ปัญหาการติดสุราเรื้อรังเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และปัญหานี้ก็ไม่ใช่ปัญหาแค่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่มีผลกระทบกับชุมชน สังคม จนถึงในระดับประเทศชาติ
ในประเทศไทย แม้จะมีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการรณรงค์ให้ผู้ที่มีอาการติดสุราเข้ารับบริการบำบัดฟื้นฟู แต่งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า จำนวนคนที่เข้าถึงการให้บริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรายังน้อยจนน่าใจหาย อีกทั้งยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าตนเองสามารถเข้ารับบริการบำบัดฟื้นฟูได้ หรือไม่รู้ว่าตนควรจะเข้ารับบริการที่ไหน
‘โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา หรือโครงการ Alcohol Rhythm’จึงเกิดขึ้น โดยความริเริ่มของมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ร่วมกับทีม 101 ที่จะมาช่วยกันสร้างและสื่อสารความรู้สู่ประชาชนทั่วไปในรูปแบบที่เป็นมิตรและน่าติดตาม ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในโอกาสเริ่มต้นโครงการ เราขอพาคุณไปร่วมสนทนากับ ดร.รุ่งนภา คำผาง หัวหน้าโครงการพัฒนาข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (Alcohol Rhythm) จากมูลนิธิ HITAP เกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาในการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูการติดสุราของไทยในภาพใหญ่ รวมถึงชวนพูดคุยเกี่ยวกับโครงการ Alcohol Rhythm ในประเด็นเรื่องที่มา การดำเนินงาน และทิศทางอนาคต เพื่อจะช่วยให้คุณได้รู้จักโครงการนี้มากขึ้น
มาเริ่มเปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้าไปพร้อมๆ กันได้ ในบทสนทนาต่อไปนี้
มูลนิธิ HITAP มีหน้าที่หลักและความเชี่ยวชาญอย่างไร และอะไรคือตัวจุดประกายที่ทำให้มาทำงานเกี่ยวกับเรื่องแอลกอฮอล์ จนเกิดเป็นโครงการ Alcohol Rhythm
ปกติทาง HITAP จะทำงานวิจัย และเน้นการนำงานวิจัยไปใช้ในทางนโยบาย เพราะความเชี่ยวชาญของ HITAP คือ การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของยาและมาตรการต่างๆ อีกทั้งเรายังมีประสบการณ์ในการช่วยพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค พูดง่ายๆ คือ เมื่อมีมาตรการเกี่ยวกับบริการที่รัฐจะเป็นผู้จ่ายเงินเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับสิทธิฟรี หน้าที่ของเราคือพิจารณาหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับโครงการนั้นๆ เช่น มาตรการที่ว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
ส่วนตัวจุดประกายที่ทำให้ได้ทำงานเกี่ยวกับแอลกอฮอล์คือ เราเคยทำการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการคัดกรองแอลกอฮอล์ ซึ่งตอนนั้นเราได้รู้จักกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านนี้ ทั้งคุณหมอสาวิตรี อัษณางค์กรชัย และคุณหมอพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ซึ่งท่านทั้งสองเป็นผู้ผลักดันเรื่องการคัดกรองการดื่มสุราในบุคคลทั่วไปที่ยังไม่ติดเหล้า เพื่อหาว่าใครมีแนวโน้มที่จะติดเหล้า ถ้ามีแนวโน้มจะติด จะให้การบำบัดแบบย่อ คือการพูดคุยกันให้ผู้ดื่มทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงจากการดื่มเหล้าอย่างไรและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลดหรือเลิกดื่มซึ่งเมื่อได้มาทำงานตรงนี้และได้รับรู้เรื่องราวแบบนี้ ทำให้เรารู้ว่าปัญหาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์เป็นปัญหาที่สำคัญมาก
นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสได้ร่วมโครงการ Treatment Gap หรือช่องว่างของการรักษาโรคทางจิตเวช และปัญหาแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในนั้น หลายพื้นที่มีคนติดเหล้าและต้องการการบำบัด แต่มีอุปสรรคทั้งทางฝั่งผู้ให้บริการที่ไม่สามารถจัดการบริการได้เพราะเหตุผลด้านความรู้และทักษะ และอุปสรรคทางฝั่งผู้รับบริการที่พวกเขาไม่รู้ว่าอาการติดเหล้าสามารถบำบัดได้ อีกเรื่องคือในสังคมยังมีปัญหาเรื่องการตีตรา มองว่าไม่ต้องสนใจคนติดเหล้าก็ได้ คนติดเหล้าไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัวและสังคม นี่จึงเป็นที่มาที่ทาง HITAP สนใจประเด็นเรื่องแอลกอฮอล์ อีกทั้งคุณหมอยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขามูลนิธิ HITAP ก็ได้ทำงานร่วมกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และร่วมกับแพทย์อีกหลายท่าน จึงเกิดเป็นที่มาของโครงการ Alcohol Rhythm นี้
เท่ากับว่านี่คือโจทย์ตั้งต้นของโครงการ Alcohol Rhythm
อันที่จริงแล้ว ผู้ที่จุดประกายโครงการคือคุณหมอพันธุ์นภากับทางสสส. เพราะคุณหมอเคยขอทุนจากสสส.ไปทำงานวิจัยและพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบการให้บริการเพื่อบำบัดผู้มีปัญหาติดสุรารวมทั้งจัดทำคู่มือและเครื่องมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง แต่คุณหมอพันธุ์นภาเห็นว่าสิ่งที่ยังขาดอยู่คือ การนำรูปแบบการให้บริการรวมถึงเครื่องมือเหล่านี้ไปผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายระดับประเทศ เกิดการให้บริการจริงในระบบสุขภาพ และที่ผ่านมา คุณหมอก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันผ่านสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่โครงการนี้จะมาช่วยเน้นในด้านระบบบริการสุขภาพและด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข คือชี้ให้เห็นว่าประเด็นปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร ระบบสุขภาพมีจุดอ่อนตรงไหน บริการสุขภาพที่พัฒนาขึ้นมีต้นทุน ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือภาระงบประมาณอย่างไร ซึ่งคุณหมอพันธุ์นภามองว่าจุดแข็งของ HITAP คือการทำงานวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริง อีกทั้ง HITAP ยังเป็นเหมือนตัวเชื่อมกับหลายๆ หน่วยงาน จึงชวน HITAP มาร่วมงาน และเกิดเป็นโครงการ Alcohol Rhythm
อีกท่านหนึ่งที่เป็นผู้มอบหมายให้เขียนโครงการนี้คือคุณหมอยศ ซึ่งมองว่าที่ผ่านมาเรามีองค์ความรู้ แต่ไม่ได้ถูกสื่อสารออกไป ผู้ที่ต้องการจะใช้ประโยชน์ก็เข้าไม่ถึงแหล่งความรู้ ส่วนนักวิจัยก็ไม่ได้มีทักษะด้านการจัดการความรู้ คุณหมอยศจึงคิดว่า หากให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจัดการความรู้มาช่วยน่าจะดี เมื่อมีการริเริ่มโครงการขึ้นจริงๆ จึงมีการชวนทีม 101 มาร่วมด้วย เพราะสิ่งที่เราอยากให้เกิดคือ มีทั้งความรู้ และการสื่อสารความรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่อยากให้ความรู้ไปถึง
โครงการนี้จึงเกิดจากความร่วมมือกันของหลายฝ่าย?
ใช่ เราอยากให้มีการเข้าถึงบริการคัดกรอง บำบัดดูแลและฟื้นฟูเพิ่มขึ้นผ่านทางการสร้างความรู้ แต่เราไม่อยากสร้างความรู้คนเดียว เพราะถึงแม้ HITAP จะมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข หรือการวิจัยด้านระบบสาธารณสุข แต่ทางด้านเนื้อหา (Content) เกี่ยวกับสุรา ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกมากมายในไทย ดังนั้น การที่จะทำให้สิ่งนี้ยั่งยืนและอยู่ได้ น่าจะต้องอาศัยความร่วมมือกันของผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่มาทำงานเป็นเครือข่ายกัน
ดังนั้น นอกจากการสื่อสารความรู้กับประชาชนทั่วไปที่เราจะเปิดเป็นเว็บไซต์ขึ้นมาแล้ว ยังมีงานวิจัยที่ทาง HITAP เป็นผู้ทำ และมีการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตหลักฐานทางวิชาการ หรือผู้ทำวิจัยเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้มากขึ้น
งานวิจัยที่ถูกรวมในเครือข่ายจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง
งานวิจัยที่ว่าอาจเป็นได้ทั้งในเชิงนโยบาย เช่น มีระบบการให้บริการใดที่ยังไม่ราบรื่น หรือแม้กระทั่งงานวิจัยในเรื่องของการบำบัดทางเลือก ซึ่งงานวิจัยของต่างประเทศพบว่า ผู้ติดเหล้าส่วนใหญ่ไม่ได้อยากไปบำบัดที่สถานให้บริการ แต่อยากจะไปบำบัดแบบทางเลือกแทน ซึ่งการบำบัดทางเลือกก็อาจจะเป็นทางหนึ่งที่มาช่วยเสริมการบำบัดหลักได้
แล้วโจทย์วิจัยของทาง HITAP จะเกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง
โจทย์วิจัยทั้ง 4 เรื่องของเราตอนนี้เป็นฉบับร่าง ซึ่งสามารถถูกปรับแก้ได้ภายหลัง โดยเรื่องแรก จะเป็นเรื่องการวิเคราะห์ผลเสียในทางเศรษฐศาสตร์ของคนที่ติดเหล้า โดยมุ่งหาว่า หากผู้ที่ติดเหล้าไม่เข้ารับการบำบัด หรือยังคงดื่มเหล้าต่อไปจะเกิดผลเสียอย่างไร ทั้งต่อระบบสุขภาพและระบบใหญ่ทั่วไป เช่น ถ้าเราบอกว่า หากผู้ติดเหล้าไม่มารับการบำบัดจะทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น การวิจัยนี้จะใช้การสร้างแบบจำลองเพื่อทำนายว่า ถ้าผู้ติดเหล้ามาบำบัด ความสูญเสียจะลดลงเท่าไหร่ โดยเราจะแบ่งออกเป็นสถานการณ์ๆ คือสมมติว่าถ้ามีคนเข้าถึงบริการ 10% สถานการณ์จะเป็นอย่างไร และถ้าเพิ่มเป็น 20% ตัวเลขจะเปลี่ยนไปอย่างไร
เรื่องที่สองเป็นการศึกษาอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่มารับบริการบำบัดฟื้นฟู โดยเราต้องดูทั้งสองฝั่ง คือทั้งฝั่งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ โดยในฝั่งผู้ให้บริการ เราจะดูว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่จะเป็นปัญหา อุปสรรค หรือปัจจัยที่ทำให้เขาจัดบริการไม่ได้ รวมถึงเรื่องที่ว่า หากมีการประชาสัมพันธ์การให้บริการ ประชาชนจะรับรู้ไหม ขณะที่ทางฝั่งผู้รับบริการ เราจะศึกษาเรื่องความต้องการว่าพวกเขาอยากบำบัดไหม และถ้าอยาก รู้ไหมว่าตัวเองต้องไปบำบัดที่ไหน
เรื่องที่สาม เกี่ยวกับความลังเลในการเข้ารับการรักษา (Treatmenthesitancy) ซึ่งเป็นความพยายามในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับผู้ให้บริการ หรือผู้ที่ทำงานในชุมชน ได้ไปทำการสำรวจว่าเพราะเหตุใดคนถึงไม่มาเข้ารับการบริการ โดยเราจะทำเครื่องมือขึ้นมาให้ผู้ปฏิบัติงาน เช่น NGOs หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ใช้สำรวจในชุมชนว่า มีคนที่มีแนวโน้มจะมีปัญหากี่คน และมีผู้ที่มีปัญหาอยากเข้ารับการบำบัดไหม จากนั้น จึงนำส่งข้อมูลนี้ให้กับผู้รับผิดชอบ เพื่อที่จะได้วิเคราะห์สถานการณ์ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไม่สามารถมาบำบัดได้
และเรื่องสุดท้าย เป็นการทบทวนการศึกษาที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาและทำให้เกิดการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เช่น ดูว่าปัจจัยใดที่ควรมีในระบบแต่ยังไม่มี หรือเป็นการเปรียบเทียบบริการของไทยกับต่างประเทศว่ามีบริการใดที่แตกต่างกันบ้าง เพราะเหตุใด
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ Alcohol Rhythm คือกลุ่มใดบ้าง และโครงการจะสนับสนุนและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
เนื่องจากโครงการมีทั้งการทำวิจัยและการทำงานสื่อสาร กลุ่มเป้าหมายจึงจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มนักวิจัย และกลุ่มประชาชนทั่วไป ถ้าเป็นกลุ่มนักวิจัย โครงการจะเน้นการทำวิจัย เพื่อตอบโจทย์การออกนโยบายและไปแก้ปัญหาในระดับภาพรวมของประเทศ เพื่อเปิดช่องให้เกิดบริการบำบัดและฟื้นฟูมากขึ้น และให้คนได้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ส่วนการสื่อสารก็จะมีทั้งกับผู้กำหนดนโยบาย และกับประชาชนทั่วไป แต่โครงการของเราจะเน้นที่กลุ่มหลังมากกว่า ซึ่งก็คือการจัดทำเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลในรูปแบบย่อยง่าย และเป็นมิตรกับผู้อ่าน
ที่ผ่านมา สถานการณ์การเข้าถึงบริการของไทยเป็นอย่างไรบ้าง
จากการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับการสำรวจระบาดวิทยา ปีพ.ศ. 2556 ของกรมสุขภาพจิต พบว่า ปีๆ หนึ่ง มีผู้มีปัญหาติดเหล้า 5% และในจำนวนนี้ มีคนเข้าถึงบริการคิดเป็น 7% นี่สะท้อนให้เห็นว่า คนที่มีปัญหาติดเหล้าไม่ได้หาช่องทางในการบำบัด ซึ่งเราหวังว่าในอนาคต ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัดมากขึ้น
เราพูดได้ไหมว่าปัญหาหลักและช่องว่างในการเข้าถึงบริการ คือประชาชนทั่วไปไม่รับทราบข้อมูล
ตามหลักแล้ว ปัญหาเกิดจากทั้ง 2 ฝั่ง คือทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ บางที่อาจไม่มีบริการให้ ส่วนคนจะมารับบริการก็ไม่มีช่องทางรับข้อมูลข่าวสาร นี่จึงเป็นที่มาของการทำเว็บไซต์ในโครงการ Alcohol Rhythm ซึ่งเป้าหมายของการทำเว็บคือตัวญาติของคนติดเหล้า เพราะตัวคนติดเหล้าอาจจะไม่ได้สนใจหาข้อมูลเอง แต่ตัวญาติที่เห็นคนติดเหล้าต้องทุกข์ทรมานต่างหาก ที่อยากจะชวนเขามาเลิกเหล้า เว็บนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้คนที่ต้องการข้อมูลมาค้นข้อมูลได้ คือเป็นตัวลดช่องว่างการเข้าไม่ถึงบริการและทำให้หาข้อมูลได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันนี้ คนจำนวนหนึ่งเริ่มหันหน้าเข้าหาการบำบัดทางเลือกแทนการบำบัดในระบบสาธารณสุข แล้วแนวโน้มของการบำบัดทางเลือกจะเป็นอย่างไร มีโอกาสเข้ามาแทนการบำบัดในระบบหลักไหม
การบำบัดทางเลือกจัดว่าเป็นการบำบัดรูปแบบหนึ่ง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายข้อ เช่น ศูนย์ที่ให้บริการการบำบัดทางเลือกยังมีอยู่ไม่มาก ถ้าเทียบกับศูนย์ที่ให้บริการการบำบัดหลัก อีกทั้งการบำบัดหลักจะมีการทดสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มีการเก็บข้อมูล มีการระบุชัดเจนว่า ถ้าบำบัดด้วยวิธีนี้จะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใดในการเลิกเหล้า ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่การบำบัดทางเลือกไม่มี
อีกข้อจำกัดหนึ่งคือ การบำบัดทางเลือกมีไว้สำหรับกลุ่มคนที่คิดว่าตนเองบริหารจัดการตนเองได้ และการบำบัดทางเลือกควรจะเกิดจากความร่วมมือกันของคนในชุมชนด้วย เพราะเราไม่รู้เลยว่า ถ้าเราจัดการบำบัดทางเลือกขึ้นมา ใครจะจ่ายเงินอุดหนุนให้ หรือคนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และต้องเสียเท่าไหร่ จากข้อจำกัดที่กล่าวมาจะเห็นว่า การบำบัดทางเลือกก็สามารถเป็นตัวเลือกหนึ่งได้ในอนาคต แต่ถ้าถามว่าจะมีโอกาสเข้ามาแทนการบำบัดในระบบหลักเลยหรือไม่ คำตอบอาจจะยังไม่แน่ชัดนัก
สถานการณ์การบำบัดทางเลือกในต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
การสำรวจในสหรัฐฯ พบว่า คนอเมริกันจะชอบกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (self-help group) มากกว่า คือเป็นการนั่งล้อมวง และแชร์ประสบการณ์การบำบัดกัน
ในอนาคต โครงการ Alcohol Rhythm จะดำเนินไปในทิศทางใด
หลังจากการเริ่มต้นในช่วงแรกแล้ว เราต้องมีการประเมินว่า โครงการของเราบรรลุเป้าหมายที่จะทำให้คนเข้าถึงบริการได้มากขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้อาจจะประเมินยาก เพราะการเข้าถึงบริการมากขึ้นเกิดจากปัจจัยอื่นได้ด้วย เช่น กรมควบคุมโรคที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง อาจจะมีมาตรการที่เข้าไปช่วยกระตุ้นด้วย อีกทั้งเรายังต้องประเมินว่าโครงการของเราได้ทำอะไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง คนเข้าถึงตัวเว็บได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ในแผนประเมินกลาง (ช่วงปีครึ่ง) เราจะได้ข้อมูลมาพิจารณาด้วยว่า สิ่งที่เราทำมาดีไหม แล้วเราจะปรับอะไรเพิ่มได้บ้าง
สำหรับทิศทางในอนาคต คือหลังจากเราทำการประเมินแล้ว เราน่าจะได้ข้อมูลว่า สิ่งที่เราทำนั้นบรรลุวัตถุประสงค์แค่ไหน ส่วนงานวิจัยเชิงนโยบายในอนาคต เราอาจจะพิจารณาเรื่องมาตรการที่จะทำให้คนอยากมารับบริการ ซึ่งนี่จะเป็นโจทย์ที่ยาก และเป็นโจทย์ที่จะทำการต่อยอดต่อไป
เท่ากับว่าในอนาคต ทางโครงการจะมีการประสานงานกับหลายภาคส่วนมากขึ้นมากกว่าเดิม
ใช่ รวมถึงเครือข่ายต่างๆ ด้วย เพราะหลังจากเริ่มโครงการไปสักระยะ เครือข่ายผู้ผลิตหลักฐานทางวิชาการน่าจะแข็งแรงขึ้น สิ่งที่เราคิดว่าจะเห็นเป็นรูปร่างมากขึ้นคือ มีคนที่มุ่งทำงานเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูอาการติดสุรามากขึ้น และมีโจทย์วิจัยที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้โครงการ Alcohol Rhythm ก็จะเป็นช่องทางที่เปิดให้นักวิจัย หรือผู้สนใจนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้วย
ในฐานะหัวหน้าโครงการ คาดหวังอะไรจากโครงการ Alcohol Rhythm บ้าง
ด้วยความที่เราเป็นนักวิจัย เราจึงมุ่งทำวิจัยเพื่อที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ และหนึ่งในงานที่เราจะทำคือ การค้นหาปัญหาอุปสรรคในการเข้ารับบริการ ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เราพอได้ยินมาคือเรื่องของการตีตราคนติดเหล้า หรือปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างคนติดเหล้ากับคนในครอบครัว ในอนาคต เราคาดหวังว่างานวิจัยของเราจะถูกผลักดันไปใช้ในเชิงนโยบายมากขึ้น อยากให้เกิดเครือข่ายคนที่จะมาร่วมผลักดันเรื่องนี้ และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า อยากให้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่ถูกจัดทำขึ้นมา ถูกสื่อสารไปให้ถึงคนที่จำเป็น เช่น คนที่มีคนใกล้ตัวติดเหล้า เขาอาจจะคิดว่าเขาไม่มีทางออกแล้ว แต่เมื่อเขาเห็นข้อมูลของเรา ก็จะเป็นตัวจุดประกายว่าเรื่องนี้ยังมีทางออก มีทางรักษาและบำบัดได้ และเขาจะนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ประโยชน์ได้
สุดท้าย เราหวังว่าสังคมจะลดการตีตราคนติดเหล้าลง กรณีนี้คล้ายกับโรคซึมเศร้า ที่แต่ก่อนผู้ป่วยโรคนี้จะถูกตีตราเยอะมาก แต่ตอนนี้การตีตรานั้นลดลงแล้ว ผู้คนเริ่มเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ซึ่งเราก็อยากให้เป็นเช่นนั้นกับคนติดเหล้าเหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้ว การดื่มเหล้าจะทำให้เกิดปัญหาที่สมองของผู้ป่วยซึ่งทำงานได้ไม่เหมือนเดิมด้วย เราคิดว่าถ้าเราเข้าใจ และช่วยกันดึงคนติดเหล้าเข้ามาสู่ระบบบำบัดด้วยกัน เขาก็จะสามารถกลับไปเป็นคนที่น่ารักของครอบครัวและสังคมได้ สิ่งที่เราทำไม่ได้ช่วยแค่คนติดเหล้า แต่ช่วยครอบครัวของเขา และช่วยสังคมด้วย
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm