เหล้ากับเรา : ดื่มแล้วปวดเบา-ดื่มแล้วเมาค้าง

September 24, 2020


:: Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านรวมบทความสั้น ‘เหล้ากับเรา’ ชุดที่สี่ – ตอบคำถามเรื่องอาการปวดเบา อยากเข้าห้องน้ำหลังดื่ม และทำความรู้จักอาการเมาค้าง ว่าเกิดจากอะไรและควรทำอย่างไรถึงหาย ::

 

– 1 –

ดื่มเท่าน้ำเปล่า แต่ปวดเบามากกว่าปกติ?

 

หลายคนคงเคยพบปัญหาว่า คืนนี้กะจะดื่มกินปาร์ตี้กันให้มันสุดเหวี่ยง แต่ต้องมาจบตรงที่วนต่อคิวเข้าห้องน้ำอันยาวเหยียดเสียแทน ทั้งที่กินปริมาณเท่ากับน้ำดื่มที่ทานประจำแล้วแท้ๆ เลยเชียวนะ ทำไมถึงรู้สึกว่าปวดเบาบ่อยกว่ากันล่ะ?

เพื่อตอบคำถามที่ค้างคา นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามหาคำอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มเหล้าเบียร์กับการปัสสาวะ โดยศาสตราจารย์โอลิเวอร์ เจมส์ หัวหน้าวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลระบุว่า “เหล้าเบียร์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ” ได้ดี เพราะแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการทำงานของไต

โดยปกติ เจ้าไต หรืออวัยวะที่สำคัญต่อการขับถ่ายของเหลวจะฉลาดในการรักษาอัตราส่วนระหว่างอนุภาคของเลือดต่อของเหลว หรือที่เรียกด้วยคำศัพท์เท่ๆ ว่า Osmolality ให้เกิดความสมดุลกัน ถ้าเราดื่มเครื่องดื่ม (มึนเมา) เข้าไป จนทำให้ไตพบว่ามีของเหลวเยอะกว่าอนุภาคในเลือด ร่างกายก็จะขับปัสสาวะออกมา

ไม่เพียงแค่นั้น แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่า วาโซเพรสซิน (vasopressin) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า Anti-Diuretic Hormone (ADH) ซึ่งปกติจะช่วยสะกิดไตให้ดูดซึมน้ำใหม่อีกครั้ง แทนที่จะปล่อยสู่กระเพาะปัสสาวะไปเลย เมื่อสัญญาณของฮอร์โมนนี้หายไป เลยทำให้ร่างกายปล่อยของเหลวได้อิสระยิ่งขึ้น ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ นี่ล่ะ เหตุผลที่เราต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยครั้ง

ส่วนคำถามที่ว่าต้องปลดปล่อยบ่อยเพียงไหนถึงจะพอ คำตอบก็คือต้องดูปัจจัย 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ดื่ม มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าการดื่มแอลกอฮอล์ความเข้มข้นต่ำจะปวดฉี่น้อยกว่า,ความถี่ของการดื่ม ยิ่งดื่มบ่อยอาการอยากเข้าห้องน้ำก็จะน้อยลง (แต่ไม่ได้แนะนำให้ทุกคนหันหน้าซดเหล้าเบียร์บ่อยขึ้นเพื่อลดการเข้าห้องน้ำนะ เพียงแค่ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัวของร่างกายให้คุ้นชินกับฤทธิ์แอลกอฮอล์เท่านั้น!)

ปัจจัยต่อมา คือ ระดับน้ำในร่างกาย (Hydration levels) จากงานวิจัยของ Alcohol and Alcoholism พบว่า ผู้ที่ขาดน้ำเล็กน้อยก่อนดื่มจะฉี่น้อยกว่า แม้ว่าจะซดเหล้าเบียร์ปริมาณเท่ากันก็ตามที

และปัจจัยสุดท้าย คือ ปัจจัยด้านร่างกายของแต่ละคนที่มีความทนทานของกระเพาะปัสสาวะส่วนตัวต่อแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน อันเนื่องมาจากร่างกายตอบสนองต่อแอลกอฮอล์แตกต่างกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น อีกหนึ่งอาการที่น่าโมโห คือ เพิ่งเข้าห้องน้ำไปไม่กี่นาทีก็กลับมาปวดฉี่อีกครั้ง เป็นวงจรไม่จบไม่สิ้น หรือฝรั่งเรียกว่า Break the seal

แม้จะไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน แต่หมอหลายคนมองตรงกันว่า อาจจะเกิดจากจิตใจที่จดจ่อกับการเข้าห้องน้ำอีกครั้งจนปวดฉี่บ่อยขึ้น หรืออาจจะมองได้ว่าการดื่มกินเหล้าเบียร์ในปริมาณมากส่งผลให้ร่างกายขับของเหลวเร็วยิ่งขึ้น และมากขึ้น จนบางครั้งมากกว่าปริมาณที่ดื่มไปเสียอีก

(มีงานศึกษาพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ทุกๆ 1 กรัม จะทำให้การขับปัสสาวะจะเพิ่มขึ้น 10 มิลลิลิตรเลยเชียวนะ ดังนั้น คงไม่แปลกที่กระเพาะปัสสาวะจะขอปลดปล่อยซ้ำแล้วซ้ำอีก)

สุดท้าย หลายคนอาจจะยังสงสัยว่าการเข้าห้องน้ำบ่อยๆ จะช่วยให้หายเมาได้ไหม? ในเมื่อฉี่ไปก็ขับเหล้าออกไปด้วย?

น่าเสียดายที่ต้องตอบว่าไม่ แถมยังทำให้เกิดอาการขาดน้ำ (dehydration) นำมาซึ่งอาการอยากอาเจียน ปวดหัว ตื่นมาตอนเช้ารู้สึกปากแห้ง หิวน้ำเป็นพิเศษอีกต่างหาก

ดังนั้น ก่อนจะยกแก้วชนคราวหน้าแบบไม่เสียเวลาลุกเข้าห้องน้ำทั้งคืนเลยอยากแนะนำว่า ควรจะหันมาดื่มในปริมาณ และความเข้มข้นที่เหมาะสมจะได้ไม่ต้องปวดฉี่บ่อย และห้ามแก้การลุกเข้าห้องน้ำด้วยการอั้นปัสสาวะ หรือทำให้ตัวเองขาดน้ำ เพราะผลภายหลังจะทำให้ร่างกายย่ำแย่ยิ่งกว่า

– 2 –

ถึงเหล้าที่รัก ทำไมฉันถึงแฮงค์ มองสาเหตุและวิธีบรรเทาอาการเมาค้างหลังดื่มแอลกอฮอล์

 

ปวดหัวหนักมาก! แถมยังเมื่อยตามตัวสุดๆ เรียกได้ว่าเป็นเช้าที่ไม่สดใสเสียเลย นี่เป็นเพราะการชนแก้วอย่างนับไม่ถ้วนของเมื่อคืนวานนี้แท้ๆ เชียว

คุณเคยโดนอาการเมาค้าง หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘แฮงค์’ เล่นงานแบบนี้บ้างไหม?

แอลกอฮอล์ถือได้ว่าเป็นทั้งที่รักและตัวแสบในเวลาเดียวกันของใครหลายคน เมื่อดื่มเข้าไปแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์มักทำให้ร่างกายเราผิดปกติหลายๆ ส่วน จนรวมกันกลายเป็นอาการเมาค้างที่นักดื่มต่างคุ้นเคย

เริ่มต้นด้วย สภาวะขาดน้ำ และสภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ ที่เป็นอาการพบได้บ่อย เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นยาขับปัสสาวะชั้นยอด ทำให้หลังดื่มเหล้าหรือเบียร์เข้าไปแล้ว นักดื่มมีแนวโน้มปัสสาวะออกมามากขึ้น จนร่างกายเข้าสู่สภาวะขาดน้ำ และทำให้เซลล์ เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

สภาวะขาดน้ำส่งผลต่อเนื่องให้เกิดสภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ โดยสภาวะที่ว่ามานี้ เป็นสภาวะที่อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) หรือแร่ธาตุซึ่งทำหน้าที่รักษาระดับของเหลวในร่างกาย และช่วยให้ระบบที่สำคัญอื่นๆ ทำงานได้อย่างปกติ เกิดความไม่สมดุล มีปริมาณอิเล็กโทรไลต์มากหรือน้อยเกินไป ความไม่สมดุลนี้ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติ เหนื่อยล้า ชัก และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ต่อมา แอลกอฮอล์สามารถเข้าไปกระตุ้นการตอบสนองต่อการอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งส่งผลให้อยากอาหาร สมาธิสั้นและความจำถดถอย ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เป็นสาเหตุของอารมณ์แปรปรวน – บางกรณีก็ถึงขั้นชัก และทำให้หลอดเลือดขยายตัว เราจึงปวดหัวอย่างแรงนั่นเอง

ความแสบของฤทธิ์แอลกอฮอล์ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น แอลกอฮอล์สามารถออกคำสั่งให้เพิ่มการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและปัญหาทางเดินอาหารอื่นๆ ตามมา รวมถึงทำให้นอนไม่หลับหรือตื่นง่ายขึ้น จนเกิดความเหนื่อยล้า สมองเบลอและอารมณ์ไม่ดี

ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับวิธีดื่มให้ไม่เมาค้าง 100% เนื่องจากความรุนแรงและระยะเวลาของอาการนั้นขึ้นอยู่เฉพาะตัวบุคคล ซึ่งมีหลายปัจจัย เช่น อายุ เพศ ปริมาณและความถี่ในการดื่ม ตลอดจนปัจจัยทางด้านชีวภาพ

เบื้องต้น ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำว่า ผู้หญิงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 1 แก้ว และผู้ชายไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 แก้วต่อวัน หรือจะเทียบเป็นปริมาณเครื่องดื่มแต่ละชนิดที่ไม่ควรดื่มเกิน คือ เบียร์ได้แค่ขวดขนาด 12 ออนซ์ ไวน์ขาวและแดง 5 ออนซ์ และเหล้า 1.5 ออนซ์ เป็นต้น

แต่ถ้าเผลอดื่มไปแล้วจะบรรเทาอาการเมาค้างต่าง ๆ ได้อย่างไร?

เว็บไซต์ Medical News Today ระบุถึงวิธีบรรเทาอาการเมาค้างง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน ดังนี้

1. กินยา : แม้ว่าจะมีงานวิจัยโดยตรงเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์สำหรับแก้อาการเมาค้าง แต่ก็มียาบางชนิดช่วยบรรเทาอาการได้ นั่นคือ ยาประเภทแอสไพริน (aspirin) และยาต้านการอักเสบอื่น ๆ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) และ นาพรอกเซน (naproxen) ยาเหล่านี้สามารถลดการอักเสบในร่างกายที่แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุเพื่อบรรเทาอาการปวดหัวและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

อย่างไรก็ดี ควรใช้ยาแก้อักเสบด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยาอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคือง และการใช้ยาเหล่านี้บ่อย ๆ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

สำหรับยาลดกรดเอง ก็สามารถช่วยอาการเมาค้างได้ด้วยเช่นกัน โดยยาจะทำให้กรดในกระเพาะเป็นกลางเพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง การทานยาลดกรดสามารถลดอาการคลื่นไส้ อาการเสียดท้อง และอาหารไม่ย่อยที่ทำให้เกิดการดื่ม นี่เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่มีอาการเมาค้าง

2. ดื่มน้ำให้มากๆ : การคืนน้ำแก่ร่างกายด้วยการดื่มน้ำอาจช่วยให้อาการเมาค้างดีขึ้น รู้แล้วอย่าลืมดื่มน้ำสักแก้วระหว่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และก่อนนอนด้วยล่ะ

3. กินข้าวเช้า : เมื่อร่างกายสลายแอลกอฮอล์ ระดับกรดแลคติกจะเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงซึ่งอาจนำไปสู่อาการเมาค้าง ดังนั้นการรับประทานอาหารเช้าสามารถช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับเหมาะสมและอาจทำให้อาการเมาค้างดีขึ้น

4. กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ : แอลกอฮอล์ทำให้เกิดความเครียดจากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผลเบอร์รี่ เชอร์รี่ องุ่น ทับทิม แครอท ผักขม ขิง ดาร์กช็อกโกแลต ถั่วและเมล็ด ชาเขียวและชาดำ จึงช่วยลดผลเสียที่เกิดจากดื่มแอลกอฮอล์ได้

อนึ่ง ความเชื่อที่ว่าดื่มเหล้าต่อเพื่อถอนหรือบรรเทาอาการเมาค้างเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพได้ออกมาชี้แนะว่าการใช้วิธีดื่มแอลกอฮอล์ซ้ำเข้าไปทำให้อาการเมาค้างยาวนานมากขึ้น ฉะนั้น แทนที่จะดื่มซ้ำๆ การงดหรือดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณที่พอเหมาะ น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงอาการเมาค้าง

เรื่องและภาพ : ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles