เคยไหมนั่งชมภาพยนตร์อยู่ดีๆ แล้วเกิดอาการอยากเลียนแบบเทคโนโลยีเจ๋งๆ ในจอภาพ ลองเอาเท้าไปสัมผัสกับคันเร่ง หรือทดลองเล่นกับฟังก์ชันภายในรถยนต์ที่ถูกออกแบบมาให้เราใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
แต่นอกเหนือไปจากความเร็วและความสะดวกสบาย สิ่งที่ต้องตามมากับการขับขี่ทุกครั้งคือความปลอดภัย
ดังนั้น จะดียิ่งขึ้นไหม ถ้าหากเทคโนโลยีในรถยนต์แบบใหม่ คือเทคโนโลยีประเภทคอยตรวจจับแอลกอฮอล์ ที่จะไม่ยอมแม้แต่ให้คุณบิดกุญแจสตาร์ทหากมีระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินไป
ย้อนมาดูเหตุผลกันสักนิดว่าทำไมเทคโนโลยีนี้จึงสำคัญ จากสถิติการเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลปีใหม่ของประเทศไทย กรมคุมประพฤติ ระบุว่า วันที่ 29 ธันวาคม 2562 เพียงวันเดียวคดีขับรถขณะเมาสุรายอดพุ่งถึง 3,880 คดี คิดเป็นร้อยละ 99.64
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติ สะสม 3 วัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา ปี พ.ศ. 2562 มีจำนวน 2,944 คดี กับปี พ.ศ. 2563 มีจำนวน 4,452 คดี เพิ่มขึ้นถึง 1,508 คดี คิดเป็นร้อยละ 51.22
ขณะที่สถิติปี 2564 อธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงสถิติอุบัติเหตุบนถนนเกิดขึ้น 713 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้บาดเจ็บ 709 คน สาเหตุหลักมาจากการ ‘เมาแล้วขับ’ ยอดอุบัติเหตุสะสม 4 วัน รวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 267 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,362 คน
เมื่อได้เห็นสถิติดังที่กล่าวไป หลายคนอาจจะเริ่มคิดว่าดูเข้าท่า หากนำเทคโนโลยีระบบรถยนต์ตรวจจับแอลกอฮอล์มาปรับใช้
ต้นกำเนิดของเทคโนโลยีที่ว่ามานี้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา โดยสถานการณ์การเมาแล้วขับยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงทุกปีไม่ต่างจากประเทศไทย แอลกอฮอล์คร่าชีวิตผู้คนที่เมาแล้วขับประมาณ 30% และทศวรรษที่ผ่านมาตำรวจได้ดำเนินการจับกุมกลุ่มคนที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ราวๆ ล้านคนต่อปี
ทว่าเทคโนโลยีช่วยหยุดยั้งไม่ให้ผู้ขับขี่ออกตัวหรือเคลื่อนที่ขณะร่างกายไม่พร้อมสามารถป้องกันผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ใน 4 ของประเทศและรักษาชีวิตผู้คนได้มากกว่า 9,000 ชีวิตต่อปี
สำรวจเทคโนโลยีสหรัฐฯ
‘ระบบรถตรวจจับระดับแอลกอฮอล์’
การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 โดยสถาบันประกันภัยเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวง (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากอุตสาหกรรมรถยนต์) ตรวจสอบถึงศักยภาพการช่วยชีวิตในระบบตรวจจับแอลกอฮอล์บนรถยนต์ ซึ่งจะเปิดเผยตัวเลขเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่สูงกว่าขีดจำกัดที่กำหนดไว้
“เรายังไม่มีความคืบหน้ามากนักในการพยายามต่อสู้กับอาการเมาแล้วขับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990” ชาร์ลลี ฟาร์มเมอร์ (Charles Farmer) รองประธานฝ่ายวิจัยและบริการทางสถิติของสถาบันและผู้เขียนบทความในแถลงการณ์ ระบุ
“แต่เทคโนโลยีการตรวจจับอาจทำให้เกิดแก้ปัญหาการเมาแล้วขับได้อย่างแท้จริง”
จากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลรถชนที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ในเลือดของคนขับเพื่อประเมินระบบของผลกระทบ จะต้องแบ่งคนขับรถยนต์ออกเป็นรายกรณี เช่น ผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ผู้ที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 0.08% และ ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในการขับขี่ที่บกพร่องจากแอลกอฮอล์
จากการศึกษาเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 2015-2018 นักวิจัยระบุว่า 1 ในส่วน 4 ของผู้เสียชีวิตจากรถยนต์ชนสามารถป้องกันได้ หากผู้ขับนั้นมีระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดต่ำกว่า 0.08% และหากคนขับคนนั้นมีระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็น 0 ผู้เสียชีวิต 1 ในส่วน 3 หรือประมาณ 12,000 คนต่อปี อาจจะไม่เสียชีวิตจากการถูกรถชน
ดังนั้นในปัจจุบัน จึงมีเทคโนโลยีอุปกรณ์เชื่อมต่อจุดระเบิดแอลกอฮอล์ (innigtion interlock) อธิบายง่ายๆ อุปกรณ์นี้คล้ายๆ ที่เป่าวัดแอลกอฮอล์ แต่ต่างที่จะถูกติดไว้กับคอนโซลรถ ถ้าเป่าแล้วเกิน สตาร์ทรถไม่ได้
มีรายงานระบุว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำไปใช้ลดการเมาแล้วขับในสหรัฐฯ โดยเขตอำนาจศาลหลายแห่งกำหนดให้ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดปกติด้านเมาแล้วขับติดเจ้าสิ่งนี้ไว้ในรถ ผลคือเมื่อบังคับให้ผู้ขับขี่ติดอุปกรณ์ดังกล่าว ร่วมกับกฎหมายที่ลงโทษผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับแล้วนั้น ผู้จับจ่มีโอกาสน้อยที่จะกระทำความผิดซ้ำ แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดนี้ช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการชนที่เกิดจากการเมาแล้วขับได้
รายงานดังกล่าวยังเสนอแนะด้วยว่าหากรัฐบาลกลางช่วยผลักดันกฎระเบียบให้เทคโนโลยีตรวจจับเหล่านี้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางจะต่อสู้กับปัญหาเมาแล้วขับได้ดียิ่งขึ้น เพราะตอนนี้มีผู้ผลิตบางราย อย่างวอลโว่ (Volvo) ได้ทดลองนำเสนอเทคโนโลยีนี้เป็นอุปกรณ์เสริมในรถของตนเองแล้ว และคาดว่าผู้ผลิตอีกหลายรายจะเร่งสร้างมาตรฐานเทคโนโลยีตรวจจับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเร็วๆนี้ ก่อนมีกฎหมายออกบังคับใช้อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ในสหรัฐฯ ยังมีโปรเจกต์ระบบตรวจจับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่เพื่อความปลอดภัย (DADSS) ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน กล่าวคือ สถาบันประกันภัยเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวงได้รับทุนจากผู้ผลิตรถยนต์มาทำการทดสอบเซนเซอร์แอลกอฮอล์บนท้องถนน เพื่อตรวจจับระดับความเข้นข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ผ่านการวัดอากาศโดยรอบในรถยนต์
เจ้าของโปรเจค DADSS คาดว่าผู้ผลิตบางรายจะเริ่มนำเสนอระบบที่วัดระดับแอลกอฮอล์ผ่านอากาศโดยรอบเป็นตัวเลือกในช่วงต้นปี 2025 ถือเป็นทางเลือกใหม่ของเทคโนโลยีป้องกันการเมาแล้วขับที่น่าจับตาเช่นกัน
แล้วทางผู้ขับขี่ล่ะ คิดเห็นอย่างไรกับเทคโนโลยีเหล่านี้? จากการสำรวจผู้ขับขี่ในสหรัฐฯ เมื่อหลายปีก่อน เกือบ 2 ใน 3 สนับสนุนการติดตั้งระบบตรวจจับแอลกอฮอล์ในรถยนต์ทุกคัน ตราบเท่าที่อุปกรณ์นั้น รวดเร็ว แม่นยำ และไม่สร้างความรำคาญ และส่วนหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขายินดีจะจ่ายเพิ่มหากระบบมีราคาต่ำกว่า 500 เหรียญดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปของงานวิจัยโดยสถาบันประกันภัยเพื่อความปลอดภัยบนทางหลวงคือ หากมีการใช้ระบบตรวจจับแอลกอฮอล์เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถรุ่นใหม่ทั้งหมดในปีนี้ ก็อาจจะต้องใช้เวลาเกือบ 12 ปี กว่าจะติดตั้งในยานพาหนะรุ่นเก่าที่มีอยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นเวลาที่ช้าพอสมควร
“มีอุปกรณ์เสริมด้านความปลอดภัยจำนวนมาก ที่เริ่มต้นจากการเป็นตัวเลือก จนกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างรวดเร็ว” ชาร์ลลีกล่าว “เทคโนโลยีนี้อาจต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดศักยภาพเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์ในการลดความบกพร่องในการขับขี่”
เมาแล้วไม่ขับ
การดื่มสังสรรค์เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นวาระสำคัญ ฉลองวันเกิด ฉลองปีใหม่ หรือแม้แต่การเที่ยวกลางคืน คนเราย่อมมีโอกาสเมาได้ แต่ต้องพึงระลึกไว้ว่าการเมานั้นจะทำให้ขาดสติ เวลาขับรถก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ
ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากเทคโนโลยีอุปกรณ์รถยนต์ตรวจจับแอลกอฮอล์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เพราะอย่างน้อยที่สุดเทคโนโลยีที่ว่านี้ก็ยังช่วยเตือนให้เหล่านักดื่มต่างๆ ไม่ชะล่าใจในการขับขี่ แล้วหันรบกวนเพื่อนไปส่งที่บ้าน หาที่พักแถวๆ นั้น หรือนั่งแท็กซี่กลับ ฯลฯ
เพราะชีวิตแห่งอนาคต ควรจะเป็นชีวิตที่ ‘เมาแล้วไม่ขับ’ แต่สามารถกลับบ้านได้อย่างสุขใจและปลอดภัย
ที่มา: Technology To Stop Drunk Drivers Could Significantly Slash Traffic Crash Deaths : https://www.forbes.com/sites/tanyamohn/2020/07/26/technology-to-stop-drunk-drivers-could-significantly-slash-traffic-crash-deaths/?sh=5d9a84bb4942
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm