“หากเราต้องการจะปรับพฤติกรรมการดื่มสุรา CBT จะสอนให้ปรับที่ความคิดต่อการดื่ม อารมณ์ สภาพทางร่างกายที่เชื่อมโยงกับการดื่ม และสิ่งแวดล้อม ในเมื่อปัญหาของผู้ดื่มคือ แพ้ใจ แพ้สภาวะแวดล้อมของตัวเอง คุมตัวเองไม่ได้ ครอบครัวซึ่งเป็นคนที่อยู่กับเขาตลอด จึงน่าจะเป็นผู้ช่วยได้มากกว่าใครๆ คือสามารถเข้ามาช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมที่บ้าน ช่วยปรับเรื่องความคิดอารมณ์ และสภาพร่างกาย นอกจากนี้ ระหว่างที่ครอบครัวช่วยผู้ดื่ม ครอบครัวก็อาจจะนำเทคนิคบางอย่างมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้เช่นกัน”
นี่คือคำตอบบางส่วนของ ศ.ดร.ดาราวรรณ ต๊ะปินตา ศาสตราจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อถูกถามว่า ทำไมต้องเป็น CBT และทำไมต้องนำครอบครัวเข้ามาร่วมด้วย ในการบำบัดผู้ติดสุรา
นอกจากเป็นอาจารย์ที่คณะพยาบาลศาสตร์แล้ว ศ.ดร.ดาราวรรณ ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive Behavioural Therapy) ในประเทศไทย และยังรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยในโครงการการพัฒนาโปรแกรมการปรับพฤติกรรมโดยใช้ครอบครัวเป็นฐานเพื่อบำบัดผู้ติดสุรา ของโรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
“ในเมื่อคนติดสุราควบคุมตัวเองไม่ได้และต้องการคนช่วย คนๆ นั้นก็ควรจะเป็นคนใกล้ชิด และสามารถดูแลเขาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือคนในครอบครัวนั่นแหละ แต่เราก็ยังต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวด้วย และสัมพันธภาพของสมาชิกครอบครัวคนที่มากับผู้ดื่มก็ต้องดีในระดับหนึ่ง”
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนคุณอ่านบทสนทนากับ ศ.ดร.ดาราวรรณ ไล่เรียงตั้งแต่เรื่อง CBT ว่ามีหลักการอย่างไร และจะนำไปประยุกต์ใช้ในการบำบัดสุราได้อย่างไร รวมถึงโครงการที่นำเอาครอบครัวเข้ามาช่วยบำบัดผู้ติดสุราที่อาจารย์ร่วมทำอยู่ ปิดท้ายด้วยการชวนมองภาพใหญ่ว่า ระบบการบำบัดสุราของไทยครอบคลุมและมีประสิทธิภาพแค่ไหนในตอนนี้
แนวคิดแบบ CBT เป็นอย่างไร มีจุดเด่นตรงไหนบ้าง
CBT มาจากชื่อเต็มว่า Cognitive Behavioural Therapy หรือการปรับความคิดและพฤติกรรม โดยเริ่มต้นจากความเชื่อที่ว่า คนแต่ละคนมี 4 องค์ประกอบในตัวเรา คือ ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และสรีระ (สภาวะร่างกาย) แต่ไหนแต่ไรมา องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อนี้จะอยู่กันอย่างสมดุล แต่จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีสิ่งเร้าภายนอกเข้ามากระทบ ซึ่งแนวคิดของ CBT บอกว่า เมื่อสิ่งเร้าเข้ามากระทบ จะเริ่มกระทบที่ความคิดก่อน และจะทำให้พฤติกรรมอารมณ์ และสภาวะของร่างกายกระทบตามไปด้วย CBT จึงมีจุดเด่นที่ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมปัญหาจึงเกิดขึ้น และเราจะปรับแก้ตรงไหนได้บ้าง โดยผู้รับการบำบัดก็จะเข้าใจไปพร้อมๆ กับผู้บำบัด จนบางที จากผู้รับการบำบัดอาจจะสามารถกลายเป็นผู้บำบัดตนเองในอนาคตได้
อยากให้อาจารย์ช่วยยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า ความคิดจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและอารมณ์อย่างไร
ความคิดจะกระทบอารมณ์ ทำให้เกิดพฤติกรรม และเปลี่ยนแปลงสรีระ เช่น คนๆ หนึ่งมี 4 องค์ประกอบที่สมดุลกันอยู่ดีๆ แต่จู่ๆ เกิดสิ่งเร้าขึ้น คือรู้ว่าจะมีคนมาสัมภาษณ์ ก็กลัวจะตอบคำถามได้ไม่ดี พอเป็นแบบนี้ อารมณ์ก็กังวล แล้วมีผลตรงมาที่ร่างกาย คือใจเต้นตึกๆ หน้าอาจจะเริ่มซีด เกิดพฤติกรรมผุดลุกผุดนั่ง ดูลุกลี้ลุกลน เกิดอาการประหม่า
จะเห็นว่าตอนนี้มีอยู่ 5 องค์ประกอบแล้ว คือนอกจากองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อในร่างกายคน ก็จะมีสิ่งเร้าเพิ่มเข้าไปด้วย ทั้งหมดนี้พัวพันและมีผลกระทบต่อกันไปหมด จึงเป็นที่มาว่า เมื่อไหร่ที่เราต้องการปรับอารมณ์ ทั้งทางลบและทางบวก เราจะต้องจัดการสิ่งเร้า ความคิด พฤติกรรม และสรีระ และบางที เราอาจสามารถปรับที่สิ่งเร้าได้ด้วย
สิ่งเร้าสำคัญอย่างไร และเราสามารถปรับสิ่งเร้าได้มากน้อยแค่ไหน
สิ่งเร้าจะเป็นตัวเริ่มต้นส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถจัดการสิ่งเร้าได้ ก็จัดการเลย เพราะจะช่วยให้อารมณ์ต่างๆ ของเราดีขึ้น แต่เราสามารถจัดการสิ่งเร้าได้ไม่มากนัก โดยนักจิตวิทยาที่ชื่ออัลเบิร์ต บันดูรา (Albert Bandura) บอกว่า เราสามารถจัดการสิ่งเร้าได้ 15-20% เท่านั้น เราจึงต้องไปดูปัจจัยอื่นๆ ด้วย คือการปรับที่ความคิดและพฤติกรรม เพราะการปรับความคิดจะส่งผลต่อทั้งอารมณ์และสภาวะทางร่างกาย
แล้ว CBT จะช่วยจัดการความคิดของเราได้อย่างไร
ต้องบอกก่อนว่า ธรรมชาติของคนเรามีความคิดอยู่ 3 แบบ แบบแรกคือคิดแล้วถูกหมด แบบที่สองคือคิดแล้วผิดหมด และแบบที่สามคือคิดแล้วถูกบางส่วนผิดบางส่วน เราจะพบเสมอว่า บางทีสิ่งที่เราคิดอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เช่น เราคิดว่าวันนี้ฝนจะตก แต่ถ้าฝนไม่ตกก็คือผิดหมด ถ้าฝนตกก็คือถูกหมด หรือฝนอาจตกเป็นบางช่วง ความคิดจะเป็นแบบนี้ และธรรมชาติของคนเรามักจะเชื่อความคิดแรกของตนเอง ทั้งที่ความคิดนั้นเป็นเพียงความเห็น (opinion) ซึ่งอาจเป็นจริง (fact) หรือไม่ก็ได้
ดังนั้น เราจะเริ่มจากการเล่าธรรมชาติของความคิดให้เขาฟังเสียก่อน แล้วเราจึงพิสูจน์ว่าความคิดนั้นผิด ถูก หรือถูกบางส่วนผิดบางส่วน แล้วให้เขาลองเอาความคิดเชื่อมโยงกับอารมณ์ เช่น ที่ยกตัวอย่างว่าคนๆหนึ่งประหม่าเพราะมีคนมาสัมภาษณ์ แต่ถ้าเขาเปลี่ยนความคิดว่า วันนี้เป็นวันปกติ ตอบไปตามที่เราคิด ไม่ต้องตัดสินตนเองในตอนนี้ อารมณ์ของเขาก็จะปกติ คือเราให้เขาสังเกตความเชื่อมโยงตรงนี้ และชี้ให้เขาเห็นว่า ถ้าความคิดเปลี่ยน อารมณ์ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
อาจารย์บอกว่าให้เปลี่ยนความคิด แล้วจำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องคิดทางบวกอย่างเดียว
จริงๆ บอกว่าให้คิดทางบวกก็ถูก แต่ถ้าจะให้ถูกเต็มร้อย ต้องบอกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนความคิดตามความเป็นจริง ซึ่งมีทั้งลบและบวก อันไหนเป็นบวกก็โอเค แต่ถ้าอันไหนเป็นลบ เราต้องเรียนรู้จะอยู่กับมัน เช่น เรารู้ว่าเราไม่ใช่คนสวย แต่อยากปรับความคิดทางบวก แล้วบอกว่าตัวเองสวยที่สุด มันไม่ใช่ไง เป็นบวกแต่ไม่ใช่ความจริง แบบนี้ไม่เรียกว่า CBT ค่ะ
เพราะฉะนั้น เราต้องมองว่า ไม่สวยแล้วไง เราต้องหน้าตาสวยเท่านั้นเหรอ เราอาจจะมีเสน่ห์ตรงอื่นก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคือ คนมักคิดแคบๆ แค่ว่า ‘สวย’ หรือ ‘ไม่สวย’ และตีความว่า สวยคือคะแนนเต็ม 10 ไม่สวยคือ 0 คะแนน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้น มันยังมีคะแนนที่อยู่ระหว่าง 0-10 อีก ซึ่งเราอาจจะสวย 4 หรือ 5 ก็ว่าไป
เราสามารถนำการบำบัดแบบ CBT ไปใช้กับอะไรได้บ้าง
แรกเริ่ม มีการใช้ CBT กับการบำบัดอาการซึมเศร้า แต่ตอนหลัง CBT ก็ถูกนำไปใช้กับการบำบัดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างอื่น เช่น การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด หรือการติด Social Media ได้ด้วย
CBT ยังสามารถใช้ได้ทั้งขั้นตอนป้องกันสุขภาพจิตและลดความเสี่ยง รวมถึงใช้บำบัดเมื่อมีอาการป่วยแล้ว แต่ถ้าป่วยถึงขั้นที่ว่าประสาทหลอน หูแว่ว ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง อันนี้อาจจะใช้ไม่ค่อยได้ แต่หลังๆ ก็เริ่มมีงานวิจัยที่บอกว่า CBT ใช้กับผู้ที่มีภาวะอาการทางจิตบางอย่างได้ด้วย
ถ้าคนรอบข้างเราเริ่มวิตกกังวลหรือมีอาการเครียด เราจะสามารถป้องกันหรือนำ CBT มาประยุกต์ใช้ได้ไหม อย่างไร
คนที่มีความเครียดหรือวิตกกังวล ความคิดของเขามักจะติดแน่นเหมือนเศษกระดาษที่ติดอยู่ในแก้ว นักบำบัดที่ใช้หลัก CBT จะมีหน้าที่ใช้คำถามถามให้เขาเริ่มพิสูจน์ตรวจสอบความคิดของเขา จนเขาเริ่มสงสัยว่า ตนเองคิดแบบนี้จริงหรือไม่ เหมือนให้เขาเขย่าจนเศษกระดาษเหล่านั้นหลุดออกมา และพบความจริงในตอนท้าย
ขอยกตัวอย่างเคสเด็กที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยนะคะ แน่นอนว่าเด็กกลุ่มนี้ต้องเครียดอยู่แล้ว ซึ่งเราสามารถนำ CBT เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น ถ้าเด็กคนหนึ่งอยากสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ เราอาจจะเริ่มจากการถามเขาว่า ถ้าไม่ต้องคิดถึงใครหรืออะไรบนโลกใบนี้ จริงๆ แล้วหนูอยากเป็นอะไร มีแผนสำรองไว้ไหม หรือถามว่า ถ้าสมมติสอบไม่ติดแพทย์ เขาจะคิดว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร แล้วคิดว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง คืออาจจะลองให้เขามองเรื่องนี้เหมือนว่าไม่ใช่เรื่องของตนเองดู เพราะถ้าไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เขาอาจจะเริ่มนึกออกมากขึ้น แต่ถ้าไปคิดหลังจากที่ผิดหวังแล้ว อารมณ์จะมาเยอะมาก ปัญญาก็จะปิด ชวนคิดอะไรตอนนั้นก็ไม่ทันแล้ว
มีเด็กหลายคนกดดันเพราะกลัวทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เราจะถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าพ่อแม่จะคิดแบบนี้ พิสูจน์หรือยัง ความคิดนั้นอาจถูกหรือผิดหมด หรือถูกผิดบางส่วน แน่นอนแหละว่าพ่อแม่อยากให้ลูกทุกคนสอบได้ แต่ถ้าสอบไม่ได้ ก็ไม่ถึงกับผิดหวังจนล้มละลายทางจิตใจ เพราะต่อให้พวกท่านอาจผิดหวังอย่างไร ความรักก็จะยังเหมือนเดิมอยู่เสมอ
แล้วถ้าในกรณีของพ่อแม่ที่คาดหวังในตัวลูกมาก แต่ผิดหวังในตัวลูก?
เคยเจอเคสหนึ่งที่พ่อแม่บอกว่า ลูกเหมือนไม่รู้จักบุญคุณ พ่อแม่ส่งเรียนพิเศษ สนับสนุนทุกอย่าง อยากได้อะไรก็ได้ แต่กลับไม่ยอมเรียนตามที่พ่อแม่ต้องการ พ่อแม่บอกว่าเขาผิดหวังในตัวลูกมาก พี่เลยเปรียบว่า การมีลูกเหมือนพ่อแม่ได้เมล็ดมาเมล็ดหนึ่ง ที่เลือกไม่ได้และไม่รู้จักมาก่อน แล้วพ่อแม่ก็มาฝังดิน รดน้ำ คอยดูแล จนเมล็ดนั้นแตกใบสวยออกมา แต่ลูกกลับออกมาเป็นตะขบ
พอเป็นแบบนี้ พ่อแม่ก็สงสัยว่า ตัวเองไฮโซขนาดนี้ ทำไมลูกออกมาเป็นตะขบ ทำไมไม่เป็นแอปเปิล แต่ถามว่านี่ใช่ความผิดใครไหมล่ะ ไม่มีใครผิดหรอกค่ะ คุณเลี้ยงลูกมาดีคุณก็ทำถูกแล้ว แต่ลูกก็ไม่ผิดเช่นกัน เพราะตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นแบบนี้ เราจึงจะถามให้พ่อแม่คิดว่า คุณขายหน้าได้นะ แต่ถ้าขายหน้าแล้วใครทุกข์ แล้วถ้าเลือกได้ จะมีความสุขหรือความทุกข์ พ่อแม่หวังดีกับลูกก็จริง แต่บางทีลูกก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น พอพูดแบบนี้ พ่อแม่ก็อาจจะเริ่มเห็นภาพมากขึ้น นี่แหละคือผลลัพธ์ของการทำ CBT
เราจะนำ CBT ไปใช้กับการบำบัดสุราหรือสารเสพติดได้อย่างไร
การดื่มสุราเป็นพฤติกรรมที่เราสามารถไปดูได้ว่า ทำไมคนๆ นั้นถึงเกิดพฤติกรรมการดื่มสุราหรือใช้สารเสพติด คือมันจะมีสูตร (Formulation) ของการเกิดพฤติกรรมนี้ ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปในแต่ละคน สมมติว่าตอนเลิกงาน เจ้านายชวนไปทานข้าวด้วยกัน นี่ก็อาจจะกระทบความคิดเราว่า ถ้าเราไม่ดื่ม เจ้านายอาจจะมองว่าเราเป็นคนนอก แต่ถ้าเราดื่ม ก็จะมองเราเป็นพวกเดียวกับเขา หรือบางคนเป็นชาวไร่ชาวนา ทำงานเสร็จร่างกายก็เมื่อยล้า เลยคิดว่าสุราจะทำให้ร่างกายผ่อนคลาย เลยต้องดื่ม ซึ่ง CBT จะเข้ามาช่วยปรับความคิดตรงนี้ ซึ่งเป็นความคิดที่เขาคิดเอง แต่อาจจะไม่เคยพิสูจน์หรือตรวจสอบเลยว่าเป็นจริงหรือไม่ เพียงใด และจะช่วยปรับอารมณ์ให้ลดลง เพื่อจะช่วยลดพฤติกรรมการดื่มได้อีกทาง
ได้ยินมาว่า อาจารย์เป็นหัวหน้าทีมวิจัยในโครงการการพัฒนาโปรแกรมการปรับพฤติกรรมโดยใช้ครอบครัวเป็นฐานเพื่อบำบัดผู้ติดสุรา ของโรงพยาบาลสวนปรุง โครงการนี้เริ่มมาได้อย่างไร
ก่อนจะมาถึงเรื่องนี้ ต้องอธิบายก่อนว่าโรงพยาบาลสวนปรุงเป็นโรงพยาบาลเชี่ยวชาญพิเศษ ที่มี excellent centre ด้านการบำบัดผู้ติดสุรา เป็นเหมือนเจ้าภาพในการสร้างนวัตกรรม เครื่องมือ เพื่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศนำไปใช้ แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่ชัดว่าจะมีอะไรเป็นนวัตกรรมหรือเครื่องมือจัดการกับพฤติกรรมการดื่ม จน นพ.ธรณินทร์ กองสุข ได้ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง และรู้ว่าพี่ทำเรื่อง CBT ทั้งสอนและวิจัยมามากกว่า 10 ปี นพ.ธรณินทร์จึงชวนมาร่วมโครงการนี้ โดยพี่จะเป็นหัวหน้าทีมในการพัฒนาโปรแกรมการปรับพฤติกรรมโดยใช้ครอบครัวเป็นฐานเพื่อบำบัดผู้ติดสุรา อีกท่านคือคุณภรภัทร สิมะวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ฝ่ายวิจัยของโรงพยาบาล ก็จะเป็นหัวหน้าทีมในการทำวิจัยส่วนการทดลองใช้ในกลุ่มตัวอย่างเพื่อศึกษาประสิทธิผลต่อไปค่ะ
ขั้นตอนคร่าวๆ ของโครงการดังกล่าวมีอะไรบ้าง
เราจะมีการทบทวนวรรณกรรม และทำ focus group กับผู้ดื่มสุรา ว่าพวกเขาคิดยังไง เพราะประเด็นของเราคือ ความคิดของเขาจะทำให้เขามีพฤติกรรมการดื่ม แล้วเขามีลักษณะความคิดอย่างไรที่ทำให้ไม่หยุดดื่มเสียที รวมถึงดูว่า ครอบครัวของผู้ดื่มดูแลผู้ติดสุราอย่างไร แล้วคิดอย่างไรบ้างต่อการดื่มของคนในครอบครัว เมื่อเราได้ข้อมูลตรงนี้แล้ว จะนำไปสร้างเป็นโปรแกรม แล้วให้ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยดูอีกที จากนั้นจึงจะไปถึงขั้นทดลองใช้กับกลุ่มทดลอง 30 คน ซึ่งตอนนี้เราเก็บข้อมูลได้ราว 60-70% แล้ว การทดลองใช้กับกลุ่มทดลองจะเป็นการพิสูจน์ว่า โปรแกรมสามารถช่วยลดการดื่มได้จริง ซึ่งจะออกมาเป็นเครื่องมือในการวิจัยเชิงทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่มีจำนวนมากขึ้น เพื่อจะนำไปช่วยลดพฤติกรรมการดื่มสุราต่อไป
ทำไมถึงต้องเป็น CBT
อย่างที่บอกว่าแนวคิดของ CBT คือ การปรับที่ความคิด อารมณ์ สรีระ สิ่งแวดล้อม เพื่อปรับพฤติกรรมการดื่ม บางคนแค่เห็นแก้วสีชาแบบที่เคยดื่ม ก็ถือเป็นสิ่งเร้าทำให้อยากดื่มทันที ดังนั้น เราจึงอยากจัดการตั้งแต่สิ่งเร้า ค้นหาว่าความคิด อารมณ์ และสภาวะร่างกายแบบไหนที่ทำให้เขาดื่ม ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือ ผู้ดื่มมักมีความคิดบางอย่างที่ใช้เป็นเหตุผลเพื่ออนุญาตให้ตัวเองดื่ม เช่น ใครๆ เขาก็ดื่มกัน หรือจะหยุดดื่มเมื่อไหร่ก็ได้ มันอยู่ที่ใจเรานี่แหละ บางคนถึงขั้นคิดว่า การเข้าโรงพยาบาลเพราะปัญหาจากการดื่มเป็นเหมือนการมาอัพร่างกายใหม่ เข้าโรงพยาบาลมาหลายรอบแล้วก็ไม่เป็นไร ซึ่งหากผู้ดื่มยังคิดแบบนี้ ก็จะยังดื่มเหมือนเดิม และเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเองและครอบครัว เราจึงต้องช่วยเขาปรับความคิด เพราะมีแต่ผู้คิดเท่านั้นที่จะปรับความคิดของตนได้
สุราออกฤทธิ์อย่างไร ทำไมทำให้ผู้ดื่มควบคุมตนเองได้ยาก และเราพอมีวิธีแก้ไขหรือไม่ อย่างไร
สุราหรือสารเสพติดใดๆ จะกดการทำหน้าที่ของสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่คิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ การที่สมองส่วนหน้าถูกทำลายก็เหมือนการเปิดประตูให้ดื่มต่อเนื่อง จากตอนแรกที่คิดว่าจะดื่มแค่แก้วสองแก้ว พอสมองส่วนหน้าถูกกดและทำหน้าที่ไม่ได้ ก็กลายเป็นดื่มต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
วิธีแก้ของเราคือ เราจะจับตรงความอยาก เพราะเรามีข้อมูลว่า ความอยากใดๆ จะเหมือนคลื่นที่พัดขึ้นสูงสุดและคาไว้ 20 นาทีโดยเฉลี่ย ถ้าเราประคับประคองให้ผ่าน 20 นาทีไปได้ ความอยากจะลดลงโดยธรรมชาติ และแม้คลื่นความอยากลูกใหม่จะกลับมาอีก เราก็จะจัดการกับมันได้ดีขึ้น ซึ่งจุดที่คลื่นความอยากซัดขึ้นมาสูงที่สุด จะมีแต่ความคิดเท่านั้นที่จะคุมความอยากไว้ได้
อีกตัวแสดงหนึ่งที่สำคัญคือครอบครัว อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่า ทำไมต้องนำครอบครัวเข้ามาร่วมด้วย พวกเขาจะมีบทบาทที่สำคัญอย่างไรในเรื่องนี้
อันที่จริง การทำ CBT ที่นำครอบครัวเข้ามาช่วยเริ่มมาจากการบำบัดในเด็ก เช่น การควบคุมการกินให้เหมาะสม เพราะเด็กควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ เลยต้องให้ครอบครัวมาช่วย ซึ่งคนเมาก็คล้ายเด็ก ควบคุมตัวเองไม่ได้เพราะสมองส่วนหน้าถูกทำลายจากการดื่ม เราจึงเกิดความคิดว่าจะนำครอบครัวเข้ามาช่วยในการบำบัดด้วย
ในการเข้าร่วมโปรแกรมของเรา ผู้ดื่มแต่ละคนจะต้องมีสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลตามมาอย่างน้อยหนึ่งคน แต่เพราะต้องใช้ระยะเวลาทั้งหมด 14 ครั้ง เจอกัน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ บางคนอาจจะมาติดต่อกันขนาดนั้นไม่ได้ เราเลยอนุโลมให้เปลี่ยนผู้ดูแลได้ 1 คน แต่ต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย ที่ต้องเป็นคนเดิม เพราะว่าในการบำบัด 14 ครั้ง ครอบครัวจะต้องเข้าใจแนวคิดที่เรากำลังใช้ปรับคนไข้ คือเหมือนเป็นผู้ช่วยให้เรา แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจขั้นตอน เขาก็ช่วยไม่เป็น หรือไม่รู้จะช่วยยังไง ผู้ดื่มและผู้ดูแลจึงต้องมาเข้าร่วมโปรแกรมด้วยกันตลอด
อีกอย่างหนึ่งคือ คนที่จะทำ CBT ต้องมีการควบคุมตนเอง (Self-control) และต้องมีวินัยในการทำการบ้านที่ได้รับมอบหมาย ครอบครัวจึงจะเป็นเหมือนคุณครู เป็นพี่เลี้ยง เป็นโค้ช เป็นผู้ให้กำลังใจ ที่คอยช่วยดูว่า ผู้ดื่มทำการบ้านตามที่ได้รับมอบหมายหรือยัง ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเคสให้ความร่วมมือ ก็ยิ่งทำให้การปรับพฤติกรรมและอารมณ์มีโอกาสสำเร็จสูง เพราะความคิดไม่ได้อยู่แค่ในห้องบำบัด แต่ข้างนอกก็มีเหมือนกัน นอกจากนั้นครอบครัวยังสามารถช่วยปรับสิ่งแวดล้อมที่อาจเชื่อมโยงกับการดื่มได้อีกด้วย
มีอุปสรรคอะไรไหมกับการนำครอบครัวเข้ามาช่วยตรงนี้
มีค่ะ เพราะครอบครัวส่วนมากเบื่อคนเมาอยู่แล้ว พอเราบอกว่า จะให้เขาเข้ามาช่วยด้วย ก็จะเกิดคำถามหรือข้อโต้แย้งว่า จะต้องมาทำกับเราด้วยเหรอ ซึ่งอันที่จริง เราก็ไม่ได้คาดหวังว่า ครอบครัวทุกครอบครัวจะเห็นด้วยกับการบำบัดแบบนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายครอบครัวที่อยากช่วย แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยให้เขาเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ในเรื่องนี้ เราจึงเสนอวิธี CBT ให้กับเขา
ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการมา อาจารย์ได้ผลลัพธ์หรือเจออะไรที่น่าสนใจบ้าง
เท่าที่เก็บข้อมูลมาได้ มีบางเคสที่ต้องออกจากโครงการกลางคันด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่บางเคสก็มาเข้าร่วมครบทุกครั้ง ผลที่เราเห็นคือ พฤติกรรมการดื่มลดลงจริงๆ บางคนหยุดดื่มแล้วด้วย ข้อดีที่เราเห็นมากกว่านั้นคือ ผู้ดื่มบอกเองว่า ที่บ้านเข้าใจเขามากขึ้น จากที่เคยตำหนิ ก็เปลี่ยนมาเป็นให้กำลังใจและแสดงความเข้าอกเข้าใจแทน ทั้งยังช่วยสนับสนุนเขาในเรื่องการบำบัด ทำให้เขารู้สึกมีกำลังใจ
CBT จะสอนให้ปรับที่ความคิดต่อการดื่ม อารมณ์ และสภาพทางร่างกายที่เชื่อมโยงกับการดื่ม และปรับสิ่งแวดล้อม ปัญหาของผู้ดื่มคือ แพ้ใจ แพ้สภาวะแวดล้อมของตัวเอง คุมตัวเองไม่ได้ ครอบครัวเป็นคนที่อยู่กับเขาตลอด น่าจะเป็นผู้ช่วยเขาได้มากกว่าใครๆ โดยสามารถช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้ ช่วยปรับเรื่องความคิด อารมณ์ และสภาพร่างกาย เช่น ถ้าตัวผู้ดื่มเริ่มแสดงอารมณ์ซึมๆหมองๆ ก็จะทำ mood check ดูว่าเกิดอะไรขึ้น ถามต่อเนื่องให้ชวนคิดไปเรื่อยๆ จนเขาพบความจริงในที่สุด และระหว่างที่ครอบครัวช่วยผู้ดื่ม ครอบครัวก็อาจจะนำเทคนิคบางอย่างมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้เช่นกัน
ในความคิดเห็นของอาจารย์ คิดยังไงกับการนำ CBT เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อบำบัดสุรา
ส่วนตัวคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดีมากค่ะ ในเมื่อคนติดสุราควบคุมตัวเองไม่ได้และต้องการคนช่วย คนๆ นั้นก็ควรจะเป็นคนใกล้ชิด และสามารถดูแลเขาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือคนในครอบครัวนั่นแหละ แต่เราก็ยังต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวด้วย และสัมพันธภาพของสมาชิกครอบครัวคนที่มากับผู้ดื่มก็ต้องดีในระดับหนึ่ง
นอกจากเรื่องที่ว่าสุราเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย หาซื้อง่าย และกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมแล้ว ยังมีปัจจัยใดอีกที่ทำให้การบำบัดสุราในสังคมไทยเป็นเรื่องยาก
ข้อแรกเป็นเรื่องของทัศนคติ บางคนจะมีความคิดว่า ถ้าส่งใครมาบำบัดแล้ว ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขดูแลไป ตัวเองส่งหน้าคลินิกแล้วจบ แต่พอในโปรแกรมนี้ ครอบครัวต้องเข้าไปช่วยบำบัดด้วย บางคนเลยเกิดคำถามว่า ตนเองต้องเข้าไปช่วยตรงนี้ด้วยเหรอ ซึ่งในกรณีของผู้ที่ติดเหล้า จะเห็นว่าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ถ้าคนในครอบครัวมาช่วยก็น่าจะดี เพราะการติดสุราไม่เหมือนโรคอื่น แต่ทุกคนควรมาเข้าใจไปพร้อมกัน เรียนรู้ทักษะทุกอย่างไปด้วยกัน แล้วผู้ดื่มจะมีโอกาสหายจากอาการติดสุราสูงมาก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ติดสุราบางคนมีประวัติการดื่มสุราในครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นปู่ เขาเห็นภาพการดื่มเป็นภาพปกติในตระกูล หรือมองว่าถ้าเขาไม่ดื่ม เขาก็อาจจะอยู่ในกลุ่มเพื่อนไม่ได้ คนที่ดื่มสุราส่วนหนึ่งจะเป็นแบบนี้ คือรู้ว่าดื่มสุรามันไม่ดี แต่ถ้าอยู่ในสังคมที่เขาดื่มกัน ก็พลอยดื่มตามไปด้วย แล้วอย่างที่เรารู้กันว่า สุรายังสอดแทรกอยู่ในบางวัฒนธรรม แทรกซึมเข้าไปโดยที่เราแทบไม่รู้ตัว วัฒนธรรมตรงนี้เป็นอะไรที่เปลี่ยนยากมาก แต่เรายังหวังว่า คนรุ่นใหม่จะยังสามารถเปลี่ยนได้
อาจารย์คิดว่า ตอนนี้ระบบสาธารณสุขของไทยในเรื่องการบำบัดสุราครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่
ระบบของกระทรวงจะมีทั้งป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ หรือควบคุมการผลิต ซึ่งตรงนี้เขาก็ทำตามระบบสากล และพยายามเต็มที่แล้วนะคะ แต่ถ้าในเรื่องของการบำบัดรักษา อันนี้ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร คือการถอนพิษสุราใช้เวลาบำบัดแค่ 3-5 วัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการบำบัดในระยะฟื้นฟู (rehabilitation) ที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก ตรงนี้เราก็เห็นความพยายามต่างๆ เช่น โปรแกรมใกล้บ้านสมานใจของ ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา ซึ่งส่วนตัวมองว่า ระบบการบำบัดฟื้นฟูยังมีโอกาสจะพัฒนาได้อีกเยอะมาก เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่ใช้รักษาได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด วิธีนี้ใช้กับคนนี้ได้ผล อีกคนอาจจะไม่ได้ผลเลย เรื่องกระบวนการรับรู้กับการคิดเป็นเรื่องของปัจเจกมากๆ ดังนั้น มันจึงยาก แต่ถ้าเปลี่ยนได้มันได้ผล
เมื่อเป็นแบบนี้ เราถึงหวังว่าถ้าการบำบัดแบบ CBT ได้ผล จะช่วยประคับประคองไม่ให้คนกลับไปดื่มได้นานขึ้น เพราะเขามีตัวช่วยไง เราหวังไว้แบบนั้น เพราะฉะนั้น ส่วนนี้เรายังสามารถทำอะไรเพิ่มได้อีกมาก
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm