สตีเวน ไทเลอร์ ฟรอนต์แมนตัวเอ้ของ Aerosmith กับบทเพลงจากเหล้ายา

January 30, 2020


ปี 1998 แวดวงภาพยนตร์และดนตรีมีสองอย่างที่ระเบิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์แบบเกี่ยวเนื่องกันทั้งทางตรงและทางอ้อม

อย่างแรกคือหนังหายนะ Armageddon (1998) ของเจ้าพ่อหนังนักกดปุ่มระเบิดอย่างไมเคิล เบย์ กวาดรายได้มหาศาลไป 553 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อย่างที่สอง บทเพลงประกอบหนัง I Don’t Want to Miss a Thing ของวง Aerosmith ฮิตติดชาร์ตยาวนานหลายเดือน เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีทั้งจากค่ายหนังและค่ายเพลง รวมทั้งสองพ่อลูกสกุลไทเลอร์อย่าง ลิฟ ไทเลอร์ ซึ่งรับบทนักแสดงนำในหนัง Armageddon กับ สตีเวน คนพ่อ นักร้องนำหรือฟรอนต์แมนตัวเอ้ของ Aerosmith (ใช่จ้ะ เขาเป็นพ่อลูกกัน)

 

 

แต่ก่อนจะมาดังเปรี้ยงกับเพลงประกอบหนัง ที่ว่าด้วยกลุ่มนักขุดน้ำมันถูกส่งไประเบิดดาวเคราะห์ซึ่งจะพุ่งเข้ามาชนโลก Aerosmith ก็สร้างชื่อด้วยตัวเองมาแล้วตั้งแต่ยุค 70 จนกลายเป็นหนึ่งในไอคอนของวงร็อคแอนด์โรลล์ประจำยุคสมัย กับสารพัดเพลงฮิต Dream On, Sweet Emotion, Livin’ on the Edge และทัวร์แสดงคอนเสิร์ตในหลายรัฐ หลายประเทศที่กินเวลานานหลายปี

 

ไทเลอร์เป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้ชื่อว่าเต็มร้อยทุกครั้งที่ปรากฏตัวในคอนเสิร์ต เขากระโดดโลดเต้นในชุดหลากสี วิ่งพล่านไปทั่วทุกตารางนิ้วของเวที และตะเบ็งเสียงสุดขั้วปอด แน่ล่ะว่ามันเป็นการแสดงอันชวนประทับใจ แต่ช่วงที่วง Aerosmith ระเบิดฟอร์มร้อนแรงทุกชาร์ตเพลง และไทเลอร์ต้องขึ้นโชว์ติดกันหลายๆ คืน คืนละหลายชั่วโมง ทำให้เขาพบว่าตนเองอาจไม่พร้อมสำหรับการใช้พลังมากขนาดนี้ทุกรอบ

 

ดังนั้น ไทเลอร์จึงเลือกใช้ตัวช่วยที่รวดเร็วที่สุด คือการอัดยาและเหล้าเข้าร่างกายเพื่อให้ตื่นตัว “เราฟาดโคเคนให้คึก และใช้ยากล่อมประสาทให้สงบลง” เขารำลึกความหลัง และให้คำตอบถึงสาเหตุที่บ่อยครั้งเขามักปรากฏตัวในสภาพล่องลอยไร้วิญญาณ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่บ่อยๆ “เราดื่มกันหนักเป็นบ้า ทั้งเหล้า ทั้งโคเคน เราซัดจนกว่าจะรู้สึกว่ามีสติแล้วนั่นล่ะ ซึ่งไม่จริงหรอก เราแค่เมาน่ะ”

 

“ในยุคสมัยนั้น ผมว่าไม่มีนักดนตรีคนไหนหรือวงไหนรู้จักคำว่ามีสติหรอก” ไทเลอร์ว่า “แล้วยิ่งผมเป็นพวกเกลียดคนที่ทำอะไรไม่เต็มที่ ไม่สุดพลัง ผมเลยอัดทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองไปจนสุดทาง”

 

“แต่ตอนนั้นมันก็มีจุดที่เรารู้สึกสนุกอยู่นะ กระดกแจ็ค แดเนียลไปสักกรึ๊บ จากนั้นขึ้นโชว์ที่เมดิสัน สแควร์ ลงเวทีมาแล้วไปปาร์ตี้ในคลับต่อกับจิมมี เพจ (นักดนตรี) แหมคุณ! หลังเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ขนาดนั้น นานขนาดนั้น คุณคงไม่ลงมาเล่นแค่ชัฟเฟิลบอร์ด (โต๊ะกีฬาเล็กๆ) หรือทอยลูกเต๋าหรอกใช่มะ! คุณก็แค่อยากเมาให้อ้วกพุ่งตายไปเลย เพราะคุณเพิ่งจะทำอะไรที่คุณไม่รู้ตัวว่าทำได้มาก่อน และคิดว่ากูนี่แม่งเจ๋งสุดๆ ไปเลยว่ะ”

 

ไทเลอร์ยังเสริมอีกว่า “เวลาได้ยินคนทั้งโลกร้องเพลงที่เราเขียนตอนเมาหัวราน้ำ ตอนนั้นมันอดคิดไม่ได้หรอกว่าเหล้าเป็นเหตุผลหลักในการรังสรรค์บทเพลงเหล่านี้ขึ้นมาน่ะ” เขากล่าว “เชื่อไหมว่าผมเขียนเพลง Dream On แบบทำให้ตัวเองเมาที่สุดเท่าที่จะเมาได้”

 

 

สตีเวน ไทเลอร์กับสมาชิกวงคนอื่นๆ ใช้เวลาครึ่งหนึ่งอยู่บนเวที อีกครึ่งอยู่กับขวดเหล้า และถ้าพอมีเวลาเหลือบ้าง พวกเขาจะนอนสลบอยู่บนเตียงข้ามวันเพื่อเตรียมขึ้นเวทีในคืนต่อไป เขาใช้ชีวิตในวงจรนั้นนานหลายสิบปี รู้ตัวอีกทีเขาก็เมาติดกันทุกวัน ร่างกายตอบสนองย่ำแย่ และดื่มหนักจนส่งผลกระทบต่อเส้นเสียง ซึ่งต่อมาเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งใหญ่ราวปี 2006 รวมถึงใช้ชีวิตประจำวันแบบติดๆ ขัดๆ แทบตลอดเวลา

 

ถึงตอนนี้ ไทเลอร์เริ่มไม่รู้สึกว่าตัวเอง ‘เจ๋งสุดยอด’ แบบที่เคยแล้ว “สักพักเราจะเริ่มรู้แล้วว่านี่มันไม่ถูกต้อง ผมเสพติดมัน เหล้ากลายเป็นสิ่งที่ผมดื่มทั้งวันไม่พักจนมันส่งผลกระทบต่อชีวิตผมน่ะ”

 

Aerosmith ไม่ ‘ท็อปฟอร์ม’ อย่างเก่า หลายครั้งที่ไทเลอร์และสมาชิกวงหลงลืมเนื้อเพลงหรือลำดับขั้นตอนขณะขึ้นเวที หนักกว่านั้นคือการขึ้นแสดงคอนเสิร์ตแบบร่างกายไม่เต็มร้อยแม้ว่าจะใช้โคเคนปลุกวิญญาณกันมาก่อนแล้วก็ตาม เมื่อไม่มีอะไรใช้ได้ผลอีก ในที่สุด ทั้งวง โดยเฉพาะไทเลอร์ที่อาการหนักที่สุด ถูกผู้จัดการวงสั่งให้ไปเลิกเหล้าขั้นเด็ดขาด

 

“พวกเขาบอกว่า ถ้านายไม่ไปบำบัด นายจบเห่กับอาชีพนี้แน่นอน” เขาหัวเราะ “ที่แย่คือ ไอ้คนที่มาแพล่มบอกผมเรื่องนี้น่ะยังเมาเรื้อนกันอยู่เลย แต่ผมดีใจนะที่พวกเขาพยายามเตือนผม เพราะถ้าไม่เตือนกัน ป่านนี้ผมคงยังไม่พบทางสว่างเลยมั้ง”

 

“สิ่งที่ผมกลัวที่สุดคือผมจะกลับมาทำงานเพลงไม่ได้อีก” ไทเลอร์เผย “เวลาผมเมาถึงที่สุดแล้วผมมักจะโกรธจัดเสมอ และมักจะกอดเอาความโกรธนั้นไปลงกับใครสักคน แล้วเชื่อไหมว่าท้ายที่สุด คนที่ผุพังมากที่สุดคือตัวคุณเองนั่นล่ะ”

 

ไทเลอร์เข้ารับกระบวนการบำบัดและปลุกปล้ำกับมันอยู่นาน ระยะแรก อารมณ์ของเขาผันผวนและกราดเกรี้ยว เพื่อนฝูงเข้าหน้าไม่ติด หนักหนากว่านั้น จากภาวะกดดันและตึงเครียดสุดขีด เขามักทำร้ายตัวเองเพื่อปลดปล่อยมวลอารมณ์ซึ่งไม่มีที่ระบายออก ทั้งหมดนี้กินเวลานานหลายเดือนกว่าเขาจะค่อยๆ ฟื้นคืนสภาพ กลับมาดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำสีอำพันได้ในระหว่างวัน (“อันที่จริงมันช่วยประหยัดเงินไปได้เยอะเลยนะครับ จะบอกให้”)

 

ทุกวันนี้ ไทเลอร์ยังดำรงตำแหน่งฟรอนต์แมนจอมฉูดฉาดของ Aerosmith อยู่ แถมยังออกอัลบั้มเดี่ยวชื่อยาวเหยียดอย่าง We’re All Somebody from Somewhere เมื่อปี 2016 และเพิ่งจะมีสารคดีตามติดชีวิตส่วนตัวของเขาอย่าง Steven Tyler: Out on a Limb (2018)

 

ยิ่งไปกว่านั้น เขาประกาศว่าวง Aerosmith จะกลับมาออกทัวร์อีกครั้งหลังสมาชิกวงทุกคนหวนกลับมาเจอหน้ากันด้วยสภาพแข็งแรงฟิตเปรี๊ยะในวัยเหยียบ 70

 

“วงผมยังอยู่ด้วยกัน ทุกคนยังมีชีวิตอยู่แถมแข็งแรงฟิตปั๋ง เราแสดงสดได้เยี่ยมกว่าเมื่อสมัย 50 ปีที่แล้วอีก” ไทเลอร์เอ่ย “โอเคล่ะว่าเวลาเราแสดงในคลับมันก็มีความดิบเถื่อนและเมาเละอยู่บ้างบางคราว แต่เรายังอยู่ด้วยกัน คนยังอยากจ่ายเงินเป็นพันๆ เหรียญสหรัฐฯ ในแต่ละคืนเพื่อดูเราเล่นสด และผมเข้าใจดีว่ามันเสี่ยงแค่ไหนถ้าจะกลับไปใช้เหล้าและยาอีก แถมผมยังมีลูกๆ หมา แมวและบ้านหลังงามที่เกาะเมาวี แฟนผมอีก ถ้าผมกลับไปติดเหล้าอีก ผมก็ต้องยอมเสี่ยงทุกอย่างอีกครั้งนะ”

 

“จุดลงเอยของเรื่องพวกนี้มีไม่เยอะหรอก ถ้าไม่ติดคุกก็ทำเราเป็นบ้า หรือไม่ก็ตาย”

 

 


ที่มา :

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles