บางคนอาจจะเคยสังสรรค์ สนุกสนานกับเพื่อนฝูงในยามค่ำคืนจนเผลอดื่มเร็ว ดื่มหนัก ดื่มเดือด รู้ตัวอีกทีอาการเมาก็มาเยือนเสียแล้ว คำถามยอดฮิตที่คนมักสงสัยจึงเป็น ‘ทำอย่างไรให้สร่างเมาได้ไวที่สุด?’
แม้อันที่จริง สิ่งเดียวที่ช่วยลดความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้คือเวลา แต่ดูเหมือนว่าหลายคนคงไม่เห็นด้วยนักถ้าจะต้องนอนอืดบนเตียงให้เสียงานเสียการ ครั้นจะสะกิดถามคนใกล้ชิดหรือเปิดค้นหาเคล็ดลับสร่างเมาในกูเกิ้ล ก็ไม่แน่ว่าจะได้ผลจริงเพราะส่วนใหญ่ไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนให้น่าเชื่อถือเสียด้วย
วันนี้ Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า จึงขอเสนอวิธีหลีกเลี่ยงอาการเมาหนักจนแฮงก์หมดสภาพ เคล็ดลับดูแลตัวเองให้สร่างเมาได้อย่างปลอดภัย พร้อมสำรวจว่าความเชื่อเรื่องการแก้แฮงก์แบบไหน ที่อาจไม่เป็นความจริง
ว่าด้วยเรื่องอาการเมา
ก่อนอื่น เราอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจอาการเมาเสียก่อนว่า เวลาดื่มเหล้านั้น แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดผ่านทางเยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กก่อนถูกส่งไปทำลายที่ตับ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการสลายแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาตรฐาน (เบียร์หนึ่งขวด ไวน์หนึ่งแก้ว หรือเหล้าหนึ่งช็อต) หากเผลอดื่มแอลกอฮอล์เร็วเกินกว่าที่ตับจะสลายได้ ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดก็จะสูงขึ้นและทำให้เริ่มรู้สึกเมา
ปัจจัยที่ทำให้เมาช้าเร็วจึงขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่ม ความเร็วในการกระดก ความเข้มข้นของดริงก์ที่เราดื่ม น้ำหนักตัว และอาหารที่กินก่อนดื่ม หากควบคุมปัจจัยดังกล่าวได้ก็จะช่วยทำให้อาการเมาค้างเกิดขึ้นเบาลง ตัวอย่างวิธีง่ายๆ ในการดื่มไม่ให้แฮงก์หนักมี 5 วิธี ได้แก่
1. ใช้วิธีการนับจำนวนเครื่องดื่มมึนเมาที่กระดกเข้าไป และจำกัดการดื่มของตัวเองว่าจะกี่ขวด กี่แก้ว ควรดื่มเท่าที่ไหว ไม่เมามากเกินไป
2. วัดปริมาณการดื่ม โดยปกติปริมาณมาตรฐานที่ตับจะย่อยสลายได้ภายใน 1 ชั่วโมง อยู่ที่เบียร์แอลกอฮอล์ 5% ในปริมาณ 330 มิลลิลิตร สำหรับไวน์ แอลกอฮอล์ 11-13% จะอยู่ที่ 100 มิลลิลิตร และสำหรับเหล้า แอลกอฮอล์ 40-43% จะอยู่ที่ 30 มิลลิลิตร นักดื่มสามารถควบคุมให้ปริมาณการดื่มไม่มากเกินไปจนเมาแอ๋
3. เลือกดื่มเครื่องดื่มมึนเมาที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์น้อย เช่น เบียร์ที่มีเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์น้อย
4. เปลี่ยนวิธีการดื่ม ดื่มให้ช้าลง และสลับมาจิบน้ำเปล่า โซดา น้ำผลไม้ เพื่อให้มีเวลาตับได้ทำงาน
5. กินอาหารรองท้องก่อนดื่ม เพราะถ้าปล่อยให้ท้องว่างจะทำให้แอลกอฮอล์ดูดซึมได้เร็วจนเมาเร็วตามไปด้วย
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการทำให้สร่าง
สำหรับบางคนอาจจะบอกว่าไม่ทันเสียแล้ว รู้ตัวอีกทีก็เมาแล้ว และกำลังหาวิธีทำให้ตัวเองสร่างเมาจากการดื่มหนัก ต้องขอบอกว่าอยากให้คุณลองดูดีๆ เพราะหลายวิธีที่ “ดู” จะได้ผล หรือทำให้ “รู้สึก” ดีขึ้นจากปากคำของคนอื่น อาจจะไม่เป็นจริงก็ได้ เช่น
– ดื่มกาแฟเข้มๆ แล้วจะสร่างเร็ว
ปกติแล้วเวลาดื่มเครื่องดื่มมึนเมาไปสักพักจะทำให้นักดื่มรู้สึกง่วงนอน การดื่มกาแฟอาจจะช่วยทำให้ตื่น แต่นั่นไม่ได้ช่วยทำให้แอลกอฮอล์ถูกสลายได้เร็วขึ้น ดังนั้นข้อควรระวังคือมันอาจทำให้นักดื่มรู้สึกว่าตัวเองสร่างและกล้าที่จะขับรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้
– อาบน้ำเย็น ปลุกตัวเองให้ไม่เมา
การอาบน้ำเย็นทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นก็จริง แต่มันไม่ได้ลดผลกระทบจากแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย ในทางตรงกันข้าม การอาบน้ำเย็นอาจทำให้ร่างกายของผู้ดื่มหนักเข้าสู่ภาวะช็อก หรือหมดสติได้
– อ้วกเหล้าออกมาซะ แล้วจะดีขึ้น
หากไม่ได้พยายามล้วงคอตอนเพิ่งกลืนทันที การพยายามขย้อนหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีผลกับอาการสร่างเมา เนื่องจากแอลกอฮอล์อยู่ในกระแสเลือดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เวลาอ้วกก็จะช่วยทำให้รู้สึกดีขึ้นจากอาการคลื่นไส้
– กินอาหารที่มีไขมันตามเข้าไปจะช่วยทำให้สร่าง
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุกระเพาะอาหาร หากรับประทานอาหารจำพวกไขมันจนเต็มท้อง เมื่อเริ่มดื่มเหล้า แอลกอฮอล์ก็อาจจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ช้าลง ซึ่งปกติร่างกายจะใช้เวลาดูดซึมแอลกอออล์เข้าสู่กระแสเลือดภายในเวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ถ้าแอลกอฮอล์อยู่ในเลือดของคุณแล้ว ก็สายเกินไปที่อาหารจะมีผลกระทบใดๆ มิหนำซ้ำ ต้องระวังว่าหากกินอาหารที่มีไขมันและแอลกอฮอล์รวมกันอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงแทนก็ได้
เคล็ดลับดูแลตัวเองเมื่อเมาค้าง
อันนั้นก็ไม่ช่วย อันนี้ก็ไม่ดีต่อการสร่างเมา คุณคงเกิดคำถามว่าแล้วจะดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยและถูกต้อง
สำหรับการดูแลตัวเองเมื่อเมาค้าง อาจจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนเข้านอน และช่วงเช้าที่ต้องตื่นมาชดใช้กรรม
วิธีดูแลตัวเองเมื่อเมาค้างก่อนเข้านอนที่ดีที่สุด คือการนอนหลับเต็มอิ่ม ให้เวลาตับได้ทำงานสลายแอลกอฮอล์ในร่างกาย (ขอขีดเส้นใต้ย้ำไว้ว่าการหลับ ไม่นับสลบเหมือดที่อาจจะเป็นเรื่องปกติของนักดื่ม) อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้านอน นักดื่มตัวยงควรระวังอันตรายจากการอาเจียนขณะหลับและสำลักจนเสียชีวิต เพราะแอลกอฮอล์ในเลือดที่อยู่ในระดับสูงอาจส่งผลต่อเส้นประสาทที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการป้องกันการสำลักหรือกลืน (gag reflex) แม้กระทั่งตอนหลับอยู่ก็ตาม
นอกจากการนอนหลับแล้ว คำแนะนำที่ช่วยทำให้การตื่นในตอนเช้าไม่นรกจนเกินไป ได้แก่
– การดื่มน้ำแก้วใหญ่ก่อนเข้านอน และวางแก้วน้ำไว้ใกล้เตียงไว้จิบ เพื่อช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ
– ทิ้งถังขยะ ถุง ภาชนะต่างๆ ไว้ข้างเตียงเผื่ออาจจะต้องอาเจียน
– อย่ากินยานอนหลับหรือยาต้านเศร้าอื่นๆ หลังจากดื่ม และทิ้งยาแก้ปวดที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์ (over-the-counter OTC) เช่น ยา Advil ไว้ที่โต๊ะข้างเตียงเพื่อรับประทานในตอนเช้า โดยหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มี acetaminophen เช่น Tylenol และ Excedrin เพราะอาจทำให้ตับถูกทำลายได้เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 24 ชั่วโมงเดียวกัน
– สุดท้ายสำหรับคนที่ต้องการตื่นเช้าอาจจะตั้งนาฬิกาปลุกไว้เตือนตนเองก็ย่อมได้
อันที่จริง อาการเมาค้างส่วนใหญ่สามารถหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง แต่ก็มีเคล็ดลับวิธีดูแลตัวเองในตอนเช้าเมื่อเผชิญอาการเมาค้าง ตั้งแต่การกินยาแก้ปวดที่วางไว้โต๊ะข้างเตียง เพื่อบรรเทาอาการเวียนหัว, ดื่มน้ำแก้วใหญ่ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ, กินอาหารรสจืดอย่างแครกเกอร์และขนมปัง เพื่อช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ให้น้ำย่อยกัดกระเพาะอาหาร ที่สำคัญคืออย่าดื่มเหล้าต่อโดยคิดว่าช่วยถอนได้ เพราะนั่นกลับจะทำให้ยิ่งแย่ลง
นอกจากนี้ คุณอาจจะเลือกกลับไปนอนหลับต่อ เพราะแม้การนอนหลับไม่ได้ช่วยทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดลดลง แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการเมาค้างได้ รวมไปถึงยังมีทางเลือกอื่น อย่างดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีวิตามินและแร่ธาตุ หรือ ใช้ยาอย่าง Pepto-Bismol หรือ Tums เพื่อรักษาอาการไม่สบายของระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal upset), ปิดผ้าม่านหรือใส่แว่นตากันแดด เป็นต้น
นี่คือเคล็ดลับการดูแลตัวเองขณะเมาค้างที่เอามาฝากกัน หวังว่านักดื่มจะหยิบยกเอาไปใช้ เพื่อให้การสร่างเมาปลอดภัยยิ่งขึ้น
https://www.morporor.org/storage/images/knowledge/pdf/1554898536.pdf
https://th.wikihow.com/%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%A7
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm