การติดสุราไม่ได้ส่งผลกระทบกับตัวผู้ติดเท่านั้น แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกับครอบครัวของผู้ดื่ม และหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ภรรยาของผู้ดื่ม โดยงานวิจัยของศูนย์วิจัยยาเสพติดแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ลพบุรี พบว่า ครอบครัวที่มีหัวหน้าครอบครัวหรือคู่สมรสดื่มสุราเป็นประจำ จะมีปัญหาทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายคิดเป็น 68% และอาจลามไปจนถึงขั้นหย่าร้าง
แน่นอนว่า ภรรยาทุกคนย่อมหวังให้สามีที่ดื่มมากเกินไปกลับมาเป็นคนใหม่ และพยายามทำทุกวิถีทางให้เขาเลิกดื่ม แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องการติดสุราอย่างถ่องแท้ ทำให้ความตั้งใจดีอาจกลายเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ได้
เมื่อคุณมีสามีที่ดื่มเหล้ามากเกินไป สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ อย่าโทษใคร และอย่าหาตัวคนผิด เพราะทั้งสามีและภรรยาต่างเป็นเหยื่อของโรคติดสุรา และโรคก็คือสาเหตุของความวุ่นวาย เหนื่อยหน่าย และหมดหวัง ดังนั้น การแก้ปัญหาโรคด้วยการเริ่มจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ก็เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้สามีของคุณหายเร็วขึ้นได้
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอนำเสนอบทความสำหรับภรรยาของสามีที่ดื่มเหล้ามากเกินไป ว่าด้วยเรื่อง 11 ข้อน่ารู้และข้อปฏิบัติง่ายๆ เพื่อที่จะพาตัวคุณและสามีของคุณก้าวข้ามผ่านอาการติดสุราเรื้อรังไปได้
ทำอย่างไร เมื่อมีสามีที่ชอบดื่มมากเกินไป?
ข้อแรก เรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับโรคพิษสุราเรื้อรัง ในปัจจุบันนี้มีแหล่งข้อมูลมากมายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่รับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการติดสุราเรื้อรังโดยเฉพาะ ตัวอย่างหน่วยงานดังกล่าว เช่น กลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรังนิรนาม (กลุ่มเอเอ) หรืออาจจะปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้กระทั่งภรรยาที่สามีของพวกเธอหายจากโรคพิษสุราเรื้อรังแล้ว
ข้อที่สอง เปลี่ยนทัศนคติของตนเอง และเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุราเรื้อรัง เพราะการติดสุราเรื้อรังไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรม แต่เป็นเรื่องของโรค ดังนั้น หากตัวภรรยาเริ่มยอมรับก่อนว่า สามีของคุณเป็นคนป่วยที่ต้องการการรักษา และพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมการติดสุรา และไม่แสดงอาการรังเกียจ หรือดูถูกเหยียดหยาม ก็จะช่วยให้เขาเริ่มยอมรับความจริงเกี่ยวกับโรคได้มากขึ้น
ข้อที่สาม หลีกเลี่ยง ‘วิธีการดั้งเดิมที่ไม่ได้ผล’ เมื่อสามีติดเหล้า ภรรยา หรือแม้กระทั่งคนรอบตัวคนติดเหล้าเอง มักจะใช้วิธีบ่นหรือตำหนิคนติดเหล้า ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันบ่อยที่สุด แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลที่ดีนัก ประการแรก เพราะคนติดเหล้าย่อมรู้อยู่แล้วว่า การติดเหล้าส่งผลลบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ประการที่สอง เหล้าออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้ความคิดของนักดื่มสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก ทำให้เขาเลือกฟังแต่สิ่งที่เขาต้องการฟัง การบ่น ตำหนิ จึงยิ่งไปกระตุ้นให้เขาเลือกที่จะโกหก หรือให้สัญญาที่ตนเองไม่สามารถทำได้แทน อีกวิธีที่คนชอบใช้กันแต่ไร้ผลคือ การนำความรักมาตั้งเงื่อนไข เช่น “ถ้าคุณรักฉันล่ะก็…” เพราะการติดเหล้าเป็นโรคที่ควบคุมไม่ได้ จึงเป็นการไร้ผลที่จะใช้น้ำเย็นเข้าลูบ หรือทำสัญญากับเขา หรือแม้กระทั่งการขู่คนติดเหล้า ซึ่งไม่ควรทำเด็ดขาด
ดังนั้น แทนที่จะบ่น ตำหนิ หรือตั้งเงื่อนไขใดๆ แล้ว ตัวภรรยาอาจจะใช้คำพูดและท่าทางที่นุ่มนวล เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจแทน วิธีนี้จะช่วยให้เขายอมรับฟังทีละเล็กทีละน้อย และจะเชื่อ รวมถึงปฏิบัติตามเอง
ข้อที่สี่ ลองปรึกษากับคนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ แทนที่จะปรึกษาญาติหรือเพื่อน ที่อาจจะให้ความเห็นที่เข้าข้างตนเองมากเกินไป
ข้อที่ห้า ลองสำรวจตนเอง เพื่อจะช่วยให้พบตนเองและเข้าใจปัญหาต่างๆ มากขึ้น รวมถึงเห็นทางแก้ปัญหาได้ดีขึ้นด้วย
ข้อที่หก เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ให้การบำบัดรักษา
ข้อที่เจ็ด พยายามปรับความคิดของตน และมองสามีในแง่ดี ภรรยาต้องทำความเข้าใจว่า สามีที่ชอบดื่มมากเกินไปจะรู้สึกว่าตนเองขาดหลายสิ่งหลายอย่าง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในตนเอง ฉะนั้น ลองเริ่มสร้างความเชื่อมั่นในตัวเขา และแสดงออกให้เขาเห็นว่า คุณต้องการเขาเสมอ รวมถึงแสดงให้เห็นว่า คุณเชื่อมั่นว่าเขาจะไปบำบัดรักษา และคุณเชื่อมั่นในผลของการรักษาด้วย
ข้อที่แปด อย่างน้อยใจ เมื่อสามีของคุณได้เลือกวิธีการบำบัดรักษาด้วยตนเอง และอย่าคาดหวังผลการหายจากโรคแบบรวดเร็วและได้ผล 100%
ข้อที่เก้า พยายามรักษาบรรยากาศและความสงบในบ้านไว้ เพราะการพูดบ่นจู้จี้จะทำให้บรรยากาศในบ้านย่ำแย่ และจะลามไปกระทบถึงสมาชิกคนอื่นในครอบครัว
ข้อที่สิบ อย่าพยายามกีดกันเขาจากเหล้า ข้อนี้อาจจะฟังดูแปลกไปสักนิด แต่เราอยากบอกคุณว่า ยิ่งคุณกีดกันสามีจากเหล้ามากขึ้นเท่าไร เขาก็ยิ่งมีแนวโน้มจะหันกลับไปดื่มอีก ดังนั้น ต้องให้เขาเรียนรู้ที่จะปฏิเสธการดื่มเหล้า และขณะเดียวกัน ก็อย่าเรื่องการติดเหล้าเก่าๆ มาพูดซ้ำอีก หรือหากสามีของคุณอยากพูดถึงมันเสียเอง ก็พยายามที่จะพูดกับเขาอย่างไม่เคอะเขิน และพูดแบบตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ ลองหาเวลาว่างไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน หรือสนับสนุนกิจกรรมใหม่ๆ ที่เขาอยากทำ เพื่อจะได้หักเหความสนใจของเขาออกจากการดื่มสุราได้
และ ข้อสุดท้าย ช่วยเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุราเรื้อรังให้กับคนอื่น ในฐานะภรรยาของสามีที่ชอบดื่มเหล้ามากเกินไป คุณย่อมเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยได้ ดังนั้น หากมีผู้อื่นมาขอความช่วยเหลือจากคุณ ก็อย่าลืมแบ่งปันเวลาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่และเต็มใจ เพื่อที่จะช่วยให้นักดื่มคนอื่นหายจากอาการติดเหล้าด้วย
อย่างที่เรารู้กันว่า การเลิกเหล้าไม่ใช่เรื่องง่าย และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ดื่มเลิกเหล้าได้คือ กำลังใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะจากภรรยาของนักดื่มเอง เพราะการด่าทอ ตำหนิ หรือกล่าวโทษไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่สิ่งที่จะช่วยให้คนติดเหล้าเริ่มเลิกเหล้าได้คือ ความรักความเข้าใจ เพื่อที่ทั้งคนติดเหล้า ภรรยา และคนรอบข้าง จะก้าวพ้นออกจากกับดักโรคติดสุรานี้ไปได้พร้อมกัน
(อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ 5 หน่วยงานเพื่อคนอยากเลิกเหล้า ที่นี่)
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm