ย้อนกลับไปเมื่อราวปีกว่า ก่อนที่โลกจะรู้จักโรคระบาดอย่างโควิด-19 ดนัย ชินคำ นักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เป็นหนึ่งในทีมที่เริ่มทำโครงการวิจัยเรื่อง ‘การประเมินปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา’ ถ้าพูดให้ง่ายกว่านั้น สิ่งที่ดนัยและคณะต้องการค้นหาคำตอบคือ “เพราะเหตุใดคนจึงไม่เข้าถึงบริการบำบัดอาการติดสุรา?”
เป็นคำถามที่ถามกันมานาน แต่ก็ดูยากที่จะตอบถึงสาเหตุที่แท้จริง
ในช่วงเริ่มแรกของการทำวิจัย เราได้สนทนากับดนัยถึงที่มาที่ไปของโครงการ รวมถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่จังหวัดแรกๆ ตามแพลนที่โครงการวางไว้ ซึ่งพอฉายภาพคร่าวๆ ของปัญหาการติดสุราและการบำบัดสุราในไทยให้เราเห็น เวลาผ่านไปจนกระทั่งทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เสร็จสิ้นครบ 4 จังหวัดตามที่ตั้งใจไว้ เราจึงชวนดนัยสนทนายาวๆ กันอีกครั้งถึงความคืบหน้าของงานวิจัย ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ รวมถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อบริการบำบัดสุรา
งานวิจัยและการลงพื้นที่ที่ผ่านมาทำให้ดนัยและทีมวิจัยเห็นอะไร แนวโน้มของการบำบัดสุราที่ผ่านมาเป็นเช่นไร เราจะสามารถมีนโยบายอะไรต่อไปได้ในอนาคต
หาคำตอบได้ในบรรทัดด้านล่างนี้
จากที่คุณได้ไปลงพื้นที่ชุมชน เห็นประเด็นอะไรที่น่าสนใจในเรื่องการบำบัดสุราบ้างไหม
ทางทีมวิจัยได้ไปลงพื้นที่เพิ่มเติมสองจังหวัด (จากที่เคยลงมาก่อนหน้านี้สองจังหวัด) ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็จะเห็นบริบทที่มีความแตกต่างกันระหว่างสองจังหวัดนี้ อย่างจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงคนไทยบางคนที่อาจจะประกอบอาชีพที่ต้องเกี่ยวพันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น คนที่ทำงานในสถานบันเทิง
ถ้าถามต่อว่า แล้วพื้นที่ดังกล่าวดำเนินการอย่างไรในเรื่องการตรวจคัดกรองและบำบัดฟื้นฟูผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา ส่วนมากจะมีการรณรงค์ให้ความรู้ว่าสุราส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร และจะทำอย่างไรหากต้องการเข้ารับการบำบัด แต่ก็ต้องยอมรับว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพของคนในพื้นที่ เลยอาจจะควบคุมยากหน่อย ต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสาธารณสุขและด้านบังคับใช้กฏหมายให้มาทำงานร่วมกัน แต่ถ้าเจาะไปที่ด้านสาธารณสุขเลยก็อาจจะเป็นการทำงานเชิงตั้งรับมากกว่า ซึ่งเราก็พอมองเห็นข้อจำกัดของคนทำงานในพื้นที่เหมือนกัน เช่น คนทำงานคนหนึ่งต้องรับภาระหลายอย่าง
ส่วนถ้าเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวก็จะเข้าไปยังพื้นที่ง่ายกว่า เพราะไม่ได้มีคนไหลเข้าออกเยอะเหมือนจังหวัดท่องเที่ยว
เรานำข้อมูลหรือสิ่งที่เจอจากการลงพื้นที่มาต่อยอดในโครงการวิจัยอย่างไรบ้าง
จากที่ลงพื้นที่มา 3-4 จังหวัด เราพอได้ข้อมูลชุดหนึ่งที่เกิดจากการนำข้อมูลย่อยทั้งหมดมาบูรณาการร่วมกัน จะเห็นว่าแต่ละจังหวัดก็มีจุดที่เหมือนและจุดที่ต่างกันออกไป ถ้าจุดที่เหมือนกันของแต่ละจังหวัดคือ ทำอย่างไรให้คนมารับบริการมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าสาธารณสุขยินดีอย่างยิ่งที่จะให้คนในพื้นที่เข้ามารับบริการตรวจคัดกรอง รวมถึงสนับสนุนให้เลิกดื่ม แต่อีกส่วนที่สำคัญมากคือ ‘ผู้รับบริการ’ หรือ ‘ผู้ติดสุรา’ เจ้าหน้าที่ทุกคนจะพูดเหมือนกันว่า การเลิกสุราขึ้นอยู่กับ ‘ใจ’ ของผู้ติดสุรา เพราะแม้บุคลากรด้านสาธารณสุขจะพยายามแค่ไหน แต่ถ้าคนติดสุราไม่ตระหนักหรือไม่เข้ามารับบริการก็ทำไม่ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ สังคมรอบข้าง เพราะคนในหลายๆ พื้นที่ยังมองว่า คนติดสุราเป็นปัญหาของสังคมอยู่ เขาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเท่าที่ควร ตรงนี้ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งเหมือนกัน
เราเห็นความแตกต่างอะไรระหว่างคนในเมืองกับชนบทไหม
จริงๆ เรื่องการติดสุราเป็นปัญหาของทุกสังคม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเมืองหรือชนบท เราลองนึกภาพว่ามีคนเมาสุรา คุมสติไม่อยู่จนทะเลาะวิวาท เรื่องแบบนี้กระทบทุกคน ถ้าเกิดอุบัติเหตุก็กระทบกันเป็นลูกโซ่ต่อไป ฉะนั้นสุราถือเป็นปัญหาของชุมชน ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับบุคคล
ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดคือ ตอนที่ทางทีมวิจัยได้ไปลงพื้นที่ที่จังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความร่วมมือทั้งจากภาคสาธารณสุข รวมถึงชุมชนก็เข้ามาช่วยกันอย่างแข็งขัน เพราะพวกเขามองว่านี่เป็นปัญหาของคนในชุมชนและช่วยกันแก้ปัญหา ทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเป็นอย่างมาก
แล้วถ้าเป็นมุมของหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพ เรามองได้ไหมว่าในเมืองจะมีหน่วยบริการมากกว่าจึงทำให้คนเข้าถึงบริการได้มากกว่า
อาจจะมองแบบนั้นได้ไม่ชัดเจนมากครับ คือเรื่องการบริการ ไม่ว่าจะเมืองหรือชนบทก็ให้บริการเหมือนกันอยู่แล้ว แต่คนในเมืองอาจจะเข้าถึงหน่วยบริการได้มากกว่า เพราะจำนวนหน่วยบริการและการเดินทางที่อาจจะสะดวกกว่าด้วย แต่ขณะนี้พื้นที่ชนบทจะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ให้บริการอยู่แล้ว ในตัวจังหวัดก็มีจะโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพชุมชน ก็ถือว่าอยู่ใกล้กับคนในพื้นที่มากขึ้น อย่างที่บอกครับว่าขึ้นกับคนติดสุราด้วยว่า จะเข้ามารับบริการหรือไม่
ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ลักษณะพิเศษของทุกพื้นที่ที่จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดชุมชน อสม. แต่ละคนจะมีครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบเป็นของตัวเอง ประมาณ 4-5 หลังคาเรือน และด้วยความใกล้ชิดนี่แหละทำให้ อสม. รู้ว่าครอบครัวไหนบ้างที่มีคนติดสุราหรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ
อย่างไรก็ดี อสม. ก็จะมีขอบเขตการทำงานของตัวเองด้วย เช่น ทำการคัดกรองเบื้องต้นได้ ให้คำปรึกษาได้บ้าง หรือคอยติดตามเฝ้าระวังและลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้าน เรียกได้ว่าเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต.
ในภาพรวม การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อผู้ติดสุราหรือระบบการบำบัดรักษาอย่างไร เราเจอปัญหาหรือโอกาสอะไรจากวิกฤตในครั้งนี้บ้างไหม
ที่เห็นชัดๆ เลยคือ ตอนโควิดมีนโยบายห้ามขายเหล้า พอจำกัดการเข้าถึงก็ทำให้คนเมาน้อยลง เคสอุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทที่มีสาเหตุมาจากสุราก็จะพลอยลดลงไปด้วย แต่ถ้าเป็นคนที่ดื่มเหล้าอยู่แล้วก็อาจจะทำให้เขาขาดสุรา บางคนถึงขั้นเกิดอาการลงแดงกะทันหัน แต่ทางโรงพยาบาลก็มีการวางแผนรับมือเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ส่วนในพื้นที่ บางทีกลุ่ม อสม. ก็มีรายชื่ออยู่แล้ว เขาก็รู้ว่าจะต้องเฝ้าระวังใครหรือครอบครัวใดเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ บางโรงพยาบาลก็ถือจังหวะนี้โปรโมทเรื่องสุราไปในตัว เช่น สุราส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร ทำไมช่วงโควิดถึงห้ามขายสุรา แต่หลายพื้นที่ก็พูดตรงกันว่า พองดขายสุราสถานการณ์บางอย่างก็ดีขึ้น
ถ้าเรามองเห็นโอกาสจากเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำอะไรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นไหม
มีบางหน่วยที่เฝ้าระวังอยู่ครับ เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เขาก็มีสถิติอยู่ว่า ก่อนโควิดมีผู้ติดสุราและลงแดงเท่าไหร่ และหลังโควิดมีเพิ่มเท่าไหร่ ประมาณนี้
ถ้าเป็นในพื้นที่ เราจะเห็นว่าเขาเน้นตั้งรับคนลงแดง เหมือนเป็นการเฝ้าระวังคนในพื้นที่ เพราะในพื้นที่จะพอมีข้อมูลอยู่แล้วว่าใครติดสุรา เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็เป็นการเฝ้าระวัง
อีกอย่างคือ ภาคกฎหมายก็มีความเข้มแข็ง ทำตามนโยบายของภาครัฐที่ห้ามจำหน่าย คนในพื้นที่หลายคน เช่น เจ้าหน้าที่ รพสต. ผู้นำชุมชน ก็ชอบนโยบายนี้ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสในการเลิกเหล้าไปในตัวสำหรับบางคน แต่ถามว่าจะต่อยอดอะไรจากนโยบายนี้ได้ไหม ก็อาจจะต้องคิดต่อด้วยว่า ควรจะมีระบบมารองรับไหม จะทำอย่างไรกับผู้ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ถ้าเราลงไปดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในบางพื้นที่ จะเห็นว่าบางที่มีการทำสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรม มองมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านหรือมีการจ้างงานคนในพื้นที่ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง นี่อาจเอื้อให้คนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นได้ด้วย คุณมองว่าเรามีวิธีสร้างสมดุลระหว่างเรื่องเศรษฐกิจกับสุขภาพไหม
จริงๆ ทุกวันนี้มีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตสุราในชุมชนอยู่ พูดง่ายๆ คือผลิตและจำหน่ายในชุมชนได้ ในพื้นที่ที่เราเคยไปก็มีอุตสาหกรรมในชุมชน ฉะนั้นถ้าถามว่ามีทางไหม มีครับ กฎหมายก็เปิดให้ผลิตและจำหน่าย ขึ้นทะเบียน และเสียภาษีอย่างถูกกฎหมายเหมือนกับบริษัท เรามองว่าก็มีการสร้างสมดุลตรงนี้อยู่ เพราะบางพื้นที่ก็ชำนาญในการผลิต มีโรงงานหรือธุรกิจ SMEs เล็กๆ ที่ต้องจ้างแรงงานหรือใช้วัตถุดิบจากในชุมชน ตรงนี้ก็จะเป็นการช่วยสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็ง เป็นการช่วยเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่
อย่างไรก็ดี เราควรมองอีกมุมด้วยว่า การที่มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในชุมชนอาจจะทำให้เกิดผลกระทบบางอย่างเพิ่มขึ้นด้วย เช่น เพิ่มแหล่งซื้อให้ชุมชน หรือทำให้คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่ายมากๆ ตรงนี้ก็อาจมองได้ว่า เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้บางคนยังดื่มและเลิกสุราไม่ได้
จริงๆ ไม่ใช่แค่ในพื้นที่ แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมใหญ่ก็มีประเด็นคล้ายกัน เพราะถ้าพูดกันตรงๆ เขาก็มีเรื่องการตลาดหรือการแสวงหากำไรของเขา ส่วนภาคสาธารณสุขก็อาจจะรับหน้าที่ในการให้ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็น เราต้องหาสมดุลกันให้เจอ เพราะภาคธุรกิจก็มองเรื่องธุรกิจ ส่วนภาคสาธารณสุขก็มองเรื่องสุขภาพ จุดสำคัญคือการมาเจอกันตรงจุดกึ่งกลาง ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายพยายามทำอยู่โดยการเจรจากับภาคธุรกิจ เช่น การจำกัดอายุการเข้าถึง จำกัดประเภทหรือจำกัดเวลาขาย รวมถึงพูดคุยเรื่องการโฆษณา
จากบทสัมภาษณ์ครั้งที่แล้ว คุณบอกว่าสนใจประเด็นที่เกี่ยวกับหน่วยบริการนอกระบบสุขภาพ ทำไมคุณถึงสนใจประเด็นนี้ และเมื่อลงพื้นที่เพิ่มขึ้นแล้ว เห็นอะไรที่น่าสนใจไหม
เราว่าหน่วยบริการนอกระบบสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเลิกสุราประสบผลสำเร็จ เพราะนอกจากหน่วยงานในระบบสุขภาพแล้ว ชุมชนก็มีส่วนสำคัญมากๆ เพราะผู้นำชุมชนหรือคนในชุมชนเขาอยู่ใกล้ชิดกันอยู่แล้ว และรู้จักคนในพื้นที่ด้วย เมื่อผู้นำเห็นความสำคัญของการบำบัดสุรา คนในชุมชนก็มีแนวโน้มจะเกิดความตระหนักและสานต่อเรื่องนี้ ซึ่งจะช่วยเรื่องจิตใจเป็นหลัก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าหน่วยบริการนอกระบบต้องอาศัยการเข้ามามีส่วนร่วมของหน่วยบริการในระบบด้วย โดยเฉพาะในเรื่ององค์ความรู้ เหมือนกับเข้ามาดูแลในเรื่องร่างกายควบคู่กันไป
อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราเปรียบเทียบพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จกับพื้นที่ที่ยังเจอความท้าทายอยู่ จะเห็นว่าพื้นที่ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะมีลักษณะคือ ผู้นำยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มองว่าสุราเป็นเรื่องปกติที่ดื่มกัน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนในพื้นที่ก็มองว่านี่ไม่ใช่ปัญหา เวลาดื่มเขาก็ดื่มอยู่บ้านกัน ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานในหน่วยงานด้านสาธารณสุข เรามองว่า ถ้าคนตระหนักถึงผลเสียของการดื่มสุรามากเกินไปก็จะเป็นเรื่องดี ทั้งต่อชุมชนและตัวผู้ดื่มเองด้วย
สุดท้ายนี้ คุณมีข้อเสนอแนะอะไรให้ผู้กำหนดนโยบายบ้างไหม
เท่าที่ทบทวนวรรณกรรมและการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เราพอมีข้อเสนอคร่าวๆ เช่น การขับเคลื่อนและผลักดันการคัดกรองและบำบัดสุราให้เป็นแผนระดับประเทศเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่หน่วยงานภาคสาธารณสุขจะยึดปฏิบัติ ซึ่งเราเห็นว่าแต่ละพื้นที่จะให้ความสำคัญต่างกันและมีรูปแบบบริการที่แตกต่างกันอยู่ แต่แกนหลักคือการคัดกรอง เมื่อเจอปัญหาก็เข้ากระบวนการบำบัด
อีกอย่างหนึ่งคืองานสุราจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งภาคสาธารณสุข ภาคการปกครอง หรือองค์กรท้องถิ่น ดังนั้น อีกโจทย์หนึ่งคือการหาวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น เพราะบางที่อาจจะยังแยกความรับผิดชอบกันอยู่ ส่วนพื้นที่ที่ทำงานร่วมกันก็ทำงานประสานกันได้อย่างดี เราเลยอยากเสนอเรื่องการทำงานบูรณาร่วมกัน และมีการกำกับติดตามร่วมกัน
สำหรับผู้รับบริการเอง เราคิดว่ามีประเด็นคือ ทำอย่างไรให้คนที่ติดสุราเห็นว่าเขาควรเข้ารับการบำบัด ซึ่งตอนนี้ก็มีการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์อยู่ แต่ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้เข้าถึงพวกเขา และจะทำอย่างไรให้เขาเห็นความสำคัญจริงๆ เพราะตอนนี้เราก็เริ่มเห็นมีการโฆษณา หรือในโรงพยาบาลเอง เวลามีคนรับบริการก็จะมีการให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ แต่มันก็จะไปถึงเฉพาะคนมารับบริการซึ่งอาจจะยังเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ นี่ก็เป็นข้อเสนอและความท้าทายที่ต้องทำงานกันต่อไป
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm