เรื่องของเหล่าทัพกับเหล้าเบียร์

March 8, 2021


 

หนึ่งในอาชีพที่ขึ้นชื่อเรื่องคอแข็ง ดื่มหนักคงหนีไม่พ้นอาชีพทหาร การวิเคราะห์ข้อมูลต่อจากข้อมูลสำรวจของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 ถึง 2017 โดยบริษัทด้านพฤติกรรมสุขภาพของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Delphi ผ่านผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 27,000 คนใน 25 อุตสาหกรรม พบว่าทหารใช้เวลาหลายวันต่อปีในการดื่มด่ำแอลกอฮอล์มากกว่าแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ  ในปีค.ศ.2017 พวกเขาดื่มถึง 130 วันต่อปี และดื่มหนัก 4-5 แก้วต่อการดื่มในหนึ่งครั้ง

แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวจะออกมาสอดคล้องกับแบบสำรวจพฤติกรรมสุขภาพประจำปีของเพนตากอนและรายงานของสื่อที่เปิดเผยเกี่ยวกับการจับกุมเจ้าหน้าที่ในข้อหาก่ออาชญากรรมตั้งแต่ลหุโทษไปจนถึงคดีข่มขืนและการฆาตกรรม อันมีสาเหตุมาจากปัญหาการดื่มเหล้าของเจ้าหน้าที่ แต่งานวิจัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากข้อมูลการสำรวจของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคนี้ก็อาจจะมีอคติทางข้อมูล เนื่องจากมีผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในกองทัพ 81 นาย และเป็นทหารเรือ นักบิน และทหารยามชายฝั่ง ซึ่งมีพฤติกรรมการดื่มที่หนักอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ชี้ให้เห็นปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในกองทัพ จากผลการสำรวจพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ Health-Related Behavior Survey หรือ HRBS ที่จัดทำโดย Rand Corp หน่วยงานคลังสมองในวอชิงตัน ในค.ศ.2018 พบว่าร้อยละ 30 ของนายทหารถูกรายงานว่าเป็นผู้ดื่มสุราหนักและมีสมาชิกกองทัพ 1 ใน 3 ของทั้งหมด มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่ระบุว่าพวกเขามีพฤติกรรมการดื่มที่เป็นอันตราย มีโอกาสเป็นโรคติดสุรา

เมื่อมาดูรายละเอียดตามเหล่าทัพในสหรัฐอเมริกา ตามรายงาน HRBS ปีค.ศ. 2015 พบว่านาวิกโยธินมีพฤติกรรมการดื่มที่เป็นอันตรายมากที่สุด และมักส่งผลกระทบทางลบต่อการทำงาน เช่น มีพฤติกรรมเสี่ยงพลาดวันทำงาน หรือมีปัญหาส่วนตัวร้ายแรง ซึ่งจากรายงานพบว่ามีทหารครึ่งหนึ่งถูกรายงานพฤติกรรมทางลบดังกล่าว ขณะที่กองทัพอากาศมีเปอร์เซ็นต์ของปัญหาการดื่มต่ำที่สุด

สำหรับประเทศไทย จากวารสารสาธารณสุข เผยแพร่งานวิจัย “ปัจจัยทำนายพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของทหารกองประจำการ จังหวัดสระบุรี” วิจัยนายทหาร 256 นายผ่านแบบสอบถาม สุ่มตามสัดส่วนจากหน่วยงาน โดยเก็บข้อมูลในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 พบว่าสามารถแยกกลุ่มเสี่ยงต่อการติดแอลกอฮอล์จากการดื่มในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง (harmful) ร้อยละ 25.8 กลุ่มผู้ดื่มแบบอันตราย (hazardous) ร้อยละ 14.1 และกลุ่มผู้ติดแอลกอฮอล์ (alcohol dependence) ร้อยละ 55.5 ชี้ให้เห็นว่าทหารไทยก็อาจมีปัญหาการดื่มเหล้าเฉกเช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา

 

สาเหตุของการดื่มเหล้าของทหาร

 

อะไรที่ทำให้รั้วของชาติดื่มเครื่องดื่มมึนเมาหนักตามงานวิจัยข้างต้น? ปัญหาเกิดจากวัฒนธรรมการดื่มเหล้าหยั่งรากลึกในกองทัพ อันมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการดื่มเป็นตัวแทนของความเป็นชายและอำนาจ, เหล่านายทหารถูกกดดันจากเพื่อนและผู้บังคับบัญชาให้ดื่ม เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กระทั่งการอยู่ใกล้กันในบ้านพักค่ายทหารก็ทำให้การตั้งวงหลังเลิกงานทำได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การดื่มเหล้าหนักยังเกิดขึ้นเพราะธรรมชาติของวิชาชีพที่ต้องเผชิญความเครียดและความกดดัน หลายคนต้องทำงานเสี่ยงอันตราย พรากจากเพื่อน ไม่มีเวลาให้คนรัก ห่างไกลครอบครัว จนหลายคนเกิดปัญหาทางด้านจิตใจ ทั้งโรคซึมเศร้า และวิตกกังวลจนเลือกพึ่งแอลกอฮอล์ ใช้เครื่องดื่มมึนเมาในการเยียวยาจิตใจ เบาบางความคิดถึงคนที่รัก แน่นอนว่านั่นยังไม่นับรวมนายทหารที่ผ่านโศกนาฏกรรมความรุนแรงจากสงคราม จนมีอาการของโรคเครียดภายหลังภยันตราย (PTSD) ได้รับบาดเจ็บทางด้านจิตใจหรือร่างกายที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้จนต้องเลือกใช้สารเสพติด เหล้าเบียร์ เพื่อหลบหนีความจริงของชีวิต

อย่างที่หลายงานวิจัยชี้ว่ากองทัพเรือเป็นหนึ่งในเหล่าทัพที่นายทหารต้องเผชิญปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่อนข้างหนักกว่าเหล่าทัพอื่น อาจมีสาเหตุมาจากว่าเวลาส่วนใหญ่ต้องอยู่กลางทะเล อยู่กับความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่ล้อมด้วยธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอน และไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา เมื่อได้มีโอกาสขึ้นฝั่งก็อาจจะทำให้เขาต้องการผ่อนคลายตัวเองจากการทำงานหนักด้วยเหล้ายาปลาปิ้งในระดับที่มากกว่าทหารเหล่าทัพอื่น

ผลกระทบของเครื่องดื่มมึนเมาในปริมาณมากเกินพอดี

 

แม้จะรู้อยู่แล้วการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาจะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกาย ทำให้นายทหารที่ดื่มหนักไม่ได้อยู่ในสภาพ ‘ฟิต’ เต็มที่ การดื่มมากเกินไปยังมีผลต่อเสียต่องบประมาณแผ่นดินด้วย ในสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่าปัญหาเหล้าเบียร์ในกลุ่มทหารจะทำให้กระทรวงกลาโหมเสียค่าใช้จ่าย 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี จากการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน และค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังคาดว่าการดื่มหนักจนทำงานไม่ได้ของนายทหารยังทำให้สูญเสียวันทำงานไปประมาณ 320,000 วันต่อปีและนำไปสู่การจับกุมเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดอันมีสาเหตุจากเหล้าเบียร์ประมาณ 34,400 ครั้งต่อปี

ถึงจะมีผลกระทบจากการใช้แอลกอฮอล์ต่อสภาพร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงาน การเงินส่วนบุคคลไปจนถึงงบประมาณแผ่นดิน แต่ตามรายงานของ HRBS ในสหรัฐอเมริกา พบว่า 68% ของนายทหารที่ประจำการกล่าวว่าพวกเขารับรู้ได้ว่าวัฒนธรรมของทหารสนับสนุนการดื่มเหล้า และ 42% ยังบอกอีกว่าผู้บังคับบัญชาของพวกเขาไม่ได้ห้ามหากจะดื่มเครื่องดื่มมึนเมา

สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่ลดลงของทหารหลังพัวพันกับเครื่องดื่มมึนเมาว่าทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณเพียงใด แต่นี่น่าจะเป็นอีกช่องโหว่หนึ่งของกองทัพที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เอง และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตามที่เคยกล่าวไว้

 

 


 

ที่มา: https://www.military.com/daily-news/2019/04/11/us-military-americas-heaviest-drinking-profession-survey-finds.html?fbclid=IwAR0QR71REnG8U35DPIf15-qt5jOjjCJo7uMGznSbFch-DeFi-itlSJXb8GI

https://www.renewallodge.com/alcohol-abuse-in-the-military-continues-to-rise/?fbclid=IwAR3Drrwq2lgdF7en5zAf1n08_3NrZDxKWL6KChMwFU84A43tVV5EBsXMeKw

https://delphihealthgroup.com/drinking-habits-by-industry/

http://www.thonburi-u.ac.th/Journal/Document/12-28/Journal12_28_16.pdf

 

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

 

 

Related Articles