บำบัดผู้ติดสุราผ่านสายตาคนเคยดื่ม: คุยกับ ‘ธวัชชัย กุศล’

November 18, 2019


ผมมีคุณพ่อที่ติดเหล้า เคยเป็นคนติดเหล้า และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคนติดเหล้า”

ประโยคข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางชีวิตของ ธวัชชัย กุศล ก่อนเป็นที่รู้จักในนามรองหัวหน้าโครงการศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา สายด่วนเลิกเหล้า 1413 และวิทยากรผู้จัดอบรมเคล็ดลับเลิกเหล้าในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ธวัชชัยเป็นนักจิตวิทยาที่มีความรู้หลากหลายแขนง ทั้งศาสตร์การรู้จักตนเอง (Enneagram type) จิตบำบัดแนวซาเทียร์ (Satir Transformational Systemic Therapy) ศาสตร์ NLP (Neuro – Linguistic Programming) และจิตบำบัดเสริมสร้างแรงจูงใจ(motivational enhancement therapy) เขาให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตแก่คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความรัก ครอบครัว หรือการค้นหาเป้าหมายในชีวิต

แต่สิ่งที่ธวัชชัยสนใจและทุ่มเทมากที่สุดคือบทบาทของการให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดสุรา

จากการที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นทั้งผู้ดื่มและญาติของผู้ดื่ม ทำให้ธวัชชัยเป็นนักบำบัดผู้เข้าใจมุมมองของคนทุกด้าน และรู้ว่าเบื้องหลังแก้วเหล้าแต่ละแก้ว ประกอบไปด้วยเรื่องราวมากมายที่อยู่ในใจคนดื่ม

“บางครั้งตัวเหล้าเองไม่ใช่ปัญหา แต่คนดื่มเหล้าเพราะมีปัญหา”

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณเข้าไปร่วมวงสนทนากับ ธวัชชัย กุศล เพื่อฟังความในใจของเหล่านักดื่ม ความรู้สึกของญาติที่มีนักดื่มในบ้าน กระบวนการบำบัดและวิธีช่วยเหลือคนติดเหล้าอย่างง่ายๆ ที่คุณสามารถทำได้โดยเริ่มต้นจากความเข้าใจ

 

 

คุณเริ่มต้นสนใจการทำงานด้านการบำบัดผู้ติดสุราได้อย่างไร

ผมมีคุณพ่อเป็นนักดื่มที่มีภาวะติดสุราเรื้อรัง (alcoholism) ตั้งแต่ก่อนผมเกิด ท่านเกิดในยุคสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่มีความวุ่นวาย และต้องทำงานหนัก ดังนั้น เขาจึงเป็นคนที่มีความเครียดสูง ทีนี้ตัวคุณปู่เองก็เป็นคนดื่มเหล้าและมีภาวะติดสุราเรื้อรังเหมือนกัน ท่านจึงเห็นแบบอย่างมาจากคุณปู่ ต่อให้คุณพ่อไม่ได้ชอบปู่ที่กินเหล้า แต่เขาก็ดื่มเหล้าเวลาเขาเครียด และชอบใช้ความรุนแรงเวลาเมา

ตัวผมเองมีส่วนคล้ายกับคุณพ่อ คือเป็นวัยรุ่นที่เห็นพ่อดื่มเหล้ามาตลอด และผมไม่ได้ชอบที่พ่อดื่มเหล้าแล้วใช้อารมณ์ แต่ตัวเองก็ดื่มเหล้า เพราะมีเพื่อนชวน พอดื่มแล้วเรารู้สึกว่ามีสังคม มีความสุขกับการดื่ม เวลาเครียดเราก็ดื่ม จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราถึงเกลียดพ่อ แต่ไม่เกลียดเหล้า

ผมเริ่มสนใจว่ารากฐานความรุนแรงของคุณพ่อเป็นมาอย่างไร ทำไมเขาถึงดื่มเหล้า และผมอยากทำความเข้าใจตัวเอง ทำให้ผมเลือกเรียนจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ที่รามคำแหงมีจิตวิทยาด้านหนึ่ง เรียกว่าจิตวิทยาครอบครัว เป็นการทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีรากฐานที่มาเป็นอย่างไร และส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างไร เดิมผมรู้อยู่แล้วว่าพ่อมีปู่ที่ดื่มเหล้า เมื่อเรียนจึงได้เข้าใจว่าภายในครอบครัวผมส่งต่อปัญหาเรื่องดื่มเหล้ากันมา

จากเดิมผมคิดว่าตัวเรากับคุณพ่อคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไม่ได้ สุดท้ายผมก็เลือกคุยกับพ่อโดยตรงว่าเขาดื่มเหล้าเพราะอะไร ทำไมถึงใช้ความรุนแรง พ่อก็เล่าปัญหาของเขา และบอกว่าเขาเห็นปู่ทำแบบนี้ เรียนรู้มาแบบนี้ เขาไม่รู้ว่าเวลาเครียดต้องทำอย่างไรนอกจากดื่มเหล้าและใช้ความรุนแรง ตอนที่เขาเล่า เขาไม่ได้เล่าด้วยความรู้สึกสะใจหรือมีความสุข แต่เล่าด้วยความรู้สึกเสียใจ ผมจึงเข้าใจที่มาที่ไปทั้งหมด ว่าทำไมพ่อเป็นแบบนี้ และผมเป็นแบบนี้

ตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ได้เกลียดพ่อ และผมเข้าใจว่าทำไมหลายๆ คนใช้เหล้าเป็นทางออกของปัญหา เข้าใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคนติดเหล้า รวมถึงตัวผมเองก็เคยติดเหล้าด้วย แต่เราก็มีชีวิตที่ดีได้ ในเมื่อเราทำได้ เราก็อยากให้คนอื่นทำได้เหมือนเรา นั่นทำให้ผมมาทำงานด้านนี้

 

หัวใจสำคัญของการเริ่มต้นเป็นนักจิตวิทยาที่ช่วยบำบัดผู้ติดสุราคืออะไร

เราศึกษาจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจคนเป็นหลัก ศึกษาที่มาที่ไปของพฤติกรรมว่ามีสาเหตุอย่างไร มาจากไหน แต่ก่อนจะทำความเข้าใจใคร สิ่งสำคัญคือนักจิตวิทยาต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเราเป็นใคร มาจากไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร การเป็นนักจิตวิทยาไม่ได้แปลว่าต้องเก่ง ต้องอ่านใจคนออก แค่ต้องเข้าใจตัวเองอย่างชัดเจน จากนั้นจึงจะทำความเข้าใจคนอื่นได้

อีกเรื่องหนึ่งคือต้องเป็นคนที่เห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เรียนจิตวิทยาก็ได้ การเป็นคนเห็นคุณค่าของตัวเองนี้ก็ต้องใช้เวลา และต้องหัดฟังตัวเองโดยไม่ตัดสิน ทุกข์หรือสุขก็ต้องฟัง ทั้งข้อดีข้อเสียเราต้องรับได้ทั้งหมด เมื่อฟังตัวเองไปเรื่อยๆ เราจะสามารถยอมรับและชื่นชมตัวเองได้ในทุกวัน เมื่อถึงตอนนั้น เราจะมีพลังและสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างจริงใจ

ผมบอกนักจิตวิทยาของเราทุกคนว่านอกจากทำหน้าที่ให้พลังคนอื่น ช่วยเหลือคนอื่นแล้วก็ต้องให้พลังตัวเอง ให้พลังซึ่งกันและกันด้วย

 

กระบวนการบำบัดคนติดสุรามีขั้นตอนอย่างไร

เราเริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เข้ารับการบำบัด เพราะเวลาเราอยากรู้จักคนอื่น ต้องเริ่มจากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก่อน แล้วพูดคุยสำรวจปัญหาเพื่อทำความเข้าใจ ทั้งตัวเราเข้าใจเขา และทำให้เขาได้เข้าใจตัวเองว่าติดระดับไหน ต้องแอดมิทไหม ต้องบำบัดไหม หรือแค่เพิ่งเริ่มติด หยุดดื่มได้เองไม่ต้องพบหมอ หรือติดระดับปานกลาง กินยาแต่ไม่ต้องรับการบำบัด

เมื่อเขาเข้าใจจุดที่ตนเองยืนอยู่ กระบวนการถัดมาจะง่ายมาก คือหาทางแก้ไข ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไปแก้ปัญหาให้กับเขา แต่ทำให้เขาย้อนมองว่าก่อนหน้านี้ได้ลงมือทำอะไรบ้าง ด้วยวิธีการอย่างไร ที่มันไม่สำเร็จเพราะอะไร สุดท้ายให้เขาได้สรุปจากการพูดคุยด้วยตัวเองว่า สาเหตุที่แท้จริงของการดื่มเหล้าคืออะไร แล้วจะทำอย่างไรต่อไป

เราต้องช่วยเขาทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหา เพื่อจะได้แก้ไขอย่างตรงจุด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าเวลาคนเราปวดหัว มักจะนึกถึงยาพารา พอกินแล้วก็หายปวดหัว แต่ไม่ได้คิดต่อว่าสาเหตุของการปวดหัวคืออะไร พอปวดหัวอีกครั้ง ก็กินยาพาราอีก กินไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไม่ได้แก้ที่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

ดังนั้น ปัญหาที่ทุกคนพามาหานักบำบัดจึงไม่ใช่แค่เรื่องเหล้า การดื่มเหล้าเป็นแค่วิธีการที่เขาแสดงออกว่ากำลังหนีทุกข์เพื่อหาสุข แต่ความสุขนี้กลายเป็นการเสพติด ต่อให้มีความสุขอย่างไร เมื่อถึงจุดหนึ่ง ร่างกายคุณจะทรมานถ้าไม่ได้ดื่ม หน้าที่ของเราจึงต้องฟังและช่วยเขาสรุปต้นตอของปัญหา ทำให้เขาเห็นมุมมองใหม่ๆ ว่ามีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่าการดื่มเหล้า ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลาคุยกัน ฟังกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เปิดโอกาสให้เขาได้พูดในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขและอยากมีชีวิตอยู่คืออะไร รวมถึงให้กำลังใจว่าเขามีความหมายต่อเราอย่างไร

 

คุณศึกษาศาสตร์จิตวิทยามาหลายด้าน มีด้านไหนบ้างที่คุณนำมาประยุกต์ใช้ในการบำบัดผู้ติดสุรา

ผมเริ่มจากการทำความเข้าใจคนด้วยศาสตร์ที่เกี่ยวกับบุคลิก 9 ประเภท เรียกว่านพลักษณ์ ศาสตร์นพลักษณ์จะช่วยให้เรารู้ว่าคนแต่ประเภทมีโลกทัศน์อย่างไร วิธีมองโลกที่แตกต่างกันจะทำให้คนเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน เราจะทำความเข้าใจโลกทัศน์ของเขาโดยที่ไม่ตัดสินว่าชุดความคิดของเขาผิด

ต่อมาคือการใช้ศาสตร์ NLP หรือ Neuro-linguistic programming เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าใจว่าสิ่งเร้าต่างๆ รอบตัวเขาส่งผลต่อสมองและทำให้เขาอยากดื่มอย่างไร กระบวนการง่ายๆ ที่ผมเคยทำคือหยิบขวดเบียร์ออกมาให้เขาเห็น บรรยายว่าตอนนี้ในมือของผมคือขวดเบียร์ ขวดเบียร์นี้เพิ่งหยิบออกมาจากตู้เย็น เย็นฉ่ำมาก เมื่อผมเปิดขวดเบียร์ออกมา ฟองเริ่มไหล แล้วผมก็เทเบียร์ใส่แก้ว เสร็จแล้วผมถามว่าเขารู้สึกอย่างไร เขาตอบว่าคุณหมอครับ อยากดื่มแล้วครับ

ดังนั้นอะไรก็ตามที่คุณเคยเห็น เคยรับรู้ เคยสัมผัส มันคือสิ่งที่ประทับอยู่ในสมองคุณ ศาสตร์ NLP ช่วยอธิบายว่าทำไมคนที่อยากเลิกเหล้าต้องไม่เห็นขวดเหล้า ร้านเหล้า หรือเพื่อน เพราะมันทำให้นึกถึงเหล้า แล้วก็กลับไปดื่มต่อ

นอกจากนี้ผมยังใช้จิตบำบัดแนวซาเทียร์ (Satir Transformational Systemic Therapy) ช่วยให้เขาเข้าใจว่าการที่คุณดื่มเหล้าอยู่ตอนนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาในตอนนี้เท่านั้น แต่บางครั้งเป็นผลกระทบมาจากเรื่องในอดีตด้วย เช่น คนในครอบครัวบอกว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ล้มเหลวในชีวิตซ้ำๆ จนกลายเป็นความรู้สึกตอกย้ำ เครียด ไม่เชื่อมั่นในตัวเองและจบลงที่การดื่มเหล้า หน้าที่เราคือการทำให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น

 

ไม่ว่าศาสตร์ด้านไหนก็ฟังดูเหมือนจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าใจตัวเอง

ถูกต้อง และเมื่อเขาเข้าใจตัวเองแล้ว เราต้องช่วยทำให้เขารู้ว่าเป้าหมายของเขาคืออะไรด้วย โดยผ่านวิธีการที่เรียกว่า  motivation  interviewing หรือการคุยเพื่อสร้างแรงจูงใจ

เราจะถามว่าลึกๆ แล้วที่คุณอยากเลิกเหล้าเพราะคุณอยากให้อะไรเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งที่คุณต้องการคืออะไร ทำให้เขาเห็นและพูดในสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำ สมมติถ้าเขาเล่าว่าอยากเลิกเหล้าเพื่อลูก อยากทำให้ลูกรับรู้ว่าตัวเองเป็นคุณพ่อที่มีความตั้งใจ ผมจะช่วยสะท้อนกลับไปว่าคุณเลิกเหล้าเพราะอยากเป็นพ่อที่ดี อยากเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก อยากให้ลูกมองว่าคุณเป็นพ่อที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

หรือถ้าเขาเล่าว่า ถ้าเลิกเหล้าได้ ภรรยาจะไม่ทิ้งเขาไป ผมก็จะไม่แปลความว่าเพราะคุณกลัวถูกภรรยาทิ้งเลยอยากจะเปลี่ยน แต่จะบอกว่าคุณอยากเปลี่ยนเพราะต้องการครอบครัวที่อบอุ่น อยากให้มีคนรักมากขึ้น อยากมีคนให้กำลังใจมากขึ้น เขาจะรู้สึกว่าใช่

หน้าที่ของเราคือฟัง ใช้คำถาม และสะท้อนสิ่งที่เขาพูดให้เขาได้ยิน เพื่อทำให้เขาอยากไปถึงเป้าหมาย และการที่เขาตั้งเป้าหมายจะทำให้เขารู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยน มีปัญหาอะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนไม่ได้ และจะแก้มันอย่างไร ซึ่งเราจะช่วยกันลดอุปสรรคตรงนั้นด้วย

ถ้าเราเสนอทางเลือกต่างๆ โดยไม่รู้เป้าหมายหรืออุปสรรคของเขา จะทำให้ช่วยเหลือเขาไม่สำเร็จ ฉะนั้น เราต้องรู้เป้าหมายของผู้เข้ารับการบำบัดเพื่อรู้วิธีว่าจะร่วมเดินไปกับเขาอย่างไร หน้าที่ของนักจิตวิทยาไม่ใช่การเดินนำหน้า แต่เป็นการเดินไปกับเขา ทำให้เขารู้ว่าตนเองมีศักยภาพ และไม่ได้กำลังเดินอยู่คนเดียว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรายังอยู่กับเขา เมื่อทำแบบนี้แล้วทุกคนจะรู้สึกว่าสามารถเลิกได้ง่ายขึ้น

 

 

การที่ผู้เข้ารับการบำบัดได้พูดเป้าหมายของตัวเองออกมา ต่างจากการคิดแต่ไม่พูดอย่างไร

ต่างกันมาก เวลาเขาพูดจะรู้สึกเหมือนให้คำสัญญากับตัวเอง จะรู้ตัวว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากได้ ในทางจิตวิทยามีทฤษฎีที่เรียกว่า Self Perception Theory หรือทฤษฎีการรับรู้ตนเอง เมื่อเราได้ยินสิ่งที่เราพูด เราจะรับรู้ถึงตัวตนที่เราอยากเป็น และอยากจะพัฒนาตัวเองมากขึ้น

อีกเรื่องคือเมื่อพูดออกมาแล้ว มีคนรับฟัง ผมเองก็ช่วยสะท้อนให้เขาได้ยินว่าคุณได้พยายามมาตลอด ผมรับรู้ถึงความตั้งใจของคุณ และคุณสามารถทำได้แน่นอน เพราะคุณยังไม่หยุดพยายาม เขาจะรับรู้ว่ามีคนเห็นคุณค่าของเขา ทำให้เขาอยากทำต่อไป

 

การบำบัดของนักจิตวิทยามักเน้นการพูดคุยเป็นหลัก ถ้าผู้เข้ารับการบำบัดไม่ยอมเปิดใจพูด เราจะมีวิธีทำอย่างไรให้คนเปิดใจ

ส่วนใหญ่เราใช้วิธีสร้างความสัมพันธ์ ถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ให้ช่วยเหลืออย่างไร เราจะไม่ถามเรื่องที่เป็นปัญหาเพราะเรารู้ว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวและฟังดูเป็นความสงสัยใคร่รู้มากกว่าความใส่ใจ  เช่น เวลาเขาบอกว่าผมอยากจะเลิกเหล้า แล้วเราถามย้อนกลับไปว่าคุณมีปัญหาอะไร คุยแต่เรื่องที่เป็นปัญหาจะยิ่งทำให้เขาเครียด รู้สึกหดหู่ และไม่อยากคุยกับเรา เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีปัญหา แต่เพราะมีปัญหาไงถึงได้มา

ตอนที่เขามาหาเราหมายความว่ามันถึงวิกฤตสำหรับเขาแล้ว ดังนั้นเขาจึงมาด้วยความหวัง ต้องการพลังใจและคนที่ไม่ซ้ำเติมเขา เราจึงไม่คุยเรื่องปัญหา แต่จะคุยเรื่องผลกระทบ ชี้ให้เขาเห็นว่าถ้าวันนี้ไม่เปลี่ยน ไม่ทำอะไรสักอย่าง มันจะเกิดอะไรขึ้น อีกสองสามปีจะเกิดอะไรขึ้น จากนั้นให้เขาตัดสินใจและตั้งเป้าหมายของตัวเอง

ถ้าเป็นการพบกันต่อหน้า ผมจะใช้การสบตา ภาษากาย บอกให้เขารู้ว่าผมเข้าใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมเคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ถ้าเป็นการโทรเข้ามาที่สายด่วนเลิกเหล้า 1413 คำถามที่เราจะถามคือ โทรติดยากไหม คงต้องรอสายนานเพราะบริการสายให้คำปรึกษาของเรามีน้อย วันนี้ที่โทรเข้ามามีอะไรให้เราช่วยเหลือหรือเปล่า

คนอาจจะถามว่าง่ายแค่นี้เองเหรอ ใช่ครับ คนที่โทรเข้ามามีน้อยคนที่ไม่อยากพูดเรื่องราวของตัวเอง ต่อให้เขาโทรมาแล้วขอแค่วิธีการแบบไวๆ เราก็จะให้ข้อมูล แล้วสร้างความสัมพันธ์ผ่านคำถามที่ย้อนกลับไปสู่เรื่องราวของตัวเขา เช่น ตอนที่โทรเข้ามาคุณรู้สึกอย่างไร เหนื่อยไหม ที่คุณโทรเข้ามาเพราะมีเรื่องราวที่คุณต้องตัดสินใจเยอะเลยใช่ไหม เราย้อนถามถึงสิ่งที่อยู่ในใจของเขาเพื่อทำความรู้จักกับเขา ดูว่ามีอะไรที่เราสามารถให้เขาได้มากกว่าวิธีบำบัดอีก ถามถึงความตั้งใจที่ทำให้อยากจะโทรเข้ามา สาเหตุที่อยากจะเลิกเหล้าเพราะอะไร แล้วเดี๋ยวเขาจะพูดได้เยอะเลย

 

ความท้าทายของการให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์คืออะไร

การที่เราฟังผ่านทางโทรศัพท์ ทำให้ได้ยินแต่น้ำเสียง เราแทบไม่เห็นอะไรของเขาเลย ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามให้ชัดเจน เช่น เป้าหมายของคุณคืออะไร คุณอยากให้อะไรเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนหน้านี้คุณทำอะไรสำเร็จบ้างและทำอย่างไร ต้องสังเกตน้ำเสียงของเขาว่ามีความตั้งใจ ความเครียด หรือความวิตกกังวลอย่างไร แล้วเราจำเป็นต้องทำให้เขาเชื่อมโยงตนเองเข้ากับประสบการณ์ดีๆ ให้เขามีกำลังใจ เพราะคนเหล่านี้ไม่ค่อยนึกถึงเรื่องดีๆ ในชีวิตประจำวัน

 

ข้อดีของบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์เมื่อเทียบกับการเข้าพบแพทย์โดยตรงคืออะไร

สำหรับคนกินเหล้ามักมีภาพจำอย่างหนึ่ง คือ การไปหาหมอเท่ากับว่าตัวเองกำลังป่วยหรือเป็นโรคจิต และการบอกว่าตัวเราป่วยเป็นเรื่องที่แย่มาก สูญเสียความมั่นใจ (self-confident) แต่ถ้าเป็นการยกหูโทรศัพท์มันง่ายกว่ามาก เขาจะรู้สึกแค่มาถามคำถามเฉยๆ เราเองก็พยายามทำให้กระบวนการต่างๆ ง่าย คุยเสร็จอยากนัดเจอนักจิตวิทยา อยากเจอหมอ ขอแค่บอก เราจะช่วยตอบสนองให้ ไม่เหมือนการพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีขั้นตอนมากมาย

แต่เราไม่ได้บอกว่าให้เขาเข้ามาที่โรงพยาบาลเลย ถ้าคุณไม่พร้อมไม่จำเป็นต้องมาหาหมอก็ได้ แค่ทำให้เขารู้ว่าจุดที่เขายืนอยู่เป็นแบบไหน และคุยถึงทางเลือกที่เขาอยากได้ ทั้งวิธีการเลิกเหล้าแบบไม่พบแพทย์ เลิกด้วยตัวเองแบบปลอดภัย ถ้าถามเรื่องสถานบำบัดเราก็ให้ข้อมูลไป ตอบสนองความต้องการทุกอย่าง และที่สำคัญคือมีการติดตามผล

สายด่วน 1413 ไม่ใช่ Hotline แต่เป็น Helpline ที่คุณจะโทรมาตอนไหนก็ได้ เราจะชื่อไว้ทุกเคสและโทรติดตาม เพราะเราพบว่าวงจรของคนส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากมีความตั้งใจในช่วงแรก พอลงมือทำได้สักพัก ก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม เปลี่ยนไม่ได้แล้วรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง หน้าที่ของเราคือช่วยตัดวงจรนี้ คุณโทรมา 1 ครั้ง 1 สัปดาห์ผ่านไปเราโทรหาคุณ จากนั้น 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือนโทรหา ช่วยดูแลคุณไปจนกระทั่งครบปี

 

ถ้าการไปพบแพทย์ทำให้เขารู้สึกแย่ว่าตัวเองกำลังป่วย งั้นนักบำบัดต้องพยายามทำให้คนที่เข้ารับการบำบัดรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เจ็บป่วยอยู่หรือเปล่า

ไม่ครับ เราทำให้เขารู้ว่าเขากำลังเป็นอะไร แต่แค่ไม่ไปตัดสินเขาว่าคุณติดเหล้าแล้ว เราจะเริ่มถามเขาก่อนว่าอยากรู้ไหมว่าอาการที่เป็นอยู่คืออะไร แล้วใช้คำถามแบบคัดกรองผู้ติดสุราง่ายๆ อย่างเช่น  ปัจจุบันนี้คุณต้องเพิ่มปริมาณการดื่มเพื่อให้ตัวเองเมาไหม 1-2 แก้วไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เคยเป็นไหมที่ตั้งใจจะหยุดดื่ม 2- 3วันแล้วมีอาการหงุดหงิด มือสั่น คลื่นไส้อาเจียน แล้วเคยไหมที่ตั้งใจว่าจะดื่มแค่แก้วสองแก้วแต่ติดลม เคยไหมที่ตั้งใจจะลด ละ เลิก แต่ไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดีแต่ก็ยังดื่ม มีบ้างไหมที่คนในครอบครัวหรือเจ้านายเคยบอกให้เราเลิก

ถ้าตอบว่าใช่ อย่างน้อยแค่ 3 ข้อก็เรียกว่าติดเหล้านะครับ คุณคิดว่าอย่างไรครับ เขาก็ว่าอ๋อ คงใช่ครับ นั่นล่ะครับ เราไม่ได้ตัดสินเขา แต่ทำให้เขาสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง พอเราอยากให้เขารู้ด้วยความเป็นห่วงจริงๆ เขาจะมีความรู้สึกอยากเลิกขึ้นมาเอง จากนั้นเราค่อยประเมินต่อว่าเคยหยุดดื่มได้นานที่สุดเท่าไร ถ้าเขาตอบว่า 3-4 เดือนก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ แค่ถามว่าถ้าเขาเคยทำได้ จะกลับไปทำแบบนั้นอีกได้ไหม อาจจะต้องทนอาการทรมานสัก 3-4 วัน คุณทนได้ไหม ถ้าไม่ได้เรามีตัวช่วยให้ แล้วเราก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการจูงใจให้พบแพทย์ บอกรายละเอียดให้เขา จนหาทางออกที่เหมาะกับเขาได้

 

ดูเหมือนคนที่เข้ามาขอคำปรึกษาจะเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นในการเลิกเหล้าเป็นทุนเดิม แล้วถ้าเขาไม่มีความมุ่งมั่นจะเลิก เราควรช่วยผลักดันเขาอย่างไร 

จากประสบการณ์ของผม น้อยมากที่จะเจอคนที่ไม่มีความตั้งใจ หลายคนบอกว่าลองทำมาทุกอย่างแล้ว แม้กระทั่งไปหาหมอ เวลาเราย้อนถามคนที่มาปรึกษาว่าคุณเคยลองเลิกมากี่ครั้ง คำตอบที่ได้คือมากกว่า 10 ครั้ง ฉะนั้นผมกล้าพูดได้เลยว่าไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่พยายามช่วยเหลือตนเอง แล้วไม่มีมนุษย์คนไหนอยากให้คนอื่นช่วยเหลือถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คนติดเหล้าก็เช่นกัน ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็จะไม่ร้องขอ แต่เพราะส่วนใหญ่ล้มเหลวมาหลายรอบ การที่เขามาหาเราหมายความว่ามันถึงวิกฤตแล้ว เขามาด้วยความหวัง เชื่อว่าเราเป็นทางออก ต้องการพลังใจจากคนที่ไม่ซ้ำเติมเขา

 

 

เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้คนอยากเลิกเหล้าคืออะไร

เหตุผลส่วนใหญ่ของคนอยากเลิกเหล้าคืออยากทำเพื่อสุขภาพ เพราะเริ่มเจ็บป่วยแล้ว ตกงาน ผมเคยเจอเคสหนึ่งเล่าว่าเขาเห็นโฆษณาของสสส.แล้วอยากเลิกมาหลายรอบ แต่กว่าจะได้ติดต่อมาหาเราก็ผ่านไปครึ่งปี เหตุผลคือสุขภาพเริ่มไม่ดีแล้ว เจ้านายเริ่มว่า ถ้าให้ผมเปรียบเทียบการดื่มเหล้าก็คงเหมือนยืนอยู่บนทรายดูด เวลาเราไปทะเล แล้วเจอทรายดูดถึงแค่ตาตุ่มก็ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา มันก็เพลินดี สนุกดี มีความสุขดี แต่พอทรายดูดเริ่มไปถึงเอว เราเริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ต้องตะโกนแหกปากให้คนช่วย

อีกเคสหนึ่งที่ผมเจอในโครงการอบรมคือมีผู้ชายคนหนึ่งมากับภรรยา ภรรยาบอกว่าถ้าครั้งนี้ไม่เปลี่ยนจะเลิกคบ ตัวเขาก็ยังไม่สลดนะ แต่พอได้ยินผู้เข้าร่วมอบรมอีกคนเล่าว่าเขาดื่มจนเป็นโรคตับระยะสุดท้าย ปรากฏผู้ชายคนนี้บอกว่าพี่ ผมขอบคุณมาก ผมไม่อยากเป็นแบบพี่ เขาไม่ได้กลัวเมียเลิก แต่กลัวโรคเลยตั้งใจจะเลิกดื่ม

บางคนที่เลิกเพื่อครอบครัวก็มี ส่วนใหญ่อยากทำเพื่อลูกเพราะอยากให้ลูกเคารพ หรือไม่ก็อยากทำเพื่อแม่เพราะแม่รักเรา มีผู้ชายคนหนึ่งมาหาผมพร้อมกับแม่ เคสนี้ดื่มจนท้องมาน ตาเหลืองแล้ว เขาบอกกับผมว่าเขาไม่กลัวตาย แต่ที่มาเพราะเขารักแม่ เขาเห็นแม่ทรมาน เจ็บปวดที่เขาเป็นแบบนี้ เขาจึงอยากบอกแม่ว่าเขาพยายามแล้ว และอยากให้แม่เข้าใจว่าเขาทรมานเหมือนกัน ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ดื่มเหล้า ไม่มีสักวันที่เขาไม่อยากเลิก แต่เขาไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม เขาไม่มีอะไรให้ห่วงนอกจากแม่และไม่อยากให้แม่ต้องทุกข์ทรมานเพราะเขา

 

สำหรับเคสแบบนี้ นักบำบัดจะเข้าไปมีช่วยเหลืออย่างไร

สิ่งที่ผมทำคือเปิดโอกาสให้เขาพูดคุยกัน และช่วยแปลงความหมายที่เขาต้องการจะสื่อออกมา ต้องเข้าใจก่อนว่าหลายครั้งเวลาคนเราพูด เราไม่ได้พูดจากใจ แต่พูดด้วยอารมณ์และมักจะตัดสินจากสิ่งที่เห็น ยกตัวอย่างเวลาแม่เห็นลูกเมา แม่จะตัดสินว่าลูกไม่ได้เรื่องและตำหนิ เมื่อลูกอยากจะอธิบายก็อธิบายไปด้วยอารมณ์ เพราะฉะนั้นต่างฝ่ายต่างจะไม่รับรู้ถึงความหมายลึกๆ ที่พวกเขาต้องการจะสื่อจริงๆ หน้าที่ของผมจึงเป็นการช่วยแปลงมันออกมาให้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย

เคสนั้นเมื่อเขาพูดกับแม่ได้ แม่เขาก็บอกว่าเข้าใจ และรับรู้ว่าลูกตั้งใจที่จะเปลี่ยน ไม่ซ้ำเติมเขา ทำให้เขาตัดสินใจไปหาหมอเพื่อรักษา บอกว่าผมจะเปลี่ยนเพราะผมอยากมีชีวิต อยากทำให้แม่ภูมิใจได้สักครั้ง

จริงๆ ผมคิดว่าทุกคนหวังดีต่อกัน แต่ปัญหาคือวิธีการแสดงออกอาจจะไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการสื่อเท่านั้นเอง

 

คุณคิดว่าอุปสรรคในการบำบัดคนติดเหล้ามีอะไรบ้าง 

บางทีวิธีการที่เรานำเสนอไปก็ไม่ได้ผล เพราะเขายังไม่พร้อมที่จะทำ อาจจะมีปัญหาทั้งเรื่องเวลา เรื่องงาน ไม่มีเงิน ซึ่งผมก็บอกว่าไม่เป็นไร สะดวกเมื่อไรก็มา ทางโทรศัพท์เอง ถ้ายังไม่พร้อมปรึกษา ต้องการให้เราโทรกลับคราวหลัง เราก็มีบริการโทรกลับเช่นกัน

ผมยอมรับว่าคนทำงานสายด่วนเลิกเหล้าต้องทำงานหนักมาก เพราะคนหนึ่งคนต้องคุยกับคนไข้หนึ่งเคสไม่ต่ำกว่า 20 นาที ในวันหนึ่งต้องคุยเกือบ 10-20 คน ผมเลยจัดโครงการอบรมเลิกเหล้าขึ้นด้วย ให้คนเข้ามาฟังและทำกระบวนการบำบัดโดยตรง ถึงจะเป็นห้องเล็กๆ รับคนได้น้อย แต่ผมก็อยากสนับสนุนคนในทีม เพราะงานสายนี้ไม่ได้ทำเพื่อเงินเป็นหลัก ทุกคนต่างมาทำงานด้วยความหวังและพลังใจที่อยากช่วยเหลือคนอื่นๆ

 

นอกจากความไม่พร้อม ยังมีอุปสรรคอะไรอีกที่คนอยากเลิกเหล้าต้องเผชิญจนทำให้เลิกได้ยาก

ความยากมีอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือการต้องอดทนต่อความทรมานเวลาหยุดดื่ม คนเลิกดื่มเหล้าทุกคนจะมีอาการที่เรียกว่าถอนเหล้า คือ อาเจียน เหนื่อยเพลีย กินน้ำเยอะ และอาจมีโรคกระเพาะตามมา เราจะเตือนเขาว่าการเลิกเหล้าต้องเจออาการอะไรบ้าง ต้องหาทางจัดการกับมันอย่างไร ถ้าเป็นคนที่เคยลองเลิกมาก่อนแล้ว เราจะทวนให้เขาเตรียมใจว่าจะเจอกับอาการเหล่านั้นอีก ชักชวนให้เขาพูดวิธีที่จะจัดการกับตัวเองให้ฟัง ทำให้เขารู้ว่าเขามีศักยภาพที่จะอดทนต่อมัน

ความยากเรื่องที่สองคือการที่เขาต้องเจอกับสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ ที่กระตุ้นให้เขาอยากดื่ม เช่น สภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาเกิดความเครียด ผมก็พยายามช่วยให้เขารู้ถึงสาเหตุจะได้ไปแก้ที่ต้นตอ และแนะนำว่าให้หาความสุขในแบบอื่น อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การกลับไปดื่มเหล้า อาจจะเป็นเรื่องการดูแลตัวเองง่ายๆ อย่างเหนื่อยก็นอน หิวก็กิน หาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ

บางคนก็บอกว่ากลับไปดื่มเพราะเพื่อน เพื่อนมักจะชวนดื่มจนทำให้เลิกไม่ได้ ดังนั้น สำหรับคนที่จะเลิกดื่ม ผมบอกเสมอว่าต้องไม่กลับไปเจอเหล้าอีก และพยายามให้เขาคิดวิธีปฏิเสธเวลาถูกชักชวน

คนติดสุราหลายคนเชื่อว่าเมื่อมาบำบัดจนหาย จะสามารถกลับไปดื่มได้โดยไม่ติดอีก ซึ่งผมต้องบอกว่ามันไม่ได้ เพราะคุณเคยมีประสบการณ์และคุณไม่สามารถลืมได้ การเลิกเหล้าจึงจำเป็นต้องอาศัยวินัยของตัวเอง คุณอาจจะรู้สึกอึดอัด ต้องทำสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่คุณต้องเปลี่ยน เพราะคุณเองก็รู้ว่าถ้าไม่เปลี่ยนจะเกิดอะไรขึ้น ผมแนะนำว่าเมื่อมีวินัยแล้ว อย่าลืมให้รางวัลกับตัวเองด้วย มิฉะนั้นสุดท้ายคุณจะเกิดความเบื่อ

 

อยากให้คุณช่วยเล่าประสบการณ์ในฐานะคนที่เคยติดเหล้าว่าคิดอย่างไรและเลิกได้อย่างไร

ผมเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุ 13 จนถึงอายุ 18 ไปกินทุกวันศุกร์กับเพื่อนๆ เราไม่เคยคิดว่าเหล้าเป็นปัญหาเลย เพราะเวลาดื่มมันผ่อนคลาย มันได้เพื่อน ได้มิตรภาพ ทำให้เรารู้สึกดี แต่การดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยมีผลกระทบต่อสมอง เพราะสุราเป็นสารกดประสาท ส่งผลต่อการเติบโตของเซลล์สมอง นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนถึงพยายามไม่ให้เด็กกินเหล้า ผมก็รู้ตัวว่าความจำไม่ดีเพราะเหล้า บางทีดื่มมาจนแฮงค์ ก็เรียนหนังสือไม่ได้

หลายคนมักบอกว่าผมหน้าตาดี แต่เรียนหนังสือแย่ นานไปผมก็คิดว่าแค่หน้าตาดีมันทำอะไรไม่ได้ ถ้าเรามีครอบครัว เราก็เลี้ยงดูใครไม่ได้เพราะเรียนหนังสือไม่เก่ง สมองไม่ดี จึงอยากจะเลิก

แต่ผมยอมรับว่ามันเลิกยาก เพราะมีเพื่อนกินเหล้า ถ้าเราไม่กินก็โดนล้อ กลัวเพื่อนไม่ยอมรับ เรารู้ตัวว่าติดเหล้าเพราะความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ คิดว่าถ้าเราไม่มีอะไรดี อย่างน้อยเราก็ยังมีเพื่อน ขณะเดียวกัน ผมก็รู้ว่าเพื่อนไม่ได้ช่วยทำให้เรารวยหรือเก่งขึ้น

ดังนั้นกว่าผมจะเลิกเหล้าได้คือตอนที่จบม.6 ได้ออกมาจากสภาพแวดล้อมเดิม ต่อให้คุณไม่สามารถเปลี่ยนเพื่อนได้ แต่คุณเลือกคบเพื่อนได้ อย่างที่ผมพาตัวเองไปเจอคนดีๆ ไปเจอนักจิตวิทยาเก่งๆ หาความรู้ ความช่วยเหลือเพื่อเลิกเหล้า

แน่นอนว่าตอนเลิกเหล้าใหม่ๆ ก็เจออาการมือสั่น ตื่นมาทุกเช้ารู้สึกทรมานมาก แต่ผมใช้แรงใจอดทนต่อความอยากดื่มเพราะอยากเปลี่ยนตัวเอง และรู้ว่ามีทางอื่นที่ช่วยให้หายทรมาน พักผ่อนก็หาย กินวิตามิน ดื่มน้ำหวานก็หาย สุดท้ายก็เลิกเหล้าได้

 

 

 ในมุมของคนที่มีพ่อเป็นผู้ติดสุรา คุณมองคุณพ่อเป็นอย่างไร และช่วยเหลือให้เขาเลิกเหล้าอย่างไร

คุณพ่อของผมเป็นคนขยันขันแข็งมาก เวลาผมมองคุณพ่อจะมองเห็นผู้ชายที่เท่มากคนหนึ่ง เพราะเขายากจนแต่ตั้งใจทำงานจนทำให้ลูกมีชีวิตดีได้ แต่ผมก็เห็นคุณพ่อดื่มเหล้าเมาแล้วอาละวาดมาตลอด และรู้สึกไม่ชอบ จนกระทั่งผมเริ่มเปิดใจที่จะทำความเข้าใจเขา จึงรู้ว่าเขาดื่มเพราะมีความเครียด ถามว่าผิดไหมที่เขาเป็นคนเครียด ผิดไหมที่คาดหวังกับลูก คาดหวังกับชีวิต มันไม่ผิดเลย ถ้าเขารู้ว่ามีทางเลือกอื่นนอกจากการดื่มเหล้า เขาก็คงไม่ดื่ม ถ้ามีคนช่วยเตือน มีคนที่เข้าใจ เขาก็คงไม่เป็นแบบนี้

เพราะฉะนั้นแม้ว่าคุณพ่อจะยังดื่มเหล้าอยู่ แต่ผมก็พยายามเข้าใจเขา ผมเชื่อว่าหัวใจหลักของการช่วยเหลือเขาเริ่มจากมีความสัมพันธ์ที่ดี ดังนั้นทุกครั้งที่คุณพ่อกลับบ้าน ผมจะเป็นคนหนึ่งที่นั่งฟังเขา ช่วยเยียวยาเขา เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักจิตวิทยาก็ได้ แต่เป็นลูก เป็นคนที่เขารู้สึกว่ามีพื้นที่ที่สามารถระบายความในใจ อยู่กับเขาก็พอ

จุดเปลี่ยนอยู่ที่ตอนคุณพ่ออายุ 70 วันหนึ่งแม่ผมบอกว่าพ่อล้มเพราะเมา ไม่มีใครดูแล แม่เองก็ไม่อยากดูแล ผมกลับไปถึงบ้านเจอพ่อเป็นแผลเลือดออก ก็พาไปหาหมอ ช่วยดูแลร่างกาย ถามพ่อว่าเกิดอะไรขึ้น ล้มเพราะอะไร พอคุณพ่อตอบ ผมก็ถามต่อว่าแล้วรู้ไหมทำไมทุกคนไม่มาดูแลพ่อ พ่อบอกว่าพ่อไม่รู้ ผมเลยเปิดคลิปวิดีโอที่เคยอัดไว้ตอนคุณพ่อเมาให้เขาดู เขาดูจบก็บอกว่ารู้สึกแย่ ละอายใจ เขาจำไม่ได้ว่าทำอะไรตอนเมาเพราะคนดื่มเหล้าจะมีภาวะ Black-Outs Drunk หรือเมาจนภาพตัด สมองเสื่อมชั่วขณะทำให้จำอะไรไม่ได้

พอผมถามพ่อต่อว่าจะเอาอย่างไร พ่อก็บอกว่าเขาจะเลิก เดิมทีพ่อผมก็ไม่ได้ดื่มเหล้าทุกวัน และเขาเป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) พอเขารู้ว่าตัวเองเป็นคนไม่ดี เขาก็อยากจะเปลี่ยน ผมช่วยให้เขาไปพบจิตแพทย์ ให้ยาตามอาการ หลังๆ เขาก็เลิกได้เอง จากอายุ 70 พ่ออยู่กับผมจนถึงอายุ 83 ปีถึงเสีย ตลอด 13 ปีที่เหลือ เขาไม่เคยกลับไปดื่มเหล้าอีกเลย

โดยรวมแล้ว วิธีการของผมคือให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ก่อนการแก้ไขปัญหา เพราะถ้าความสัมพันธ์ดี ทำให้คนมีความต้องการอยากเปลี่ยน และจะเปลี่ยนได้ ผมเชื่อว่าคนจะเลิกเหล้าต้องมีความตั้งใจและมีคนคอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ อย่างผมเองก็ชมคุณพ่อมาตลอดตั้งแต่ตอนเปิดใจคุยครั้งแรกว่าสำหรับผม พ่อคือฮีโร่ พ่อคือคนที่ผมอยากเป็นมากที่สุด ก่อนหน้านี้ที่ผมเกลียดคุณพ่อ ลึกๆ เป็นเพราะผมรักเขา ในทางจิตวิทยา ถ้าเราเกลียดใครในครอบครัว เพราะเดิมเราเคยรักเขามาก่อน เคยให้ความสำคัญกับเขา เราอยากให้เขาเห็นความสำคัญของเรา แต่เขาไม่เคยทำ จนทำให้เราอยากตัดขาดความสัมพันธ์ คุณพ่อของผมก็มักจะบอกว่าผมไม่ได้เรื่อง แต่สุดท้ายผมได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าได้เรื่องสำหรับเขา ทำให้เขายอมรับและภูมิใจได้ เราทุกคนก็มีความสุข

 

ญาติของผู้ติดสุราที่เข้ามาขอคำปรึกษาจากคุณ เขามักจะมีมุมมองต่อผู้ติดสุราอย่างไร

ส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกอยากช่วย แต่พอช่วยไม่สำเร็จจะเริ่มรู้สึกเหนื่อย เบื่อ สุดท้ายก็ปล่อย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าภรรยาที่มีสามีดื่มเหล้า ระยะแรกเขาจะพยายามห้าม ถ้าสามีเมา อาเจียน ภรรยาก็อดทนดูแล ปรนนิบัติอย่างดี ซึ่งสามีไม่รู้หรอกว่าภรรยาดูแลอย่างไรเพราะเมาจนภาพตัด ฝ่ายภรรยาเองได้แต่เหนื่อย ระยะที่สองภรรยาจะพยายามปกป้องสามี ไม่ให้ออกจากบ้านไปดื่มเหล้า แต่คนที่ติดเหล้าอย่างไรก็หาวิธีไปจนได้ นานวันเข้า ภรรยาเห็นว่าดูแลก็แล้ว ห้ามก็แล้ว ไม่ได้ผล สุดท้ายก็ปล่อย ไม่สนใจ ไม่ดูแล อยากกินก็กินไป

แต่หลายคนก็เครียดเพราะคนในครอบครัวเลิกเหล้าไม่ได้ ผมทดสอบญาติที่มาร่วมการอบรมแล้วพบว่าหลายคนเป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือมีอาการอยากฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ

 

คุณให้คำปรึกษาหรือบำบัดญาติผู้ติดสุราที่รู้สึกเหนื่อยหรือมีอาการซึมเศร้าอย่างไร

เราถามเขาว่าเหนื่อยใช่ไหม ทรมานใช่ไหม พักผ่อนบ้างหรือยัง ญาติส่วนมากเชื่อว่าถ้าคนในบ้านเลิกดื่มเหล้า เขาจะหายเครียด เราต้องทำให้เข้าใจว่าการเลิกเหล้ามีความยากอย่างไร ต้องใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่แค่กินยา มาบำบัดแล้วก็จบ ไม่อย่างนั้นถ้าเขากลับไปดื่มเหล้าอีก ญาติจะเจอปัญหาเดิม จนสุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้า และถ้าญาติอยู่กับคนติดเหล้าจนป่วย ก็ต้องรู้ตัวว่าตัวเองป่วย ต้องมารักษา อย่ารีบร้อนทำอะไร

บางครั้งญาติที่มาเข้าร่วมโครงการอบรมของผมก็แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับญาติด้วยกัน หรือกระทั่งมานั่งฟังมุมมองจากผู้ดื่ม ญาติได้ฟังก็มีมุมมองต่อคนติดเหล้าเปลี่ยนไป ฝ่ายคนดื่มได้ยินว่าญาติรู้สึกทรมาน เป็นห่วงก็สะท้อนกลับมาที่ตัวเองและทำให้อยากเลิก เป็นการบำบัดช่วยเหลือกันและกันอย่างหนึ่ง

 

ถ้าญาติอยากช่วยเหลือคนติดสุราในบ้าน ควรเข้าใจหลักการหรือปฏิบัติตัวอย่างไรบ้างถึงจะดีต่อตัวผู้ดื่ม และไม่ทำให้ตัวเองเครียดเกินไป 

ข้อแรกญาติต้องเข้าใจเรื่องการติดเหล้า ว่าคนติดเหล้าไม่ได้ตั้งใจอยากจะติด แต่เลิกไม่ได้เพราะสมองเสพติดไปแล้ว ต่อมาคือต้องเข้าใจตัวเอง เป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเอง ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เวลาคุยอย่าไปตัดสินคนติดเหล้า ให้ถามว่าเหนื่อยไหม ทรมานไหม ทำความเข้าใจว่าเขากำลังเป็นอย่างไร แล้วถามต่อไปว่าอยากให้ช่วยเหลืออย่างไร แนะนำตัวช่วย เสนอช่องทางให้เขา พาไปหาหมอด้วยกัน ทำอย่างนี้แล้วจะช่วยให้คนเลิกเหล้าได้สำเร็จ

อีกเรื่องหนึ่งคือต้องไม่คุย ไม่ทะเลาะกับคนเมา ต้องเข้าใจหลักของ Black-Outs Drunk ว่าความจำเสื่อมชั่วขณะ การดูแลตอนเขาเมาจนภาพตัดมันเหนื่อยฟรี ทะเลาะกันฟรีๆ ดังนั้นไม่ต้องพูดอะไร ไม่ต้องดูแล ปล่อยให้เขาเมา อาเจียน ตัวเหม็น แล้วตื่นมาเห็นสภาพของตัวเอง เขาจะรู้สึกว่าเราเป็นขนาดนี้เลยเหรอ เราเป็นอะไรไป ถึงไม่มีใครตำหนิแต่เขาจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย

ถ้าที่ผ่านมาทุกคนไม่เคยปล่อยให้เขาเห็นสภาพของตัวเอง มัวแต่ปกป้องดูแล เขาจะไม่มีทางเปลี่ยน ฉะนั้น พ่อ แม่ ลูก ภรรยาต้องหยุดพฤติกรรมการเสริมแรงทางอ้อม หยุดปกป้องเขาไม่ให้เจอผลเลวร้ายจากการดื่ม ต้องปล่อยให้เขาเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมา โดยที่เราไม่ต้องดุด่าเขา พอสร่างเมา เราแค่ถามเขาว่ารู้สึกอย่างไรกับตัวเอง หิวข้าวไหม ดูแลเขาเหมือนคนปกติ ทำความดีในตอนที่เขารับรู้ ไม่ใช่ตอนเมา ทำแบบนี้ญาติเองจะไม่เหนื่อย การช่วยเหลือคนติดเหล้าอย่าทำจนตัวเองไม่ไหว อย่าทำจนกลายเป็นการทรมานตัวเอง เราต้องหันกลับมาดูแลตัวเองด้วย

 

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles