เหล้ากับเรา : เพราะการดื่ม ‘เหล้า’ ส่งผลกับ ‘เรา’ มากกว่าที่คิด

January 23, 2020


:: Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านรวมบทความสั้น ‘เหล้ากับเรา’ ชุดแรก – ว่าด้วยการบริโภคแอลกอฮอล์ การบริโภคแอลกอฮอล์เยอะเกินไป และการเกิดภาวะ alcohol overdose ::

 

-1-

เพราะ ‘การดื่ม’ ส่งผลมากกว่าที่คิด

 

ในช่วงสัปดาห์หยุดยาวในโอกาสต้อนรับปี 2563 หลายคนคงกลับไปพักผ่อนเพื่อชาร์ตแบต เติมพลัง และส่งท้ายปีเก่าร่วมกับคนในครอบครัว หนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนนิยมทำก็คงหนีไม่พ้นการดื่มฉลองให้กับปีที่ผ่านมาด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แน่นอนว่า ในงานเลี้ยงที่ครื้นเครงเช่นนี้ ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ มักถูกมองเป็นพระเอกของงาน ที่คอยบริการเติมความสุขและสร้างสีสัน รวมทั้งเติมจังหวะและความครื้นเครงให้ผู้คนทั้งงาน แต่นอกจากจะเล่นบทพระเอกแล้ว แอลกอฮอล์ยังสามารถกลายเป็นตัวรา้ย ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายตามมาหลังจบงานรื่นเริงด้วย

หากเปิดรายงานสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560-2563 พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขาดวินัยจราจร เป็นเหตุผลหลักที่นำไปสู่ความสูญเสีย โดยในปี 2560 รายงานจากสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุระบุว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรม ‘ดื่มแล้วขับ’ โดยมีการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 3,919 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บสูงถึง 4,128 ราย เสียชีวิต 478 คน

ขณะที่ในปี 2561 ยอดรวมอุบัติเหตุยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 4,005 ครั้ง แต่ยอดผู้บาดเจ็บลดลงเหลือ 3,841 ราย และมีผู้เสียชีวิต 423 คน ก่อนสถิติอุบัติเหตุจะลดลงในปี 2562 โดยยอดอุบัติเหตุสะสมอยู่ที่ 3,791 ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3,892 ราย และผู้เสียชีวิต 373 คน

สำหรับสถิติล่าสุดประจำปี 2563 พบว่า ยอดคดีคงค้างตลอดช่วงเวลา 7 วันอันตราย มีจำนวนคดี ‘เมาแล้วขับ’ ทั้งสิ้น 3,103 คดี จากทั้งหมด 3,311 คดี คิดเป็นค่าเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 93.72 จากคดีทั้งหมด

พฤติกรรมเมาแล้วขับ และการลดหย่อนวินัยการขับขี่ล้วนมีผลกระทบมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งสิ้น เพราะการบริโภคแอลกอฮอล์ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมตนเอง โดยเฉพาะในด้านของการตัดสินใจ ดังนั้น จึงอาจจะถึงเวลาที่เราจะต้องมา ‘ทำความรู้จัก’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ การบริโภคแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นของคนในสังคม เพื่อป้องกันและระมัดระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

การบริโภคแอลกอฮอล์คืออะไร?

 

การบริโภคแอลกอฮอล์คือ ‘การดื่มเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยแอลกอฮอล์’ โดยการบริโภึแอลกอฮอล์เกิดจากเหตุผลหลายประการ ที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ คือ การเฉลิมฉลองและงานเลี้ยงสังสรรค์ และดื่มเพื่อเข้าสังคม นอกจากนี้ คนยังมักใช้แอลกอฮอล์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตประจำวันด้วย

ฟังดูเหมือนการบริโภคแอลกอฮอล์จะมีแต่ข้อดีรองรับ แต่อีกด้านหนึ่ง การบริโภคแอลกอฮอล์ก็สร้างปัญหาให้กับสังคมไม่น้อย และอาจจะสร้างปัญหามากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะในกรณีที่ดื่มมากเกินไป (alcohol overdose) เช่น การเปลี่ยนผ่านจากการ ‘จิบ’ เป็นการ ‘ซด’ เบียร์เป็นประจำ ซึ่งหากทำซ้ำๆ ก็อาจจะเปลี่ยนสถานะจากการดื่มเป็นอาการ ‘ติดแอลกอฮอล์’ (alcohol dependence) ในที่สุด

คำถามคือ เราสามารถแยกได้ไหม ว่าแค่ไหนคือการบริโภคแอลกอฮอล์ และ แค่ไหนคือการติดแอลกอฮอล์ 

 

ปัจจัยที่ว่านั้นขึ้นอยู่กับคำถามที่ว่า

  • คุณดื่มมากและบ่อยแค่ไหน?

  • คุณอายุเท่าไหร่ตอนเริ่มดื่ม?

  • ตอนที่คุณดื่ม สุขภาพเป็นอย่างไร?

  • มีสมาชิกคนใดในครอบครัวที่มีประวัติการดื่มสุราหรือไม่?

 

นี่เป็นเพียงคำถามคร่าวๆ ที่จะช่วยทำให้เห็นปัจจัยของอาการ ‘ติด’ สุรา ที่มาจากพฤติกรรมการดื่มของแต่ละคนได้

 

ดื่มผิดชีวิตเปลี่ยน 

 

การดื่มสุรามากเกินไปส่งผลให้แอลกอฮอล์เข้าไปยังกระแสเลือด (bloodstream) และจะเข้าไปเปลี่ยนระดับความเข้มข้นในเลือด หรือที่เรียกกันว่า blood alcohol concentration (BAC) ยิ่ง BAC ในร่างกายมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินมากเท่านั้น

เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับรายงานสถิติอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายของสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ที่ระบุว่า เมื่อปริมาณ BAC เพ่ิ่มมากขึ้น จะก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่างกับร่างกาย ตั้งแต่ขาดการยับยั้งชั่งใจ พูดจาไม่รู้เรื่อง มีปัญหาด้านการประคองสติ ไปจนถึงมีปัญหาด้านการหายใจ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

อาการดังกล่าวเกี่ยวพันโดยตรงกับการเมาแล้วขับ เพราะยิ่งความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดมากขึ้น ความสามารถในการตัดสินใจจะลดลง ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายในการขับขี่ยานพาหนะ และการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง หรือกลายเป็นผู้ติดแอลกอฮอล์ ก็อาจเกิดโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็ง เป็นต้น

สำหรับผู้ที่ดื่มสุรามาเป็นระยะเวลานาน (long-term alcohol use disorder) จะพบภาวะการทรงตัวผิดปกติ สูญเสียความทรงจำ และความจำเสื่อม (wernicke korsakoff syndrome) ซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินกลุ่ม B1 เป็นเวลานาน เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มากๆ จะทำให้สมองได้รับความเสียหาย สอดคล้องกับรายงานทางการแพทย์ที่พบว่า ศพของผู้เสียชีวิตจากพิษสุราเรื้อรังมักจะปรากฎร่องรอยของกลุ่มอาการดังกล่าวด้วย

 

 

-2-

เพราะ ‘มากไป’ ก็อันตรายถึงชีวิต

 

เมื่อพูดถึงผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ดื่มหลายคนอาจชะล่าใจ และมองว่า ดื่มแค่ชั่วครั้งคราวเอง ไม่น่าจะเป็นอะไรหรอก (มั้ง) แต่รู้ไหมว่า แม้จะเป็นนักดื่มชั่วคราว ก็มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจนเกิดภาวะ alcohol overdose

Alcohol Overdose (การดื่มเกินขนาด) คือ อาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีแอลกอฮอล์อยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป จนส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมฟังก์ชั่นการดำเนินชีวิต เช่น การหายใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ การควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่การที่ระบบต่างๆ ของร่างกายชัตดาวน์ตัวเองในท้ายที่สุด

เมื่อผู้ดื่มดื่มเกินขนาด อาการต่างๆ จะเริ่มแสดงออกมาทางร่างกาย เช่น เริ่มประคองสติไม่ได้ อาเจียน มีปัญหาด้านการหายใจ ซึมและมีปฏิกริยาตอบสนองช้าลง เป็นต้น จากนั้น อุณหภูมิในร่างกายจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ภาวะสมองตายหรือเสียชีวิตได้

คนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะ alcohol overdose คือ คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากและเร็ว จากการศึกษาพบว่า ในการดื่มแอลกอฮอล์แต่ละครั้งจะทำให้ปริมาณของ BAC ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นถึง 0.8 % หรือมากกว่านั้น 

 

ระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด (BAC) แบ่งออกได้ 4 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ 1 ไม่เป็นอันตราย (0.0-0.7%): ยังสามารถสื่อสารและควบคุมตนเองได้ปกติ ความทรงจำครบถ้วน ซึ่งในระดับนี้ แอลกอฮอล์ในเลือดจะทำให้ผู้ดื่มผ่อนคลายและเริ่มง่วง

ระดับที่ 2 เริ่มสูญเสียการควบคุมตนเอง (0.06-0.15%): ในช่วงต้น แอลกอฮอล์จะช่วยให้ผู้ดื่มผ่อนคลายก่อน จนกระทั่งเริ่มเข้าสู่อาการมึนเมา จึงจะเริ่มมีความเสี่ยงในการแสดงพฤติกรรมรุนแรง เริ่มสื่อสารไม่รู้เรื่อง ความระมัดระวังลดน้อยลง และมีทักษะในการขับขี่ที่ต่ำลงด้วย

ระดับที่ 3 ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ (0.16-0.30%): ในระดับนี้ ผู้ดื่มจะไม่สามารถสื่อสารหรือระมัดระวังตัวได้ ทักษะที่เกี่ยวข้องกับพาหนะจะลดต่ำลงจนมีแนวโน้มเป็นอันตราย ไม่สามารถตัดสินใจได้ รวมถึงมีอาการหลงลืม อาเจียน ไปจนถึงการหมดสติ และอาจจะเริ่มมีอาการทั่วไปของภาวะ alcohol overdose

ระดับที่ 4 อันตรายต่อชีวิต (0.31 – 0.45%): ผู้ดื่มจะหมดสติ เกิดภาวะ alcohol overdose และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

นอกจากนี้ กลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ดื่มแอลกอฮอล์มักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเฉพาะ เนื่องจากพวกเขามักดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก จนอาจเสียความสามารถในการย่อยสลายแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด

เพราะฉะนั้น หากคุณคิดจะดื่ม สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอคือ อย่าดื่มมากเกินไป และให้มีสติอยู่เสมอเวลาดื่ม โดยอาจจะยึดแนวทางการดื่มด้านล่างนี้เป็นเกณฑ์

 

มาตรฐานการดื่มที่เสี่ยงต่ำ

  • เบียร์ 12 ออนซ์  (ปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหน่วย 5%)

  • เหล้ามอลต์ 8-9 ออนซ์ (ปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหน่วย 7%)

  • ไวน์ 5 ออนซ์ (ปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหน่วย 12%)

  • สุรากลั่น จำพวก จิน เหล้ารัม เตกีล่า ว้อดก้า วิสกี้ 1.5 ออนซ์ (ปริมาณแอลกอฮอล์ต่อหน่วย 40%)  

 

แม้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นพระเอกชั้นดีในการสังสรรค์ ช่วยปรุงรสบทสนทนาและสร้างบรรยากาศครึกครื้นในงาน แต่แอลกอฮอล์ก็สามารถกลายเป็นผู้ร้ายที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าคุณอยากดื่ม ต้องดื่มอย่างระมัดระวัง มีสติอยู่เสมอ ถ้าดื่มอย่าขับเด็ดขาด และอาจมีคนที่ไม่ดื่มหรือไม่เมาคอยสอดส่องดูแลคุณด้วย เพื่อที่วันแสนสุขจะได้ไม่หมดสนุกไปเสียก่อน

 


ที่มา:

ธารารัก ชูวานิชวงศ์ และ อรวรรณ ศิลปกิจ (2014). รายงานกลุ่มผู้ป่วย: กลุ่มอาการเวอร์นิก-คอร์ซาคอฟ. journal of mental health of Thailand. 22(2)

https://www.niaaa.nih.gov/overview-alcohol-consumption

https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3312733

https://www.niaaa.nih.gov/publications/brochures-and-fact-sheets/understanding-dangers-of-alcohol-overdose

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles