เหล้าและเกาหลี : เพราะชีวิตขาดโซจูไม่ได้

February 20, 2020


หลังปี 2000 เป็นต้นมา คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้ที่มีชื่อเรียกกันว่า Korean Wave ก็แผ่ขยายขนาดคลื่นลมไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก และยิ่งโหมกระหน่ำขึ้น เมื่อเกาหลีใต้ขึ้นเวที ‘เดบิวต์’ กับชาวโลก ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกร่วมกับประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ผู้คนมักจดจำเกาหลีใต้เป็นประเทศด้อยพัฒนาเพราะสงครามและความยากจน การเปิดตัวดังกล่าวได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศ กลายเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธได้  

Korean Wave เดินทางไปเทียบฝั่งในหลายๆ แห่งทั่วโลก โดยหอบเอาเรื่องความเป็นเกาหลี ผ่านละคร อาหาร รวมถึงดนตรีป็อบไปยังที่นั้น แน่นอนว่าแนวกันชนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศในโซนเอเชียด้วยกันก็ถูกคลื่นลูกใหม่นี้โถมท่วมคลื่นวัฒนธรรมเก่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (และบางครั้งก็ดูเหมือนจะเต็มอกเต็มใจเสียด้วย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ‘태국’ ที่ออกเสียงอย่างโอปป้าออนนี่ชาวเกาหลีว่า ‘แทกุก’ หรือ ประเทศไทย นั่นเอง 

สำหรับประเทศไทย การเปิดประตูรับวัฒนธรรมดังกล่าว เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ซีรีส์เรื่อง ‘Jewel in the Palace’ หรือ ‘แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง’ มาเยือนถึงหน้าบ้าน และถ่ายทอดผ่านช่องโทรทัศน์ชื่อดังในเย็นวันหยุด เราได้เห็นอาหารการกินและวัฒนธรรมการดื่มของคนเกาหลีผ่านละครเรื่องนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะฉากที่พระราชากินอาหาร พลางกระดกจอกเหล้าเล็กดื่มตบท้าย

สิ่งที่อยู่ในจอกเล็กๆ ที่ว่าคือเหล้า หรือ ‘โซจู’ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ของชาวเกาหลี นั่นเอง

 

โซจู – ตัวแทนวัฒนธรรมการดื่มของชาวเกาหลี

 

โซจูเป็นเหล้าไร้สี ไร้กลิ่น เดิมผลิตจากข้าวหมัก แต่ปัจจุบันใช้มันฝรั่งหรือมันเทศเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งถ้าเทียบกับเครื่องดื่มในบ้านเราก็คือเหล้าขาวดีๆ นี่เอง

คนเกาหลีใต้นิยมดื่มโซจูกันมาก โดยมีสถิติรายงานว่า ชาวเกาหลีดื่มแอลกอฮอลล์ (โซจู) คิดเป็นค่าเฉลี่ย 13.7 ชอตต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นชนชาติที่ดื่มหนักที่สุดในโลก และกลุ่มคนที่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีขึ้นไป) แล้ว ดื่มเฉลี่ย 87 ขวดต่อปี หรือเฉลี่ย 1 ขวดครึ่งต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ยังมีรายงานสถิติการซื้อขายแอลกอฮอลล์ในประเทศเกาหลีใต้ ที่แม้จะระบุว่า ในปี 2018 ยอดการขายแอลกอฮอลล์ภายในประเทศ  – 5.94 เปอร์เซ็น แต่ก็ยังคงมีมูลค่าสูงถึง 4.95 ล้านล้านวอน โดยคิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดเป็น 8.5 เปอร์เซ็น  

วัฒนธรรมการดื่มโซจูไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่กลายเป็นตัวแทนวัฒนธรรมการดื่มของแดนกิมจิที่ขยายตัวไปทั่วโลก เราจะเห็นการจัดวางเครื่องดื่มชนิดนี้ให้มีมิติทางอารมณ์ในภาพยนตร์หรือซีรีส์เกาหลี เช่น เวลาตัวละครดีใจ ก็ต้องดื่มเหล้าโซจูเพื่อเฉลิมฉลองพร้อมเนื้อย่างดีๆ สักชุด หรือถ้าเป็นนางเอกสายสู้ชีวิตที่ต้องเผชิญกับสภาวะลำบาก ตกงาน ยากจน ชีวิตบัดซบ ก็มีฉากดื่มโซจูจนเมาหัวราน้ำ ก่อนจะด่ากราดน้องชาย (หากมี) เป็นแพทเทิร์นที่ผลิตซ้ำไปซ้ำมาในละคร

นอกจากนี้ ความน่าประหลาดใจอีกสิ่งหนึ่งสำหรับประเทศที่ยึดมั่นในหลักศาสนาและมีกฎหมายควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด คงเป็นการที่นางเอกคนดัง หรือไอดอลสาวสวยกลายเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาเครื่องดื่มเหล่านี้อย่างเปิดเผย ซึ่งสาเหตุที่ประเทศเกาหลีสามารถโฆษณาโซจูได้ เพราะประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนา และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ โซจูถือเป็นเครื่องดื่มแห่งสาธารณรัฐ ถึงขั้นว่าหากใครบรรลุนิติภาวะตามหลักของคนเกาหลีแล้ว โซจูนี่ล่ะ คือสิ่งแรกที่ควรลิ้มลอง

 

ไอดอลกับการเป็นพรีเซนเตอร์เหล้าโซจูถือเป็นเรื่องปกติ

 

เมื่อหลายประเทศสมาทานเอาคลื่นวัฒนธรรมของเกาหลีเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมการดื่มก็เป็นของที่ได้รับมาอย่างปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน แม้จริงๆ แล้ววัฒนธรรมการดื่มโซจูมีอยู่หลายแบบ แต่วิธีการดื่มที่กำลังส่งต่อไปยังที่ต่างๆ ในโลกผ่านการผลิตซ้ำในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี คือการดื่มแบบ  ‘กังโซจู’ หรือการดื่มร่วมกับอาหาร ถ้าใครพอนึกภาพร้านอาหารเกาหลีออก หลังจากย่างหมูควันคลุ้ง ห่อหมูสีแดงฉ่ำซอสเกาหลีไว้ภายในผักสลัดเขียวสดสีสันตัดกัน ก่อนยัดปากคำใหญ่แล้วเทน้ำข้าวหมักบาดคอตบท้าย นี่ต่างหากคือวัฒนธรรมที่คนเกาหลีทำกัน (ไม่มีใครดื่มโซจูกันแบบเพียวเท่าไหร่ เพราะปริมาณแอลกอฮอล์ของเหล้าชนิดนี้สูงมาก) 

 

วัฒนธรรมการดื่มโซจูและความอดอยาก ยากจน

 

ถ้าใครเป็นคอซีรีส์ วาไรตี้ชาวเกาหลี แล้วมีการพูดคุยหรือสัมภาษณ์ เวฮัลมอนี (คุณยาย) หรือเวฮาราบอจี (คุณตา) เราอาจจะจับน้ำเสียงความหวาดกลัวและฝังใจกับบรรยากาศของความยากจน ความอดอยากที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลียุคเก่าๆ ได้ 

นักประวัติศาสตร์สังคมวิทยากลุ่มหนึ่งพยายามศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมการดื่มกับเรื่องเศรษฐกิจการเมืองของคนในประเทศนี้ และพบว่าบรรยากาศการสร้างชาติของชาวเกาหลีนั้นมีส่วนอย่างมากต่อวัฒนธรรมการดื่ม

ภายหลังการแบ่งแยกดินแดน การก่อรูปรัฐชาติขึ้นมาใหม่ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ทุกอย่างจำเป็นต้องมีการกำหนดขึ้นใหม่ เมื่อผนวกกับความยากจนจากสภาวะสงคราม ทำให้คนต้องทำงานหนักขึ้น หนักขึ้น และหนักขึ้น กลายเป็นบรรยากาศแห่งความกดดันจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังที่เราจะได้ยินคำพูดทำนองว่า “ผมจะพยายามให้มากกว่านี้นะครับ” (พร้อมกับโค้งตัวเก้าสิบองศา) จากปากคนดังชาวเกาหลีใต้อยู่เนืองๆ 

สิ่งเดียวที่ช่วยปลดปล่อยคนที่นี่ให้หลุดพ้นจากโซ่ตรวนแห่งความตึงเครียด จึงเป็นการสังสรรค์และดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวได้ว่า วัฒนธรรมแบบทำงานทั้งวัน สังสรรค์ทั้งคืน และการดื่มแบบเมาหัวราน้ำส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตไล่ตามความฝัน แบกภาระการพัฒนาสาธารณรัฐเกาหลีให้ยิ่งใหญ่ จนส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เปลี่ยนโซจูซึ่งเป็นเครื่องดื่มภูมิปัญญาชาวบ้านและมีมานานแสนนานให้กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม หาดื่มง่ายในเวลาอันรวดเร็ว

 

 

แม้ปัจจุบัน เกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นประเทศยากจน สู่การเป็นหนึ่งในประเทศสโมสรคนรวยอย่าง OECD  แต่วัฒนธรรมการดื่มโซจูยังคงหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะหลังเลิกงาน การรวมกลุ่ม เมาแอ๋หลังจากสิ้นภารกิจจับโจรผู้ร้าย เสร็จภารกิจทำยอดขายทะลุเป้าของบริษัท เลี้ยงฉลองลูกสาวลูกชายบรรลุนิติภาวะ สอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลได้ โซจูจะปรากฎอยู่ในทุกๆ ฉากชีวิตที่สำคัญและมีความหมายกับคนเกาหลีใต้ทั้งสิ้น

และหลังจากวัฒนธรรมเกาหลีแผ่ไปไพศาล คงยากที่จะปิดกั้นโลกไม่ให้รู้จักกับเครื่องดื่มสีขาวไร้กลิ่นอย่างโซจู ฤทธิ์ของมันอาจช่วยให้ผู้คนจำวันชื่นคืนสุขได้ชัดขึ้น หรือไม่ก็ช่วยคนให้ลืมความทุกข์ทรมานเพียงแค่เทมันลงคอได้ แต่โปรดจำไว้อีกอย่างหนึ่งว่า แอลกอฮอลล์ในโซจูนั้นมีสูงกว่าเบียร์และไวน์ โดยมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 17% – 45% ซึ่งมากพอที่จะทำให้เราลืมไปเลยว่าโลกใบนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ยังไม่นับว่าการดื่มมากเกินไปจะก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย ทั้งการนำไปสู่อาการติดสุรา เกิดภาวะโรคร่วม หรืออาจมีปัญหากับคนใกล้ชิดได้

ดังนั้น ถ้าคุณอยากทดลองดื่มโซจูดูสักครั้ง คิดให้ถี่ถ้วนสักนิดก่อนตัดสินใจดื่ม อย่าลืมกะปริมาณการดื่มให้พอดี ให้ได้อารมณ์ชาวเกาหลีแบบที่ไม่เมาลืมโลกก็พอ

 

 


ที่มา:

หนังสือเรื่อง Korea the impossible country มหัศจรรย์เกาหลี จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม 

อ่านเกาหลีผ่านวัฒนธรรมบันเทิงร่วมสมัย กับ จักรกริช สังขมณี

How to drink Korean soju

Red Velvet’s Irene In New Fantasy-Inspired Soju Commercial Leaves Fans Shocked

South Koreans drink twice as much liquor as Russians and more than four times as much as Americans

Soju: the secret to drinking South Korea’s favourite tipple, not to be confused with Japanese shochu

 

เรื่อง : ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles