“รัฐต้องลงทุนในเรื่องสุขภาพของประชาชน” เนตรนภา ขุมทอง เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน

March 30, 2021


หากเข้าไปใน Facebook และลองค้นหาเพจชื่อ ‘มูลนิธิหมอชาวบ้าน’ สิ่งที่ปรากฏคือเพจที่ให้ความรู้สุขภาพเรื่องต่างๆ แบบเข้าใจง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยสาระและถูกต้องตามหลักการแพทย์ การันตีด้วยยอดไลก์ประมาณ 2 ล้านกว่าคน (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564)

นอกจากการปรับตัวมาให้ความรู้ทางออนไลน์ หมอชาวบ้านยังให้ความรู้เรื่องสุขภาพผ่านทางนิตยสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมาก่อนหน้าจะมีโซเชียลมีเดีย ประกอบกับแอปพลิเคชันสีสันสดใสใช้งานง่ายอย่าง ‘DoctorMe’ ที่เป็นเหมือนแนวนำทางเบื้องต้นให้คนทั่วไปรู้ว่า ควรจะดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างไร ยิ่งทำให้หมอชาวบ้านเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ปรับตัวได้อย่างงดงามในยุค digital disruption และเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ของประชาชนที่สนใจอยากรู้เรื่องสุขภาพ ในยุคที่ข่าวปลอมและความเชื่อผิดๆ ด้านสุขภาพกระจายไปไวกว่าไฟลามทุ่ง

Alcohol Rhythm นัดสนทนายาวๆ กับ ผศ.เนตรนภา ขุมทอง เลขาธิการมูลนิธิหมอชาวบ้าน ไล่เรียงตั้งแต่เส้นทางการเดินทางของหมอชาวบ้านตั้งแต่ยังเป็นนิตยสาร จนกระทั่งถึงการปรับตัวในยุคดิจิทัลเขย่าโลก รวมถึงการคุยสไตล์เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้าเกี่ยวกับเรื่อง ‘เหล้า’ ในมุมมองของหมอชาวบ้าน – ระบบบำบัด การสื่อสารเรื่องสุราในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งระบบสุขภาพในภาพรวมยังมีปัญหาอะไร เราจะเริ่มแก้ปัญหาได้อย่างไร – ปิดท้ายด้วยการชวนหมอชาวบ้านสนทนาเกี่ยวกับความเชื่อหรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่ว่ากันว่าจะช่วยในการรักษาตัวเองได้

 

                                           

นิตยสารหมอชาวบ้านมีที่มาที่ไปอย่างไร มีจุดมุ่งหมายอะไรในการก่อตั้ง

ปรัชญาการก่อตั้งหมอชาวบ้านคือ “การทำชาวบ้านให้เป็นหมอ ทำหมอให้เป็นชาวบ้าน” ซึ่งเรายึดถือมาตั้งแต่ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2522 ว่าอยากเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้ เพราะระบบสาธารณสุขในขณะนั้นยังไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่จะเป็นหลักประกันสุขภาพให้ประชาชน ประชาชนต้องดูแลรักษาตัวเอง ถ้าเจ็บป่วยมากก็ต้องไปโรงพยาบาล คนยากจนในชนบทเลยได้รับผลกระทบมาก ต้องขายวัว ควาย เรียกได้ว่าล้มละลายกันจริงๆ

ช่วงที่ยังไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เราได้พานักศึกษาแพทย์ในวิชาเวชศาสตร์ชุมชนออกชนบทก็เห็นภาพเช่นนี้ เลยคิดว่า จะทำอย่างไรให้ประชาขนพึ่งตัวเองได้เรื่องสุขภาพ โดยไม่ต้องพึ่งการแพทย์หรือโรงพยาบาลที่คนแน่น แออัด แถมต้องจ่ายเงินราคาแพง เพราะโรคกว่า 80% ดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้วหายได้ เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ท้องเสีย ไม่ใช่ป่วยทีก็ต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเข้าตอนที่อาการหนักแล้วเพราะไม่มีความรู้และทักษะ

เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะผู้ก่อตั้งหมอชาวบ้านจึงออกนิตยสารหมอชาวบ้าน เพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่องค์ความรู้สุขภาพแก่ประชาชน โดยมีแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด หรือนักโภชนาการมาร่วมกันเขียนฟรีเป็นวิทยาทาน เพื่อให้นิตยสารมีราคาถูกและเข้าถึงชาวบ้านได้จริงๆ

 

คำว่า พึ่งตนเองในที่นี้เป็นอย่างไร เราพอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้ไหม

การพึ่งตนเองหมายถึงการเน้นให้ประชาชนดูแลตัวเองได้ เริ่มตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ป่วยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ป่วย หรือถ้าป่วยแล้ว จะดูแลตัวเองอย่างไรในเบื้องต้น เช่น ท้องเสียก็ทำน้ำเกลือแบบชาวบ้าน ไม่ต้องไปหาหมอ เราก็แนะนำวิธีว่าทำน้ำเกลืออย่างไร สัดส่วนเท่าไหร่ ถ้าต้องใช้ยาจะมียาอะไรบ้าง ราคาเท่าไหร่ เพื่อจะต่อรองกับร้านขายยาได้เพราะเขาจะรู้ราคายาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เราจะแนะนำยาขององค์การเภสัชกรรมเพราะว่าราคาถูก ตรงนี้ถือเป็นการเสริมพลัง (empower) ให้ประชาชนรู้ ต่อรอง และสามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นปรัชญาสำคัญที่สุดของการตั้งหมอชาวบ้าน

พอหันกลับมาดูว่าการพึ่งตัวเองมีหลักการอะไร หลักๆ คือเขามีศักดิ์ศรี เชื่อมั่นว่าตนเองทำอะไรได้ในเบื้องต้น ไม่ใช่วิ่งไปหาหมออย่างเดียว นิตยสารของเราก็จะพยายามบอกว่าคุณพึ่งตัวเองได้นะ ไม่ต้องพึ่งคนอื่นตลอดเวลา อีกอย่างคือเราเชื่อว่า ทุกคนเป็นหมอได้โดยธรรมชาติ สมัยก่อนลูกป่วยแม่ก็พอดูแลได้ เราเชื่อว่าทุกคนเป็นหมอได้ เลยตั้งชื่อนิตยสารว่า ‘หมอชาวบ้าน’ เพราะเราทำชาวบ้านธรรมดาๆ ให้เป็นหมอดูแลตัวเองได้

แต่นอกจากทำชาวบ้านให้เป็นหมอ เรายังมุ่งทำหมอให้เป็นชาวบ้านด้วย คือให้เขาเข้าใจชาวบ้าน เข้าใจวิถีชีวิต ใช้คำพูดง่ายๆ ที่ชาวบ้านเข้าใจ เพราะฉะนั้น หมอที่มาเขียนหนังสือจะต้องใช้ภาษาเข้าใจง่าย แต่ถูกหลักวิชาการ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วย แต่นิตยสารอย่างเดียวคงไม่พอ เราเลยตั้งมูลนิธิหมอชาวบ้านขึ้นเพื่อทำการอบรมควบคู่ไปกับออกนิตยสารด้วย

 

ก่อนหน้านี้หมอชาวบ้านให้ความรู้ผ่านทางนิตยสารเป็นหลัก แต่เมื่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในการสื่อสาร หมอชาวบ้านต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

จำได้ว่า ช่วงประมาณปีพ.ศ. 2551 เริ่มมีโซเชียลมีเดียเข้ามา แต่ยังไม่ดังเลย ตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาก็ยังไม่ค่อยมีคนเข้ามาดู ตอนนั้นเราเริ่มตั้ง Facebook page ช่วงแรกๆ ประมาณปี 2553-54 ก็มีคนมาดูเรือนหมื่นได้

จุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตอนปี 2557 ตอนนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสนอให้เราพัฒนาโฉมหน้าใหม่ ปรากฏว่ามีคนเข้ามาดูเป็นล้านภายในไม่กี่เดือน จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีคนติดตามประมาณ 2 ล้านแล้ว นี่แสดงว่าประชาชนกระหายอยากรู้เรื่องสุขภาพ เราคิดว่าเป็นเพราะโซเชียลมีเดียเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ประกอบกับพวกเขาเชื่อว่าหมอชาวบ้านเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือด้วย

 

ตลอดเวลา 40 กว่าปีของหมอชาวบ้านทั้งในรูปแบบนิตยสารและโซเชียลมีเดีย   หมอชาวบ้านได้ติดตามเรื่องสุรา พฤติกรรมการดื่มสุรา หรือโทษจากการดื่มสุรามากน้อยแค่ไหน เห็นประเด็นอะไรที่น่าสนใจไหม

เรามีเรื่องสุราลงในนิตยสารหมอชาวบ้านมานานแล้ว ถ้าย้อนกลับไปดูช่วงปี 2535 ยุครัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วงนั้นเศรษฐกิจดีมาก อุตสาหกรรมสุราในบ้านเราเติบโต คนดื่มเยอะทำให้มีปัญหาเยอะด้วย หมอชาวบ้านได้เขียนบทความเกี่ยวกับเหล้าเยอะมาก ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ตั้ง สสส. เลย แต่พอตั้ง สสส. ในปี 2544 เรื่องเหล้ากับบุหรี่ก็กลายมาเป็นเรื่องรณรงค์ เพราะสสส. เอาภาษีบาป (ภาษีที่เก็บจากเหล้าและบุหรี่) มารณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ และเน้นประเด็นเรื่องเหล้าและบุหรี่เป็นหลัก

 

 

ปรัชญาของหมอชาวบ้านคือการพึ่งตนเอง หันมาดูแลสุขภาพ ไม่ต้องไปพบแพทย์ตลอดเวลา ซึ่งดูจะขัดแย้งกับเรื่องสุรา ที่ทางการแพทย์มักมองว่าเป็นตัวร้ายทำลายสุขภาพ แล้วหมอชาวบ้านมีจุดยืนเกี่ยวกับเหล้าอย่างไร สามารถดื่มบ้างได้ไหม หรือไม่ควรจะดื่มเลย

ต้องเกริ่นก่อนว่า ปรัชญาของเราคือการพึ่งตนเอง ดูแลตนเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธการไปพบแพทย์นะ เพราะเราเขียนไว้ในคู่มือเลยว่า ถ้าดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วไม่หายก็ให้ไปพบแพทย์ แต่ถ้าเป็นโรคทั่วไปก็มักจะหายแหละ เพียงแต่เราเน้นเป็นขั้นตอนมากกว่า

พอมาถึงเรื่องเหล้า นักวิชาชีพมักจะมองว่า การดื่มเหล้าไม่ดี อีกทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันมักจะโทษเหยื่อ (blaming the victim) หรือเรียกง่ายๆ คือโทษคนไข้หรือประชาชนหมดเลยว่า เรื่องนี้ไม่ดี ทำแบบนั้นไม่ได้ เหมือนเป็นการมองด้านเดียวโดยไม่เข้าใจบริบทของคนเลย

เราเคยสอนนักศึกษาแพทย์วิชามานุษยวิทยาด้านการแพทย์ (Medical Anthropology) เพื่อให้นักศึกษาแพทย์เข้าใจบริบทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่คนไข้เป็นคนผิดนะ เวลาเราบอกว่าเขาดื่มเหล้า เราต้องเข้าใจบริบทของเขาก่อนว่าทำไมเขาจึงดื่มเหล้า ไม่ใช่มองแต่ด้านที่เป็นลบของเขา

 

บริบทที่ว่าเช่นอะไรบ้าง

เยอะมากเลยค่ะ คือไม่ใช่ว่าคนดื่มเหล้าทุกคนเป็นคนทำลายสุขภาพหรือไม่รักสุขภาพนะ อย่างตอนที่เราไปเรียนต่อที่อังกฤษ เวลาอภิปรายหรือนำเสนออะไรในห้องเรียนแล้ว หลังเลิกเรียน อาจารย์ก็มักจะชวนไปนั่งคุยกันต่อที่ผับ (pub) ตอนนั้นก็จะการดื่มไวน์บ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าอย่างเราเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยดื่ม เขาก็จะสั่งพวกที่แอลกอฮอล์ต่ำให้แทน จะเห็นว่าในบริบทนี้ แอลกอฮอล์ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเลย แต่ช่วยให้เกิดการพูดคุยทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง เหมือนคุยนอกรอบ และเป็นการทำให้ทุกคนผ่อนคลายมากกว่าอยู่ในห้องเรียน และกล้าที่จะอภิปราย ก็เป็นการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งนอกห้องเรียน

แต่ต้องบอกว่า ที่นั่นเน้นมากเรื่องการรับผิดชอบตนเอง คุณทำอะไรต้องรับผิดชอบเอง อย่างคนที่ขับรถมาก็จะไม่ดื่ม เรียกว่าซื่อสัตย์กับตัวเองมากและคิดถึงผลกระทบต่อคนอื่น หรือบางคนก็รู้ว่าตัวเองดื่มได้มากขนาดไหน นี่เป็นเรื่องสำคัญเลยว่าเขาไม่ได้ห้ามดื่มเด็ดขาด แต่ให้ทุกคนรู้ลิมิตของตัวเอง ซึ่งเราคิดว่าเรื่องนี้ต้องปลูกฝังตั้งแต่ในครอบครัว ตั้งแต่ระบบการศึกษา ให้รู้ว่าคุณต้องรู้จักรับผิดชอบทั้งตัวเองและคนอื่น

กลับมาที่ไทย เราไม่ได้จัดการปัญหาสุราเป็นองค์รวม แต่ทำแยกส่วนกัน ทั้งที่ถ้าเราจะเข้าใจคนไข้ในทุกๆ โรค เราต้องเข้าใจที่มาที่ไปก่อน เวลารณรงค์ก็อาจจะไม่ได้หว่านรณรงค์กับทุกกลุ่ม เพราะถ้าเขารู้ลิมิต ดื่มแล้วรับผิดชอบตัวเองได้ ก็ไม่ได้มีผลเสียอะไร

 

คุณมองว่าแคมเปญการสื่อสารเรื่องสุรามีปัญหาอะไรบ้าง

จริงๆ เราเข้าใจนะว่า ในการรณรงค์ต้องหาเรื่องที่จะสื่อไปถึงสาธารณะวงกว้างได้ โดยเฉพาะทางโทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดีย พอเป็นในบริบทของเหล้า เราก็จะเห็นการจับกลุ่มคนจนเป็นหลัก เพราะมันมองง่าย รณรงค์ง่าย ทั้งที่จริงๆ มีกลุ่มอื่นอีก

เวลาเรามองว่าคนจนจนเพราะดื่มเหล้า เราไม่ได้พยายามมองเขาแบบเข้าใจ มองแต่ว่าคนนี้จน เครียด ไม่มีการศึกษา เลยไปนั่งดื่มเหล้า แล้วก็วนเวียนไปแบบนี้แหละ แต่เราลงพื้นที่ชนบทและเห็นปัญหาอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดแบบนี้เท่าไหร่ เพราะมันทำให้ภาพของคนจนกลายเป็นคนไม่รู้เรื่องโทษของสุรา จนแล้วไม่รู้จักใช้เงิน เครียดแล้วหาทางออกไม่ได้จนต้องดื่มเหล้า แต่จริงๆ แล้ว เป็นเพราะเราไม่สามารถให้การศึกษากับเขาเพียงพอหรือเปล่า และคนจนไม่มีอิสระในการเลือก (freedom of choice) คุณไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมระบบทั้งสังคมทำให้เขาเป็นแบบนี้ ระบบเศรษฐกิจและการศึกษาล้วนทำให้คนจนเป็นแบบนี้

ถ้าลองมองแบบเชื่อมโยงทุกมิติว่าคนดื่มเหล้าเพราะอะไร พยายามทำความเข้าใจคนแต่ละกลุ่ม แคมเปญที่ออกมาก็อาจจะเป็นความเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่ทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นคนลดลงและทำให้เข้าไม่ถึงเขา เวลาเราสื่อสารต่อสาธารณะต้องมองให้เข้าใจบริบทและเชื่อมโยงกันได้ พอเข้าใจบริบทแล้วก็จะสื่อสารได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

 

แสดงว่าการสื่อสารหรือให้ความรู้เรื่องสุราตอนนี้ยังเป็นการจับผิด ไม่ได้เข้าใจภาพรวมเท่าที่ควร?

เท่าที่เรารู้คนทำงานเขาก็มีความปรารถนาดีนะ พยายามเก็บข้อมูลออกมารณรงค์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลบางอย่างอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อย่างการรณรงค์ให้งดเหล้าช่วงเข้าพรรษาจะช่วยพักตับได้ คนก็เข้าใจว่าถ้างดเหล้าได้ในช่วงเข้าพรรษาตับก็จะดี ซึ่งมันถูกครึ่งเดียว เพราะตับจะดีได้ต้องเป็นตับที่ไม่ถูกทำลายเยอะ ยังดื่มมาไม่นาน แต่ถ้าตับถูกทำลายเยอะเกินครึ่งหนึ่งไปแล้ว เหลือแค่ 1/3 หรือ 1/4 ก็ไม่ได้หมายความว่าตับจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าจะเน้นมากกว่าคือ เมื่อคุณหยุดดื่มไปสักพักและกลับมาดื่มอีกครั้ง ตับก็จะถูกทำลายอีก ใช่ว่าหยุดดื่มแล้วตับจะกลับมาแข็งแรงทั้งหมด จริงๆ อาจจะต้องไปพบแพทย์ด้วยว่าตับทำงานเป็นอย่างไร เหลือเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้คอยระวังและปรับเปลี่ยน ลดการดื่มจนกระทั่งหยุดได้

 

 

ในวงการแพทย์ เป็นไปได้ไหมว่า แพทย์บางคนยังมีอคติกับผู้ติดสุราเพราะมองว่า เขาทำลายสุขภาพตนเอง ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะแนะนำให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขมีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) คนติดเหล้าได้อย่างไร

ถ้าเราจะแก้ หมอและบุคลากรสาธารณสุขต้องหยุดโทษคนไข้ก่อนว่า การดื่มเป็นเรื่องของคุณ คุณต้องรับผิดชอบ แต่ต้องพยายามเข้าใจว่าเขาดื่มเพราะอะไร

ทางกระทรวงสาธารณสุขก็ออกนโยบายเหมือนกันว่าให้ใช้ตามแบบองค์การอนามัยโลก (WHO) คือต้องเข้าใจคนดื่มเหล้า เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกว่าเขาดื่มทำไม ให้กำลังใจแม้เขาหยุดดื่มไปแล้วกลับมาดื่มซ้ำ และต้องทำงานร่วมกับครอบครัวด้วย เพราะถ้าหมอเข้าใจฝ่ายเดียว แต่ครอบครัวไม่เข้าใจก็ไม่สำเร็จ

แต่ในบางพื้นที่ชนบทอาจไม่ได้มีหมอตลอดเวลา จึงต้องมีพยาบาลหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยดูแล ซึ่งพวกเขาจะต้องมีความเห็นอกเห็นใจให้มาก เข้าใจคนที่ดื่มว่าเป็นอย่างไร มีบริบทอะไร ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนนะ เพราะคนรวยติดเหล้าก็มีเยอะอยู่

 

ถึงคนรวยจะติดเหล้าเหมือนกัน แต่สังคมมักมองว่าคนจนติดเหล้าเป็นปัญหามากกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนี้

เข้าใจว่าเวลาเข้าไปคุยขอความร่วมมือหรือสัมภาษณ์คนชนชั้นกลางหรือคนรวยจะทำได้ยากกว่า หรือคนกลุ่มนี้อาจจะมีทางเลือกในการช่วยเหลือตนเองได้เยอะกว่า แต่ใช่ว่าคนที่มีการศึกษาหรือคนมีฐานะจะไม่มีปัญหาเรื่องการติดเหล้า เราเคยเจอคนจบปริญญาเอกติดเหล้า เพราะเห็นภาพที่คุณพ่อดื่มมาตั้งแต่ยังเด็ก พอโตแล้วภาพนั้นยังอยู่ ดื่มมากเข้าก็กลายเป็นติดเลย หรือบางคนรู้สึกว่าชีวิตไม่ได้รับการเติมเต็ม มองว่าฉันน่าจะได้ทำได้มากกว่านี้ ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ มีการเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา เขาก็อาจจะเลือกดื่มเหล้าได้ด้วย

เพราะฉะนั้น จะรวยจะจนก็มีจุดร่วมเหมือนกันคือมองเหล้าเป็นทางออก ในวิทยาศาสตร์ก็มีหลักฐานรองรับชัดเจนว่า เหล้าทำให้เราลืมไปชั่วขณะหนึ่ง เวลาเจ็บปวดมากๆ ในปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น อกหัก ผิดหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางคนเลยเลือกจะดื่มเหล้าเพื่อให้ลืม ไม่ต้องคิดเรื่องนั้นอีก พอดื่มบ่อยๆ ก็กลายเป็นติด แต่ถ้าคนมีฐานะก็มีทางเลือกเยอะกว่า

 

เป็นไปได้ไหมว่า นี่เป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขด้วย เพราะคนที่ทำงานเกี่ยวกับสุรายังมีอยู่ไม่เพียงพอ

ใช่ค่ะ เราลงทุนตรงนี้น้อย จริงๆ รัฐต้องลงทุนเรื่องสุขภาพของประชาชน อย่างเราไปดูงบประมาณการซื้ออาวุธ จะเห็นว่ามีมากแบบมหาศาลเลย แต่ปัจจุบันอาวุธอาจจะไม่ได้สำคัญขนาดนั้นแล้ว ทำไมเราไม่เอาเงินมาลงทุนด้านการศึกษา สุขภาพ ทำให้เต็มที่ ทำให้คนพึ่งตนเองได้ ทำให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้นมา

เรื่องการสื่อสารก็สำคัญ สมมติว่าคนป่วยยังไม่พร้อมหรือไม่อยากไปพบแพทย์ เขาก็ต้องดูว่าจะแก้ปัญหาเองก่อนได้อย่างไร และถึงจะเห็นว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอะไร เราต้องมีทางเลือกให้ประชาชน ไม่ใช่มีแต่ระบบบริการที่ยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถเข้าถึงได้ทุกคนอยู่ เช่น ระบบสายด่วน (hotline) ที่ยังไม่มากพอที่จะให้คนเข้าถึงได้ กรณีที่ยังไม่พร้อมพบแพทย์

 

สมมติมีคนติดสุรามาขอคำแนะนำจากหมอชาวบ้านว่า จะดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง คุณจะแนะนำเขาอย่างไร

สิ่งแรกคือ คุณต้องเข้าใจก่อนว่าเขาดื่มเพราะอะไร ทำไมถึงดื่ม และให้เขาทบทวนว่าตัวเองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร จากนั้นจึงถามตัวเองว่า ฉันพร้อมรึยังที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราต้องให้เวลาเขาตัดสินใจด้วย อย่าไปเร่งเขามาก บางคนก็พร้อม บางคนอาจจะไม่พร้อม ซึ่งถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องมีทางให้เขาเลือก ให้ข้อมูลเขาอย่างครบถ้วน เพื่อที่คนๆ นั้นจะได้เตรียมตัวว่า เขาต้องทำอย่างไรจึงจะเหมาะกับตนเองที่สุด

 

 

ถ้าคิดจะเลิกเหล้า อะไรคือสิ่งสำคัญที่ทำให้คนที่คิดว่าจะเลิกเหล้ามีกำลังใจในการเลิกหรือเริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนได้จริง

หมอชาวบ้านเคยจัดโครงการหนึ่ง โดยเรานิมนต์พระมารูปหนึ่ง ให้ท่านช่วยพูดกับคนมีฐานะยากจนในเมือง เป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ คือเป็นความพยายามในการเสริมพลังให้พวกเขา สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและทำให้มีคนเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองได้คือ พระท่านตั้งคำถามว่า เราเคยดูแลร่างกายของตัวเองไหม เคยโอบกอดร่างกายตัวเองบ้างหรือเปล่า การดูแลร่างกายในที่นี้คือดูว่าที่ผ่านมาเราทานอาหารอย่างไร ทำให้ร่างกายดีไหม เราดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่หรือเปล่า ถ้าเรายังทำแบบนี้คือเรายังรักตัวเองไม่พอ และสิ่งที่พระท่านให้ทำคือ การโอบกอดร่างกายตัวเองด้วยความรัก

ปรากฏว่าอีกเดือนหนึ่ง มีผู้หญิงคนหนึ่งกลับมาบอกว่า เชาเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดแล้วนะ เพราะพระท่านบอกว่าเราต้องรักตัวเอง เขาเลยพยายามเลิกจนสำเร็จทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสำเร็จ แต่คำพูดนั้นมันฝังลึกเข้าไปในใจเลยว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้รักตัวเองเลยหรือเปล่า

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าการสื่อสารกระทบไปถึงจิตใจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง อย่างการนำพระอาจารย์มาพูดก็เพราะเราศึกษาบริบทแล้วว่า คนกลุ่มนี้ชอบตักบาตรทำบุญ แสดงว่าพระก็มีอิทธิพลสูง อย่างที่เราเห็นว่ามันได้ผลและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราระบุได้ว่าเขาศรัทธาหรือเชื่อมั่นเรื่องอะไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ ก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด เราก่อตั้งหมอชาวบ้านมา 40 กว่าปี เราต้องเชื่อมั่นในมนุษย์ก่อนว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เป็นเหมือนการสร้าง self-esteem ให้เขา เพราะที่ผ่านมา พวกเขาอาจไม่เคยเห็นคุณค่าหรือไม่ได้รักตัวเองเลย ทั้งที่คนที่เป็นเพื่อนที่ดีสุดของคุณก็คือตัวคุณเองนั่นแหละ

 

ในกรณีของผู้ที่ติดสุรา ไม่เพียงแต่คนที่ติดเท่านั้น แต่เราจะเห็นคนใกล้ชิดพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะด้านจิตใจ เราควรแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

สำหรับคนกลุ่มนี้ เรื่องสำคัญคือเรื่องสุขภาพจิตเลย บางทีเวลาเราบำบัดอาจจะต้องทำในเชิงครอบครัวด้วย นำทั้งคนติดเหล้าและครอบครัวมานั่งคุยพร้อมกัน เป็นการบำบัดแบบครอบครัว (family therapy) ให้ผู้ที่ดื่มเหล้าได้เห็นความทุกข์ใจของคนใกล้ชิด โดยมีผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่ 3 ที่เข้าใจทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่เป็นคนกลาง ในกรณีที่คนที่ 3 เป็นเพื่อนหรือคนใกล้ชิด เขาจะต้องเป็นคนกลางจริงๆ ที่เข้าใจทั้งสองฝ่ายและไม่สามารถเลือกข้างได้

เราต้องชี้ให้คนใกล้ตัวเข้าใจว่า ทำไมคนดื่มถึงดื่ม การดื่มมีสาเหตุมาจากอะไร และชี้ให้คนดื่มเห็นว่า การดื่มแบบขาดสติของคุณทำร้ายคนใกล้ตัวอย่างไร ให้ทั้งสองฝ่ายได้เห็นอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่าย รวมถึงเห็นความปรารถนาดีและมีความเข้าอกเข้าใจกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าบำบัดครั้งเดียวจะได้ผล ต้องทำหลายๆ ครั้งจนถึงจุดที่คนติดสุราคิดว่า เขาพร้อมจะหยุดแล้ว

 

ถ้ามองระบบการบำบัดสุราในภาพรวม คิดว่าระบบมีปัญหาอะไรอยู่ เราจะต้องปรับปรุงแก้ไขตรงนั้นอีกบ้าง

อย่างแรกคือ ตัวระบบที่เป็นสายด่วนบางแห่งยังไม่ได้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งที่บางที เวลาคนอยากขอคำปรึกษาเขาก็จะมาตอนดึกๆ หลังเลิกงาน หรือในช่วงวิกฤตนั้นเขาต้องการใครสักคนรับฟังหรือช่วยเหลือ แต่ก็ไม่มีใคร อีกอย่างคือ การโทรขอคำปรึกษาของเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ พ่วงมาด้วย ทำให้คนที่ฐานะไม่ค่อยดีอาจจะคุยไม่ได้นานเพราะเขาแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ตรงนี้เราคิดว่า งบประมาณต้องเพียงพอ มีคนรอรับสายมากพอและทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สมมติว่าเวลานี้มีคนโทรมาเยอะ คุณก็มีบุคลากรเพียงพอที่จะรับสายได้ ถ้างบประมาณเพียงพอก็จัดการได้อยู่แล้ว ทั้งเรื่องบุคลากร หรือการเก็บข้อมูลการโทรเพื่อบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งคือ การสื่อสาร การทำความเข้าใจด้วยมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และต้องเข้าถึงทุกกลุ่มแบบไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัด ทุกกลุ่มเปราะบาง ทุกกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ต้องขัง คนเร่ร่อน คุณต้องเข้าไปให้ถึงเขา อันนี้คือสิ่งที่เราอยากเน้นย้ำเลย และเป็นโจทย์ท้าทายด้วยว่า คุณจะจัดระบบบริหารจัดการให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มจริงๆ ได้อย่างไร

 

นอกจากระบบสาธารณสุขแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน การดื่มเหล้าและเลิกเหล้ายังมีเรื่องความเชื่อมาเกี่ยวข้องด้วย เราจะได้ยินว่า มีคนดื่มยาดองเหล้าเพราะเชื่อว่าเป็นการรักษาตัวตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ในมุมของหมอชาวบ้าน ยาดองเหล้าพวกนี้ก่อให้เกิดผลอะไรจริงๆ หรือเปล่า หรือจะเสี่ยงต่อการติดเหล้ามากขึ้น

เรื่องยาดองเหล้ามีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เวลาลงพื้นที่ชนบทก็เจอ อย่างผู้หญิงหลังคลอดลูกใหม่ๆ เขาก็จะดื่มยาดองเหล้าเพื่อขับเลือด แต่ก็กลายเป็นว่านี่เป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงบางคนติดเหล้าเหมือนกัน

แต่ในภายหลัง เวลาพูดถึงยาดองเหล้า มีคนไปเจอเหมือนว่ามีการผสมสารบางอย่างที่จะทำให้เกิดอันตราย เช่น ผสมดินประสิว ซึ่งเป็นการผสมเพื่อการค้ามากขึ้น สนับสนุนให้คนดื่มมากขึ้น แตกต่างจากเดิมที่เขาไม่ได้ผสมอะไรเยอะ ดื่มแค่พอเป็นกระษัย

 

นอกจากเรื่องยาดองเหล้าแล้ว ยังมีการดื่มน้ำโซดาหรือต้มสมุนไพรบางอย่างดื่ม แบบนี้น่าเชื่อถือไหม

บางอย่างที่ไม่อันตรายก็ใช้ได้ค่ะ อย่างการศึกษาของทางเหนือที่เรียกว่าการแพทย์ล้านนา เขาจะมองว่า คนติดเหล้าคือคนที่มีธาตุต่างๆ ในร่างกายไม่สมดุล เลยจะนำสมุนไพรไปช่วยทำให้ธาตุสมดุลกัน

อย่างแรกคือให้สมุนไพรล้างพิษ เพราะพิษอยู่ที่ตับ ล้างเสร็จแล้วก็ปรับสมดุลด้วยอาหารหรือสมุนไพร เพื่อให้สมดุลร่างกายกลับมาทำงานเป็นปกติ อันนี้เรามองว่าเป็นเหตุเป็นผลกันและไม่อันตราย เช่น การนำรางจืดมาต้มกินเพื่อล้างพิษก็ไม่ได้อันตรายอะไร ยอมรับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาก่อนแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ในปัจจุบัน มีธุรกิจที่นำสมุนไพรมาแยกเดี่ยวๆ หรือสกัดก็อาจจะเกิดผลเสียได้

เราเคยได้ยินคนพูดกันเยอะเรื่องการดื่มน้ำมะนาวเพื่อช่วยให้หยุดดื่มเหล้า อันนี้จริงๆ ก็ไม่อันตรายและจะช่วยขับพิษด้วย เพราะน้ำมะนาวมีความเปรี้ยว มีกรดที่ทำให้สมดุลของร่างกายเป็นด่าง เมื่อเป็นด่างก็สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในร่างกาย ภูมิคุ้มกันก็ไปขับสารพิษออก ซึ่งพอเหล้าเป็นพิษอยู่ที่ตับ ความเปรี้ยวก็จะช่วยขับพิษออกมาได้ แต่ในระยะยาวยังไม่มีการศึกษาว่า ดื่มมะนาวอย่างเดียวช่วยเลิกเหล้าได้จริงไหม หรือในกรณีของคนที่กำลังเมาเหล้า มีการทดลองให้คนเมาดื่มน้ำมะนาวสดๆ ก็ช่วยให้คลายเมาลงได้ คือถ้าดื่มมะนาวที่มาจากธรรมชาติเพียวๆ ไม่ได้มีสารเคมีอะไร หรือผสมเกลือลงไปนิดหนึ่ง อันนี้พอรับได้อยู่บ้างที่เป็นการช่วยเบื้องต้น

 

ดูเหมือนว่าสมุนไพรหรือของตามธรรมชาติก็มีประโยชน์และช่วยเสริมกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ แต่ปัจจุบัน เรากลับไม่เห็นการทำงานวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรไทยสักเท่าไหร่

ใช่ค่ะ นี่เป็นจุดอ่อนของสมุนไพรไทยเลย คือมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบที่ยังไม่มากพอ จะเป็นลักษณะเล่าต่อๆ กันมามากกว่า แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างมีข้อควรระวังหมด อย่างขี้เหล็ก แต่เดิมเอามาทำยานอนหลับ ทำให้คนหลับง่าย แต่ต้องกินในรูปแบบอาหารเท่านั้น พอเอามากินแบบขี้เหล็กสกัดตัวเดียวก็ส่งผลต่อตับมาก จนตอนนี้ต้องสั่งให้เลิกผลิตเป็นเม็ดแล้ว

เราจึงต้องทำการศึกษาวิจัยว่า ถ้านำสมุนไพรแต่ละตัวมาสกัดเป็นแคปซูล จากแต่เดิมที่กินผสมกับอาหาร ต้องระวังอะไร และถ้ายังไม่มีงานวิจัยออกมาชัดๆ ก็จะไม่สามารถพูดอะไรในที่สาธารณะได้ ได้แต่บอกว่าต้องไปตรวจสุขภาพดูก่อน ไม่ใช่บอกเลยว่ากินแล้วจะดี และต้องปรับพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย

แต่ก็อย่างที่ว่าไป งานวิจัยยังมีไม่มากพอ ต้องใช้เงิน ซึ่งก็กลับมาที่โจทย์ว่ารัฐยังไม่สนับสนุนงบประมาณมากเท่าที่ควร เพราะถ้าเราทำวิจัยได้ มีเงินทุน มีงบประมาณมากพอจนสามารถทำวิจัยและพัฒนา (R&D) ก็จะทำให้เราพึ่งตัวเองได้ในอนาคต

 

เท่ากับว่า ถ้าอยากให้ประชาชนสุขภาพดี รัฐต้องลงทุนเรื่องสุขภาพด้วย

ใช่ค่ะ ต้องลงทุนทั้งสุขภาพในแง่การเจ็บป่วยของประชาชนและลงทุนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ ตอนนี้เรามี สสส. แล้ว แต่มันยังไม่พอ เพราะเราต้องดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนป่วย เรื่องอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ จึงสำคัญมากที่ประชาชนต้องหันมาดูแลตนเอง โดยมีหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนมาสนับสนุน

ตอนนี้คนจนแทบเข้าถึงอะไรไม่ได้เลย สมมติอยากดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารคลีนก็ต้องจ่ายเงินเยอะอีก เราจึงต้องสนับสนุนเรื่องนี้ให้มากขึ้น อย่างที่เวียดนาม รัฐบาลสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกเกษตรอินทรีย์และทำวิจัยเอง เปรียบเทียบว่าปุ๋ยอย่างนี้ ปลูกพืชพันธุ์นี้ ผลผลิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งบ้านเราก็มีเกษตรกรเยอะ มีทรัพยากรดี แต่รัฐบาลกลับไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ

ทุกอย่างเชื่อมโยงกันนะคะ เรื่องสุขภาพไม่สามารถอยู่โดดๆ ได้ แต่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และบริบททางนโยบายด้วย ถ้าคุณดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเองก็อาจจะไม่ต้องพึ่งยา เพราะร่างกายแข็งแรงแล้ว และปัญหาเรื่องการดื่มเหล้าหรือติดเหล้าก็น่าจะลดน้อยลงเช่นกัน

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles