ประเทศไทยสูญเสียเงินเพราะการดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยปีละ 8.5 หมื่นล้านบาท
ประเทศไทยสูญเสียรายได้กว่า 8.1 หมื่นล้านบาท เพราะเหล้าทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ประเทศไทยสูญเสียเงินค่ารักษาพยาบาลโรคที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ย 2.5 พันล้านบาทต่อปี
และข้อเท็จจริงอื่นๆ อีกมากมายที่ ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบจากการทำงานวิจัยเรื่องการประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยประจำปี พ.ศ. 2560 แสดงให้เห็นว่าการดื่มเหล้าอาจไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลอีกต่อไป
ในเมื่อค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม หรือกระทั่งค่าเสียหายจากอุบัติเหตุยานยนต์ซึ่งเกิดจากคนดื่มเหล้าล้วนก่อ ‘ต้นทุน’ ที่ประเทศต้องจ่ายเพื่อให้สังคมดำรงอยู่ และในขณะเดียวกัน เหล้ายังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จนประเทศต้องสูญเสียเม็ดเงินมูลค่ามหาศาลจากการขาดกำลังแรงงานพัฒนาเศรษฐกิจ
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “ถ้าคุณดื่มเหล้าจนป่วย คุณกำลังสร้างความเดือดร้อนต่อประเทศ” อีกทั้งยังสร้างความเสียใจแก่บุคคลรอบข้างซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่อาจประเมินมูลค่าได้
ในฐานะนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ผศ.ดร.ธัชนันท์ ตระหนักว่าผลกระทบจากการดื่มเหล่านี้ “เป็นต้นทุนสำคัญที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น” ทำให้เธอเริ่มต้นทำงานวิจัยเรื่องการประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ปี 2554 และปรับปรุงข้อมูลเรื่อยมาจนถึงงานวิจัยชิ้นปัจจุบันเพื่อสร้างหลักฐานเชิงประจักษ์แก่สังคม (อ่านงานวิจัยปีล่าสุดได้ ที่นี่)
กระนั้น การทำวิจัยเองก็มีอุปสรรคหลายด้าน เช่น ความครบถ้วนของข้อมูล ความซับซ้อนด้านพฤติกรรมการดื่มและโรค เป็นต้น Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงชวน ผศ.ดร.ธัชนันท์ โกมลไพศาล สนทนาถึงข้อจำกัดของการทำวิจัย ข้อสังเกตที่น่าสนใจ และความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มในอนาคต
อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายแนวคิดเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่เป็นหัวใจหลักของงานวิจัยชิ้นนี้
เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่กว้างมากและสามารถเชื่อมโยงได้หลายประเด็น เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเป็นการเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นเรื่องต้นทุนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล ที่เข้าใจกันทั่วไปคือเรื่องประเมินความคุ้มค่า (cost effectiveness) ความคุ้มทุน หรือมูลค่าต้นทุนของการรักษาพยาบาลด้วยวิธีการต่างๆ แต่ในต่างประเทศ เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจะเป็นการสำรวจพฤติกรรมของคนในการใช้บริการด้านสุขภาพ (Healthcare Utilization) มาแปลงเป็นโมเดลเพื่อศึกษาร่วมกับหลักสถิติหรือเศรษฐมิติ หากเป็นการประเมินต้นทุน จะนับว่าเป็นสาธารณสุขศาสตร์ (Public Health) มากกว่า ไม่เหมือนกับความเข้าใจในไทย
สำหรับงานวิจัยด้านแอลกอฮอล์ของอาจารย์เป็นการประยุกต์จากเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขในแง่การคำนวณต้นทุนทั้งหมดของโรคบางโรค หรือ cost of illness โดยการศึกษาทั่วไปอาจจะดูแค่โรคเดียว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หรือหลอดเลือดสมอง ประเมินต้นทุนออกมาดูว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อระบบสาธารณสุขเท่าไร แต่เมื่อเป็นเรื่องเหล้า จำเป็นต้องพิจารณาหลายด้าน โดยเราประเมินต้นทุนจากการตีความว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่คำนวณได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากการดื่มเหล้า ด้วยการหางานวิจัยอื่นมาประกอบกัน
การประเมินต้นทุนในงานวิจัยของอาจารย์หลักๆ มี 2 ประเภท คือต้นทุนผลกระทบต่อสังคมทางตรงและทางอ้อม ต้นทุนทางตรงคือค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการจ้างตำรวจ การดำเนินการในศาล ส่วนต้นทุนทางอ้อมเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งไม่ได้มีการจ่ายเกิดขึ้นจริง เช่น การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการขาดงาน เรามองว่าถ้าคุณทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เพราะเหล้า แสดงว่ามันเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งที่เหล้าสร้างต่อสังคมด้วย
ทำไมอาจารย์ถึงเลือกทำงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นแอลกอฮอล์
มีคนทำงานประเมินต้นทุนทางด้านนี้น้อย เพราะเป็นประเด็นที่คนไม่ค่อยสนใจ และเผอิญว่ามีอาจารย์ที่รู้จักมาชวนว่าลองทำดูไหม เราดูแล้วก็ว่าน่าสนใจ เพราะคนอาจจะมองว่าต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากเหล้าหรือบุหรี่มีไม่เยอะ แต่เมื่อไปศึกษา ทำการทบทวนวรรณกรรม (Review Literature) อาจารย์พบว่ามีต้นทุนเยอะมากที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็มีแนวทาง (guideline) ระบุชัดเจนว่าถ้าต้องการประเมินต้นทุนผลกระทบด้านนี้มีวิธีการอย่างไรบ้าง และที่น่าสนใจคือวิธีการนี้นำไปประยุกต์ในแต่ละประเทศได้ไม่เหมือนกัน เพราะบางประเทศมีข้อมูลที่ต้องใช้ครบถ้วน ขณะที่บางประเทศอาจไม่ครบ ฉะนั้น จึงเป็นทักษะ (Skill) ของนักวิจัยที่ต้องหาทางก้าวข้ามข้อจำกัดด้านข้อมูล และสร้างข้อสันนิษฐาน (Assumption) เพื่อให้ได้ตัวเลขใกล้เคียงความจริงที่สุด ดังนั้น เราก็อยากรู้ว่าตัวเลขต้นทุนของประเทศไทยเป็นเท่าไร
อาจารย์เริ่มทำงานวิจัยเรื่องนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2554 จนล่าสุดเป็นงานวิจัยประเมินต้นทุนปี 2560 ก่อนหน้านี้ มีอาจารย์มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเคยทำไว้เช่นกัน แต่ผ่านมาหลายปี เราก็คิดว่าควรจะอัปเดตได้แล้ว และเราเห็นว่าการเก็บข้อมูลของประเทศไทยดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ตัวเลขใหม่ที่ประเมินได้น่าจะมาจากข้อมูลที่ค่อนข้างถูกต้องและครบถ้วนมากขึ้นกว่าเดิม
จากการทำงานวิจัยประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2554 มาถึงปี 2560 อาจารย์พบว่าความยากของการทำวิจัยเรื่องนี้คืออะไร
ส่วนตัวมองว่าข้อมูลงานวิจัยพื้นฐานสำหรับการประเมินต้นทุนของไทยยังไม่สมบูรณ์มากเพียงพอ มีข้อจำกัดด้านข้อมูลเยอะ ข้อมูลบางตัวไม่มีหรือมีไม่ครบ ตัวอย่างเช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดจากคนดื่มเหล้าเมาแล้วก่อคดี เมาแล้วข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ปล้น จี้ สิ่งเหล่านี้เราถือว่าสร้างค่าใช้จ่ายต่อระบบส่วนรวม เกิดต้นทุนต่อสังคมทั้งหมด เพราะแทนที่เราจะจ้างตำรวจเพื่อไปจับคนร้ายในคดีอื่นก็ต้องมาจับคนเมาไปดำเนินกระบวนการต่างๆ ในศาล แต่ความยากคือไม่ใช่ทุกคดีที่ข่มขืน ปล้น จี้ จะมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ดังนั้นถ้าต้องประเมินว่าต้นทุนที่จ้างตำรวจในการดูแลคดีที่เกิดจากการดื่มในแต่ละปีมีกี่บาท ก็ต้องมีงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลว่าคดีความจำนวน 100 คดี มีกี่คดีที่เกิดจากคนกินเหล้า ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยยังไม่มี หรือมีมานานมากแล้ว คงไม่น่าใช้ได้ในปัจจุบัน
ต้นทุนค่าใช้จ่ายอีกด้านที่อาจารย์ประเมินคือต้นทุนค่ารักษาพยาบาลโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ซึ่งต้องอาศัยงานวิจัยทางระบาดวิทยาจากคุณหมอเพื่อดูว่าแต่ละโรค มีคนป่วยจากการดื่มเหล้ามากน้อยแคไหน ตรงนี้ในไทยก็ไม่มีเช่นกัน ในขณะที่ต่างประเทศมีงานวิจัยด้านนี้จำนวนมาก จึงมีตัวเลขที่สามารถใช้อ้างอิงได้ อาจารย์เองก็ต้องใช้เลขจากต่างประเทศมาสนับสนุนงานวิจัย หากถามว่ามันเหมาะสมหรือตรงกับสถานการณ์ของประเทศไทยไหม คงเรียกได้ว่าไม่ชัดเจน เพราะพฤติกรรมการกินเหล้าของคนไทยและต่างชาติไม่เหมือนกัน
สำหรับงานวิจัยของอาจารย์ในปี 2554 ประเมินต้นทุนผลกระทบทางสังคมก็ได้ตัวเลขออกมาค่อนข้างน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะข้อมูลการเสียชีวิตของคนในประเทศไทยยังไม่ครบถ้วนพอจะคำนวณต้นทุนที่เกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้อย่างถูกต้อง หลายคนที่เสียชีวิตไม่ได้ไปจดใบมรณบัตร หรือเสียชีวิตแล้วไม่ได้ระบุสาเหตุที่ถูกต้องชัดเจน เราจึงระบุไม่ได้ว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคตับแข็ง มะเร็งตับ หรือโรคที่เชื่อมโยงไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์ได้มีกี่คนอาจารย์เพิ่งทราบว่าทางโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) มีการสำรวจและเก็บข้อมูลการเสียชีวิตที่ค่อนข้างครบถ้วน และมีการปรับตัวเลขแล้ว อาจารย์เองก็คิดว่าถ้าต้องมีการคำนวณอีกคงต้องใช้ข้อมูลจากทาง HITAP แต่ก็มีข้อจำกัดว่าตัวเลขไม่ได้มีการเผยแพร่ในทุกปี
ดังนั้น แม้งานวิจัยชิ้นนี้จะทำได้สำเร็จ เป็นที่ยอมรับ แต่เราต้องตระหนักถึงข้อจำกัดด้านข้อมูลว่าผลลัพธ์ที่ได้ในบางประเภทต้นทุนอ้างอิงจากงานวิจัยเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว และคำนวณข้อมูลจากหลายแหล่ง และตัวเลขหลายตัวมาจากการสันนิษฐาน ในฐานะนักวิจัย เราก็อยากให้มีคนทำวิจัยเรื่องจำนวนคดีความหรือระบาดวิทยามากขึ้น จะได้เป็นพื้นฐานต่อยอดงานวิจัยของคนอื่นๆ ต่อไปได้
งานวิจัยของอาจารย์ฉบับปี 2554 มีการทบทวนวรรณกรรมจากงานวิจัยต่างประเทศ คือ แคนาดา สกอตแลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศเหล่านั้นมีความน่าสนใจอย่างไร
ประเทศเหล่านี้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สำรวจและประเมินต้นทุนจากเหล้า บุหรี่ การพนัน และสิ่งเสพติดต่างๆ รวมถึงวิจัยเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของโครงการรณรงค์เรื่องพฤติกรรมเสพติดแต่ละโครงการ หน่วยงานเหล่านี้มีทีมงานหลายคน ช่วยกันผลิตงานวิจัยเพื่อสนับสนุนฐานข้อมูลรายงานประจำปีของหน่วยงาน ในรายงานเองก็มีข้อมูลพื้นฐานค่อนข้างครบถ้วน เป็นประโยชน์
งานวิจัยทางการแพทย์และระบาดวิทยาส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศเหล่านี้ ที่แคนาดามีนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับว่าถ้าอยากได้ตัวเลขทางด้านนี้ ต้องอ้างอิงจากงานของคนนี้เท่านั้น ฝั่งสกอตแลนด์มีหน่วยงานชื่อว่า Social Research Center ทำงานวิจัยทุกประเด็นที่เกี่ยวกับสังคมและทำรายงานออกมาเป็นรายปี ออสเตรเลียเองก็มีหน่วยงานด้านนี้ และมีอาจารย์ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการเสพติดหลายท่าน
ในไทยยังไม่มีหน่วยงานทำการวิจัยอย่างชัดเจน มีแค่งานของอาจารย์มณทรัตม์ที่ใช้อ้างอิงได้ ซึ่งงานของอาจารย์ท่านทำไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ มีระเบียบวิธีการคำนวณชัดเจน แต่เราต้องการเปรียบเทียบกับวิธีการของประเทศอื่นด้วย จึงนำงานวิจัยจากต่างประเทศมาร่วมศึกษา สิ่งที่พบคือมีข้อมูลที่จำเป็นค่อนข้างมาก และต้องมีการตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาหลายข้อ
เราสามารถเปรียบเทียบต้นทุนที่ประเทศไทยต้องสูญเสียไปกับการดื่มแอลกอฮอล์กับต้นทุนของต่างประเทศได้ไหม
เราไม่สามารถเปรียบเทียบได้โดยตรง อาจจะต้องดูแหล่งข้อมูลซึ่งแต่ละที่นำมาใช้อีกที เพราะแหล่งข้อมูลต่างกัน ก็ทำให้ตัวเลขที่ได้ต่างกัน อย่างงานวิจัยในต่างประเทศมีข้อมูลที่นำมาคิดคำนวณหลากหลายกว่าไทย เช่น ประเทศไทยจะไม่คำนวณต้นทุนจากการทำวิจัยศึกษาปัญหาหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ การทำโครงการรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ต่างประเทศนำมาคำนวณเนื่องจากคิดว่าเป็นต้นทุนของสังคมชนิดหนึ่ง หรือบางประเทศที่มีสวัสดิการ (welfare service) เช่น ถ้าเกิดในบ้านมีพ่อหรือแม่ติดเหล้าอย่างหนัก ต้องเอาลูกไปอยู่สถานรับเลี้ยง เขาก็ถือว่าเป็นต้นทุน ซึ่งในไทยไม่มี ก็ทำให้รายละเอียดข้อมูลหรือตัวเลขของเขามีมากกว่าของเรา
นอกจากนี้ยังมีบริบททางสังคมอื่นๆ ที่ทำให้เปรียบเทียบกันได้ยาก ในไทย สิ่งที่เราเจอกันมากคือการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการจราจรทางบก ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะมาจากการดื่มเหล้า ในขณะที่เมืองนอก อุบัติเหตุการจราจรทางบกจากการดื่มเหล้าของเขาน้อย เพราะกฎหมายค่อนข้างรุนแรง ขณะที่ในไทยไม่ได้รุนแรงเท่าเขา
ถ้าต้องการเปรียบเทียบจริงๆ ส่วนใหญ่เขาจะเทียบกับ GDP โดยเอามูลค่าของต้นทุนที่เสียไปหารด้วย GDP ของประเทศ ดูว่านับเป็นกี่เปอร์เซ็นต์แล้วค่อยเปรียบเทียบกัน
อาจารย์มองเห็นพฤติกรรมการดื่มที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมันส่งผลต่อสังคมอย่างไรในแง่เศรษฐศาสตร์
เท่าที่เห็นคือมีคนที่มีพฤติกรรมดื่มหนัก (binge drinking) มาก ผู้หญิงเริ่มดื่มมากขึ้น และคนเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุยังน้อย
เมื่อคนเริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะเป็นโรคที่เกิดจากการดื่มเหล้าเร็วขึ้น และเมื่อเป็นโรคเร็วขึ้น สุดท้ายจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทย ผู้หญิงอยู่ที่ประมาณ 79 ปี และผู้ชายอยู่ที่ 72 ปี ถ้าสมมติเสียชีวิตด้วยโรคตับแข็งจากการดื่มเหล้าตอนอายุ 30 ปี เวลาที่หายไปในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นต้นทุนที่คุณก่อแก่สังคม เพราะเวลาตรงนั้น คุณควรจะทำงานให้ประเทศได้ในรูปของ GDP หรืออื่นๆ คุณอาจจะเป็นส่วนเล็กๆ แต่คุณก็มีส่วน แต่เมื่อคุณเสียชีวิตไปแล้วมันก็หายไป กลายเป็นเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสที่คุณก่อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติอย่างมหาศาลแทน ซึ่งต้นทุนตรงนี้เป็นต้นทุนที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยสนใจ เพราะในแง่หนึ่ง มีแต่นักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นที่มองมันเป็นต้นทุน เป็นค่าเสียโอกาสของสังคม ถ้าเป็นศาสตร์อื่นอาจจะไม่ได้มองว่าเป็นต้นทุนเพราะไม่มีค่าใช้จ่ายออกมาเป็นตัวเงิน
เราจะประเมินอย่างไรว่าถ้าเราเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการดื่มเหล้าก่อให้เกิดความสูญเสียนับเป็นเงินมูลค่าเท่าไร
เรามีการประเมินหลักๆ 3 วิธี วิธีแรกเรียกว่า Human Capital คือการนำรายได้ของคนๆ นั้นตั้งแต่เริ่มทำงานถึงตอนเกษียณว่าจะสูญเสียเงินเท่าไรหากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยอาจประมาณคร่าวๆ จากข้อมูลรายได้ต่อปีของคนว่าเริ่มทำงานตั้งแต่อายุสัก 25 ปี มีรายได้ประมาณ 100,000 ต่อปี มีอัตราการเติบโตรายได้ต่อปีเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเลิกทำงานตอนอายุ 60 รวมรายได้ในอนาคตแล้วตีเป็นมูลค่าปัจจุบัน รวมกันได้ตัวเลขกลมๆ เลขหนึ่งว่ามูลค่าที่คุณสามารถสร้าง (contribute) ให้แก่สังคมตั้งแต่คุณเริ่มทำงานเป็นเท่าไร จากที่อาจารย์เคยทำ มูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านบาทต่อคนสำหรับคนที่เริ่มทำงานอายุสัก 20 ปี นี่เป็นวิธีที่นักวิจัยส่วนใหญ่ใช้ เพราะง่าย
อีกวิธีหนึ่งเรียกว่าวิธี Contingent Valuation ซึ่งใช้แบบสอบถาม ถามว่าคนยินดีจ่ายเงินเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตกี่บาท แล้วประเมินออกมาเป็นตัวเลข วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันในเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินมูลค่าชีวิตคน แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้ เป็นเพียงความยินดีจ่าย ดังนั้นก็อาจจะไม่ได้สะท้อนมูลค่าชีวิตคนจากการทำงาน
วิธีสุดท้ายคือ Revealed Preference เป็นการดูว่าถ้าทำงานอาชีพต่างกัน อัตราความเสี่ยงต่างกัน รายได้จะต่างกันเท่าไร และประเมินออกมาเป็นตัวเลขว่ามูลค่าชีวิต 1 ชีวิตในตลาดจะเป็นเท่าไร ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้วิธีนี้คำนวณมูลค่าชีวิตของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (premature mortality) ซึ่งตีออกมาได้ว่ามูลค่าอยู่ที่ 2-9 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อ 1 ชีวิต แต่ตัวเลขจากวิธีนี้ก็อาจไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงว่าคุณทำงานหาเงินให้ประเทศได้เท่าไร ในงานวิจัยส่วนมากจึงใช้วิธีแรก คือ Human Capital ในการประเมินมูลค่าเวลาคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งในงานวิจัยของอาจารย์เองก็เช่นกัน
การคำนวณมูลค่าชีวิตแบบนี้อาจเห็นภาพรวมในระดับมหภาค มีวิธีการใดไหมที่เราจะเห็นมูลค่าชีวิตในระดับจุลภาค เช่น มูลค่าที่หนึ่งครอบครัวต้องสูญเสียไปเมื่อมีคนเสียชีวิตจากการดื่มเหล้า
ถ้าเป็นต้นทุนต่อสังคม งานวิจัยที่คำนวณหาข้อมูลในระดับมหภาคอย่างที่อาจารย์ทำเรียกว่า Prevalence based แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ได้ข้อมูลในระดับจุลภาคเรียกว่า Incident based เป็นการศึกษาว่าชีวิตคนหนึ่งคน ตั้งแต่ติดเหล้าจนถึงเสียชีวิต ก่อให้เกิดต้นทุนต่อสังคมเท่าไร ซึ่งมีกระบวนการคำนวณไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจะคำนวณได้ว่าถ้าครอบครัวหนึ่งมีคนติดเหล้า 3 คน คูณเลขเข้าไปก็จะได้ผลลัพธ์ว่านับเป็นต้นทุนต่อสังคมกี่บาท
แต่ความยากของงานวิจัยแบบ Incident based คือต้องใช้สมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมคนค่อนข้างเยอะ เพราะคนคนหนึ่งตั้งแต่ติดเหล้าถึงเลิกเหล้าก็มีโอกาสที่เขาอาจจะเสียชีวิตก่อนเลิกเหล้าได้ หรือเลิกแล้วกลับไปติดอีก มีความไม่แน่นอนเยอะมาก จึงถือว่าเป็นงานยากเช่นกัน
ถ้าเป็นต้นทุนต่อครอบครัวในแง่สภาพจิตใจ ต้นทุนตรงนั้นคงไม่สามารถประเมินได้ และอาจารย์ยังไม่เคยเห็นงานวิจัยใดประเมินต้นทุนต่อสภาพจิตใจของครอบครัวเมื่อสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตจากการดื่มเหล้ามาก่อน มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า Intangible Cost
ด้านการคำนวณต้นทุนค่ารักษาพยาบาล อาจารย์ได้สำรวจหรือไม่ว่ากลุ่มนักดื่มเพศใดมีค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาโรคสูง
ในกระบวนการทำวิจัยของอาจารย์จะมีการตีค่า AAF หรือ Alcohol-Attributable Fractions เพื่อหาว่าโรคต่างๆ เช่น มะเร็งตับ ตับแข็ง มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ในการคำนวณ AAF ใช้ข้อมูล 2 ตัว คือข้อมูลด้านระบาดวิทยาและอัตราความชุกในการดื่ม สิ่งที่เราเจอคือ AAF ของผู้ชายเยอะกว่าผู้หญิง เพราะมีอัตราการดื่มเยอะกว่า จึงทำให้ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลระหว่างเพศชายและหญิงต่างกันแน่นอน ด้วยวัฒนธรรมและความเชื่อของสังคมหลายเรื่องที่ทำให้ผู้ชายมีอิสระมากกว่า ผู้หญิงดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่แล้วจะดูไม่ดี อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของอาจารย์สังเกตได้ว่าผู้หญิงเริ่มดื่มเหล้าเยอะขึ้น ภาพผู้หญิงดื่มเหล้าไม่ได้ดูเลวร้ายเท่าเมื่อก่อน มีการยอมรับมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว
อีกจุดหนึ่งที่อาจารย์คิดว่าน่าสนใจคือช่วงอายุของนักดื่ม เพราะช่วงอายุ 25-30 หรือ 35-40 ปี อัตราความชุกเกี่ยวกับการดื่มเหล้าจะสูงมาก แต่พอสัก 50-60 ปีจะลดลงเพราะเริ่มเป็นโรค หมายความว่า AAF อาจจะเริ่มลดลงตามอายุ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องศึกษากันต่อไป
ถ้าเรามีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ดีขึ้น ระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ทำให้คนเสียชีวิตน้อยลง จะทำให้ต้นทุนผลกระทบต่อสังคมของเรามีการเปลี่ยนแปลงไหม
อย่างไรก็มีต้นทุนอยู่ดี แล้วแต่ว่าจะไปเพิ่มขึ้นตรงส่วนไหน และมันยากตรงที่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เราต้องนำเข้า ดังนั้นแนวโน้มต้นทุนก็อาจจะสูงขึ้น
แม้คนจะเสียชีวิตน้อยลง แต่ถ้าต้องมีการรักษาพยาบาลมากขึ้นก็เป็นปัญหาอยู่ดี เพราะระบบสวัสดิการด้านสุขภาพของไทยคือนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นการใช้ภาษีของประชาชน แปลว่าการที่คุณไม่สบายเพราะเหล้าแล้วไปหาหมอ มันเป็นการใช้ภาษีคนอื่นมารักษาตัวเองอยู่ ถ้าเป็นต่างประเทศอย่างอเมริกาที่บังคับให้คุณต้องจัดการจ่ายค่ารักษาเองทั้งหมด ไม่มีสวัสดิการรัฐ ก็อาจไม่มีปัญหาเรื่องต้นทุนต่อสังคมมาก แต่ในเมื่อระบบสาธารณสุขของเรามีสวัสดิการรัฐเยอะ ถ้าคุณดื่มเหล้าจนป่วย คุณกำลังสร้างความเดือดร้อนต่อประเทศนะ นี่เป็นต้นทุนสำคัญที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็น
อาจารย์บอกว่าต้นทุนของสังคมที่สูญเสียไปจากการดื่มเหล้ามีสูงมาก แต่ขณะเดียวกัน ธุรกิจแอลกอฮอล์ก็อาจอ้างได้ว่าธุรกิจของเขาสร้างรายได้ให้กับประเทศเช่นกัน
ตรงนี้พูดยากเหมือนกัน เนื่องจากตัวเลขที่เราประเมินเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำ หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า conservative estimate เพราะข้อมูลของเราไม่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เราสันนิษฐานตัวเลข (assumption) ค่อนข้างมาก และต้นทุนเหล่านี้ยังไม่ได้รวมต้นทุนที่เราเรียกว่า Intangible Cost หรือต้นทุนที่ประเมินไม่ได้ เช่น ความเจ็บปวดจากความเสียใจ สมมติว่ามีครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อดื่มเหล้าเป็นตับแข็งเสียชีวิต แม่และลูกมีความเสียใจ หรือคนที่โดนคนเมาขับรถชนจนพิการ มีความทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้เราประเมินออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวเลขที่เราประเมินอาจจะมากหรือน้อยกว่ารายได้ที่บริษัทพวกนี้กล่าวอ้างก็จริง แต่มันก็มีต้นทุนส่วนอื่นที่มันเกิดขึ้นซึ่งประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้เช่นกัน เราต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน
เราสามารถลดต้นทุนผลกระทบทางสังคมได้อย่างไรบ้าง
ส่วนตัวคิดว่าควรเพิ่มการบังคับใช้ (reinforcement) กฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมหลังดื่มเหล้า ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดีมาก แต่การบังคับใช้อาจไม่ได้เข้มแข็ง เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่คนดื่มเหล้าเยอะมาก ตกเย็นพนักงานออฟฟิศชวนกันไปดื่มเหล้าจนกลายเป็นวัฒนธรรม แต่ญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยมีความรุนแรงหรือคดีความที่เกิดจากการกินเหล้า เพราะกฎหมายเขารุนแรงและเอาจริง ถ้าเมาแล้วขับ ถูกยึดใบขับขี่ ไมได้ขับไปอีกนาน ฉะนั้น อาจารย์มองว่าเราต้องบังคับใช้กฎหมายเพิ่มมากขึ้นถ้ายังให้มีการขายแอลกอฮอล์อย่างเสรีเหมือนทุกวันนี้ ถึงการบังคับใช้กฎหมายอาจจะลดต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งหมด แต่ที่ลดได้แน่ๆ คือต้นทุนความเสียหายจากการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมากในประเทศไทย ส่วนในแง่ความเจ็บป่วย กฎหมายห้ามขายแอลกอฮอล์ให้ผู้เยาว์ก็อาจจะช่วยยืดเวลาก่อนที่เขาจะเริ่มกินเหล้าหรือเริ่มเป็นโรคให้นานออกไป
อย่างไรก็ตาม วิธีการคุมต้นทุนที่ดีที่สุดคือการควบคุมตัวเอง เริ่มจากจุดเริ่มต้นว่าไม่ดื่ม หรือดื่มแต่น้อย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ดื่มแล้วคุมตัวเองให้อยู่ ไม่ออกไปขับรถ กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยขัดเกลา (shape) พฤติกรรมเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมก็มีผลเช่นกัน อาจารย์มองว่าการที่คนไทยต้องสังสรรค์ หาเพื่อน หา connection ด้วยการกินเหล้า หรือเด็กนักเรียนนักศึกษากินเหล้าเพื่อฉลองกันเป็นปกติ จะคุยกันได้ เฮฮากันได้ต้องมีเหล้า เป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกลงในสังคม เราก็ได้แต่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อาจารย์มองว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นพื้นฐานให้เกิดนโยบายด้านไหนได้บ้าง
ตัวเลขต้นทุนในงานวิจัยสามารถเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่คนออกนโยบายสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ เช่น นโยบายลดนักดื่มหน้าใหม่ เราสามารถประเมินได้ว่าควรลงเงินกับโครงการเท่าไร และถ้าไม่ทำ จะเกิดต้นทุนผลกระทบต่อสังคมเท่าไร ถ้าต้นทุนที่จะเกิดขึ้นมันมากกว่าเงินที่ทำโครงการ มันก็น่าทำ และอาจารย์คิดว่าเวลาออกนโยบายอะไรก็ตาม ควรมีหลักฐานเชิงประจักษ์มาสนับสนุนด้วย ประเทศไทยยังมีอีกหลายประเด็นที่นักวิจัยต้องช่วยกันศึกษา สร้างหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือและมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์
ด้านการบำบัดรักษาคนติดเหล้า การประเมินต้นทุนเหล่านี้สามารถเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือได้อย่างไร
เราสามารถประเมินต้นทุนของคนที่ติดเหล้าว่าสร้างผลกระทบให้สังคมเท่าไร ประเมินว่าในไทยมีคนติดเหล้ากี่คน นำไปเปรียบเทียบกับเงินที่ทำโครงการสร้างหน่วยงานบำบัดต่างๆ ว่าคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร
ส่วนตัวอาจารย์มองว่าคนติดเหล้าเป็นกลุ่มที่เราควรช่วยเหลือ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ตอนแรกอาจเป็นความสมัครใจของผู้ดื่ม แต่ถ้าดื่มถึงขั้นติดนี่ไม่ใช่ความสมัครใจหรือทางเลือกแล้ว เป็นโรคอย่างหนึ่ง รัฐเองก็ควรช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เพราะถ้าเราทำให้เขาเลิกติดเหล้าได้ก็จะมีคุณประโยชน์มาก เช่น ถ้าเขาอายุ 40 ปี ติดเหล้า แต่เราทำให้เขากลับมามีชีวิตปกติได้ หมายความว่าเขาจะมีชีวิตต่อไปอีกอย่างน้อย 20 ปีในการทำงานสร้างรายได้ให้ระบบ (contribute) เศรษฐกิจ ซึ่งมันอาจจะคุ้มค่าก็ได้
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm