จาก ‘เมา’ สู่ภาวะ ‘ขาด’ สุรา: รู้จักและรับมือกับปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

August 28, 2019


“ชนหน่อย หมดแก้ว” หมายถึงการชวนยกแก้วให้หมดภายในหนึ่งรอบ ซึ่งเป็นประโยคที่เรามักจะได้ยินอยู่เสมอยามสังสรรค์ในวงเหล้า ยิ่งเมื่อเดินผ่านย่านสถานบันเทิง บ้าน หรือหอพักในยามราตรีที่มีการตั้งวงสังสรรค์ โดยเฉพาะในทุกคืนค่ำวันหยุดหรือวันสุข (ศุกร์) สุดสัปดาห์ เสียงครึกครื้นในวงเหล้านี้ก็ยิ่งทวีความดังมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของ ‘ปาร์ตี้’

แน่นอนว่าการที่ร่างกายรับสารแอลกอฮอล์เข้าไปอย่างรวดเร็วและมากเกินไป จะทำให้เกิดผลกระทบทั้งกับร่างกายและจิตใจของผู้ดื่ม รวมถึงผลกระทบต่อคนรอบข้าง เช่น อาการเมาสุรา ซึ่งเป็นอาการที่เราเห็นได้ชัดที่สุด และอาจจะก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนาตามมาด้วย อีกทั้ง เมื่อผู้ดื่มตัดสินใจที่จะบอกลาโต๊ะสังสรรค์ด้วยการตัดสินใจเลิกเหล้า หรืออยากจะงดเหล้าในช่วงเทศกาลสำคัญ ก็อาจต้องประสบกับภาวะขาดแอลกอฮอล์ ลองคิดดูสิว่า ปกติคุณดื่มแอลกอฮอล์ทุกวันหรือเกือบทุกวัน แล้วถ้าวันหนึ่ง สารที่คุณได้รับประจำหายไปแล้ว ร่างกายย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงขอพาไปรู้จักกับ ‘ภาวะเมาสุรา’ และ ‘ภาวะขาดสุรา’ อันเป็นผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์และจากการขาดแอลกอฮอล์ เพื่อที่จะได้รับมือกับภาวะดังกล่าวอย่างถูกวิธี วันหยุดนี้ถ้ามีฉลองก็อย่าลืมสังเกตอาการหรือคนตัวรอบตัว ไม่เช่นนั้น วันสุขหรรษาอาจจะพังไม่เป็นท่าได้

 

เมาเป็นแบบไหน อย่างไรเรียกว่าเมา?

 

จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตระดับชาติ ปี พ.ศ. 2551 ของกรมสุขภาพจิต พบว่าคนไทยจำนวนประมาณ 3.2 ล้านคน เป็นโรคติดสุรา

เสียงโหวกเหวกโวยวาย และการเดินโซซัดโซเซเป็นอาการที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ในช่วงเวลาหลังสถานบันเทิงปิดทำการ หรือตามงานเทศกาลที่มีการเฉลิมฉลองต่างๆ  ซึ่งลักษณะอากัปกริยานี้ หากมองเห็นเผินๆ เราก็อาจจะตีความได้ทันทีว่า บุคคลดังกล่าว ‘เมาสุรา’ เข้าให้แล้ว

โดยปกติ ร่างกายของเราสามารถเผาผลาญแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ได้ 10 กรัมต่อชั่วโมง ซึ่งหากเทียบให้เข้าใจง่ายๆ โดยประมาณ จะเท่ากับเบียร์ 1 กระป๋อง  สุรา 40 ดีกรี 25 ซีซี หรือไวน์ 1 แก้ว แน่นอนว่า หากดื่มในปริมาณมากๆ หรือรีบๆ ดื่มให้หมดแก้ว ซึ่งต้องดื่มด้วยความรวดเร็วนั้น ก็จะส่งผลให้เกิดอาการเมาขึ้นได้

ดังนั้น ‘ภาวะเมาสุรา’ จึงเกิดจากการดื่มสุราเข้าไปด้วยอัตราที่เร็วกว่าการทำลายเผาผลาญแอลกอฮอล์ของร่างกาย จนมีระดับแอลกอฮอล์ในกระแสโลหิตสูง ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และเกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงความสามารถในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ก็จะบกพร่องไปตามระดับความเมาด้วย ถ้าจะให้สรุปง่ายๆ คือ อาการเมาจะรุนแรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดนั่นเอง

อาการเมาที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนคือ พูดไม่ชัด มีการเคลื่อนไหวที่ไม่ประสานกัน เดินโซเซ นัยน์ตากระตุก สมาธิหรือความทรงจำบกพร่อง และมีอาการซึมมากจนอาจถึงขั้นหมดสติ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงอากัปกริยาด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงภาวะความแปรปรวนภายใน (อารมณ์และจิต) อย่างเห็นได้ชัด เช่น การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หรือการร้องไห้ เป็นต้น

การเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก ถ้าหากคนใกล้ชิดของเรามีอาการเมาสุรา ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงสามารถดูแลผู้ที่มีภาวะเมาสุราแบบไม่รุนแรงได้ที่บ้าน โดยนำผู้ที่มีอาการเมาสุราออกจากสถานที่ที่มีการดื่ม และให้หยุดการดื่มในทันที พร้อมทั้งจัดสถานที่นอนหลับให้สะดวกสบายและปลอดภัย มีการเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอะไรผิดปกติให้พาไปรักษายังโรงพยาบาลทันที

 

จากอาการ ‘เมา’ สู่การ ‘ขาด’ สุรา

 

เมื่อเริ่มดื่มได้ ก็ต้องเลิกดื่มได้ เรามักจะเห็นว่า มีผู้ดื่มสุราหลายๆ คนตัดสินใจจะวางแก้ว และออกจากวงการการดื่มสุราแบบถาวร โดยเฉพาะตามช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลเข้าพรรษา ที่คนมักยึดเป็นหมุดหมายในการเลิกดื่ม แต่การงดเหล้าและหยุดดื่มถือเป็นอะไรที่ยากยิ่ง โดยเฉพาะกับผู้ดื่มที่ดื่มสุราเสมือนหนึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน หลายคนอาจเกิดอาการอยากและมีภาวะบางอย่างเกิดขึ้นกับร่างกาย จนต้องกลับมาคว้าแก้วดื่มอีกครั้ง

หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ผู้ป่วยเหล่านี้กำลังมีภาวะ ‘ขาด’ สุรา ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหรือสภาวะทางจิตใจ ที่เกิดขึ้นหลังจากผู้ติดสุราหยุดดื่มสุราหรือลดปริมาณการดื่มลง

ข้อมูลจากสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์เดิม) และกรมสุขภาพจิต รายงานสถิติผู้ป่วยที่มีปัญหาจากการดื่มสุรา ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกระดับในเกือบทุกภูมิภาคว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากหนึ่งแสนคนเป็นสองแสนกว่าคนภายในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2553-2555) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสุราระดับรุนแรงและซับซ้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์เกือบทุกคนต้องเผชิญ

สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้ประพันธ์หนังสือ ‘ปัญหาและความผิดปกติจากการดื่มสุรา: ความสำคัญและการดูแลรักษาในประเทศไทย’ ให้ข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสุราถูกส่งตัวเข้ามารับการรักษา เป็นช่วงเวลาก่อนจะเริ่มเทศกาลเข้าพรรษา เนื่องจากผู้ติดสุราจำนวนหนึ่งได้ปฏิบัติตามกิจกรรมรณรงค์ ‘งดเหล้าเข้าพรรษา’ ซึ่งกลุ่มนักดื่มกลับใจเหล่านั้นจะหยุดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำเมาทันทีเมื่อเริ่มเข้าพรรษา จนเกิดอาการขาดสุราตามมา ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรงของอาการขาดสุราอันกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคของบรรดาอดีตนักดื่มคอทองแดง จึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดจะต้องรับรู้เพื่อเตรียมรับมือ

หนังสือแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยภาวะขาดสุรา โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี ได้มีการพูดถึงระดับความรุนแรงของการอาการขาดสุราไว้ 3 ระดับ ดังนี้

ระดับแรก จะเป็นอาการขาดสุราเล็กน้อย สังเกตง่าย ๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการ มือสั่น หงุดหงิด วิตกกังกล (ในระดับเล็กน้อย) ปวดมึนศีรษะ เหงื่อออก เบื่ออาหาร มีความดันโลหิตสูง คลื่นไส้ อาเจียนและนอนไม่หลับ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้น หลัง 6 ชั่วโมง จนถึง 36 ชั่วโมงหลังมีการดื่มครั้งสุดท้าย

ระดับที่สอง จะเป็นอาการขาดสุราปานกลาง ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะมีอาการชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง กระวนกระวายกระสับกระส่ายมากขึ้น (กว่าระดับแรก) เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน อาการจะเกิดในช่วง 24 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง หลังการดื่มครั้งสุดท้าย

ระดับสุดท้าย เป็นอาการขาดสุราขั้นรุนแรง ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นในช่วง 48 ชั่วโมง ถึง 96 ชั่วโมงหลังการดื่มสุราครั้งสุดท้าย โดยผู้ป่วยจะมีภาวะสับสน วัน เวลา และ สถานที่ (Delirium Tremens) รวมถึงจะมีอาการกระสับกระส่ายอยู่นิ่งไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้สมาธิของผู้ป่วยจะลดลง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีไข้ และอาจเกิดภาพหลอน หูแว่ว ตลอดจนมีอาการหวาดระแวงรวมอยู่ด้วย

เพื่อช่วยรักษาอาการดังกล่าว ในทางสุขภาพและการแพทย์จึงมีหลักการบำบัดรักษาผู้ป่วยภาวะขาดสุรา อันเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้ที่ติดสุราสามารถหยุดดื่มสุราได้ โดยให้มีอาการขาดสุราน้อยที่สุด เพราะผู้ที่เสพติดสุรามักมีอาการผิดปกติเมื่อหยุดดื่ม บางรายอาจรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งหลักการรักษาภาวะขาดสุราประกอบด้วย

การให้ยาระงับประสาทกับผู้ป่วย โดยการรูปแบบการให้ขนาดยาควรพิจารณาตามระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน

การบรรเทาอาการทางกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดสุรา มีความสำคัญเท่า ๆ กับการให้ยาระงับประสาท ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

การเสริมวิตามินและเกลือแร่ เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่กำลังอยู่ในช่วงถอนพิษสุรา

สุดท้ายคือ การจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งควรจัดให้เงียบสงบ มีแสงสว่างเพียงพอ และมีอากาศเย็นสบาย ไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตกใจหรือหวาดกลัว เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวน ไม่สะดวกสบาย หรือมีสิ่งเร้ามากเกินไป จะทำให้อาการขาดสุราทวีความรุนแรงมากขึ้น และควรมีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะการใช้เทคนิคการจัดการทางพฤติกรรมเพื่อบรรเทา และรักษาอาการตื่นกลัวของผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังควรแยกผู้ป่วยเพื่อจำกัดการพบปะของผู้ป่วยหรือบุคคลอื่น ๆ หรือให้น้อยที่สุดถ้าผู้ป่วยมีอาการสับสน ไม่รับรู้เกี่ยวกับบุคคล เวลา และสถานที่

 

จะเห็นว่าภาวะเมาและขาดสุราเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และถ้ารุนแรง ก็อาจจะทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดื่มสุรา หรือคนใกล้ตัวของผู้ดื่มสุรา ควรจะมีความรู้ ความเข้าใจ ในภาวะเมาและขาดสุรา รวมถึงคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่ปาร์ตี้ชิกๆ ในวันฉลองของคุณจะได้ไม่กลายเป็นปาร์ตี้พังล่มไม่เป็นท่า

 


 

ที่มา:

ปัญหาและความผิดปกติจากการดื่มสุรา : ความสำคัญและการดูแลรักษาในประเทศไทย โดย สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, สุวรรณา อรุณพงค์ไพศาล

แนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยภาวะขาดสุรา โดย สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

พิชัย แสงชัยชาญ (ม.ป.ป.) สายด่วน 1413 ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา

เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles