ด้วยรักและห่วงใย ? เหตุไฉนถึงต้องดูแล (พนักงาน) ผู้ติดสุราเรื้อรัง  

May 22, 2019


“ปิดจ็อบนี้ได้เดี๋ยวพี่พาไปเลี้ยง”

ประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียวจากหัวหน้าที่พนักงานอย่างเราๆ ได้ยินทีไรก็ชวนให้ใจรู้สึกเต้นซู่ๆ ซ่าๆ ขึ้นมาทุกครั้งไป น่าแปลกที่ถึงแม้เราจะโตมากับแคมเปญจน เครียด กิน เหล้า หรือจะได้ยินแคมเปญให้เหล้าเท่ากับแช่งทุกปีใหม่ ก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึก ‘สุข’ ยามที่ได้ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในบริษัทหลังเลิกงาน แต่เหมือนที่คนโบราณเคยกล่าวไว้ หวานเป็นลม ขมเป็นยา ถ้าเอาแต่สุขอย่างไม่รู้จักพอท้ายที่สุดความทุกข์ก็มาเยือนได้ไม่ยาก

แน่นอนว่า เราหลายคนทราบกันดีถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินความจำเป็น บุคคลแรกที่จะได้รับผลกระทบจากการกระทำในครั้งนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นตัวเราเอง เมื่อแอลกอฮอล์ไหลเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้เกิดการรบกวน หรือทำลายระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบสมอง ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงระบบต่อมไร้ท่อและระบบจุลชีพ ซึ่งการเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของแอลกอฮอล์ถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคยอดนิยมอย่างโรคตับแข็ง หรือโรคที่คร่าชีวิตใครหลายๆ คนมานักต่อนักอย่างโรคพิษสุราเรื้อรัง

ไม่ใช่แค่ร่างกายที่ถูกขัดขวางการทำงาน แต่การเข้ามาของแอลกอฮอล์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตใจด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพบว่า การดื่มสุราในปริมาณที่เล็กน้อยและมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่พอดีจะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกผ่อนคลาย ช่างพูด มีความสุขและเป็นอิสระ แต่เมื่อใดที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดมีมากจนเกินความจำเป็น จะส่งผลให้ผู้ดื่มรู้สึกสับสน เจ้าอารมณ์ ขาดการยับยั้งในการพูด เสียงดัง และมีท่าทีการแสดงออกอย่างก้าวร้าว ถ้าให้แปลเป็นไทยๆ ง่ายอาจจะกล่าวได้ว่าสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ถูกบีบบังคับให้เผยตัวตนออกมา เหมือนที่ใครหลายคนให้สมญานามสุราว่าเป็นน้ำเปลี่ยนนิสัย

แต่การเปลี่ยนนิสัยจากหน้ามือเป็นหลังมือของคนๆ หนึ่งอาจส่งผลกระทบมากกว่าที่ใครบางคนคิด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อร่างกายและจิตใจของผู้ดื่มส่งผลให้พฤติกรรมของเขาหรือเธอเปลี่ยนไป การควบคุมพฤติกรรมของตนเองทำได้ยากมากขึ้น หรืออาจจะถึงขั้นที่ไม่สามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดของตนได้อีกต่อไป ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราควรกังวล มนุษย์ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์สังคม พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของมนุษย์หนึ่งคนย่อมส่งผลไปถึงความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในสังคมเดียวกันเสมอ ด้วยเหตุนี้ผลกระทบจากการดื่มสุราจึงไม่ได้หยุดอยู่ที่ผลกระทบต่อตัวผู้ดื่มเอง แต่ได้ขยับไปสู่ผลกระทบต่อสังคมด้วย

เมื่อพูดถึงผลกระทบทางสังคมจากการดื่มสุรา เรามักจะเคยชินกับการมองผลกระทบในภาพใหญ่ เช่น ผลกระทบด้านอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีสาเหตุมาจากการเมาสุรา หรือผลกระทบด้านการใช้ความรุนแรงต่างๆ อย่างการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง เนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดและมีความรุนแรง แต่แท้จริงแล้ว หากเราลองปรับมุมมองจะพบว่าผลกระทบทางสังคมจากการดื่มสุราอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการ

จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร พ.ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุระหว่าง 25-44 ปีมีอัตราการดื่มสุราสูงสุดร้อยละ 36.0 มากกว่ากลุ่มอื่น โดยผู้ชายมีสัดส่วนการดื่มอยู่ที่ร้อยละ 47.5 และผู้หญิงมีสัดส่วนการดื่มร้อยละ 10.6 เรียกได้ว่าสัดส่วนในการดื่มของผู้ชายมีมากกว่าผู้หญิงถึง 4.5 เท่า นอกจากนี้จากการสำรวจสถานประกอบการในประเทศไทย โดยแผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุราแบบบูรณาการ (ผรส.) ยังพบว่ามีพนักงานมากกว่าครึ่งที่มีการดื่มสุราและส่งผลกระทบก่อให้เกิดผลเสียต่อการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ปัญหาการขาดงาน การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานเนื่องจากอาการเมาค้าง พนักงานไม่สามารถผลิตผลงานได้ตามเป้าหมาย ไปจนถึงส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรและเป็นการเปิดโอกาสให้เสียตลาดแก่คู่แข่งได้ ดังนั้นประเด็นเรื่องการดื่มสุราในสถานประกอบการจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นสิ่งที่องค์กรควรใส่ใจและให้ความสำคัญทั้งในแง่การป้องกันและแก้ไขปัญหา

สำหรับมาตรการของสถานประกอบการในการแก้ไขปัญหาพนักงานติดสุราเรื้อรังนั้นอาจแบ่งได้ออกเป็น 3 มาตรการด้วยกัน

 

มาตรการที่ 1 การกำหนดนโยบายที่ชัดเจนของบริษัท

กล่าวคือบริษัทจำเป็นต้องมีการประกาศนโยบายการดื่มสุราที่ชัดเจน และควรครอบคลุมตั้งแต่ระดับการดื่มที่มีผลกระทบต่อพนักงาน บทลงโทษในกรณีที่พนักงานดื่มสุราจนเกิดผลกระทบต่อการทำงาน ตลอดจนกระบวนการป้องกันปัญหาการดื่มสุราของพนักงาน นโยบายที่ชัดเจนจะช่วยให้พนักงานมีแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อไม่ให้การดื่มของตนกระทบต่อการจ้างงาน

 

มาตรการที่ 2 การจัดให้เกิดระบบดูแลช่วยเหลือพนักงาน

การดูแลพนักงานให้ห่างไกลจากปัญหาสุราสามารถทำได้หลายวิธี อาจจะเริ่มจากการให้ข้อมูลความรู้ การรณรงค์ การจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ ไปจนถึงการให้คำปรึกษาและการส่งบำบัดรักษา เช่น วิธีการดูแลในระบบเพื่อนช่วยเพื่อน เนื่องจากการดื่มสุราที่มากเกินควรส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เพื่อนร่วมงานคือบุคคลแรกที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก่อนใคร และอาจกล่าวได้ว่าเป็นคนที่เข้าใจกันและกันมากที่สุด หัวหน้างานหรือพนักงานที่เคยประสบปัญหาการดื่มสุราจึงสามารถเข้ามารับบทบาทผู้ช่วยเหลือนี้ได้ โดยอาจจะต้องมีการฝึกอบรมความรู้พื้นฐานในประเด็นผลเสียจากการใช้สุรา การสังเกตเพื่อนร่วมงานว่าดื่มสุราจนเกิดปัญหาหรือไม่ รวมถึงเทคนิคในการให้คำปรึกษาเบื้องต้น เพื่อโน้มน้าวใจเพื่อนร่วมงานให้เห็นถึงปัญหาและร่วมกันหาแนวทางแก้ไข

 

มาตรการที่ 3 การดูแลพนักงานตามกลุ่มเป้าหมาย

สถานประกอบการควรมีการแบ่งพนักงานออกเป็นกลุ่มต่างๆ โดยอาจจะใช้พฤติกรรมการดื่มสุรามาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มพนักงาน ซึ่งการแบ่งกลุ่มพนักงานจะช่วยให้สถานประกอบการสามารถกำหนดกิจกรรมที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยสามารถแบ่งพนักงานออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1. พนักงานที่ไม่ดื่ม สำหรับแนวทางดูแลพนักงานที่ไม่ดื่ม สถานประกอบการควรมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการดื่มสุรา ที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพส่วนตัวและการทำงาน นอกจากนี้อาจจะเพิ่มเกร็ดความรู้เรื่องหนี้สิน การบริหารเงิน ควบคู่กันไป อีกสิ่งที่สำคัญคือสถานประกอบการควรมีระบบดูแลพนักงานที่จะช่วยพนักงานในการปรับตัวในการทำงาน หรือช่วยแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพราะความเครียดจากการทำงานอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานหันไปดื่มสุราด้วยความเชื่อที่ว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเครียดลงได้

2. พนักงานที่ดื่มน้อย สำหรับแนวทางดูแลพนักงานที่ดื่มน้อย สถานประกอบการต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมของการทำงานที่ปลอดสุรา มีการจัดการสภาพแวดล้อมบริเวณสถานประกอบการให้การหาซื้อสุรากลายเป็นเรื่องยาก มีการจัดกิจกรรมที่จะช่วยให้พนักงานได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และคลายเครียดจากการทำงาน นอกจากนี้ ควรมีการจัดทำระบบคัดกรองปัญหาการดื่มสุรา โดยอาจจะอาศัยในช่วงการตรวจร่างกายประจำปี หรือการตรวจความสมบูรณ์พร้อมในการทำงาน ซึ่งการคัดกรองเป็นระยะๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้พนักงานดื่มสุรามากจนเกินไป

3. พนักงานที่ดื่มสุราจนประสบปัญหา ควรจะเน้นไปในทางการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือพนักงาน ตั้งแต่การค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการดื่ม ให้คำแนะนำว่าดื่มอย่างไรให้ปลอดภัย ไปจนถึงการแนะแนวทางในการเลิกใช้สุรา ในขณะเดียวกัน สถานประกอบการควรมีการจัดระบบส่งต่อในกรณีพนักงานที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือต้องการบำบัดทางการแพทย์

4. พนักงานที่ดื่มจนติด สำหรับแนวทางดูแลพนักงานที่ดื่มจนติด สถานประกอบการควรส่งพนักงานเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล หลังจากพนักงานได้รับการบำบัดรักษาแล้วจึงจะอนุญาตให้กลับเข้ามาทำงานต่อได้ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า การบังคับบำบัดโดยหัวหน้างานมีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา และสามารถลดการดื่มสุราได้มากกว่าระบบสมัครใจ

 

นอกจากแนวทางต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สถานประกอบการจะละเลยไม่ได้คือการติดตามผล เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือที่วัดประสิทธิผลในการดำเนินการครั้งนี้แล้ว การวัดผลยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ส่งผลให้พนักงานหยุดการดื่มหรือดื่มได้อย่างปลอดภัยนานขึ้น เนื่องจากการได้เห็นพัฒนาการของตนเองถือเป็นกำลังใจชั้นดีในการช่วยเพิ่มความมุ่งมั่นให้พนักงานทำสิ่งนี้ต่อไป

อย่างเช่นในกรณีของบริษัท ฟิสบา (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตกแต่งภายในที่ทำจากผ้า เช่น ผ้าม่าน เครื่องนอน ได้มีการดำเนินกิจกรรมการรณรงค์งดเหล้าในสถานประกอบการตั้งแต่ ปี 2557 และได้มีการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุราภายในสถานประกอบการ โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ การเพิ่มผลผลิตให้องค์กรและลดจำนวนบุคลากรที่ดื่มเหล้าเป็นประจำให้น้อยลง โดยบริษัทได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าในเทศกาลต่างๆ เช่น กิจกรรมทำความดีถวายในหลวงงดเหล้าเข้าพรรษา แคมเปญสงกรานต์สนุกได้ไร้แอลกอฮอล์ กิจกรรมบันทึกค่าใช้จ่ายอบายมุข โดยบันทึกค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในแต่ละเดือน เช่น ค่าสุรา ค่าบุหรี่ ค่าใช้จ่ายในการเที่ยวกลางคืน นอกจากนี้บริษัทยังมีการจัดการให้คำปรึกษาแบบเจาะจงสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกเหล้าจำนวน 8 ราย

ผลสำเร็จที่ได้รับจากการการรณรงค์ในครั้งนั้น สามารถเห็นได้จากประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น โดยวัดได้จากอัตราการเครมสินค้าที่ลดลง จำนวนพนักงานที่ดื่มเหล้าลดลง จากบันทึกผลการตรวจสุขภาพประจำปีพบว่าพนักงานมีสุขภาพดีขึ้น และสำหรับการจัดการให้คำปรึกษาแบบเจาะจงพบว่า จากผู้ที่ต้องการเลิกเหล้าจำนวน 8 ราย มี 5 รายที่สามารถเลิกเหล้าได้อย่างถาวร ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเกินครึ่งจากที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินกิจกรรมก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการที่พนักงานไม่สามารถบังคับใจตนเองให้งดดื่มเหล้าได้ หรือสภาพแวดล้อมบางชุมชนของพนักงานเอื้อต่อการหาซื้อสุราได้อย่างง่ายดาย แน่นอนว่าทั้งสองอุปสรรคนี้จำเป็นจะต้องใช้เวลาและอาศัยความเข้าใจในการแก้ปัญหาต่อไป

 

ถึงแม้การดื่มสุรามักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องส่วนร่วม เป็นการกระทำที่จะส่งผลเสียต่อตนเองมากกว่าที่จะส่งผลต่อสังคม แต่หากเราพิจารณาให้ถี่ถ้วนจะเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วปัญหาทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน สถานประกอบการแห่งหนึ่งก็เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง บ้านที่พนักงานทุกคนซึ่งเป็นเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกันต้องช่วยกันดูแล หากสมาชิกคนใดคนนึงของบ้านไม่สามารถใช้ประสิทธิภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ก็เป็นเรื่องยากที่บ้านหลังนั้นจะแข็งแรง การดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการดื่มสุราในสถานประกอบการจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการเพิ่มผลิตผลในการทำงาน แต่ยังเป็นการช่วยให้พนักงานทุกคนได้ใช้ประสิทธิภาพที่แต่ละคนมีอย่างเต็มที่ และเกิดเป็นความภาคภูมิใจในการเป็นสมาชิกของบ้านหลังนี้ จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะช่วยบ้านหลังอื่นๆ ไปจนถึงบ้านหลังใหญ่ที่เรียกว่าสังคมนั่นเอง

 


ที่มา:

http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาสุขภาพ/พฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา/2560/บทสรุปผู้บริหาร_smoke60.pdf

การดูแลพนักงานในสถานประกอบการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการดื่มสุรา โดย แผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุราแบบบูรณาการ (ผรส.)

รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์รูปแบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราในสถานประกอบการ 
โดย แผนงานการพัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุราแบบบูรณาการ (ผรส.)

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles