ดูแลอย่างไร…ถ้าคนใกล้ตัวมีปัญหาจากการดื่มสุรา?

May 7, 2019


การดื่มสุรามากเกินไปก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ดื่มในหลากหลายรูปแบบ ทั้งอันตรายที่เกิดจากฤทธิ์ของสุราต่อร่างกายและจิตใจโดยตรง หรือจะเป็นอันตรายที่เกิดจากการเมาจนขาดสติสัมปชัญญะและไปก่อความรุนแรง ทะเลาะวิวาท หรือขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ หรือจนท้ายที่สุดแล้ว หากผู้ดื่มไม่สามารถควบคุมปริมาณการดื่มได้ ก็จะนำมาซึ่งโรคพิษสุราเรื้อรัง ที่จำเป็นจะต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ต่อไป

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา โดยนำเสนอบทความว่าด้วยวิธีการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราทั้งที่แบบฉุกเฉิน และไม่ฉุกเฉิน เพื่อที่คนรอบข้างของผู้มีปัญหาการติดสุราจะได้ดูแลผู้ติดสุราอย่างถูกวิธี รวมถึงวิธีการพูดเพื่อให้คนติดสุราเริ่มตระหนักถึงปัญหาของตนเอง และอยากจะเข้ารับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ต่อไป

 

คุณอาจจะคิดว่า มีเพียงผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเท่านั้นที่ต้องขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่อันที่จริงแล้ว แม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ติดสุรา แต่มีปัญหาจากการดื่มสุรา ก็อาจจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือดังกล่าวเช่นเดียวกัน

หากคุณกำลังสงสัยว่า คนใกล้ตัวคุณมีปัญหาการติดสุรา ลองมองและสังเกตสัญญาณและอาการเหล่านี้ เพื่อที่ว่าหากคนใกล้ตัวของคุณมีปัญหาจริงๆ คุณจะได้ช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างทันท่วงที

 

ผู้เมาสุรา

 

หากผู้ดื่มดื่มสุราอย่างหนัก ขณะดื่มหรือภายหลังการดื่มไม่นานจะเกิดอาการเมาสุรา ซึ่งจะทำให้ผู้ดื่มที่เมามีความคิดและพฤติกรรมที่บกพร่อง รวมถึงมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เช่น แสดงออกทางเพศไม่เหมาะสม ก้าวร้าว อารมณ์แปรปรวน โดยการสังเกตว่าผู้ดื่มคนไหนเมาแล้วนั้น เรามีวิธีสังเกตง่ายๆ คือ การพูดอ้อแอ้ ลิ้นคับปาก มือสั่นมากขึ้น เดินเซหรือไม่ตรงทาง บางครั้งอาจถึงขั้นมีอาการชัก

 

ผู้มีอาการขาดสุรา (อาการลงแดง)

 

สำหรับผู้ที่ติดหรือดื่มสุรามานาน หรือดื่มหลายวันจนเมาหัวราน้ำ เมื่อหยุดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มลง จะเกิดอาการขาดสุรา โดยลักษณะของอาการดังกล่าว เช่น รู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวล มือสั่นใจสั่น บางครั้งอาจถึงขั้นเพ้อสับสน ประสาทหลอน หรือชัก โดยอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นหลังหยุดดื่มสุราในวันที่ 2-3 จนถึง 1 สัปดาห์

 

ผู้ที่มีอาการติดสุรา

 

ผู้ที่ติดสุราจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้อย่างน้อย 3 ข้อ จาก 7 ข้อ ต่อไปนี้

– ต้องการดื่มสุราเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดฤทธิ์เมาเท่าเดิม

– มีอาการขาดสุรา เมื่อลดหรือหยุดดื่ม

– ดื่มสุรานานกว่าที่ตั้งใจไว้

– ไม่สามารถหยุดดื่มหรือควบคุมการดื่มได้

– ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการหาสุรามาดื่ม หรือเพื่อให้สร่างเมา

– ต้องลดหรืองดการเข้าสังคม หรือการทำกิจกรรมอื่นๆ หรือแม้กระทั่งต้องหยุดงานเพราะใช้เวลาไปกับการดื่มสุรา

– ยังคงดื่มต่อไป แม้จะทราบว่าสุรามีโอกาสก่อหรือกระตุ้นให้เกิดปัญหาทางร่างกายหรือจิตใจที่มีอยู่แล้วให้เกิดขึ้น

 

การช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการขาดสุรา โดยใช้รูปแบบการดูแลประคับประคองทั่วไป

 

– จัดสภาพแวดล้อมให้เงียบสงบ ปลอดภัย มีแสงสว่างพอควร และไม่มีเสียงกระตุ้นจากภายนอกมากเกินไป

– มีนาฬิกาหรือปฏิทินที่ช่วยให้ผู้ขาดสุราสามารถรับรู้วัน เวลา ตามจริงได้

– เตรียมสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ เช่น แว่นตา หรือไม้ค้ำยัน ให้พร้อมสำหรับผู้ที่ต้องการ

– ไม่ควรผูกมัดผู้ที่มีอาการขาดสุรา ยกเว้นเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

– ใช้การผ่อนคลายกล้ามเนื้อโดยการหายใจเข้า-ออกลึกๆ เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน

– ให้ผู้มีอาการขาดสุราพักผ่อนนอนหลับ รวมถึงหมั่นให้เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและสบายตัว

– ให้ทานอาหารตามปกติและดื่มน้ำบ่อยๆ หากมีอาการแสบท้อง ให้ดื่มนมทุก 30 นาที – 1 ชั่วโมง

– เก็บสิ่งของมีคมหรือสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายออกไปจากบริเวณที่มีผู้มีอาการขาดสุราอยู่

 

แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่า ผู้ที่เมาสุรา ติดสุรา หรือมีอาการขาดสุรา ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินแล้ว ?

 

– หมดสติ หลับ และปลุกไม่ตื่น รวมถึงมีอาการหายใจตื้นช้า ไม่สม่ำเสมอ ชีพจรช้า เบา และไม่สม่ำเสมอ ตัวซีด เย็น ผิวคล้ำ ซึ่งอาจเป็นอาการจากพิษสุรา

– มีอาการอาเจียนต่อเนื่อง ซึ่งสงสัยว่าเกิดอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ

– ผู้ที่มีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว อาจมีโรคแทรกซ้อนทางกาย หรือการบาดเจ็บรุนแรง แต่ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ได้บดบังอาการเจ็บปวดเอาไว้ ซึ่งนี่เป็นอาการที่สมควรได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์อย่างเร่งด่วนที่สุด

– ผู้ที่มีอาการไข้ พูดเพ้อ สั่น สับสน ชัก ประสาทหลอน ซึ่งอาจเป็นอาการขาดสุรา

 

อาการชัก หมดสติ หรือได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นอาการที่อาจพบได้ในบรรดาผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกต้อง ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคนใกล้ตัวติดสุรา หรือมีปัญหาการดื่มสุราแล้วล่ะก็ การรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นของอาการเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับคุณอย่างมาก

 

ถ้ามีอาการหมดสติ สิ่งที่ควรทำคือ…

– การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการหมดสติ ให้เริ่มจากการตรวจดูว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ ให้เปิดทางเดินหายใจให้โล่ง โดยกดหน้าผากลงและยกคางให้เงยขึ้น ถ้ายังไม่หายใจให้ช่วยให้หายใจ โดยผู้ช่วยเหลือเป่าลมหายใจออกเข้าไปในปอดของผู้ที่หมดสติ หากหัวใจหยุดเต้น ให้ช่วยนวดหัวใจ

– สำรวจร่างกายของผู้หมดสติว่า มีอาการบาดเจ็บ หรือมีภาวะอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีบาดแผลและมีเลือดออกให้ห้ามเลือด ถ้ามีกระดูกหัก ให้ประคองส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่กับที่ ควรระมัดระวังอย่างยิ่งหากต้องเคลื่อนไหว

– ถ้าเริ่มอาเจียน ให้ตะแคงศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อกันไม่ให้ลิ้นตกไปด้านหลังลำคอและอุดกั้นทางเดินหายใจ และป้องกันไม่ให้อาเจียนไหลเข้าหลอดลม

– ช่วยทำร่างกายของผู้หมดสติให้อบอุ่น

– หาสาเหตุที่ทำให้หมดสติ และประวัติการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อจะแจ้งให้แพทย์ทราบ

– พยายามหาว่าผู้หมดสติใช้ยาอะไรหรือไม่ ถ้าไม่ทราบ ให้เก็บเศษอาหารหรืออาเจียนและส่งมอบให้เจ้าหน้าที่

– สามารถโทรศัพท์เรียกบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เบอร์ 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยในตอนโทรแจ้ง ควรมีสติ แจ้งสถานที่ให้ถูกต้อง อธิบายอาการอย่างละเอียด รวมถึงแจ้งเบอร์เพื่อติดต่อกลับ ที่สำคัญคือควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือคนเจ็บอย่างเคร่งครัด

 

ถ้ามีอาการชัก สิ่งที่ควรทำคือ…

– ให้ม้วนผ้าและใส่เข้าไประหว่างฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้นตนเอง

– เมื่อหยุดชักแล้วจัดให้อยู่ในท่าพักฟื้น และอยู่กับผู้ที่ชักจนกระทั่งรู้สึกตัวดี

– ถ้าเป็นการชักครั้งแรกและชักซ้ำๆ กัน หรือไม่รู้สึกตัวนานเกิน 10 นาที ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

 

ถ้ามีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ สิ่งที่ควรทำคือ…

– ห้ามเขย่าหรือสั่นศีรษะผู้ป่วยเด็ดขาด

– ถ้าผู้ป่วยฟื้นได้เองและรู้สึกตัวดี ให้นอนพัก และใช้น้ำแข็งประคบศีรษะไว้

– ถ้าผู้ป่วยไม่ฟื้นเอง หรือเกิดปัญหาความจำเลอะเลือน เมื่อฟื้นแล้วให้นำส่งโรงพยาบาลทันที โดยให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด

 

เริ่มต้นคุยอย่างไร ให้ผู้ติดสุราเข้ารับความช่วยเหลือ ?

 

มีคำกล่าวว่า ‘ผู้ที่ติดสุรามักรู้เป็นคนสุดท้ายว่าตัวเองติด’ ซึ่งนี่ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะสุราออกฤทธิ์ต่อสมองของผู้ดื่มโดยตรง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ดื่มจะไม่ตระหนักว่า ตนมีปัญหาการดื่มแล้ว

ดังนั้น หากคุณต้องการพูดคุยกับผู้ที่มีอาการติดสุรา ขั้นแรกควรเริ่มพูดคุยอย่างห่วงใย สอบถามถึงผลกระทบต่อสุขภาพ หน้าที่การงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ต่อมาจึงแสดงความห่วงใยของคุณต่อสุขภาพของเขา อย่าลืมว่า คุณไม่ควรตำหนิผู้ติดสุรา แต่ควรค่อยๆ อธิบายเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา แสดงท่าทีเป็นมิตร พร้อมรับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง เข้าใจ และไม่ตัดสินเขา

นอกจากนี้ ควรพูดคุยในขณะที่เขามีสติครบถ้วน และมีอารมณ์ปกติ ซึ่งการพูดคุยดังกล่าวเป็นเหมือนการปูทางที่กล่าวถึงปัญหาจากการดื่มสุราของเขาเท่านั้น พร้อมทั้งแสดงให้เขาเห็นว่า อะไรที่คุณช่วยได้ คุณยินดีช่วยเหลือเขาเสมอ

 

จะทำอย่างไร หากเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ?

 

อย่างแรกคือ คุณต้องพยายามทำให้ผู้ติดสุราเข้าใจว่า มีวิธีการหลากหลายที่จะบำบัดอาการติดสุรา และการบำบัดอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการหยุดดื่มอย่างสิ้นเชิง แต่คือการปรับพฤติกรรมให้ดื่มลดลง

แต่ถ้าหากเขายังปฏิเสธความช่วยเหลือ คุณอาจเริ่มต้นด้วยการจำกัดพฤติกรรมบางอย่างที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เช่น การขับรถ หรือการใช้เครื่องจักร ระหว่างนี้ คุณอาจลองแสดงความเห็นอย่างอดทน รอให้เขายอมรับว่าเขาควรรับความช่วยเหลือ เพราะท้ายที่สุดแล้ว การจะบำบัดรักษาอาการติดสุราให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ควรขึ้นอยู่กับความยินยอมและตัวของผู้ติดสุรา

แต่ในบางกรณี อาจมีความจำเป็นที่ผู้ติดสุราจำเป็นจะต้องเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย มีภาวะอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ถ้าเจอคนที่เข้าข่ายเช่นนี้ คุณควรโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือขอความช่วยเหลือจากบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อนำตัวไปเข้ารับการบำบัดรักษาต่อไป

 

ดูข้อมูลเกี่ยวกับ 5 หน่วยงานเพื่อคนอยากเลิกเหล้า ได้ที่นี่ และดูข้อมูลอื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์ alcoholrhythm.com 

 


ที่มา: Booklet ‘การปฐมพยาบาลผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา’ แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.)

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles