‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ : คุยกับ ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา ว่าด้วยนวัตกรรมบำบัดคนติดสุรา

March 18, 2019


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาการติดสุรานับเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่เรื่องอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ โดยพบว่าในแต่ละปี มีผู้ที่ติดสุราและต้องเข้ารับการบำบัดในสถานบริการสุขภาพเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้ป่วยด้วยโรคที่สืบเนื่องจากการติดสุรา

ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านสาธารณสุขและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ต้นทางอย่างการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ไปจนถึงปลายทาง อย่างการติดตามดูแลผู้ป่วยจากการติดสุราหลังได้รับการบำบัดรักษา 

ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา อาจารย์กลุ่มวิชาการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือบุคลากรที่คลุกคลีกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพอันเกี่ยวเนื่องจากสารเสพติดมายาวนาน โดยโครงการหนึ่งที่นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง คือโปรแกรม ‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ ที่ช่วยประคับประคองผู้ติดสุราหลังเข้ารับการบำบัด ให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และสามารถลด ละ เลิก ได้จริงโดยที่ไม่กลับไปติดสุราซ้ำอีก โดยอาศัยการลงพื้นที่และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรด้านสุขภาพภายในชุมชน 

สำหรับประสิทธิผลในการนำโปรแกรมใกล้บ้านสมานใจไปใช้ทั่วประเทศ ในปี 2554-2555 พบว่า เมื่อผู้ติดสุราได้รับการดูแลติดตามเยี่ยมบ้านตามโปรแกรม สามารถลดการดื่มสุราได้ถึงร้อยละ 90-98 เลิกดื่มสุราได้ถึงร้อยละ 29-35 มีการกลับไปรักษาซ้ำลดลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศเป็นนโยบายให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ ใช้โปรแกรมนี้เป็นหนึ่งในชุดเครื่องมือสำหรับบำบัดผู้ติดสุราหลังจำหน่าย 

Alcohol Rhythm ถือโอกาสนี้สนทนากับ ดร.หรรษา ว่าด้วยที่มาที่ไปและกระบวนการของโปรแกรม‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ ตลอดจนวิธีคิดและมุมมองต่อปัญหาผู้ติดสุราในประเทศไทย 

 

อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าที่มาที่ไปของโปรแกรม ‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ ให้ฟังคร่าวๆ

 

ใกล้บ้านสมานใจ พัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวคิด ‘การบำบัดดูแลเชิงรุกในชุมชน’ ซึ่งตั้งต้นมาจากงานวิจัยในอเมริกา ที่ใช้วิธีการนี้ช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาจิตเวชหลังออกจากโรงพยาบาล ไม่ให้ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีก และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้นานที่สุดโดยให้บุคลากรด้านสุขภาพที่อยู่ในพื้นที่ เข้าไปช่วยดูแล ประคับประคอง และให้คำปรึกษา

เราจึงนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา โดยทำเป็นงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือกันของแผนวิจัยระบบสุรา (IMAP) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โรงพยาบาลสวนปรุง  และโรงพยาบาลจอมทอง เชียงใหม่ เป้าหมายคือมุ่งเน้นการช่วยเหลือติดตามในเชิงรุก โดยอาศัยทีมบุคลากรด้านสุขภาพที่รับผิดชอบในพื้นที่ที่ผู้ติดสุราอาศัยอยู่ ร่วมกับการประคับประคอง ดูแลให้กำลังใจจากญาติและครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ติดสุราหลังการบำบัดสามารถลด ละ เลิกการดื่มสุรา และไม่กลับไปติดสุราซ้ำอีก 

 

ช่วงแรกที่เริ่มโครงการนี้ ค้นพบอะไรบ้าง

 

เราพบว่า ผู้ติดสุราส่วนใหญ่ เขาจะมีปัญหาจากการดื่มสุรา และติดสุรา พอเข้ามาโรงพยาบาล เราแก้เรื่องทางกายได้ คึอช่วยถอนพิษสุรา แต่เราจะพบว่า ผู้ติดสุราเหล่านี้ จะเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยมาก บางคนกลับมา 40-60 ครั้ง ในระยะเวลา 20-30 ปี จึงพยายามหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ก็พบว่า คนเหล่านี้แม้จะรักษาทางกายแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องติดทางใจ เช่น เมื่อรักษาทางกายออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว กลับไปอยู่ในชุมชน เจอสิ่งยั่วยุ หรือเจอปัญหาชีวิต ก็กลับไปดื่มอีก และกลับมาเป็นโรคติดสุราซ้ำแล้วซ้ำอีก

แผนงานวิจัยระบบสุรา จึงมีความคิดว่า น่าจะมีแนวทางประคับประคองคนเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะโรคติดสุราไม่เหมือนโรคทั่วไปที่รักษาแล้วหายขาด แต่โรคนี้มันมีทั้งติดทางกาย และติดทางใจ จึงเป็นที่มาที่ไปว่า จะทำอย่างไรให้คนที่เข้ามารักษาอาการทางกายแล้ว กลับออกไปใช้ชีวิตในชุมชนได้นานขึ้น โดยไม่ต้องกลับมารักษาอีก 

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นว่า การบำบัดดูแลเชิงรุกในชุมชน น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้ ก็เลยทำเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยพัฒนาโปรแกรม ‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ ขึ้นมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน ใช้วิธีการลงพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่การเยี่ยมบ้านอย่างเดียว แต่เราใส่การบำบัดดูแลเข้าไปด้วย ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้าน 9 องค์ประกอบ ที่ได้มาจากงานวิจัย

 

3 ด้าน 9 องค์ประกอบที่ว่า มีอะไรบ้าง และนำไปปฏิบัติอย่างไร

 

3 ด้าน คือ 1) การดูแล ประกอบด้วย เรื่องยา การให้คำปรึกษา และการเข้ารับบริการสุขภาพ  2) การฟื้นฟูสภาพ จะเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน  3) การบริการสนับสนุนและประคับประคอง ประกอบด้วยเรื่องโอกาสในการทำงาน การจัดการเอกสารต่างๆ การช่วยเหลือเรื่องที่พักอาศัย และการจัดการค่าใช้จ่าย 

พอเรามี 3 ด้าน 9 องค์ประกอบที่ว่ามา ก็นำมาสู่การปฏิบัติ ลงพื้นที่ เพื่อบำบัดดูแล โดยจะลงทั้งหมด 10 ครั้งใน 1 ปี โดย 5 ครั้งแรก เราจะลงสัปดาห์ละครั้ง 5 สัปดาห์ติดต่อกัน เพื่อจะทำกระบวนการบำบัดให้ครบ 9 องค์ประกอบ

ครั้งแรก จะดูเรื่องที่อยู่อาศัยกับกิจวัตรประจำวัน กำจัดสิ่งที่ยั่วยุ เช่น ขวดสุรา ขวดเบียร์ เพื่อจะได้ไม่มีตัวกระตุ้น ส่วนกิจวัตรประจำวัน ก็จะให้เขาดูแลในส่วนของการแต่งกาย เสื้อผ้า ความสะอาด 

ครั้งที่สอง เป็นเรื่องของการดูแลตรวจสอบปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการดื่มสุรา เช่น เวลาที่เขาอาจเมาค้างมา หรือถอนพิษมา ถ่ายเป็นเลือด เขาก็จะได้รับการชี้แนะว่าต้องทำอย่างไร ควรปรับพฤติกรรมแบบไหน 

ครั้งที่สาม จะเป็นเรื่องการดูแลสุขภาพกายและใจ ทางกายก็เช่น การรับประทานยาให้สม่ำเสมอ รู้ว่าผลของยาคืออะไร ส่วนทางใจ ก็เช่นการสอนให้รู้จักขอโทษ รู้จักยอมรับความผิดพลาด ที่สำคัญคือ เวลามีสิ่งเร้า หรือมีคนมาชวน จะปฏิเสธยังไง เพราะบางคนปฏิเสธไม่เป็น เวลามีคนชวนไปดื่ม ควบคุมตัวเองไม่ได้ พวกนี้เราจะฝึกทักษะให้หมดเลย

ครั้งที่สี่ เป็นเรื่องของงานกับเงิน ตามไปดูว่าการทำงานเป็นยังไงบ้าง มีอะไรขาดตกบกพร่องมั้ย หรือไปทำงานแล้วยังดื่มสุราอยู่มั้ย บางคนเป็นช่างฝีมือดี แต่พอติดสุราแล้วทำงานไม่ได้ มือไม้สั่น มีผลข้างเคียง ก็จะทำให้เขาเสียโอกาสในการทำงาน แล้วผลที่ตามมาก็คือเงินขาดมือ สุดท้ายก็วนเป็นวัฏจักร 

หรือสำหรับคนที่ยังไม่มีงาน บางทีบุคลากรด้านสุขภาพที่ไปลงพื้นที่ ก็อาจช่วยออกหน้าให้ เช่น พาไปฝากงานตามปั๊มน้ำมัน ช่วยยืนยันว่าคนนี้ทำงานได้นะ ไม่ติดเหล้าแล้ว เพราะเมื่อเขามีงานทำ เขาก็จะรู้สึกว่ามีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ส่วนด้านการเงิน ก็จะสอนให้เขารู้จักการออม งดดื่ม แล้วเอาเงินที่จะไปดื่มมาหยอดกระปุกออมสิน ทำเป็นบัญชีครัวเรือน

นั่นคือการดูแลต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ พอสัปดาห์ที่ 5 เราจะเช็คว่ามีปัญหาตรงไหนบ้างที่ยังไม่ได้แก้ไข เป็นการเช็ครอบสุดท้ายเพื่อดูว่าก๊อกไหนยังรั่วอยู่ ถ้าเจอตรงไหนรั่ว ก็อุดมันซ้ำ ซึ่งการเยี่ยมครั้งที่ 5 นี้ จะเป็นแนวทางของการเยี่ยมครั้งที่ 6 – 10 เพราะหลังจากครั้งนี้ เราจะไม่มาทุกสัปดาห์แล้ว แต่จะเว้นระยะหนึ่งเดือน สามเดือน หกเดือน เก้าเดือน สิบสองสองเดือน จนครบ 10 ครั้งในหนึ่งปีพอดี

โดยในครั้งที่ 5 เราจะให้เขาทำหนังสือสัญญาไว้ แล้วลงชื่อสามฝ่าย คนตัวเขาเอง ญาติหรือครอบคัว และบุคลากรผู้ดูแล ในสัญญาจะให้เขาเขียนถ้อยคำไว้ เช่น ถ้ามีคนชวนกินเหล้า ข้าพเจ้าจะปฏิเสธ, ข้าพเจ้าจะพูดดีๆ กับภรรยา ไม่ใช้อารมณ์ เพื่อจะได้ไม่นำไปสู่การทะเลาะวิวาท, ข้าพเจ้าจะดูแลร่างกาย ออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เป็นต้น พอทำสัญญาแล้ว การเยี่ยมตั้งแต่ครั้งที่ 6 เป็นต้นไป ซึ่งมีระยะห่าง เราก็ต้องวัดใจเขา จะบอกเขาว่าเราไม่ได้มาบ่อยแล้วนะ เพราะเรารู้ว่าคุณจะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง

 

การลงพื้นที่ช่วงแรก จำเป็นต้องเช็คให้ครบทุกองค์ประกอบไหม เพราะแต่ละคนก็อาจมีปัญหาต่างกันไป ทำไมไม่เจาะจงไปที่ปัญหารายบุคคลไปเลย

 

เราก็เคยคิดแบบนั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว เวลาเราลงพื้นที่ เราไม่มีทางรู้ร้อยเปอร์เซนต์หรอกว่าใครมีปัญหาอะไร ความเชื่อพื้นฐานของเราคือ อาจมีอะไรบางอย่างซึ่งเขาไม่บอก แล้วในเมื่อไหนๆ เราพบว่า 9 องค์ประกอบนี้แหละ คือตัวการที่นำไปสู่การดื่มสุราซ้ำ ฉะนั้นเราก็ดูแลทั้ง 9 องค์ประกอบเลยละกัน 

 

เป้าหมายของโปรแกรมนี้ คือการทำให้เขาเลิกโดยเด็ดขาดเลยไหม

 

ไม่ใช่ โปรแกรมนี้เราไม่ได้เน้นให้เลิก เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะดื่มมานาน ดื่มเยอะ อย่างต่ำๆ ก็ยี่สิบปีขึ้นไป ฉะนั้นเป้าหมายจึงไม่ใช่การทำให้เลิกขาด เขาอาจยังดื่มอยู่ก็ได้ แต่อย่าดื่มจนป่วยอีก ทีนี้ สิ่งที่เราได้มาเป็นของแถม คือมีคนที่เลิกขาดได้ถึง 29-35% ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตื่นเต้นมาก และแสดงให้เห็นว่าแนวคิดที่เราใช้ สามารถช่วยปิดช่องว่างที่จะทำให้เขากลับไปดื่มได้จริง 

 

จากที่เล่าว่าเริ่มต้นทดลองใช้ในเชียงใหม่ หลังจากนั้นทำอย่างไรให้โปรแกรมนี้ยกระดับไปสู่ระดับประเทศได้

 

จากโมเดลที่เล่าให้ฟัง ซึ่งเราทดลองนำไปใช้ในพื้นที่เชียงใหม่ ก็ได้นำมาสู่การทำวิจัยชุดที่สอง เพื่อศึกษาว่าโมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในวงกว้างได้หรือไม่ คือการศึกษาผลลัพธ์ทางกระบวนการ เพื่อทดสอบว่า ทำได้ไหม ทำได้จริงรึเปล่า ทำแล้วเป็นที่พอใจของผู้ติดสุรา รวมถึงญาติและบุคลากรด้านสุขภาพไหม 

อีกส่วนคือการวัดผลลัพธ์ทางคลินิค คือลดการดื่มลงได้จริงรึเปล่า ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเป็นยังไง คุณภาพชีวิตเป็นยังไง 

ส่วนสุดท้าย คือการดูต้นทุนประสิทธิผล ว่าใช้แล้วสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไหม เหมาะสำหรับการนำไปปรับใช้ในนโยบายระดับประเทศไหม มีความคุ้มค่าคุ้มทุนไหม 

โดยเราทำการศึกษาใน 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ตั้งต้นจากโรงพยาบาลจิตเวช ในสังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยอาศัยความร่วมมือจากโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นลูกข่ายของโรงพยาบาลจิตเวชนั้นๆ ใช้เวลาศึกษาอยู่ราวๆ สองปี ซึ่งได้คำตอบที่น่าสนใจคือ สามารถลดละเลิกการดื่มสุรา เฉลี่ยในระดับประเทศได้ 95-98 % โดยมีคนที่สามารถเลิกดื่มได้ 29-35% อย่างที่บอกไป

ส่วนผลลัพธ์ทางคลินิก เราพบว่าคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นจริง มีปัญหาจากการดื่มสุราลดลง ส่วนผลลัพธ์ทางกระบวนการ เราพบว่าผู้ติดสุราพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเราประเมินจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเขา ผลที่ได้คือ เขาบอกว่าเขาได้ประโยชน์จริง เพราะสามารถกลับไปทำงานได้ เขามีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่าย เขาสุขภาพแข็งแรงขึ้น ที่สำคัญคือเขาเป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้านและชุมชน ไม่ถูกมองเป็นขยะของสังคมอีกต่อไป

ส่วนความพึงพอใจของญาติ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือรู้สึกว่าได้คนของเขากลับคืนมา บางรายร้องไห้ บอกว่ายิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง เพราะบางกรณี ช่วงที่เขายังติดสุรานั้น ถึงกับต้องขายบ้าน ขายรถ ขายที่ดิน ถูกไล่ออกจากงาน

 

มีกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจไหม

 

มีเคสหนึ่งเราตามไปเยี่ยม อยู่ที่ลำปาง พบว่าเขาไม่เหลืออะไรเลย เคยทำงานราชการ ก็ถูกไล่ออก แม้เจ้านายจะให้ไปบำบัดแล้ว กลับมาก็ยังเลิกไม่ได้ สุดท้ายเขาสูญเสียทุกอย่าง แต่พอมีโปรแกรมนี้ลงไป ใช้เวลาหนึ่งปีเต็ม ปรากฏว่าหลังจากการติดตามผลเมื่อผ่านไปสามปี เขาได้งานกลับคืนมาทั้งหมด ได้ที่ดินใหม่ เริ่มต้นครอบครัวใหม่ ที่สำคัญคือ แม่เขาพูดจากปากเลยว่า ต่อให้ไฟไหม้บ้าน ก็ยังไม่เสียหายเท่ากับลูกติดเหล้า เพราะเขาเหมือนได้รับชีวิตใหม่ 

อีกเคสที่เป็นเคสคลาสสิก คือลุงคนนึงที่อยู่ภาคใต้ เคยเมาหนักจนพลัดตกท้องร่อง มีปัญหาทะเลาะตบตีภรรยา แต่พอโปรแกรมนี้ลงไป ก็ช่วยชุบชีวิตเขาใหม่ เราไปเยี่ยมหลังจากห้าปีผ่านไป พบว่าลุงคนนี้กลายเป็นคนใหม่ หน้าตาสดชื่นแจ่มใส ดูดี ที่สำคัญคือกำลังจะสมัครเป็นนายก อบต. 

ตลอดหลายปีที่ทำมา เราพบกรณีที่น่าสนใจมากมาย แต่โดยรวมคือมันสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นได้ รวมถึงคนรอบข้างก็ดีขึ้น นี่คือผลลัพธ์เชิงกระบวนการ

ส่วนสุดท้ายที่ยังไม่ได้พูด คือด้านต้นทุนประสิทธิผล เราพบว่าการที่เขาไม่ต้องกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลซ้ำแล้วซ้ำอีก ช่วยประหยัดงบประมาณได้มหาศาล ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า คนไข้หนึ่งราย เข้ารับการบำบัดหนึ่งครั้ง จะหมดเงินราวๆ สองหมื่นบาทต่อคน ต่อครั้ง แล้วลองคิดดูว่า ถ้าคนหนึ่ง ต้องเข้าออกโรงพยาบาลหลายๆ ครั้ง เช่น มารักษาแล้วกลับออกไปได้เดือนเดียว กลับมาอีกด้วยโรคเดิม เพราะไม่สามารถควบคุมหรือประคับประคองตัวเองได้ จะคิดเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ 

อย่างที่เล่าให้ฟังว่า บางรายกลับมา 20 กว่าครั้ง หนักๆ หน่อย ก็ 30-40 ครั้ง ในระยะเวลาหลายสิบปี แล้วเอาสองหมื่นคูณเข้าไป คิดเป็นเงินมหาศาล ซึ่งการทำโปรแกรมนี้ เอาเข้าจริงแล้วไม่แทบเสียเงินด้วยซ้ำ เพราะยังไงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข บุคลากรสุขภาพในชุมชน เขาต้องลงพื้นที่อยู่แล้ว เป็นงานประจำของเขา อาจเสียเงินค่าเอาไข่เอาข้าวไปฝาก (หัวเราะ) เป็นสินน้ำใจ หรืออาจมีค่าน้ำมันนิดๆ หน่อยๆ แต่โดยพื้นฐานมันเป็นงานในหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว 

แต่ในเมื่อมันเป็นงานวิจัย เราก็ต้องคำนวณหน่อย ซึ่งพอคำนวณออกมา เป็นเงินเฉลี่ย 150 บาทต่อการเยี่ยมหนึ่งครั้ง หรือ 1,500 บาทต่อการเยี่ยมสิบครั้งก็ถือว่าคุ้มค่าคุ้มทุน ประหยัดกว่าการที่เขาต้องกลับไปอยู่ในโรงพยาบาลแน่นอน 

ที่สำคัญคือ บุคลากรที่ไปเยี่ยม ก็คือคนใกล้บ้านที่ทำหน้าที่ตรงนั้นอยู่แล้ว มีต้นทุนทางสังคมคือรู้จักสมาชิกในชุมชนดีอยู่แล้ว แล้วก็สามารถลงพื้นที่ได้ 24 ชั่วโมง นี่คือความ ‘ใกล้บ้าน’ ส่วนเรื่อง’สมานใจ’ ก็คือการติดตามใน 3 ด้าน 9 องค์ประกอบอย่างที่บอกไป ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมา คือสามารถช่วยจัดการกับผู้ที่จะกลับไปดื่มสุราซ้ำ รวมถึงการป่วยด้วยโรคติดสุราได้อย่างยั่งยืน

 

ทราบมาว่าปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุโปรแกรมนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแล้ว

 

ใช่ ปัจจุบัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรจุโปรแกรม ใกล้บ้านสมานใจ ให้เป็นกระบวนการช่วยเหลือผู้ติดสุราชุดที่ 3 เพื่อนำไปใช้การดูแลและประคับประคองหลังจากผู้ป่วยถูกจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ต่อเนื่องจากชุดที่ 1 คือการคัดกรองผู้มีปัญหาจากสุรา เพื่อส่งเข้าระบบ ถ้าพบว่ามีปัญหา ก็จะส่งเข้าไปบำบัดในโรงพยาบาลด้วยเครื่องมือการบำบัด ชุดที่ 2  ต่อมาเมื่อจำหน่ายจากโรงพยาบาลแล้ว ก็จะทำการติดตามและประคับประคองด้วยเครื่องชุดที่ 3 คือโปรแกรมใกล้บ้านสมานใจ ต่อด้วยชุดที่ 4 คือการดูแลประคับประคองร่วมกับกับ อสม. และคนในพื้นที่ ด้วยมาตรฐานชุมชน

 

โดยส่วนตัว อาจารย์ค้นพบอะไรใหม่ๆ จากการทำโปรแกรมนี้ไหม

 

รู้สึกว่างานดูแลผู้ติดสารเสพติด เป็นงานที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน การที่คนๆ หนึ่งเข้าไปพัวพันกับการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะสารเสพติดประเภทสุรา ซึ่งถูกกฎหมาย เป็นอะไรที่คนข้างนอกอาจมองไม่เห็น ว่าเพราะอะไรเขาถึงต้องไปยุ่งเกี่ยวหรือใช้สารเสพติดประเภทสุราจนเขาป่วย 

แต่เมื่อเราได้ลงไปสัมผัสและทำงานกับกลุ่มคนเหล่านี้ เราจะเริ่มเห็นว่า ตอนแรกๆ เขาอาจจะหลงเข้าไปอยู่กับสุรา แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันมีปัจจัยอีกมากมาย โดยเฉพาะ 3 ด้าน 9 องค์ประกอบ ที่เราใช้เป็นแนวทางในการดูแล ล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การกลับไปดื่มซ้ำทั้งสิ้น 

ที่สำคัญ คำว่าสารเสพติด มันคือสารเคมีที่มีผลต่อสมอง เมื่อเขาหลงเข้าไปในวังวนนั้นแล้ว จึงเป็นเรื่องยากมากที่เขาจะหลุดออกมาได้ด้วยตัวเอง ฉะนั้น นอกจากการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองเป็นหลักแล้ว ยังต้องอาศัยการประคับประคองจากคนใกล้ตัว รวมถึงผู้รู้อย่างบุคลากรด้านสุขภาพด้วย เขาจึงจะสามารถหลุดออกจากวังวนนั้นได้ แล้วกลับมาเป็นคนที่มีคุณภาพต่อสังคมดังเดิม

 

แต่กับคนทั่วไป อาจไม่ได้มองอย่างเข้าใจขนาดนั้น

 

ใช่ คนทั่วไปมักเข้าใจว่าการลด เลิก ตัด ไม่ใช้สารเสพติด ไม่ดื่มเหล้า ไม่น่าจะใช่เรื่องยาก แต่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องของการติด เป็นเรื่องของสมอง ซึ่งแก้ยาก ดังนั้นถ้าไม่มีใครช่วยเหลือ ช่วยประคับประคองเขา กระทั่งไปประณาม ตั้งข้อรังเกียจ มองว่าเป็นการหาเรื่องใส่ตัว ทำตัวเอง แก้ปัญหาผิดๆ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญและช่วยเหลือเขาอย่างจริงจัง แบบนั้นถือว่ามาไม่ถูกทาง

สำหรับคนที่ไม่ติด เราอาจมองแบบนั้นได้บ้าง เพราะเขายังไม่ป่วย แต่กับคนที่ติด มันหมายความว่าเขาป่วย ยังไงเราก็ต้องช่วยเขา ฉะนั้นโดยส่วนตัว จึงมองว่าควรต้องช่วย และควรต้องช่วยอย่างจริงจัง เพราะตัวเขาเองก็ทุกข์อย่างแสนสาหัสกับการต้องติดอยู่ในหลุมดำของการติดสุรา

 

 

นอกจากโปรแกรม ‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ แล้ว ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา ยังดูแลรับผิดชอบโครงการเกี่ยวกับการเลิกสุราอีกหลายโปรแกรม อาทิ โครงการ โทรถามตามเยี่ยม, เลิกเหล้าเพราะมีเรา, แอพพลิเคชั่น ‘เลิกเหล้าเข้าท่า’, ปัญญาชนคนไม่เมา ฯลฯ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เธอได้รับรางวัลธัญญารักษ์อวอร์ด ประจำปี 2561 ประเภทผู้ที่มีผลงานวิชาการด้านการบำบัดรักษาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด การป้องกันและการแก้ไขปัญหายาเสพติด

ส่วนโปรแกรม ‘ใกล้บ้าน สมานใจ’ เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดนวัตกรรมเพื่อประชาชน จากสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย และสภาพยาบาลแห่งประเทศไทย ในปี 2558 และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดนวัตกรรมแห่งประเทศ จากเวที National Innovation Award ประจำปี 2561

 

Download คู่มือการดูแลผู้ติดสุราสำหรับ ‘ญาติ’ ในโปรแกรมใกล้บ้านสมานใจ

Download คู่มือการดูแลผู้ติดสุราสำหรับ ‘บุคลากรสุขภาพ’ ในโปรแกรมใกล้บ้านสมานใจ

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles