มองมาตรการควบคุมสุรา นอกกรอบสุขภาพและเสรีภาพ

June 16, 2020


ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์  แซ่โง้ว[1]เรื่อง

ทีมงาน Alcohol Rhythm ภาพประกอบ

 

วิกฤต COVID-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ในประเทศไทยสถานการณ์การระบาดพัฒนาจนถึงจุดพีคในช่วงปลายเดือนมีนาคม จนรัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์ มาตรการเข้มข้นที่ถูกนำมาใช้ เช่น เคอร์ฟิว ปิดพื้นที่สาธารณะ ปิดกิจการบางประเภท เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคเป็นที่มาของวลี “สุขภาพ นำ เสรีภาพ” 

ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเทศกาลสงกรานต์ หลายจังหวัดทั่วประเทศเริ่มทยอยประกาศมาตรการห้ามขายสุราเพิ่มเติมไปจากมาตรการเดิมของพระราชกำหนดฉุกเฉินฉุกเฉิน จนวันที่ 13 เมษายน 2563 กลายเป็นวันที่มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการตั้งวงสังสรรค์ในช่วงสงกรานต์ การห้ามขายทอดยาวมาจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลตัดสินใจผ่อนคลายอนุญาตให้ซื้อไปดื่มที่บ้านได้จนเกิดภาพแย่งกันซื้อเหล้าเบียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งจนเกลี้ยงชั้นวาง เป็นที่มาของการดีเบตระหว่างแพทย์ที่ทำงานด้านการรณรงค์เรื่องงดเหล้าและอุบัติเหตุที่เสนอให้ห้ามขายต่อ กับ ตัวแทนธุรกิจสุราที่สนับสนุนการซื้อไปดื่มที่บ้านผ่านสื่อสาธารณะ การดีเบตเรื่องนโยบายห้ามขายเหล้ากลายเป็นเวทีประลองระหว่าง “สุขภาพ” และ “เสรีภาพ” เมื่อมองผ่านกรอบ เสรีนิยม-อนุรักษนิยม มาตรการห้ามขายเหล้ารวมถึงการรณรงค์ที่ผ่านมากำลังถูกวิจารณ์ว่าเป็นไปตามแนวคิดอนุรักษนิยม อำนาจนิยม และสุขภาพนิยม

การมองการรณรงค์และมาตรการห้ามขายเหล้าผ่านเลนส์เสรีนิยม-อนุรักษนิยม หรือสุขภาพ-เสรีภาพนั้นหลีกเลี่ยงได้ยากในระบบนิเวศทางการเมืองและสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การดีเบตผ่านการตีกรอบข้างต้นละทิ้งแง่มุมอื่นๆ ของการรณรงค์และมาตรการควบคุมสุรา บทความนี้จึงนำเสนออีกมุมมองหนึ่งที่สามารถใช้อธิบายนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อยู่นอกเหนือกรอบวิธีคิดด้านสุขภาพ

 

สุรากับผลกระทบภายนอกต่อสังคม

 

ตามแนวคิดของตลาดแข่งขันเสรี สินค้าและบริการควรจะถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดได้อย่างเสรี การตัดสินใจผลิต ขาย หรือบริโภคควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้บริโภค โดยที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงน้อยที่สุดหรือต้องไม่แทรกแซงเลย มีเพียงในบางเงื่อนไขที่การแทรกแซงของรัฐมีความสมเหตุสมผล ได้แก่ กรณีที่มีความเสี่ยงของการผูกขาดในตลาด การมีผลกระทบภายนอก หรือการแทรกแซงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สุราถือเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีการซื้อขายในตลาด ว่ากันตามแนวคิดตลาดแข่งขันเสรีพื้นฐาน การซื้อ และบริโภคสุราก็ควรปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคอย่างอิสระ หากแต่สุราเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะบางประการเป็นเหตุให้รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงตลาดสุราผ่านการกำกับควบคุมด้วยกฎหมาย เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 นิตยสาร The Economist ซึ่งไม่ได้เป็นสื่อด้านสุขภาพและคงไม่ถือเป็นสื่ออนุรักษ์นิยม ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “What is the most dangerous drug?”[2]  (เข้าถึงบทความภาษาไทยได้ที่นี่เนื้อหาของบทความกล่าวถึง ยาเสพติดกว่า 10 ชนิด มีการให้คะแนนอันตรายของยาเสพติดแต่ละชนิด (คะแนนเต็ม 100) อันตรายของยาเสพติดถูกแบ่งออกเป็น อันตรายต่อผู้ใช้ยาเสพติด และอันตรายต่อผู้อื่น (ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ) ยาเสพติดที่ได้คะแนนอันตรายสูงที่สุด คือ สุรา (72 คะแนน) ซึ่งสูงกว่าเฮโรอีน (55 คะแนน) และโคเคน (54 คะแนน) ที่ตามมาเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ทั้งนี้ กว่า 60% ของคะแนนที่สุราได้ เป็นคะแนนจากอันตรายต่อผู้อื่น สุราจึงเป็นยาเสพติดก่อให้เกิดอันตรายมากที่สุดและมีอันตรายต่อผู้อื่นสูงที่สุด

มองผ่านแนวคิดตลาดแข่งขันเสรี ผู้บริโภคสุราทำธุรกรรมกับผู้ขายสุราในตลาด ผู้ซื้อได้รับความพึงพอใจจากการบริโภคสุราโดยรับรู้ถึงความเสี่ยงจากการบริโภค ผู้ขายได้รับเงินเป็นการตอบแทน หากมีเพียงผู้ซื้อกับผู้ขายที่ได้รับผลจากการแลกเปลี่ยนดังกล่าวแล้ว ก็ควรปล่อยให้มีการซื้อขายกันได้อย่างเสรี แต่เนื่องจากการบริโภคสุราก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น นั่นคือ บุคคลที่ 3 ที่ไม่มีส่วนร่วมรับประโยชน์ในรูปความรื่นรมย์จากการบริโภคหรือการได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน แต่อาจได้รับผลกระทบในรูปแบบการถูกทำร้าย ได้รับอุบัติเหตุ หรือความเสียหายของทรัพย์สิน ทางเศรษฐศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า “ผลกระทบภายนอก” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐมีบทบาทเข้ามาแทรกแซงตลาดซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลิดรอนเสรีภาพของผู้บริโภค แต่เป็นไปเพื่อการปกป้องบุคคลที่ 3 หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่ง การดื่มสุราเพิ่มโอกาสที่ผู้ดื่มจะไปลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่น แม้ว่าจะไม่ได้มาจากความตั้งใจก็ตาม

สุราเป็นสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคโดยทั่วไป คือ มีผลกระทบภายนอกจากการบริโภคในระดับสูง ซึ่งว่ากันด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียวก็มีเหตุผลให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการซื้อขายสุราในตลาด ผ่านการกำกับดูแลด้วยกฎหมาย และการเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อเป็นการแก้ไขผลกระทบภายนอก (correct externalities) หรือเพื่อปกป้องบุคคลที่ 3 ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราของผู้อื่น อันที่จริง แนวคิดการแทรกแซงตลาดโดยรัฐเพื่อแก้ไขผลกระทบภายนอกนี้ เป็นหลักการเดียวกับการที่รัฐกำกับดูแลธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) และสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งก็คือ ผลกระทบภายนอกที่เกิดจากกิจกรรมในตลาดแข่งขันเสรีนั่นเอง นักเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการควบคุมโดยรัฐในประเด็นสิ่งแวดล้อมนี้ หลายคนก็เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายด้วยซ้ำ

ในแง่นี้ การกำกับควบคุมสุราจึงมีความชอบธรรมในเชิงหลักการ จึงไม่เป็นการยุติธรรมนักที่จะมองการกำกับควบคุมสุราว่ามุ่งเน้นแต่สุขภาพ อนุรักษนิยม และอำนาจนิยม โดยมองข้ามประเด็นผลกระทบภายนอกตามแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ของสินค้าสุราไป อย่างไรก็ตาม ระดับการควบคุมและวิธีการกำกับควบคุมควรเป็นอย่างไรนั้น ควรเปิดให้มีบทสนทนา ถกเถียง และมีส่วนร่วมจากสังคมให้มากที่สุด 

 


 

[1] ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศูนย์วิจัยปัญหาสุรา

[2] The Economist. What is the most dangerous drug? 2019. https://www.economist.com/graphic-detail/2019/06/25/what-is-the-most-dangerous-drug.

 

Related Articles