ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างมาก หลายประเทศต้องออกมาตรการทั้งทางกฎหมายและการรณรงค์ เพื่อจะหยุดการแพร่ระบาดในครั้งนี้
หนึ่งในมาตรการที่ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาคือ การออกคำสั่งห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการสัมผัสเชื้อโรคในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ในวงกว้าง ท้ังจากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในขณะเดียวกัน มาตรการห้ามขายเหล้าก็อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่เราคาดไม่ถึง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ติดสุราเรื้อรังอย่างหนัก ที่อาจจะเกิดอาการลงแดงในช่วงห้ามจำหน่ายสุรา และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ จึงมีบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญและคนที่ทำงานเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ออกมาให้ความรู้ รวมถึงแนะนำให้ผู้ที่ติดสุราเรื้อรังพบแพทย์ เพื่อจะได้รับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ เพราะในบางประเทศก็มีการห้ามจำหน่ายสุราเช่นกัน เช่น ประเทศแอฟริกาใต้ ที่รัฐบาลประกาศห้ามขายเหล้าและงดการขนส่งเครื่องดื่มแอลกฮอล์ทุกชนิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้เหตุผลว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักเป็นการดื่มแบบรวมกลุ่ม ทำให้คนจำเป็นต้องพบปะกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการแพร่กระจายของไวรัสได้ นอกจากนี้ แอฟริกาใต้ยังมีเป้าหมายลดความรุนแรงในประเทศ เพราะประเทศต้องสำรองเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ไว้สำหรับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้
นอกจากปัญหาที่เกิดกับผู้ติดสุราเรื้อรังแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่แม้ไม่ได้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์โดยตรง แต่เป็นผลกระทบที่ถูก ‘เร่ง’ ได้ด้วยแอลกอฮอล์คือ ‘ปัญหาความรุนแรงในครัวเรือน’ ที่เพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และความไม่แน่นอนของสังคม ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านอาจเกิดความเครียด และแปรเปลี่ยนเป็นผู้ก่อความรุนแรงได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ การดื่มแอลกอฮอล์ ที่หากผู้ดื่มไม่ระมัดระวังการดื่มของตน ก็อาจจะทำให้ขาดสติจนก่อความรุนแรงกับคนในครอบครัวได้เช่นกัน
เท่ากับว่า ‘บ้าน’ ที่ดูจะเป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดในยุคไวรัสแพร่ระบาด อาจไม่ได้ปลอดภัยหรืออบอุ่นสำหรับทุกคน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด ทั้งผลจากการห้ามขาย และผลจากการดื่มมากจนขาดการยับยั้งชั่งใจ
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า สนทนากับวิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เกี่ยวกับ ‘เรื่องเหล้า’ ในวันที่ไม่มีเหล้าขาย และโควิด-19 แพร่ระบาด ไล่เรียงตั้งแต่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาดังกล่าวกับการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงคุยเรื่องผลกระทบจากมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมองสถานการณ์ ‘จน เครียด กินเหล้า’ กับชีวิตในยุคโควิด-19
ปัจจุบัน ภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงของประเทศไทยเป็นอย่างไร และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความรุนแรงในครัวเรือนเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ อย่างไร
ทางศูนย์วิจัยปัญหาสุรามีการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติในช่วงปี 2560 ซึ่งสำรวจการดื่มสุราและสูบบุหรี่ของประชากรไทย มีการสอบถามเรื่องพฤติกรรมการดื่มสุราในครัวเรือน และสอบถามคนในครัวเรือนนั้นๆ ว่า ที่ผ่านมา คุณเคยได้รับผลกระทบอะไรจากการดื่มสุราบ้าง
พอเจอคำถามแบบนี้ คนส่วนใหญ่จะตอบว่า ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทางวาจา ซึ่งเขาไม่ได้บอกนะ ว่าเกี่ยวกับอะไร แต่เราพออนุมานได้ว่า คงมีการตะคอกใส่กัน ส่วนการรายงานความรุนแรงทางกายมีค่อนข้างน้อย อาจจะเป็นเพราะเราถามเขาว่า เขาเจอความรุนแรงอะไรในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาบ้าง ไม่ใช่ว่าเจออะไรที่เป็นความรุนแรงต่อชีวิต คำตอบที่ได้เลยน้อยกว่าความรุนแรงที่ผลสำรวจอื่นเจอ คือหญิงไทยประมาณ 1 ใน 6 บอกว่าเคยโดนแฟนหรือสามีทำร้ายร่างกาย แต่พอเป็นการสำรวจการดื่มสุราและสูบบุหรี่ของประชากรไทย เราพบเรื่องนี้น้อยมาก อาจจะเป็นเพราะเราจำกัดแค่ 12 เดือนอันเนื่องมาจากการบริโภคสุรา จึงอาจจะทำให้คนที่ตอบตัดสินเองว่าเพราะเหล้าเป็นเหตุ หรือเป็นเพราะบุคลิกของบุคคลนั้นหรือเปล่า ข้อมูลตรงนี้จึงอาจจะคลาดเคลื่อนได้
ต่อมา เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผมเจอรายงานความรุนแรงในครัวเรือนมากขึ้น คือการเกิดโควิด-19 ไม่ได้ทำให้ข่าวการเกิดอาชญากรรมลดลง ความรุนแรงก็ยังมีรายงานอยู่ อย่างน้อยในเชิงปริมาณ แปลว่าโควิด-19 ไม่ได้ทำให้ความรุนแรงหายไปเสียทีเดียว ยังมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงอยู่เป็นระยะๆ แต่เราต้องดูด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ด้วยไหม
เราจะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับความรุนแรงในครัวเรือนได้อย่างไรบ้าง
ถ้าเราดูธรรมชาติของความรุนแรงในครัวเรือน ปัจจัยเสี่ยงที่มากที่สุดคือ พฤติกรรมของฝ่ายชายที่จะควบคุมฝ่ายหญิง ถ้ามองจากตรงนี้ สุราจะทำหน้าที่เป็นตัว ‘เร่ง’ ปฏิกิริยา ทำให้คนที่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมีโอกาสใช้ความรุนแรงมากขึ้น เราเคยคุยกับนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ (paramedics) ที่เป็นด่านแรกๆ ในการตอบสนองต่อคดีความรุนแรงในครอบครัว พบว่า เวลาเกิดเหตุการณ์พวกนี้ขึ้นมา แพทเทิร์นมันจะคล้ายๆ กันเกือบทั้งโลกเลย คือแอลกอฮอล์เป็นตัวเร่งให้เกิดความรุนแรงได้ง่ายขึ้น
เพื่อให้เห็นภาพกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงชัดขึ้น เราลองดูเหตุการณ์จำพวกวัยรุ่นตีกันตามงานสงกรานต์ก็ได้ เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะตีกันอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่ตีกันก็เพราะมีแอลกอฮอล์เป็นตัวเร่ง ส่วนคนที่ไม่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงก็จะดื่มเหล้ากันเฉยๆ แต่ก็จะมีความเสี่ยงอย่างอื่นแทน เช่น เมาแล้วขับ ดื่มแล้วขับ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่เรื่องการตีกัน แอลกอฮอล์จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้ความยับยั้งช่างใจลดลง จากที่อาจจะแค่คิดเฉยๆ ก็เปลี่ยนเป็นใช้ความรุนแรงจริงๆ
แล้วเราจะแก้ไขความรุนแรงในครัวเรือนได้อย่างไร
แนวทางการแก้ไขทั้งของไทยและต่างประเทศคือ เราต้องสื่อสารกับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ ให้พวกเธอรู้ว่า ถ้าเกิดเหตุขึ้นมา เธอจะขอความช่วยเหลือได้ที่ไหนบ้าง และให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ทราบว่า พวกเธอสามารถแจ้งหรือติดต่อตำรวจได้โดยตรง
ถ้าเป็นต่างประเทศ จะมีคำแนะนำด้วยว่า หากผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงไปพบแพทย์หรือเภสัชกร และอยากจะรายงานเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะมีวิธีใช้คำพูดแบบสื่อสารทางอ้อมเพื่อจะสามารถส่งตัวผู้หญิงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
สุดท้ายคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะจัดตั้งศูนย์พักพิงสำหรับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงด้วย
อีกหนึ่งประเด็นที่อยากเสริมคือ อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ความรุนแรงในครัวเรือนมักจะเกิดจากพฤติกรรมที่ฝ่ายชายต้องการ ‘ควบคุม’ ฝ่ายหญิง และความต้องการควบคุมอย่างหนึ่ง การควบคุมทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งไม่สามารถหนีไปไหน เพราะกลัวว่าหากหนีไปแล้วจะไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เราจึงอาจจะต้องหาทางให้ผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบตรงนี้มีแนวทางประกอบอาชีพด้วย ให้เขาออกมาแล้วหาเลี้ยงตัวเองได้ ให้เขามีความพร้อม จะได้มีแรงจูงใจที่จะออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นได้มากขึ้น
อีกประเด็นคือ ตอนนี้มีประกาศห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในฐานะนักวิจัยเรื่องสุรา คุณมองเห็นอะไร มีคนกลุ่มไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้
ถ้าถามผม ผมมีความกังวลสองสามเรื่อง เรื่องแรกคือ เมื่อช่วงนี้ไม่สามารถขายแอลกอฮอล์ได้ตามช่องทางห้างร้านปกติ ก็อาจจะมีคนนำไปขายในตลาดมืดแทน อีกอย่างหนึ่ง มีการใช้สารชดเชยแอลกอฮอล์แทนในช่วงนี้ เช่นที่เร็วๆ นี้ ข่าวออกว่ามีการต้มน้ำกระท่อมแทนเพื่อเป็นการชดเชยแอลกอฮอล์ และประเด็นที่สำคัญคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
มีการใช้สารทดแทนแอลกอฮอล์เกิดขึ้น แสดงว่ากฎหมายห้ามไม่ให้มีการซื้อขายแอลกอฮอล์ก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนไม่น้อย ซึ่งรวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยติดสุราด้วย?
ใช่ครับ ในจังหวัดที่ห้ามขายเหล้าจะมีข่าวคนลงแดงตาย อาการหนัก แต่ช่วยเหลือไว้ได้ทันวันละ 1-2 ราย โรงพยาบาลต่างๆ ก็จะมีผู้ป่วยติดเหล้าเข้าการรักษาเสมอ มีอาการหลากหลายมาก ตั้งแต่ลงแดงไปจนถึงไม่ลงแดง ซึ่งก็จะมีบางรายที่เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลหลายครั้ง พอออกมาก็กลับไปดื่มอีก
จากการสำรวจระบาดวิทยาจิตเวชคาดว่า ในประเทศไทยมีประชากรเป็นโรคติดสุราประมาณ 9 แสน ถึง 1 ล้านคน คาดว่ามีผู้ที่ติดสุราในภาวะรุนแรงอยู่ราวๆ 5 หมื่นถึง 1 แสนคนทั่วประเทศ
แล้วเราจะบอกได้อย่างไรว่า ผู้ที่ติดสุราคนนั้นเป็นผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง และเราจะมีวิธีสังเกตอาการลงแดงหรือไม่ อย่างไร
นิยามของผู้ที่ติดสุราเรื้อรังคือ ดื่มครึ่งขวดกลมขึ้นไปต่อวัน มีโรคประจำตัวทุกวันมา 5 ปีขึ้นไป หรือว่าเป็นตับแข็ง ก็อาจมีโอกาสเกิดภาวะขาดเหล้ารุนแรง เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
ถ้าผู้ติดสุรามีอาการลงแดง อาการสามารถแสดงออกได้ตั้งแต่ 6 ชั่วโมงแรก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้อาการตัวเอง ส่วนมากจะหงุดหงิด เวียนหัว ร่วมกับอาการอื่นๆ ซึ่งถ้ารู้ตัวแล้วว่ามีอาการลงแดงต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะแพทย์จะมียาให้กินทดแทนพิษเหล้าได้
ในฐานะที่ศูนย์วิจัยปัญหาสุราทำการวิจัยด้านนี้โดยตรง อยากชวนลองประเมินภาพรวมระยะยาวหลังจากนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคจะส่งผลให้ผู้คนดื่มเครื่องแอลกอฮอล์มากขึ้น หรือผู้ที่ติดสุราอยู่แล้วมีแนวโน้มของอาการมากขึ้นหรือไม่ เพราะในช่วงของการระบาดมีทั้งความเครียดจากเศรษฐกิจและความเครียดจากการกักตัว
จริงๆ การติดสุรามีหลายระดับ ถ้าดูภาพสังคมไทยโดยรวม ประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่ดื่มสุรา ส่วนในกลุ่มคนดื่มที่อยู่ในระดับติด ถ้าไม่ถึงขั้นลงแดง ก็จะมีระบบสนับสนุนอย่างอื่นเพื่อการควบคุมได้ ผมเลยคิดว่า จำนวนผู้ดื่มสุราที่ไม่ได้ติดหนัก ‘น่าจะลดลง’ เพราะการดื่มในสังคมไทยโดยรวมเป็นการดื่มทางสังคมค่อนข้างเยอะ พอมีการปิดประเทศ ก็ไม่ได้มีบริบทของการชวนกันดื่ม พอไม่ได้เจอกันตัวต่อตัวก็ไม่ค่อยได้ดื่มมากเหมือนเดิม อีกทั้งยังมีคำสั่งห้ามขายและห้ามสังสรรค์ในงานใหญ่ๆ ด้วย ดังนั้นแนวโน้มน่าจะลดลงโดยรวม
ส่วนถ้าถามว่า จะมีสภาวะ ‘จน เครียด กินเหล้า’ เกิดขึ้นบ้างไหม โดยส่วนตัวผมมองว่าไม่น่าถึงขนาดนั้นนะ อาจจะมีบ้างที่กินเหล้าเพื่อลืมทุกข์ ซึ่งก็มีคนจำนวนหนึ่งที่มี Hoping Mechanism แบบนี้ แต่เท่าที่เห็นแนวโน้มในตอนนี้ มันยังไม่น่าจะกระจายเพราะมีคำสั่งห้ามขายสุรา ตอนนี้เหมือนกับคนเข้าถึงสุราไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า ถ้ายังมีคำสั่งห้ามขายแอลกอฮอล์อยู่ การดื่มแอลกอฮอล์น่าจะลดลง
เกร็ดน่ารู้– ผู้ชายไทยประมาณ 3.5% เป็นโรคติดสุรา (alcohol dependence) ส่วนผู้หญิงเป็นโรคติดสุราแค่ 0.2% เท่านั้น
– ความผิดปกติของดื่มแอลกอฮอล์ (alcohol use disorder เป็นโรคซึ่งคล้ายโรคติดสุรา แต่ความรุนแรงน้อยกว่า) ความชุกของอาการฯ สูงที่สุดในภาคเหนือ (ประมาณ 3.5%) และในกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี (ประมาณ 9.1%)
– การใช้สารชดเชยสุรา (เช่น น้ำกระท่อม) ในช่วงนี้ พบว่ามีการเสพน้ำต้มใบกระท่อม (สี่คูณร้อย) เพิ่มขึ้นหลังประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ห้ามขายเหล้าเบียร์ทั่วประเทศ
– นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า มีการจับกุมกลุ่มบุคคลมั่วสุมขัด พรก.ฉุกเฉิน เสพยาบ้า-กัญชา-ต้มสี่คูณร้อยดื่มที่ปทุมธานีและศรีสะเกษ ส่วนที่ภูเก็ตมีพนักงานส่งอาหารลักลอบขนใบกระท่อมและน้ำสี่คูณร้อย
– แม้ในวันที่ 10 มีนาคม 2563 ทางคณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ โดยให้ยกเลิกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 และเลิกบทกำหนดโทษ แต่ยังมีข้อจำกัดให้การใช้กระท่อมอยู่ในบริบทของวิถีชาวบ้าน ส่วนการค้าขายหรือส่งออกกระท่อมยังต้องอยู่ภายใต้การได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ให้มีการค้าเสรีแต่อย่างใด
อ่านสรุปข้อควรระวังเรื่องเหล้าและการดูแลผู้ติดเหล้าที่ต้องหยุดดื่มจนอาจ ‘ลงแดง’ ได้ ที่นี่ (ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และ สสส.)
ที่มา:
WHO. Thailand. Global Alcohol Report. 2018. Accessed on 22 April 2020. URL: https://www.who.int/substance_abuse/publications/global_alcohol_report/profiles/tha.pdf
ปริทรรศ ศิลปกิจ และคณะ. ความชุดของความผิดปกติของการดื่มแอลกอฮอล์ในคนไทย โรคร่วมทางจิตเวชและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง. ว.สุขภาพจิตแห่งประเทศไทย 2560; 25(2): 107-121. URL: https://he01.tci-thaijo.org/index.php/jmht/article/view/142712/105660
แฉขาเมายุคโควิด-19 ห้ามขายสุราหันเสพดื่มน้ำกระท่อม
นายกฯ กำชับ “สมศักดิ์” เข้มคดีต้ม 4 คูณ100 พุ่ง หลังประกาศห้ามขายเหล้า
ครม.เตรียมปลดล็อก “กระท่อม” ออกจากยาเสพติดประเภท 5 ใช้เพื่อ การแพทย์-เศรษฐกิจ
ความรุนแรงในครอบครัว คือภัยเงียบในวิกฤติ ‘โควิด-19
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm