(Quote) มองปัญหาเชิงโครงสร้างในขวดเหล้า กับ จะเด็จ เชาวน์วิไล

August 31, 2020


การทำงานวิจัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปีพ.ศ.2545 คือ จุดเปลี่ยนที่ทำให้ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (มญช.) หันมาสนใจปัญหาจากการดื่มสุรา หลังพบว่าฤทธิ์แอลกอฮอล์ คือ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกขึ้นไปอีกชั้น ปัญหาคนติดเหล้ายังยึดโยงเกี่ยวพันกับปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบอบชายเป็นใหญ่ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ ความยากจน ระบบบำบัดผู้ติดสุราไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ จนยากจะแก้ไขหากไม่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้

Alcohol Rhythm เปลี่ยนจังหวะชีวิตคนติดเหล้า ชวนคุณมองภาพปัญหาผู้ติดสุรา ที่ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับบุคคล ผ่านทัศนะของจะเด็จ เชาวน์วิไล (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่)

 

:: จน ขี้เกียจ กินเหล้า? ::

 

คุณมองระบบบำบัดเหล้าในปัจจุบันนี้อย่างไร

ถ้าถามผม ตอนนี้ระบบการบำบัดสำหรับผู้หญิงล้มเหลวมาก ถ้าผู้ชายเลิกเหล้าจะมีคนสนับสนุนมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงมักไม่ค่อยมีคนสนับสนุนเท่า สถานการณ์มันเลยไปกันใหญ่ บางคนจะมองว่าผู้หญิงที่ติดเหล้าว่า เป็นคนไม่ดี พอเป็นคนไม่ดีก็ไม่ต้องไปช่วยเขา มันจะเป็นภาพจำแบบนี้ ถามว่าเอาครอบครัวเข้ามาจะช่วยไหม มันก็ยาก เพราะส่วนมากที่ผู้หญิงติดเหล้าก็เพราะมีปัญหาในครอบครัวนี่แหละ แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นผู้ชาย ภรรยาก็อยากให้เลิก ลูกก็อยากให้เลิก มันจะต่างกันตรงนี้

มีเคสหนึ่งเป็นผู้หญิงที่เคยมีสามีเป็นคนต่างชาติ พอติดเหล้าก็เลิกกับสามี พอเธอกลับมาอยู่ในชุมชนก็ไปคุยๆ กับผู้ชายคนอื่น ซึ่งสำหรับสังคมไทย การมีปัญหาเรื่องเหล้าก็เท่ากับว่าเป็นคนไม่ดีแล้ว พอมาคุยกับคนอื่นอีก ผู้หญิงคนนี้เลยกลายเป็นผู้หญิงไม่ดีในสายตาชาวบ้านไปเลย แบบนี้ก็ต้องค่อยคุยๆ และหาตัวช่วย เพราะผู้หญิงหลายคนไม่อยากไปบำบัด เนื่องจากระบบส่วนใหญ่ยังกดทับผู้หญิงอยู่ แล้วบุคลากรบางคนในระบบก็ใช้คำพูดที่ดูไม่เป็นมิตรกับผู้หญิงด้วย

เพราะฉะนั้น ระบบบำบัดก็ต้องถูกปรับตัวและถูกปรับเปลี่ยน คุณต้องเข้าใจว่าการติดเหล้าเป็นโรค ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนดีหรือคนไม่ดี เวลาคนติดเหล้าไปรักษา ประกันสังคมก็ไม่จ่ายให้อีก แบบนี้มันไม่ใช่ การติดเหล้าเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กล่าวมาแล้ว เพราะเขามีปัญหาจึงดื่มเหล้า ต่อมาเลยกลายเป็นโรค นี่แทบไม่เกี่ยวอะไรกับนิสัยเลย แต่ระบบบำบัดกลับมองว่า เขาติดเหล้าเพราะนิสัย เพราะเขาไปกินเอง เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดนี้ใหม่ ต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า “จน ขี้เกียจ เลยกินเหล้า” เราต้องเข้าใจและมองให้รอบด้าน มองในหลายมิติ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องเหล้าเป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง

 

:: เหล้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ::

 

อยากให้ช่วยขยายคำว่า ‘เหล้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ให้ฟังหน่อย

รัฐและทุนเหล้าต้องการให้คนในสังคมดื่มเหล้าผ่านการใช้การโฆษณา ขณะเดียวกันก็พยายามให้สังคมมองคนดื่มเหล้า โดยเฉพาะคนยากจน ว่าเป็นปัญหาในระดับปัจเจก ว่าง่ายๆ คือคุณดื่มเหล้าเพราะคุณอยากดื่มเอง ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดื่มแล้วไปทำร้ายคนในครอบครัว หรือไปขับรถชนใครเข้า ก็ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง

ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมวิเคราะห์จากคนงานกรรมกรและคนระดับทั่วๆ ไป เพราะพวกเขามีโอกาสน้อยกว่าชนชั้นอื่นๆ และมักจะถูกครอบงำด้วยมายาคติ “โง่ จน เจ็บ” อย่างที่บอกไป คนมักจะมองว่า “ก็เพราะคุณเป็นพวกขี้เกียจ ไม่ไปทำงานแต่ดันไปดื่มเหล้า ไปเล่นการพนัน“ นี่คือมายาคติ คนไปดื่มเหล้าบำบัดทุกข์เลยกลายเป็นเรื่องส่วนบุคคลไป

อีกอย่างหนึ่งคือ การโฆษณาของบริษัทเหล้ามักจะแสดงออกว่า เหล้าคือทางออกของการแก้ปัญหา หรือช่วยดับความทุกข์จากเศรษฐกิจ ความเครียดจากการทำงาน ทุกข์จากครอบครัว ความรัก และปัญหาอื่นๆ คนจนที่เครียดเพราะไม่มีอันจะกินเลยเลือกที่จะดื่มเหล้าเพื่อดับทุกข์พวกนี้

ดังนั้น ผมเลยวิเคราะห์ปัญหาว่า เหล้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะคนดื่มถูกโครงสร้างสังคมหรือถูกมายาคติต่างๆ กดทับ ถ้าจะแก้ปัญหาได้ก็จะต้องสร้างพื้นที่ให้คนยากจน หรือแม้แต่คนทั่วไปก็ควรมีการรวมกลุ่มเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง เพื่อแก้ปัญหา และเพื่อระบายทุกข์จากการดื่มเหล้า

แต่ดูปัจจุบันนี้สิ คุณจะรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานก็ไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรม หรือถ้ามีก็น้อยมาก ยกตัวอย่างกลุ่มคนงาน เขามีระบบที่เรียกว่า ‘แปดสามแปด‘ คือแปดแรกทำงาน แปดสองพักผ่อน และแปดสามรวมกลุ่ม ดังนั้น ถ้าพวกเขาพอมีเวลาก็จะมักจะหันไปหาเรื่องอบายมุข ไม่ใช่แค่เหล้า แต่รวมถึงบุหรี่กับการพนันด้วย

ผมมองว่า ชนชั้นนำอยากให้เรามีชีวิตกันแบบนี้อยู่แล้ว มันไม่มีเสรีภาพ ไม่มีการรวมกลุ่ม พวกเขาจึงมีพื้นที่ที่วนเวียนอยู่กับการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน หรือถึงจะรวมกลุ่มได้ แต่ถ้าไม่มีใครไปสนับสนุนเขาก็จะลำบาก รัฐก็ช่วยเหลืออย่างฉาบฉวย ไม่ได้ทำเพื่อให้เขามีศักดิ์ศรีหรือมีตัวตนขึ้นมาจริงๆ การรวมกลุ่มที่เกิดขึ้นผ่านรัฐจึงกลายเป็นแค่เรื่องการฝึกอาชีพเท่านั้น ส่วนภาคประชาสังคมที่ทำงานเชิงรุกกับคนติดเหล้าก็น้อยลงเรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชิงรุกในการทำงานกับคนติดเหล้าหมดเลย

 

:: ชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้หญิงดื่ม ::

 

คุณบอกว่า แนวความคิดชายเป็นใหญ่ผลักให้ผู้ชายดื่มเหล้าเพื่อแสดงความเป็นชาย แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้การดื่มแอลกอฮอล์ของผู้หญิงดูเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงหันมาดื่มมากขึ้น บางแบรนด์ถึงกับผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เน้นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงออกมา ตรงนี้คุณมองอย่างไร

มันมีส่วนนะครับ แต่ผมคิดว่า เราต้องแยกกลุ่มผู้หญิงออกจากกันด้วย ถ้าเป็นผู้หญิงในพื้นที่ที่มีความเป็นเมืองก็อาจจะเป็นแบบที่ว่ามา แต่ถ้าเป็นผู้หญิงในชนบทจะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย คือพวกเขาต้องการพื้นที่ เวลาผมไปลงชุมชน ผมจะเห็นเลยว่า ผู้หญิงที่ติดเหล้าเกิดจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทั้งนั้น ซึ่งความรุนแรงนี้ก็มาจากแนวคิดชายเป็นใหญ่นั่นแหละ

ถ้ามองให้ลึกลงไปอีก ความรุนแรงไม่ได้หมายถึงแค่การทุบตี แต่ยังรวมถึงการจำกัดเสรีภาพ หรือดุด่าด้วย ซึ่งระบบชายเป็นใหญ่จะทำให้ผู้ชายมีที่ทาง และจำกัดพื้นที่ของผู้หญิง เราจะเห็นว่าพื้นที่ของผู้หญิงมีแค่ที่บ้านกับที่ทำงาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างแคบ แต่ผู้ชายมีพื้นที่ไม่จำกัด พอมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ผู้หญิงก็จะถูกตั้งคำถามจากที่บ้านและที่ทำงานในทำนองว่า “เป็นผู้หญิงทำไมไม่ทำตัวให้ดี” หรือถ้าพวกเธอถูกคุกคามทางเพศก็อาจจะโดนถามว่า “วันนั้นคุณแต่งตัวแบบไหน” ผู้หญิงเลยต้องหาพื้นที่เพื่อระบายและปลดปล่อย ซึ่งเหล้าก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ผู้หญิงหลายคนที่โดนทำร้ายจึงรู้สึกว่าเหล้าคือทางออกของชีวิต

 

:: ทุกคนสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ ::

 

ในฐานะคนที่ทำงานในพื้นที่จริง คุณคิดว่าอะไรเป็นปัจจัยให้คนที่อยากเลิกเหล้าสามารถเลิกได้ และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

อย่างแรก ผมว่ามันมาจากความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น แต่ถ้าเกิดสังคมไปตีตราเขาว่าเขาเป็นคนชั่วคนเลวมันก็ไม่ได้ เราต้องทำยังไงก็ได้ให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้เลว และทำให้เขารู้สึกว่า จริงๆ มันก็เปลี่ยนได้นี่ หลายครั้ง คนในเคสที่เราเจอก็กลายเป็นผู้นำชุมชนด้วย เพราะสามารถสร้างความท้าทายให้คนในชุมชนได้เรียนรู้ว่า เหล้ามันเลิกได้จริงอย่างที่ตัวเขาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ งานแบบนี้ก็ใช้เวลาพอควรนะ บางคนเป็นปี บางคนสองปี แต่พอวันหนึ่งเขาเปลี่ยนได้ เรื่องอื่นๆ ก็จะตามมา

นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้มีองค์กรชาวบ้าน เพราะอยู่ดีๆ จะไปทำเรื่องเลิกเหล้าอย่างเดียวก็ไม่ได้ ตอนนี้หลายพื้นที่ก็มีเครือข่ายชาวบ้าน เช่น ชุมพรมีการตั้งเป็นมูลนิธิแก้ปัญหาเรื่องเหล้ากับความรุนแรงต่อผู้หญิง ก็จะมีเรื่องเหล้า ความรุนแรง และแตกขยายไปเรื่องอื่นๆ เช่น ประเด็นสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สร้างอาชีพให้คนเลิกเหล้าด้วย

อย่างที่ผมบอก ถ้าคนรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีพื้นที่และไม่มีการรวมกลุ่ม แล้วก็ไปรณรงค์อย่างเดียว มันไปไม่รอด เขาต้องรู้สึกว่าตัวเองมีพื้นที่แสดงตัวตนและแสดงออกด้วย ถ้าคุณไม่คิดว่า ปัญหาเรื่องเหล้าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง แล้วก็ไปรณรงค์ รณรงค์ รณรงค์ สุดท้ายคุณก็จะได้แค่สติกเกอร์ โปสเตอร์ และซีดีเท่านั้น

 

:: หลายหัวดีกว่าตัวคนเดียว ::

 

เคยเจอเคสที่เราช่วยเหลือแต่เขากลับไปดื่มเหล้าบ้างไหม

เคยเจอครับ แต่เราก็ไม่เคยทิ้งเคสแบบนี้เลย ผมคิดว่าคนเราสามารถผิดพลาดกันได้ บางคนเจอปัญหาหนักถึงขั้นลูกเสียชีวิต เขาก็กลับไปดื่ม อาสาสมัครก็จะลงไปช่วย ไม่เคยทิ้ง

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การเลิกเหล้าด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก ดังนั้นกระบวนการกลุ่มจึงสำคัญ เพราะมันตอบโจทย์ในหลายๆ มิติ ทำให้คนที่ไม่มีโอกาสในสังคม หรือคนที่ถูกกดทับในสังคมได้แสดงพลัง ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง สิ่งที่สังคมพยายามบอกว่า พวกเขา ขี้เกียจ จน หรือติดพนัน จะถูกทำลายลงจากการรวมกลุ่ม เพราะการรวมกลุ่มจะให้พื้นที่กับเขา ทำให้เขาเห็นว่า ตนเองก็เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับคนอื่น

เพราะฉะนั้น การเลิกเหล้าจะทำแค่ในมิติของสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ แต่เขาจะต้องเห็นอำนาจในตัวเองว่า เขาเปลี่ยนแปลงได้ และมีกลุ่มที่ได้แสดงพลังต่อรองปัญหาอื่นๆ เหมือนที่ชุมชนไทยเกรียง ตอนนี้ก็เป็นสมาคมไปแล้ว พอมีการรวมกลุ่ม มีพื้นที่ มันก็ขยายประเด็นในการต่อสู้ออกไป เช่น สิ่งแวดล้อม สิทธิ แรงงาน หลายๆ พื้นที่ก็เป็นแบบนี้ เช่น อำนาจเจริญ พอพวกเขารวมกลุ่มกันได้ เขาก็ไม่ได้สู้กับแค่เหล้าและความรุนแรง แต่ยังมีพื้นที่ให้สู้ต่อกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช้สารเคมี เพราะพวกเขาอยู่ในภาคการเกษตร แบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ด้วย

 

 


เรื่องและภาพ: ทีมงาน Alcohol Rhythm

Related Articles