วิชาสังคม (สถาน) ศึกษา ว่าด้วยการป้องกันและเลิกเหล้า

August 19, 2019


หากพูดถึงการป้องกันและรณรงค์เลิกเหล้าในสถานศึกษา คุณคิดว่าใครมีบทบาทสำคัญที่สุด

ก. เด็ก

ข. ครู

ค. ผู้ปกครอง

หรือ ง. ทุกคน

คำตอบที่ ครูซะ – อภิศา มะหะมาน ผู้ผลักดันโครงการบูรณาการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่สู่ระบบการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บอกกับเราคือ พฤติกรรมของทุกคนในสังคมสถานศึกษาต่างส่งผลถึงกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้าของครูหรือผู้ปกครอง การจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องพิษภัยของสุราจากผู้ใหญ่ กระทั่งความเข้าอกเข้าใจในทุกๆ ฝ่าย ล้วนมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดื่มของเด็กในอนาคต

ขณะเดียวกัน พลังของเด็กเองก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ครู ผู้ปกครอง หรือกระทั่งรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนด้วยกัน เริ่มต้นลด ละ เลิกสุรา ได้อย่างคาดไม่ถึง

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณไปฟังเรื่องเหล้าในสังคมโรงเรียน ผ่านบทสนทนากับครูซะ เรื่องการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ผ่านบทเรียนจากครอบครัว ควบคู่ไปกับการให้เด็กเป็นตัวแทนสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรอบข้าง แล้วย้อนมองสถานการณ์ระบบการศึกษาปัจจุบัน ว่าแท้จริงแล้วเราควรสอนเยาวชนเกี่ยวกับสุราด้วยวิธีการอย่างไร

 

 

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณสนใจทำงานด้านนี้

เราเป็นครูโรงเรียนเอกชนมาก่อน จากประสบการณ์ที่ทำงานมาทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย ตอนทำงานแรกๆ ก็ยังไม่ได้ใช้ทักษะของความเป็นครูมาก จนกระทั่งมีการผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เราได้รู้จักกับคุณบรรจง แซ่อึ้ง ประธานชุมชนกองขยะหนองแขม จึงได้ไปที่ชุมชนกองขยะหนองแขมหลายครั้ง คนที่นี่มีอาชีพเก็บขยะขายเลี้ยงชีพเป็นหลัก มีความสามารถเรื่องคัดแยกขยะมาก แต่กลับดื่มเหล้าหนัก ผู้นำชุมชนก็พยายามแก้ปัญหานี้ เราจึงไปช่วยพวกเขาด้วยการจัดค่ายช่วงเข้าพรรษาให้เด็ก

ช่วงเช้าเราพาเด็กทำกิจกรรม วาดรูประบายสีให้ผ่อนคลายมีความสุขตามประสา พอพักบ่าย เราให้เขาทำกิจกรรมหน้าต่างสี่บาน คือแจกกระดาษเอสี่แล้วทำเป็นสี่ช่อง วาดรูประบายสีปัญหาเร่งด่วนที่อยากแก้ที่สุดในบ้านเรียงตามลำดับเลข แล้วให้เด็กชูภาพตนเองเพื่อเล่าเรื่อง

มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เมื่อตอนเช้าเรายังเห็นเขาวิ่งเล่นสนุกสนาน แต่พอเขายกภาพขึ้นมากลับร้องไห้ ร้องแบบเศร้าโศกเสียใจมาก ไปซบไหล่เพื่อนข้างๆ นั่งสะอึกสะอื้น เรากับเพื่อนก็ตกใจ จึงเข้าไปกอดและคุยกับเขาให้ผ่อนคลาย แล้วให้เด็กน้อยคนนั้นค่อยๆ เล่า เขาเล่าให้ฟังว่าพ่อติดเหล้า ตีแม่ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ไม่มีเงินไปโรงเรียน

และไม่ใช่คนเดียวที่มีอาการแบบนั้น เด็กๆ เป็นกันแทบทุกคน ขนาดเด็กผู้ชายที่ดูโจ๋ๆ เกเรๆ พอเล่าเรื่องกลับเอากระดาษมาปิดหน้าตัวเอง ไม่พูดอะไรไปครู่หนึ่ง ก่อนบอกว่าพ่อเตะเขา และใช้ให้ไปซื้อเหล้า ถ้าไม่มีเงินซื้อ เขาจะถูกเตะ ซึ่งเราไม่เคยรู้ปัญหาแบบนี้มาก่อน เพราะปกติโรงเรียนที่สอนมีแต่ลูกคนรวย เด็กชุมชนนี้ที่ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ พลิกกลับมาอยากทำงานด้านนี้

 

เด็กๆ คือเหตุผลที่ทำให้คุณเลือกจัดโครงการเรื่องเหล้าในโรงเรียนเป็นหลัก

ขอเล่าภาพรวมก่อนว่า โครงการของเราอยู่ภายใต้สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยอยู่ภายใต้โครงการบูรณาการป้องกันแก้ไขปัญหาเหล้าบุหรี่เข้าสู่ระบบการศึกษา

เรามองว่า ระบบการศึกษาเป็นระบบหลักของสังคม มีเด็กและครูจำนวนมาก ซึ่งเด็กมักเลียนแบบพฤติกรรมต่างๆ จากพ่อแม่ จากครู แล้วตอนนี้ปัญหาเรื่องเหล้า บุหรี่ และอบายมุขต่างๆ ในครอบครัวและสถานศึกษาเพิ่มขึ้น เราจึงคิดว่า จะทำอย่างไรในการนำเรื่องนี้เข้าสู่ระบบเพื่อเป็นการสร้างทักษะชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กโดยไม่ต้องรอให้เขาไปดื่มก่อน เพื่อทำให้โอกาสปฏิเสธของเขามีสูงขึ้น

 

การทำงานตรงนี้มีทฤษฎีอะไรมารองรับหรือไม่

เราศึกษาทฤษฎีจิตวิทยา Neo Humanist ซึ่งอธิบายโครงสร้างจิตของคนว่าแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ จิตสำนึก การทำงานของจิตสำนึกถ้ายกตัวอย่างคือ สมมติเราเห็นกาแฟ เรารู้สึกชอบ จึงตัดสินใจไปซื้อมัน นี่เป็นจิตสำนึกของเรา

อย่างที่สองคือจิตใต้สำนึก มีหน้าที่บันทึกข้อมูลสิ่งต่างๆ รอบตัวเราเก็บไว้ทั้งหมด เช่น เราเห็นคนที่บ้านกินเหล้า จิตใต้สำนึกเก็บข้อมูลไว้ พอโตขึ้น มีเพื่อนชวนไปกินเหล้า เราจึงตัดสินใจไปกินด้วยได้ง่ายเพราะมีข้อมูลอยู่ที่จิตใต้สำนึก

ธรรมชาติของเด็ก จิตใต้สำนึกเขายังใสๆ อยู่ ยังมีพลังในการบันทึก ตอนที่เห็นพ่อแม่กินเหล้า เขาอาจจะยังไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อโตขึ้น เมื่อมีเพื่อนชวน หรือเจอโฆษณา เขายิ่งตัดสินใจไปได้ง่าย ฉะนั้น เรามองว่าการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีรอบๆ ตัวเขา หรือทำงานร่วมกับบุคคลที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อเด็กๆ สำหรับเขาอย่าง พ่อแม่ ครู มีความสำคัญมาก

จิตที่มีผลต่อพฤติกรรมคือจิตสำนึกกับจิตใต้สำนึกนี่ล่ะ ส่วนอย่างสุดท้ายคือจิตเหนือสำนึก เป็นจิตที่เหมือนจิตหยั่งรู้ เป็นจินตนาการที่ลึกซึ้ง ซึ่งเราจะยังไม่แตะมันมาก

 

คุณเลือกเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กอย่างพ่อแม่ ด้วยการใช้พลังของเด็กเอง ตรงนี้มีแนวคิดอย่างไร

นอกจากการป้องกันนักดื่มแอลกอฮอล์หน้าใหม่แล้ว เรายังมองว่าเด็กยังเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้นักดื่มหน้าเก่าเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แนวคิดนี้ก็มีการขับเคลื่อนเป็นโครงการโพธิสัตว์น้อย “ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” ซึ่งเป็นโครงการที่เราทำช่วงเข้าพรรษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาเป็นสิบปีแล้ว และพบว่ามันได้ผลจริงกับการให้ลูกชวนพ่อแม่เลิกเหล้า เพราะผู้ที่มีอิทธิพลกับพ่อแม่มากก็คือลูก การให้พวกเราไปรณรงค์ เขาก็แค่ฟังแต่ไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในเมื่อลูกคือคนที่ทรงพลังมากที่สุด เราจึงพยายามหากิจกรรมต่างๆ ให้เด็กทำ กิจกรรมหนึ่งที่ง่ายและไม่ยุ่งยากสำหรับโรงเรียนคือการให้เด็กเขียนจดหมายสื่อรัก

เราพบว่าเด็กประถมเก็บความทุกข์ยากในใจ ความไม่ชอบใจที่พ่อแม่ดื่มเหล้า ปัญหาทุกอย่างเด็กเก็บไว้ทั้งหมด เขาแทบจะเห็นเป็นความเคยชินและไม่ค่อยกล้าไประบายกับใคร เพราะชีวิตยังอยู่ในอุ้งมือพ่อแม่ เรามักมองไม่ออก เพราะเด็กมาโรงเรียนก็เล่นสนุกไปตามประสา แต่พอเราชวนเขาเขียนจดหมาย เปิดพื้นที่ให้เขา เด็กจะกล้าระบายปัญหาที่หมักหมมทุกข์ใจออกมา

จดหมายที่เด็กๆ เขียนนี่ดีมากนะ บางคนเขียนด้วยอารมณ์โกรธก็มี อารมณ์เศร้าก็มี ครอบครัวคนไทยไม่ค่อยคุยกันอยู่แล้ว บอกรักยังไม่กล้าบอก ดังนั้น พอพ่อแม่ไปอ่านจดหมายที่ลูกใช้คำพูดด้านบวก คือบอกรัก บอกถึงความห่วงใย บอกถึงพิษภัยของเหล้าในแบบที่ไม่ใช่การสั่งสอน พ่อแม่เห็นจดหมายเข้าก็หวั่นไหว ใจอ่อนกับลูก บางคนเลิกเหล้าได้ตลอดก็มี บางคนอาจจะยังไม่เลิกสนิทแต่ก็ลดการดื่มลง จดหมายของลูกจึงมีบทบาทกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพ่อแม่

นอกจากนี้ การทำกิจกรรมแบบนี้ยังทำให้เด็กเรียนรู้ว่าเหล้าไม่ดี โดยที่ไม่ได้ผ่านการบรรยายของครู แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านความทุกข์ยากในครอบครัวของเขา ซึ่งมันจะลงลึกไปถึงความรู้สึก ทำให้เด็กจดจำได้นานมากกว่าครูบรรยาย

 

ทำไมเลือกออกแบบให้เด็กสื่อสารผ่านจดหมาย

การที่เด็กได้เขียน ใคร่ครวญ และทบทวนความรู้สึกจะทำให้จดหมายของเขามีพลัง สามารถสื่อสารรายละเอียดได้ลึกซึ้งกว่าการใช้คำพูด เพราะถ้าเขาไปบอก ก็คงพูดได้สั้นๆ หรือบางทีลูกก็ไม่รู้จะพูดอะไรกับพ่อแม่ ส่วนตัวเราว่าเด็กไทยไม่ค่อยกล้า เด็กในกลุ่มที่เราทำงานด้วยเป็นเด็กชนบท ซึ่งไม่ค่อยกล้าพูดอะไรกับพ่อแม่ แต่การที่เราออกแบบกิจกรรมอย่างจดหมายสื่อรัก ทำให้เขาสื่อสารถึงพ่อแม่ได้อย่างเต็มที่ผ่านตัวหนังสือ และเลี่ยงการปะทะด้วย

 

ช่วยเล่าเคสเด็กๆ ที่น่าสนใจให้เราฟังสักหน่อย

ในเชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว เราเจอกับภูมิ ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายที่เงียบๆ เหมือนเก็บกดอะไรบางอย่าง บางวิชาที่ไม่ชอบเรียนก็ไม่เข้าเรียน จนครูเข้าใจผิดว่าภูมิเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน เมื่ออยู่ต่อหน้าครู ภูมิไม่ได้แสดงอาการอะไรมาก แม้จะดูมีความเศร้าบางอย่างอยู่ลึกๆ แต่ก็ยังเล่นเป็นปกติเหมือนเด็กทั่วไป จนกระทั่งเราจัดโครงการชวนเขียนจดหมายสื่อรัก ครูถามว่าใครอยากแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ว่าเขียนอะไรบ้าง ภูมิก้าวออกไปยืนอ่านจดหมายที่เขียนถึงพ่อเขา แล้วร้องไห้จนเพื่อนและครูเงียบกันหมด

เขาเล่าว่าแต่ก่อนพ่อจะเป็นคนทำกับข้าวให้ภูมิกับแม่กิน แต่พอหลังๆ ไปทำงานแล้วมีเพื่อนชวนดื่มเหล้าจนติด พ่อก็ไม่กลับบ้าน แม่ต้องพาภูมิออกไปตามหาพ่อ เจอบ้างไม่เจอบ้าง บางทีก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน จนภูมิเห็นภาพเหล่านี้ซ้ำๆ เขาเองเคยขอพ่องดเหล้า แต่พ่อกลับตอบว่าทำงานมาเหนื่อยก็ขอกินบ้าง อ้างความเหนื่อย ภูมิเลยไม่พูดแล้วเก็บกดจากพ่อเขา แต่พอเขาเลือกเขียนจดหมายให้พ่อได้อ่าน ได้รับฟังความรู้สึกจริงๆ ของลูก พ่อเลยฉุกคิด ตัวพ่อเองก็ไม่เคยรู้ว่าลูกเขาจะทุกข์ขนาดนี้ ประกอบกับภูมิบอกว่าถ้าพ่อเลิกเหล้า เขาจะตั้งใจเรียน เป็นเด็กดี และจะบวชให้พ่อด้วย เลยทำให้พ่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อก่อนตอนติดเหล้า พ่อของภูมิมักจะสวมหมวก และไม่กล้าสบตาเวลาคุย แต่พักหลังที่ไปเจอ เขากล้าสบตา กล้าคุย สีหน้ามีน้ำมีนวลมากขึ้น ภูมิก็มีความสุข จนตอนนี้ได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน กลายเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก จากที่เคยไม่กล้า และไม่มั่นใจในตัวเอง เมื่อพ่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมันส่งผลมาถึงลูกทันที ภูมิมีความภาคภูมิใจในตัวพ่อ แม่เองก็มีความสุข ครอบครัวมีเงินเก็บ มีชีวิตที่ดีมากขึ้น

อีกเคสหนึ่งที่คล้ายๆ กันเป็นของเด็กชื่อนุ้ย แต่เด็กคนนี้เขียนจดหมายแล้วไม่กล้าให้พ่อ เพราะพ่อเป็นพวกเมาแล้วนอนไม่รู้เรื่อง เขาเขียนเสร็จก็นำไปเก็บไว้ แต่บังเอิญลมพัดจดหมายปลิวแล้วพ่อไปเจอ พอพ่ออ่านดู เห็นว่าลูกไปไหว้พระขอพรให้พ่อเลิกเหล้า แถมนุ้ยยังช่วยทำกับข้าว ทำงานบ้าน เหมือนทำความดีเข้าแลก พ่อเลยใจอ่อน ตอนนี้ก็เลิกเหล้าไปได้แล้ว

กรณีเหล่านี้ยังทำให้ครูเข้าใจเด็กมากขึ้น เมื่อครูรู้ว่าเด็กมีปัญหา ก็เอาใจใส่เพิ่มมากขึ้น สนใจถามไถ่ ไม่ด่วนตัดสิน กระทั่งตัวผอ.โรงเรียนก็บอกว่านี่คือการปฏิรูปการศึกษาแบบหนึ่ง โดยเกิดจากครอบครัวเป็นสำคัญ เพราะต่อให้มีกระบวนการเรียนรู้อะไรดีๆ ก็ตาม ถ้าครอบครัวเด็กยังเปราะบาง ก็ไม่สามารถทำให้เด็กมีการเรียนรู้หรือพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นผอ.จึงมองว่า ส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากภายใน จากครอบครัว

 

ถ้าเป็นเด็กที่ไม่มีคนในครอบครัวติดเหล้า เขาจะมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง

เราจะให้เขียนจดหมายขอบคุณเพื่อเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ต่อไป หรือช่วยเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนที่มีพ่อแม่ดื่มเหล้า เด็กคนอื่นๆ จะได้เห็นแบบอย่างของพ่อแม่ที่ไม่ดื่มด้วย ไม่อย่างนั้นเด็กที่พ่อแม่ไม่มีปัญหาก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไร ซึ่งสักวันหนึ่งพ่อแม่อาจเปลี่ยนมาดื่มก็ได้

 

คุณสอนเรื่องการบำบัดอาการติดสุราให้กับเด็กๆ บ้างไหม

งานของเราอาจจะไม่ใช่เชิงของการรักษาหรือบำบัดเชิงเทคนิค แต่เป็นการช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนเหล่านี้ ให้กลับมาทบทวนตนเอง หรือสร้างแรงบันดาลใจลูกกลับไปช่วยพ่อแม่ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มเหล้า

ถ้าให้เด็กต้องรู้เรื่องบำบัดดูแลมากๆ เขาจะกลัวและเป็นกังวลว่าจะทำไม่ได้ ดังนั้น สำหรับเด็กจริงๆ แล้วเราไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ให้ดูแลพ่อแม่และบอกรัก แสดงความจริงใจ รวมถึงทำความดีเข้าแลก เช่น ให้เด็กล้างเท้า กราบเท้าพ่อแม่ กอดและสวดมนต์ก่อนนอน ใช้กิจวัตรด้านบวกมาทดแทนความสุขที่พ่อแม่เคยได้จากการดื่ม ตรงนั้นเป็นพื้นฐานที่เราว่าทำได้ง่าย

 

เด็กที่ขอพ่อแม่เลิกเหล้าได้สำเร็จมักเป็นเด็กแบบไหน

เด็กเล็กๆ อย่างเด็กประถมหรืออนุบาล ถ้าพูดกับพ่อแม่จะมีผลมาก และยิ่งถ้าพูดซ้ำๆ พูดบ่อยๆ ชวนบ่อยๆ ยิ่งมีโอกาสสำเร็จ

เราเคยดูรายการของคุณโสภณ สุภาพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทบางจาก เขาบอกว่า คนที่มีอิทธิพลและทรงพลังมากที่สุด คือคนที่อ่อนแอที่สุด เด็กเล็กจึงมีบทบาท มีอิทธิพลมากกว่าเด็กมัธยม อย่างเด็กมัธยมไปขอให้พ่อแม่เลิกเหล้ายากกว่าเด็กประถมอีกนะ เพราะกวนโอ๊ย (หัวเราะ) เด็กโตแล้วกวนโอ๊ยพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่ขุ่นเคือง ถึงเด็กมัธยมจะมีความรู้สึกทุกข์ใจจากการที่พ่อแม่ดื่มเหล้าไม่ต่างกับเด็กประถม แต่การขออะไรก็ไม่ง่ายเหมือนเด็กประถมที่ยังน่ารัก พ่อแม่จะให้อภัย เด็กๆ ขอพ่อแม่ให้ทำอะไร เขาจะรู้สึกยอม ให้อภัยง่าย

 

แล้วสำหรับเด็กโต เราควรจัดกิจกรรมให้อย่างไร

สำหรับเด็กมัธยม ถ้าเรามีกิจกรรมที่ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง พฤติกรรมยุ่งเกี่ยวกับเหล้าหรืออบายมุขต่างๆ จะค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ต้องใช้เวลา ให้กำลังใจและใช้วิธีการด้านบวกกับเขาด้วย เช่น โรงเรียนประจำจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ มีเด็กเริ่มไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข เหล้า บุหรี่ หรือมากกว่านี้ก็มี ครูเลยนำไอเดียของเราที่ดีไซน์ให้เด็กประถมทำไปให้รุ่นพี่มัธยมจัดกิจกรรม กลายเป็นกิจกรรมพี่สอนน้อง คือให้พี่มัธยมเรียนรู้เรื่องเหล้าแล้วไปสอนน้องประถมว่ามันไม่ดียังไง ให้ไปขอพ่อแม่เลิกเหล้า

ผลปรากฏว่าเด็กมัธยมคนหนึ่งที่ติดยาแก้ไอคล้ายๆ ยาเสพติดเขียนบันทึกส่งครูว่าเขาจะเลิก เพราะเขาไปสอนน้อง ให้น้องเป็นคนดี ให้ไปช่วยพ่อแม่เลิกเหล้า และให้น้องกตัญญูกับพ่อแม่ แต่ตัวเขายังไม่ได้ทำ ดังนั้นเขาจึงกลับมาเริ่มต้นที่ตัวเอง จะเห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วมีความหมายกับเด็กๆ มาก

 

จำนวนผู้ปกครองที่ติดเหล้ามีอยู่ในพื้นที่ไหนมากเป็นพิเศษ

ถ้าไปทำค่ายให้เด็กประถมหรือกระทั่งเด็กอนุบาล เวลาเจอเด็ก เราจะใช้คำถามสำรวจ (survey) แบบไม่เป็นทางการ ว่า ‘เอ้า เด็กๆ ครูถามจริงๆ เถอะ บ้านใครมีคุณพ่อคุณแม่ดื่มเหล้าบ้าง ยกมือ’ คุณรู้ไหมว่ายกมือกันเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งเป็นทุกที่ ทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ เราเคยไปทำค่ายเด็กประถมสี่ภาค ทุกภาคเป็นเหมือนกันหมด ทางเหนือกับอีสานจะหนักสุด กลางก็มี ส่วนใต้จะเป็นปัญหาบุหรี่กับน้ำกระท่อม

 

 

จากประสบการณ์ของคุณ การที่พ่อแม่ติดเหล้าส่งผลกระทบอย่างไรต่อเด็กบ้าง

เราเห็นเคสเด็กที่ได้รับผลกระทบเยอะมาก อย่างบางบ้าน เด็กต้องสลับกันมาโรงเรียนในวันที่มีพละ ครูก็ด่าเด็กว่าไม่ตั้งใจเรียน ถึงเวลาไม่มา มาวันขาดวัน แต่พอมีกิจกรรมของสพฐ.ที่ให้ครูไปเยี่ยมบ้าน ครูถึงรู้ว่าพ่อแม่เด็กติดเหล้า ตีกัน ไม่มีเงิน มีกางเกงพละแค่ตัวเดียว ลูกจึงต้องสลับกันใส่ วันใดที่มีพละต้องมีหนึ่งคนหยุด หนึ่งคนมาได้ ดังนั้น เมื่อพ่อแม่ดื่ม มันมีผลกระทบกับการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของลูกจริงๆ หรืออย่างช่วงสงกรานต์ เราชอบไปสำรวจ (survey) พฤติกรรมมนุษย์ มักจะเห็นคนตั้งวงกินเหล้ากันเยอะ ผู้ใหญ่นั่งกินวงหนึ่ง อีกวงหนึ่งเป็นเด็ก พฤติกรรมเหมือนผู้ใหญ่เลย แต่นั่งกินเป๊บซี่ แล้วถามว่าอีกปีสองปี คุณคิดว่านั่นจะเปลี่ยนจากน้ำเป๊บซี่เป็นวงอะไร

เมื่อหลายปีก่อน องค์กรเคยไปถ่ายทำเคสเด็กประถมคนหนึ่งที่กินเบียร์แล้วเสียชีวิต นั่นก็เป็นเพราะเขาเห็นพ่อแม่กิน ลูกจึงกินตาม พ่อแม่บางคนยังให้ลูกชิมด้วย ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว และมันมีพฤติกรรมแบบนี้เยอะมาก

นี่เป็นเหตุผลที่เราทำงานเกาะติดด้านนี้ทั้งที่มันยาก เพราะปัญหามันแรงจริงๆ แรงขึ้นเรื่อยๆ เด็กเริ่มดื่มเร็วขึ้น ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงประถม บางทีเด็กเอาใส่ขวดมากินที่โรงเรียนด้วย ใส่ขวดกระทิงแดง หรือใส่ผสมน้ำแดงมา เมื่อก่อนปัญหาเรื่องเหล้าไม่ได้แรงแบบนี้ เดี๋ยวนี้มันเยอะขึ้นมาก และถ้าเราไม่มีกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้ เด็กก็แทบไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะเขาเห็นจนชิน เราต้องชี้ให้เด็กเห็นว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกตินะ นักดื่มหน้าเก่าอย่างคนในบ้านเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ได้

 

คุณคิดว่าทำไมสถานการณ์จึงรุนแรงมากขึ้น

เราคิดว่าคนอ่อนแอลง ถ้ามองผ่านระบบครอบครัว จะเห็นว่าปัจจุบันครอบครัวที่พ่อแม่อายุน้อยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วยังเชื่อมโยงถึงเรื่องเศรษฐกิจ พ่อแม่ต้องทิ้งครอบครัวมาทำงาน อย่างในภาคเหนือกับอีสาน เด็กที่มีพ่อแม่ย้ายถิ่นมาทำงานในเมืองเยอะจนแทบไม่ได้อยู่กับลูก เด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย และคนเฒ่าคนแก่ก็ตามเด็กไม่ทัน

เราเคยไปเยี่ยมโรงเรียนมัธยมที่หนึ่งในอุดรธานี พบว่าปัญหาเยอะมาก ทั้งเรื่องเหล้า บุหรี่ หรือท้องก่อนวัยอันควร ทางโรงเรียนเล่าให้ฟังว่าพ่อแม่ของเด็กไปทำงานต่างจังหวัดกันหมดเลย เด็กอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งแก่มาก พอเด็กขาดความรักจากพ่อแม่ สมมติมาถึงที่โรงเรียนเจอครูที่ไม่เข้าใจ เอาแต่ดุด่า ยืนสอนบรรยาย ฟังเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เขาก็กลายเป็นเด็กหลังห้อง เพื่อนชวนไปทำอะไรก็ไปง่าย เพราะเขาต้องการหาความรัก และความภาคภูมิใจมาเติมเต็มตนเอง เป็นความรักจากเพื่อน พอเพื่อนบอกว่าลองกินเหล้าสิ จะได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อน เขาเลยกิน ซึ่งมันเป็นความรักความภูมิใจที่ผิด แต่เขาไม่รู้จะไปหาความรักได้จากที่ไหน บางทีเด็กเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าเขาต้องการความรัก สุดท้ายเด็กก็จะหลุดออกจากสังคมโรงเรียนไป มีแฟน มีลูก ลูกที่เกิดจากความไม่พร้อมก็จะเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ต่อ วนเวียนกันไป ถ้าเด็กขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ก็เหมือนขาดความมั่นคงภายใน เขาจะเปราะบาง คุณลองสังเกตว่าเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ที่ดี ถ้าใครชวนไปทำอะไร เขาจะมีภูมิคุ้มกันลึกๆ อยู่ข้างใน ต่อให้กินเหล้าตามเพื่อนชวน แต่ก็จะไม่ทำตัวเหลวไหลมาก เพราะยังมีความรักความผูกพันกับพ่อแม่เต็มอยู่ข้างในเป็นสำนึกลึกๆ

เรื่องแรกเป็นเรื่องของครอบครัว ทีนี้เรื่องที่สอง เรามองถึงเรื่องการกระตุ้นทางโฆษณา ถ้าสังเกตการทำงานของโฆษณาจะรู้ว่า เป็นการกระตุ้นที่ใช้ความรู้เรื่องจิตวิทยาเข้ามาช่วย เราเคยถามเด็กๆ ว่าลองคิดดูสิ ทำไมเหล้าเบียร์ถึงไม่โฆษณาสรรพคุณ ว่ากินแล้วเป็นอย่างไร กินแล้วตับแข็ง กินแล้วหน้าแก่ นั่นเพราะสินค้าเขาเป็นพิษ แต่เขาใช้วิธีพลิกร้ายให้กลายเป็นดี ใช้ความสนุกสนาน ใช้ภาพลักษณ์ทางจิตวิทยาที่ทำให้คนรู้สึกสบายใจ เช่น เป็นวันของเพื่อน เพื่อนจริงไม่ทิ้งกัน ใช้นายแบบนางแบบที่หน้าตาดี ทำให้เรารู้สึกดีกับสิ่งนั้นจนคล้อยตามไปได้ง่าย และยังกระตุ้นโดยผ่านงานอีเวนต์ งานคอนเสิร์ต ใช้ดนตรีทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็นความเท่ ใช้ทุกสิ่งอย่างจนบางทีเป็นเราต่างหากที่ตามความรู้เขาไม่ทัน

 

เราควรช่วยเยียวยาจิตใจเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากพ่อแม่หรือไม่ อย่างไร

ควรอย่างมาก อย่างโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่ไปขอพ่อแม่สำเร็จ ตอนแรกเด็กถูกพ่อแม่ด่ากลับมาก็เสียกำลังใจ ตัวครูเป็นบุคคลสำคัญที่ให้กำลังใจแก่เด็กต่อเนื่อง เด็กที่ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ พอเราใช้วิธีการเชียร์ผ่านครู ก็ทำให้เด็กทำสำเร็จ ดังนั้นสิ่งที่ทำให้เด็กมั่นคง มั่นใจพอที่จะไปขอพ่อแม่เลิกเหล้าก็คือครู เราจึงเลือกทำงานกับครูด้วย

ในเรื่องปัญหาบาดแผลในจิตใจจากครอบครัวที่ดื่ม ครูก็เป็นพ่อแม่คนที่สองที่ช่วยเด็กได้ เด็กบางคนมีปัญหาจากที่บ้าน  มาวิ่งเล่นที่โรงเรียนเพื่อต้องการให้ลืมเรื่องราวในบ้าน ถ้าครูรู้ และเอาใจใส่ ใช้การพูดคุยและรับฟัง เด็กจะเปลี่ยนไปเพราะรู้สึกว่าได้ครูเป็นที่พึ่ง เราพยายามเวิร์คช็อปครูให้เข้าใจจิตวิทยา Neo Humanist เรื่องใช้วิธีการด้านบวก เพื่อทำให้ครูเข้าใจว่าอย่าใช้วิธีรุนแรงกับเด็ก ยิ่งใช้ความรุนแรงกับเขา ก็เหมือนยิ่งผลักเขาไปหาเหล้า การเปลี่ยนแปลงผู้คนไม่ได้เปลี่ยนเพราะความเกลียดชัง แต่เปลี่ยนด้วยความรัก ดังนั้นต้องใช้วิธีการด้านบวก คุยกับเด็กให้เกิดความเข้าใจ ให้ความเอาใจใส่ ยิ้ม ชม สบตา สัมผัส ให้เด็กรู้สึกว่าเขามีตัวตนในสายตาครู มีความสำคัญในสายตาครู ยิ่งเป็นเด็กประถมยิ่งมั่นใจ ภูมิใจ โดยเฉพาะการกอดนี้ยิ่งมีพลังมาก ถ้าเด็กมาถึงโรงเรียนแล้วครูได้กอด เขาจะรู้สึกมีความมั่นคงและอยากมาโรงเรียน

เรื่องการกอดที่เสริมพลังให้เด็ก ครูเองก็ได้รับพลังจากเด็กเหมือนกันนะ ครูหลายคนบอกว่าการที่เขาได้กอดเด็ก ทำให้เขาได้รับพลังจากเด็ก มีแรงบันดาลใจ ตระหนักได้ว่าเมื่อก่อนก็มองเด็กผิดไป ตัดสินเด็ก ใช้วิธีรุนแรงกับเด็ก นี่เป็นพลังที่แทบไม่ต้องใช้เงินลงทุน และโรงเรียนบางแห่งก็ทำอยู่แล้ว หน้าที่ของเราแค่เติมองค์ความรู้บางอย่างให้เขาเท่านั้น

เรายังพบว่าถ้าเป็นครูที่มีบาดแผลในใจเกี่ยวกับเรื่องเหล้าจะอยากช่วยเหลือเด็ก จะอินกับเรื่องนี้เร็ว และส่วนมากคนมีบาดแผลเรื่องนี้เยอะนะ เช่น ครูคนหนึ่งมีสามีดื่มเหล้า ติดเหล้าจนแทบจะยิงกันเลย ครอบครัวแตกแยกจนต้องเลิกกับสามี แกจึงคิดว่าไม่อยากให้เด็กเป็นเหมือนแก เวลามีกิจกรรมอะไรเลยสนับสนุนเต็มที่

 

นอกจากการกอดที่เป็นพลังให้กับครู เด็กยังสามารถทำให้ครูที่ดื่มเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยไหม

ส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลทางอ้อม อย่างโครงการโพธิสัตว์น้อยที่เราจัดช่วงเข้าพรรษา ทั้งครู ทั้งผอ.ต่างงดเหล้าเพราะครูขอให้เด็กไปบอกพ่อแม่เลิกเหล้า ผอ.โรงเรียนก็เขียนจดหมายถึงผู้ปกครองเชิญชวนขอให้งดเหล้าเข้าพรรษาเพื่อลูก แต่ตัวเองยังดื่มอยู่ก็อาย

มีโรงเรียนหนึ่งที่ระยอง ผอ.เล่าให้เราฟังว่าเลิกเหล้าเพราะอายเด็ก บอกว่าไปประกาศหน้าเสาธงให้พ่อแม่เด็กงดเหล้า แต่ตัวเองยังกินอยู่ก็อาย เลยเลิกไปเลย พอผอ.เลิก ก็กระทบมาถึงครูที่ดูผอ.เป็นแบบอย่าง ครูที่ยังดื่มอยู่ก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก ส่วนครูที่ไม่ดื่ม ก็พยายามสู้ต่อกับเราเพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในโรงเรียน เป็นการกดดันด้านบวก ไม่ได้ออกปากตำหนิตรงๆ ซึ่งตรงนี้เรามองว่าเป็นกุศโลบาย เป็นศิลปะ เพราะสรรพสิ่งมันล้วนพันเกี่ยวกัน และเพราะครูเป็นปัจจัยสำคัญต่อเด็ก เราเลยคิดว่าต้องเริ่มพัฒนาที่ครูด้วย

 

แสดงว่าสังคมครูที่ดีย่อมมีผลต่อเด็ก แล้วเราจะสร้างสังคมครูดีได้อย่างไร

ถ้าให้ไปไล่จับผิดครูที่กินเหล้าสูบบุหรี่คงไม่ไหว เลยหันมาใช้วิธีการด้านบวกคือยกย่องครูดี

ส่วนตัวเราสนใจแนวคิดของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโลว่าต้องใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย เพราะเราเชื่อว่าคนที่ไม่กินเหล้าสูบบุหรี่มีมากกว่า ถ้าทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมดีเหล่านี้ได้ออกมาปรากฏกาย ให้เห็นว่าสังคมจับจ้องพวกคุณอยู่ สังคมยกย่องครูเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าคุณทำอะไรสังคมก็ไม่สนใจ จะทำให้เขากลายเป็นพลังมาช่วยโอบล้อมคนที่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ เลยเป็นที่มาของโครงการครูดีไม่มีอบายมุข ซึ่งเรามอบโล่ให้กับครูที่ปลอดอบายมุขและมีกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่นโดยเฉพาะเด็กๆ ส่วนคนอื่นที่ไม่ถึงเกณฑ์ก็ได้รับเป็นเกียรติบัตรที่ส่งไปให้ถึงเขตแทน

เราไม่ได้แข่งขันกันทางวิชาการ แต่เป็นเรื่องที่เราพยายามเชิดชูพฤติกรรมที่เหมาะสมแก่สังคม ให้สังคมครูได้เกิดค่านิยมใหม่ ไม่ใช่คนดื่มเป็นเรื่องปกติ เมื่อก่อนนี้พวกเขารู้สึกว่าครูที่ไม่กินเหล้าเป็นตัวประหลาด ครูกินเหล้าสูบบุหรี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่ตอนนี้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ตัวประหลาดแล้ว และสังคมทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย

 

เรียกได้ว่าเด่นแต่วิชาการไม่ได้ แต่ครูต้องมีพฤติกรรมที่ดีด้วย

พฤติกรรมสำคัญมากกว่า เพราะเดี๋ยวนี้วิชาการสามารถค้นเจอเยอะแยะไปหมด แต่การที่ครูแสดงพฤติกรรมที่ดีให้เด็กเห็น เป็นแรงบันดาลใจ เป็นผู้กระตุ้นตั้งคำถามให้เด็กอยากเรียนรู้ เราคิดว่านั่นเป็นบทบาทสำคัญของครูในยุคนี้ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างหรอก รู้แค่ว่าจะหาความรู้อย่างไรก็พอ พฤติกรรมของครูต่างหากที่เด็กได้แล้วได้เลย และแบบอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน

 

ด้านระบบการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเหล้าในปัจจุบัน คุณมีความคิดเห็นว่าอย่างไรบ้าง

ย้อนกลับไปที่ระบบการศึกษา สำหรับเราถือว่ายังไม่ได้อัปเดต ถ้าสมมติได้เป็นผอ.โรงเรียนสักที่ เราจะมองปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นแล้วออกแบบเป็นวิชาทักษะชีวิตเพื่อให้เด็กได้รู้จักรับมือ เพราะปัญหามันไม่เคยหยุดนิ่ง มีเกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ ถ้าเราไม่สนใจ มัวแต่สนใจเนื้อหาในหนังสือ เด็กอาจจะเรียนเก่งแต่ไม่มีทักษะชีวิต เมื่อออกไปจากโรงเรียน ก็พ่ายแพ้ไปเป็นนักดื่มหมด การศึกษาจึงต้องอัปเดตตัวเองให้ทันสถานการณ์ ทันเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นปัจจัยทำร้ายพลเมือง เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันในการใช้ชีวิต

เราว่าปัญหาอยู่ที่คนทำงานไม่ค่อยเข้าใจเด็กด้วย เมื่อก่อนเวลาไปเยี่ยมชมโรงเรียน เรามักจะเจอกระบวนการเรียนรู้แบบเชิญคนมาพูด เชิญตำรวจบรรยายเรื่องเหล้า เด็กก็นั่งฟังจนคอแทบหัก แต่การทำงานแบบนี้ต้องประณีตและศึกษาห้วงวัยของเด็กว่า ควรจัดการเรียนรู้อย่างไรที่มีผลต่อจิตใจและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และความรู้ไปที่หัว (ความจำ) อย่างเดียวไม่พอ ต้องให้ลงไปที่ใจ (สำนึก) ยิ่งผ่านการปฏิบัติจริงได้ยิ่งดี

 

สำหรับเรื่องเหล้า เด็กควรเรียนรู้เรื่องอะไรบ้าง

เรามองว่าเขาต้องเรียนรู้พิษภัยของมันที่กระทบในทุกมิติ ไม่ใช่แค่สุขภาพอย่างเดียว แต่ยังมีความรุนแรงในครอบครัว เศรษฐกิจ ประเทศชาติ เรื่องเกี่ยวกับตัวเขาเอง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องโยงกลับมาที่ตัวเอง อย่าพาเด็กคิดลอยไปในอากาศ สมมติเราพาเด็กดูคลิปตัวอย่างพิษภัยของเหล้า สุดท้ายเราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า แล้วที่บ้านของเราเป็นแบบนี้ไหม เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ไหม รู้สึกอย่างไร ถ้ามีควรแก้ไขอย่างไร และป้องกันตัวเองอย่างไร ถ้าให้เด็กเรียนไปโดยไม่โยงกลับมาที่ตัวเขา เขาจะมองมันเป็นเรื่องไกลตัว

แต่ตอนนี้ในหลักสูตรไม่ได้มีเรื่องนี้แบบชัดเจนเข้มข้น ถ้าต้องการเปลี่ยนทั้งหลักสูตรก็คงอีกนาน ดังนั้น เราจึงคิดว่า แม้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนหลักสูตรอะไรได้ แต่กระบวนการที่เรา shortcut เข้ามาสู่โรงเรียนเลยจะช่วยได้อย่างรวดเร็ว

 

กระบวนการเรียนรู้หรือโครงการรณรงค์เรื่องเหล้าต่างๆ เด็กสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วัยไหน            

ในระดับอนุบาลสามารถทำได้เลยนะ แต่ครูมักคิดว่าเด็กยังเล็กเกินไป ช่วงแรกที่เรามาทำงานกับโรงเรียนก็กลายเป็นตัวตลกขบขัน เขาว่าเด็กยังไม่กินหรอก ไปทำกับผู้ใหญ่โน่น เพราะเขายังไม่เข้าใจจิตวิทยาเรื่องนี้ว่าใช่ ตอนนี้เด็กอาจจะยังไม่ดื่ม แต่ถ้ารอให้เด็กดื่มแล้วมากลับมาแก้ มันยาก เขาคิดแต่ว่าต้องไปทำกับคนที่ดื่มเพราะบางทีคนไทยคิดอะไรหวัดๆ มองแค่ปรากฏการณ์ แต่ไม่ได้ย้อนกลับไปดูที่รากเหง้าของปัญหา เราไม่ปฏิเสธเรื่องการบำบัดคนติดสุรา แต่ในเมื่อคนที่ยังไม่ดื่มมีอีกเยอะ เราก็ควรมาทำที่ต้นทางบ้าง

กิจกรรมพวกนี้เรายังสามารถปรับตามห้วงวัยของเด็ก อย่างเด็กอนุบาลจะเป็นวัยของความคะนึงฝัน มีจินตนาการ ครูอาจจะออกแบบกิจกรรมง่ายๆ อย่างให้เด็กวาดรูประบายสีครอบครัวอบอุ่น หรือเล่านิทานที่เป็นเรื่องพิษภัยเหล่านี้ให้เด็กฟัง ให้เด็กวาดรูป เขียนขอพ่อแม่เลิกเหล้า แบบนี้ก็ได้

พอมาถึงวัยประถม ธรรมชาติของเขาคือผู้พิทักษ์ความถูกต้อง ความรู้สึกนึกคิดของเด็กประถมจะไม่มีสีเทา มีแต่ขาวกับดำ และเราพบว่าเด็กประถมจะมีความรู้สึกผูกพัน ห่วงพ่อแม่ ยังไม่ห่วงตัวเอง พอเขารู้ว่าอะไรไม่ดีก็จะไปบอกพ่อแม่ ดังนั้น เราต้องให้เขารู้ข้อเท็จจริงว่าเหล้ามันไม่ดีอย่างไร และให้ทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคน

ส่วนมัธยม เป็นวัยที่เริ่มมีสีเทาแล้ว เพื่อนมีบทบาทและอิทธิพลกับเขามาก และเขาจะมีพลังที่อยากทำอะไรเพื่อผู้อื่นเยอะ ถ้าให้ไปขอพ่อแม่เลิกเหล้าอย่างเดียวมันก็ได้ แต่มันไม่ตึงมือ ไม่เต็มศักยภาพที่มีอยู่ เราจึงออกแบบกิจกรรมจิตอาสาหลายๆ อย่างให้เขาได้ใช้ธรรมชาติของตนเอง เช่น โครงการพี่สอนน้อง หรือกิจกรรมเพื่อนจริงไม่ทิ้งกัน ให้เขาช่วยเพื่อนที่ติดเหล้าติดบุหรี่ช่วงเข้าพรรษา ถ้าออกแบบกิจกรรมให้เหมาะกับห้วงวัยจะได้ผลดี

 

ช่วยยกตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ที่คุณเคยทำ

เราออกแบบเป็นกิจกรรมแบบ active learning เพราะถ้าให้ครูไปบรรยายสอนเด็ก มันไม่สนุก อย่างเราจบคหกรรมมา ก็ใช้ความรู้เรื่องการหมักเนื้อด้วยเหล้ามาออกแบบกิจกรรม ให้นำตับไก่ ตับหมูมาเทเหล้าใส่ ทิ้งไว้สัก 15 นาทีจนเกิดการเปลี่ยนแปลง สีของตับซีดลง เพราะแอลกอฮอล์มันร้อน มันทำลายเซลล์ให้เสื่อมลง ยิ่งเป็นเหล้าดีกรีสูงอย่างเหล้าขาวยิ่งทำให้ตับยุ่ย พอเด็กได้ลงมือทำ ได้เห็นด้วยตัวเอง เขาจะจดจำ แถมยังได้สนุกด้วย

หรือไม่ก็สามารถคิดเป็นเกมให้เขาได้วิ่งเล่น เช่น เราให้หนึ่งคนเป็นเหล้า ถ้าเหล้าแตะใครได้จะกลายเป็นพวกเดียวกัน พอเด็กๆ วิ่งไล่แตะกันกลายเป็นเหล้าหมด เราก็ตั้งคำถามว่า มีกันตั้งเยอะแต่ทำไมไม่สู้ เอาแต่วิ่งหนี ทั้งๆ ที่เริ่มต้นก็มีเหล้าแค่คนเดียว ที่เราวิ่งหนีเพราะต่างคนต่างอยู่ใช่ไหม พาเด็กให้ทบทวนขบคิด แล้วเชื่อมกลับไปที่ความรู้สึก

อีกรูปแบบหนึ่งคือทำเป็นปฏิทินอยู่ในสมุด จดบันทึกว่าขอให้พ่อแม่เลิกเหล้าได้วันไหนบ้าง และให้เขาลองคิดเลขว่าถ้างดเหล้าได้ สมมติสองขวดต่อหนึ่งวันเป็นเงินเท่าไร แล้วเงินนี้ถ้าไม่ซื้อเหล้าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง เขาจะเข้าใจเป็นรูปธรรมมากขึ้น และจะเกิดความฉุกคิดมากขึ้น

 

ข้อจำกัดในการจัดโครงการหรือสร้างกระบวนการเรียนรู้เหล่านี้มีอะไรบ้าง

ในภาพรวม เรื่องแรกคือตัวคนทำงาน คนที่จะทำงานแบบนี้ต้องอดทน รอคอย ต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ การสร้างเครื่องมือลงทำงานกับคนในห้วงวัยต่างๆ ต้องมีรายละเอียดมาก ทำให้มีคนทำงานน้อย

เรื่องที่สองคืองบประมาณ ซึ่งเราไม่ได้อยากได้เยอะ แค่ต้องการให้เพียงพอจะดำเนินโครงการต่อไปได้เรื่อยๆ  อย่างครูดีไม่มีอบายมุข ถ้าเรามีงบประมาณเพิ่มขึ้นจนสามารถทำเป็นเครือข่าย หรือสามารถหาวิทยากรมาสอนครูให้มีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติของเด็กมากขึ้น โครงสร้างก็จะแข็งแรงมากขึ้น แต่ตอนนี้เราไม่มีงบ ก็เลยต้องปล่อย ทำเท่าที่ทำได้

เรื่องที่สาม เรามองถึงฝ่ายนโยบาย งานที่เราทำต้องอาศัยพลังของผู้ใหญ่มาช่วยเจรจาทำให้การขยายผลเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และเมื่อเข้าสู่ระบบก็ต้องให้มีกระบวนการมอนิเตอร์ร่วมกันด้วย

ส่วนข้อจำกัดของทางโรงเรียนเองคือภาระงานของครูเยอะมาก เราจึงต้องพยายามคิดกิจกรรมแบบทูอินวันหรือทรีอินวัน ทำอย่างหนึ่งได้ตอบโจทย์หลายอย่าง แม้ภาระงานเขาจะมาก แต่ถ้ากิจกรรมเรามีประโยชน์กับเด็ก เราก็พบว่ามีครูดีๆ หลายคนพยายามทำอยู่

 

สำหรับคุณ หัวใจสำคัญของการสอนเรื่องเหล้าให้กับเด็กคืออะไร

หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ ต้องทำให้เห็นพิษภัยด้วยการปฏิบัติจริง เอาเหตุการณ์จริงมาให้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทำถี่ๆ ยิ่งถี่เท่าไรยิ่งดี และให้เด็กๆ ได้ทำความดี เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (self-esteem) แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือคนส่วนหนึ่งใจร้อน พอทำแล้วไม่เห็นผลทันทีเลยเลิกทำ ทำให้กิจกรรมบางอย่างเสียของไป หรือไม่อย่างนั้นก็คิดว่าต้องหาวิธีจี๊ดจ๊าด ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องถึงขนาดนั้น ตอนที่เราเป็นครู เราพบว่าคนมาทำงานร่วมกับโรงเรียน ใช้กิจกรรมแบบจี๊ดจ๊าด เช่น พาเล่นละคร พอเขาไม่อยู่แล้วเราก็ไม่รู้จะสานต่อยังไง ถ้าเราถอยออกไปแล้วครูทำต่อไม่ได้ อย่าทำ เราจึงเลือกออกแบบกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตและไม่ยากลำบากกับครูในการทำ

สุดท้าย ถ้าจะทำให้ได้ผลจริงต้องเกาะติดต่อเนื่อง มองปัญหาให้เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วน อย่าใจร้อน และต้องมีระบบมอนิเตอร์คอยตามดู ถอดบทเรียนจากงานเป็นระยะๆ

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

 

Related Articles