อีริก แคล็ปตัน และเส้นทางดนตรีอันมึนเมาในยุค 60

June 30, 2020


“When your day is done, and you want to ride on cocaine.”

 

บทเพลง Cocaine จากอัลบั้ม Slowhand (1977) ของ อีริก แคล็ปตัน ทะลวงชาร์ตเพลงทั้งฝั่งแคนาดาและสหรัฐอเมริกาอย่างยากจะต้าน ทั้งที่จริงๆ เพลงถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 1976 โดย เจ เจ เคล ก่อนที่แคล็ปตันจะนำมาร้องคัฟเวอร์ลงอัลบั้มเดี่ยวลำดับที่ห้าของเขาจนเพลงดังระเบิด 

มันมีเหตุผลอยู่ที่แคล็ปตัน -ราชากีตาร์ชาวอังกฤษ- เลือกหยิบเพลงนี้มาร้อง “ผมว่ามันไม่ได้เรื่องหรอกที่จะเขียนเพลงต่อต้านการใช้ยาเสพติดแบบเจตนาแล้วหวังว่ามันจะไปจับใจคนฟัง เพราะโดยทั่วไปแล้วคนมักจะรู้สึกต่อต้านมัน อย่างเวลาที่พวกเขารู้สึกเหมือนถูกยัดเยียดอะไรบางอย่างนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดคือหยิบยื่นเนื้อหาบางอย่างผ่านการสอดแทรกโดยไม่ต้องบอกพวกเขาตรงๆ ว่านี่คือการต่อต้านการเสพยา ซึ่งผมว่าเพลง Cocaine ก็เป็นเพลงต้านการใช้สารเสพติดโคเคนที่ดี โดยถ้าคุณลองพิจารณามันอย่างถ้วนถี่ทั้งจากระยะไกลหรือใกล้ เพลงนี้อาจจะดูฟังเหมือนเพลงที่ว่าด้วยโคเคนล้วนๆ แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเพลงต่อต้านการใช้สารโคเคนแหละครับ” แคล็ปตันอธิบาย 

นั่นอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่อีกปัจจัยคือ ตัวแคล็ปตันเองเคยผ่านร้อนผ่านหนาว ติดทั้งยาและเหล้ามาแล้วสมัยยังหนุ่มฟ้อ เป็นมือกีตาร์สัญชาติอังกฤษจากวง Cream ที่เข้ามาถล่มชาร์ตเพลงและความนิยมในดินแดนสหรัฐฯ ยุค 60 จนในเวลาต่อมาก็มีชื่อปรากฏอยู่ในหอเกียรติยศหรือ Hall of fame ของอุตสาหกรรมดนตรี

เราเริ่มกันจากตรงนี้เลยก็ได้ ข้ามพ้นวัยเด็กของแคล็ปตันซึ่งเป็นเด็กเนิร์ดๆ จากย่านเซอร์รีย์ ได้รับกีตาร์โฮเยอร์สัญชาติเยอรมันตอนวันเกิดอายุครบ 13 ปีและกลายเป็นเด็กหนุ่มที่หมกมุ่นกับกีตาร์ทั้งวันทั้งคืน ก่อนจะถลำลึกไปกับดนตรีบลูส์และออกแสดงในผับหรือเปิดหมวกข้างถนนแถวบ้าน และกลายมาเป็นนักดนตรีอาชีพไม่นานหลังจากนั้นในนามของมือกีตาร์วง The Yardbirds ตามมาด้วย Cream

ดังที่กล่าวไปแล้ว Cream ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายทั้งในบ้านเกิดและอเมริกา โดยเฉพาะเมื่อวงปล่อยอัลบั้มลำดับที่สองอย่าง Disraeli Gears (1967) ที่พวกเขาได้ออกทัวร์ยังสหรัฐฯ และสร้างปรากฏการณ์เป็นวงที่หยิบเอาแนวเพลงไซคีเดลิกร็อกจากฝั่งอังกฤษมาผสมรวมกับดนตรีบลูส์แบบอเมริกัน ตารางทัวร์สุดหฤโหดของพวกเขาก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับปาร์ตี้ที่รอให้พวกเขาเข้าร่วมภายหลังชื่อเสียงรุมเร้า รู้ตัวอีกทีพวกเขาก็เมาหัวทิ่มกับเหล้าและสารพัดสารเสพติดที่ผสมอยู่ในน้ำสีอำพัน และจากที่เคยดื่มเพื่อผ่อนคลายหลังการแสดงดนตรีสุดอลังการ ในที่สุดแล้วพวกเขาก็ค่อยๆ ดื่มก่อนขึ้นแสดงจริง ไปๆ มาๆ ก็แทบจะยกไปดื่มระหว่างแสดง 

เหตุนี้นี่เองที่ทำให้แคล็ปตันตัดสินใจไปบำบัด และประสบความสำเร็จด้วยการเดินออกจากสถานบำบัดอย่างภาคภูมิที่เลิกเหล้าได้ แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น เขาก็กลับไปเป็นชายที่นั่งจ่อมอยู่หลังแผงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สารพัดสูตรเหมือนเดิม แถมคราวนี้ยังดื่มหนักและนานกว่าที่เคยด้วยซ้ำ 

อาการของแคล็ปตันย่ำแย่กว่าที่เคย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากวง Cream สลายตัวกันในปี 1968 แคล็ปตันมักไปปรากฏตัวในคอนเสิร์ตของนักดนตรีคนอื่นในฐานะแขกรับเชิญบ่อยครั้ง และครั้งที่อื้อฉาวที่สุดหนีไม่พ้นงานแสดงของ จอร์จ แฮร์ริสัน ที่บังกลาเทศปี 1972 ที่หลังจากขึ้นไปยืนบนเวทีได้ไม่นาน แคล็ปตันก็เป็นลมล้มตึงลงไปท่ามกลางสายตาคนดูเรือนหมื่น และแม้เป็นคอนเสิร์ตของตัวเอง เขาก็ยังเมาหัวปักขึ้นเวทีจนทีมงานจำต้องเก็บภาพเขานอนโซโล่กีตาร์บนพื้นแบบหมดสภาพมาบ่อยๆ “ตอนนั้นมันก็ไม่ได้ฟังดูเป็นเรื่องพิกลสำหรับผมเท่าไหร่นะ และเอาจริงๆ นั่นอาจเป็นสิ่งเดียวที่ผมทำไหวแล้วน่ะ คือสภาพผมนี่ ถ้าไม่ขึ้นไปนอนไหลบนเวทีก็คงไปนอนไหลอยู่ที่อื่น อย่างน้อยที่สุด ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าการได้ไปนอนเลอะๆ บนเวทีก็ถือว่าผมปรากฏตัวแล้ว”

แน่นอนว่า คนรอบตัวไม่ปลื้มใจกับเหตุการณ์เช่นนี้นัก (ก็แน่ล่ะสิ!) อาห์เม็ด เออร์เตกัน เจ้าของค่ายเพลงแอ็ตแลนติก เรคอร์ดส์ซึ่งแคล็ปตันสังกัดอยู่ พยายามเข้ามาช่วยเหลือแคล็ปตันทุกทาง หากแต่ก็แทบไม่เป็นผลนัก จนต้นยุค 80 ที่คนรอบตัวพากันเกลี้ยกล่อมให้เขาเข้ารับการบำบัดอย่างจริงจังเสียทีที่สถานบำบัดฮาสเซลเด็นในมินเนโซต้า ในเวลาต่อมา แคล็ปตันเขียนเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เขาถูกส่งตัวไปยังสถานบำบัดว่า

ในจุดตกต่ำที่สุดของชีวิต เหตุผลเดียวที่ผมยังไม่ฆ่าตัวตายไปเสียก็คือ ความหวั่นกลัวว่าผมจะไม่ได้กลับมาดื่มเหล้าอีกถ้าตายไปซะก่อน นั่นเป็นสิ่งเดียวจริงๆ ที่ผมคิดว่าควรค่าจะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อมัน และเพราะผมดื่มหนักทุกวัน เอาแต่ดื่มเหล้าอย่างเอาเป็นเอาตายจนคนรอบตัวต้องพยายามลากให้ผมห่างจากเหล้าหรือแอลกอฮอล์ พวกเขาจึงพาผมมาส่งที่สถานบำบัดจนได้”

ในเวลาต่อมา เขาเขียนเพลง Holy Mother (ซึ่งอยู่ในอัลบั้ม August ปี 1986) เพื่อบรรยายความรู้สึกหนักหน่วงของการติดเหล้า “ตอนปี 80 ผมอยู่ในช่วงติดทั้งเหล้าและยาอย่างหนัก หลุดออกนอกลู่นอกทางไปเยอะ” แคล็ปตันระลึกอดีต “และได้ดูหนังเรื่อง Purple Rain (1984 –หนังที่นำแสดงโดย ปรินซ์ นักดนตรีชาวอเมริกัน ว่าด้วยเด็กผู้เปี่ยมพรสวรรค์ แต่มีอุปสรรคมากมายระหว่างที่พยายามเป็นนักดนตรีอาชีพ) ในโรงหนังที่แคนาดา ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร แต่การดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนฟ้าที่ผ่าลงมากลางใจเลยล่ะ”

ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังเผชิญหน้าอยู่กับภาวะซึมเศร้า ทั้งยังรู้สึกว่าวัฒนธรรมทางดนตรีกำลังเปลี่ยนไป เอาแน่เอานอนไม่ได้ เขาเหมือนเป็นแสงสว่างเดียวท่ามกลางความมืดมิดของผม ผมเลยกลับไปยังโรงแรม -และท่ามกลางกระป๋องเบียร์เปล่าๆ ที่รายล้อมรอบตัว- ผมเขียนเพลง Holy Mother ขึ้นมาตอนนั้นนั่นเอง”

แน่แท้ว่าในที่สุด แคล็ปตันก็เลิกเหล้าจนได้ ภายหลังจากการกัดฟันต่อสู้ยิบตาจากอาการอยากเหล้าจนแทบจะลงแดง “ผมอยากจะบอกว่า การฟังดนตรีมันแสนสำคัญมากเท่าๆ กับที่เราเล่นดนตรีได้ ท่ามกลางช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต ผมพบว่าบทเพลงทั้งเก่าและใหม่ล้วนเยียวยาผมทั้งสิ้น ไม่ว่าผมจะเล่นเพลงนั้นได้ไม่ดีหรือเล่นไม่ได้เลยก็ตาม มันก็ช่วยผมได้เสมอ 

ผมเคยดื่มหนักมากกว่าที่คุณจะจินตนาการถึงเสียอีก ผมดื่มเบียร์สเปเชียล บรูว์ผสมกับว็อดก้า มันทำให้คุณรู้สึกเหมือนได้ดื่มเบียร์ลาเกอร์ ซึ่งในเวลาต่อมา ผมว่าอดีตของผมก็อาจจะเป็นสมบัติอย่างหนึ่งที่ผมมีก็ได้

“อีกอย่างหนึ่ง เป็นเพราะลูกๆ ของผมด้วย ผมจึงตระหนักได้ว่าผมต้องเลิกเหล้า ต้องมีความรับผิดชอบกับชีวิตให้ได้ เพราะงั้น ผมเลยพยายามกลับมามุ่งมั่นอยู่กับงานดนตรีน่ะครับ”

 

 


 

ที่มา:

Eric Clapton On Overcoming Heavy Drinking Past

Eric Clapton admits to making alcoholic strange brew

Eric Clapton’s Salvation Road

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles