ถ้าจะพูดให้คนใกล้ตัวคุณเลิกดื่มแอลกอฮอล์ คุณคิดว่าวิธีพูดแบบไหนน่าจะได้ผลดีที่สุด?
วิธีแรก “วันๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่ดื่มหัวราน้ำ งานการไม่สนใจเลย”
วิธีที่สอง “ช่วงนี้ดื่มเยอะไปแล้วนะ เพลาๆ ลงบ้างไหม หรือจะลองไปเช็คสุขภาพดูบ้าง”
หรือวิธีที่สาม ไม่ต้องพูดอะไร ร้องไห้ใส่เลย
ไม่ว่าจะเลือกทางไหน การพูดกับคนดื่มแอลกอฮอล์ให้ดื่มน้อยลง หรือเลิกดื่มไปเลย ก็ดูจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ที่สมอง ซ้ำยังทำให้สารแห่งความสุข (โดพามีน) ของผู้ดื่มหลั่งออกมา ทำให้เหล่าญาติหรือคนใกล้ชิดคนติดแอลกอฮอล์ต้องเจอกับปัญหาโลกแตกว่า พูดเท่าไรเขาก็ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมไปบำบัด หรือไม่ยอมแม้แต่จะดื่มให้น้อยลง
แล้วจะทำอย่างไรล่ะงานนี้…?
Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ขอนำเสนอบทความแปลว่าด้วยเทคนิคการพูดให้คนติดแอลกอฮอล์ดื่ม ‘น้อย’ ลง โดยนำเอาหลักการของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ งานนี้แม้บทความไม่ยาวมาก แต่รับรองว่าสาระเพียบ!
ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioural Economics)
ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาของเรา หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ‘อะไรคือเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม?’
ในก่อนหน้านี้ เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ (homo economicus) และเป็นตัวแสดงที่มีเหตุผล แต่ต่อมา นักเศรษฐศาสตร์เริ่มเล็งเห็นแล้วว่า มนุษย์ไม่ได้เป็นตัวแสดงที่มีเหตุผลขนาดนั้น และหลายครั้ง อะไรๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามรูปแบบตัวแสดงที่มีเหตุผล (Rational Actor Model) สักเท่าไหร่ จึงเริ่มมีการนำเอาศาสตร์ต่างๆ เข้ามาช่วยอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘จิตวิทยา’
การนำเอาจิตวิทยาเข้ามาช่วยนั้นทำให้รูปแบบตัวแสดงที่เหตุผลเริ่มถูกลดทอนความสำคัญลง และเกิดรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นเกิดขึ้นมาแทนที่ และสามารถใช้อธิบายพฤติกรรมทางเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น นี่จึงเป็นที่มาของ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จนมีหนังสือหรือบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้เต็มไปหมด
แล้วเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาเกี่ยวอะไรกับคนที่ติดแอลกอฮอล์? เลื่อนลงไปหาคำตอบได้เลย
ลองใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ
ผลการสำรวจเกี่ยวกับการจ่ายภาษีพบว่า คนมีแนวโน้มจะจ่ายภาษีมากขึ้น ถ้ารู้ว่าคนที่อยู่รอบๆ ตัวจ่ายภาษีไปแล้วเรียบร้อย
เราได้อะไรจากผลการทดลองนี้…?
ไม่ เราไม่ได้บอกว่าคุณจะต้องวิ่งไปถามคนรอบตัวตอนนี้เลยว่า ‘เธอจ่ายภาษีแล้วรึยัง?’ แต่เรากำลังจะเสนอว่า จากผลการวิจัยพบว่า คนจะได้รับอิทธิพลจากการที่พวกเขาเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น มากกว่าการเปรียบเทียบตนเองกับค่าเฉลี่ยของกลุ่ม
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำความรู้ในเรื่องดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับปัญหาการดื่มสุรามากเกินไป ซึ่งพบว่า คนมีแนวโน้มที่จะหาคนให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำเรื่องการติดสุรา เมื่อพวกเขาเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนร่วมงาน มากกว่าที่จะเปรียบเทียบกับคู่มือคำแนะนำ หรือเปรียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มผู้ดื่มสุราด้วยกัน
การทดลอง 101
เพื่อเป็นการนำเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาการดื่มสุรา ได้มีการทดลอง ‘ส่งข้อความ’ ให้กลุ่มนักเรียน 101 คนที่มีพฤติกรรมการดื่มสุรามากเกินไป โดยส่งข้อความ 4 ข้อความใน 4 สัปดาห์
ข้อความแรก: เป็นการเปรียบเทียบปริมาณการดื่มใน 1 สัปดาห์ของผู้ได้รับข้อความ กับปริมาณการดื่มของผู้เข้าร่วมการทดลองคนอื่น เช่น คุณติด Top 10 ของผู้ที่ดื่มหนักที่สุด
ข้อความที่สอง: เปรียบเทียบการดื่มของผู้ได้รับข้อความ กับข้อแนะนำอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์
ข้อความที่สาม: แสดงปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของผู้ได้รับข้อความ เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยการบริโภคแอลกอฮอล์ของกลุ่มนักเรียนในการทดลอง
ข้อความที่สี่ (และเป็นข้อความสุดท้าย): ให้รายละเอียดของข้อแนะนำอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการดื่มแอลกอฮอล์
สรุปผลการทดลอง
จากผลการส่งข้อความทั้ง 4 ข้อความ พบว่า ข้อความแรกที่เปรียบเทียบปริมาณการดื่มของผู้ได้รับข้อความกับคนอื่น นำไปสู่การที่ผู้ดื่มมากกว่าครึ่งหนึ่งขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการบริโภคแอลกอฮอล์ และเกือบ 45% ขอลิงก์เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องแอลกอฮอล์ และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงที่สุด ตามมาด้วยข้อความที่สี่ ที่ทำให้ผู้ดื่ม 15% หาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และ 20% ต้องการลิงก์เว็บไซต์ที่มีประโยชน์ในเรื่องแอลกอฮอล์
แล้วผลการทดลองนี้บอกอะไรเรา?
เป็นที่น่าสังเกตว่า เวลาคนส่วนใหญ่จะพูดให้ใครสักคนเลิกดื่มแอลกอฮอล์และเข้ารับการบำบัดรักษา เรามักจะใช้คำพูดในทำนองว่า ‘วันๆ ไม่ทำงานทำการ เอาแต่เมาหัวราน้ำ’ หรือ ‘เมื่อไหร่จะเลิกดื่มสักที รู้ไหมว่าสุราทำให้ตับพัง’ ซึ่งคำพูดพวกนี้ล้วนเป็นคำพูดที่ไม่ก่อให้เกิดผลที่ดีนัก เพราะผู้ติดสุราย่อมรู้อยู่แล้วว่าการดื่มแอลกอฮอล์หรือสุราส่งผลลบต่อสุขภาพอย่างไร ซ้ำนี่ยังจะสร้างความกดดัน ความรำคาญ หรือความรู้สึกผิดให้กับพวกเขาเพิ่มขึ้น อีกทั้งปัญหาการติดสุรายังเป็นปัญหาซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะการเลิกสุราไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เป็นเรื่องของโรคและระบบประสาท ซึ่งสามารถเข้ารับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ได้
ดังนั้น ผลจากการทดลองนี้จึงแนะนำว่า เราควรจะปรับเปลี่ยนวิธีในการพูดเสียใหม่ เพราะผู้ดื่มสุรามักจะประเมินปริมาณการดื่มของตน ‘ต่ำกว่า’ ความเป็นจริง แต่ถ้าเราเปรียบเทียบเขากับคนอื่น (แบบข้อความแรกในการทดลอง) ก็จะทำให้พวกเขามีแรงผลักดันที่จะหาคำตอบว่า แอลกอฮอล์ส่งผลอะไรต่อร่างกายของผู้ดื่ม และพยายามหาคำแนะนำเพื่อลดปริมาณการดื่ม ซึ่งนี่อาจจะนำไปสู่การลดปริมาณการดื่มในระยะยาวได้
แน่นอนว่าการพูดหรือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ติดสุราเลิกดื่ม หรือยอมเข้ารับการบำบัดรักษาไม่มีสูตรตายตัว เพราะผู้ดื่มแต่ละคนล้วนมีภูมิหลัง ประสบการณ์ และแรงจูงใจไม่เหมือนกัน ดังนั้น การนำเอาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้ามาช่วย ก็จัดเป็นอีกหนึ่งวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพึงระลึกไว้เสมอว่า ผู้ดื่มก็คือคนๆ หนึ่งที่มีความรู้สึก และกำลังเจ็บป่วยจากอาการติดสุรา เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีใดในการพูด ก็อย่าลืมว่าความรักและความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและขาดไม่ได้ ในการช่วยให้ผู้ติดสุราก้าวข้ามผ่านอาการติดสุราไปได้
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม – ศาสตร์ที่กำลังมาแรง
เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm