์ รวมถึงภาคสาธารณสุข อบต. ผู้นำชุมชน หรือครอบครัว ที่เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย
“หลวงพ่อมีคติข้อหนึ่งว่า เรากินเหล้าและสู้มานาน ถ้าสู้ไม่ไหวก็ถอยเสียเถอะ คือคุณกินมาสิบเหล้าแล้วไม่เคยชนะเลย เป๋อย่างเดียว กินมานานก็ยังเหมือนเดิม ลองเลิกดู ชั่งน้ำหนักดูว่ากินเหล้ากับไปทำอย่างอื่น อันไหนมีความสุขกว่า” พระอาจารย์ทิ้งท้าย
-2-
จากบทสนทนากับพระอาจารย์ เรายังได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยในการบำบัดผู้ติดสุรา โดยเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวให้ข้อมูลว่า ตำบลปราสาททนงมีการทำกิจกรรมต่างๆ ในเรื่องสุราอยู่แล้ว และหน่วยงานที่เข้ามามีบทบาทและความสำคัญในเรื่องนี้ก็คือวัดนั่นเอง
“เราดำเนินการขับเคลื่อนโครงการด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในพื้นที่ ปีนี้ เราก็ของบมาทำโครงการงานบุญปลอดเหล้าเพื่อช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน และยังร่วมมือกับวัดอย่างที่บอกไปในการอบรมเรื่องธรรมะยาใจด้วย”
ขณะที่ทางฝั่งของ รพ.สต. เอง เจ้าหน้าที่เล่าว่า กุญแจสำคัญคือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รวมถึงผู้นำชุมชน ที่มาช่วยขับเคลื่อน สำรวจ ว่าในกลุ่มประชากรมีคนดื่มเหล้ากี่คน จนกระทั่งได้ข้อมูลมาเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมในตำบลและใช้แก้ไขปัญหาต่างๆ
“เรามีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับตำบล ทั้งพระภิกษุ ผู้นำชุมชน กลุ่มอสม. และตัวแทนจากภาคประชาชนร่วมกับท้องถิ่นในการเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อน มีไลน์ (Line) ของแต่ละกลุ่ม รวมถึงศูนย์ประสานงานตำบล เรามีทั้งการประชุม การโทรศัพท์คุยกัน ถ้าเร่งด่วนก็อาจจะคุยกันแบบไม่เป็นทางการก่อนเพื่อที่จะกระจายงานออกไป”
เมื่อถูกถามถึงปัจจัยที่ทำให้คนติดเหล้าไม่อยากเลิกเหล้า หรือยังเลิกไม่ได้ เขานิ่งไปนิดหนึ่งก่อนจะกล่าวว่า “ผมว่าน่าจะเกิดจากพฤติกรรมหรือนิสัยส่วนตัว เป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย รวมถึงลักษณะทางวัฒนธรรม การเลี้ยงดู สังคมที่เขาเติบโตมาก็มีส่วน ยิ่งถ้าเขาเคยเห็นต้นแบบในอดีตแล้วก็มีส่วน ผมคิดว่ามันถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานได้นะ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบกัน”
“เพราะฉะนั้น เราเลยมองว่า การที่เอาคนมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด ให้เขาเลิกกินเหล้าหรือลดปริมาณการดื่มให้น้อยลง ก็ถือเป็นการช่วยเหลือเขาในระดับหนึ่ง เราอาจจะเป็นเป็นแค่ความสำเร็จเพียงเสี้ยวหนึ่งของเขา แต่เราก็ภูมิใจนะที่เป็นส่วนหนึ่งช่วยให้เขาเลิกได้”
ในตอนท้าย เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการบำบัดคนติดสุราว่า เราควรจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและจริงจังในการขับเคลื่อน แต่แน่นอนว่า ถ้าจะไม่ให้มีเหล้าเลยคงเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่และบทบาทของภาครัฐและส่วนราชการที่จะขับเคลื่อนเรื่องการบำบัดสุรา การจำหน่ายและควบคุมราคาสุรา รวมถึงเรื่องอัตราภาษีที่เหมาะสม ส่วนชุมชนเองก็ต้องเข้ามาบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งให้ความรู้และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนดื่มสุราด้วย
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm