‘กลาสโกว์’ เป็นเมืองแบบไหนในความทรงจำของคุณ?
หากลองค้นหาชื่อ ‘กลาสโกว์’ เป็นภาษาไทย ข้อมูลที่ไหลทะลักออกมาล้วนแล้วแต่เป็นบทความเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แหล่งรวมสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น รวมไปถึงมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมืองใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์แห่งนี้กลับเป็นที่รู้จักจากทั่วโลกในฐานะเมืองที่มี ‘อัตราคนตายก่อนวัยอันควร’ มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับคนพื้นที่อื่นในสหราชอาณาจักร
งานวิจัยโดย The Glasgow Centre for Population Health พบว่า ระหว่างปี ค.ศ. 2003 -2007 มีชาวกลาสวีเจี้ยน (Glaswegian) 4,500 คนเสียชีวิตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจากการศึกษาของเดวิด วอลช์ (David Walsh) เรื่อง “It’s Not ‘Just Deprivation’: Why Do Equally Deprived UK Cities Experience Different Health Outcomes?” ในปีค.ศ. 2010 พบว่า คนในเมืองกลาสโกว์มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 65 ปี (อายุขัยปกติ) คิดเป็น 30% เมื่อเปรียบเทียบกับคนในเมืองลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตหลักของพวกเขาเกิดจาก 4 ตัวการสำคัญ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง และยังรวมไปถึงความตายที่เกิดจากความสิ้นหวัง อาทิ การใช้ยาเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด และการฆ่าตัวตาย
ทำไมเมืองที่ดูเป็นปกติจึงมีเรื่องผิดปกติเกิดขึ้นเช่นนี้ ชวนไขคำตอบพร้อมกันนับจากบรรทัดด้านล่างนี้
ในวันที่กลาสโกว์ (ยัง) เปล่งประกาย
ย้อนกลับไปก่อนที่กลาวโกว์จะกลายเป็นเมืองที่มีอัตราผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากที่สุด เมืองที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำไคลด์แห่งนี้ถือเป็นเมืองใหญ่ในสหราชอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองและล้ำหน้ามากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ในศตวรรษที่ 16 กลาสโกว์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก เด่นในเรื่องจุดยุทธศาสตร์เพราะสามารถติดต่อค้าขายกับประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นพื้นที่การค้าซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างพื้นที่บน (Highland) และพื้นที่ราบ (Lowland) และยังไม่ไกลจากเอดินเบอระ (Edinburgh) เมืองหลวงของสกอตแลนด์ ยิ่งเมื่อมีการรวมกันเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ในปีค.ศ. 1603 ความเจริญของกลาสโกว์ก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้น
ในศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน อุตสาหกรรมเคมี การต่อเรือ และยานยนต์ได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่แห่งนี้ ในปีค.ศ.1870 ถึงกับมีการกล่าวกันว่า 1 ใน 4 ของหัวรถจักรถูกผลิตขึ้นที่กลาสโกว์ ความเจริญชักนำให้แรงงานหลั่งไหลเข้ามาในเมืองโดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จนในที่สุดกลาสโกว์กลายเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรเกินหนึ่งล้านคน นับเป็นเมืองที่สามของยุโรป ต่อจากลอนดอน และปารีส ประเทศฝรั่งเศส
แต่ความรุ่งโรจน์ก็ไม่อาจคงอยู่ตลอดไป ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ในช่วงปีค.ศ. 1960 กลาสโกว์เผชิญเศรษฐกิจตกต่ำ มีการถอนอุตสาหกรรมออกจากเมือง ส่วนหนึ่งก็เพราะมีคู่แข่งอย่างประเทศเยอรมนีและประเทศญี่ปุ่นที่ก้าวเข้าสู่สนามอุตสาหกรรรม ทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก และประชากรจำนวนมากที่เคยไหลหลั่งเข้ามาในช่วงแรก ก็เริ่มขยายตัวออกไปยังเมืองรอบนอกอย่าง East Kilbride และ Cumbernauld เพื่อช่วยลดความแออัดของเมืองชั้นใน ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามานี้เอง ทำให้อายุไขของคนในกลาสโกว์เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
สาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร
จากบทความเรื่อง No city for old man ของ The Economist ให้ข้อมูลว่า ช่วงเวลาระหว่างปีค.ศ. 1950 และปีค.ศ. 1980 เป็นเส้นเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เมืองกลาสโกว์มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจสูงกว่าเมืองอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรอยู่แล้ว และเมื่อเริ่มปีค.ศ. 1980 ตัวเลขของผู้เสียชีวิตก็ยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากตัวเลขการตายจากโรคร้ายอย่างมะเร็ง และหัวใจวายที่สูงอยู่แล้ว การฆ่าตัวตาย ความรุนแรง การใช้ยาเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุทางรถยนต์ยังเป็นสาเหตุในการพรากชีวิตคนในเมืองก่อนวัยอันควรอีกด้วย
เดวิด วอลช์ (David Walsh) ผู้จัดการโครงการสาธารณสุขที่ The Glasgow Centre for Population Health อธิบายว่า แม้ความจนจะดูเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แต่จากข้อมูลพบว่า ลำพังสถานะทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้เป็นสาเหตุที่ชัดเจนมากนัก เมื่อมีรายงานว่าผู้ที่มีฐานะดีในเมืองกลาสโกว์ก็มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงกว่าคนที่อยู่ในย่านลักษณะเดียวกันในเมืองใหญ่อื่นๆ ถึง 15%
ในปี 2016 เดวิด วอลช์ และทีมงาน จึงเริ่มศึกษาต้นตอของปัญหา ตั้งแต่การขาดแคลนวิตามินดี ไปจนถึงเรื่องโรคอ้วน แต่ก็ไม่อาจหาข้อสรุปได้ บางสมมติฐานคาดว่าเกิดจากการที่เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย อากาศของเมืองที่อึมครึม พื้นดินปนเปื้อนจากสารเคมี หรือการแบ่งแยกทางศาสนา ฯลฯ
อย่างไรก็ดี หนึ่งในแนวคิดที่ถูกพูดถึง คือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเกิดจาก ‘พฤติกรรมไม่ดี’ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อความเป็นเมืองเข้ามาอย่างรวดเร็ว ความแออัดของเมือง ทำให้ที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่ไม่ถูกต้องตามสุขลักษณะ และส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัย
“ผมอาศัยในห้องพักที่มีห้องครัว ส่วนห้องน้ำถูกแชร์กันสามครอบครัว คิดว่ามีประมาณ 11 คนใช้ห้องน้ำห้องเดียวกัน”
บิล พิทชาด (Bill Pritchard) ผู้ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์อธิบายถึงความแออัดของตึกที่มีคนหลักพันอาศัยอยู่ด้วยกัน เมื่อสภาพห้องพักไม่เหมาะกับการพักผ่อน พื้นที่สำหรับนั่งเอนกายยังแทบไม่มี ทำให้ผู้ชายมักออกจากบ้านไปเที่ยวผับ และแน่นอน มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไหลลงไปในขวดเหล้าเบียร์ บางครั้งอาจหนักถึงขั้นนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว และเมื่อเด็กคนหนึ่งต้องเกิดมาท่ามกลางครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงทางเพศ มีการทำร้ายร่างกาย และการปล่อยปละละเลยไม่เลี้ยงดู รวมถึงเห็นพ่อแม่ติดยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ส่งผลให้เกิดบาดแผลในจิตใจ และทำให้พวกเขามักจะมีปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาความเป็นอยู่ในช่วงท้ายของชีวิต ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังรุ่นถัดไป
อีกด้านหนึ่ง มีคนมองว่า การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นผลกระทบจากการถอนอุตสาหกรรมจากพื้นที่จนทำให้เกิดการตกงาน เพราะแรงงานที่เคยทำงานหนักถึง 44 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ในอุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมเหล็ก ฯลฯ เมื่อไม่มีงานทำก็นำไปสู่ความเครียดจนหันไปพึ่งแอลกอฮอล์และยาเสพติด ช่วงปีค.ศ. 1980 เป็นต้นไป มีผู้เสียชีวิตที่เป็นผลมาจากการใช้แอลกอฮอล์สูงถึง 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับเมืองอื่นในสหราชอาณาจักร ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่คือโรคตับ กอปรกับนโยบายการย้ายเมืองใหม่ โดยจากรายงานเรื่อง History, politics and vulnerability: explaining excess mortality พบว่า มีการดึงคนที่เป็นหัวกะทิและแรงงานมีฝีมือที่ยังหนุ่มสาวไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ และทิ้งแรงงานที่ตกงาน จน และอายุมากไว้ยังพื้นที่ชั้นในของเมือง จนทำให้เกิดความไม่สมดุลของประชากรขึ้น
ออกแบบเมืองใหม่เพื่อลดการจากไป
แม้จะยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริง แต่หลายคนคาดการณ์ว่า การออกแบบเมืองส่งผลต่อสุขภาพจิตและอายุขัยของคนในเมือง พวกเขาจึงพยายามออกแบบเมืองที่จะช่วยให้สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น
“สิ่งที่พวกเรากำลังพยายามทำคือ ทำให้ผู้คนปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และเป็นมนุษย์มากขึ้น” คริสโตเฟอร์ มาร์ติน (Christopher Martin) นักวางผังเมือง ให้สัมภาษณ์ในบทความของ The Guardian เรื่อง The ‘Glasgow effect’ implies cities make us sad. Can the city prove the opposite? ถึงถนน Sauchiehall ซึ่งเป็นพื้นที่แรกในการพัฒนาถนนให้คนเดินเท้าและคนใช้จักรยานได้ใช้เส้นทางร่วมกัน มีม้านั่งและต้นไม้ให้คนได้พักผ่อนหย่อนใจ แทนที่จะเป็นถนนกว้างสี่เลนอันเป็นรูปแบบมาตรฐานของถนนเมืองสกอตแลนด์ที่มีรถคันใหญ่ขับอย่างรวดเร็ว ทว่าโดดเดี่ยว
ความพยายามแก้ไขอีกด้านคือการพัฒนาพื้นที่สีเขียว โดยในปี 2012 เอมิลี่ คัตส์ (Emily Cutts) พบว่า ทุ่งหญ้าใกล้บ้านกำลังจะถูกแปรสภาพไปเป็นแฟลตหรูหรา เธอจึงทำแคมเปญรณรงค์เพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวขึ้น จนเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2016 รัฐบาลสกอตแลนด์ตัดสินให้รักษาและคงสภาพเดิมของทุ่งหญ้าแห่งนี้ไว้ ต่อมา พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่รู้จักในนามป่าของเด็กๆ (children’s wood) และยังมีเป้าหมายในการสร้างให้ทุ่งหญ้านี้เป็นตัวเชื่อมต่อให้เด็กและชุมชนมีความสุขมากยิ่งขึ้น ขณะที่ในปี 2019 พื้นที่ทุ่งหญ้าแห่งนี้ถูกใช้ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ธรรมชาติของเด็กๆ มากกว่า 20 โรงเรียนและเนอสเซอรี่ใกล้เคียง โดยเด็กๆ จะได้ใช้เวลาไปกับการ “แกว่งเปลญวน สนุกกับการปีนป่าย และขุดดินเล่น” มากกว่าจะต้องไปอุดอู้อยู่ในห้องเรียน โดยเอมิลี่ได้ทำงานกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัยกลาสโกว์เพื่อทดสอบว่า ระหว่างเด็กที่ใช้เวลากลางวันกับทุ่งหญ้าและเด็กอีกกลุ่มเล่นในห้องเรียน เด็กในกลุ่มไหนจะมีสมาธิจดจ่อมากกว่ากัน ผลการทดลองพบว่า เด็กที่เล่นในธรรมชาติจะมีสมาธิในการจดจ่อดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เรียนรู้วิชาคำนวณได้ดีขึ้นและมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าเด็กที่เรียนรู้ผ่านกรอบกำแพงคอนกรีต และนอกจากพื้นที่ดังกล่าวจะเปิดเป็นพื้นที่เล่นสนุกของเด็กๆ แล้ว ทุ่งหญ้าแห่งนี้ยังจัดกิจกรรมเพื่อชักชวนเยาวชนให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันผ่านการทำสวน อีกทั้ง เด็กส่วนใหญ่ที่มาเติบโตจากครอบครัวที่ขาดแคลน จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงธรรมชาติในพื้นที่ใจกลางที่ต้อนรับคนทุกกลุ่มด้วย
ปัจจุบันของกลาสโกว์
จากข้อมูลของ National Records of Scotland (NRS) อายุขัยของคนสกอตแลนด์เมื่อแรกเกิดยังคงน้อยกว่าทุกประเทศในยุโรปตะวันตก โดยเด็กผู้ชายที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 2015-2017 คาดว่าจะมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 77 ปี ขณะที่เด็กผู้หญิงที่เกิดในช่วงเดียวกันมีอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 81.1 ปี
ขณะที่ในปีค.ศ. 2018 พฤติกรรมของชาวสกอตแลนด์ก็ยังคงพึ่งแอลกอฮอล์อยู่ โดยมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ 19 ยูนิตต่ออาทิตย์ ซึ่งเทียบเท่ากับการดื่มวอดก้า 40 ขวดหรือไวน์ประมาณ 100 ขวดต่อปี หมายความว่าผู้ใหญ่ในสกอตแลนด์ดื่มมากกว่าคนในสหราชอาณาจักรที่ได้รับคำแนะนำให้ดื่มเพียง 14 ยูนิตต่ออาทิตย์ คิดเป็น 37%
แน่นอนว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องอายุขัยของชาวเมืองกลาสโกว์คงไม่อาจแก้ได้ทันทีทันใด แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนเพื่อหาสาเหตุ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างเมืองที่ดีสำหรับคนรุ่นถัดไป
นอกจากนี้ ตอนนี้กลาสโกว์ยังเผชิญปัญหาโควิด-19 ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นในโลก โดยจากข้อมูลของ NHS Greater Glasgow and Clyde ที่ครอบคลุมเมืองกลาสโกว์ และเมืองทางตะวันตกของสกอตแลนด์ ซึ่งถือเป็นเขตความดูแลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตสะสม 1,232 คน ซึ่งถือเป็นเขตที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในสกอตแลนด์
แล้วโรคระบาดจะส่งผลต่ออายุขัยของคนในเมืองกลาสโกว์ หรือจะทำให้คนในเมืองซึมและเศร้าลงไปอีกหรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm