ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต มีข้อมูลสถิติบอกว่า คนไทยเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 50-70 คน แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ ตัวเลขย่อมพุ่งสูงมากกว่านี้ นี่จึงทำให้ไทยวนเวียนอยู่ใน Top 10 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่เสมอ และเมื่อมองลึกลงไป หนึ่งในสาเหตุหลักของอุบัติเหตุบนท้องถนนคือ ‘เมา’ หรือขับรถเร็ว
แน่นอนว่า การติดอันดับประเทศที่มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากไม่ใช่เรื่องน่ายินดี และนั่นทำให้หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์แนวคิด ‘เมาไม่ขับ’ เพื่อมุ่งลดการสูญเสียนี้ ขณะเดียวกัน นอกจากเรื่องเมาไม่ขับแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เราไม่อาจมองข้ามได้เลยคือ แอลกอฮอล์มาคู่กับการสังสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใด เรามักเฉลิมฉลองด้วยแอลกอฮอล์ จึงทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสูงเป็นพิเศษในช่วงเทศกาล
ดังนั้น รณรงค์เมาไม่ขับอย่างเดียวคงไม่พอ แต่เราอาจจะต้องเริ่มคิดถึงเรื่องรณรงค์การเฉลิมฉลองแบบปลอดแอลกอฮอล์ด้วย เพราะแม้การดื่มจน ‘เมา’ จะเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คนเมาคิดจะขับรถ การอ้างสิทธิก็เป็นเพียงการอ้างที่ปราศจากความรับผิดชอบ และสามารถนำไปสู่อันตรายบนท้องถนนได้โดยง่าย
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอจับควันหลงวันฮาโลวีน ชวนคุณอ่านสรุปจากวงเสวนา ‘งานเลี้ยงไม่มีเหล้า ไม่เมา ไม่ซิ่ง’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Halloween 2019 No AL Party #หยุดผีซิ่ง จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ไล่เรียงตั้งแต่สถิติที่น่าตกใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย แอลกอฮอล์กับวันฮาโลวีน เรื่องราวจากผู้สูญเสีย ไปจนถึงความรับผิดชอบของสถานประกอบการปลอดเหล้าเพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตพนักงาน
คุณรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมในวันนี้ว่า กิจกรรมดังกล่าวเกิดจากความเป็นห่วงของภาคีเครือข่ายเยาวชน ที่มองว่าฮาโลวีนเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสังสรรค์ซึ่งอาจมาพร้อมกับการดื่มแอลกอฮอล์ และเมื่อมีการดื่ม ก็สามารถนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนได้ จึงเกิดการตั้งประเด็นเพื่อชักชวนให้สังคมไทยหันมามองเรื่องนี้
“การดูแลความปลอดภัยจะช่วยรักษาชีวิตและความสูญเสีย และถึงจะมีข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องเสียไปหากมีผู้เสียชีวิตหรือพิการ แต่มูลค่าเหล่านี้เทียบไม่ได้เลยกับความสูญเสียทางจิตใจที่เกิดกับญาติ ครอบครัว ที่ต้องสูญเสียคนที่รักไป หรือต้องดูแลบุคคลเหล่านั้นไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น กิจกรรมในวันนี้จะเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม ที่เยาวชนของเราลุกขึ้นมาร่วมจัดกิจกรรมและแสดงออกเองว่า ขอพื้นที่ต้นแบบที่สามารถสนุกได้โดยปราศจากแอลกอฮอล์”
รุ่งอรุณปิดท้ายว่า มีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากหลายภาคส่วนที่จัดงานฉลองโดยปราศจากแอลกอฮอล์ เช่น คอนเสิร์ตโคตรอินดี้ ที่จัดมายาวนานเกือบสิบปี แต่ไม่มีการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เลย สสส.จึงอยากสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมแบบนี้ เพื่อช่วยให้ทุกคนมีความสนุกคู่กับความปลอดภัย ซึ่งเป็นความสุขที่สุขจริงและคุ้มค่ากับการเฉลิมฉลอง
งานเลี้ยงไม่มีเหล้า ไม่เมา ไม่ซิ่ง
หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจของงานคือ การจัดวงเสวนา ‘งานเลี้ยงไม่มีเหล้า ไม่เมา ไม่ซิ่ง’ ซึ่งมีวิทยากรจากหลายภาคส่วน มาร่วมอภิปรายและเล่าประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) คุณนิพนธ์ ทับนิล คุณพ่อผู้สูญเสียลูกสาวจากคนเมาแล้วขับ และ คุณวศิน บรรณาการ ผู้จัดการแผนกอาวุโสทรัพยากรมนุษย์ บริษัท เบทาโกร จำกัด มหาชน สาขาลพบุรี ดำเนินรายการโดย คุณนฤบดี จันทรส จากเครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อการขับเคลื่อนสังคม
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก โดย นพ.พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ เล่าให้ฟังว่า ปีๆ หนึ่ง ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 24,000 รายต่อปี โดยนับจากฐานข้อมูลของตำรวจ โรงพยาบาล และบริษัทกลางที่เกี่ยวกับการประกันภัย
“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไทยถูกจัดให้อยู่อันดับ 2 ของโลก ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน พอมาปีที่แล้ว อันดับของเราร่วงลงเป็นที่ 9 แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราการเสียชีวิตของเราลดลง แต่เป็นเพราะมีประเทศอื่นแซงเรา พอมาปีนี้ ยังไม่ทันครบปีก็มีแนวโน้มว่าตัวเลขจะมากกว่าปีที่แล้ว เท่ากับว่าสถานการณ์ของเรายังรุนแรงอยู่”
นพ.พรหมมินทร์ขยายความว่า ตัวเลขที่ได้มาจนถึงปัจจุบันนี้คือประมาณ 13,000 คน ซึ่งมาจากบริษัทกลางที่วิเคราะห์ผ่านระบบประกันภัย แต่ตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะมีการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในระบบด้วย
สาเหตุหลักของตัวเลขดังกล่าวมาจากการเมาแล้วขับ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ที่จะคิดเป็นราวร้อยละ 60 ของอัตราการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนถ้านอกเทศกาลจะเป็นเรื่องการขับรถเร็ว แต่นพ.พรหมมินทร์ชี้ให้เห็นว่า แม้จะเป็นการขับรถเร็ว ก็อาจจะมีเรื่องเมาแทรกเข้ามาด้วย เพียงแต่ไม่ได้ถูกตรวจจับและนับรวมเข้าไป
“เรามักจะเจอปัญหา 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ ช่วงปีใหม่ คนมักจะรีบกลับบ้านก่อน เช่น ช่วงวันที่ 24 ธันวาคมเป็นต้นไปก็จะทยอยกลับบ้านแล้ว บางรายไม่พักผ่อน เลิกงานแล้วขับรถกลับเลย ก็จะมีอาการเพลีย ง่วง หรือวูบหลับในระหว่างทาง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนลักษณะที่สองคือการฉลองที่ทำให้เกิดปัญหา บางคนนานๆ กลับบ้านที ก็มีคนตั้งวงรอแล้ว”
“ที่น่าห่วงอีกอย่างคือ เด็กและเยาวชน เพราะผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่างให้เขาเห็น บางครอบครัวพ่อแม่ตั้งวง แถมวานให้เด็กไปซื้อน้ำแข็งให้อีก พอเด็กโตมาก็อยากลอง พอลองแล้วก็มักลงเอยด้วยการไปฉลองนอกบ้าน บางรายไปฉลองแล้วไม่ได้กลับมาเลยก็มี” นพ.พรหมมินทร์กล่าว
“วันฮาโลวีนเป็นวันที่ชาวไอริชโบราณเชื่อว่า ประตูระหว่างโลกวิญญาณและโลกมนุษย์จะเปิด ทำให้มีทั้งวิญญาณดีและผีออกมายังโลกมนุษย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะใช้วันนี้เป็นวันปล่อยผี เราควรจะปล่อยผีในตัวเราออกไปก่อน” ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวนำ “ชาวพุทธเราก็มีพูดถึงผี จะเรียกอบายมุขว่าผี 6 ตัว หนึ่งในนั้นคือน้ำเมา ดังนั้น ถ้าเราจะปล่อยผีให้ถูกต้อง ก็อย่าปล่อยให้ผีน้ำเมาเข้าสิงเรา ใครดื่มอยู่ก็ปล่อยผีน้ำเมาออกไป ไม่เช่นนั้น คนในเขตโลกมนุษย์อาจจะไปอยู่ในเขตของโลกผีจริงๆ คือเสียชีวิตจากการเมา”
นอกจากการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุแล้ว แอลกอฮอล์ยังสามารถก่อให้เกิดการเสียชีวิตหรือความรุนแรงแบบอื่นอีกด้วย เช่น เมาจนไปก่ออาชญากรรม โดยภก.สงกรานต์ยกงานวิจัยของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ระบุว่า เด็กในสถานพินิจเกือบครึ่งหนึ่งทำผิด หลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 5 ชั่วโมง บางคนเปลี่ยนจากคนที่นิสัยดีมากเป็นผู้กระทำผิดด้วยฤทธิ์น้ำเมา จนต้องถูกส่งตัวเข้าสู่สถานพินิจ
“เป้าหมายวันนี้คือ เราต้องทำให้ชีวิตของเราเป็นอิสรภาพ ปล่อยผีออกไป และให้วิญญาณที่ดีเข้ามาทดแทน ในทางพุทธจะเรียกว่าสติปัญญาก็ได้ เราควบคุมตัวเราเองว่า เราจะไปที่ไหนก็ไปด้วยสติปัญญา ขับรถก็ไม่เมา โอกาสจะเกิดอุบัติเหตุก็น้อยลง แล้วเราจะเลือกชีวิตที่ดีกว่านี้ได้”
อีกหนึ่งประเด็นน่าขบคิดคือ ในช่วงเทศกาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์มักจะมีโปรโมชันเชิญชวนคนดื่ม และนำเสนอในเชิงว่าให้คนดื่มดื่มอย่างรับผิดชอบ ทั้งที่ความจริง แอลกอฮอล์เป็นสารพิษในตัวเอง สามารถก่อให้เกิดโรคได้เกือบสองร้อยโรค ทำให้คนขาดสติและประมาท เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องทบทวนเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ของตนเองด้วย
การเมาไม่ได้มีผลกระทบต่อผู้ดื่มเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างด้วย และในบางครั้ง ก็ทำให้ผู้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องพลอยได้รับเคราะห์ไปด้วย ดังที่ คุณนิพนธ์ ทับนิล คุณพ่อผู้สูญเสียลูกสาวจากคนเมาแล้วขับ ได้มาถ่ายทอดเรื่องราวความสูญเสียให้เราฟัง
ไอซ์ ลูกสาวของนิพนธ์อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขณะที่เสียชีวิต เธอยังเรียนอยู่ชั้นปีที่สองเท่านั้น โดยนิพนธ์เล่าย้อนไปถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ลูกสาวของเขาเสียชีวิตว่า ในวันนั้น ไอซ์เพิ่งกลับจากเข้าค่ายอาสาบนดอย และโทรคุยกับพ่อตามปกติ ไอซ์ยังบอกว่า ตนเองเหนื่อยมาก จึงจะรีบทานข้าวและนอนพักผ่อนเลย
“แต่ต่อมาตอนสามทุ่ม เพื่อนโทรมาชวนเขาออกไปกินขนมข้างนอก ก็ไปกันห้าคน ลูกสาวของผมก็ขับมอเตอร์ไซค์ไป มีเพื่อนสนิทของเขาซ้อนท้าย ตอนขากลับ ทุกคนชิดขวาอยู่ตรงเกาะกลางถนนที่ใหญ่เกือบสองเมตร เตรียมยูเทิร์นเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย รถลูกสาวของผมอยู่ตรงกลาง มีรถของเพื่อนอยู่ด้านหน้าและด้านหลัง”
“ตอนนั้นมีรถยนต์คันหนึ่ง ผู้ดื่มดื่มเหล้าตั้งแต่เที่ยงวัน ขับออกมาและต้องผ่านหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ด้วยความเมา เขาขับชนแท่งแบริเออร์ เหินมาชนเกาะกลางถนนที่เป็นปูนแข็งด้านขวา แล้วเหินมาอีกฝั่งหนึ่งชนลูกสาวผม ทั้งลูกสาวผมกับเพื่อนที่ซ้อนท้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และเจ้าหน้าที่วัดแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับคนนั้นได้สูงถึง 121 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์”
หัวอกพ่อแม่ย่อมห่วงลูกและหวังว่าลูกจะเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ นิพนธ์เองก็เช่นกัน การสูญเสียครั้งนี้จึงทำให้เขารู้สึกราวกับว่า ต้องสูญเสียลูกสาวไปถึงสองคนพร้อมกัน โดยคุณพ่อท่านนี้เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่การเมาแล้วขับมาจากการตั้งใจดื่มเหล้า ตั้งใจเมา และตั้งใจขับรถ ทั้งที่ผู้ดื่มสามารถหยุดทุกอย่างได้ ตั้งแต่ไม่ดื่มเหล้า ไม่ขับรถ หรือไม่ขับเร็ว แต่เขาไม่ทำ ซึ่งนิพนธ์มองว่า เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการประมาทโดยตั้งใจ
“โทษของการเมาแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตคือจำคุก 5-10 ปี แต่ถ้าผู้กระทำผิดรับสารภาพเอง โทษจะลดเหลือ 5 ปีทันที ถ้าเราไม่อยู่ในเหตุการณ์ เราอาจจะมองว่าโทษนี้น่ากลัว แต่สำหรับผู้เสียหาย โทษนี้นิดเดียวเองนะครับ”
ในความคิดของนิพนธ์ เขาอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงโทษตรงนี้ ซึ่งเขามองว่า เป็นโทษที่เบาสำหรับผู้เสียหาย เบาสำหรับชีวิตที่ต้องเสียไป และเบาเหลือเกินสำหรับความหวังของผู้สูญเสีย
เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมาย นพ.พรหมมินทร์ร่วมอภิปรายว่า คณะทำงานพยายามที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอยู่ โดยเมื่อมองดูกฎหมายเรื่องนี้ จะเห็นว่ามีกฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบที่ยังไม่เอื้ออีกเยอะ เช่น โทษจำคุกไม่เกินสิบปี แต่เมื่อผู้ต้องหาสารภาพ ก็ลดโทษเหลือไม่เกินห้าปี และเมื่อครบห้าปี ศาลจะสามารถสั่งให้รอลงอาญาได้
“เราพยายามจะปิดช่องโหว่ตรงนี้คือ ให้ดื่มแล้วขับหรือเมาแล้วขับเท่ากับฆาตกร เราพยายามจะปรับให้เป็นเรื่องเจตนา แต่ปรากฏว่ามันติดขัด เพราะการทำให้เรื่องเจตนาเป็นกฎหมายอาญาจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายใหญ่ เราจึงพยายามผลักดันให้เมาแล้วขับเป็นโทษที่ใช้คำว่า ประมาทอย่างร้ายแรง แต่ให้รับโทษเสมือนเจตนา”
การบังคับใช้กฎหมายในต่างประเทศก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ โดยภก.สงกรานต์ได้ร่วมแบ่งปันว่า แต่ก่อน ประเทศญี่ปุ่นก็มีอัตราผู้เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับเยอะมากเช่นกัน แต่ญี่ปุ่นสามารถลดจำนวนคนเสียชีวิตบนถนนได้ต่อเนื่องกันสิบปี จนปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีคนเสียชีวิตทั้งปีประมาณ 300-400 คน ซึ่งน้อยกว่าผู้เสียชีวิตจาก 7 วันอันตรายของไทยเสียอีก ซึ่งสาเหตุที่สามารถลดจำนวนคนเสียชีวิตได้คือ คนที่เมาแล้วขับต้องติดคุกทันที ไม่มีการรอลงอาญา ซึ่งภก.สงกรานต์ทิ้งท้ายว่า ประเทศที่ลดอุบัติเหตุได้จริงจะมีโทษประมาณนี้ทั้งสิ้น นี่จึงอาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องนำไปร่วมขบคิดและหาทางออกกันต่อไป
แม้การดื่มเป็นเรื่องของปัจเจก แต่เมื่อใดที่ดื่มเกินพอดี ดื่มแล้วไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ สถานประกอบการ เพราะเมื่อใดก็ตามที่แรงงานคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุ หรือเมาแล้วขับ ก็ย่อมส่งผลต่อบริษัทอย่างมาก ทำให้หลายบริษัทเริ่มมีมาตรการดูแลพนักงานในเรื่องของการติดสุรา เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นการรักษาทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทด้วย
“เบทาโกรให้ความสำคัญในการดูแลพนักงาน เพราะเราให้ความสำคัญกับแนวคิดที่ว่า คนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด เมื่อมีนโยบายชัดแบบนี้ เราจึงมองว่า ถึงเวลาแล้วรึยังที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ทั้งในเชิงป้องกันและเชิงรุก”
คุณวศิน บรรณาการ ผู้จัดการแผนกอาวุโสทรัพยากรมนุษย์ บริษัท เบทาโกร จำกัด มหาชน สาขาลพบุรี เล่าเรื่องราวความพยายามของสถานประกอบการให้เราฟัง “เราเลยเริ่มต้นจากการปรารภกับผู้บริหารก่อน ให้มองเห็นถึงนโยบายดังกล่าวว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร คนไทยจัดงานฉลองกันบ่อย แล้วภาวะเสี่ยงก็อยู่ในช่วงกิจกรรมพวกนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเปลี่ยนแปลงหรือออกแบบวัฒนธรรมใหม่ๆ เรากล้าจะเปลี่ยนแปลงไหม ซึ่งเจ้านายก็บอกว่า เราน่าจะถึงจุดเปลี่ยนแล้ว”
แม้จะเห็นถึงปัญหาและอยากเริ่มเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยความที่บริษัทเบทาโกรเป็นบริษัทใหญ่ มีพนักงานจำนวนมาก จึงต้องมีการพูดคุยกันว่าจะมีกลยุทธ์อย่างไรเพื่อปรับเปลี่ยนเรื่องดังกล่าว
วศินเล่าว่า โรงงานที่เขาอยู่มีพนักงานประมาณ 250 คน และมีชมรมคุณภาพชีวิต 4 ชมรม โดยคาดหวังว่าจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานได้ ซึ่งนี่เข้าทางกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะการดื่มจะทำให้พนักงานมีความสุ่มเสี่ยงทั้งด้านสุขภาพ การเงิน และความสัมพันธ์ในครอบครัว สมาชิกทุกคนจึงต้องมาระดมสมองกันเพื่อหาแนวทางการเปลี่ยนแปลง และยังให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลแสดงสถิติว่าความสุ่มเสี่ยงเกิดจากอะไร รวมถึงวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนที่เกิดขึ้น
“เราพบว่าจุดอ่อนคือ พนักงานยังไม่มีความตื่นตัว เราจึงเริ่มต้นที่ตัวพนักงานก่อน ต้องออกแบบกิจกรรม ให้เขาตระหนักว่าเขาเกิดมา ต้องรับผิดชอบตัวเอง ครอบครัว และสังคม เราก็กระตุ้นและสร้างแกนนำ เริ่มดึงกลุ่มเสี่ยงเข้ามาละลายพฤติกรรมก่อน”
“เรายังเอาเงินที่จะใช้ดื่มเหล้ามาเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแทน เช่น เพิ่มการจับฉลากประจำปี และยังมีการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง แต่อยากจะเปลี่ยนแปลงมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา และถ้าเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ก็จะได้เงินพิเศษประจำปีเพิ่มเข้าไป เพราะคุณสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นได้”
ผลที่ได้จากความพยายามดังกล่าวคือ โรงงานข้างเคียงสนใจจนเกิดเป็นการขยายผลในปีถัดไป อีกทั้งสถิติอุบัติเหตุยังเป็นศูนย์ พนักงานเลิกงานตรงเวลา ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสุขได้โดยไม่ต้องมีแอลกอฮอล์
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ต้นทุนของบริษัทจากการสูญเสียพนักงานที่มีคุณภาพหนึ่งคน ซึ่งวศินอธิบายว่า พนักงานคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ามากขององค์กร ต้นทุนขององค์กรจะเริ่มตั้งแต่การรับสมัครงาน การฝึกฝน กว่าจะทำงานได้จริง บางตำแหน่งงานต้องใช้เวลา 2-5 ปีกว่าจะมีทักษะเพียงพอ ซึ่งเมื่อเบทาโกรนำแนวคิดเรื่องโรงงานปลอดเหล้าเข้ามาใช้ ก็พบว่า อัตรา turn over ลดลง คนอยู่ถึงเกษียณมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณด้วย
“เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงก่อน สิ่งที่ยากคือการคิดจะเปลี่ยน เราต้องคิดว่าเราทำได้ และถ้าท่านใดกังวล เบทาโกรยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้ เพราะเราถือว่าเรารับผิดชอบสังคมร่วมกัน เพื่อสังคมจะได้น่าอยู่ขึ้น เราต้องมาผนึกกำลังกัน และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง” วศินกล่าวปิดท้าย
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm