จากตอนที่แล้ว เราได้พาไปรู้จักกับผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อผู้ดื่มในทางชีวภาพซึ่งเป็นปัจจัยแรกสุด แต่นอกจากปัจจัยทางด้านชีวภาพแล้ว แอลกอฮอล์ก็ยังส่งผลกระทบในด้านอื่นที่คุณอาจมองไม่เห็นหรือไม่เคยสังเกตมาก่อนด้วย
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณไปพบกับภาคต่อของหัวข้อแอลกอฮอล์กับความรุนแรง โดยในตอนนี้เราจะพาคุณร่วมศึกษาอีกสองปัจจัยที่เหลือ อันได้แก่ ปัจจัยด้านจิตใจ และปัจจัยด้านครอบครัว สังคม และสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยด้านจิตใจที่ทำให้ผู้ดื่มสุราก่อความรุนแรง ฝ่ายผู้กระทำความรุนแรง
ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่…
- ปัจจัยด้านบุคคล
บุคลิกภาพแบบ antisocial personality disorder: เป็นบุคลิกที่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือบุคลิกของการขาดการสำนึกผิด ไม่วิตกกับการกระทำที่ไม่ดีของตนและยังไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น หลายครั้งคนที่มีบุคลิกเช่นนี้จึงมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ใจร้อน ก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่นได้ง่าย และจากบุคลิกทั้งหมดพบว่า บุคลิกนี้มีส่วนสัมพันธ์ในเรื่องแอลกอฮอล์กับความรุนแรงมากที่สุด งานวิจัยยังพบอีกด้วยว่าผู้ที่มีบุคลิกแบบนี้มีโอกาสติดสุราสูงกว่าคนทั่วไปถึง 21 เท่า
บุคลิกภาพแบบ borderlined personality disorder: เป็นบุคลิกที่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คือมีอารมณ์แปรปรวน ทนความเหงาไม่ค่อยได้และซึมเศร้าได้ง่าย และมักทำร้ายตัวเองหรือแม้แต่พยายามฆ่าตัวตายเพราะต้องการให้คนอื่นสนใจตนเอง บุคลิกนี้สัมพันธ์กับการดื่มสุราในแง่ที่ว่าการดื่มทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกมีที่พึ่ง มีทางออก และลืมความรู้สึกย่ำแย่ในขณะดื่ม จึงทำให้มีโอกาสดื่มสุราได้มากกว่า แต่ในแง่ของการก่อความรุนแรงยังถือว่าน้อยกว่าบุคลิกภาพแบบแรก
ลักษณะพื้นอารมณ์ชอบความรุนแรง: ลักษณะคนที่ชอบความเสี่ยงและความรุนแรงอาจก่อให้เกิดการใช้สุราในทางที่ผิด อีกทั้งคนที่ชอบความรุนแรงมักจะเลือกอยู่ในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้มีการดื่มสุราอย่างหนัก และการดื่มสุราอย่างหนักก็จะนำไปสู่ความรุนแรงต่อไป
บุคลิกภาพและลักษณะอื่นๆ: บุคลิกภาพแบบ paranoid personality disorder และ narcissistic personality disorder ลักษณะอื่นๆ ได้แก่ บุคคลที่มีทัศนคติที่ไม่ดี มีปัญหาในการปรับตัว เหงาและอ้างว้างอยู่เป็นนิจ และบุคคลที่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
2. ปัจจัยด้านครอบครัว
เด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย: มักมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม เช่น ก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรง มีโอกาสทำผิดกฎหมายและใช้สุราได้มาก การที่คนกลุ่มนี้ใช้สุราก็อาจเป็นกลไกในการแก้ปัญหา ที่จะจัดการกับรอยแผลในใจจากการถูกทำร้ายในอดีต ช่วยให้ตนหนีจากความเจ็บปวดและความทุกข์ใจ และการดื่มสุราเพื่อช่วยให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นอาจนำไปสู่การกลายเป็นกลุ่มผู้ดื่มแบบเกิดปัญหา (alcohol abuse) ได้ในที่สุด
เด็กที่ถูกทอดทิ้งและการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่: การที่เด็กคนหนึ่งถูกผู้เลี้ยงดูทอดทิ้งมักจะกระตุ้นให้เด็กคนนั้นเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กทั่วไป โดยเด็กกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งนี้จะมีระดับของสาร serotonin ลดลงกว่าเด็กกลุ่มอื่น ขณะที่ในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัวพบว่า ครอบครัวที่ใช้สุรามักจะละเลยในการดูแลเด็กจนทำให้เด็กถูกทอดทิ้ง อันจะส่งผลให้เด็กก้าวร้าวได้ง่าย ร่วมกับการเลียนแบบพฤติกรรมการใช้สุรามาจากผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวที่ทั้งดื่มสุราและใช้ความรุนแรง เด็กก็มีโอกาสจะเลียนแบบพฤติกรรมทั้งสองอย่างมาจากผู้ใหญ่ด้วย
ครอบครัวที่ใช้อารมณ์โต้เถียงกันบ่อยๆ: เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ใช้อารมณ์โต้เถียงกันบ่อยๆ มีแนวโน้มจะแสดงความก้าวร้าวอย่างมากทั้งด้านพฤติกรรมและการพูดจา การใช้สุรามีส่วนสัมพันธ์ทั้งเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงและเป็นผลให้เกิดการดื่มสุรา และเมื่อใช้สุราก็จะทำให้เกิดความรุนแรงตามมาต่อ กลายเป็นวงจรที่วนเวียนไปมา หาทางออกของปัญหาดังกล่าวไม่ได้
ความรุนแรงในคู่สมรส: ถ้าคู่ครองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดสุรา ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการทำร้ายร่างกายกันมากกว่าคู่ที่ไม่มีฝ่ายใดติดสุราเลย ในกรณีที่ผู้ชายมีประวัติการทำร้ายคู่ครองพบว่า เขามีแนวโน้มจะทำร้ายคู่ครองของตนมากขึ้นเมื่อดื่มสุรา นอกจากนี้การดื่มสุรายังสัมพันธ์กับการเกิดการโต้เถียงกันบ่อยๆ ในครอบครัว และคู่ที่ครองคู่กันนานยังมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดการใช้ความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย
3. ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
การเลียนแบบพฤติกรรมจากสังคม: สังคมที่มองความรุนแรงว่าเป็นเรื่องปกติจะส่งผลให้ผู้คนในสังคมเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว ยิ่งถ้าสังคมมองว่าการดื่มสุราเป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้ ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการดื่มสุราได้มาก เมื่อสองสิ่งนี้ประกอบกันก็ยิ่งทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ง่ายและเป็นวงกว้าง เช่น กรณีความรุนแรงในละครโทรทัศน์ของประเทศไทย หรือประเด็นความรุนแรงในสื่อ เป็นต้น จะเห็นว่าบริบทของสังคมไทยก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการใช้แอลกอฮอล์และความรุนแรงได้มากขึ้นเช่นกัน
สถานะทางสังคมเศรษฐกิจต่ำ: มีการค้นพบว่ากลุ่มคนที่อยู่ในสถานะทางสังคมเศรษฐกิจที่ต่ำเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการดื่มสุรา และเกิดปัญหาได้มากกว่าคนที่อยู่ในสถานะที่ดีกว่า เนื่องมาจากสาเหตุด้านความยากจน การศึกษาน้อย ไม่มีงานทำ ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงได้มากกว่า
ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่…
- ปัจจัยด้านบุคคล
ความคาดหวัง: หลายคนจะมีความคาดหวังเกี่ยวกับผลของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมบางประการ เช่น เชื่อว่าหากดื่มจะเป็นมิตรมากขึ้น หรือกล้าพูดกล้าทำมากขึ้น ดังนั้น จึงอาจบ่งชี้ได้ว่าคนที่มีนิสัยก้าวร้าวอยู่แล้วก็จะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวมากขึ้น เพราะเขาเหล่านั้นเชื่อว่าแอลกอฮอล์จะช่วยให้พวกเขาก้าวร้าวมากขึ้น แต่ในบางกรณี เราอาจมองได้ว่าการดื่มสุรากระตุ้นความก้าวร้าวรุนแรง เพราะคนเหล่านี้ต้องการแสดงพฤติกรรมรุนแรงอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีบางคนนำเอาการดื่มสุรามาเป็นข้ออ้างหรือข้อแก้ตัวเพื่อจะช่วยให้พ้นผิดได้ นอกจากนี้ยังมีความต้องการอื่นๆ เช่น ต้องการให้รู้สึกเข้มแข็ง กล้าแสดงออก ต้องการหลีกเลี่ยงการถูกทำโทษหรือติเตียน เป็นต้น
2. ปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
แม้ว่าแอลกอฮอล์จะกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าวรุนแรงได้ แต่พบว่าความก้าวร้าวมักจะเกิดเมื่อผู้ดื่มรู้สึกว่าตนโดนคุกคาม ขณะที่สถานที่ที่เกิดเหตุรุนแรงบ่อยสุด คือตามท้องถนนและสวนสาธารณะ และเวลาที่มักเกิดความรุนแรงมากสุดคือช่วง 18.00-24.00 น.
3. ปัจจัยจากการใช้แอลกอฮอล์
ช่วงเวลาของการใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายมักเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการดื่มหรือหลังจากเพิ่งดื่มเสร็จ ในขณะที่เรื่องปริมาณการดื่มนั้นพบว่า การดื่มสุรามากทำให้เกิดภาวะความเป็นพิษจากแอลกอฮอล์ได้ (intoxication) นอกจากนี้หากดื่มมากมีแนวโน้มจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้มาก
ฝ่ายผู้ถูกกระทำความรุนแรง
- ปัจจัยด้านบุคคล ประกอบด้วย
มีลักษณะชอบการโต้เถียง: ท่าทีชอบโต้เถียงและลักษณะก้าวร้าวรุนแรงอาจจะกระตุ้นให้เกิดการทะเลาะ หรือกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าถูกคุกคามจนโดนทำร้ายได้
ประวัติถูกทำร้ายในวัยเด็ก: การถูกทำร้ายในวัยเด็กอาจส่งผลให้จัดการชีวิตได้ไม่ดีนัก นำไปสู่การเลือกอยู่หรือเลือกทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนเสี่ยงที่จะถูกกระทำความรุนแรงได้โดยง่าย
วิธีการเลือกคบคนหรือเลือกคู่ครองไม่เหมาะสม: การสร้างความสัมพันธ์กับคนที่ติดสุรา เคยทำร้ายผู้อื่นหรือคู่ครอง รวมถึงการสนิทสนมกับคนแปลกหน้าได้ง่าย เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายได้จากคนที่สร้างความสัมพันธ์ด้วย
มีลักษณะการดื่มไม่เหมาะสม: เช่น การดื่มกับคนแปลกหน้า หรือดื่มอย่างหนักจนทำให้การรับรู้สิ่งต่างๆ ผิดปกติ การประเมินความเสี่ยงแย่ลง และทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบกพร่องไปด้วย จึงทำให้การตัดสินใจ การดูแลตนเองแย่ลง ป้องกันตนเองได้ไม่ดีนัก หากเป็นผู้หญิงก็อาจนำไปสู่การถูกทำร้ายทางเพศได้
2. ปัจจัยด้านครอบครัว สังคม หรือสิ่งแวดล้อม
คือการอยู่ในครอบครัวหรือสังคมที่มีความรุนแรงนั่นเอง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราเชื่อว่าคุณคงจะพอเห็นภาพบ้างว่าเพราะเหตุใดการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะสุรา จึงมักนำไปสู่การก่อความรุนแรงจนเกิดเป็นข่าว หรือเหตุการณ์ที่เราได้ยินหรือเห็นกันจนชินตา ทั้งนี้แอลกอฮอล์ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับตัวผู้ดื่ม แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนที่ใกล้ชิดกับผู้ดื่มอีกด้วย ดังนั้นแม้ว่าข่าวความรุนแรงอันเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์แบบไม่รู้จักประมาณตนจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนคนในสังคมเริ่ม ‘ชิน’ แต่สิ่งที่เราควรพึงระลึกไว้เสมอคือความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ที่ไหน หรืออย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราควรยอมรับได้หรือควรจะ ‘ชิน’ กับมันแต่อย่างใด
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm