ในปัจจุบัน ประเด็นเรื่อง ‘สุขภาพจิต’ กลายเป็นประเด็นที่ถูกตระหนักถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่สถานการณ์หลายๆ อย่างมีความผันผวนและแหลมคม สั่งสมจนจิตใจของใครหลายคนเจ็บป่วย ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจและใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพจิตของตนและคนรอบข้างมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มีความเข้าใจผิด หรือละเลยประเด็นสุขภาพจิตบางอย่างไป ทั้งปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ โรคซึมเศร้า หรือประเด็นสารเสพติดและพฤติกรรมเสพติด เช่น การติดสุรา ยิ่งก่อเกิดเป็นความไม่เข้าใจและเหมือนยิ่งจะผลักไสคนที่ต้องเจ็บป่วยทางจิตใจออกไปให้มากขึ้น การจะเยียวยาหัวใจที่เจ็บปวดของคนๆ หนึ่งจึงไม่ได้อาศัยแค่ความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความเข้าใจให้คนรอบข้างในการช่วยกันประคับประคองจิตใจของคนๆ หนึ่งด้วย
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวน ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สนทนากันถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย ทำความเข้าใจประเด็นด้านสุขภาพจิตบางอย่างที่อาจถูกละเลยหรือเข้าใจผิด รวมถึงสนทนาเกี่ยวกับปัญหาในขวดสุรา – ครอบครัวจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องสุราอย่างไร และประเด็นสำคัญอย่าง ‘การสื่อสาร’ เกี่ยวกับการดื่มสุรา ปิดท้ายด้วยการประคับประคองและเยียวยาจิตใจของตนเองและคนรอบข้าง ในวันที่ทุกอย่างดูเหนื่อยล้าและตึงเครียด
ตอนนี้สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือว่าปัญหาที่แต่ก่อนอาจไม่มี แต่ตอนนี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นไหม
จากการที่ทำงานมา ผมเห็นความต้องการขอรับคำปรึกษาหรือการดูแลทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น หรือถ้าดูทางสถิติของสายด่วนสุขภาพจิต (1323) ในปี 2558 เราเคยให้คำปรึกษาไปประมาณห้าหมื่นกว่าสาย แต่พอมาในปี 2563 เราให้คำปรึกษาเพิ่มเป็นหนึ่งแสนกว่าสาย หมายความว่าคนต้องการการดูแลสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นจริงๆ
ถ้าถามต่อว่า ปัญหาเรื่องอะไรที่คนมักเข้ามาขอรับคำปรึกษา เมื่อดูสถิติหลักๆ จะเห็นเป็นเรื่องปัญหาทางจิตเวชหรือโรคทางจิตเวช รองลงมาเป็นอารมณ์เครียดหรือความวิตกกังวล และอันดับที่สามเป็นภาวะและอารมณ์เศร้า สำหรับเรื่องความเครียด เราเห็นคนที่เครียดทั้งด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ เงินทอง เพราะโควิด-19 รวมถึงเรื่องการเรียนด้วย มีทั้งนักเรียนหรือนักศึกษาโทรมาเอง หรือเป็นผู้ปกครองโทรมา ซึ่งถ้าดูเป็นรายเดือนอาจจะน้อย แต่ถ้าย้อนไปประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าแนวโน้มหรือเทรนด์ตรงนี้เพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์ทางสุขภาพจิตที่เปลี่ยนแปลงไปสะท้อนภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
จริงๆ ความไม่สบายใจของคนก็สะท้อนอะไรบางอย่างได้ เช่น ถ้าเราดูเรื่องปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ มันสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนโยนและความอ่อนไหวทางอารมณ์ของคน จะเห็นได้ว่า เมื่อมีประเด็นปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น เวลาเกิดภัยพิบัติเราจะเห็นคนใจดีออกมาช่วยเหลือ บริจาคสิ่งของต่างๆ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะเขาคิดถึงใจคนว่า ถ้าเกิดเป็นเราที่ลำบาก เราจะรู้สึกยังไง พูดง่ายๆ คือถ้าเราอยู่จุดนั้นเราจะรู้สึกอย่างไร ตรงนี้ศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า empathy เป็นการเข้าอกเข้าใจคนอื่น แต่ไม่ได้อินเหมือนเขานะ เราก็เห็นแบบนี้ในสังคมไทย เรียกได้ว่าช่วยเหลือกันดีมาก
แต่อีกนัยหนึ่ง การเห็นอกเห็นใจมากเกินไปหรือมีอารมณ์ร่วมมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้เช่นเดียวกัน เช่น เวลาเราเสพข่าวบางข่าวเยอะๆ พวกภัยพิบัติหรือเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่สะเทือนจิตใจคน เสพข่าวแบบนี้ตลอดเวลาไม่มีหยุดเลย จะทำให้คุณเกิดความเครียดจากการเสพข่าวได้ เพราะคุณอินเกินไป
นอกจากนี้ เมื่ออินมากเกินไปก็ทำให้เกิดการตัดสินเรื่องราวบางอย่างไปแล้ว โดยขาดข้อเท็จจริงบางประการไป อย่างเวลาเราเห็นคนมาคอมเมนต์เรื่องต่างๆ จะมีคนที่อิน ด่าไปเลย ด่าไว้ก่อนแต่ความจริงเป็นยังไงไม่รู้ ทั้งที่สิ่งที่เราได้รับอาจจะเป็นความคิดเห็น (opinion) บางอย่างก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง (fact) ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า เราแยกออกไหมว่าความคิดเห็นและข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
คุณมีคำแนะนำไหมว่า เราจะแยกความคิดเห็นกับข้อเท็จจริงออกจากกันได้อย่างไร
ถ้าพูดง่ายๆ และตรงตัวที่สุด ความคิดเห็นอาจจะไม่จริงเสมอไป แต่ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง เช่น เรามองว่าคนนี้สูง คนนั้นเตี้ย อันนี้เป็นความคิดเห็น แต่ถ้าเราให้เขาวัดส่วนสูงด้วยเครื่องวัดเลย อันนี้คือข้อเท็จจริง
บางครั้ง เราอาจเห็นความคิดเห็นบางอย่างในสื่อออนไลน์แล้วอิน พอเราอินก็จะทำให้มองโลกได้ไม่ตรงตามความเป็นจริงนัก และมีการตัดสินบางเหตุการณ์ไปแล้ว ทางจิตวิทยาจะเรียกว่า sympathy คือฉันอินไปเลย เต็มที่ไปเลย ซึ่งตรงข้ามกับ empathy
สรุปคือ เวลาเรามองอะไรบางอย่าง การจัดการอารมณ์ของเราเป็นสิ่งสำคัญ การไม่อินไป อยู่ตรงกลาง ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเราต้องตัดสินใจบางอย่างหรือให้ข้อคิดเห็นในบางเรื่อง
คุณพูดถึงเรื่องความเครียด ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเจออยู่ทุกวัน แล้วเรามีวิธีแยกไหมว่า นี่คือความเครียดปกติ เรายังรับมือได้อยู่ หรือถึงจุดไหนที่เราอาจจะต้องไปพบหรือคุยกับใครสักคนเพื่อขอความช่วยเหลือแล้ว
คนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องความเครียดมามากจะคิดว่าความเครียดเป็นเรื่องไม่ดีหรือถึงขั้นแย่ แต่ถ้าเรามาดูจริงๆ ความเครียดก็มีข้อดีนะ เช่น คนเครียดจะทำให้เกิดความกระตือรือร้น (active) เพราะต้องหาเงิน เดี๋ยวสิ้นเดือนไม่มีจ่าย ตรงนี้อาจจะมองเป็นข้อดีได้ ส่วนถ้าคนเครียดน้อยก็อาจจะเฉื่อย ไม่ค่อยอยากทำอะไร ดูง่ายๆ สมมติเราได้รับงานมาชิ้นหนึ่งให้ส่งปลายเดือน ต้นเดือนก็อาจจะสบายๆ ไม่ได้กระตือรือร้นมากเพราะยังไม่กดดัน แต่พอใกล้ๆ ปลายเดือน เห็นเดตไลน์มาแล้ว เดตไลน์ก็จะเป็นตัวกระตุ้นหรือที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า stressor คือกระตุ้นให้เราเกิดความเครียด พอเครียดก็ต้องรีบทำงาน
ดังนั้น ความเครียดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าเราเครียดมากเกินไปจะสังเกตได้จากอาการทางร่างกายเลย เช่น เริ่มกินไม่ค่อยลง นอนไม่ค่อยได้ อะไรที่เราเคยทำแล้วมีความสุขก็กลายเป็นไม่มีความสุข ไม่ค่อยอยากออกไปไหน ไม่ค่อยอยากทำอะไร นี่อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าคุณต้องเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาแล้ว
เล่ากระบวนการให้ฟังหน่อยได้ไหมว่า เวลาจะไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์สักคนจะต้องทำยังไง มีกระบวนการขั้นตอนยังไงบ้าง
ในกรณีของจิตแพทย์ กระบวนการจะคล้ายๆ กับเวลาเราไปพบแพทย์เพราะโรคทางกายเลยครับ คือไปถึงก็ทำเรื่องนัด พอเข้าห้องพบจิตแพทย์แล้ว เขาก็ซักประวัติถามอาการของเรา และสุดท้ายคือจะสั่งยา เพราะเรื่องจิตใจ ความเครียด หรือซึมเศร้า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องสารสื่อประสาทในสมอง
ส่วนนักจิตวิทยา ลองนึกภาพว่าในห้องมีเก้าอี้สองตัว มีโต๊ะหนึ่งตัว และเรามานั่งคุยกัน การคุยในที่นี้มีเป้าหมายเพื่อหาทางออกของปัญหาบางอย่างด้วยกัน หาวิธีการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมมากขึ้น หรือมีวิธีการบำบัดบางอย่าง เช่น การปรับเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรมเพื่อลดความเศร้าลง จะเป็น talking theraphy เน้นการพูดคุย ซึ่งเป็นแบบที่พบได้ในปัจจุบัน
ในมุมของนักจิตวิทยา ทำยังไงให้อีกฝ่ายยอมพูดเรื่องราวหรือความทุกข์ที่อยู่ในใจของตัวเองออกมา เพราะเข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องก็คงยากที่จะยอมพูดออกมาได้ง่ายๆ หรือทำอย่างไรนักจิตวิทยาจะรับฟังและเข้าใจอีกฝ่ายได้จริงๆ
ถ้าเป็นคนไข้ที่มาหาเอง อันนี้มีข้อดีคือเขาอยากพูดอยู่แล้ว ก็จะไม่ใช่งานหนักมาก แต่ในบางกรณี เช่น วัยรุ่น บางทีเขาไม่อยากพูด ไม่อยากเล่า นักจิตวิทยาก็จะใช้การฟังเป็นหลักและสะท้อนความรู้สึกออกมา อย่างหนึ่งที่ผมทำเวลาคุยกับวัยรุ่นที่ยังไม่อยากพูดคือ เราจะตกลงกันว่า เรื่องที่คุยกันนี้จะเป็นความลับ พอได้ยินแบบนี้แล้ว คนที่ยังกังวลหรือไม่แน่ใจว่าเรื่องของตัวเองจะหลุดออกไปไหมก็จะกล้าพูดมากขึ้น เพราะเราตกลงกันแล้วว่าเป็นความลับ และเป็นจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาด้วย อันนี้สำคัญมาก
ท่าทางก็เป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้เขาไว้ใจเรา ตั้งแต่เรื่องภาษาท่าทาง การมองหน้าสบตา การยิ้ม ที่สำคัญคือสายตาที่ส่งความเชื่อใจได้ ให้เห็นว่าเรามีสายตาที่อยากจะช่วยเขา และที่สำคัญคือ การฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้าใจโดยไม่ได้บอกว่าคุณไม่ดี เราแค่อยากจะช่วยคุณ ถ้าเรามองสามัญจิตวิทยาเขาจะบอกว่า เป็นการฟังด้วยหูที่สาม คือคนเราฟังด้วยหู ด้วยตา และอีกอย่างคือฟังด้วยใจ อันนี้คือสิ่งที่เราจะเน้นทำ
เวลาผมไปพูดในหลายๆ ที่ จะมีคำถามว่า แล้วในเคสหนักๆ เช่น คนที่จะฆ่าตัวตาย เราควรจะพูดอะไรเพื่อให้กำลังใจเขา คำตอบของผมคือ กลับกันครับ เราจะฟัง เพราะบางทีเขาอยากเล่า แต่ไม่มีใครเข้าใจเขาเลย และเราจะไม่บอกว่า ทางนี้ดีที่สุดสำหรับคุณ คุณต้องทำแบบนี้ แต่ให้เขาดูข้อดีข้อเสียของแต่ละทางแล้วมาคิดกัน มาหาทางออก และให้เขาเลือกด้วยตัวเอง แบบนี้ก็จะทำให้ผู้มารับคำปรึกษาเกิดความไว้ใจและเชื่อใจเรามากขึ้นด้วย
แล้วถ้าเป็นคนทั่วไป เราจะฟังคนอื่นด้วยใจจริงๆ ได้อย่างไร โดยที่ไม่เผลอตัดสินโดยใช้มุมมองของตัวเอง
ตอนผมไปฝึกฟังเรื่องการให้คำปรึกษาจะมีกิจกรรมหนึ่งคือ ให้ลองฝึกฟังใครโดยที่เราไม่พูด เชื่อไหม บางคนที่เราลองให้ทำกิจกรรมนี้ แค่ 7 นาทีแต่เขาห้ามใจไม่ได้ที่จะไม่พูด แต่ผมอยากให้เราลองเงียบก่อน ไม่รบกวนหรือเสนอความเห็นอะไรกับคนที่กำลังพูด แต่เงียบและฟังเขาให้ได้มากที่สุด ระหว่างฟังก็ลองถามตัวเองง่ายๆ ว่า คนที่เขาพูดแบบนี้หรือเล่าแบบนี้มารู้สึกอย่างไร
ถ้าอยากให้ลึกกว่านั้น เขาจะเรียกว่าการสะท้อนความรู้สึก เช่น มีคนเล่าว่าโดนแฟนบอกเลิก รู้สึกแย่มาก เราก็อาจจะบอกเขาว่า ฟังจากที่คุณเล่ามา คุณคงรู้สึกเสียใจนะ พูดเท่านี้แต่มันแตะใจเขาแล้ว ทำให้เหมือนมีคนเข้าใจเขาอีกขั้นหนึ่ง
สรุปคือมี 3 ขั้นตอนเท่านี้เอง ขั้นตอนแรกคือฟังโดยไม่พูดจนกว่าเขาจะเล่าจบหรือเงียบไปเอง สองคือในระหว่างฟัง ถามตัวเองว่า คนที่เขาพูดแบบนี้รู้สึกยังไง และสาม ถ้าเราอยากจะพูดอะไรสักอย่างกลับไป ลองพูดสะท้อนความรู้สึกของเขา เราพูดแค่นี้เอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ถ้ามันใช่เขาจะบอกว่า เขาเสียใจนะ และจะเล่าต่อไปเอง บางทีการที่เขาพูดต่อจะทำให้เขาได้พูดสิ่งที่อยู่ข้างในหรือสิ่งที่กำลังอึดอัดอยู่ออกมา เรียกว่า ventilation หรือการระบาย พอเขาระบายใจของเขาก็เบาลง เหมือนเวลาเราทำกับข้าวก็ต้องมีตัวดูดควันออก ใจก็เหมือนกัน เมื่อมีไฟอยู่ข้างในก็ต้องระบายออกมา ถึงปัญหามันจะยังอยู่เหมือนเดิม แต่เขาก็มีแรงใจจะสู้ จะไปดีลกับปัญหานั้นต่อไป
อีกอย่างหนึ่งคือ พอเราบอกว่าฟังอย่างไม่ตัดสิน ก็อาจจะลองฟังด้วยความสงสัยในใจต่อก็ได้ว่า เกิดอะไร ที่ไหน อย่างไร ฟังเพื่ออยากรู้ไปเรื่อยๆ เพราะบางทีเมื่อเราคิดว่าเราเข้าใจอีกฝ่ายแล้ว เราจะปิดการฟังเลย เช่น เวลาลูกมาบอกพ่อแม่ว่าโดนครูตีมา พ่อแม่บางคนอาจจะบอกเลยว่า ก็เพราะเธอทำไม่ดีมาน่ะสิ คือไปตัดสินแล้วว่าลูกไม่ดี แต่เราลองพยายามฟังและสงสัยไปก่อนดีไหม เช่น ถามว่าเป็นมาอย่างไร เพราะอะไรหนูถึงถูกครูตี ตอนนี้หนูเป็นยังไง รู้สึกยังไง ถ้าเป็นพ่อ/แม่โดนครูตีก็คงรู้สึกแย่เหมือนกัน จะเห็นว่าความรู้สึกมันต่างกันเยอะเลยนะ
ได้ยินมาว่า คุณเคยทำงานที่สายด่วนสุขภาพจิต (1323) ซึ่งเป็นการรับฟังทางโทรศัพท์โดยที่ไม่เห็นหน้ากัน ตรงนี้จะทำให้การให้คำปรึกษายากขึ้นกว่าการคุยแบบซึ่งหน้ากันหรือไม่ อย่างไร
จริงๆ มีทั้งส่วนที่ง่ายกว่าและยากกว่า และมีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างจากการให้คำปรึกษาซึ่งหน้า ส่วนที่เหมือนคือ เราใช้กระบวนการและทักษะที่เรียนมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะปรึกษาแบบเจอตัวหรือทางโทรศัพท์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เราไม่เห็นสีหน้าท่าทางของเขา ได้ยินแต่เสียง มันเลยยากกว่าเพราะเราต้องตั้งใจฟังเขา มีสมาธิกับเคสของเรามากๆ เพื่อไม่ให้ข้อมูลใดหลุดไป และที่สำคัญอีกอย่างคือ เพื่อไม่ให้เขารู้สึกด้วยว่า เราไม่ใส่ใจฟังเขา ตรงนี้เราก็จะพยายามมี empathy หรือการเข้าอกเข้าใจเขา
แต่ส่วนที่ง่ายคือ คนที่โทรมาหาสายด่วนฯ อยากเล่าอยู่แล้ว พอเขาโทรมา เรารับสาย แนะนำนั่นนี่เขาก็จะเริ่มเล่ามาเลย
เล่าประสบการณ์ให้ฟังได้ไหมว่า กว่าจะมาทำงานตรงนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และเจออะไรที่น่าสนใจบ้างระหว่างการทำงาน
อย่างแรกคือต้องมีพื้นฐานความรู้ก่อน ก็จะเป็นการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและไปฝึกปฏิบัติ ซึ่งสำคัญมากในการให้คำปรึกษา อย่างเวลาเราเรียนทฤษฎีก็จะเป็นเคสตุ๊กตา เจอแบบนี้ก็คุยประมาณนี้ แต่ในชีวิตจริง เคสที่เราเจอมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก เราไม่เคยคิดหรอกว่า จู่ๆ จะมีคนโทรมาร้องไห้ใส่เราหรือโทรมาแล้วโกรธใส่เลย ในตำราก็ไม่ได้สอนไว้ตรงๆ แต่มันต้องเรียนรู้เอา
ผมมองว่าเรื่องนี้เหมือนการเก็บชั่วโมงบิน อยากเก่งขึ้นก็ต้องเก็บชั่วโมงมากขึ้น แต่ผมทำมาจนถึงตอนนี้ก็คิดว่า เราต้องเรียนรู้ไปตลอดด้วย มีบางเคสยากขึ้น บางเคสเราไม่เคยเจอ หรือบางเคสก็ไม่คิดว่าจะมี ส่วนหนึ่งก็เพราะมีโซเชียลมีเดีย อย่างสมัยที่โซเชียลมีเดียยังไม่บูมขนาดนี้ การทะเลาะหรือด่าทอกันก็จะเจอที่โรงเรียน แต่ตอนนี้เราจะ cyberbullying ด่ากันในโลกออนไลน์ แล้วเราจะช่วยเขาอย่างไรล่ะ ตรงนี้ก็ต้องมาเรียนเพิ่มตลอด ผมมองว่า การทำจิตบำบัดหรือดูแลจิตใจคนเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ไปแล้วเจอปัญหาก็มาเรียนรู้ต่อหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ปัญหาสุขภาพจิตก็แยกย่อยออกได้หลายประเด็น จึงอยากชวนคุณคุยในบางประเด็นเป็นการเฉพาะ
ประเด็นแรกคือ ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งผู้ใหญ่มักมองว่า เด็กจะไปมีความเครียดอะไร ส่วนเด็กหลายคนก็มองว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจตนเองเลย จึงอยากชวนคุณคุยว่า จริงๆ แล้วเมื่อพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
กรณีที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ การที่เด็กหลายคนต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ ซึ่งทำให้เขาเครียดนะ ต่อให้เป็นผู้ใหญ่ยังยากเลย สมาธิหลุดหมด และพอพ่อแม่ไม่เข้าใจก็จะมองว่าลูกไม่ตั้งใจเรียน เรียนแค่นี้จะไปเครียดอะไร แต่บางทีเรื่องเรียนก็ทำให้เด็กเครียดมากแล้ว เช่น บางคนที่โดนพ่อแม่คาดหวัง ด้วยความที่เขารักพ่อแม่ เขาก็อยากทำตามความคาดหวังนั้น
ความหวังมันดีนะครับ แต่ถ้าเป็นความคาดหวังมันเครียด ความคาดหวังที่มาจากการคาดคั้นทำอย่างไรก็ไม่มีความสุข สมมติเขารู้ตัวว่าอยากเรียนสายศิลป์ แต่พ่อแม่คาดหวังให้เป็นหมอ ก็เกิดความขัดแย้งในตัวเอง จากนั้นพอไปบอกพ่อแม่ก็อาจจะขัดแย้งกับพ่อแม่อีก แน่นอนว่าตรงนี้เด็กก็เครียด
นอกจากเรื่องเรียน เรื่องเพื่อนก็น่าสนใจ ผมเคยเจอผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมลูกถึงเครียดนักหนากับการทะเลาะกับเพื่อนคนเดียว แต่ถ้าเราพยายามเข้าใจเขาหน่อยจะพบว่า สังคมวัยรุ่นจริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับเพื่อนนั่นแหละ เราเป็นผู้ใหญ่มองอาจจะไม่เห็นอะไร แต่กับเด็กมันมีความเครียดอยู่
แล้วถ้าเป็นกรณีผู้สูงอายุ มีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง
ประเด็นที่เจอจะเป็นเรื่องการปรับตัว ลองนึกภาพว่า เราเคยทำงานทุกวัน แต่พอเกษียณ ไม่ต้องมาทำงานแล้ว อยู่บ้านไป ก็เหมือนจะสบายนะ แต่เท่าที่ผมเคยคุยกับผู้สูงอายุที่โทรมาปรึกษาสายด่วนฯ เขาจะรู้สึกเหงา ไม่มีอะไรทำ เพราะเมื่อก่อนเขาเคยทำนั่นนี่ได้หมดเลย เคยเป็นหัวหน้างาน ดูแลลูกน้องในที่ทำงาน แต่พอไม่มีอะไรทำต้องกลับมาอยู่บ้าน ก็ก่อให้เกิดความเครียดได้ บางคนถึงขั้นมีภาวะซึมเศร้า แต่นี่ก็ขึ้นกับการที่เขามองตัวเองด้วย ผมเคยได้ยินบางคนบอกว่า เขามองว่าตัวเองไม่มีประโยชน์ อยู่บ้านเป็นภาระ ตรงนี้ก็ทำให้ไม่สบายใจหรือเครียดได้
คุณพูดถึงภาวะซึมเศร้า ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีการพูดและตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว แต่ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าใจภาวะหรือโรคซึมเศร้าเท่าไหร่ ในฐานะนักจิตวิทยา คุณอยากสื่อสารอะไรในประเด็นนี้
เราจะเห็นว่าคนบางส่วนมองคนซึมเศร้าว่าเรียกร้องความสนใจ ซึ่งก็มาจากการที่เขาไม่มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นนั้นเท่าไหร่ เพราะโรคทางกายกับทางใจไม่เหมือนกัน สมมติคุณเป็นไข้ จับตัวดูก็รู้ว่าคุณตัวร้อน แต่โรคทางใจเป็นบาดแผลภายในที่โชว์ให้ใครเห็นไม่ได้ บางคนจึงอาจจะเข้าใจผิด
ถ้ามาดูในวัยรุ่น จะเห็นว่าพ่อแม่หลายคนไม่ยอมให้ลูกไปหาหมอ ผมอยากบอกว่า คุณอาจจะยังไม่ต้องเข้าใจเขานะ แต่ลองเปิดใจก่อนว่า มันอาจเป็นแบบนั้นแบบนี้ก็ได้ พอเปิดใจแล้วความเข้าใจก็จะตามมาง่ายขึ้น แต่ถ้าคุณปิดใจไปก่อน ทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าคนที่ไม่ยอมใจเปิดใจจริงๆ ผมก็จะขอว่า ให้คุณให้พื้นที่เขาได้เสียใจ ได้พื้นที่ที่เป็นของเขา เพราะคนซึมเศร้าอาจจะมองตัวเองแย่อยู่แล้ว เขาไม่ควรต้องได้รับคำวิจารณ์จากคนอื่นให้รู้สึกแย่อีกเลย
โรคทางกายกับโรคทางใจเชื่อมโยงกันยังไงบ้าง
เชื่อมกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้เลยครับ ถ้าบอกว่าเรื่องทางกาย อารมณ์ความรู้สึก ความเครียดของเรา มาจากสารสื่อประสาทในสมอง เวลาเครียดมากๆ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) จะหลั่งออกมา นี่ก็อธิบายภาวะทางกายที่ส่งผลกับใจได้ หรือเวลาคุณหิวมากๆ แล้วไม่ได้กินอะไรก็จะอารมณ์ไม่ดีกว่าปกติ ควบคุมอารมณ์ได้ยาก อันนี้ชัดมากว่ากายส่งผลกับใจ
ในทางกลับกัน ถ้ากายปกติ ใจจะส่งผลกับกายได้ไหม ลองนึกภาพว่าเราต้องพูดหน้าห้องให้คนประมาณ 100 คนฟัง ร่างกายเราจะมีปฏิกิริยาบางอย่าง เช่น มือสั่นใจสั่น เหงื่อออก คิดว่าต้องออกมาแย่แน่ๆ นี่คือใจส่งผลกับกายเช่นกัน
เพราะฉะนั้น เวลาคนเศร้าๆ เราอาจจะได้ยินคนบอกว่า ถ้าเศร้าให้ไปออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง เอากายมาดูแลใจ ตรงนี้ช่วยได้ เพราะการไปออกกำลังกายหรือเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ จะช่วยให้เราเลิกหรือหยุดคิดเรื่องทุกข์เรื่องเศร้าได้ และบางทีฮอร์โมนบางตัวจะเป็นตัวนำสารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขให้หลั่งออกมา ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นและทุกข์ลดลงด้วย
อีกประเด็นทางจิตวิทยาเรื่องหนึ่งที่คนพูดถึงกันมากคือพฤติกรรมเสพติด บางครั้งเราเห็นคนมีอาการเสพติดบางอย่าง หรือมีพฤติกรรมเสพติดบางอย่าง เราอาจมองว่าเป็นเรื่องของพฤติกรรมหรือความอยากของเขาอย่างเดียว แต่จริงๆ เรื่องนี้เกี่ยวพันกับทางจิตวิทยาอย่างไรบ้าง
เกี่ยวกับทั้งส่วนชีววิทยาและเรื่องสมอง และเรื่องทางจิตใจ อย่างผมถนัดให้คำปรึกษาเรื่องการเล่นพนัน ถ้าเราไปดูสมองของคนที่เล่นพนันมากๆ จะคล้ายกับคนที่ติดสารเสพติดนะ คือสมองส่วนคิดจะทำงานลดลง การทำงานหรือการตัดสินใจต่างๆ จะแย่ลง และสมองส่วนอยาก (ส่วนที่ตอบสนองเกี่ยวกับอารมณ์) จะมีสารสื่อประสาทที่เรียกว่าโดพามีน (Dopamine) ที่เป็นสารที่หลั่งออกมาเวลาเราทำอะไรที่มีความสุข ในกรณีของคนที่เล่นพนัน ยิ่งเล่น สารโดพามีนจะยิ่งหลั่งออกมา จนวันหนึ่งถ้าหยุดเล่นไป ร่างกายก็ยังต้องการสารตัวนี้อยู่ เลยทำให้เขาอยากเล่นไปเรื่อยๆ อันนี้คือมุมของสมอง
ในมุมจิตใจ นักจิตวิทยาจะมองว่า ถ้าเราจะปรับเปลี่ยนหรือเลิกพฤติกรรมสารเสพติด จะต้องมองเรื่องแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งในการจะเปลี่ยนแปลงได้ เขาต้องมีแรงจูงใจในการเปลี่ยน แบ่งได้เป็น 6 ขั้นของการเปลี่ยนแปลง (stages of change) ขั้นแรกคือ ขั้นที่ยังไม่ตระหนักในปัญหา (pre-contemplation) ลองสังเกตง่ายๆ ถ้าเราบอกว่า ให้หยุดดื่มเหล้าวันนี้หรือหยุดเล่นพนันวันนี้ ถ้าเขายังไม่ตระหนักถึงปัญหาก็จะมองว่า เล่นนิดเดียวเอง ดื่มนิดเดียวเอง ไม่เป็นไรหรอก คือยังเห็นข้อดีของพฤติกรรมนั้นมากกว่าข้อเสีย
ต่อมา พอเขาเริ่มตระหนักถึงปัญหาได้แล้ว จะก้าวมาสู่ขั้นที่สองหรือ contemplation ดูง่ายๆ ว่าเขาเริ่มเห็นข้อดีข้อเสียของพฤติกรรมนั้น เช่น เล่นพนันสนุกก็จริง ได้เงินมาก็จริง แต่ก็มาพร้อมหนี้ ทำให้ครอบครัวต้องทุกข์ ต้องปิดบังคนอื่นเพื่อจะเล่นพนัน ระยะนี้จะเรียกว่าเขามีความลังเลใจ และพอลังเลใจก็จะเริ่มเห็นข้อดีข้อเสีย นักจิตวิทยาจะทำงานกับความลังเลใจตรงนี้แหละ เพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยเราจะเสริมสร้างแรงจูงใจให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้สำเร็จ
ขั้นที่สามคือการตัดสินใจ (determination) จะเริ่มเห็นข้อเสียมากกว่าข้อดีแล้ว เช่น เล่นการพนันก็แค่ได้เงิน แต่เป็นหนี้เพิ่ม ครอบครัวทุกข์ ต้องปิดบังคนอื่น ตรงนี้เราจะช่วยกันวางแผนแก้ปัญหาว่า จะทำอย่างไร และจะก้าวไปสู่ขั้นที่สี่คือการลงมือทำ (action) ก็ทำตามแผนที่วางเอาไว้ ถ้าเขาเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมใน 6 เดือนแรกจะเรียกว่าขั้นตอนการลงมือทำ ถ้าทำจนถึง 6 เดือน – 1 ปี จะเป็นขั้นตอนที่ห้าที่เรียกว่า การลงมือทำต่อเนื่อง (maintenance) คือทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนเปลี่ยนจากการปรับพฤติกรรมเป็นนิสัย การไม่เล่นพนันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว
แต่ก็มีขั้นที่หกอยู่ คือการกลับมาเป็นซ้ำ (relapse) เช่น คนที่เล่นการพนันก็เผลอกลับไปเล่นได้ คนที่เลิกเหล้าแล้วก็กลับไปดื่มใหม่ได้ เขาจะบอกว่าขั้นนี้เป็นขั้นตอนแห่งการเรียนรู้ เป็นธรรมชาติที่จะเปลี่ยนพฤติกรรม คนเราทำพฤติกรรมนี้มาเป็นปีๆ ก็อาจมีบ้างที่ทำพฤติกรรมเดิม แต่เราก็มาเริ่มใหม่กันได้
ถ้าเป็นเรื่องสุรา หลายคนมักจะบอกว่าไม่ควรให้เด็กดื่มเลย แต่บางคนก็มองว่าครอบครัวหรือผู้ใหญ่ไม่ควรปิดกั้น แต่ควรให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง คุณมองความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันนี้อย่างไร
ครอบครัวมีส่วนต่อพฤติกรรมของเด็ก ถ้าเป็นเรื่องสุราจะพบเลยว่า คนในครอบครัวบางคนมีพฤติกรรมดื่มสุราอยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าถามว่าควรหรือไม่ควรให้ดื่ม หรือสอนไปด้วยดื่มไปด้วย บอกตรงๆ ผมคิดว่าน่าจะตอบยาก เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นกับบริบทของแต่ละครอบครัว
แต่ถ้าเราคิดง่ายๆ มาลองดูข้อดีข้อเสียของการดื่ม อาจจะต้องตัดสินว่า ถ้าจะให้ลูกเริ่มดื่มจะมีข้อดีข้อเสียยังไง ถ้าไม่ให้ดื่มเลยจะเป็นยังไง เอามาชั่งน้ำหนัก ตรงนี้ผมคงตัดสินไม่ได้ แต่ก็พบนะว่า ถ้าพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่างโดยไม่ดื่มเลย โตมาเด็กก็ไม่ดื่ม หรือถึงดื่มก็ดื่มแบบไม่ติด เพราะเขาไม่ได้มองว่าเหล้าเป็นเรื่องที่คุ้นชินกับเด็ก หรือถ้าดื่มก็ดื่มแบบรับผิดชอบตัวเอง
ปัจจุบันถามว่าจะห้ามไม่ให้ดื่มเลยได้ไหม ผมว่าเป็นไปได้ยาก เราอาจจะลองตั้งคำถามใหม่มากกว่า จะทำยังไงให้เด็กมีความรับผิดชอบ หรือคนดื่มมีความรับผิดชอบต่อการดื่มของตนมากขึ้น เราคงไม่พูดหรอกว่าดื่มเหล้าไม่ดียังไง เพราะคนรู้กันเยอะแยะแล้ว แต่ถ้าจะดื่ม ดื่มยังไงให้ไม่เดือดร้อนตัวเองและคนอื่น ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่า
มีอีกกรณีหนึ่งคือ ไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์ แต่จำใจต้องดื่มด้วยเหตุผลทางสังคมหรือถูกเพื่อนชักชวน คุณมีวิธีการปฏิเสธไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่ทำให้คนชวนดื่มรู้สึกแย่ด้วยไหม
ทักษะการปฏิเสธเป็นเรื่องสำคัญครับ เราอาจจะลองใช้แนวคิด ‘I message’ เป็นตัวช่วย บอกว่าฉันรู้สึก (I feel) ยังไง เช่น ถ้าเพื่อนชวนดื่มเหล้า แต่เรากังวลไม่อยากดื่ม เราอาจจะพูดไปเลยว่า ขอโทษนะ เรารู้สึกกังวล กลัวว่าถ้าเมาแล้วจะแย่ ก็ลองพูดไปแบบนี้
ถ้าเราปฏิเสธว่าไม่เอาเฉยๆ โดนเพื่อนคะยั้นคะยอมากๆ เข้าก็อาจจะไปไม่เป็นเท่าไหร่ แต่ถ้าเราใช้ความรู้สึกมาช่วยว่า เรากังวล รู้สึกผิดยังไง จะทำให้การปฏิเสธดูซอฟต์กว่า และสัมพันธภาพระหว่างเรากับคนชวนดื่มก็มีแนวโน้มจะเสียน้อยกว่าด้วย
เท่าที่ฟังดู เหมือนการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากในประเด็นที่เกี่ยวกับสุรา แต่ถ้าเราลองดูการสื่อสารของคนในระบบสุขภาพ จะเห็นว่าหลายครั้งที่การสื่อสารออกไปในลักษณะตีตราคนติดเหล้า เช่น มองว่าจน ขี้เกียจ จึงเลือกดื่มเหล้า ทั้งที่จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้นซ่อนอยู่ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญครับ ถ้าเราบอกว่า จนและเครียดจึงเลือกดื่มเหล้า ผมมองว่าคนสื่อสารก็พยายามหาทางแก้ปัญหาแหละว่า การไปดื่มเหล้าไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคุณดีขึ้น คือระยะสั้นอาจจะช่วยให้ลืม แต่ระยะยาวช่วยไม่ได้
เพราะฉะนั้น การสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ สอนให้ปฏิเสธเป็น หรือบอกให้คนอื่นเคารพสิทธิของคนที่เลือกจะไม่ดื่มด้วย หรือถ้าเป็นคนดื่ม ดื่มอย่างไรให้รับผิดชอบ เรารู้ว่าปัจจุบันการห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าเป็นเรื่องยาก เราจึงต้องดื่มแบบรู้ลิมิตของตัวเอง อันนี้น่าจะสำคัญกว่า
คิดว่าการรณรงค์เรื่องสุราในปัจจุบันละเลยมิติการรับฟังเรื่องราวของคนไปไหม
การมองว่า คนนี้เป็นแบบนี้เพราะอะไร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ที่ผมอยากพูดคือ เราอาจจะลองมาทบทวนกันใหม่ว่า เรื่องนี้มองได้แบบเดียวหรือไม่ คนที่ดื่มเหล้าจนติดเป็นเพราะอะไร เราเข้าใจเขารึยัง ตรงนี้อาจจะเป็นเรื่องการฟังหรือการเปิดใจก็ได้ เราต้องเปิดใจเพื่อจะเข้าใจเขา เวลาเราพูดอะไร ลองคิดดูว่าเราเข้าใจเขารึยัง รู้จักเขามานานแค่ไหน ถ้าเป็นเราโดนตัดสินแบบนี้จะรู้สึกยังไง เพราะบางครั้งเราทำพฤติกรรมบางอย่างก็มีเหตุผลใช่ไหม เช่น มาสายครั้งหนึ่งแต่โดนเหมารวมว่าขี้เกียจ เราก็คงไม่ค่อยชอบ คนดื่มเหล้าก็เหมือนกัน เราอาจจะต้องลดการตัดสินหรือการตีตราลง เพราะเวลาคนๆ หนึ่งทำพฤติกรรมแบบไหนก็มาจากหลายเหตุผล เราอาจจะต้องลองเปิดใจ เพราะหลายครั้งที่การแก้ปัญหาคือ มองหลายมุมแล้วค่อยเลือก
เวลาแก้ปัญหา หลายคนเลือกแก้ด้วยการดื่มเหล้า เพราะเขาต้องการเพิ่มสุข สนุก ลดทุกข์หรือความเศร้า หรือดื่มเพราะเหล้ามีฟังก์ชันบางอย่าง เช่น ดื่มเหล้าให้เข้าสังคมได้ ดื่มเพราะเชื่อว่าช่วยเรื่องการนอนหลับ เราจึงอาจจะลองมองว่า มันมีทางอื่นไหม ถ้าอยากมีความสุข ลดทุกข์ ทำแบบอื่นได้ไหม อาจจะต้องสกัดออกมาด้วยว่า เราเลือกดื่มเหล้าเพราะอะไรกันแน่
คิดว่าอะไรเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารเรื่องบำบัดสุรา หรือทำให้คนอยากเข้ามารับการบำบัดสุรามากขึ้น
ในแง่การบำบัด เรามองว่าทุกพฤติกรรมเรียนรู้ได้ เป็นได้ก็หยุดได้ ไม่ว่าจะแย่แค่ไหน แต่อย่าลืมว่ามันก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเช่นกัน เพราะฉะนั้น อย่าหมดกำลังใจไป ลองคิดว่าคุณดื่มมา 5-6 ปี จะหยุดภายใน 6 เดือน มันมีโอกาสกลับไปดื่มซ้ำอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คนที่เลิกไม่ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาหมดหวัง มองว่าเลิกได้ 6 เดือนก็กลับมาดื่มอีกแล้ว เลยไม่อยากเลิกดื่มแล้ว
ผมเลยอยากจะบอกว่า ถ้ากลับมาเป็นซ้ำก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องหมดกำลังใจ เปลี่ยนใหม่เริ่มใหม่ได้เรื่อยๆ การกลับมาดื่มซ้ำไม่เท่ากับคุณล้มเหลว มันเหมือนคุณเดินขึ้นบันไดมาหลายๆ ขั้น แล้วนี่ก็แค่ย้อนกลับไปขั้นเดียวเอง ไม่ได้หมายความว่ากลับไปเริ่มที่ขั้นแรกเสียเมื่อไหร่
คุณทำงานมานานพอสมควร เจอเคสอะไรที่ประทับใจบ้าง
ผมเคยเจอคุณแม่คนหนึ่งมาปรึกษาเรื่องพฤติกรรมของลูก ซึ่งคุณแม่คนนี้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งต้องทำงานและดูแลลูกไปพร้อมกัน ซึ่งผมก็ได้ให้คำปรึกษาไปตามกระบวนการว่าจะดูแลลูกอย่างไร แต่ระหว่างที่คุย ผมสังเกตว่าสีหน้าของคุณแม่คนนี้เหมือนคนอึดอัด มีความทุกข์อยู่ตลอด พอตอนคุยจะจบแล้วผมจึงสะท้อนความรู้สึกไปเพิ่มเติมนอกจากเรื่องการดูแลลูกว่า ฟังดูเหมือนคุณแม่จะเหนื่อยที่ต้องทำงานและเลี้ยงลูกไปพร้อมกันด้วย ผมพูดแค่ประโยคนี้ แต่คุณแม่คนนั้นน้ำตาไหลและบอกว่า ไม่เคยมีใครถามถึงความรู้สึกของเธอเลย จริงๆ มันเหนื่อยตลอดเวลา อยากระบายให้ใครสักคนฟัง พอวันนี้มาพบผม และผมสะท้อนความรู้สึกนั้นออกมาก็เหมือนมีคนมาเข้าใจ
หลังจากครั้งนั้น คุณแม่ก็เหมือนเปลี่ยนเป็นอีกคน เหมือนยกภูเขาออกจากอก ทำให้ผมค้นพบว่า จริงๆ แล้ว แค่ฟังความรู้สึกและสะท้อนให้เขาเห็น ก็กลายเป็นพลังที่มากพอในการช่วยเหลือคนๆ หนึ่งแล้ว อาจจะไม่ต้องมีถ้อยคำดีๆ หรือคำพูดคมๆ มากมาย แค่ฟังเขาและจับความรู้สึกให้ได้เท่านั้น
สถาบันครอบครัวมีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นสถาบันแรกเริ่มที่จะดูแลเด็กคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งที่ครอบครัวก็กลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก คุณมีคำแนะนำอย่างไร ผู้ปกครองควรจะดูแลจิตใจของเด็ก และทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่ปลอดภัยได้อย่างไร
ผมอยากเสนอหลักง่ายๆ ที่เรียกว่า ‘สามใจ’ ใจแรกคือเปิดใจ พยายามเข้าใจเขาจริงๆ และจะต้องระวังด้วยว่า เราต้องไม่คิดไปก่อนว่าเราเข้าใจเขาหมดทุกอย่าง เพราะถ้าเราไปตัดสินหรือคิดว่าเราเข้าใจแล้วนะ ก็จะเป็นการปิดใจเสียมากกว่า
ใจที่สองคือ ตั้งใจฟัง ฟังอย่างเดียวพอ ไม่ตัดสิน ฟังทั้งอารมณ์และเรื่องราวของเขา อย่าเพิ่งสั่งสอน คุณจะสอนเขาในช่วงหลังก็ได้ เช่น ฟังลูกเล่าเรื่องจบแล้วค่อยสอนว่า ถ้าเป็นพ่อ/แม่จะทำแบบนี้ๆ หรือแก้ไขปัญหาแบบนี้ ทำแบบนี้เพราะอะไร เราลองนึกภาพว่ามีคนมาสั่งสอนเรา เราก็อาจจะไม่ฟังขนาดนั้นใช่ไหม เพราะฉะนั้นการสอนอาจจะไม่ใช่วิธีที่เวิร์กเท่าไหร่ เปลี่ยนเป็นฟังเขาให้เยอะขึ้นดีกว่า เพราะแค่ฟังก็ทำให้เด็กเบาใจ สัมพันธภาพระหว่างผู้ปกครองกับเด็กแนบแน่นขึ้น และทำให้ลูกกล้ามาเล่าด้วยเวลาเกิดอะไรขึ้น
สังเกตไหมว่าเด็กบางคนไม่กล้าเล่าให้ที่บ้านฟังเวลามีปัญหา เพราะกลัวโดนว่าซ้ำ มันหมายความว่าเราอาจจะฟังเขาได้ไม่ดีพอ เพราะถ้าเขาไว้ใจผู้ปกครองพอ ไม่ว่าเกิดปัญหาอะไรเขาจะวิ่งกลับมาที่บ้านและเล่าให้พ่อแม่ฟังเอง แต่ถ้าไม่เป็นแบบนั้น เขาก็อาจจะไปแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น เช่น ดื่มเหล้า
ใจสุดท้ายคือ กำลังใจ ชื่นชมเขาบ้าง เรามักจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า เป็นพ่อแม่อย่าชมลูกบ่อย เดี๋ยวลูกจะเหลิง เป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย แต่จริงๆ การชมลูกคือการทำให้เขารู้จุดแข็งของตัวเอง มีความมั่นใจและเคารพในตัวเอง (self-esteem) มากขึ้น ซึ่งนี่แหละจะเป็นเกราะป้องกันปัญหาทางใจหลายอย่างได้ รวมถึงป้องกันการเลือกไปดื่มเหล้าหรือติดยาเสพติดด้วย
มีวิธีไหมว่าพ่อแม่จะชมลูกยังไง
ในหนึ่งวันคุณลองหาเวลาคุยกับลูก ชมเขาให้ได้สักสามอย่าง และไม่ใช่ชมว่าเธอดีมาก เยี่ยมมาก แต่ลองชมพฤติกรรมที่เจาะจง เช่น แม่ดีใจนะที่ลูกมารอตรงเวลา หรือพ่อดีใจนะที่ลูกเก็บรองเท้าเข้าที่ ประมาณนี้ ต้องชมให้เจาะจง เขาก็จะเห็นข้อดีของตัวเอง เสริมความมั่นใจในตัวเองให้ดีขึ้น และกลายเป็นเกราะป้องกันชั้นดี
คนมักจะรีบไปพบแพทย์ถ้าเกิดความผิดปกติทางกาย หรืออย่างน้อยคือพยายามขวนขวายหาความรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง แต่ถ้าเป็นความผิดปกติทางใจ คนจำนวนมากกลับละเลยและคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร คุณมีคำแนะนำไหมว่า จะทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจและเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น
จริงๆ โรคทางใจมีความคลุมเครืออยู่แล้ว อย่างโรคซึมเศร้า มันสังเกตได้ยากใช่ไหม ไม่ใช่ว่าพอมีจุดที่แขนแล้วคุณจะเป็นโรคซึมเศร้า จึงไม่แปลกที่หลายคนจะยังไม่เลือกไปพบแพทย์ เมื่อรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกแย่ เพราะมันไม่ได้ชัดเจนเหมือนโรคทางกาย
ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ความไม่ชัดเจนลดลงคือการให้ข้อมูลหรือสร้างความเข้าใจใหม่ ให้เขาลองสังเกตตัวเองดู อันนี้เป็นประเด็นแรกคือ ที่เขาไม่ไปพบแพทย์อาจเพราะความไม่รู้
หรือบางคนรู้ แต่ไม่อยากไปพบแพทย์เพราะอาย กลัวมีคนเห็น เราก็พยายามทำมาตลอดให้ลดการตีตราตรงนี้ ผมจะบอกเสมอนะว่า ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือเครียด ก็เหมือนหวัดทางใจที่เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น เวลาคุณเป็นหวัดทางกายคุณไปหาหมอ คุณเป็นหวัดทางใจก็ไปพบหมอหรือคุยกับนักจิตวิทยาได้ เดี๋ยวก็หาย
ตอนนี้สถานการณ์ในสังคมมีความตึงเครียดหลายอย่าง คุณมีคำแนะนำไหมว่า ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะดูแลจิตใจของตนเองและคนอื่นได้อย่างไรบ้าง
ในมุมการดูแลตัวเอง อย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า กายกับใจสัมพันธ์กัน ถ้าเราอยากดูแลสุขภาพใจก็เริ่มที่กายก่อนก็ได้ เวลาเครียดหรือไม่สบายใจอาจจะเริ่มจากการกิน นอน ให้ได้ จัดการกิจวัตรประจำวันให้ได้ก่อน
การนอนนี่สำคัญมาก โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาความเครียดหรือซึมเศร้า ซึ่งจะมีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไปอยู่แล้ว การนอนไม่หลับจะทำให้ตื่นเช้ามาแล้วไม่มีแรง ควบคุมอารมณ์ได้ยาก ส่งผลกับการจัดการความเครียดด้วย
การออกกำลังกายก็สำคัญ มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยซึมเศร้าไปออกกำลังกาย หรือเวลาบำบัด ผมจะใช้คำว่า behaviour activation คือเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวก ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่แค่ออกกำลังกาย แต่ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข
เรื่องความเครียดก็มีเทคนิคการจัดการความเครียดอยู่ เช่น การฝึกหายใจคลายเครียด เรียกว่า relaxation technique แค่หายใจเฉยๆ ก็ช่วยได้แล้ว เพราะเวลาเราเศร้าหรือกังวล เราก็จะคิดเรื่องนั้นวนๆ ไป ยิ่งคิดก็ยิ่งกลัว ยิ่งกังวล บางคนคิดจนปวดหัว เรียกได้ว่ามันเป็นวงจรกัน แต่ถ้าเราตัดวงจรเหล่านี้ได้ด้วยการปรับพฤติกรรมก็จะทำให้ความคิดลดลง ความกังวลและความเศร้าก็ลดลงตาม
ส่วนถ้าเป็นการดูแลคนอื่น เวลาเห็นคนรอบตัวดูเศร้าๆ เครียดๆ ควรทำอย่างไร ผมให้ความสำคัญกับการฟังอย่างตั้งใจนะ ฟังความรู้สึกเขา แค่นั้นพอแล้ว ลองฟัง หยุด ฟังเขาโดยไม่พูดอะไรตอบไป หรือถ้าพูดก็พูดแค่สะท้อนความรู้สึกเขา เท่านี้ก็มีพลังมากพอจะช่วยใครสักคนแล้ว
หมายเหตุ: เรียบเรียงจากรายการ 101 One-On-One Ep.209 | เจาะ (สุขภาพ) จิต กับ ธนกฤษ ลิขิตธรากุล (ออกอากาศวันที่ 29 มกราคม 2021) และมีการสัมภาษณ์เพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการบำบัดสุรา
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm