(Quote) ‘แก้วเหล้านั้นยังสำคัญอยู่ไหม?’ มองการบำบัดสุราผ่านหลักปรัชญาอัตถิภาวนิยม

October 7, 2019


Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนมองปัญหาในขวดเหล้าผ่านทัศนะของ ‘พงษ์มาศ ทองเจือ’ นักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้นำหลักปรัชญา ‘อัตถิภาวนิยม (Existentialism)’ มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดสุรา

เพราะปัญหาในขวดสุราลึกซึ้งกว่าที่คุณคิด และคนที่ติดสุราก็เจ็บปวดมากกว่าที่คุณเห็น ความเข้าใจและกำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเหมือนยาขนานเอกที่จะใช้ควบคู่ไปกับการบำบัดที่จะช่วยให้พวกเขาข้ามผ่านคลื่นแห่งความเมามายนี้ไปได้

อ่านทัศนะของพงษ์มาศ ทองเจือ เกี่ยวกับการบำบัดสุราได้ด้านล่างนี้ และอ่านบทสัมภาษณ์พงษ์มาศฉบับเต็มได้ ที่นี่

 

:: เหล้า = ลืม ::

 

กลับมาที่การบำบัดสุรา เจอข้อจำกัดอะไรบ้างในการประยุกต์ใช้หลักอัตถิภาวนิยมกับการบำบัดสุรา

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า หลักนี้ใช้ได้ดีมากๆ ในสหรัฐฯ เพราะวัฒนธรรมเขาคือเสรีภาพ พออายุ 18 ปีก็เริ่มออกจากบ้าน ดูแลตัวเอง เพราะฉะนั้น เขามีอิสระในการเลือกแบบเกือบ 100% แต่ในไทย ผมว่ามันมีกำแพงกั้นอยู่ บ้านของบางคนเป็นคนจีน ไม่ฟังพ่อแม่นี่แย่เลยนะ แล้วยังมีความคิดทำนองว่า ถ้าเราไม่เชื่อพ่อแม่ เราจะเป็นเด็กไม่ดี ไม่กตัญญูด้วย อีกอย่างหนึ่ง จะมีเด็กไทยอายุ 18-19 ปีสักกี่คนที่ทำงานจ่ายค่าเทอมเองล่ะ เพราะฉะนั้น พอมาถึงจุดหนึ่งที่เราคิดว่า เรากล้าเถียงพ่อแม่แล้ว เราก็ยังเกิดคำถามอีกว่า แล้วถ้าไม่ได้ค่าขนมจะอยู่อย่างไร

ผมพบอย่างหนึ่งว่า เคสที่ติดสุรามาหนักๆ เขาไม่ได้เพิ่งเจ็บปวดหรือเพิ่งติดมาเมื่อเดือนที่แล้ว แต่เขามีภาวะที่กดดันและเครียดมานานมาก คือรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากเลือกอะไร แต่ไม่กล้าแสดงความต้องการออกไป เลยตัดสินใจหนีความจริงโดยใช้การกินเหล้าให้ลืม จึงเกิดการใช้เหล้ามาเป็นการรับมือ เพราะฉะนั้น อุปสรรคในช่วงแรกสำหรับผมคือ การที่เราฝ่ากำแพงวัฒนธรรมไปไม่ได้ แต่ต่อมา เราเริ่มทำการบำบัดแบบครอบครัวมากขึ้น คือเชิญครอบครัวของเขามาด้วย ให้เขาได้รับฟังว่าผู้มารับบริการเจ็บปวดอย่างไร ทุกข์ใจอย่างไร ให้พวกเขาได้คุยกัน ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้บ้าง

 

:: เหล้า = ความสุขวันนี้ ::

 

 

ในทางการแพทย์ พอบอกว่าติดเหล้าคือการที่เหล้าออกฤทธิ์ต่อสมอง แล้วในทางจิตวิทยามองการติดเหล้าแบบไหน

จริงๆ การติดเหล้าก็โยงกับสมองนั่นแหละ แต่พอใช้คำว่าสารเสพติด ทางจิตวิทยาจะมองสองมุมคือ ติดทางกายกับติดทางใจ แล้วคนส่วนใหญ่ติดทั้งคู่ แต่กว่าจะติดทางกาย มันต้องติดทางใจมาก่อน เช่น คุณมีความสุขกับการกินเหล้าทุกอาทิตย์ นี่คือใจ คงไม่ใช่สมองติดเหล้าแบบกินทุกอาทิตย์ติดต่อกันครึ่งปีใช่ไหมล่ะ แต่มันคือการที่คุณทำมาอย่างยาวนาน เป็นการรับมือที่สร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้นคือ ขาดเหล้าไม่ได้ ไม่กินจะอยาก จะทรมาน เพราะฉะนั้น บางทีการให้ยาก็ช่วยได้ แต่พอจุดหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่อให้จะติดเหล้ายังไง แต่พลังใจจะพาคุณผ่านไปได้ในที่สุด

แล้วจะสร้างพลังใจจากอะไร คือสำหรับบางคน เราต้องถามว่า ถ้าคุณทิ้งเหล้าไปในวันนี้ แล้วจะเจอภาพที่สวยงามในอนาคตข้างหน้า คุณจะเอาไหม แต่บางคนยังไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็เลยคว้าเหล้าเอาไว้ก่อน เพราะเหล้าช่วยเราวันนี้ ธรรมชาติของคนคือ จะคว้าความสุขในปัจจุบันไว้ก่อน ถามว่าเขารู้ไหมว่า ถ้ากินเหล้าต่อไปอีกห้าหกปีต้องแย่แน่ๆ เขารู้ แต่แก้วนี้ก็ยังเป็นความสุขวันนี้อยู่ เขาเลยหนี ไม่มองภาพอนาคตข้างหน้าชัดๆ เพื่อให้แก้วนี้ยังคงอยู่ หน้าที่ของนักจิตวิทยาคือ การทำให้ภาพในอนาคตนั้นชัดขึ้น และทำให้เห็นคุณค่าชัดๆ เขาจะได้รู้สึกว่า ภาพในอนาคตจะดูดีกว่าเหล้าแก้วนี้

 

:: เหล้า = อุปสรรค ::

 

เท่าที่เจอเคสต่างๆ มา คุณคิดว่าอะไรเป็นจุดเด่นของหลักอัตถิภาวนิยมที่แตกต่างจากหลักคิดหรือวิธีอื่นๆ

จะเห็นว่า หลักนี้แทบไม่ได้แตะเรื่องเหล้าเลย ไม่ได้บอกว่า กินเหล้าไม่ดีอย่างไร แต่ชวนคุยเรื่องชีวิตแทน เช่น ชีวิตคุณตอนนี้เป็นอย่างไร คุณมีความสุขกับเรื่องอะไร พอเป็นแบบนี้คนก็จะไม่ค่อยมีกำแพงกั้น เพราะเราชวนคุยแต่เรื่องบวก เรื่องดีๆ คนก็เลยอยากคุยต่อ เพราะวันๆ หนึ่งเราคงไม่ได้มีบทสนทนาด้านบวกประมาณนี้มาก ดังนั้น กว่าบทสนทนาจะไปถึงเรื่องเหล้า เราก็คุยเรื่องดีๆ กันไปเยอะแล้ว

แล้วพอเรามาพูดเรื่องเหล้า เราก็ไม่ได้บอกว่าต้องเลิก แต่จะบอกในแง่ที่ว่า เหล้าอาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้คุณไปถึงสิ่งที่คุณชอบ หรือได้เห็นภาพที่คุณอยากเห็น นี่เป็นเทคนิคที่ทำให้คนติดสุรารู้สึกว่า เราอยู่ฝั่งเดียวกับเขาตั้งแต่แรก เพราะถ้าเราเน้นไปที่เหล้าตั้งแต่เริ่ม แล้วเขารู้สึกว่า เหล้ายังให้อะไรเขาอยู่ เขาจะรู้สึกว่าเราอยู่ฝั่งตรงข้าม พอรู้สึกแบบนี้ เขาจะหวงแก้วเหล้าและสร้างกำแพงขึ้นมาทันที แต่พอใช้หลักนี้แล้ว มันไม่มีกำแพงแต่แรก ชวนคุยเหมือนเพื่อนคุยกัน พอจะเอาเหล้าออกไป ก็ง่ายแล้วเพราะเขาไม่ได้หวงแก้วนั้นอีกต่อไป วันที่เราถามเขาว่า เอาแก้วเหล้านี้ออกไปจากชีวิตไหม ก็คือวันที่เขารู้สึกว่า มันก็ไม่ใช่แล้วเหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งคือ ความติดเหล้าเป็นความอยาก เป็นความรู้สึก (Feeling) ไม่ใช่ความคิด (Thought) ถ้าเราจะบอกว่า ไม่ควรดื่มเพราะอะไร นี่คือความคิด และความคิดจะแพ้อารมณ์ความรู้สึก ถ้าเราบำบัดเขาโดยใส่ความคิดลงไป วันหนึ่งเมื่อความอยากดื่มลอยขึ้นมา คนดื่มก็ต้องเอาข้อมูลมาสู้กับความอยาก ซึ่งความอยากดื่มย่อมเอาชนะได้ แต่ถ้าเราปูข้อมูล เรื่องราวทุกอย่างในชีวิตเขา ความภูมิใจ ความรู้สึกดี พอเขารู้สึกอยากดื่มเหล้า เขาก็จะเอาความรู้สึกดีๆ พวกนี้ขึ้นมาสู้กับความอยาก แล้วความอยากก็จะแพ้ไป นี่เลยเป็นการป้องกันที่ค่อนข้างแข็งแรง

 

:: เหล้า = ความเจ็บปวด ::

 

 

สังคมไทยมักมองคนติดเหล้าในแง่ลบ บวกกับการที่เหล้าเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย เข้าถึงง่าย ดื่มได้ง่าย คุณคิดว่า นี่ก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างด้วยหรือเปล่าที่ทำให้คนเข้าถึงบริการได้น้อย

ผมว่าเกี่ยวอย่างมากเลยแหละ แต่ถ้าเป็นเรื่องความอายว่าคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองติดเหล้า กลัวเสียประวัติ น่าจะเป็นพวกชนชั้นกลางมากกว่า แต่สำหรับผม ผมมองว่าทุกคนมีสิ่งที่ตัวเองติด และสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้ถูกต้อง บางคนติดเกม บางคนติดนิสัยบางอย่างที่อยากจะเลิก ซึ่งนั่นคือการรับมือ (Coping) ของเรา ถ้าลองถามกันแบบตรงไปตรงมาเลย คุณก็มีนิสัยหรือพฤติกรรมบางอย่างที่อยากเลิก แต่ยังไม่สำเร็จใช่ไหมล่ะ ของแบบนี้มีกันทุกคนแหละ คนติดเหล้าก็แค่คนๆ หนึ่งที่เลือกเหล้า รู้ว่าไม่ดี อยากออกมา แต่ยังทำไม่สำเร็จ ก็เท่านั้นเอง

ถ้าจะมองจริงๆ มนุษย์ทุกคนก็เหมือนกันหมด แต่เราไม่ควรไปตัดสินว่า คนที่เลือกการรับมือแบบนี้จะแย่กว่าอีกคน และถ้าจะมองให้ลึกซึ้งกว่านั้นคือ คนที่เลือกเหล้า เขามีความเจ็บปวดบางอย่างอยู่หรือเปล่า จริงๆ แล้วมนุษย์เราควรเมตตาและเข้าอกเข้าใจกันไม่ใช่หรอ แต่สังคมทุกวันนี้เป็นเหมือนสังคมแห่งการตัดสินและกระทืบซ้ำมากกว่า

 

:: (เลิก) เหล้า = ความหวัง ::

 

 

ทักษะกับมุมมองของบุคลากรด้านสุขภาพที่มองคนติดเหล้าก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยใช่ไหม

เกี่ยวครับ ผมคิดว่า ถ้านักจิตวิทยาจะเลือกใช้ทฤษฎีไหน เขาควรจะมองโลกและเชื่อแบบนั้นจริงๆ เพราะถ้าคุณไม่เชื่อ คุณก็จะพาคนไปสู่ปลายทางนั้นไม่ได้ ดังนั้น อันดับแรกที่บุคลากรควรมีคือความหวัง ความเชื่อในบุคคล ว่าเขาจะเลิกเหล้าได้สำเร็จ เวลาเราคุยกับผู้รับบริการ ทุกอย่างมันส่งผ่านสายตา คำพูด และน้ำเสียง คือเราต้องมีความศรัทธาในคนข้างหน้าว่าเขาจะทำได้

ส่วนทักษะก็จำเป็นมากเช่นกัน อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาคือ สังคมเรามีความเป็นลำดับศักดิ์ (Hierarchy) และเรามักพูดกันว่า ‘เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด’ เพราะฉะนั้น พอคนไปขอคำปรึกษาจากผู้ใหญ่ มันจะไม่ใช่การให้คำปรึกษาแล้ว แต่เป็นการแนะนำให้ทำแบบนั้นแบบนี้ ทำให้เขาไม่ได้เล่าอะไรเลย มันเลยเข้าไม่ถึงหัวใจของเขา แต่พอมาเจอนักจิตวิทยาที่เชื่อเขาจริงๆ มันก็ช่วยได้ ผมเจอน้องหลายคนที่บอกว่า ไม่อยากทำให้นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counselor) ผิดหวัง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ผลักเขาไปให้สุดทาง

ทักษะการฟังก็สำคัญมาก พอเจอคนติดเหล้า คนส่วนใหญ่จะเน้นไปทางสอน แต่คนติดเหล้าแต่ละคนก็มีเหตุผลที่ดื่มไม่เหมือนกัน เราจะสามารถฟังเขาจนรู้สาเหตุเลยได้ไหมล่ะ เราสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด หรือความกังวลตอนที่เขาดื่มเหล้าได้ไหม เราทำให้เขาเชื่อว่า คนตรงหน้ารับฟัง และเข้าใจเขามากขนาดนั้นไหม ผมเชื่อว่า เราต้องฟังให้มากพอก่อนจะสอนใครสักคน


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles