ดื่มเหล้าเท่ากับ ‘แมน’ (?) : สำรวจมายาคติที่ทำให้ผู้ชายต้องดื่ม

November 5, 2019


เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ภาพที่เราเห็นจนชินตามักเป็นผลกระทบต่อกลุ่มผู้หญิง เช่น การถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ความไม่เท่าเทียมกันด้านโอกาสทางการศึกษาหรือสายอาชีพ รวมถึงการถูกควบคุมความประพฤติ ไม่ให้แตะต้องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มดังกล่าวมีไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงดื่มแล้วจะดูไม่งาม (อ่านพัฒนาการการต่อสู้ด้านสิทธิสตรีผ่านแก้วเหล้าได้ ที่นี่)

แต่อีกด้านหนึ่ง วัฒนธรรมดังกล่าวก็ส่งผลต่อผู้ชายไม่แพ้กัน แม้ไม่ได้มาในรูปแบบการถูกกดขี่ ลิดรอนสิทธิ หรือตำหนิติเตียนความประพฤติ หากปรากฏอยู่ในรูปแบบ ‘ความคาดหวัง’ ให้คุณผู้ชายมีคุณลักษณะตามที่สังคมตีความว่า ‘มาดแมนสมชาย’ อย่างเคร่งครัดไม่ต่างจากกรอบกุลสตรีของผู้หญิง

แน่นอนว่าการดื่มสุราก็ถูกนับเป็นการแสดงออกถึงความมาดแมนแบบหนึ่ง นั่นทำให้คุณผู้ชายหลายคนประสบปัญหา ‘ต้องดื่ม’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าใครออกตัวว่าไม่ดื่ม หรือดื่มไม่เป็น ก็อาจถูกคนรอบข้างหัวเราะเยาะหยันและมองว่าไม่มีความเป็นลูกผู้ชายเอาเสียเลย

แต่ลูกผู้ชายที่แท้จริงจำเป็นต้องดื่มเหล้าเสมอไปหรือ? Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณไปทบทวนหาคำตอบของคำถามนี้อีกครั้ง ผ่านการเจาะลึกอีกมุมหนึ่งของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ว่า ความเชื่อดังกล่าวสร้างมายาคติความเป็นชายผ่านแก้วเหล้าอย่างไร ผู้ชายบุคลิกแบบไหนที่มีแนวโน้มดื่มหนัก และการกดดันให้ผู้ชายดื่มสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างไร

 

นิยามของความ ‘แมน’ ที่ส่งผลให้คนดื่ม

 

วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มีบทบาทอย่างมากในการนิยามลักษณะความเป็นชาย และเนื่องจากชุดความคิดนี้แพร่ขยายไปทั่วโลก บรรทัดฐานความประพฤติของผู้ชายแทบทุกสังคมจึงเหมือนหรือใกล้เคียงกันมากจนเรียกได้ว่าเป็นบรรทัดฐานสากล

ในปี 2003 Mahalik J. R และคณะ ระบุรายละเอียดบุคลิกอันพึงประสงค์ของผู้ชายในสังคมปิตาธิปไตยผ่านรายงานเรื่อง “Development of the Conformity to Masculine Norms Inventory” ว่าผู้ชายต้อง ‘นำเสนอตนเองว่าเป็นรักต่างเพศ’ (heterosexual presentation) ไม่แสดงแนวโน้มเป็นเกย์หรือคนรักเพศเดียวกัน นำมาสู่บุคลิก ‘เจ้าชู้’ (playboy) มีคู่นอนหลายคน รักสนุกแต่ไม่คิดผูกพัน ต้องเป็นฝ่าย ‘ควบคุมผู้หญิง’ (power over women) มีอำนาจเหนือกว่าแทบทุกด้าน และมีสิทธิ์ในการ ‘ใช้ความรุนแรง’ (violence) เพื่อแสดงออกถึงอำนาจตามธรรมชาติของร่างกายที่เหนือกว่าผู้หญิงหรือกระทั่งผู้ชายด้วยกัน

อีกด้านหนึ่ง ผู้ชายต้องพยายาม ‘ยกระดับตัวเอง’ ให้มีหน้ามีตาในสังคม (pursuit of status) ‘ให้ความสำคัญกับการทำงาน’ (primacy of work) ‘รักการแข่งขัน ชอบเอาชนะ’ (winning) ‘มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์’ (emotional control) ‘พึ่งพาตนเอง’ ไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น (self-reliance) ‘มีความเป็นผู้นำ’ (dominance) สุดท้าย ผู้ชายต้องมีความ ‘กล้าได้กล้าเสีย รักความท้าทาย’ (risk taking) จึงจะนับได้ว่าเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริง

บุคลิกภาพตามบรรทัดฐานความเป็นชายเหล่านี้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการดื่มสุรา อ้างอิงจากงานวิจัยในปี 2014 เรื่อง “College men and alcohol use: Positive alcohol expectancies as a mediator between distinct masculine norms and alcohol use” โดย Derek Kenji Iwamoto และคณะ ระบุว่าบุคลิกภาพแบบชอบเอาชนะ (winning) กล้าได้กล้าเสีย (risk taking) ใช้ความรุนแรง (violence) มีอำนาจเหนือผู้หญิง (power over women) และเจ้าชู้ (playboy) ก่อให้เกิดการดื่มสุราในกลุ่มนักดื่มชายอย่างมีนัยสำคัญ

สอดคล้องกับงานวิจัยในปีเดียวกันเรื่อง “Linking Masculinity to Negative Drinking Consequences: The Mediating Roles of Heavy Episodic Drinking and Alcohol Expectancies” โดย Samantha Wells และคณะ ซึ่งเผยว่านอกจากบุคลิกข้างต้นแล้ว กระทั่งความพยายามนำเสนอตัวเองว่า ‘แมนแท้’  (heterosexual presentation) ก็ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมดื่มหนัก และปัญหาอื่นๆ ตามมาพร้อมการดื่ม เช่น เมาแล้วขับ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ใช้ความรุนแรง ทะเลาะวิวาท เป็นต้น

แม้กระทั่งบุคลิกที่ดูเหมือนจะเป็นข้อดีอย่างสามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง (emotional control) หรือการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ยังทำให้ผู้ชายมีแนวโน้มดื่มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่บุคลิกให้ความสำคัญกับงาน (Primacy of work) กลายเป็นบุคลิกเพียงด้านเดียวที่ได้รับการพิสูจน์ว่าทำให้ผู้ชายดื่มเหล้าน้อยลง

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ McCreary D. R. เรื่อง “The male role, alcohol use, and alcohol problems: A structural modeling examination in adult women and men” ตั้งแต่ปี 1999 ยังสะท้อนภาพความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมและพฤติกรรมดื่มสุราว่า ยิ่งสังคมมีการส่งเสริมขนบความเป็นชายมากขึ้น ยิ่งสามารถคาดเดาได้ว่าจำนวนปริมาณการดื่มของคน ความถี่ในการดื่ม และจำนวนผู้เจ็บป่วยจากการดื่มจะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งถ้าตัวผู้ดื่มเองยึดมั่นในขนบความเป็นชายอย่างเคร่งครัด ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ บาดเจ็บ และเสียชีวิตมากขึ้นอีกด้วย

 

เหตุผลที่ความ ‘แมน’ ส่งเสริมให้คนดื่ม

 

นักวิจัยจากหลายสำนักพยายามไขปริศนาความสัมพันธ์ระหว่าง ‘บุคลิกแมนๆ’ แต่ละด้านและพฤติกรรมการดื่มสุราว่าส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างไร

ปี 2015 Richard O. de Visser และ Jonathan A. Smith ทำงานวิจัยเรื่อง “Alcohol consumption and masculine identity among young men” ด้วยการสัมภาษณ์นักดื่มชายนายหนึ่งเกี่ยวกับเหตุผลของการดื่มสุรา และเขาตอบว่า “ดื่มเพื่อแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเรามีดีกว่าพวกเขา ถ้าเราดื่มได้มากกว่าใคร ก็ยิ่งหมายความว่าเราเหนือกว่า” ขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนย้ำว่านอกจากผู้ชายต้องดื่มให้เป็น ยังต้องดื่มได้โดยไม่เมาเป็นเวลานาน หรือที่เรียกกันว่า ‘คอแข็ง’ อีกด้วย

เมื่อผู้ชายถูกปลูกฝังให้รักการแข่งขัน ชอบเอาชนะ และต้องเป็นผู้นำถึงจะสมชาย วงน้ำเมาจึงกลายเป็นหนึ่งในเวทีชิงดีชิงเด่น การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากถูกมองเป็นวิธีพิสูจน์ความเหนือกว่า แกร่งกว่า แมนกว่า และคนที่คอแข็งที่สุดมักได้รับเสียงชื่นชม ยกย่องให้เป็นผู้นำของกลุ่ม ตอบสนองต่อบุคลิกชอบเอาชนะ (winning) และต้องเป็นผู้นำ (dominance) ได้เป็นอย่างดี

ตรงกันข้าม หากชายใดคออ่อน ดื่มแก้วสองแก้วแล้วเมาล้มพับ ก็อาจถูกตราหน้าว่าอ่อนแอเหมือนผู้หญิง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าผู้ชายควรแสดงออกให้แตกต่างจากหญิงอย่างชัดเจน (heterosexual presentation) ทำให้สุดท้ายแล้วผู้ชายต้องดื่มหนักขึ้น หนักขึ้นเพื่อฝึกฝนตัวเองให้คอแข็งยิ่งกว่าเดิม

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อกลายเป็นผู้ชายแมนๆ คือการเป็นผู้ชายที่มีเสน่ห์มัดใจสาว บุคลิกเจ้าชู้เพลย์บอยจึงเป็นบุคลิกอันดับต้นๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมดื่มหนักเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ เพราะแม้ว่าการมีคู่นอนหลายคนจะยิ่งดูเท่ ดูดี การันตีเสน่ห์ความเป็นชาย แต่หลายคนก็ต้องการตัวช่วยอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากระตุ้นความกล้าในการเข้าหาเพศตรงข้าม ตามที่ปรากฏในงานวิจัยเรื่อง “The perilous world where boys become men” ของ Kimmel M. ว่าวัยรุ่นชายต่างดื่มแอลกอฮอล์กันหนักขึ้นเนื่องจากเชื่อว่าแอลกอฮอล์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พวกเขา ‘ไปต่อ’ กับสาวๆ ได้ง่าย

แต่สำหรับชายหนุ่มบางกลุ่มกลับมองว่าสุราเป็นเครื่องมือที่ทำให้พวกเขากล้าปลดปล่อยความทุกข์ อันเป็นผลจากการที่สังคมคาดหวังให้ผู้ชายมีบุคลิกหนักแน่น สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างสุขุม พวกเขาจึงไม่สามารถแสดงออกความเศร้า เหงา กลัว หรือคับข้องใจ เว้นเสียแต่จะทำให้ตนเอง ‘เมา’ ถึงกล้าแสดงอารมณ์อ่อนไหวและระบายความรู้สึกออกมา บางครั้งเมื่อผนวกกับความเชื่อว่าผู้ชายควรพึ่งพาตัวเองเท่านั้น (self-reliance) ทำให้ผู้ชายไม่ร้องขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาคนอื่นๆ แต่เลือกดื่มเพื่อคลายทุกข์เป็นอันดับแรก และกล้าดื่มหนัก เพราะเชื่อว่าตนสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ที่ตามมาจากการดื่มได้

ในทางกลับกัน สาเหตุที่ชายผู้มีบุคลิกให้ความสำคัญกับงาน (primacy of work) มีแนวโน้มดื่มสุราน้อยกว่าบุคลิกด้านอื่น เพราะพวกเขาคิดว่าถ้าดื่มจนเมา ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานหรือการเรียนในวันต่อๆ ไป จึงลด ละ เลือกจะไม่ดื่ม

 

วัฒนธรรมและโฆษณาที่สนับสนุนวัยรุ่นชายให้ดื่ม

 

ด้วยความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นระหว่างบุคลิกความเป็นชายและพฤติกรรมดื่มสุรานี้เองที่ทำให้นานวันเข้า การบริโภคแอลกอฮอล์กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว และผู้ได้รับผลกระทบจากการปลูกฝังวัฒนธรรมเหล่านี้มากที่สุดคงไม่แคล้วเป็นกลุ่มหนุ่มวัยรุ่นซึ่งอยู่บนรอยต่อระหว่างสถานะ ‘เด็ก’ และ ‘ผู้ใหญ่’

งานวิจัยเรื่อง “College alcohol use and the embodiment of hegemonic masculinity among European American men” ของ Peralta R. L. ปี 2007 เผยว่านักศึกษามหาวิทยาลัยชายและหญิงส่วนใหญ่ต่างเข้าใจว่าการดื่มสุราเป็นพฤติกรรมปกติของผู้ชาย อีกทั้งฝั่งนักศึกษาชายยังเชื่อว่าการได้เมามายร่วมกับผองเพื่อนถือเป็นการสร้างมิตรภาพตามแบบฉบับชายแท้ และภูมิใจที่ได้แสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนดื่มเหล้าเก่ง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผลการวิจัยของ Derek Kenji Iwamoto และคณะในปี 2011 เรื่อง ““Man-ing” up and Getting Drunk: The Role of Masculine Norms, Alcohol Intoxication and Alcohol-Related Problems among College Men” จะชี้ให้เห็นว่าถ้าผู้ชายยึดมั่นในมิตรภาพ (fraternity) สูงหรือมีทัศนคติที่ดีต่อการดื่มยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการดื่มจนเมา และปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาหลังบริโภคแอลกอฮอล์

ความเชื่อและทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องเหล้าของเยาวชนไม่เพียงแต่เกิดจากการสังเกตผู้ใหญ่ใกล้ตัว ส่วนหนึ่งยังรับรู้ผ่านสื่อโฆษณาที่แสดงถึงความเท่ของการดื่ม ไลฟ์สไตล์สนุกสุดเหวี่ยง หรือตลกขบขันโดนใจวัยรุ่น ทั้งยังใช้กลยุทธ์นำเสนอภาพความเป็นชายควบคู่ไปกับการดื่มเหล้า โดยงานวิจัยของ Messner และ Montez de Oca ในปี 2005 พบว่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่มักนำเสนอเรื่องราวของผู้ชายในแง่คนขี้แพ้ (Loser) และผองเพื่อน (Buddies) มากที่สุด

เหตุผลที่ภาพลักษณ์ความขี้แพ้ (Loser) ได้รับความนิยมในโฆษณาเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าผู้ชายได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแข่งขันหรือไขว่คว้าโอกาสต่างๆ แล้ว แต่ถ้าผลลัพธ์นั้นน่าผิดหวัง อกหักช้ำรัก หรือท้อแท้ใจ ก็ยังสามารถใช้สุราปลดปล่อยความทุกข์ ด้านการนำเสนอเรื่องราวระหว่างผองเพื่อน (Buddies) ในโฆษณานั้นเป็นการหยิบยกความเชื่อเรื่องมิตรภาพของผู้ชายในวงน้ำเมาไปใช้ สร้างภาพจำเกี่ยวกับบางกิจกรรมของผู้ชายว่าต้องมีเหล้าเบียร์มาเพิ่มความสนุกสนาน เช่น งานสังสรรค์ดูบอล งานแข่งกีฬา หรืองานแสดงดนตรี เป็นต้น

 

ผลลัพธ์ที่ผู้ชาย (อาจ) ต้องเจอจากการดื่ม

 

การปลูกฝังวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่พร้อมกับการดื่มสุราอาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหาความรุนแรงเพราะผู้ชายเชื่อว่าตนแข็งแกร่ง ต้องการแสดงอำนาจ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ความยับยั้งชั่งใจน้อยลงจนเกิดการทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรงกับคนในครอบครัว และปัญหาสุขภาพของตัวผู้ดื่มเอง

การดื่มเหล้ามากเกินไปทำให้ผู้ชายเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับ โรคหัวใจ โรคกระดูก มะเร็ง เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า ที่สำคัญยังส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (testosterone) หรือฮอร์โมนเพศชาย ทำให้สมรรถทางเพศเสื่อมลง การสร้างอสุจิลดน้อยลงและเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ เคลื่อนที่ไปยังไข่ได้น้อย รวมถึงทำให้หน้าอกดูใหญ่ขึ้น ผมร่วง และเกิดโรคผิวหนังได้

จะเห็นได้ว่ามิติทางวัฒนธรรมเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายยากจะปฏิเสธการดื่มเหล้า และทางออกของปัญหานี้ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคนในสังคม ช่วยกันเปลี่ยนความคิดที่ว่าลูกผู้ชายตัวจริงต้องดื่มสุรา รวมถึงหันกลับมาดูแลคนใกล้ชิด ไม่ให้เผลอดื่มมากไปเพราะความเชื่อผิดๆ เหล่านี้อีก

 

 


 

ที่มา:

-Samantha Wells, Andrea Flynn, Paul F. Tremblay, Tara Dumas, Peter Miller and Kathryn Graham. Linking Masculinity to Negative Drinking Consequences: The Mediating Roles of Heavy Episodic Drinking and Alcohol Expectancies.  Available at https://pdfs.semanticscholar.org/3153/042ca2a901a5bc78b6e52aa28ad832c57184.pdf?_ga=2.244657222.2108357313.1568603730-1134059579.1568603730&fbclid=IwAR19LBJtml0tU23r52xFuqlR1nnxaUiS9WfWNDvR5SSX3h4VoVu07KmKVm4

-Derek Kenji Iwamoto, Alice Cheng, Christina S. Lee, Stephanie Takamatsu and Derrick Gordon.  2011.   “Man-ing” up and Getting Drunk: The Role of Masculine Norms, Alcohol Intoxication and Alcohol-Related Problems among College Men.  Available at https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3118921/?fbclid=IwAR211-vYvrQYeIfQGJ6TbeMsSvkxF1a3w5agb_S-eLInAQKwxwSTqg6OA7U

-Beachway Therapy Center. Alcoholism and Toxic Masculinity: Why Men Are Driven To Drink.  Available at https://www.beachway.com/toxic-masculinity-and-alcoholism/?fbclid=IwAR0__Ld-NaFxEvo6oCya1vipvkfaA_Pu6rnSEXZEQkXvSgz1o_xLU4i6c5M

-Richard O. de Visser and Jonathan A. Smith.  2015.  Alcohol consumption and masculine identity among young men.  Available at file:///C:/Users/New/Downloads/devisser2007.pdf

– Gregory Hall and Robert Kappe.  2018.  Gender, Alcohol, and the Media: The Portrayal of Men and Women in Alcohol Commercials.  Available at https://www.researchgate.net/publication/326822796_Gender_Alcohol_and_the_Media_The_Portrayal_of_Men_and_Women_in_Alcohol_Commercials

-drinkaware.  Alcohol and men.  Available at https://www.drinkaware.co.uk/alcohol-facts/health-effects-of-alcohol/alcohol-and-gender/alcohol-and-men/

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles