ยีนคนติดสุรา? เมื่อยีนในร่างกายของเราอาจทำให้ดื่มหนัก

July 30, 2020


ในช่วงวัยเด็ก ใครหลายคนอาจจะเคยเรียนการทดลองของเมนเดลที่นำต้นถั่วลันเตามาผสมพันธุ์เพื่อดูการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม

ทบทวนความจำกันอย่างคร่าวๆ — ใน Ted ED โดยออร์เทนเซีย ฮิเนส ดิแอช (Hortensia Jiménez Díaz) อธิบายว่า เมนเดลผสมพันธุ์ถั่วเมล็ดสีเหลืองพันธุ์แท้กับถั่วเมล็ดสีเขียวพันธุ์แท้ ได้ออกมาแป็นถั่วเมล็ดสีเหลือง เขาเรียกลักษณะสีเหลืองว่า ‘ลักษณะเด่น’ เพราะปรากฏในเมล็ดถั่วรุ่นลูกทั้งหมด

จากนั้นเขาให้ต้นถั่วรุ่นลูกที่มีเมล็ดสีเหลืองผสมพันธุ์กันเอง ได้ถั่วรุ่นต่อมามีทั้งถั่วเมล็ดสีเหลืองและเขียว นั่นหมายความว่า สีเขียวเป็นลักษณะที่ถูกข่มไว้ด้วยสีเหลือง เมนเดลเรียกลักษณะที่ซ่อนไว้ว่า ‘ลักษณะด้อย’

‘ลักษณะแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับคู่ปัจจัย ปัจจัยหนึ่งถ่ายทอดมาจากแม่ ส่วนอีกปัจจัยถ่ายทอดมาจากพ่อ’

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ใช้ความรู้จากการทดลองของเมนเดลและถั่วของเขามาเป็นจุดตั้งต้นของการศึกษาด้านพันธุศาสตร์และพันธุกรรม แต่แน่นอนว่ามันจะซับซ้อนกว่าเดิมมากถ้าจะว่าด้วยเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของมนุษย์

หากเราจะพูดถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ง่ายที่สุด ให้ทุกคนลองนึกถึงลักษณะบนร่างกายของเราเอง เช่น ลักยิ้มที่ปรากฏอยู่บนใบหน้า ลักษณะดังกล่าวมีที่มาจากยีนเด่น หรือลองจับผมของตนเองว่าเหยียดตรงหรือไม่ ถ้ามี เรียกว่ายีนด้อย เป็นต้น นี่เป็นตัวอย่างยีนที่เห็นได้จากภายนอก

อย่างไรก็ตาม ยังมียีนบางส่วนในร่างกายเรามองไม่เห็นด้วยตา แต่เป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ตามที่เราเรียกว่าโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ และหนึ่งในนั้น คือยีนที่ทำให้เราสามารถดื่มหนัก ติดสุรา จนป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง!

 

เพราะยีน เราจึงติดสุรา?

 

เว็บไซต์ american addiction ให้ข้อมูลว่า พันธุกรรมเป็นสาเหตุพื้นฐานสำหรับความผิดปกติของการดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว

‘มีวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าพันธุกรรมสนับสนุนความผิดปกติในการใช้แอลกอฮอล์’

แต่ในเมื่อยีนแต่ละตัวจะแสดงบทบาทเล็กๆ แฝงอยู่ภายในร่างกายที่เป็นภาพใหญ่ การระบุว่ายีนตัวไหนส่งผลต่ออาการติดสุราจึงเป็นเรื่องยากของนักวิทยาศาสตร์หรือแพทย์เฉพาะทาง เพราะสาเหตุของโรคหรือพฤติกรรมอาจไม่ได้เกิดจากยีนตัวเดียว หากเกิดจากการรวมตัวของยีนบางชนิดก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการศึกษาเกี่ยวกับยีนดังกล่าวมากมาย  มหาวิทยาลัยแพทย์ของเพนซิลเวเนียได้ทำการศึกษายีนที่เกี่ยวข้องกับการดื่มหนักและโรคพิษสุราเรื้อรัง โดยการทำจีโนมิกส์ขนาดใหญ่เกือบ 275,000 คน

(จีโนมิกส์ คือ ศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าหากลุ่มยีน หรือพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิต เพื่อหารูปแบบการจัดเรียงตัวหรือจัดกลุ่มของดีเอ็นเอ การทำงานของยีน ความสัมพันธ์ระหว่างยีน และความสัมพันธ์ของยีนกับสิ่งแวดล้อม)

ผลการศึกษาพบว่ามียีนกว่า 18 ชนิด ที่มีนัยสำคัญเกี่ยวข้องกับการดื่มสุราอย่างหนัก หรือ ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือ ทั้งสองอย่าง ซึ่ง ‘การศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นการทำงานอย่างเป็นอิสระทางพันธุกรรมที่สำคัญของทั้งสองลักษณะอย่างชัดเจนในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน’ ศาสตราจารย์เฮนรี่ (Henry R. Kranzler) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าว

ความเป็นอิสระนี้ จะช่วยทำให้เราสามารถระบุยีนที่สำคัญต่อการเกิดโรคติดสุราได้ง่ายขึ้น และเห็นรูปแบบยีนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงชัดเจน ตัวอย่างเช่น การมียีน DRD2 หรือ SIX3 จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดสุราเพิ่มขึ้น เป็นต้น

เฮนรี่กล่าวต่อว่า ‘การมุ่งเน้นไปยังยีนที่เชื่อมโยงกับการติดสุรา อาจช่วยระบุคนที่มีความเสี่ยงและค้นหาเป้าหมายสำหรับการพัฒนายา เพื่อรักษา และช่วยหยุดยั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้บริโภคได้’

ทั้งนี้ บทความการปรับพฤติกรรมการดื่มสุราในชุมชน จากวารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า ยังสนับสนุนข้อมูลเรื่องพันธุกรรม ด้วยผลการศึกษาที่พบว่า ยีนที่มักเป็นสาเหตุของอาการติดสุรา คือ ยีนที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ซึ่งมีหน้าที่ทำลายแอลกอฮอล์ เช่น เอนไซม์ alcoholdehydrogenase (ADH) และเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase (ALDH)

นอกจากนี้ จากการที่สุราส่งผลต่อสารสื่อประสาท จนทำให้เกิดการทำงานของระบบประสาทเปลี่ยนแปลง ทำให้คาดกันว่า ยีนที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทบางตัวอาจเกี่ยวข้องกับการติดสุราและสารเสพติดชนิดอื่นด้วย เช่น ยีนที่เกี่ยวข้องกับกรดแกมมาอะมิโน บิวทีริก (gamma-aminobutyric acid หรือ GABA) โดปามีน (dopamine)และอะเซติลโคลีน (acetylcholine) เป็นต้น

 

ดื่มหนักยีนเปลี่ยน: สำรวจชนวนความจะติดสุราทางพันธุกรรม

 

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers university) ในสหรัฐฯ ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Alcoholism: Clinical & Experimental Research บ่งชี้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินขนาดอาจทำให้ดีเอ็นเอเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

เมื่อดื่มหนัก ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะสร้างความเสียหายแก่หน่วยพันธุกรรม โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างยีนของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางกับผู้ที่ดื่มมากเกินขนาด พบว่า ผู้ที่ดื่มมากเกินขนาดมีการเปลี่ยนแปลงของยีนที่เรียกว่า กระบวนการเมทิลเลชัน (methylation) ทำให้ยีนปิดการทำงานลง สร้างความเสียหายต่อยีนบางตัว ทำให้คนมีแนวโน้มอยากดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเมื่อรู้สึกเครียด จนกลายเป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพ เพราะยิ่งดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ยีนเกิดความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น และทำให้เราดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

 

ยีนไม่ใช่ผู้ร้ายเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งแวดล้อมสมคบคิดด้วย

 

‘เมื่อผู้คนดื่มมากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เป็นไปได้ว่าการดื่มนี้จะทำให้สมองเสพติด แม้ว่าจะไม่มีองค์ประกอบทางพันธุกรรม แต่สามารถสืบทอดความหลงใหลในการใช้แอลกอฮอล์ เนื่องจากวัฒนธรรมที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา’

ข้อมูลจาก addiction center หัวข้อ “สิ่งแวดล้อมปะทะยีน” ระบุเพิ่มเติมว่า พันธุกรรมคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของสมการการติดแอลกอฮอล์ เพราะยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย เช่น งาน ความเครียด ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น บางคนอ่อนไหวต่อความเครียด ทำให้ยากต่อการรับมือกับความสัมพันธ์ที่ไม่แข็งแรงหรืองานที่รวดเร็ว บางคนประสบเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้หันไปพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อรักษาตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงก็อาจต้องระวัง ‘ตัวเร่งปฏิกิริยา’ ที่จะนำไปสู่การติดแอลกอฮอล์ โดยปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ พฤติกรรมก้าวร้าวในวัยเด็ก ขาดการดูแลของผู้ปกครอง การขาดทักษะทางสังคม ความยากจน การเข้าถึงหรือได้ทดลองแอลกอฮอล์และสารเสพติดก่อนวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ การถูกล่วงละเมิดทางร่างกายและจิตใจ

อนึ่ง ความเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มโอกาสในการพัฒนาโรคพิษสุราเรื้อรังมากถึง 20 -50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

 

มองจากลูก/หลาน: หากเสี่ยงติดสุราแล้วต้องหาทางออกที่ป้ายไหน?

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการดื่มหนักและโรคพิษสุราเรื้อรังเชื่อมโยงกับยีนบางชนิด และการมีญาติสนิท เช่น พ่อแม่ หรือ พี่ น้อง ที่เคยเป็นโรคดังกล่าวนี้ก็มีโอกาสจะถ่ายทอดพันธุกรรมไปยังลูกหลาน ทำให้เด็กๆ อาจได้รับสืบทอดพันธุกรรมยีนติดสุราสูง

แม้จะไม่มีใครสามารถควบคุมพันธุกรรมได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลาขาดจากชะตากรรมนั้นไม่ได้ เขาหรือเธอสามารถรับมือได้ด้วยวิธีการควบคุมความบกพร่องทางพันธุกรรมจากการติดสุรา เช่น การทราบถึงประวัติครอบครัวของตนเองว่ามีการใช้สารเสพติดหรือติดสุราหรือไม่ การดูแลรักษาสุขภาพอย่างเป็นนิจ การรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้เข้มแข็งและพยายามหาคำตอบด้านความสัมพันธ์เมื่อเกิดมีปัญหา การจัดการความเครียด และทำความเข้าใจกับอาการการติดสุราหรือยาเสพติดภายในครอบครัวโดยหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะมีความเสี่ยงเป็นโรคติดสุรา ถึงจะไม่มีประวัติหรือพันธุกรรมที่เสี่ยง ก็สามารถเข้ามาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอความช่วยเหลือและป้องกันการติดสุราที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

 


 

อ้างอิง

 

Genetics of Alcoholism

Study reveals genes associated with heavy drinking and alcoholism 

Genetics and Addiction: Is Alcoholism Hereditary or Genetic? 

วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 มีนาคม – สิงหาคม 2559

ดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาดทำดีเอ็นเอเปลี่ยน – กระตุ้นให้อยากดื่มเพิ่มขึ้น

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles