(Quote) เลิกเหล้ามันอยู่ที่ (เข้า) ใจ ความคิดและพฤติกรรม : สำรวจการบำบัดแบบ CBT (Cognitive Behavior Therapy)

October 15, 2019


อาการติดเหล้าเป็นอย่างไร หากคนไข้ผ่านการบำบัดสารเสพติดหลายๆ ครั้ง จะช่วยให้เลิกได้ง่ายขึ้นหรือไม่ หักดิบคืออะไร และปลอดภัยจริงหรือไม่ และวิธีช่วยคนใกล้ตัวให้เลิกเหล้าได้สำเร็จคืออะไรกันแน่ …

ชวนอ่านทัศนะของ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นจิตแพทย์ อาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดด้วยความคิดและพฤติกรรม หรือ CBT (Cognitive Behavior Therapy)  ในประเทศไทย ได้เผยวิธีการเลิกเหล้าแบบ CBT ที่เริ่มต้นจากการ ‘พูดคุย’ ทำความเข้าใจเหตุผลในการดื่ม สำรวจสภาพแวดล้อม และหาทางออกใหม่ๆ ให้กับเหตุผลของแต่ละคน รวมถึงตอบคำถามข้างต้นผ่านทางวิธีแบบ CBT

อ่านทัศนะของ ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร เกี่ยวกับวิธีแบบ CBT และการบำบัดสุราได้ด้านล่างนี้ และอ่านบทสัมภาษณ์ ผศ.นพ. ณัทธร ฉบับเต็มได้ ที่นี่

 

:: มองต่างมุม ::

 

 

เครื่องมือหรือกระบวนการของนักบำบัดในการทำ CBT คืออะไร มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

หลักๆ เป็นการพูดคุยที่ตั้งต้นด้วยเป้าหมาย ต้องประเมินก่อนว่าปัญหาของคนไข้คืออะไร เขาอยากจะแก้ไข อยากจะเปลี่ยนให้ชีวิตดีขึ้นในแบบไหน ตั้งเป้าหมายร่วมกัน จากนั้นก็จะมีกระบวนการเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ซึ่งกระบวนการหลักๆ เกี่ยวข้องกับการปรับวิธีคิดว่า หากเขาคิดอย่างนี้แล้วจะนำไปสู่อะไร ถ้าเปลี่ยนไปจะนำไปสู่อะไร กระบวนการปรับวิธีคิดจะทำผ่านการตั้งคำถามให้คิด เรียกว่า Socratic Questioning มาจากชื่อของ โสเครตีส ที่สอนลูกศิษย์ด้วยการถามให้คิด

กระบวนการนี้นักบำบัดจะถามให้คนไข้ได้คิดในมุมอื่นๆ ที่ต่างจากที่เคยคิดอยู่ เช่น เขาเคยคิดว่าเขาเป็นคนไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ เราก็ถามว่า เอ๊ะ จริงหรือเปล่าที่คุณเป็นคนไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ ถ้าไปถามเพื่อนคุณ เพื่อนเขาจะบอกว่ายังไง หรือถ้าเพื่อนคุณเขาคิดอีกแบบ คุณจะเห็นด้วยกับเขาไหม คือชวนให้เขามองในด้านที่ต่างออกไป แล้วก็ทำให้เขาค้นพบข้อสรุปว่า ที่เขาคิดอาจจะไม่ใช่ก็ได้

พอเปลี่ยนความคิดแล้ว เราก็ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้เห็นว่า ถ้าเราคิดแบบนี้ เราก็จะทำแบบนี้ แต่ถ้าเราคิดอีกอย่าง เราอาจจะทำอีกอย่างนึง ซึ่งผลลัพธ์อาจจะเปลี่ยนไป กระบวนการนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตัวเองของคนไข้ โดยที่นักบำบัดเป็นเหมือนกับเป็นไกด์ คอยชวนให้คิด ให้ลองทำดูเท่านั้น ประโยชน์ของการได้เรียนรู้ด้วยตัวเองคือ เขาจะเข้าใจอย่างชัดเจนมากกว่าการมีคนสอน รู้ว่าอะไรที่เวิร์คสำหรับเขา แล้วมันจะอยู่กับเขาได้นานกว่าที่เราแนะนำ

เครื่องมือที่เราใช้ก็อาจเป็นกระดาษหรือบอร์ดที่เขียนให้คนไข้ดูว่า อะไรนำไปสู่อะไร เชื่อมโยงกันยังไงบ้าง คุณคิดยังไง ถ้าไม่อยากเป็นแบบนี้ต้องทำยังไง เพราะฉะนั้น คนไข้ก็จะต้องแอคทีฟในกระบวนการตั้งคำถามแล้วก็คิดหรือเขียนตาม

กระบวนการที่สำคัญอีกอย่างคือ การบ้าน หรือการเอาสิ่งที่คนไข้ค้นพบหรือเรียนรู้ในกระบวนการไปใช้จริง เราเจอกับคนไข้สัปดาห์ละครั้ง คุยกันแค่ชั่วโมงนึง แต่เวลาในชีวิตประจำวันมีอีกเป็นร้อยๆ ชั่วโมง ถ้าเขาได้เอาสิ่งที่ค้นพบไปทำนู่น ทำนี่ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้ในชีวิตจริง เช่น ให้บันทึกว่าเขาเจออะไรมาบ้าง เขาคิด เขารู้สึกอะไรบ้าง หรือให้เขาลิสต์สิ่งที่ค้นพบเป็นข้อๆ คนไข้ที่ทำการบ้านก็จะได้ประโยชน์จาก CBT มากกว่าการมาคุยเฉยๆ เพื่อความสบายใจ

 

:: คนติดเหล้า ::

 

 

มีลิมิตในการสำรวจตัวเองไหมว่าถ้าพฤติกรรมหรือร่างกายเป็นแบบนี้ ควรจะมาเริ่มปรึกษาคุณหมอดีกว่า

ถ้าติดเหล้า อาการก็คือจะมีความอยากอยู่ตลอด แล้วต้องเพิ่มโดสไปเรื่อยๆ จากที่เคยกินเท่านี้โอเคแล้ว ก็ต้องกินเพิ่มไปอีก พอไม่ได้กินก็อารมณ์แปรปรวน หรือมีอาการทางร่างกายขึ้นมา เช่น ไม่ได้กินแล้วสั่น หรือต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้กิน ไม่ว่าจะหนีงาน หรือไปเดือดร้อนคนรอบตัวเช่น ลูกเมีย ก็ต้องแยกให้เป็นระหว่างกินสังสรรค์ เข้าสังคม กับกินแล้วเสียหน้าที่การงาน เสียฟังก์ชัน ถ้ามันถึงจุดนั้นก็อาจจะต้องลดหรือเลิกได้แล้ว คราวนี้ ถ้าคนที่ไม่ได้ถึงขั้นติด การลดมันก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร แต่ถ้าถึงขั้นติดแล้วเวลาลดมันมักจะคุมไม่ได้ กะจะลดปริมาณ แต่สุดท้ายก็กินต่อ ดังนั้น บำบัดเพื่อให้หยุดได้ก่อนอาจจะจำเป็นกว่า

 

:: เข้าบำบัด ::

 

 

บางคนเลิกเหล้าได้ในระยะสั้นๆ แล้วก็ Relapse หรือกลับไปดื่มอีก หากเป็นแบบนี้จะทำให้การเลิกครั้งต่อไปยากขึ้นไหม

ไม่เสมอไป ถ้ายังอยู่ในการบำบัด ก็ยังเรียนรู้ได้ว่า เขากลับไปดื่มได้ยังไง จากการบำบัดผมพบว่า เคสเกี่ยวกับยาเสพติดมักจะมาบำบัดแล้วไม่ได้เลิกได้ทันที มักจะเผลอๆ หลุดๆ ไป แต่ถ้าหลุดไปแล้วกลับมาคุยกันอีก เขาจะได้เรียนรู้ว่าเป็นเพราะอะไร เขาคุมสิ่งแวดล้อมไม่ดีพอ หลอกตัวเอง หรืออนุญาตตัวเองมากไปหรือเปล่า เราก็จะให้เขาเรียนรู้ว่าครั้งต่อไปจะทำยังไงให้มันต่างออกไป

 

:: หักดิบ ::

 

 

มันมีวิธีหนึ่งที่คนชอบใช้กันคือ หักดิบ ในมุมมองแบบ CBT มันเวิร์กไหม

ถ้ากินเหล้ามานาน แล้วอยู่ๆ หักดิบเลย ที่น่ากลัวคืออาจชัก หรือหลอนได้ อันนี้อันตรายมาก ทุกอย่างที่เป็นแอลกอฮอล์ ถ้ากินเยอะหรือกินนานต่อเนื่องระดับนึงเนี่ย การหยุดกะทันหันจะทำไม่ได้ ต้องค่อยๆ หยุด หรือมีกระบวนการหยุด อาจต้องให้ยากลุ่ม Benzodiazepine, Diazepam เพื่อเข้าไปทดแทนสารเสพติด แล้วค่อยๆ ลดเหล้าลง หรือบางกรณีคนกินเหล้านานๆ จะขาดวิตามิน B ก็ต้องได้อะไรเข้าไปทดแทน ไม่งั้นอยู่ๆ หยุดปุ๊บมีความเสี่ยงทางสุขภาพ เหมือนเป็นสมดุลของสมอง ที่เคยได้เหล้าเข้าไป ก็มีสารที่สมดุลอยู่ระดับนึง พอเหล้าหายไปเลย มันก็มีสารที่เสียสมดุลมาก และทำให้เกิดอาการคล้ายกับที่เราเรียกว่า ‘ลงแดง’ คือทุรนทุรายอยากได้ แบบนี้เสียสมดุลถึงขนาดชักได้เลย

 

:: เอาใจเขา มาใส่ใจเรา ::

 

 

เวลาคนไม่ดื่มต้องการหรือพยายามชักจูงให้คนดื่มเลิกเหล้า อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจหรือบาดหมางกันขึ้นมา จริงๆ แล้วมีวิธีการ หรือคำพูดแบบไหนไหมที่คนรอบข้างทำแล้วจะจูงใจเขาได้ดีกว่า หรือไม่พูดแบบนี้จะดีกว่า

ไม่พูดอะไรดีกว่า ผมว่าการตำหนิหรือการด่ามักจะไม่ค่อยช่วย เพื่อนด่าแล้วเลิกได้เลยคงไม่มี อาจจะทำให้เสียความสัมพันธ์ไปอีกต่างหาก วิธีที่ดีก็คือทำความเข้าใจ คล้ายๆ นักบำบัด ลองทำความเข้าใจว่าเหล้านี่มันฟังก์ชัน มันสำคัญกับชีวิต หรือช่วยเขาได้ยังไง ซึ่งจำนวนมากเราก็พบว่ามันคือการดับทุกข์แบบหนึ่ง ทีนี้มองลึกลงไปว่าเขาทุกข์เรื่องอะไร แล้วทุกข์อันนั้น ถ้าไม่ได้แก้ด้วยเหล้า แล้วจะแก้ด้วยอะไรได้ ถ้าเรามีส่วนช่วยให้ความทุกข์ของเขาลดลง เขาอาจจะมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องไปกินเหล้าก็ได้

ถ้าเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ แล้วเขาเห็นด้วยว่าอยากจะเปลี่ยนแปลง ก็ชวนเขาไปบำบัด ไปหาหมอ เขาก็จะได้เข้าสู่กระบวนการอย่างจริงๆ จังๆ

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles