เปิดไทม์ไลน์สถิติเมาแล้วขับ
- – ในทุกๆ ปีจะมีผู้คนกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และในจำนวนนี้ได้รับบาดเจ็บและพิการถึง 50 ล้านคน นั่นคือตัวเลขจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
- – WHO คาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อุบัติเหตุบนท้องถนนจะกลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก
- – 90% ของอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกเกิดในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ – ปานกลางซึ่งมักเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินถนนและคนเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่ไม่ปลอดภัย
- – ในประเทศไทยแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเฉลี่ยปีละ 12,000 คน หรือวันละ 33 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นสองเท่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่
- – จากการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่ที่ 232,845 ล้านบาทต่อปีหรือคิดเป็น 2.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งที่ค่าเฉลี่ยทั่วไปไม่ควรเกิน 1-2% ของ GDP
- – สถานการณ์ล่าสุดปี 2564 ช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลปีใหม่เกิดอุบัติเหตุกว่า 3,333 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 392 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี 2563 กว่า 19 ราย
- – ‘เมาแล้วขับ’ เป็นคดีที่มียอดสะสมสูงสุด 4,435 คดี หรือคิดเป็น 42% จากคดีทั้งหมด
- – เมื่อปี 2560 มีการศึกษาการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้องฉุกเฉิน พบข้อมูลน่าสนใจว่าผู้บาดเจ็บมีพฤติกรรมการดื่มก่อนเกิดการบาดเจ็บภายใน 6 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธ์ที่ดื่มเฉลี่ย 108.3 มิลลิกรัม หรือเท่ากับการดื่มเบียร์ขวดใหญ่ 3.5 ขวด
ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงผลที่ตามมาของเหตุการณ์เมาแล้วขับ ทุกคนต่างเห็นร่วมกันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อเมาแล้วขับหรือผู้ที่กระทำความผิดเอง เป็นความโหดร้ายที่เกิดจากการไม่ทันได้ยั้งคิดของผู้ดื่มเกี่ยวกับผลที่อาจตามมาในอนาคตอันใกล้และผลต่อผู้อื่นในสังคมด้วย
‘ทำไมเมาแล้วต้องขับ?’ – นั่นคงเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจของหลายๆ คนเมื่อเห็นข่าวผ่านหน้าจอทีวี โทรศัพท์หรือแม้แต่หนังสือพิมพ์
และนักวิจัยก็คงสงสัยเช่นเดียวกับเรา
เปิดงานวิจัยอธิบายพฤติกรรมเมาแล้วขับ :
ความสามารถควบคุมตนเองต่ำ นิยมความสุขเดี๋ยวนั้น และอยู่กับปัจจุบันมากเกินไป
ความสามารถควบคุมตนเองต่ำ
‘คนเรามีแนวโน้มที่จะกระทำผิดหรือประกอบอาชญากรรมได้ทุกคน ถ้าขาดความอดกลั้น ขาดความยับยั้งชั่งใจ’
หลักทฤษฎี General Theory of crime หรือ Self-control Theory ของ Michael Gottfredson ว่าไว้แบบนั้น หรือคนทั่วไปอาจจะเรียกว่า ความสามารถในการควบคุมตนเอง
และความสามารถในการควบคุมตนเองนี่แหละ, คือปัจจัยสำคัญในกรณีเมาแล้วขับ
กัลป์ลิกา ฉินวิรุฬห์ศิริทรัพย์ นักวิจัยผู้สนใจเรื่องปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเมาแล้วขับ ทำวิจัยโดยศึกษาจากผู้ที่ถูกคุมความประพฤติคดีเมาแล้วขับกว่าจำนวน 400 คน และพบว่าความสามารถในการควบคุมตนเองมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มสุราถึง 27.2% หมายความว่าทฤษฎีการควบคุมตนเองแสดงให้เห็นว่า การมีความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการขับรถของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์
พูดให้ง่ายกว่านั้น,
การมีความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำเป็นปัจจัยพื้นฐานของการเมาแล้วขับ
งานวิจัยกล่าวถึงลักษณะของคนที่มีการควบคุมตนเองต่ำจะมีบุคลิกภาพแบบหุนหันพลันแล่น มักจะยึดถือตนเองเป็นจุดศูนย์กลางและฉุนเฉียวง่าย ที่สำคัญ คนที่ขาดการควบคุมตนเองมักจะแสวงหาความสุขให้ตนเองอยู่เสมอ และมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เป็นอันตรายเพราะชอบความเสี่ยงและความตื่นเต้นเร้าใจเป็นทุนเดิม ทั้งการดื่มเหล้า หรือการขับรถเร็ว กล่าวได้ว่าบุคคลที่ขาดการควบคุมตนเองมักมีแรงกระตุ้นต่อพฤติกรรมที่ขาดสติได้ง่าย
แต่ไม่ใช่แค่ทฤษฎีการควบคุมตนเองเท่านั้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังพูดถึงทฤษฎีทางอาชญาวิทยาที่น่าสนใจอีก 2 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีความผูกพันต่อครอบครัว และ ทฤษฎีการผูกมัดทางสังคม ซึ่งหลักๆ มีใจความว่า
‘มนุษย์เรามีแนวโน้มจะกระทำผิดกฎหมายเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเพียงแต่ควบคุมเอาไว้เท่านั้น’
เหตุที่มนุษย์สามารถควบคุมไว้ได้และไม่กระทำผิดเพราะกลัวว่าจะทำให้เสียความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนฝูง ครอบครัว พี่น้อง เพื่อนบ้าน ครู-อาจารย์ นายจ้าง เป็นต้น
หากความสัมพันธ์เหล่านั้นขาดความเหนียวแน่น ขาดความผูกพัน,
คนเราก็จะเป็นอิสระที่จะกระทำผิด
ในขณะที่ตามหลักทฤษฎีความผูกมัดทางสังคมบอกว่า การที่คนเราทุ่มเททั้งกำลังกายกำลังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องอาชีพ เรื่องเกียรติยศ และชื่อเสียง สิ่งเหล่านี้จะสร้างข้อผูกมัดทางสังคมไว้ และเมื่อคนเรามีข้อผูกมัดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะกระทำผิดก็จะลดน้อยลงเพราะการที่คนเราจะกระทำผิดหรือไม่นั้นจะต้องชั่งใจไตร่ตรองอยู่เสมอว่า ‘การกระทำผิดครั้งนี้เสี่ยงต่อการสูญเสียในเรื่องที่ตนได้มีข้อผูกมัดหรือพันธสัญญาหรือไม่’ – ซึ่งหากเห็นว่ามีโอกาสที่จะสูญเสียในเรื่องที่เป็นข้อผูกมัด บุคคลนั้นก็จะไม่กระทำความผิด
จากทั้ง 2 ทฤษฎีมองว่าคนที่ขาดความผูกพันต่อสังคมและคนที่ขาดข้อผูกมัดทางสังคมอาจมีผลต่อพฤติกรรมการกระทำผิดซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่าปัจจัยความผูกพันต่อครอบครัวและปัจจัยความผูกมัดทางสังคมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดื่มสุราของผู้ถูกคุมความประพฤติคดีเมาแล้วขับ ในระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ
นิยมความสุขเดี๋ยวนั้น (instant gratification)
ความสุขทันที (instant gratification) เป็นสิ่งตรงข้ามกับการชะลอการได้รับความสุขในระยะสั้น (Delay Gratification) หลายคนอาจรู้จักในชื่อ ‘ความอดทนรอคอย’
ความอดทนรอคอย หมายถึง ความสามารถในการต่อสู้กับความรู้สึกต้องการที่จะได้รับในทันที และสามารถอดทนรอคอยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
‘และคนเมาเเล้วขับมักจะให้น้ำหนักกับความสุขในปัจจุบันมากกว่าความสุขในอนาคตมากจนเกินไป’
งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า the Survey of Alcohol and Driving โดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ 3 คนจากมหาวิทยาลัย Duke – Frank A. Sloan, Lindsey M. Eldred และ Yanzhi Xu – ได้วิเคราะห์ข้อมูลของคนที่ดื่มเเล้วขับในสหรัฐอเมริกาและพบว่า
“พวกเขาชื่นชอบความสุขแบบทันที ส่วนเรื่องร้ายๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขาในอนาคต พวกเขาแทบไม่ได้คิดถึงมันเลย”
อยู่กับปัจจุบันมากเกินไป
การให้น้ำหนักกับความสุขปัจจุบันมากเกินไป จนละเลยผลที่อาจตามมาในอนาคตอาจกลายเป็นปัญหา – นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกพฤติกรรมนั้นว่า time-inconsistency
Time-Inconsistent Preference พฤติกรรมเบี่ยงเบนในการเลือกเชิงเวลา สมมติฐานพื้นฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กําหนดให้ความพอใจในแต่ละช่วงเวลาเป็นลักษณะคงที่ (Exponential Discounting) ซึ่งสามารถวัดได้จากค่าคิดลด (Discounting Factor) ของอรรถประโยชน์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งงานศึกษาเชิงพฤติกรรมชี้ให้เห็นว่า
“มนุษย์มีลักษณะให้คุณค่าหรือความพอใจในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต (Present Bias)”
และนั่นเป็นผลให้แม้ว่าผู้ที่เมาแล้วขับจะเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องกฎหมาย หรือเข้าใจได้ว่าการเมาแล้วขับเป็นเรื่องที่ไม่ดีและเสี่ยงที่จะเกิดผลร้ายกับตนเองและผู้อื่น แต่พวกเขาก็จะยังคงเลือกทำตามความพอใจซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะมากกว่าการคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากเป็นเช่นนั้นแล้วนโยบายแบบไหน?
การบังคับใช้กฎหมายเช่นไร?
จะแก้ปัญหาเมาแล้วขับได้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ‘เมาแล้วขับ – สร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบร่วมของรัฐ ร้านเหล้าและคนดื่ม’
ที่มา:
https://www.voicetv.co.th/read/475431
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm