รู้จัก ‘จิตสังคมบำบัด’ … อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อคนอยากเลิกเหล้า

July 30, 2019


สิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับการติดเหล้าคือ ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคติดสุราและต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู เมื่อหายจากอาการถอนพิษแล้ว มีแนวโน้มที่จะหวนกลับไปดื่มอีกเป็นครั้งที่สอง สาม สี่ ต่อไปเรื่อยๆ บางคนโชคดีเลิกได้ในที่สุด บางคนแม้เลิกได้ แต่กลับต้องประสบปัญหาในการกลับเข้าใช้ชีวิตในชุมชน และบางคนปล่อยให้เหล้าดื่มตนเองจนมีอาการติด เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าการหวนกลับไปดื่มซ้ำของผู้ป่วยมาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากร่างกาย หรือจิตใจของผู้ป่วย หรือมาจากการมีอยู่เกือบทุกหนทุกแห่งและเกือบทุกโอกาสของเหล้า ผู้ป่วยบางคนบำบัดด้วยยาจนหายแล้ว แต่พอหวนกลับไปสู่สภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่มีคอสุรารายรอบก็อดใจไม่ไหว ยกแก้วขึ้นดื่มซ้ำ กลายเป็นวัฏจักรการติดเหล้าไปมาไม่รู้จบ

ดังนั้น การประคับประคองผู้ป่วยคนหนึ่งให้ข้ามผ่านมหาสมุทรแห่งความเมามาย และกลับไปเป็นคนดีที่น่ารักของสังคมดังเดิมอาจจะไม่ได้ใช้แค่ยาในการบำบัด แต่ต้องอาศัยการบำบัดแบบอื่นร่วมด้วยเพื่อร่วมปรับความคิด และเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยคนนั้น

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอพาคุณไปรู้จักกับการบำบัดด้วยแนวทาง ‘จิตสังคมบำบัด’ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลประคับประคองผู้ป่วยที่เป็นโรคติดสุรา ไล่เรียงตั้งแต่แนวทาง ตัวอย่างการบำบัด ไปจนถึงแนวทางจิตบำบัดสังคมในประเทศไทย

และเมื่ออ่านจบ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังหาทางเลิกเหล้าอย่างเด็ดขาด หรือมีคนใกล้ตัวที่อยากเลิกเหล้า คุณอาจจะพบว่ามีแสงสว่างรออยู่ที่ปลายขวดก็เป็นได้

 

รู้จักแนวทาง ‘จิตสังคมบำบัด (Psychosocial treatment)’

 

ในการบำบัดผู้ติดสุรา นอกจากการบำบัดด้วยยา (เภสัชบำบัด) แล้ว จิตสังคมบำบัดนับเป็นองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่ง โดยสามารถถูกใช้เพื่อช่วยดูแลประคับประคองผู้ป่วยไปตลอดโปรแกรมการรักษาอาการติดสุรา เริ่มตั้งแต่ช่วงถอนพิษ (หยุดดื่มในหนึ่งเดือนแรก) ไปจนถึงเพื่อป้องกันการกลับไปติดซ้ำในช่วงฟื้นฟูสมรรถภาพ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยยังไม่เข้าสู่การบำบัด วิธีนี้ก็สามารถช่วยลดอันตรายและผลกระทบที่เกิดจากการดื่ม รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ผู้ดื่มเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้

จิตสังคมบำบัดมีหลายประเภท เช่น การสัมภาษณ์และการบำบัดเพื่อเสริมสร้างแรงจูงใจ (MI, MET) หรือความนึกคิดและพฤติกรรมบำบัด (CBT) ซึ่งเป็นสองประเภทที่มีหลักฐานวิจัยสนับสนุนมากที่สุด และเป็นรูปแบบที่มีการดำเนินการในประเทศไทยด้วย

ปัจจุบัน เรียกได้ว่าการผสมผสานจิตสังคมบำบัดร่วมกับการบำบัดโดยการใช้ยาเพื่อบำบัดผู้ป่วยติดสุราเป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะขณะที่การบำบัดด้วยยาจะช่วยลดอาการทุกข์ทรมานจากการถอนพิษและอาการทางจิตเวช จิตสังคมบำบัดจะช่วยสร้างแรงจูงใจ ทำให้ผู้ป่วยเรียนรู้จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มสุราของตน และยังเสริมทักษะทางบวกในการดำรงชีวิตเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขด้วย

แต่ทั้งนี้ ไม่มีจิตสังคมบำบัดรูปแบบใดเป็นยาครอบจักรวาล คือสามารถบำบัดผู้ติดสุราได้ทุกขั้นตอน การจะใช้จิตสังคมบำบัดรูปแบบใด ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหา ระยะและบริบทของการบำบัดรักษาผู้มีปัญหา หรือความผิดปกติจากการดื่มสุรา

 

ตัวอย่าง: เปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรมติดเหล้า ด้วยการบำบัดแบบ CBT

 

ความนึกคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive-Behavioural Theraphy หรือ CBT) เป็นการบำบัดที่มีโครงสร้างและระเบียบวิธีการบำบัดที่ชัดเจน ผสมผสานกับการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด และปรับพฤติกรรมเข้าด้วยกัน เทคนิคที่ใช้มีหลากหลาย เช่น การใช้บทบาทสมมติ โดยมีผู้บำบัดคอยให้คำปรึกษา ในแต่ละชั่วโมงการบำบัด จะมีการติดตามความก้าวหน้าและเพิ่มทักษะใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงที่ผู้ป่วยได้เผชิญมา เป้าหมายของการบำบัดแบบนี้คือ การเพิ่มทักษะต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยหยุดดื่มสุราได้นานและไม่หวนกลับไปดื่มสุราอีก

เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการบำบัดอย่างมาก เพราะผู้ป่วยต้องคิดและระบุสถานการณ์เสี่ยงที่จะทำให้ตนดื่มสุรา ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก เมื่อระบุสถานการณ์ได้แล้ว จึงเป็นขั้นตอนการพัฒนาทักษะที่จะเผชิญกับสถานการณ์นั้น จึงจะเห็นว่าการจะเรียนรู้ทักษะใหม่ในการควบคุมตนเองได้จะต้องอาศัยความรับผิดชอบของผู้ป่วยด้วย

จากแนวทางการบำบัดแบบ CBT ทำให้ผู้ป่วยได้แก้ไขปัญหามากกว่าจะหลีกเลี่ยงปัญหา และยังได้ฝึกทักษะต่างๆ ทางสังคม เช่น การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการจะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

 

จิตสังคมบำบัดในประเทศไทย

 

เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีการนำยารักษาโรคติดสุรามาใช้ หรือยาที่นำมาใช้ไม่ค่อยได้รับความนิยม จิตสังคมบำบัดจึงถือเป็นหนึ่งรูปแบบการรักษาหลักสำหรับผู้ป่วยติดสุราในปัจจุบัน โดยตัวอย่างด้านล่างนี้คือแนวทางจิตสังคมบำบัดที่ได้รับการพัฒนา หรือมีความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยในประเทศไทย

 

กลุ่มผู้ติดสุรานิรนามในประเทศไทย (กลุ่มเอเอ)

เป็นกลุ่มของสมาชิกชายหญิงที่อยากเลิกดื่มสุรา มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และช่วยกันแก้ปัญหาเกี่ยวกับอาการติดสุราโดยใช้หลักปฏิบัติ 12 ข้อ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ประการใด

กลุ่มเอเอในไทยจะอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา หรือเชียงใหม่ และมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีความคุ้นเคยกับหลัก 12 ขั้นตอนมากกว่า ในขณะที่คนไทยอาจจะไม่คุ้นเคยกับหลักดังกล่าวมากนัก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาษา การแก้ไขปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน ทำให้กลุ่มเอเอยังไม่แพร่หลายในไทยเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม พันเอกนายแพทย์พิชัย แสงชาญชัย รองผู้อำนวยการจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้ทำการประยุกต์หลักการ 12 ขั้นตอนของกลุ่มให้เข้ากับหลักพระพุทธศาสนา คือ ‘หลัก 12 ขั้นตอนแนวพุทธ’ เพื่อให้เหมาะสมกับชาวไย โดยยังคงเนื้อหาสำคัญของหลัก 12 ขั้นตอนเดิมของกลุ่มเอเอเอาไว้ ซึ่งรูปแบบการบำบัดที่พัฒนาขึ้นมานี้ ‘การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสุราและสารเสพติดแบบผู้ป่วยในรูปแบบโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า’ หรือ ‘การบำบัดแบบ PMK Model’

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสุราและสารเสพติดแบบผู้ป่วยใน รูปแบบของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (PMK Model)

การบำบัดแบบ PMK Model เป็นโปรแกรมจิตสังคมบำบัดที่นับได้ว่าเป็นต้นแบบของการพัฒนาโปรแกรมรักษาผู้ป่วยโรคติดสุราหรือสารเสพติดในไทย โปรแกรมนี้เหมาะกับผู้ป่วนที่ถอนพิษสุราแล้ว แต่ยังมีโรคทางกายหรือทางจิตเวชแทรกซ้อน หรือผู้ป่วยที่ล้มเหลวจากการบำบัดแบบผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยที่ขาดการสนับสนุนทางสังคม รวมถึงช่วยแก้ปัญหาการหยุดเข้าร่วมโปรแกรมการบำบัดก่อนกำหนดด้วย

กระบวนการบำบัดจะมีทั้งหมด 5 ประเภท ซึ่งรวมถึงกลุ่ม 12 ขั้นตอนตามแนวพุทธที่ได้กล่าวไปแล้วด้วย โดยในแต่ละกลุ่มจะมีทีมจากสาขาวิชาชีพที่หลากหลายทางการแพทย์เป็นผู้บำบัดในกลุ่ม ใช้เวลาบำบัด 4 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ และหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยควรมาเข้าร่วมกลุ่มบำบัดแบบผู้ป่วยนอก (Recovery group) 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลาอีก 16 สัปดาห์ด้วย

 

การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสุราโดยองค์กรศาสนา (การบำบัดวิถีพุทธ)

เนื่องด้วยคนไทยจำนวนมากนับถือศาสนาพุทธ และมีความผูกพันกับวัด การบำบัดอีกวิธีหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการบำบัดที่ปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยจึงเป็นการบำบัดผู้ติดสุราโดยพระสงฆ์ การบำบัดดังกล่าวมีการดำเนินงานมาอย่างยาวนานในประเทศไทย และมีหลายรูปแบบ โดยการบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นการให้ผู้ติดสุราดื่มหรืออบยาสมุนไพร ควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรม ดื่มน้ำมนต์ และเทศนาสั่งสอน ปฏิบัติธรรม เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและทัศนคติของผู้ติดสุราให้เลิกดื่มสุรา

หนึ่งในการบำบัดในรูปแบบนี้ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ การบำบัดโดยพระครูวิวิธประชานุกูล เจ้าอาวาสวัดหัวริน ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยติดสุรามาหลายสิบปี โดยทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลให้พระสงฆ์ได้เข้าไปมีบทบาทเชื่อมโยงในเรื่องนี้ บางทีก็ใช้หลักธรรมเข้ามาช่วย นอกจากนี้ พระครูวิวิธประชานุกูล ยังได้เดินทางไปให้ธรรมะที่หน้าวอร์ดโรงพยาบาลเดือนละ 4 ครั้ง และยังประสานกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้ผู้ที่อยากบวชได้มีโอกาสบวชด้วย ผลที่ได้คือ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้ธรรมะบำบัดตัวเองได้ และสามารถเป็นวิทยากรที่ให้ความรู้คนอื่นต่อ เป็นการทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นอย่างแท้จริง

 

แม้ว่าแนวทางจิตสังคมบำบัด จะเป็นการบำบัดที่มุ่งให้ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราได้ควบคู่ไปกับการบำบัดโดยใช้ยา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะขาดไม่ได้ในการบำบัดเลยคือ กำลังใจของผู้ป่วย และกำลังใจจากคนรอบข้าง ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการติดสุราอย่างเด็ดขาด และใช้ชีวิตของตนตามปกติสุขได้ดังเดิม

 


ที่มา: ปัญหาและความผิดปกติจากการดื่มสุรา ความสําาคัญและการดูแลรักษาในประเทศไทย / เรียบเรียงโดย สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล.–พิมพ์ครั้งที่ 1.–สงขลา : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2557.

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles