‘สุรากับวัยรุ่น’ ถอดบทเรียนแนวทางการดูแล-ป้องกันพฤติกรรมการดื่มของเยาวชน

August 25, 2020


“เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด”

คำคำนี้อาจไม่ใช่คำที่ฟังดูไกลตัวมากนัก หากต้องเทียบกับประสบการณ์ตอนวัยเด็กที่แต่ละคนเคยได้เจอ เช่น ความขัดแย้งทางครอบครัว การกลั่นแกล้งจากเพื่อนหรือคนรู้จัก ผลการเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เป็นต้น

จากหลากหลายความเจ็บปวดที่ว่ามานั้น ทำให้บางครั้ง เด็กๆ ก็อาจเลือกดื่มสุราเพื่อบรรเทาไม่ต่างจากผู้ใหญ่

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติ ระบุว่า เยาวชนไทยมีสัดส่วนเกี่ยวข้องกับการดื่มราว 1-2 ล้านคน ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กไทยในปีหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 8 แสนกว่าคน ถือเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ และคงน่าเสียดาย หากพวกเขาเหล่านั้นจะมีปัญหาการดื่มสุราตั้งแต่อายุยังน้อย

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้วัยรุ่นเกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา จึงร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดงานสัมมนา ‘การดูแลและป้องกันปัญหาการดื่มสุราในเด็กและเยาวชน’ อภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอแนะจากงานวิจัย ประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่เคยลงมือปฏิบัติงาน ถอดบทเรียน ค้นหาแนวทางการดูแลและป้องกันปัญหาการดื่มสุราในเด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม

 

เปิดแนวโน้มการดื่มสุราของวัยรุ่น

– ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ 

 

“สุรา คือ ยาเสพติดที่วัยรุ่นไทยใช้เยอะที่สุด ”

ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ จากหน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกริ่นนำถึงการศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้สุราและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพวัยรุ่นไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเก็บข้อมูลเด็กมัธยมทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2561 จัดทำทุกๆ 2 ปี ขนาดตัวอย่างประมาณ 20,000-50,000 คน 

ผลการศึกษาพบว่า แนวโน้มการดื่มสุราของนักเรียนชายช่วงปี 2550 ถึง 2552 ความชุกพฤติกรรมการดื่มสุราแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งการดื่มใน 1 ปีและการดื่มใน 30 วัน แต่ลดลงช้าๆ หลังจากนั้นในช่วง 8 ปีที่เหลือ 

สำหรับภาพรวมนักดื่มในไทย แม้ส่วนมากจะเป็นเพศชายมากกว่าหญิง ทว่าสิ่งที่พบระหว่างปี 2550 ถึง 2552 คือ นักเรียนหญิงมีแนวโน้มดื่มสุราเพิ่มขึ้นมากกว่านักเรียนชาย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการดื่มใน 12 เดือน การดื่มใน 30 วัน การดื่มหนัก 5 แก้วขึ้นไปใน 30 วัน รวมถึงการดื่มจนเมา โดยเฉพาะ 3 ส่วนแรกเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว 

ทั้งนี้ การดื่มสุรายังมีผลต่อสุขภาพจิตของผู้ดื่ม โดยจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องปี 2558 ถึง 2560 พบว่า การดื่มสุราเชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้า

ผลงานวิจัยดังกล่าว ระบุว่า นักเรียนหญิงวัยมัธยมต้นส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดื่มค่อนข้างน้อย แต่เด็กที่ซึมเศร้ากับไม่ซึมเศร้ามีความแตกต่างด้านการดื่มค่อนข้างชัดเจน โดยต่างกันประมาณ 2.4 เท่าสำหรับการดื่มในช่วง 12 เดือน และการดื่มใน 30 วัน ซึ่งเด็กที่ซึมเศร้าจะมีโอกาสดื่มหนักในช่วง 2 สัปดาห์มากกว่าเด็กไม่ซึมเศร้าประมาณ 2 เท่า 

เช่นเดียวกับกลุ่มนักเรียนชายมัธยมต้น เด็กที่ซึมเศร้า 1 ใน 3 จะดื่มภายใน 12 เดือน แต่เด็กที่ไม่ซึมเศร้า ประมาณ 1 ใน 6 จะดื่มภายใน 12 เดือน เกิดความแตกต่าง แต่ว่าไม่ถึง 2 เท่า

สำหรับกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายหญิงและปวช. หญิง พฤติกรรมการดื่มจะมีความแตกต่างกันระหว่างซึมเศร้ากับไม่ซึมเศร้าประมาณ 1.6 เท่า ส่วนกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายชายหรือปวช. ชายซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงพฤติกรรมการดื่มเยอะที่สุด มีความแตกต่างด้านการดื่มระหว่างเด็กที่ซึมเศร้ากับไม่ซึมเศร้า ไม่มาก ประมาณ 1 เท่า 

กล่าวโดยสรุป ถ้าเกิดเจอนักเรียนหญิงชั้นมัธยมต้นที่มีอาการซึมเศร้า ควรช่วยกันดูแลและทำการเฝ้าพฤติกรรมการดื่มตั้งแต่ระยะแรก ขณะเดียวกัน ถ้าเกิดเจอนักเรียนชายระดับมัธยมปลายถึงปวช. จะซึมเศร้าหรือไม่ซึมเศร้า ก็ควรดูแลทั่วถึงกัน เพราะมีพฤติกรรมการดื่มอยู่ที่ประมาณ 30-50% เป็นปกติ

นอกเหนือจากข้อมูลข้างต้น ดร.วิทย์ทิ้งท้ายถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบการศึกษา ว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อแนวโน้มพฤติกรรมการดื่มและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของวัยรุ่นไทย

“ประเด็นสุดท้ายที่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วยกันกับข้อมูลที่นำเสนอ อาจจะต้องพูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยเกี่ยวกับเด็กที่เรียนไม่จบหรือว่าต้องออกกลางคันด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ฐานะทางการเงินที่บ้านไม่เพียงพอกับรายจ่ายทางการศึกษาหรือ เกิดการตั้งครรภ์ก่อนวัยสมควร ฯลฯ”

โดยสถิติรายสถานการณ์การศึกษาไทยปี 2557 ระบุว่า เด็กที่เข้าเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี 2545 พอถึงปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ต้องจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลับมีเด็กจบเพียง 2 ใน 3 และเรียนไม่จบมัธยมปีที่ 3 อยู่ประมาณ 1 ใน 10 

“เพราะฉะนั้นระบบการศึกษายังคงเป็นปัญหาสำคัญและต้องหาทางแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวโน้มพฤติกรรมการดื่มสุราและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพในวัยรุ่น” 

 

จากสุราในมือผู้ใหญ่สู่การดื่มในกลุ่มวัยรุ่น

– พญ.รัศมน กัลยาศิริ

 

วงสัมมนาไปต่อที่การแลกเปลี่ยนผลวิจัยความสัมพันธ์ในครอบครัว สมรรถนะส่วนบุคคล และสิ่งแวดล้อมทางสังคมต่อปัญหาการดื่มสุราของวัยรุ่นไทย โดย พญ.รัศมน กัลยาศิริ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สืบเนื่องมาจากงานศึกษาในประเทศออสเตรเลียเกี่ยวกับการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับลูกหลานตั้งแต่เด็ก ค้นพบว่า เด็กเสี่ยงที่จะดื่มมากขึ้นเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของใครหลายคนที่ว่า การทำให้เด็กๆ คุ้นชินกับการดื่มแอลกอฮอล์ตอนอยู่ที่บ้านและมีครอบครัวคอยดูแล เป็นการป้องกันการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย หลังเริ่มทำวิจัยในทำนองเดียวกันกับออสเตรเลีย โดยใช้เด็กกลุ่มมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน จากหลายภูมิภาครวมกัน

“เราติดตามเด็กตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3 เพื่อดูว่าการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และดูความสัมพันธ์ที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองหยิบยื่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับอย่างไร” พญ.รัศมนกล่าว

ผลการศึกษาเบื้องต้นจาก 6,000 ตัวอย่าง พบว่า เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นเด็กที่เคยดื่มอย่างน้อยเต็มแก้วอยู่ประมาณ 12.7% ถ้านับรวมถึงคนที่เคยจิบหรือเคยทดลอง อยู่ที่ประมาณ 32.9% ในขณะที่เด็กจำนวนกว่า 54.4% ที่ไม่เคยจิบหรือไม่เคยทดลอง

ทั้งนี้ ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เฉพาะกลุ่มเด็กที่เคยจิบหรือว่าดื่มสุรา ซึ่งมีทั้งหมด 2,765 คน เคยประสบเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายแล้วเกิดความต้องการสุราสูง สะท้อนว่าพวกเขานึกถึงสุราเป็นทางออกลำดับต้นๆ เมื่อเจอปัญหาหรือความเครียด

ยิ่งไปกว่านั้น จากผลวิจัยซึ่งทำการติดตามเด็กอายุเฉลี่ย 12 ปี พบเพิ่มเติมว่า มีเด็กเริ่มดื่มอายุน้อยกว่า 10 ปี สูงถึง 17% และความถี่ที่พวกเขาดื่มก็สูงพอสมควร มีคนดื่มเดือนละ 1 ครั้งหรือว่ามากกว่านั้นประมาณ 1 ใน 5 อีกทั้งยังมีเด็กดื่มแบบไม่บันยะบันยังถึง 40% 

พญ.รัศมนเล่าผลการศึกษาเกี่ยวกับแรงจูงใจว่า เด็กมักมีสาเหตุการดื่มมาจากปัจจัยด้านสังคม เช่น ได้รับเครื่องดื่มมาจากผู้ปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลุงป้าน้าอา หรือเครือญาติในครอบครัวมากกว่าพ่อแม่ และมักดื่มโดยที่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย อันดับต่อมาให้เหตุผลว่า ดื่มเพื่อปรับตัวไม่ให้เครียด ดื่มเพื่อให้รู้สึกร่าเริงทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้เศร้า และสุดท้าย คือดื่มตามเพื่อน 

อนึ่ง เด็กช่วงวัยรุ่นมีการวางแผนอนาคต ว่าเขาจะดื่มหรือไม่ ณ ปัจจุบัน เทียบกับการที่เขาจะดื่มหรือไม่ในเดือนต่อไป ซึ่งพบว่า ทีแรกเด็กส่วนใหญ่ตั้งใจว่าจะไม่ดื่มต่อในอนาคตค่อนข้างสูง กระนั้น พอเวลาผ่านไปจนอายุครบ 18 ปี คนที่เคยบอกจะไม่ดื่มแน่นอนกลับมีแนวโน้มที่จะดื่ม เพราะเขาคิดว่าอายุถึงแล้วมีสิทธิ์ที่จะดื่มอย่างอิสระ เรียกได้ว่าเป็นค่านิยมประการหนึ่ง 

พญ.รัศมนสรุปว่า วัยรุ่นมีแรงจูงใจในการดื่มหลายปัจจัย แต่สิ่งที่ส่งผลมากที่สุด คือ เรื่องเครือญาติ ดังจะเห็นได้ว่าบางงานเลี้ยง เมื่อญาติผู้ใหญ่นั่งดื่มกันแล้วเห็นเด็กเดินเข้ามา ก็จะหยิบยื่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ลองชิม 

“การศึกษานี้ทำให้เรารู้ว่ากลุ่มเด็กจะดื่มเมื่อไร ปัจจัยอะไรที่มีผลต่อเขาบ้าง อย่างน้อยจะได้รู้ภาพรวมสิ่งแวดล้อมที่เขาเจอและเชื่อมโยงหาทางป้องกันในอนาคต” พญ.รัศมน ทิ้งท้าย

 

“ทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง” กลยุทธ์ป้องกันการดื่มสุราในวัยรุ่น

– ธีระ วัชรปราณี

 

การทำงานกับเด็กและเยาวชนที่มุ่งเอาแต่ลดปัจจัยเสี่ยง อาจไม่สามารถที่จะเข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

“แท้จริงแล้ว การทำงานกับเด็กๆ เราต้องค่อยๆ สร้างเสริมปัจจัยด้านการเสริมสุขภาพ เพื่อให้เขาตระหนักรู้ด้วยตนเอง อย่างบอกว่าสุราไม่ดี ห้ามดื่ม เขาฟัง แต่การฟังเพียงเท่านั้นไม่เกิดผล ต้องทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อที่ท้ายที่สุด เขาจะเลือกได้ว่าตนเองจะดื่มหรือว่าไม่ดื่ม” ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้าเอ่ยขึ้น พร้อมกับเล่าปัญหาการทำงานป้องกันการดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กที่ผ่านมา ดังนี้

(1) โครงการหรือกิจกรรมที่จัดทำเพื่อให้เด็กห่างไกลจากสุรามีความไม่ต่อเนื่อง

(2) ขาดกลไกในการเชื่อมโยง ตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยรุ่น ซึ่งต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย และหัวใจสำคัญ คือ การสร้างเสริมกิจกรรมให้เป็นลักษณะหยิบมาสร้างสรรค์ ดังนั้น ต้องอาศัยการประสานงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ 

(3) นำงานวิชาการหรืองานความรู้มาสนับสนุนน้อยเกินไป ที่สำคัญไม่ได้สะท้อนกลับไปถึงคุณครูและผู้ปกครอง 

(4) กิจกรรมที่เด็กได้ทำไม่ครอบคลุมความต้องการของเขา

(5) การควบคุมปัจจัยเสี่ยง หรือก็คือการควบคุมผ่านกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคประชาสังคมด้วย 

อย่างไรก็ดี ธีระเสนอว่า วิธีแก้ไขในทางปฏิบัติต้องใช้พื้นที่ตัวอำเภอเป็นสำคัญ นำข้อมูลที่มีอยู่ในมือสะท้อนกลับไปยังครอบครัวและสถานศึกษาเพื่อให้ครอบครัวและสถานศึกษามีส่วนรับรู้ว่าเด็กๆ คิดอย่างไร ต้องทำทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ตลอดจนสร้างกลไกให้เกิดระบบการเรียนรู้แก่เด็กในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำแคมเปญต่างๆ เช่น รับน้องปลอดเหล้า และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก

ธีระบรรยายก่อนยกตัวอย่างกรณีหนึ่งในต่างประเทศที่ว่าด้วยการสร้างเสริมและป้องกันการดื่มสุรา 

“ทางรัฐบาลเขาให้คูปองกับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนการใช้งบประมาณแบบเดิมไปสร้างการเข้าถึงกิจกรรมต่างๆ เพื่อไม่ให้เด็กไปยุ่งกับแอลกอฮอล์ กล่าวคือ เขาให้คูปองกับเด็กประเทศเขา เด็กเหล่านี้ก็ใช้คูปองไปลงตารางว่าเขาสนใจ อยากเรียนอะไร หรือจะใช้เวลาว่างทำอะไร ซึ่งหากในอำเภอนั้นๆ ไม่มีให้เรียนตามที่เด็กต้องการ เช่น กลุ่มเพื่อนนายบีอยากเรียนเทควันโด 5 คน แต่ในอำเภอนั้นไม่เปิดสอน ผู้ใหญ่ก็ต้องรีบดำเนินการเด็กกลุ่มนั้นได้เรียนเทควันโด

“ไม่ว่าจะยากดีมีจน เด็กเขาก็มีโอกาสที่สามารถทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ได้ตามใจต้องการ” ซึ่งถ้าหากประเทศไทยส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมอย่างมีอิสระเช่นนั้น ภาพการสังสรรค์ผ่านวงเหล้าของวัยรุ่นก็คงแปรเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย

 

จิตวิทยาเชิงบวกกับการป้องการดื่มสุราของวัยรุ่น

– ผศ.ดร.รัศมี สังข์ทอง

 

ถัดมา ผศ.ดร.รัศมี สังข์ทอง จากหน่วยงานระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้บ่งชี้ว่า การดื่มสุราเป็นผลมาจากการเรียนรู้ที่ผ่านมาในอดีตของแต่ละคน ที่เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมในเวลาเหมาะสมจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมเสี่ยงนั้นๆ โดยส่วนใหญ่จะแสดงออกมาช่วงวัยรุ่น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่สะสมพฤติกรรมมีอยู่หลายมิติ นอกจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว โรงเรียน ครู เพื่อน ชุมชน สังคม ตลอดจนประเทศชาติแล้ว ยังมีเรื่องของกายภาพ เช่น ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ หรือแม้กระทั่งพันธุกรรม ที่ถูกค้นพบว่า ครอบครัวซึ่งมีพ่อติดสุรา อาจมีการถ่ายทอดพันธุกรรมที่ทำให้ติดสุราได้ง่ายกว่าคนที่อยู่ในครอบครัวไม่ดื่มสุรา 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการเรียนรู้ในสมอง เรียกว่า mirror neuron กล่าวคือ มนุษย์สามารถเรียนรู้จากการเห็นและเลียนแบบได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กเห็นพ่อยิ้มหรืออ้าปาก ก็สามารถเลียนแบบได้ เพราะสมองมีการกระตุ้นตั้งแต่ตอนเห็นภาพนั้นๆ ดังนั้น การให้เด็กเลียนแบบแต่เรื่องดีๆ ก็จะเป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยงหรือพฤติกรรมด้านลบได้มากขึ้

ผศ.ดร.รัศมี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เด็กเติบโตได้ดี ผู้ใหญ่ควรเข้าใจเรื่องพัฒนาการและความต้องการของเด็กแต่ละวัย เช่น เด็กทารกต้องการความปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เมื่อโตขึ้นมา ก็ต้องการอิสระในการควบคุมตัวเอง ความสนุกสนาน ต้องการเพื่อนที่ดี มีครอบครัวอบอุ่น หากมอบสิ่งเหล่านั้นให้ตรงความต้องการของเด็กแต่ละวัยได้ ก็จะนำไปสู่การพัฒนาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในทางกลับกัน หากเด็กไม่ได้รับการเติมเต็มตามพัฒนาการมาตั้งแต่วัยเด็ก จะเริ่มมีความเสี่ยงที่นำไปสู่การใช้สารเสพติด การใช้แอลกอฮอล์ ที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย สนุกสนาน มีเพื่อน และท้าทายแทน 

“จะเห็นได้ว่าสมองของเด็กวัยรุ่นเริ่มต้องการความยอมรับจากสังคมที่กว้างขึ้น และต้องการพื้นที่ที่จะแสดงออกถึงการเป็นตัวของตนเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะจัดสรรสิ่งต่างๆ ให้ตอบโจทย์พัฒนาการของวัยรุ่นได้ดีพอ มีกิจกรรมดีๆ ให้ทำ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมเสี่ยง” ผศ.ดร.รัศมีเน้นย้ำ พร้อมเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในการดื่มสุรา คือ ผลลัพธ์จากพฤติกรรมก่อนหน้านั้น เช่น เกิดสิ่งกระตุ้นเร้าบางอย่างที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม 

“ยกตัวอย่าง เช่น เด็กๆ อยากได้ของเล่น แต่ว่าไม่ได้ เด็กก็จะทำตามสัญชาตญาณ คือ ร้องไห้ พอร้องไห้ พ่อแม่ก็อาจจะใจอ่อน แล้วยอมให้ของเล่น เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้ว่า ร้องไห้แล้วได้ของเล่น ส่งผลให้มีโอกาสที่เด็กจะร้องไห้ในครั้งต่อไปเมื่อต้องการของเล่น เพราะฉะนั้นผลลัพธ์ในพฤติกรรมก่อนหน้าในเรื่องเดียวกัน จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมครั้งต่อๆ ไปได้มาก”

ในเมื่อการตอบสนองของผู้ใหญ่ต่อพฤติกรรมของเด็กมีอิทธิพลมาก ถ้าเราตอบสนองต่อพฤติกรรมในเชิงบวก เด็กก็จะพัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสม และก็เติบโตมาลดพฤติกรรมเสี่ยงได้ 

“ดังนั้น จึงอยากให้ลองหันมาใช้วิธีการส่งเสริมป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยการใช้จิตวิทยาเชิงบวก ติดอาวุธและภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชน” ผศ.ดร.รัศมีปิดท้าย 

 

อุปสรรคที่ต้องฝ่า เพื่อช่วยเยาวชนติดสุรา

– พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์

 

“หนูโดนแมวจับกินวันละตัว ฝูงหนูคุยกันว่าทำอย่างไรถึงจะปลอดภัย และมีหนูตัวหนึ่งเสนอว่า ให้เอากระพรวนไปแขวนคอแมว เวลาแมวเดินมาพวกเราจะได้รู้ตัว แต่สุดท้ายไม่มีหนูตัวไหนอาสาออกไปแขวนกระพรวนแมวสักตัว

“สำหรับเรื่องสุราและสารเสพติดของเยาวชนกำลังเจอปัญหาคล้ายๆ อย่างนี้”

พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนคริทร์ เปรียบเปรยถึงการแก้ปัญหาพฤติกรรมการดื่มในวัยรุ่น ณ ขณะนี้

“คนวิเคราะห์ค้นหาทางออกสำหรับเรื่องนี้นับไม่ถ้วน แต่สุดท้ายใครจะเป็นคนทำ ภาพนี้ไม่เคยชัด และไม่มีงบประมาณสำหรับการสนับสนุนเชิงระบบ”

พญ.ดุษฎี แจกแจงว่าช่วงที่ผ่านมา ได้พยายามทำงานหลายรูปแบบและเจอปัญหาแฝงหลายประการด้วยกัน 

เช่น (1) การทำเรื่อง 1 โรงเรียน 1 โรงพยาบาล จับมือกันระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล คัดกรองค้นหาเด็กที่มีปัญหาการดื่มเพื่อส่งเด็กเข้าสู่ระบบการดูแล แต่กลายเป็นว่าเพิ่มภาระงานให้คุณครู ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดี พอเกิดปัญหาภาระงาน ก็ส่งผลให้เกิดแรงต้านจากโรงเรียนในการทำงานด้านสุขภาพร่วมกัน 

(2) การจัดโปรแกรมทักษะชีวิต ทำให้วัยรุ่นมีทักษะชีวิตที่ดี สิ่งที่เป็นอุปสรรสำหรับการพัฒนาของโครงการนี้ คือ ยังไม่มีการประเมินผลในเชิงผลลัพธ์ว่าจริงๆ แล้วเยาวชนที่เข้ากลุ่มมีพฤติกรรมดีขึ้นมากหรือน้อยแค่ไหน 

(3) กรมสุขภาพจิตพยายามปรับปรุงเครื่องมือที่จะพัฒนาเยาวชนในหลายๆ Q ทั้ง IQ RQ EQ ปีหน้าจะมี MQ ที่เป็น Moral Quotient (ความฉลาดทางศีลธรรม) เข้ามา แต่ปัญหาที่เจอสำหรับการทำเครื่องมือ Q เหล่านี้ คือ แม้จะมีเครื่องมือวิชาการที่หลากหลาย แต่เราไม่พบว่า หลังจากที่ทำเครื่องมือเหล่านี้แล้ว ประสิทธิภาพของการใช้เป็นอย่างไรและไม่มีการนำเครื่องมือสารพัด Q ไปขยายผลให้ครอบคลุม 

มากไปกว่าการดำเนินงานข้างต้น ฝั่งที่เป็นผู้เล่นสำคัญอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีเด็กและวัยรุ่นที่ดูแลอยู่ประมาณ 7 ล้านคน จากประชากรวัยรุ่นประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมา งานของสพฐ. ขับเคลื่อนโดยมีการกระตุ้นจากฝั่งระบบสุขภาพ 

แต่ปัญหา คือ ครูจำนวนมากขาดทักษะในการคัดกรองเด็กที่มีปัญหาการดื่มสุรา ทำให้เหลือเพียงคุณครูที่รู้จักนักเรียนรายบุคคล คัดกรองแล้วส่งต่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา จนทำให้เกิดระบบการส่งเสริมพัฒนา หรือช่วยเหลือ ป้องกันเด็กในโรงเรียนได้ยาก 

ในส่วนที่เป็นภาพรวมงานดูแลสุขภาพวัยรุ่น พบว่า  มีการรวมตัวของกรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และกรมควบคุมโรคช่วงปี 2558 ถึง 2559 เพื่อทำงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคตามกลุ่มวัย  โดยการพัฒนาการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน จะเป็นแนวทางที่มีลักษณะคล้ายๆ Quality Assurance (การประกันคุณภาพ) มี Quality Accreditation (การรับรองคุณภาพ) ออกมาเป็น Youth Friendly Health Services (YFHS)

จากผลดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า โรงพยาบาลชุมชนประมาณ 65% หรือ 2 ใน 3 มีมาตรฐานอยู่ระดับปานกลาง ส่วนที่เหลืออีก 34% อยู่ในมาตรฐานระดับดี สามารถจัดบริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นได้ค่อนข้างดี แต่ก็มีอุปสรรคว่าลักษณะของบริการนี้ก็ยังเข้าไม่ถึงวัยรุ่นมากนัก

“สิ่งที่อยากชวนมอง คือ ขณะนี้เราทำกระจายๆ กลายเป็นเบี้ยหัวแตก จะเป็นไปได้ไหมถ้า 1 จังหวัด มี 1 อำเภอเป็นต้นแบบด้านสุขภาพวัยรุ่น แล้วใช้การพัฒนาเชิงพื้นที่อำเภออื่นๆ เรียนรู้จากพื้นที่ต้นแบบ ถ้าเราสามารถพัฒนาพื้นที่ต้นแบบด้านสุขภาพวัยรุ่นอย่างเป็นองค์รวมได้ แล้วให้พื้นที่ต้นแบบนั้นเป็นต้นแบบของพื้นที่ตัวเองและขยายไป  เป็นเช่นนี้จะมีโอกาสเห็นผลลัพธ์การป้องการพฤติกรรมดื่มสุราในวัยรุ่นได้อย่างครอบคลุม” พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ จบท้ายการแลกเปลี่ยน

 

จากการสัมมนาข้างต้นทำให้เห็นภาพของความพยายามในการแก้ปัญหาพฤติกรรมการดื่มในเด็กและเยาวชนจากหลายภาคส่วน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ยังคงพบขวากหนามอุปสรรคอยู่เป็นจำนวนมาก

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าแนวทางการดูแลและป้องกันการดื่มสุราในเด็กและเยาวชนจะขับเคลื่อนเดินไปข้างหน้าและได้ข้อสรุปในทางปฏิบัติต่ออย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กๆ ช่วยให้พวกเขาลด ละ เลิก ความจะอยากลองดื่ม และใช้ชีวิตไม่ติดสุรายามเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

 

 


 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

Related Articles