เจาะสุขภาพจิตและปัญหาในขวดสุรา กับ ธนกฤษ ลิขิตธรากุล

June 9, 2021


ในปัจจุบัน ประเด็นเรื่อง ‘สุขภาพจิต’ กลายเป็นประเด็นที่ถูกตระหนักถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่สถานการณ์หลายๆ อย่างมีความผันผวนและแหลมคม สั่งสมจนจิตใจของใครหลายคนเจ็บป่วย ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจและใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพจิตของตนและคนรอบข้างมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มีความเข้าใจผิด หรือละเลยประเด็นสุขภาพจิตบางอย่างไป ทั้งปัญหาสุขภาพจิตในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ โรคซึมเศร้า หรือประเด็นสารเสพติดและพฤติกรรมเสพติด เช่น การติดสุรา ยิ่งก่อเกิดเป็นความไม่เข้าใจและเหมือนยิ่งจะผลักไสคนที่ต้องเจ็บป่วยทางจิตใจออกไปให้มากขึ้น การจะเยียวยาหัวใจที่เจ็บปวดของคนๆ หนึ่งจึงไม่ได้อาศัยแค่ความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างความเข้าใจให้คนรอบข้างในการช่วยกันประคับประคองจิตใจของคนๆ หนึ่งด้วย

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนอ่านทัศนะบางส่วนของ ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สนทนากันถึงสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย ทำความเข้าใจประเด็นด้านสุขภาพจิตบางอย่างที่อาจถูกละเลยหรือเข้าใจผิด รวมถึงสนทนาเกี่ยวกับปัญหาในขวดสุรา

อ่านบทสัมภาษณ์ธนกฤษ ลิขิตธรากุล ฉบับเต็มได้ ที่นี่

 

:: ข้อดีของความเครียด ::

 

 

คุณพูดถึงเรื่องความเครียด ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเจออยู่ทุกวัน แล้วเรามีวิธีแยกไหมว่า นี่คือความเครียดปกติ เรายังรับมือได้อยู่ หรือถึงจุดไหนที่เราอาจจะต้องไปพบหรือคุยกับใครสักคนเพื่อขอความช่วยเหลือแล้ว

คนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องความเครียดมามากจะคิดว่าความเครียดเป็นเรื่องไม่ดีหรือถึงขั้นแย่ แต่ถ้าเรามาดูจริงๆ ความเครียดก็มีข้อดีนะ เช่น คนเครียดจะทำให้เกิดความกระตือรือร้น (active) เพราะต้องหาเงิน เดี๋ยวสิ้นเดือนไม่มีจ่าย ตรงนี้อาจจะมองเป็นข้อดีได้ ส่วนถ้าคนเครียดน้อยก็อาจจะเฉื่อย ไม่ค่อยอยากทำอะไร ดูง่ายๆ สมมติเราได้รับงานมาชิ้นหนึ่งให้ส่งปลายเดือน ต้นเดือนก็อาจจะสบายๆ ไม่ได้กระตือรือร้นมากเพราะยังไม่กดดัน แต่พอใกล้ๆ ปลายเดือน เห็นเดตไลน์มาแล้ว เดตไลน์ก็จะเป็นตัวกระตุ้นหรือที่ทางจิตวิทยาเรียกว่า stressor คือกระตุ้นให้เราเกิดความเครียด พอเครียดก็ต้องรีบทำงาน

ดังนั้น ความเครียดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าเราเครียดมากเกินไปจะสังเกตได้จากอาการทางร่างกายเลย เช่น เริ่มกินไม่ค่อยลง นอนไม่ค่อยได้ อะไรที่เราเคยทำแล้วมีความสุขก็กลายเป็นไม่มีความสุข ไม่ค่อยอยากออกไปไหน ไม่ค่อยอยากทำอะไร นี่อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าคุณต้องเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาแล้ว

 

:: มุมมองต่อการดื่มสุรา ::

 

 

ถ้าเป็นเรื่องสุรา หลายคนมักจะบอกว่าไม่ควรให้เด็กดื่มเลย แต่บางคนก็มองว่าครอบครัวหรือผู้ใหญ่ไม่ควรปิดกั้น แต่ควรให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง คุณมองความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันนี้อย่างไร

ครอบครัวมีส่วนต่อพฤติกรรมของเด็ก ถ้าเป็นเรื่องสุราจะพบเลยว่า คนในครอบครัวบางคนมีพฤติกรรมดื่มสุราอยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าถามว่าควรหรือไม่ควรให้ดื่ม หรือสอนไปด้วยดื่มไปด้วย บอกตรงๆ ผมคิดว่าน่าจะตอบยาก เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นกับบริบทของแต่ละครอบครัว

แต่ถ้าเราคิดง่ายๆ มาลองดูข้อดีข้อเสียของการดื่ม อาจจะต้องตัดสินว่า ถ้าจะให้ลูกเริ่มดื่มจะมีข้อดีข้อเสียยังไง ถ้าไม่ให้ดื่มเลยจะเป็นยังไง เอามาชั่งน้ำหนัก ตรงนี้ผมคงตัดสินไม่ได้ แต่ก็พบนะว่า ถ้าพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่างโดยไม่ดื่มเลย โตมาเด็กก็ไม่ดื่ม หรือถึงดื่มก็ดื่มแบบไม่ติด เพราะเขาไม่ได้มองว่าเหล้าเป็นเรื่องที่คุ้นชินกับเด็ก หรือถ้าดื่มก็ดื่มแบบรับผิดชอบตัวเอง

ปัจจุบันถามว่าจะห้ามไม่ให้ดื่มเลยได้ไหม ผมว่าเป็นไปได้ยาก เราอาจจะลองตั้งคำถามใหม่มากกว่า จะทำยังไงให้เด็กมีความรับผิดชอบ หรือคนดื่มมีความรับผิดชอบต่อการดื่มของตนมากขึ้น เราคงไม่พูดหรอกว่าดื่มเหล้าไม่ดียังไง เพราะคนรู้กันเยอะแยะแล้ว แต่ถ้าจะดื่ม ดื่มยังไงให้ไม่เดือดร้อนตัวเองและคนอื่น ตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่า

 

:: รู้จักสื่อสาร-เคารพสิทธิคนอื่น ::

 

 

เท่าที่ฟังดู เหมือนการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากในประเด็นที่เกี่ยวกับสุรา แต่ถ้าเราลองดูการสื่อสารของคนในระบบสุขภาพ จะเห็นว่าหลายครั้งที่การสื่อสารออกไปในลักษณะตีตราคนติดเหล้า เช่น มองว่าจน ขี้เกียจ จึงเลือกดื่มเหล้า ทั้งที่จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ซับซ้อนกว่านั้นซ่อนอยู่ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญครับ ถ้าเราบอกว่า จนและเครียดจึงเลือกดื่มเหล้า ผมมองว่าคนสื่อสารก็พยายามหาทางแก้ปัญหาแหละว่า การไปดื่มเหล้าไม่ได้ช่วยให้ปัญหาคุณดีขึ้น คือระยะสั้นอาจจะช่วยให้ลืม แต่ระยะยาวช่วยไม่ได้

เพราะฉะนั้น การสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ สอนให้ปฏิเสธเป็น หรือบอกให้คนอื่นเคารพสิทธิของคนที่เลือกจะไม่ดื่มด้วย หรือถ้าเป็นคนดื่ม ดื่มอย่างไรให้รับผิดชอบ เรารู้ว่าปัจจุบันการห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าเป็นเรื่องยาก เราจึงต้องดื่มแบบรู้ลิมิตของตัวเอง อันนี้น่าจะสำคัญกว่า

 

:: กลับมาดื่มซ้ำ ≠ ล้มเหลว ::

 

 

คิดว่าอะไรเป็นหัวใจสำคัญในการสื่อสารเรื่องบำบัดสุรา หรือทำให้คนอยากเข้ามารับการบำบัดสุรามากขึ้น

ในแง่การบำบัด เรามองว่าทุกพฤติกรรมเรียนรู้ได้ เป็นได้ก็หยุดได้ ไม่ว่าจะแย่แค่ไหน แต่อย่าลืมว่ามันก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเช่นกัน เพราะฉะนั้น อย่าหมดกำลังใจไป ลองคิดว่าคุณดื่มมา 5-6 ปี จะหยุดภายใน 6 เดือน มันมีโอกาสกลับไปดื่มซ้ำอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คนที่เลิกไม่ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะเขาหมดหวัง มองว่าเลิกได้ 6 เดือนก็กลับมาดื่มอีกแล้ว เลยไม่อยากเลิกดื่มแล้ว

ผมเลยอยากจะบอกว่า ถ้ากลับมาเป็นซ้ำก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องหมดกำลังใจ เปลี่ยนใหม่เริ่มใหม่ได้เรื่อยๆ การกลับมาดื่มซ้ำไม่เท่ากับคุณล้มเหลว มันเหมือนคุณเดินขึ้นบันไดมาหลายๆ ขั้น แล้วนี่ก็แค่ย้อนกลับไปขั้นเดียวเอง ไม่ได้หมายความว่ากลับไปเริ่มที่ขั้นแรกเสียเมื่อไหร่

 

:: เริ่ม ‘ฟัง’ อย่างตั้งใจ ::

 

 

ตอนนี้สถานการณ์ในสังคมมีความตึงเครียดหลายอย่าง คุณมีคำแนะนำไหมว่า ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะดูแลจิตใจของตนเองและคนอื่นได้อย่างไรบ้าง

ในมุมการดูแลตัวเอง อย่างที่ผมพูดไปแล้วว่า กายกับใจสัมพันธ์กัน ถ้าเราอยากดูแลสุขภาพใจก็เริ่มที่กายก่อนก็ได้ เวลาเครียดหรือไม่สบายใจอาจจะเริ่มจากการกิน นอน ให้ได้ จัดการกิจวัตรประจำวันให้ได้ก่อน

การนอนนี่สำคัญมาก โดยเฉพาะในคนที่มีปัญหาความเครียดหรือซึมเศร้า ซึ่งจะมีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไปอยู่แล้ว การนอนไม่หลับจะทำให้ตื่นเช้ามาแล้วไม่มีแรง ควบคุมอารมณ์ได้ยาก ส่งผลกับการจัดการความเครียดด้วย

การออกกำลังกายก็สำคัญ มีงานวิจัยที่ให้ผู้ป่วยซึมเศร้าไปออกกำลังกาย หรือเวลาบำบัด ผมจะใช้คำว่า behaviour activation คือเพิ่มพฤติกรรมเชิงบวก ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่แค่ออกกำลังกาย แต่ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข

เรื่องความเครียดก็มีเทคนิคการจัดการความเครียดอยู่ เช่น การฝึกหายใจคลายเครียด เรียกว่า relaxation technique แค่หายใจเฉยๆ ก็ช่วยได้แล้ว เพราะเวลาเราเศร้าหรือกังวล เราก็จะคิดเรื่องนั้นวนๆ ไป ยิ่งคิดก็ยิ่งกลัว ยิ่งกังวล บางคนคิดจนปวดหัว เรียกได้ว่ามันเป็นวงจรกัน แต่ถ้าเราตัดวงจรเหล่านี้ได้ด้วยการปรับพฤติกรรมก็จะทำให้ความคิดลดลง ความกังวลและความเศร้าก็ลดลงตาม

ส่วนถ้าเป็นการดูแลคนอื่น เวลาเห็นคนรอบตัวดูเศร้าๆ เครียดๆ ควรทำอย่างไร ผมให้ความสำคัญกับการฟังอย่างตั้งใจนะ ฟังความรู้สึกเขา แค่นั้นพอแล้ว ลองฟัง หยุด ฟังเขาโดยไม่พูดอะไรตอบไป หรือถ้าพูดก็พูดแค่สะท้อนความรู้สึกเขา เท่านี้ก็มีพลังมากพอจะช่วยใครสักคนแล้ว

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles