สำรวจความสัมพันธ์ของชาติพันธุ์ พิธีกรรมกับความเมามาย: การปรากฎตัวของความเชื่อในขวดเหล้า

March 2, 2021


ทำไมรู้เหลา ผมเป็นคนสุรินทร์

ข้าวปลาไม่กิน กินเหล้าเป็นอาหาร

ไม่มีวันหยุด เมาทุกเทศกาล

เมืองแห่งความสำราญ เมืองสุรินทร์ สุรา

……………………………………………………………………………

 

แม้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น้ำเมาในประเทศไทยแต่หากจะเล่าเรื่องเหล้า การเริ่มต้นด้วยเพลงบทนี้คงเป็นการเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย

 

ข้าวปลาไม่กิน กินเหล้าเป็นอาหาร

ไม่มีวันหยุด เมาทุกเทศกาล

 

ถ้อยประโยคจากเพลง ‘สุรินทร์เหลา’ ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องกันอย่างแพร่หลายในหมู่พี่น้องชาวสุรินทร์ สะท้อนให้เห็นความแนบแน่นของเหล้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งมีเหล้าแทรกซึมอยู่ในทุกเทศกาล ทุกพิธีกรรม และทุกวัฒนธรรมอย่างกว้างขว้างและแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มพี่น้องชาวชาติพันธุ์ เช่น:

ชาวส่วย (กูย) เซ่นไหว้เหล้าควบคู่กับอาหารคาวหวานในพิธี ‘อาวปรึงสโรว’ (บุญสู่ขวัญข้าว)

ชาวอาข่าใช้เหล้าในการ ‘เลี้ยงผาม’ หรือ เลี้ยงตอบแทนคนที่มาช่วยงานหลังเสร็จภารกิจ

ชาวลาหู่ต้อง ‘ยกเหล้า’ ให้ผู้ใหญ่ในงานแต่งเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ

นั่นเพราะเหล้าไม่ได้ถูกมองเป็นแค่สิ่งมึนเมา ของต้องห้าม หรือยาเสพติด แต่มีมิติของวัฒนธรรมประเพณีอยู่ในนั้นด้วย และเมื่อเรื่องเหล้าถูกผูกติดอยู่กับ ‘ความเชื่อ’ เหล้าจึงถูกมองในฐานะที่ต่างออกไป

 

เครื่องสื่อสารกับสิ่งเร้นลับ

 

‘เหล้าขาวเปรียบเสมือนน้ำบริสุทธิ์’ – ‘เหล้าขาวคือน้ำอมฤต’ จากความเชื่อนี้ผนวกกับความเชื่อเรื่องสิ่งเร้นลับ เหล้าขาวจึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเซ่นสังเวยต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งวิญญาณ ภูติผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา อีกทั้งสุรายังมีฤทธิ์ทำให้มึนเมาจนอยู่ในภาวะเหนือสามัญ และที่เป็นเชื่อกันว่า ขณะมึนเมา  สภาพจิตจะมีสภาวะลึกล้ำทางจิตวิญญาณ จนเกิดญาณที่สามารถติดต่อสื่อสารกับเทพเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้

ในฐานะผู้ส่งสาร เหล้าขาวจึงถูกใช้เพื่อการขอขมาลาโทษต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบนบานศาลกล่าว ไปจนถึงเพื่อให้การงานหรือพิธีกรรมนั้นๆ เสร็จสิ้นสมบูรณ์เป็นไปได้ด้วยดีเช่น ในพิธีการลำผีฟ้าของชาวชาติพันธุ์ลาว ซึ่งจะทำพิธีเพื่อการรักษาโรค หรือเมื่อเกิดเหตุเพทภัยขึ้นในชุมชน การทำพิธีกรรมจำเป็นต้องมีของคายคือ เครื่องบูชาครูสำหรับผีฟ้า ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ เหล้าขาว รวมถึงชาวกูย (ส่วย) ที่มักจะนำเหล้ามาไหว้เจ้าที่นาเจ้าที่ไร่เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรในปีนั้นได้ผลดีมากขึ้นด้วย

 

เครื่องหมายแห่งความเคารพและการตอบแทน

 

“มีคนเฒ่ามาแล้วเราไม่ยกให้ แปลว่าไม่เคารพ” นั่นเพราะสำหรับชาวลาหู่แล้ว เหล้าคือเครื่องหมายของการแสดงความเคารพนับถือ ในงานแต่งงานจึงต้องมีการ ‘ยกเหล้า’ ให้พ่อแม่ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

ไม่ใช่แค่ในงานแต่งงาน แต่เหล้าถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเฉลิมฉลองในทุกโอกาสของชนเผ่าลาหู่ เช่น ในงานตรุษจีนจะมีการเลี้ยงเหล้าในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะเดินไปดื่มเหล้าตามบ้านแต่ละหลังและเดินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเมา และหลายครั้ง เหล้าก็ทำหน้าที่เป็นผู้รับแขกในงานเลี้ยงฉลองต่าง ๆ อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ทำให้เหล้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นในทุกงานเฉลิมฉลอง และหากงานฉลองไหนไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะถูกติฉินนินทาจากคนในชนเผ่าได้

ในขณะที่งานแต่งงานของชาวอาข่า จะมีเด็กวัยหนุ่มสาวไปช่วยในงาน หลังเสร็จสิ้นงานแล้ว เจ้าของงานจะเลี้ยงเหล้าเด็กเหล่านี้เพื่อเป็นการตอบแทน เช่นนั้นแล้ว เหล้าจึงมักถูกรู้จักในนามของ ‘ความเคารพและการตอบแทน’

 

ยาวิเศษ

 

‘สุรา สุรา เป็นยาวิเศษ’ จะว่าเช่นนี้ก็ไม่ผิดนัก เมื่อความเชื่อเรื่องสุรารักษาโรคเป็นสิ่งที่เชื่อถือกันมาเนิ่นนาน เช่น การนำเหล้าขาว 40 ดีกรีหมักผสมกับสมุนไพรรากไม้ สกัดได้ตัวยา แล้วนำมากินเรียกว่า เหล้าดองยา ซึ่งเชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต หรือในกลุ่มคนที่ตั้งครรภ์ เหล้าดองยาจะช่วยขับน้ำคาวปลาและช่วยขับเลือดเสียออกจากร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการนำเหล้าขาวมาล้างแผลเวลาเกิดอุบัติเหตุ และในอดีต คนยังเชื่อว่าเหล้าช่วยป้องกันการเกิดโรคระบาดได้ดีในพื้นที่แถบชายแดน โดยเฉพาะโรคอหิวาตกโรค

 

สัญลักษณ์แห่งความเป็นผู้ใหญ่

 

สำหรับชาวลาหู่แล้ว ความชอบธรรมในการดื่มเหล้าจะเกิดขึ้น เมื่อคนผู้นั้นถูกมองว่า ‘เป็นผู้ใหญ่’ และเส้นแบ่งของความเป็นผู้ใหญ่นี้ก็แตกต่างกันระหว่างชาย-หญิง

การแบ่งความเป็นผู้ใหญ่ของผู้ชายคือ ความสามารถในการหาเงินมาเลี้ยงตัวเองและสามารถดูแลตัวเองได้ ในขณะที่เส้นแบ่งความเป็นผู้ใหญ่ของผู้หญิงคือ การดูแลตัวเองได้โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางเพศ ซึ่งหากผู้ชายหรือผู้หญิงในชนเผ่าสามารถหาเงินและดูแลตัวเองได้แล้วก็จะได้รับการยอมรับให้สามารถดื่มเหล้าได้โดยไม่ผิด ถึงกระนั้น การดื่มเหล้าในหมู่ผู้หญิงก็มักถูกมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่กลับเป็นเรื่องปกติในหมู่ผู้ชาย เช่นนั้นแล้ว ในแง่หนึ่ง เหล้าจึงเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกความเป็นใหญ่ในหมู่ชาวลาหู่ได้ รวมถึงบ่งบอกความแตกต่างทางเพศได้อีกด้วย

 

 

ตั้งแต่พิธีกรรมแห่งการเกิดจนถึงพิธีกรรมแห่งความตายหรือแม้แต่ในวิถีแห่งการดำเนินชีวิต เหล้าถูกจัดวางอยู่ในฐานะที่ไม่ใช่แค่สิ่งเสพติด แต่คือน้ำแห่งความศักดิ์สิทธิ์ เครื่องหมายแห่งความกตัญญู หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการเติบโต ด้วยความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปเช่นนี้ เหล้าจึงไม่อาจถูกแยกออกจากวิถีของพี่น้องชาวชาติพันธุ์ได้เลย

และด้วยความเชื่อมโยงด้านความเชื่อ วิถีชีวิตและเหล้านี้ ทำให้ ‘ภาวะติดเหล้า’ ในหมู่พี่น้องชาวชาติพันธุ์กลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและถูกมองข้ามมาเนิ่นนาน ด้วยปัจจัยความห่างไกลทั้งในแง่พื้นที่ นโยบายและการเข้าถึงการบำบัด การทำความเข้าใจบริบทของเหล้า ที่เป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่มมึนเมา จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยผู้ออกนโยบายสามารถออกแบบนโยบายและระบบบำบัดที่เข้าถึง ตรงจุด เพื่อจะบรรเทาภาวะติดเหล้าในหมู่พี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้

 


 

ที่มา: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles