จับเข่าคุยกับนักวิจัย ‘ดนัย ชินคำ’ : ทำไมคนติดเหล้าถึงไม่เข้ารับบริการการบำบัด

July 5, 2019


การให้บริการรักษาและบำบัดผู้มีปัญหาการดื่มสุรา ถือเป็นสวัสดิการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐอย่างสถานพยาบาลที่ขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานเอกชน หรือองค์กรอิสระต่างๆ มากมาย ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจในการเข้าช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุรา บริการดังกล่าวจึงถือเป็นบริการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ป่วยและญาติ รวมถึงผู้ใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ผู้ติดสุราที่เข้ารับบริการบำบัดกลับมีจำนวนน้อยมาก โดยนับเฉพาะที่ผ่านการคัดกรองโรคก็มีจำนวนแค่ประมาณ 200,000 คน จากผู้ดื่มสุราทั้งหมด 2.7 ล้านคน โจทย์ที่เหมือนจะง่าย แต่ตอบยากคือ ‘ทำไมพวกเขาจึงไม่ยอมเข้ารับการบำบัด’

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนสนทนากับ ดนัย ชินคำ นักวิจัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ผู้มีประสบการณ์ในการวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์ และหนึ่งในทีมงานที่ทำโครงการวิจัยเรื่อง ‘การประเมินปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา’ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเข้าไม่ถึงบริการ และปัญหาของผู้ที่ต้องการบำบัดรักษาอาการติดสุรา

 

 

ที่มาที่ไปของงานวิจัย ‘การประเมินปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา’ คืออะไร

จุดเริ่มต้นคือ เราทราบว่าตอนนี้มีคนดื่มสุราเยอะ และมีผู้ที่มีปัญหาติดสุราค่อนข้างมาก ถ้าดูจากข้อมูลทางสถิติต่าง ๆ แล้วจะพบว่า มีผู้ประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ขณะที่ทางกรมสุขภาพจิตได้สำรวจ พบว่าในปี 2556 มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีพฤติกรรมในการดื่มถี่ และมีภาวะติดสุรา (alcohol addict) อยู่ที่ประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพอเราทราบจำนวนผู้ป่วย เราก็ไปดูอีกทีว่า คนที่มีปัญหาได้รับการเข้าถึงบริการรักษาป้องกันและฟื้นฟูในเรื่องการดื่มสุราหรือเปล่า เราจึงทราบข้อมูลว่า สถิติในการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น เราจึงอยากทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการนี้

 

ที่บอกว่าคนที่เข้าถึงบริการมีน้อย ในผลสำรวจนี้มีบอกไหมว่าคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์

ในผลสำรวจนี้ไม่ได้บอก แต่ว่าทางทีมวิจัยได้มีการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ที่เรียกว่า “ฐานข้อมูล 43 แฟ้ม”ในนั้นจะมีแฟ้มสำหรับคัดกรอง ซึ่งมีข้อมูลว่าคัดกรองไปแล้วกี่คน อีกแฟ้มหนึ่งจะเป็นแฟ้มของการรักษา ซึ่งจะมีบอกว่าบำบัดไปแล้วกี่คน  หากดูเป็นตัวเลขจะพบว่า ตัวเลขของคนที่ได้รับการคัดกรองจะอยู่ที่ประมาณ  2  ล้านคน แล้วคนที่เข้ารับการบำบัดจริง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ  2 แสนกว่าคน ซึ่งก็ประมาณ 10 เท่าที่มีปัญหา แต่ว่าแนวโน้มของคนที่ได้รับการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 2556 ถึงปัจจุบันนี้ มีคนที่ได้รับการรักษาเพิ่มขึ้นอยู่ แต่ยังไม่ได้ครอบคลุมถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นที่มาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่เข้ารับการรักษา

 

อะไรเป็นตัวกระตุ้นให้ตัวเลขของผู้รับบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ตอนนี้ทางทีมยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ว่า แต่นี่ก็เป็นโจทย์วิจัยของเราเหมือนกันว่า ทำไมตัวเลขถึงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะต้องมีการเก็บข้อมูลและไปสัมภาษณ์เชิงลึก หรือไปศึกษาระบบจริงๆ ว่าในระบบการรักษาหรือการเข้าถึงบริการ มีหน่วยบริการเพิ่มขึ้น หรือมีเจ้าหน้าที่ให้บริการเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่าผู้ป่วยมีการรับรู้ว่าโรงพยาบาลนี้สามารถไปรับการรักษาได้ไหม การรักษาเป็นอย่างไรบ้าง เราจะต้องไปดู แต่เรายังฟันธงให้ไม่ได้ว่าเพราะอะไร

 

กรอบของงานวิจัยนี้ครอบคลุมถึงหน่วยบริการด้วยหรือเปล่า

โครงการเราไม่ได้ครอบคลุมถึงขนาดนั้น แต่โครงการของ พ.ญ.พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ผู้จัดการแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.) ได้ทำเรื่องนี้ด้วย โดยมีการไปทำสัมภาษณ์เชิงลึก ว่ามีการให้บริการอย่างไร มีแพทย์ พยาบาลกี่คน มีระบบการส่งต่ออย่างไร และยังไปศึกษาเครือข่ายการให้บริการในแต่ละจังหวัด ทั้งในระบบที่อยู่ตามโรงพยาบาล และนอกระบบที่เป็นหน่วยงานเอกชน ภาคชุมชน หรือวัด

ตอนนี้งานวิจัยอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโครงร่างการวิจัย ซึ่งเราได้ศึกษาและทบทวนวรรณกรรมจากงานวิจัยที่มีลักษณะที่คล้ายกัน โดยดูว่างานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องแอลกอฮอล์มีรูปแบบในการทำวิจัยอย่างไร ซึ่งทีมวิจัยได้ขอคำปรึกษาจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญว่า ถ้าเราจะศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงการให้บริการ เราควรจะกำหนดกรอบหรือวิธีการวิจัยอย่างไรบ้าง ขั้นตอนต่อไปเราจะมีการจัดประชุมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพิจารณาโครงร่างการวิจัยร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

 

กรอบแนวคิดให้แนวทางในการศึกษาตัวแปรอย่างไรที่เราสนใจ

ถ้ายกตัวอย่างกรอบที่เรายึดมาเลย เขาจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ก็คือ ฝ่ายผู้ให้บริการ กับฝ่ายผู้รับบริการ โดยดูว่าในส่วนผู้ให้บริการมีปัจจัยอะไรที่น่าจะมีผลต่อการให้บริการ หรือส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น เช่น มีการยอมรับหรือเปล่า หรือมีกำลังคนและทรัพยากรที่เพียงพอไหมในการให้บริการ และยังมีเรื่องสถานที่ตั้งของหน่วยงาน โดยดูว่าหน่วยงานนั้นกระจายอยู่ในทุกพื้นหรือไม่

สำหรับฝั่งผู้รับบริการ เราดูเรื่องการเข้าถึงและความสามารถที่จะเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลหรือว่าสถานพยาบาล และยังดูเรื่องการรับรู้ของผู้รับบริการว่า พวกเขารับรู้หรือคิดว่าตนเองมีปัญหาไหม และรู้สถานที่ที่ให้การบำบัดรักษาหรือไม่

 

 

จากงานวิจัยที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศ พบอุปสรรคอะไรบ้างที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงบริการได้

จริงๆ ก่อนหน้านี้จะมีการศึกษาที่คล้ายกันของอาจารย์กุลนรี เรื่อง ‘Barriers to successful treatment of alcohol addiction as perceived by healthcare professionals in Thailand – a Delphi study about obstacles and improvement suggestions’ เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้คนเข้าถึงบริการ หลักๆ พบว่าอุปสรรคที่สำคัญคือ เรื่องของการขาดความร่วมมือในการสนับสนุนให้เข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอง ที่บางที่ไม่มีกำลังพอจะพาผู้ป่วยมาบำบัด ในส่วนของตัวผู้ป่วยเอง บางคนไม่ได้อยากเข้ามารับการรักษาบำบัด จึงเห็นได้ว่ามันมีปัญหาและอุปสรรคกันทั้งฝั่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ และในอนาคต เราจะทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับรูปแบบการให้บริการในต่างประเทศต่อไป

 

ในประเทศไทยก็มีงานศึกษาของอาจารย์กุลนรี ซึ่งตีกรอบปัจจัยเรื่องฝั่งผู้ให้บริการและผู้รับบริการคล้ายกัน แล้วงานวิจัยหรือคำตอบที่เราคาดหวังจากงานวิจัยนี้ จะมาเติมเต็มหรือจะแตกต่างจากงานของอาจารย์กุลนรี

งานของเราจะเน้นเรื่องการประเมินการเข้าถึงของคนที่อยู่ในระบบสุขภาพ คือการเข้าถึงการบำบัดรักษาในหน่วยงานที่อยู่ในระบบสุขภาพ ซึ่งเรามองว่า จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนา เช่น ถ้าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้งบเข้ามาที่ระบบสุขภาพ เราก็จะพยายามจะปรับปรุงตรงนั้นให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น และนอกจากเรื่องอุปสรรคในการเข้าถึงแล้ว เรายังศึกษาเรื่องต้นทุนต่อหน่วยในการให้บริการด้วย โดยดูว่า การให้บริการบำบัดฟื้นฟูตามแผนงานจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เพื่อใช้ประกอบเรื่องภาระงบประมาณของสปสช. หรือทางกระทรวงด้วย

 

เป็นไปได้ไหมว่า ปัจจัยที่ผลักให้คนเข้ารับบริการ และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้คนไม่เข้ารับบริการเป็นคนละปัจจัยกัน

เป็นไปได้ เพราะถ้าดูคนที่เลือกจะเข้ารับบริการ ก็อาจจะมาจากปัจจัยส่วนตัวค่อนข้างสูง เช่น อยากเลิกเพราะปัญหาสุขภาพ มีคนมาให้กำลังใจ แต่ปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ก็มี เช่น บ้านอยู่ไกลสถานพยาบาล การเข้าถึงและการเดินทางค่อนข้างลำบาก รวมถึงเรื่องความรู้ที่ได้รับอาจไม่มากพอที่จะทราบว่า การดื่มเหล้าส่งผลต่อสุขภาพ บางคนยังคิดว่าการดื่มเหล้านิดเดียวเป็นการกระตุ้นให้เลือดลมเดินดี แต่จริงๆ อย่างที่เราทราบว่า จะดื่มนิดเดียวหรือดื่มหนักล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพในด้านลบ

 

ถ้าผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น หน่วยงานที่ดูแลจะสามารถรองรับและบำบัดได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงหรือเปล่า

ในตอนนี้ ทุกโรงพยาบาลที่มีคลินิกสุรายาเสพติดสามารถให้การบำบัดรักษาได้ หรือโรงพยาบาลอำเภอก็สามารถให้บริการได้ แต่อย่างที่บอกว่า การเข้ารับบริการหรือว่าจำนวนเจ้าหน้าที่อาจจะไม่เพียงพอ หรือว่าบ้านอยู่ไกลมาไม่ได้ เพราะการรักษาสุราไม่ใช่การรักษาครั้งเดียว แต่ต้องมีการติดตามฟื้นฟูด้วย เพราะมีโอกาสที่จะรักษาแล้วกลับไปติดใหม่ หรือกลับไปดื่มใหม่อีกรอบหนึ่ง กรณีแบบนี้ก็มีค่อนข้างเยอะเหมือนกัน

 

เท่าที่ทำการสำรวจมา คิดว่าวิธีไหนที่จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งกับตัวผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้ลดการดื่มสุราในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลหรือว่างานสำคัญ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี อีกอย่างหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้เขาเห็นว่า การดื่มสุราไม่ได้มีผลกระทบแค่ตัวผู้ดื่ม แต่ยังมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือดื่มแล้วมีปากเสียงกับคนในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้คนอยากเข้ารับการบริการจะขึ้นอยู่กับหลายๆอย่าง ปัจเจกบุคคลก็เป็นส่วนหนึ่ง รวมถึงสังคมด้วย

 

คนดื่มไม่คิดว่าการดื่มทำให้เจ็บป่วยแต่อย่างใด แล้วฝั่งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

ในมุมมองของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทุกคนจะคิดเหมือนกันว่า เหล้ามีผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะดื่มมากหรือดื่มน้อย เพราะฉะนั้น ทุกคนจะคิดว่าจะต้องหาทางช่วยกันแก้ไขปัญหา แต่ไม่ใช่ว่าจะโทษแต่ฝั่งผู้รับการบริการอย่างเดียว แต่อย่างที่บอกว่าอาจจะมีปัจจัยมากกว่านี้ที่ทำให้คนเข้าถึงและเข้าไม่ถึงการบริการ ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องอาศัยการศึกษาต่อไป

 

ในส่วนของการจัดบริการภาคชุมชน เช่น ผู้นำหมู่บ้าน หรือผู้นำทางศาสนา เข้ามามีบทบาทกับการจัดบริการในระบบอย่างไรบ้าง

ถ้ายกตัวอย่างในชุมชน จะมีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือไม่ก็เป็นผู้นำในหมู่บ้านที่คอยสอดส่องดูแลคนในความรับผิดชอบ  เช่น การดื่มเหล้า หากมีงานบุญ เขาก็พยายามที่จะให้ปลอดเหล้ามากที่สุด ใครที่มีปัญหาดื่มหนักก็จะมีการตักเตือนกัน ขณะที่วัดในบางพื้นที่อาจจะเข้าไปช่วยบำบัดด้วย เป็นการใช้ศาสนาในการบำบัด ซึ่งนี่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือกันภายในชุมชน

 

 

เข้าใจว่างานวิจัยนี้มีการลงพื้นที่ค่อนข้างมาก ตั้งแต่เริ่มทำโครงการมา ได้ไปลงพื้นที่ที่จังหวัดใดบ้าง และมีเรื่องอะไรที่ทำให้เราในฐานะนักวิจัยที่นั่งอยู่ในห้องสมุดต้องเซอร์ไพรส์ไหม

เราไปลงพื้นที่ที่จังหวัดหนึ่ง เบื้องต้นพบว่า จังหวัดดังกล่าวมีสถิติการดื่มสุราค่อนข้างเยอะที่สุดในประเทศ ซึ่งการทำการสำรวจดังกล่าวจะทำให้เราได้รูปแบบการทำงานที่มีลักษณะเฉพาะพื้นที่ด้วย

เรื่องที่น่าสนใจคือเรื่องสุรา ที่จริงๆ มีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ ถ้าเป็นทีมวิจัยเรา เราจะมีความรู้เฉพาะแค่หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่จริงแล้ว งานด้านสุรามีองค์กรท้องถิ่น หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) เข้ามาช่วยด้วย และยังมีหลายๆ หน่วยงาน ทั้งวัดทั้งองค์กรการกุศลเข้าที่เข้ามามีส่วนร่วม การที่เราได้ไปลงพื้นที่จะทำให้เราเห็นความแตกต่างกันในเรื่องของบุคลากร เนื่องจากการลงพื้นที่ก็จะมีหลายคนหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง คอยร่วมด้วยช่วยกัน พอเราไปจังหวัดนี้เราก็เป็นแบบหนึ่ง จังหวัดหน้าก็คิดว่าจะไม่เหมือนกัน

 

ในขณะที่ลงพื้นที่ เราได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับผู้ป่วยบ้างหรือเปล่า

ตัวผมเองไม่ได้คุยกับคนที่ดื่มโดยตรง แต่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เชิงลึกกับญาติของผู้ป่วยอีกทอดนึง ซึ่งภายหลังได้ทราบว่าญาติผู้ป่วยคนดังกล่าวเคยเป็นผู้ที่ติดสุรามาก่อน แต่สามารถเลิกได้ โดยเขาเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ เรื่องของปัญหาสุขภาพที่ทรุดโทรมลง เขาจึงคิดว่า ถ้าเลิกดื่มได้ก็อาจจะหายจากอาการป่วย และจะมีสิ่งดี ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูกหลานให้ความเคารพมากขึ้น คนในหมู่บ้านเริ่มเข้ามาพูดคุยมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากตอนติดสุราที่ตนเคยมีประสบการณ์ว่า เมื่อดื่มเหล้าก็มีปัญหาทะเลาะกับคนในครอบครัวจนเกิดความรุนแรง ดังนั้น เราจึงพบว่าปัจจัยหลักๆ ของคนที่จะเลิกเหล้าได้ขึ้นอยู่ที่ใจของผู้ดื่ม ไม่ว่าจะมีหมอ มีพยาบาล หรือมีหน่วยงานเข้ามาช่วยแค่ไหน แต่ถ้าตัวผู้ป่วยไม่อยากเลิกก็ไม่สามารถเลิกได้ ดังนั้น กำลังใจของคนในครอบครัวและชุมชนรอบข้างจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

เท่าที่ได้ลงพื้นที่มา เราพอที่จะเจอปัจจัยอะไรที่ทำให้คนดื่มสุรา

จากข้อมูลที่ได้มา ปัจจัยหลักที่ทำให้คนดื่มสุรามีอยู่ 2 ปัจจัย ข้อแรกคือ การดื่มสุรากลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ไม่ว่างานบุญหรืองานศพก็จะมีสุราเข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีทำงานมาเหนื่อยๆ ก็คิดว่าดื่มเหล้านิดเดียวพอเป็นยาชูกำลัง และอีกปัจจัยคือ สุรากลายเป็นหนึ่งในสินค้าอุตสาหกรรม มีทั้งโรงงานการผลิตและเป็นหนึ่งในสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

 

เวลาลงพื้นที่ มีคำถามวิจัยใหม่ๆ นอกเหนือจากเรื่องที่เรากำลังศึกษาอยู่เกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า

อย่างที่บอกว่าโครงการนี้สนใจเรื่องหน่วยบริการที่อยู่ในระบบสุขภาพ เวลาลงพื้นที่เราก็จะเกิดคำถามว่าถ้าเป็นนอกระบบบริการล่ะ ทำไมเขาถึงมาร่วมมือกัน หรือให้ความสนใจในการบำบัดผู้มีปัญหาการติดสุราในชุมชนของเขา ทำไมเขาถึงรวมตัวกัน ใครที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในโครงการนี้ หรือว่าเขามองเห็นประโยชน์อะไรเมื่อเขามาทำงาน ณ จุดนี้ ซึ่งคิดว่าตรงนี้ก็ค่อนข้างสำคัญ อย่างเวลาคนมารับบริการที่โรงพยาบาล เมื่อกลับไปที่ชุมชนแล้ว เขาจะต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ชุมชนควรมีอะไรที่จะมาช่วยเหลือคนที่อยู่ในจุดนี้บ้าง ถ้าจะทำต่อไป ก็คงจะเป็นเรื่องหน่วยบริการที่อยู่นอกระบบ ดูว่าพวกเขามีการให้บริการอย่างไร รวมถึงดูเรื่องประสิทธิภาพด้วยว่า การบำบัดในระบบหรือนอกระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

 

เมืองกับชนบทเป็นปัจจัยสำคัญหรือไม่ที่จะทำให้คนเข้าหรือไม่เข้าถึงบริการ

หนึ่งปัจจัยที่ค่อนข้างสำคัญคือการกระจายตัวของหน่วยบริการ อย่างในเมือง คนในเมืองสามารถเข้ารับบริการได้ง่ายกว่า เพราะมีทั้งสถานที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ตามชนบทหรืออยู่นอกเขตเมือง การกระจายตัวของที่อยู่อาศัยทำให้การมาโรงพยาบาลของเขาอาจใช้ระยะเวลาที่นานกว่า แล้วนี่ก็จะเป็นส่วนสำคัญ เพราะพวกเขาต้องทำงานด้วย

 

จะมีการขยายผลการทำวิจัยไปยังจังหวัดอื่นๆ อีกหรือเปล่า

โครงการน่าจะมีการขยายผล เพราะมีการออกเป็นประกาศให้พื้นที่ดำเนินการ เช่น ถ้ามีชุดบริการอยู่ชุดหนึ่ง จะมีการออกประกาศว่า พื้นที่นี้ควรจะมีการดำเนินงานแบบนี้ เป็นไปตามขั้นตอน จากนั้นจึงประกาศออกไปเป็นภาพรวมของประเทศ ทีนี้ เขาอยากจะรู้ว่าสิ่งที่เขาประกาศไป พื้นที่ตรงนั้นทำได้ไหม และมีความพร้อมแค่ไหน จึงเริ่มมีการศึกษาเรื่องศูนย์พื้นที่ศึกษา ซึ่งน่าจะเอามาปรับปรุง ปรับเปลี่ยน และพัฒนาตัวโปรแกรมที่ได้รับการประกาศออกไปให้ดีขึ้น หรือว่าดูว่ามีอะไรที่ต้องเสริม ต้องประกาศเพิ่ม หรือต้องลดอะไรบ้างเพื่อไม่ให้เป็นภาระมาก

 

ในฐานะนักวิจัย คาดหวังผลลัพธ์อะไรจากงานวิจัยนี้

ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ให้ผู้กำหนดนโยบายใช้ประกอบในการวางแผนการทำงาน และการตัดสินใจในเชิงนโยบาย ซึ่งเราจะต้องหาปัจจัยสำคัญหลักๆ ที่ทำให้คนเข้าถึงการบริการ โดยหน้าที่ของนักวิจัยคือ การสร้างหลักฐานตัวนี้ให้มีคุณภาพ จากนั้นจึงเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles