“ในรัสเซีย พวกขี้เมาน่ะนิสัยดีที่สุดแล้ว และคนนิสัยดีที่สุดส่วนใหญ่ก็เมาแอ๋ทั้งนั้น”
ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนชาวรัสเซียผู้ประพันธ์งานเขียนอมตะอย่าง อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์ (Crime and Punishment) และ พี่น้องคารามาซอฟ (The Brothers Karamazov) กล่าวติดตลกถึงนิสัย ‘นักดื่ม’ ของชนชาติกำเนิดของเขา ซึ่งดูท่าจะไม่ผิดไปจากความจริงเสียทีเดียว เพราะข้อเท็จจริงคือ ชาวรัสเซียเป็นหนึ่งในชนชาติที่ดื่มหนักที่สุดในโลก ถึงขั้นว่าเครื่องดื่มที่ชวนเมาหัวทิ่มแบบ ‘วอดก้า’ คือเครื่องดื่มประจำมื้ออาหารแต่ละมื้อเลยทีเดียว (มีมุกตลกว่า “เมื่อคืนผมดื่มวอดก้าไปเยอะมาก ตื่นมานี่พูดติดสำเนียงรัสเซียเลย”)
เอ๊ะ แล้วอย่างนี้มันจะก่อปัญหาอะไรไหม คนที่นั่นไม่เมาทั้งวันหรอกหรือ แล้วอย่างนี้จะทำงานทำการกันยังไง ทำไมพวกเขาถึงต้องดื่ม ฯลฯ
สิ่งที่น่าสนใจของชาวรัสเซียคือวัฒนธรรมการดื่มนี่เอง เนื่องจากวัฒนธรรมการดื่มจะนำมาซึ่งความรื่นเริง สายสัมพันธ์ และเรื่องชวนหัวต่างๆ ดูได้จากการที่มีมุกตลกเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างแยกจากกันไม่ขาด มีคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่หนาวจัด ทำให้พวกเขาต้องหาเครื่องดื่มรสชาติร้อนแรงเพื่อปลุกความอบอุ่นในตัว หรือแม้แต่ความเชื่อเก่าๆ ของชาวรัสเซียที่เชื่อว่า ใครที่ดื่มแอลกอฮอล์ได้เยอะคือคนแข็งแรง ตลอดจนความตึงเครียดภายใต้การเมืองการปกครองที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงสหภาพโซเวียตที่แตกสลาย แต่ยังทิ้งเชื้อความแห้งแล้งหมองหม่นในตัวผู้คน รวมถึงสภาพอากาศเยือกหนาวปราศจากแสงแดด ชาวรัสเซียจึงมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้า และแทบไม่อาจหาเรื่องบันเทิงใจใดๆ ได้ สิ่งบันเทิงราคาถูกที่พวกเขาหาได้ง่ายที่สุดก็คือแอลกอฮอล์นี่เอง
ถ้าให้พูดชัดเจนคือ ขณะที่ชาวไทยดื่มในช่วงเย็นเพื่อสังสรรค์หรือแก้เบื่อ พี่ๆ ดินแดนหมีขาวก็เปิดขวดซัดกันตั้งแต่เช้า จนเป็นเรื่องสามัญที่จะเห็นพวกเขาดื่มไปพลางทำงานไป พ่อที่จูงมือลูกด้วยมือขวาขณะที่มือซ้ายถือขวดเบียร์ หรือวัยรุ่นหนุ่มสาวที่แค่จอดรถระหว่างติดไฟแดงก็กำขวดวอดก้าแทนพวงมาลัย
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ถึงขั้นเคยมีคนไปสัมภาษณ์ชาวต่างชาติที่อยู่ในรัสเซียว่า พอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ดื่มในรัสเซีย เบ็กกา ดัลตัน ครูสอนวิชาภาษาอังกฤษชาวอเมริกันที่อาศัยในรัสเซียบอกว่า “ยากมากเลยล่ะที่คุณจะไม่ดื่มเหล้าในรัสเซียนี่น่ะ ตอนย้ายมาอยู่นี่ปีแรกฉันเจอตอเข้าอย่างจัง เพราะทุกคนดูจะชวนดื่มแอลกอฮอล์อยู่ทุกที่ทุกเวลา ถ้าปฏิเสธนี่โดนจ้องเป๋งทันที” เธอเล่า “อย่างฉันทำงานในโรงเรียน เพื่อนๆ ก็จะมาลากออกไปข้างนอกระหว่างวันแล้วชวนดื่มแชมเปญหรือวอดก้า แล้วค่อยกลับไปสอน”
ทั้งหมดนี้ทำให้รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนบริโภคแอลกอฮอล์หนักที่สุด ทั้งยังเคยมีสถิติในยุคที่พวกเขายังปกครองกันในรูปแบบสหภาพโซเวียต ที่ผู้ชายชาวโซเวียตมักอายุสั้น เนื่องจากผลพวงของการดื่มมากกว่าชายชาวอเมริกัน 12 ปี ไม่ว่าจะจากโรคพิษสุราเรื้อรัง เมาแล้วขับหรือเหตุอื่นๆ ที่เกิดจากการดื่ม จนทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความพินาศ รัฐบาลจึงต้องหาทางเปลี่ยนอุปนิสัยพวกเขาให้ดื่มน้อยลง โดย มีกาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต ได้ขึ้นราคาสินค้าจำพวกวอดก้า เบียร์ และไวน์ กำหนดให้ร้านอาหารห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเวลา 14.00 น. ซึ่งนับว่าขัดกับอุปนิสัยนักดื่มของชาวโซเวียตในเวลานั้นอย่างมาก และส่งผลต่อตลาดการขายแอลกอฮอล์ของโซเวียต เมื่อยอดขายเบียร์ตกลงมา 29 เปอร์เซ็นต์ ไวน์ตกมาที่ 63 เปอร์เซ็นต์ และแม้แต่วอดก้าสุดที่รักของชาวเมือง ก็ยังเจอยอดขายแบบเจ็บๆ ที่ 60 เปอร์เซ็นต์
แต่นโยบายยับยั้งโรคพิษสุราของกอร์บาชอฟไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงนัก เมื่อสหภาพโซเวียตถึงกาลล่มสลายในปี 1991 มาตรการต่างๆ ที่เคยปักหมุดหมายไว้ก็ถึงคราวล่มสลายลงไปด้วย วอดก้า เบียร์ และสารพัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลับมาระเบิดความนิยมในรัสเซียอีกหน มีบันทึกว่าอุตสาหกรรมเบียร์และโรงงานผลิตขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังปี 1991 แถมยังผลิตเบียร์หลากหลายชนิดมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ผลิตได้แต่เบียร์แบบที่สหภาพโซเวียตเห็นชอบและอนุญาตเท่านั้น แถมกลุ่มผู้ดื่มยังมีแนวโน้มจะอายุลดน้อยลงด้วย คืออยู่ที่ช่วงอายุ 16-22 ปีแถมยังพึงใจกับเครื่องดื่มสายหนักอย่างวอดก้ามากกว่าเครื่องดื่มเบาๆ อย่างเบียร์หรือไวน์อีกต่างหาก เพราะพวกเขามีความเชื่อที่ว่า วอดก้าเป็นเครื่องดื่มที่ถูกกลั่นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งวอดก้ายังปราศจากน้ำตาล ทำให้แม้จะดื่มหนักหัวทิ่มแค่ไหนก็จะตื่นมาแบบสดชื่นไร้อาการเมาค้าง (ซึ่งไม่จริงนะจ๊ะ หลายครั้งการดื่มวอดก้าหนักๆ ก็ส่งผลเช่นเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ คือเมาค้างข้ามวันนั่นเอง) รวมถึงการตลาดในรัสเซียก็เน้นโฆษณาว่า วอดก้าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพด้วย รัฐบาลรัสเซียจึงต้องหาทางควบคุมและจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้เพื่อผลบวกต่อประชาชนเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ รัสเซียไม่ได้จัดเบียร์เข้าเป็นหนึ่งในกลุ่มเครื่องดื่มมึนเมาจนกระทั่งปี 2010 โดยก่อนหน้านั้น เครื่องดื่มใดๆ ก็ตามที่มีอัตราแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 10% ถือเป็นอาหาร (เช่นเดียวกับน้ำหวาน น้ำอัดลมต่างๆ) ทำให้ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือชาวรัสเซียบางคนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มหรือขายแอลกอฮอล์เลี่ยงไปดื่มเบียร์แทนซึ่งให้ผลเหมือนๆ กัน (แม้ว่าพวกเขาจะโปรดปรานมันน้อยกว่าเครื่องดื่มในดวงใจอันดับหนึ่งอย่างวอดก้าก็ตาม)
สาเหตุที่ ดมีตรี เมดเวเดฟ อดีตนายกรัฐมนตรีของรัสเซียผ่านกฎหมายนี้ เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมการผลิต ราคา และการบริโภคเบียร์ได้แบบเดียวกับที่พวกเขาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ เนื่องจากหากปล่อยไว้ ก็เป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนรัสเซียโดยรวม สอดคล้องกับผลสำรวจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า พฤติกรรมการดื่มของของชาวรัสเซียมากกว่าระดับปลอดภัยที่ทาง WHO กำหนดเป็นสองเท่า ยิ่งในระยะหลัง เมื่อกฎหมายการควบคุมแอลกอฮอล์เริ่มเข้มงวด ส่งผลให้ยอดขายวอดก้าตกลงเกือบ 30% ในทางตรงกันข้ามคือผู้คนหันไปดื่มเบียร์ ซึ่งไม่ถูกจัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนยอดขายพุ่งขึ้นมา 40%
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐจะพยายามควบคุมพฤติกรรมการดื่มของประชาชนมานานนับทศวรรษ แต่ตลาดแอลกอฮอล์ในรัสเซียก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปี 2017 มีผลวิจัยว่าตลอดทั้งปี ชาวรัสเซียจะบริโภคแอลกอฮอล์ราว 57 ลิตรต่อคน และยิ่งเติบโตในปี 2018 ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ของการจัดงาน มีผลสำรวจว่า การบริโภคแอลกอฮอล์เติบโตพรวดเดียวขึ้นมาอีกราว 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวและแฟนบอลที่นิยมดวดเบียร์ขณะดูฟุตบอลนั่นเอง
จะเห็นว่า วัฒนธรรมการดื่มของชาวรัสเซียยังเป็นสิ่งที่รัฐต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเสมอ แต่มาตรการของรัฐบาลก็ออกมาในเชิงเข้มงวดสลับกับยืดหยุ่น เพราะในด้านหนึ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ถือเป็นตลาดใหญ่ที่ชาวรัสเซียนิยมบริโภค จนช่วยกระตุ้นวงจรเศรษฐกิจอย่างมหาศาลนั่นเอง
ที่มา: How Drinking Beer Is Saving Russian Lives
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm