เลิกเหล้าแล้วมือสั่น? ทำความเข้าใจอาการสั่นและวิธีเยียวยาตัวเอง

June 16, 2021


หากใครเคยรับชมละครไทย ‘ทองเนื้อเก้า’ ซึ่งได้รับความนิยมช่วงหนึ่ง อาจจะได้เห็นฉากลำยองตัวเอกในเรื่องเกิดอาการสั่นทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะมือ ขา หรือลำตัว ฯลฯ เนื่องจากเธออยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมากถึงขั้นเสพติด

บทบาทที่เข้าถึงนี้ ทำให้ผู้ชมหลายคนอาจสัมผัสได้ถึงความทรมานจากอาการสั่นของลำยอง และอาจจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่คนติดสุราหลายคนต้องเจอเมื่อพยายามเลิกเหล้า — มือสั่น ตัวสั่นเสียจนทำอะไรไม่ได้ นอกจากหวนกลับไปดื่มให้ผ่อนคลายบรรเทา

แต่จริงๆ แล้วอาการสั่นที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นเพราะอยากดื่มเหล้าต่อ? หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาการถอน? Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอชวนคุณไปทำความเข้าใจอาการสั่นดังกล่าว พร้อมวิธีเยียวยาตัวเองจากอาการเหล่านั้น

 

มือสั่น เพราะอาการถอนจากแอลกอฮอล์

 

อาการสั่นจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ที่เรียกว่า Tremors มักเกิดขึ้นเมื่อคนที่ปกติดื่มหนักหยุดดื่มทันที เป็นอาการสั่นที่ไม่สามารถควบคุมได้  และมักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการถอนแอลกอฮอล์

อาการดังกล่าวมีลักษณะสังเกตได้คือสั่นตามร่างกายอย่างเป็นจังหวะ โดยเฉพาะที่มือ ทำให้มีปัญหาในการเขียน วาดรูป หรือมีปัญหาในการถือและควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้ อาการสั่นมีมากกว่า 20 ประเภท ซึ่งแบ่งประเภทด้วยแหล่งกำเนิดและลักษณะอาการ และอาจเกิดขึ้นได้จากการดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาการถอนแอลกอฮอล์ขั้นรุนแรง 

ปกติแล้ว อาการสั่นของผู้ติดสุรามักเริ่มหลังจาก 5-10 ชั่วโมงหลังจากการดื่มครั้งสุดท้าย นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไม่คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะตื่นขึ้นมาพร้อมอาการสั่น และต้องการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้รู้สึกนิ่ง โดยอาการสั่นมักจะถึงจุดพีคหลังจากการดื่มครั้งสุดท้ายภายใน 24-78 ชั่วโมง และจะเกิดขึ้นนานหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้น

เมื่อพูดถึงอาการถอนแอลกอฮอล์ คงต้องกล่าวว่ามีความรุนแรงระดับกลางจนถึงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต อาการที่พบได้บ่อยคือ เหงื่อออก วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดหัว ท้องเสีย อาเจียน และเกิดอาการสั่นอย่างที่กล่าวไป

ส่วนอาการที่ถือว่ารุนแรง คือ เห็นภาพหลอน ชัก และ delirium tremens หรือกลุ่มอาการเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว สับสน หากรุนแรงมากและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งถึงแม้ผู้ที่เจออาการถอนเหล่านี้จะมีสัดส่วนน้อย ราว 4-5% ของคนติดเหล้า แต่อย่าลืมว่าถ้าเป็นคนที่ดื่มหนักมาเป็นระยะเวลาหลายปีจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่เลิกเหล้าแล้วเกิดอาการถอน ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที เพราะแม้แต่ผลข้างเคียงเล็กๆ อย่างการอาเจียนหรือเหงื่อออก ก็เสี่ยงต่ออาการขาดน้ำของร่างกายเช่นกัน

 

ทำไมอาการถอนแอลกอฮอล์ถึงเกิดขึ้น?

 

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้การทำงานของสมองช้าลง เมื่อแอลกอฮอล์ที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นประจำ สมองก็จะพยายามปรับตัว เอาชนะการกล่อมประสาทด้วยการเพิ่มการทำงานของเส้นประสาทเข้าไป เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะตื่นตัว และต่อให้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่สมองก็ไม่หยุดตาม ยังคงตื่นตัวเสมอ 

อาการจึงเกิดขึ้นเมื่อสมองพยายามปรับตัวให้เข้ากับการไม่มีแอลกอฮอล์ หรือกำลังกลับสู่สภาวะสมดุล

ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการถอนขึ้นอยู่กับ ระยะเวลา ปริมาณ และความถี่ของการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเพศ น้ำหนัก อายุ ประวัติการติดแอลกอฮอล์ครอบครัวและการใช้สารเสพติดประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ อาการถอนอาจได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายร่วมด้วย 

 

สิ่งที่ทำได้ ‘เดี๋ยวนี้’ เพื่อบรรเทาอาการสั่นจากแอลกอฮอล์

 

เพราะอาการสั่นอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนยากที่จะเลิกหรือลดการดื่มเหล้าลง เราจึงนำวิธีบรรเทาอาการสั่นง่ายๆ มาฝากคุณเพื่อให้คุณได้ปรับตัวเข้าสู่การบำบัดรักษาในระยะยาวต่อไป

 

-ดื่มน้ำและเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีน

การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย ซึ่งอาจทำให้อาการสั่นน้อยลง อีกทั้งร่างกายสามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญเซลล์ได้ด้วยการดื่มน้ำที่มีอิเล็กโทรไลต์ (เครื่องดื่มเกลือแร่) เพื่อปรับสมดุล ดังนั้น การดื่มน้ำตามปริมาณที่แนะนำต่อวันจะทำให้ร่างกายมีพลังงาน ปรับปรุงการทำงานของไตและลำไส้

สถาบันวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์แห่งชาติ แนะนำให้ดื่มน้ำวันละประมาณ 15 แก้วสำหรับผู้ชายและประมาณ 11 แก้วสำหรับผู้หญิง โดยน้ำประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ดื่มควรมาจากเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีน

 

-รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ของหวานที่มีน้ำตาลสูงยิ่งทำให้อาการสั่นแย่ลง ดังนั้นควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนไม่ติดมัน เช่น ปลา ไก่ เนื้อไม่ติดมัน ถั่ว เนยถั่ว และผลิตภัณฑ์นมที่ไม่มีไขมัน รวมถึงรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธัญพืช ผักและผลไม้ แต่ควรงดผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง

ถ้ารับประทานในครั้งเดียวปริมาณมากได้ยาก อาจเลือกรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ หลาย ๆ มื้อต่อวันเพื่อช่วยรักษาระบบเผาผลาญที่ดีและลดความอยากอาหารที่เกิดจากความหิว อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับอาหารเสริม วิตามิน แร่ธาตุและสารอาหารอื่นๆควรปรึกษากับแพทย์ อย่าด่วนตัดสินใจด้วยตนเอง

 

-ฝึกการจัดการอารมณ์

โดยปกติ ผู้ติดสารเสพติดมักแสดงความรู้สึกวิตกกังวล กลัว และเครียด อารมณ์เชิงลบเหล่านี้ก่อให้เกิดอาการถอน อย่างเช่น การสั่นอย่างรุนแรง การฝึกโยคะ ฝึกทำสมาธิ จึงไม่เพียงช่วยจัดการกับความเครียดเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความรู้สึกดีๆ สร้างความคิดเชิงบวกที่บรรเทาอาการป่วยเรื้อรัง หรือจะเลือกการหายใจช้าๆ ลึกๆ ก็ได้ เพราะการหายใจช้า ลึก ช่วยให้หัวใจ หลอดเลือดแลระบบทางเดินหายใจดี อารมณ์ดี และร่างกายผ่อนคลาย

 

-หากิจกรรมให้ตัวเองทำ

กิจกรรมสนุกๆ จะช่วยขจัดความเครียดและความอยากดื่ม ซึ่งอาจช่วยลดอาการสั่น เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ เพลิดเพลินไปกับธรรมชาติ ปั่นจักรยาน สร้างงานศิลปะ สนุกไปกับการฟังเพลง จดบันทึกประจำวัน ฟังหรืออ่านคำพูด/เรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำงานอดิเรกหรือหางานอดิเรกใหม่ๆ ดูหนังตลก ออกไปพบปะเพื่อนฝูง สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเครียด สนุกกับชีวิต และช่วยในการฟื้นตัวของตัวเอง

 

-พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนอย่างมีคุณภาพเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะอาการเสพติด อย่างไรก็ตาม ผู้ติดสุราบางรายอาจมีปัญหานอนไม่หลับหลังหยุดดื่ม และอาจต้องเวลาหลายเดือนกว่าจะกลับมานอนหลับปกติ ดังนั้น เราอาจต้องฝึกจัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่กล่าวข้างต้นประกอบกัน เพื่อช่วยให้กลับมานอนหลับได้มีคุณภาพมากขึ้น 

 

-สร้างความสัมพันธ์ที่ดี

ครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่เข้าใจและพร้อมสนับสนุนเป้าหมายเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับการบำบัดผู้ติดสุรา เพราะระหว่างการบำบัดอาจทำให้ผู้ติดสุรารู้สึกโดดเดี่ยว ดังนั้นยิ่งมีคนที่ไว้ใจและสนับสนุบการเดินทางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น คนรอบข้างจึงควรเอาใจใส่ ให้กำลังใจอยู่เป็นระยะ อีกทั้งคนรอบข้างยังมีส่วนช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันไม่ให้เขากลับไปติดอีกด้วย 

 

-เข้าร่วมกระบวนการบำบัดอย่างมีวินัย 

ช่วงระหว่างเลิกเหล้าและเข้าบำบัด ต้องตระหนักถึงเป้าหมายและเหตุผลที่ทำให้อยากเลิกดื่มแอลกอฮอล์ กระตุ้นเตือนตนเองอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อจบการรักษาแล้ว ให้ลองติดตามสังเกตตนเองอยู่เรื่อยๆ เพื่อความสำเร็จในระยะยาว

 

 

 


 

ที่มา :

Alcohol Shakes or Tremors https://www.alcohol.org/effects/alcohol-shakes/

Understanding Alcohol “Shakes” and How to Stop Them https://www.bluecrestrc.com/understanding-alcohol-shakes/

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles