‘เลิกเหล้ามาเข้าวัด’ เปลี่ยนจังหวะชีวิตด้วยโครงการบำบัดวิถีพุทธ (Photo Essay)

September 22, 2020


เมื่อเทียบกับความวิจิตรอลังการที่เราเห็นจนชินตาจากภาพวัดในเมืองกรุง วัดสว่างอารมณ์  ในตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ แห่งนี้มีความเรียบง่ายกว่ากันมาก

จากทางหลวงชนบทสายยาว ผ่านเพิงร้านอาหารและร้านกาแฟเล็กๆ รายทาง เลี้ยวเข้าสู่เขตศาสนสถาน สิ่งที่ปรากฏสู่สายตา คือ สีเขียวของแมกไม้งอกงามอยู่ทั่วพื้นที่ ตัดกับสีแดงของสังกะสีมุงหลังคาหน้าจั่วบนอาคารและศาลาส่วนใหญ่ แซมด้วยสีสันหลากหลายบนชุดของชาวบ้านผู้มาเยือนประปราย

ด้วยความที่เป็นวัดเล็ก มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ราว 6-7 รูป ทำให้บรรยากาศโดยรอบกล่าวได้ว่าร่มรื่น เงียบสงบ เหมาะแก่การพักผ่อนและปฏิบัติธรรม ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เป็น ‘วัดบ้าน’ มิใช่ ‘วัดป่า’ ทำให้ร่องรอยความคึกคักของกิจกรรมชุมชนยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเต็นท์ประจำกลางลานวัด จัดเรียงเก้าอี้พลาสติกไว้พรั่งพร้อม เมื่อรวมกับป้ายประกาศกิจกรรมต่างๆ ย่อมสรุปได้ไม่ยากว่า วัดสว่างอารมณ์คือศูนย์กลางการรวมตัวของคนในชุมชนตำบลปราสาททนงที่สำคัญแห่งหนึ่ง

“ถ้าเป็นวันหยุดคนจะเยอะกว่านี้อีก” พี่หนึ่ง พยาบาลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ เอ่ยให้เราฟังหลังนั่งสังเกตชาวบ้านมาพักใหญ่

เหตุผลไม่ใช่แค่เพราะทุกคนหยุดงานและมีเวลาว่างเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะทุกวันเสาร์ วัดสว่างอารมณ์จะจัดกิจกรรมพิเศษซึ่งเป็นที่มาของการเยี่ยมเยือนของเราในครั้งนี้ – กิจกรรมบำบัดผู้ติดสุราด้วยธรรมะ หรือโครงการบำบัดวิถีพุทธ

“คนสุรินทร์ดื่มเยอะมาก แต่ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องวัฒนธรรมด้วย ที่นี่มีพิธีแซนโฎนตา ซึ่งเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษตามแบบเขมร เขาจะใช้สุราเป็นเครื่องเซ่นหลัก ปกติที่อื่นอาจใช้เหล้าไหว้ขวดเดียว แต่ที่นี่ไหว้แซนกันเป็นลัง เพราะนอกจากไหว้บรรพบุรุษแล้วก็มีไหว้ปราชญ์ เลี้ยงทีมทำพิธีแซนด้วย หลายคนก็เริ่มดื่มจากการไหว้แซน”

จากประสบการณ์ทำงานในวงการแพทย์ และคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านตำบลปราสาททนงมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้พี่หนึ่งได้พบปะพูดคุยกับนักดื่มหลากหลายรูปแบบ เจอคนติดสุรามาก็ไม่น้อย บางคนเลิกแล้วแต่กลับตัดไม่ขาด ครั้นจะมาหาหมอก็ไม่กล้า เธอจึงคิดว่า ถ้าเปลี่ยนมาทำงานเชิงรุก ใช้วัดเป็นศูนย์กลางให้ความรู้ด้านสุขภาพ ผสานกับการให้ธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ น่าจะบรรเทาปัญหาผู้ติดสุราในชุมชนได้ดี

เมื่อพี่หนึ่งนำความคิดนี้ไปปรึกษาพระอาจารย์ของวัด ผลก็คือได้การตอบรับอย่างกระตือรือร้น “พี่เพิ่งรู้ว่าพระอาจารย์ก็ช่วยเหลือคนติดเหล้ามานานแล้ว แต่ช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว ใช้วิธีสัญญาใจ ให้หยุดหนึ่งเดือน แล้วกลับมาพบพระอาจารย์ใหม่ ทำไปเรื่อยๆ จนหยุดดื่มได้”

โครงการบำบัดวิถีพุทธของวัดสว่างอารมณ์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนั้น โดยพี่หนึ่งนำต้นแบบจากโครงการธรรมะยาใจในจังหวัดเชียงใหม่มาเสนอ และพระอาจารย์ก็ได้ปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนสุรินทร์ จนถึงตอนนี้ ชาวบ้านตำบลปราสาททนงหลายคนที่เข้าร่วมการบำบัดสามารถเลิกดื่มได้เด็ดขาด และบางส่วนได้เลือกอุปสมบทเป็นพระสงฆ์ เพื่อปฏิบัติธรรมเยียวยาใจและมอบความหวังให้ผู้อื่นต่อไป

 

ภาพชุดนี้ คือ บรรยากาศของวัดสว่างอารมณ์ และกิจกรรมส่วนหนึ่งในโครงการบำบัดวิถีพุทธ ที่มาช่วยเปลี่ยนจังหวะชีวิตชาวจังหวัดสุรินทร์หลายคนให้เลิกเหล้า เข้าถึงธรรมะ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างประจักษ์ชัดว่า ความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ ผู้นำทางศาสนา และชุมชน สามารถคลี่คลายปัญหาผู้ติดสุราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้คน

 

1. หนึ่งในหลักการดูแลผู้ติดสุราที่สำคัญ คือการจัดให้สภาพแวดล้อมเงียบสงบ อากาศเย็นสบาย และมีแสงสว่างเพียงพอ เพื่อทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย ไม่ตกใจหรือหวาดกลัวจนอาการขาดสุราทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งวัดสว่างอารมณ์แห่งนี้เต็มไปด้วยแมกไม้ร่มรื่น ไม่อึดอัดจอแจจนเกินไป เหมาะแก่การเป็นสถานที่บำบัดที่ดี

 

2. ในบริเวณวัดมีป้ายคติสอนใจที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมาอย่าง “ไม่มีคำว่าสายเกินไป” “คิดแล้วต้องทำ” “พรุ่งนี้ต้องดีกว่านี้” เพื่อเตือนสติและให้กำลังใจผู้ต้องการเลิกเหล้าไม่ให้ยอมแพ้หรือท้อถอย

 

3. หลวงพี่น้อย (นามสมมติ) คือหนึ่งในผู้เข้าร่วมการบำบัดวิถีพุทธในวัดสว่างอารมณ์ หลังจากติดสุราอย่างหนักมาหลายปีและล้มเหลวในการเลิกเหล้ามากว่าสิบครั้ง สุดท้ายหลวงพี่น้อยก็เลิกเหล้าสำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระอาจารย์ผู้จัดทำโครงการ และเริ่มต้นชีวิตใหม่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์โดยไม่มีกำหนดว่าจะลาสิกขาเมื่อใด

 

4. หนึ่งใน ‘กิจกรรมเด็ด’ ที่ภิกษุอดีตนักดื่มหลายรูปพูดถึงขณะเข้าร่วมโครงการบำบัดวิถีพุทธ คือ การปฏิญาณตนว่าจะเลิกดื่มอย่างเด็ดขาดต่อหน้าชาวบ้านที่มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในโถงอุโบสถอันเรียบง่ายแห่งนี้ “ให้สัญญาไปแล้ว ถ้าทำไม่ได้ก็อายเขา” หลวงพี่รูปหนึ่งว่า

ขณะที่ฝั่งฆราวาสผู้เข้าร่วมโครงการเอง ก็ต้องให้ ‘สัญญาใจ’ แก่พระอาจารย์หรือพระสงฆ์ว่าจะเลิกดื่มเช่นเดียวกัน ซึ่งสัญญาใจดังกล่าวขึ้นชื่อว่าทำให้ชาวบ้านหยุดดื่มได้อย่างชะงัดนัก

 

5. ในวันที่ไม่มีกิจกรรมทางศาสนา ห้องสมุดในวัดสว่างอารมณ์ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีคนในชุมชนแวะเวียนเข้ามาใช้บริการหาความรู้จากหนังสือหลากหลายหมวดหมู่ โดยส่วนมาก ผู้ที่เข้ามาหยิบยืมหนังสือมักเป็นนักเรียนของโรงเรียนใกล้เคียง วัดแห่งนี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กลางของคนในชุมชนแทบทุกเพศทุกวัย

 

6. แม้ผู้นำทางศาสนาจะมีบทบาทอย่างมากในโครงการบำบัดวิถีพุทธ กระนั้นพระอาจารย์ของวัดสว่างอารมณ์ก็ให้ความเห็นว่า การบำบัดผู้ติดสุราที่ดีต้องร่วมมือกับหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อดูแลสุขภาพกายตามหลักวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพใจด้วยคติธรรมคำสอน

 

7. ทุกๆ วันเสาร์ ศาลากลางวัดจะถูกเปลี่ยนเป็นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการดื่มสุรา และการบำบัดผู้ติดสุรา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากสถานพยาบาลในชุมชนมาให้คำแนะนำ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของโครงการบำบัดวิถีพุทธที่ทั้งภิกษุและชาวบ้านทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

8. หลังฟังวิทยากรบรรยายจบ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะพากันล้อมวง ระบายสีภาพ เพื่อฝึกสมาธิและตรวจดูว่าใครยังมีอาการมือสั่นจากการดื่มสุรามาเป็นระยะเวลานานบ้าง ผู้ที่ยังมีปัญหามือสั่นจะได้รับคำแนะนำเป็นรายบุคคลต่อไป

 

9. นอกจากการให้ความรู้เรื่องสุราและการบำบัดแล้ว บางครั้งวิทยากรก็จะเปลี่ยนบรรยากาศมาสอนเรื่องการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพง่ายๆ แก่ชาวบ้าน ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้สูงอายุที่แวะเวียนมาร่วมกิจกรรมและปฏิบัติธรรมในวัด

 

10. การเลิกดื่มสุราไม่เพียงทำให้ชีวิตของอดีตนักดื่มหลายคนดีขึ้น แต่ยังทำให้อดีตนักดื่มบางคนกลายมาเป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นครูที่นำประสบการณ์มาถอดบทเรียนเพื่อสอนวิธีเลิกดื่มให้แก่คนรอบข้าง

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปราสาททนง จังหวัดสุรินทร์

Related Articles