‘การรักษาคนติดแอลกอฮอล์เหมือนการวิ่งมาราธอน’ คุยเรื่องบำบัดกับ อ.นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร

December 9, 2019


“การรักษาคนติดแอลกอฮอล์เหมือนการวิ่งมาราธอน คือเริ่มต้นด้วยการวิ่งไปด้วยกันช้าๆ แล้วพอคนไข้เริ่มมั่นใจมากขึ้น เราถึงเริ่มปล่อยให้เขาวิ่งคนเดียว…”

ประโยคข้างต้นคือความส่วนหนึ่งที่อาจารย์ นายแพทย์ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร เปรียบให้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องการบำบัดรักษาแอลกอฮอล์

แม้แอลกอฮอล์จะถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง แต่ในความรู้สึกของสังคมส่วนใหญ่ แอลกอฮอล์ยังเป็นเหมือนความปกติธรรมดาทั่วไป เนื่องจากมีผู้บริโภคแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก และแอลกอฮอล์ยังถูกใช้ในทุกงานสังสรรค์หรืองานเทศกาล ทำให้พิษภัยจากการบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไปถูกละเลย คนจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ และส่งผลมาถึงการเข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาต่อไปด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าจะเข้ารับการบำบัดแล้ว ก็ใช่ว่าอาการติดสุราจะหายไปได้อย่างเด็ดขาด เพราะคนติดแอลกอฮอล์เป็นเหมือนคนที่ ‘แพ้ทาง’ แอลกอฮอล์ไปแล้ว ไม่ว่าจะเลิกมาได้กี่ปี เพียงแค่จิบนิดเดียวก็จะสามารถกลับไปติดง่ายกว่าคนทั่วไป

การบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์จึงไม่ใช่แค่การใช้ยา พบแพทย์ แล้วจบกันไป แต่เป็นเหมือนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและควบคุมตนเอง โดยที่ญาติหรือคนใกล้ชิดจำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนช่วย และที่สำคัญคือ ‘เข้าใจ’ ผู้ติดสุรา เพื่อช่วยกันประคับประคองเขาให้รอดพ้นจากคลื่นแห่งความเมามายไปได้ตลอดรอดฝั่ง

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนคุณอ่านบทสนทนากับ อาจารย์ นายแพทย์ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ การบำบัดอาการติดแอลกอฮอล์ในทางการแพทย์ ไปจนถึงคำแนะนำสำหรับญาติ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับแอลกอฮอล์ที่คุณควรรู้

 

 

ในบรรดาสารเสพติดทั้งหมด การบำบัดแอลกอฮอล์แตกต่าง หรือมีความยากกว่าการบำบัดสารเสพติดชนิดอื่นอย่างไร

ถ้าถามว่าการบำบัดคนติดแอลกอฮอล์ยากกว่าการบำบัดคนที่ติดสารกลุ่มอื่นอย่างไร ข้อแรกคือ แอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย ทำให้คนมีโอกาสใช้มากกว่าสารกลุ่มอื่นอยู่แล้ว เผลอๆ จะมากกว่าบุหรี่เสียอีก เนื่องจากเรายังไม่สามารถคุมเข้มนโยบายการซื้อ-ขายได้เหมือนบุหรี่ และเพราะมีผู้ใช้แอลกอฮอล์เยอะ ปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดจากแอลกอฮอล์เลยดูกลืนกับความเป็นปกติของสังคม จึงทำให้การบำบัดเป็นเรื่องยาก

ข้อที่สองคือ ประเทศไทยยังขาดแคลนยากลุ่มที่ใช้ในการรักษาอาการติดแอลกอฮอล์อยู่ ขณะที่ในต่างประเทศจะมียาที่ใช้ป้องกันการกลับไปดื่มซ้ำหลายชนิดกว่าเรามาก และข้อสุดท้าย เรายังขาดทีมที่จะช่วยรักษาคนไข้กลุ่มนี้ อย่างในประเทศที่ผมเคยไปศึกษาต่อ จะมีทีมรักษา ที่ไม่ใช่เฉพาะจิตแพทย์เท่านั้น แต่ยังมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรืออาชีวบำบัดที่ช่วยกันดูปัญหาต่างๆ ของคนไข้ เพราะการรักษาผู้ที่ติดแอลกอฮอล์จำเป็นต้องดูปัญหาให้รอบด้าน ทั้งในด้านการงาน สุขภาพ และความเป็นอยู่ของคนไข้ แต่อย่างที่บอกไปว่า บ้านเรายังขาดคนที่จะมาทำงานในส่วนนี้อยู่

 

แอลกอฮอล์สามารถก่อให้เกิดอันตรายอะไรกับร่างกายเราได้บ้าง

แอลกอฮอล์จะก่อให้เกิดได้ทั้งโรคทางกาย เช่น โรคตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ มะเร็งประเภทต่างๆ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ถ้าเป็นผู้หญิง การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม ส่วนผู้ชาย ในระยะยาวอาจมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศ

ขณะเดียวกัน แอลกอฮอล์ก็สามารถก่อให้เกิดอาการทางจิตได้ คือทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ วิตกกังวล นอนไม่หลับ ในกรณีหลังนี้ บางคนอาจใช้การดื่มเบียร์หรือเหล้าช่วยให้นอนหลับ ซึ่งก็จะช่วยให้หลับดีในช่วงแรกๆ แต่พอดื่มไปสักพักก็จะเริ่มกลับมานอนไม่หลับอีก แถมพอไม่ดื่ม ก็จะยิ่งมีอาการกระสับกระส่ายตอนกลางคืนร่วมด้วย เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดปัญหากับการนอนได้ในระยะหลัง นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทางอ้อมด้วย เช่น เกิดอุบัติเหตุจากความมึนเมา หรือเกิดอาการบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทหลังจากเมา

 

เวลาดื่มแอลกอฮอล์ เราพอมีวิธีสังเกตไหมว่า ถ้ามีอาการแบบนี้ควรหยุดดื่ม หรือควรไปพบแพทย์ได้แล้ว

โดยทั่วไป คนที่ดื่มแอลกอฮอล์จะสามารถสร่างเมาเองได้ ถ้าผู้ดื่มหยุดดื่มแล้วดื่มน้ำเปล่าตามเพื่อให้ปัสสาวะออกบ่อยๆ แต่สิ่งที่ควรระวังคือ ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งอาจจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อรักษา เนื่องจากเมื่อแอลกอฮอล์ในเลือดขึ้นถึงระดับที่สูง จะสามารถทำให้คนดื่มไม่รู้สึกตัวและหยุดหายใจจนเสียชีวิตได้ ดังนั้น คนรอบตัวต้องช่วยกันสังเกตด้วย ถ้าเห็นว่าผู้ดื่มดื่มจนหมดสติ มีอาการสำลัก หรือหายใจช้าลงเมื่อไหร่ ต้องช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะผู้ดื่มจะไม่รู้ตัวเอง

 

เรื่องเพศสภาพส่งผลกับการดื่มแอลกอฮอล์มากน้อยแค่ไหน

ถ้าเป็นผู้หญิงจะทนต่อแอลกอฮอล์ได้น้อยกว่าผู้ชายอยู่แล้ว คือจะเมาง่ายกว่า และอาจเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษได้มากกว่า ขณะที่ผู้ชายจะมีโอกาสดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากกว่าตามลักษณะการเข้าสังคม หรือตามการเอาอย่างรุ่นพี่ หรือตามคนในครอบครัวที่ทำต่อๆ กันมา โดยผู้ชายมักจะดื่มเหล้าหรือเบียร์ ส่วนผู้หญิงมักจะดื่มไวน์มากกว่า

 

มีคำกล่าวว่า คนติดเหล้ามักบอกว่าตัวเองไม่ติด การจะพาเขามาบำบัดจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เรามีวิธีไหนไหมที่จะพูดหรือแนะนำให้เขามาเข้าบำบัด

จริงๆ จะดูว่าติดหรือไม่ติดขึ้นกับอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่ไม่จำเป็นว่าต้องติดแล้วถึงมาบำบัด แค่มีปัญหาที่เกิดจากการดื่มก็ควรมารักษาได้แล้ว เพราะถึงไม่ติด แต่ถ้าดื่มแล้วมีปัญหาตลอด เช่น เมาแล้วอาละวาด เมาแล้วขับ หรือยังดื่มทั้งๆ ที่มีโรคทางกายเกิดขึ้น อันนี้ต้องมาคุยกัน เพราะเราสามารถช่วยลดความเสี่ยง และลดปริมาณรวมถึงความถี่ของการดื่มลงได้

 

ปกติแล้ว คนไข้ที่เข้ามารักษาภาวะติดแอลกอฮอล์จะมาแบบสมัครใจ หรือถูกบังคับมามากกว่า

จะมีทั้งแบบที่คนไข้สมัครใจมาเอง กับไม่ได้สมัครใจ แต่ถูกส่งต่อมา ซึ่งก็จะถูกส่งมาที่แผนกจิตเวชโดยตรง จะมีการคัดกรองคือการสัมภาษณ์แบบทั่วไป ซึ่งจะมีเกณฑ์วินิจฉัยภาวะติดแอลกอฮอล์ชัดเจน ถ้ามีภาวะติดก็จะได้เข้ารับการบำบัด

อีกกรณีหนึ่งคือ คนไข้ติดแอลกอฮอล์ แต่เข้ามาที่โรงพยาบาลด้วยอาการแรกเริ่มที่ไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ และพักรักษาตัวอยู่ที่แผนกอื่น พอไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์สัก 2-3 วัน ก็เกิดอาการถอน คือมีอาการชักเกร็ง กระตุก และมีภาวะสับสน ก็จะถูกส่งตัวมาที่แผนกจิตเวชเพื่อบำบัดภาวะติดแอลกอฮอล์ต่อไป

 

 

อยากให้คุณหมอช่วยเล่าถึงกระบวนการบำบัดแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ให้เราฟังหน่อย

กระบวนการบำบัดแอลกอฮอล์จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ในช่วงเดือนแรกที่เข้ามาบำบัด จำเป็นจะต้องมีการถอนพิษแอลกอฮอล์ (detoxification) ก่อน ซึ่งจะใช้ยารักษาเป็นหลัก ยาที่เราใช้เป็นกลุ่มคลายกังวล เรียกว่า benzodiazepine เพื่อช่วยให้คนไข้ไม่มีอาการถอนเกิดขึ้นในช่วงหยุดดื่ม

ต่อมา จะเป็นช่วงป้องกันและลดโอกาสการกลับไปดื่มซ้ำ (relapse prevention) ซึ่งจะใช้ทั้งยาและการรักษาแบบจิตสังคมบำบัด การรักษาด้วยยาจะใช้ยประมาณ 1-2 ตัวเพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปดื่มซ้ำ และมีการสัมภาษณ์สร้างแรงจูงใจ (motivational interview) เพื่อทำให้คนไข้รู้สึกอยากเลิกดื่ม เพราะถ้าเราสร้างแรงจูงใจให้เขามากพอ ชี้ให้เขาเห็นอนาคตว่า ถ้าในหนึ่งเดือนข้างหน้าเขาไม่ดื่มเลย ชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี เขาจะอยากเลิกมากขึ้น  

นอกจากนี้ เรายังต้องช่วยคนไข้วางแผนว่า ทำอย่างไรถึงจะลดความเสี่ยงในการกลับไปดื่มซ้ำได้ สอนทักษะในการปฏิเสธ สอนให้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้อยากดื่ม และสอนให้จัดการกับอารมณ์ที่ไม่ดี เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หงุดหงิด ที่สามารถกระตุ้นให้อยากดื่มได้ และเราจะช่วยเขาจัดการเรื่องปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เพราะคนที่ติดแอลกอฮอล์มาเป็นระยะเวลานานอาจจะมีปัญหากับคนใกล้ตัว เช่น คนในครอบครัว และอาจมีการไม่เชื่อใจกัน รวมถึงมีการปะทะกันเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องค่อยๆ วางแผนกันไป โดยเราจะใช้โมเดลการบำบัดตามหลักของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy – CBT) มาใช้จัดการกับปัญหาเหล่านี้

 

มีบางอาชีพที่จำเป็นต้องดื่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรสำหรับคนที่จำเป็นต้องดื่ม

ตัวสถานที่ที่ดื่มต้องปลอดภัย ต้องเป็นสถานที่สำหรับทำงานเท่านั้น และมีคนที่ไม่ดื่ม ไม่เมาคอยช่วยสอดส่องดูแลว่า คนที่กำลังดื่มเริ่มดื่มเยอะเกินไปไหม และต้องคอยสังเกตอาการด้วย ถ้าเห็นว่าคนดื่มเริ่มเมาหรือเริ่มติดลม ก็ต้องช่วยเบรก นอกจากนี้ ต้องไม่ใช้หรือดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ลับหูลับตาคน ถ้ามีการจำกัดปริมาณการดื่มเพื่อการทำงานก็จะพอลดอันตรายจากการดื่มได้บ้าง

 

ถ้าไม่นับเรื่องอาชีพที่จำเป็นต้องดื่ม ยังมีหลายคนในสังคมที่กลัวว่า ถ้าไม่ดื่มแล้วจะเข้าสังคมไม่ได้ เราจะมีวิธีพูด หรือช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของเขาได้อย่างไร

ลองตั้งคำถามชวนให้เขาคิดว่า ถ้าไม่ดื่มจะเข้าสังคมไม่ได้จริงๆ หรือมีอะไรบอกแบบนั้น การจะเข้าสังคมได้หรือไม่ได้ คุณวัดหรือดูยังไง แล้วมีวิธีอื่นในการเข้าสังคมอีกไหมที่ไม่ต้องใช้แอลกอฮอล์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้เข้าสังคมหรือให้คุยสนุกได้ หลายคนที่พูดว่า ไม่ดื่มแล้วจะเข้าสังคมไม่ได้ เหมือนจะเป็นผู้ที่ใช้แอลกอฮอล์เป็น safety behaviour มากกว่า หรือบางคนเป็นโรควิตกกังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคม (social anxiety) ถ้าเป็นแบบนี้อาจจะใช้ยาในการรักษาโดยตรง หรือต้องนำวิธีการบำบัดแบบ CBT เข้ามาช่วยด้วย

 

ในบางเคส ญาติหรือคนใกล้ชิดคนดื่มแอลกอฮอล์มีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ เราจะดูแลทั้งคนดื่มและคนใกล้ชิดอย่างไร

ถ้าเราเจอว่าญาติมีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย เราจะดูแลร่วมกันไปเลย เพราะการรักษาคนติดแอลกอฮอล์ไม่ได้รักษาเฉพาะคนติด แต่ต้องรักษาทั้งครอบครัว ซึ่งบางทีเราจะเห็นว่า มีประเด็นความขัดแย้งในครอบครัวเกิดขึ้นกับครอบครัวที่มีสมาชิกติดแอลกอฮอล์ด้วย หรือเราอาจจะเจอทั้งญาติที่มีโรคทางจิตเวช หรือเริ่มติดแอลกอฮอล์ตาม เช่น สามีดื่ม ภรรยาก็ดื่มตาม หรือพี่น้องชวนกันดื่ม แบบนี้ก็มีเช่นกัน

 

ทำไมการดื่มสุราสามารถพัฒนาไปจนทำให้ผู้ดื่มเกิดโรคทางจิตเวชได้

ในระยะยาว แอลกอฮอล์จะทำลายสมอง ทำให้สารสื่อประสาทบางอย่างรวน และทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ หรือความวิตกกังวลแบบผิดปกติ อีกทั้ง การดื่มเป็นประจำอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ทั้งการดูแลตัวเอง ปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาการเรียนหรือหน้าที่การงานที่จะแย่ลง พวกนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาหมดเลย

นอกจากนี้ บางคนที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการทางจิต หูแว่ว ประสาทหลอน ระแวงสงสัย และแอลกอฮอล์ยังมักกระตุ้นให้คนที่เป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) หรือโรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) อยู่แล้ว มีความเสี่ยงที่โรคจะกำเริบซ้ำได้ด้วย

 

คุณหมอเห็นอะไรที่น่าสนใจในกลุ่มคนไข้ติดสุราบ้าง

ทุกคนมีความน่าสนใจในตัวเองหมด แม้ประเด็นปัญหาในชีวิตอาจจะต่างกัน แต่จะมีรูปแบบปัญหาบางอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้มีผลกระทบกับแค่คนดื่ม แต่กระทบคนรอบข้างด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ คนไข้ติดสุรามักจะเจอปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวและในชีวิตประจำวัน จะมีเรื่องการทำงาน การเรียน ที่จะเสียไปจากการติดแอลกอฮอล์เรื้อรังด้วย

ส่วนเรื่องการรักษา อย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือความพยายามและแรงจูงใจในการเลิกดื่มของคนไข้ ผมพบว่า ในบางครั้ง เรื่องศาสนาก็เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งในการช่วยให้คนไข้สามารถหยุดดื่มได้ เช่น ฤกษ์งามยามดีต่างๆ ในวันสำคัญ หรือการที่คนไข้ทำสัญญาปากเปล่ากับคนใกล้ชิดที่เพิ่งเสียชีวิตไปว่าจะหยุดดื่มเพื่อเป็นการทำบุญให้ ซึ่งเขาก็สามารถหยุดได้จริงๆ เรื่องเหล่านี้ก็ถือเป็นเรื่องที่หมอเองก็คิดไม่ถึงว่า จะมีแรงจูงใจประเภทนี้ที่สามารถใช้ได้ผลด้วย

 

 

แล้วเราพอจะจับรูปแบบการดื่มได้ไหม ว่าอะไรทำให้คนๆ หนึ่งดื่มมากจนกลายเป็นคนติดสุรา

เราพอจะระบุถึงปัจจัยที่ทำให้ดื่มได้ คือถ้าเป็นปัจจัยด้านบุคคล คนที่ดื่มเป็นประจำอาจจะเป็นคนที่มีโรคบางอย่างซ่อนอยู่โดยที่เขาไม่รู้ตัว เช่น โรควิตกกังวล เพราะแอลกอฮอล์จะช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้ ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการที่จะติดแอลกอฮอล์ได้ เช่น การที่ใช้สารเสพติดอย่างอื่นร่วมด้วย หรือผู้ที่ประกอบอาชีพซึ่งจำเป็นต้องดื่ม หรือเด็กวัยรุ่นที่มีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดดื่มให้เห็นอยู่เป็นประจำก็มีความเสี่ยงที่จะเริ่มดื่มแล้วติดได้เช่นกัน

ส่วนถ้าเป็นปัจจัยแวดล้อม จะเป็นเรื่องสถานที่ทำงาน กลุ่มเพื่อน หรือปัจจัยที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเขา มีอะไรทำให้เขาเครียดจนต้องดื่มให้หายเครียดไหม การที่คนๆ หนึ่งจะติดหรือไม่ติดก็มาจากหลายๆ ปัจจัยที่รวมเข้าด้วยกัน

เรื่องของชนชั้นทางสังคมมีผลต่อการติดและการรักษาไหม อย่างไร

มีผลด้วยครับ เช่น แรงงานในไทยอาจนิยมดื่มเหล้าขาว 40 ดีกรี ขณะที่คนทั่วไปมักดื่มเบียร์ คนที่มีฐานะขึ้นมาหน่อยก็จะดื่มเบียร์หรือไวน์ ซึ่งอาจจะมีเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์น้อยกว่าเหล้าขาว อีกอย่างคือ ในคนบางกลุ่ม เช่น คนที่ใช้แรงงานจะเข้าถึงการรักษาได้ยาก และมีการดื่มหนักอยู่แล้ว ก็อาจจะกระทบเรื่องผลในการรักษามากกว่า

 

ได้ยินมาว่า คุณหมอไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ภาพรวมของคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ที่นั่นเหมือนหรือต่างจากไทยอย่างไร

คนที่นั่นดื่มหนักเหมือนกัน เพราะที่อังกฤษมีวัฒนธรรมว่า หลังทำงานเสร็จจะเข้าผับเข้าบาร์ หรือถ้าดูบอลก็มักจะดื่มเบียร์ร่วมด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สามารถหาได้ทุกมุมถนน อัตราคนที่ติดและมีปัญหาจากแอลกอฮอล์โดยรวมจึงสูงไม่ต่างกับไทย ในวงการสาธารณสุขของอังกฤษก็เจอปัญหาที่เกิดจากแอลกอฮอล์เหมือนไทยเช่นกัน

 

ที่อังกฤษมีความตื่นตัวเรื่องการบำบัดกว่าไทยไหม

ความตื่นตัวคงใกล้เคียงกับไทย แต่เขาจะมีหน่วยบริการบำบัดแอลกอฮอล์ในจำนวนที่เยอะกว่า อย่างตอนผมอยู่ที่ลอนดอน เขาจะมีศูนย์บำบัดกระจายไปทั่วเมือง และในทีมการบำบัดทีมหนึ่งจะมีผู้จัดการเคส (case manager) เป็นคนกลาง พอรับคนที่ติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดประเภทอื่นเข้าไปดูแล ก็จะช่วยกันดูว่า คนไข้มีปัญหาอะไรบ้าง แล้วจึงส่งไปหาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช ก็ส่งไปเจอจิตแพทย์ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการหางาน ก็ส่งไปที่คนรับผิดชอบด้านการจัดหางาน คือเขาทำงานกันเป็นทีมอย่างชัดเจน

ตรงนี้เป็นโมเดลที่น่าสนใจ เพราะจริงๆ แล้ว คนที่ติดสารเสพติดต้องการการดูแลที่มากกว่าแค่ปัญหาการติดหรือการใช้สารเสพติด คือต้องการการดูแลทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมถึงเรื่องหน้าที่การงาน หรือปัญหาทางด้านกฎหมาย จึงควรมีทีมเข้ามาจัดการตรงนี้ด้วย ไทยเราก็อยากทำให้ได้ถึงระดับนี้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากร ก็ต้องค่อยๆ ปรับและค่อยๆ ฝึกบุคลากรกันไป

 

ถ้าผู้ดื่มต้องการที่จะเลิกเหล้า เขาจะสามารถหยุดดื่มเลยได้ไหม หรือต้องพิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง

เราต้องแยกคนออกเป็น 2 กลุ่มก่อน กลุ่มแรกคือผู้ดื่มที่ไม่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ คือหยุดดื่มแล้วไม่มีอาการถอน สามารถควบคุมการดื่มของตนเองได้ แบบนี้จะสามารถงดดื่มเองได้ทันที แต่อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ดื่มที่มีภาวะติดแอลกอฮอล์ กลุ่มนี้ต้องระวัง เพราะถ้าหยุดดื่มแล้วจะมีอาการถอน ไม่สบายตัว มือสั่น ใจสั่น เหงื่อแตก และอาจจะเกิดอาการชัก รวมถึงมีภาวะสับสนได้ ซึ่งคนที่ติดส่วนมากมักจะไม่รู้ว่า ห้ามหยุดดื่มแบบทันที แต่จำเป็นต้องใช้ยาช่วยเพื่อลดอาการถอน ดังนั้น หากต้องการหยุดดื่ม ควรจะปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยเสมอ

 

 

ถ้าบอกว่าการติดเหล้าคือการที่สมองติดเหล้า แล้วเราต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ถึงจะเลิกเหล้าได้อย่างเด็ดขาด

ไม่มีคำว่าเลิกได้อย่างเด็ดขาดสำหรับคนติดแอลกอฮอล์ คือติดแล้วติดเลย เพราะสมองเคยชินกับแอลกอฮอล์ไปแล้ว แต่ถ้าเขาสามารถหยุดดื่มได้เกิน 1 ปี ทางการแพทย์จะถือว่าเป็นคนที่สามารถเลิกได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเลิกได้เด็ดขาดหรือถาวร เพราะหากคนที่เคยติดมาแล้วเผลอไปจิบแอลกอฮอล์เข้า จะมีความเสี่ยงต่อการวนกลับมาติดซ้ำมากกว่าคนทั่วไป คือแค่จิบนิดเดียวจะติดลมได้ง่ายมาก จะบอกว่าเขาแพ้ทางแอลกอฮอล์ก็ได้

 

ถ้าคนไข้เข้ารับการบำบัดครั้งแรกแล้วไม่ได้ผล การกลับมาบำบัดซ้ำจะทำให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้นไหม

ยิ่งอยู่ในการรักษานานเท่าไหร่ยิ่งมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ถ้าคุยกันครั้งแรก คุยอย่างไรก็คุยไม่จบ โดยทั่วไป ถ้าเป็นการรักษาครั้งแรก เราจะมีการติดตามนัดอยู่แล้ว ช่วง 2-3 เดือนแรกจะนัดเขาถี่หน่อย อาจเป็นทุกอาทิตย์หรือทุกสองอาทิตย์ เพราะบางทีคนไข้คุมตัวเองไม่ได้ การมาเจอหมอจึงเหมือนกับเป็นการสัญญากันว่าจะหยุด ให้หมอช่วยควบคุมเขา พอเขาหยุดดื่มได้นานขึ้น เราก็จะค่อยๆ ออกห่างจากเขาทีละอาทิตย์ เมื่อมั่นใจว่า เขาแทบไม่ดื่มเลยใน 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราถึงนัดห่างออกไปเรื่อยๆ

การรักษาคนติดแอลกอฮอล์เหมือนการวิ่งมาราธอน คือเริ่มต้นด้วยการวิ่งไปด้วยกันช้าๆ แล้วพอคนไข้เริ่มมั่นใจมากขึ้น เราถึงเริ่มปล่อยให้เขาวิ่งคนเดียว จนไปถึงเส้นชัยที่สักประมาณปีหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือห้ามหยุดวิ่งเด็ดขาด คือเขาต้องควบคุมตัวเองไม่ให้ดื่มเหล้าโดยใช้วิธีต่างๆ ที่ช่วยกันคิด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อชดเชยความสุขจากการดื่ม รวมถึงใช้ยาช่วยลดอาการอยากดื่มร่วมด้วย และคนไข้ต้องบอกตัวเองเสมอว่าเขาแพ้ทางแอลกอฮอล์ไปแล้ว จึงไม่ควรจะกลับไปลองมันอีก

 

ฟังดูเหมือนคนรอบตัวต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมคนติดด้วย แต่ก็ยังมีกรณีที่ครอบครัวยังไม่เข้าใจว่าการติดสุราเป็นโรค แต่มองว่าเป็นพฤติกรรม และมองคนติดสุราเหมือนเป็นภาระพวกเขา

ใช่ครับ ถ้าคนไข้มีคนรอบตัวที่เข้าอกเข้าใจ ช่วยสนับสนุน พามารักษา รวมถึงช่วยเขาจัดการปัญหาต่างๆ และไม่มีปมความขัดแย้งในครอบครัวที่รุนแรงหรือเรื้อรังเกินไป คนไข้คนนั้นจะมีโอกาสเลิกดื่มได้สูงมาก

ส่วนความคิดของครอบครัวที่เป็นแบบนั้นก็เป็น mindset แบบเก่า ซึ่งตอนนี้ก็มีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องสมองติดแอลกอฮอล์อยู่ ผมคิดว่า ตอนนี้สังคมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และครอบครัวก็เริ่มยินยอมพร้อมใจที่จะพาคนไข้มารักษา หรือคนไข้ยินยอมพาตัวเองมารักษามากขึ้นก็มี ตรงนี้เราก็ต้องก้าวไปทีละขั้น

 

สมมติว่าเราต้องเจอสถานการณ์ที่คนในบ้านติดเหล้า กลับมาบ้านก็โวยวายอาละวาดใส่ หรือด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย แต่พอตอนเช้า สร่างเมามาก็พูดจาดีเหมือนเดิม ถ้าเป็นเช่นนี้ เราควรจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร

ถ้าเราคุยกับคนเมา ก็เหมือนเรากำลังคุยกับแอลกอฮอล์ ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก บางที เราอาจจะลองอัดคลิปตอนเขาเมาเอาไว้ เพราะตอนเมาเขาไม่รู้ตัวหรอก มารู้ตัวตอนเช้าหลังสร่างเมาแล้ว เราก็เอาคลิปที่อัดไว้ให้เขาดูว่า เขาเป็นถึงขนาดนี้ตอนเมา เขาจะได้มีความตระหนักรู้มากขึ้น และอาจช่วยให้เขาตัดสินใจที่จะเบรกการดื่มได้

 

เท่ากับว่า ถ้าจะพาคนติดเหล้ามาบำบัด เราควรจะให้เขารู้ตัวก่อนถึงพามาจึงจะได้ผลมากกว่า

มีบ้างที่โดนบังคับมา แต่โอกาสได้ผลจะน้อยกว่าการที่คนดื่มเริ่มเห็นปัญหา และสมัครใจมาเอง ลองชี้ให้เขาเห็นปัญหาดู จะเป็นปัญหาเล็กน้อยก็ได้ เช่น เริ่มนอนไม่หลับ ปวดท้องบ่อยๆ การงานมีปัญหา พอเห็นแบบนี้เขาอาจจะยอมมาบำบัดมากขึ้น

โดยทั่วไปแล้ว คนเราต้องเริ่มเห็นปัญหาก่อนถึงจะรู้ตัว แต่ถ้ายังไม่รู้ตัวต่อไปเรื่อยๆ ก็จะคิดว่า ไม่เป็นอะไรหรอก แต่บางที เราก็มองปัญหาของตัวเองไม่ออกใช่ไหมล่ะ คนอื่นจึงอาจจะเข้ามาช่วยให้มองเห็นปัญหาได้ โดยอาจจะเริ่มจากการทัก ชวนคิดอะไรเล็กๆ น้อยๆ หรือแสดงหลักฐานบางอย่างให้เห็น และเมื่อคนเรารู้ตัวและตระหนักถึงปัญหาได้แล้ว ก็จะนำไปสู่การอยากแก้ไขในที่สุด

 

คุณหมอคิดว่า ตอนนี้ ปัญหาหลักที่ทำให้คนเข้าไม่ถึงการบำบัดรักษาคืออะไร

หนึ่งคือ เขายังไม่เห็นถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์ชัดเจน เพราะแอลกอฮอล์ยังถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคม คนที่ดื่มจึงคิดว่าการดื่มของตนไม่มีปัญหา ทั้งที่มันอาจจะเกิดปัญหาแล้ว แต่เขาไม่รู้ตัว สองคือ ทางการแพทย์อาจจะยังสนับสนุน และให้ความรู้ด้านพิษภัยของแอลกอฮอล์ได้ไม่ต่อเนื่อง ลองสังเกตดูสิครับว่า เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทีหนึ่ง สังคมก็จะตื่นตัวทีหนึ่ง แล้วสักพักก็จะหายไป คือเราไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องเท่าไหร่ สามคือ ทรัพยากรทั้งสถานที่บำบัดและบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการบำบัดแอลกอฮอล์ยังมีไม่เพียงพอด้วย

 

แล้ววิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืนควรจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่า ถ้าเราจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนต้องมีหลายขั้นตอน หนึ่งคือการป้องกัน (prevention) ไม่ให้เริ่มดื่ม พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าผู้ใหญ่จะดื่ม ต้องดื่มให้พ้นสายตาเด็ก ไม่ดื่มต่อหน้าและไม่ชวนเด็กดื่ม ที่สำคัญคือต้องไม่ให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น การใช้ไปซื้อเหล้า นี่ถือเป็นการป้องกันอย่างหนึ่ง

อีกอย่างคือ ต้องไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา รวมถึงต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการดื่มแอลกอฮอล์ โดยอาจจะสอดแทรกเรื่องนี้เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนด้วย

ถ้าในกรณีของคนที่ดื่มแล้ว ต้องป้องกันไม่ให้คนที่ดื่มเป็นครั้งคราว (occasional drinking) กลายเป็นคนที่ดื่มเป็นประจำหรือดื่มแบบติด เราอาจจะต้องมีการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงว่า ระดับความเสี่ยงในการดื่มของเขาเป็นยังไง ต่ำ ปานกลาง หรือสูง ถ้าไปถึงขั้นปานกลางก็ต้องให้คำแนะนำแล้วว่า ควรลดปริมาณการดื่มลง หรือถ้าอยู่ในขั้นเสี่ยงสูงก็ต้องทำการคัดกรองว่า มีภาวะติดหรือเปล่า และส่งตัวเข้าสู่การบำบัดรักษาต่อไป

ถ้ามองภาพใหญ่ในระดับนโยบาย ตอนนี้ในวงการสาธารณสุข ทั้งจิตแพทย์ เวชศาสตร์ครอบครัว หรือองค์กรที่รับผิดชอบดูแลโครงการต่างๆ ก็พยายามช่วยกันเคลื่อนไหวเรื่องนโยบายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำกัดสถานที่ดื่ม เวลาซื้อขาย และอายุคนดื่ม และยังมีการรณรงค์แคมเปญ เช่น ดื่มไม่ขับ อยู่เป็นระยะๆ  นอกจากนี้ ยังต้องมีการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ให้มากพอ รวมทั้งเพิ่มสถานที่บำบัด และเพิ่มชนิดของยาที่ใช้รักษาอาการติดด้วย นี่ก็คงต้องทำเป็นแบบบูรณาการ เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาโมเดลเดียวมาใช้แก้ปัญหา แต่เราต้องช่วยกันทำทั้งหมด

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles